Sunday, 18 May 2025
World

‘อาร์เจนตินา’ ใช้ ‘เงินหยวน’ จ่ายหนี้ IMF สะท้อน!! เงินดอลลาร์เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง

(3 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงาน อาร์เจนตินาเลือกใช้ ‘หยวน’ เป็นครั้งแรก ในการชำระหนี้บางส่วนแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันศุกร์ (30 มิ.ย.) กลายเป็นอีกหนึ่งชาติในหลาย ๆ ประเทศที่เพิ่มสัดส่วนของสกุลเงินจีนในเศรษฐกิจของตนเอง พร้อมกับลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ ความเคลื่อนไหวที่พวกผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามันจะเร่งให้ ‘หยวน’ กลายเป็นสกุลเงินสากลเร็วยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการแสดงผลลัพธ์ให้บรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้เห็น ในขณะที่พวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตเลวร้ายจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อระดับสูงของสหรัฐฯ โดยเวลานี้มีบรรดาเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายชาติเพิ่มเติม ที่ปักหมุดหันเข้าหาเงินหยวนและละทิ้งดอลลาร์ เพื่อผละหนีความเสี่ยงต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังคาดหมายด้วยว่ามันจะเร่งให้หยวนกลายเป็นสกุลเงินสากลมากยิ่งขึ้นและมีการใช้หยวนในตลาดระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว อาร์เจนตินาได้ชำระหนี้แก่ไอเอ็มเอฟด้วยสกุลเงินหยวน ในมูลค่าเทียบเท่ากับ 1,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 1,700 ล้านดอลลาร์ จะจ่ายในรูปแบบ Special Drawing Rights (สิทธิถอนเงินพิเศษ) ซึ่งคือสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่เปรียบเสมือนเงินสกุลหนึ่ง ที่สร้างขึ้นโดยไอเอ็มเอฟ

ธนาคารกลางอาร์เจนตินาแถลงก่อนหน้านี้ ว่าจะอนุญาตให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ใช้เงินหยวนของจีนในฐานะสกุลเงินสำหรับเงินฝากและเงินออมส่วนบุคคลหรือนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้เงินหยวนมากยิ่งขึ้น โดยที่สถาบันการเงินทั้งหลายจะสามารถเปิดได้ทั้งสมุดเช็ค หรือบัญชีเงินฝากในรูปแบบของสกุลเงินจีน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นตามหลังการเดินทางเยือนจีนของ เซอร์จิโอ มาสซา รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาร์เจนตินา พร้อมด้วยคณะผู้แทนคนอื่น ๆ ของรัฐบาล เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการลงนามแผนความร่วมมือส่งเสริมข้อริเริ่มเข็มขัดและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่เสนอโดยจีน โดยที่ความร่วมมือด้านการเงินและประเด็นการคลังคือแก่นกลางของแผนดังกล่าว

หลิว หยิง นักวิจัยจากสถาบันศึกษาการเงินฉงหยาง แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินในจีน ให้สัมภาษณ์กับโกลบอลไทม์สในวันอาทิตย์ (2 ก.ค.) ว่า "อาร์เจนตินาเลือกใช้หยวนมากขึ้นในการต่อสู้กับวิกฤตหนี้ และหมดหวังต่อสถานะของดอลลาร์สหรัฐในประเทศ ซึ่งมันจะแสดงผลลัพธ์ให้บรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ ที่เผชิญกับปัญหาคล้ายกันได้เห็น"

บรรดาชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนาทั้งหลายกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ ในนั้นรวมถึงการเสื่อมค่าของสกุลเงิน กระแสทุนและวิกฤตหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีต้นตอจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

"การดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ คือปัจจัยที่ก่อความกังวลอย่างยิ่ง เพราะว่ามันเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของปฏิกิริยาคลื่นความช็อก ซึ่งสามารถก่อผลกระทบที่อันตรายโดยเฉพาะกับระบบการเงินและเศรษฐกิจในชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา" ธนาคารโลกระบุในเอกสารที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบกัน อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างเสถียรของหยวน เป็นปัจจัยให้สกุลเงินจีนเป็นที่ต้องการ ในแง่ของคุณสมบัติหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในฐานะสกุลเงินสากล "การตัดสินใจของอาร์เจนตินาในการใช้เงินหยวน คืออีกก้าวย่างของการลดพึ่งดอลลาร์"

ขณะที่มากมายหลายชาติกำลังหาทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากสกุลเงินสหรัฐฯ เพื่อลดพึ่งพิงดอลลาร์ การก้าวมาเป็นสกุลเงินสากลของหยวนได้มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ต้นปี โดยล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว ปากีสถานได้จ่ายเงินด้วยสกุลเงินหยวนเป็นครั้งแรกในการชำระหนี้ในข้อตกลงนำเข้าน้ำมันกับรัสเซีย

ในรัสเซีย หยวนกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 70% ของการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างรัสเซียกับจีน เป็นการค้าขายด้วยสกุลเงินรูเบิลและหยวน และมีมากมายหลายประเทศกำลังเรียกร้องให้ดำเนินการทำธุรกรรมทางการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของตนเอง

‘มาครง’ โทษโซเชียลปลุกกระแสจลาจลในฝรั่งเศส เตรียมใช้อำนาจรัฐ ‘จัดการคอนเทนต์’ ปลุกปั่น!!

(3 ก.ค. 66) เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเดือดจัด ออกมากล่าวโทษสื่อโซเชียล อาทิ Tiktok, Snapchat และอื่นๆ เป็นตัวการสุมเชื้อไฟความรุนแรงในฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่มีต้นเหตุจากคดีตำรวจฝรั่งเศสยิงนาย นาเฮล เอ็ม วัยรุ่นชายเชื้อสายแอลจีเรียวัย 17 ปีเสียชีวิต

โดยคลิปข่าว และการปลุกระดมจากคดีของ นาเฮล ถูกส่งต่อจนกลายเป็นไวรัลทั่วโลกโซเชียลในฝรั่งเศส ก่อให้เกิดความไม่พอใจในชุมชนคนกลุ่มน้อย และกลุ่มผู้อพยพ ลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่นาเฮล จนกลายเป็นจลาจลวุ่นวายไปทั่วประเทศ

และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 'พฤติกรรมเลียนแบบ' ชักชวนกันออกมาป่วนตามกระแสจากโซเชียล รวมถึงเกมออนไลน์ที่แฝงความรุนแรง เป็นแรงเสริมให้เกิดพฤติกรรมป่วนบ้าน ป่วนเมืองในกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น

มาครง ถึงขั้นใช้คำว่า เด็กๆ พวกนี้ โดน "ล้างสมอง" จากการเสพคอนเทนต์ หรือ เกมออนไลน์ ที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาสังคม เห็นทีต้องเร่งประสานงานกับเหล่าบรรดาสื่อโซเชียลให้กำจัด "เนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน" และขอให้ระบุตัวตนของผู้ใช้ที่เผยแพร่ ปลุกระดม ให้เกิดความรุนแรงในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้

ซึ่งผู้นำฝรั่งเศสไม่ได้เอ่ยออกมาตรงๆ ว่า "เนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน" ที่ว่านี้หมายถึงอะไร แต่เรียกร้องถึงสปิริตในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของเหล่าบรรดาสื่อโซเชียลมีเดีย และไม่เพียงแค่นั้น ตอนนี้รัฐบาลได้เรียกตัวแทนผู้ดูแลสื่อโซเชียลในฝรั่งเศสมาหารือแล้ว โดยเริ่มที่แพลทฟอร์ม Snapchat และ Twitter ให้ทำการลบคอนเทนต์ที่รุนแรง และให้หาตัวผู้ที่ปล่อยคลิป และภาพลงในโซเชียลด้วย

เจรัลด์ ดาร์มาแนง รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส ออกมายืนยันคำสั่งของรัฐบาล โดยเขาเป็นคนฝากคำเตือนถึงทีมสื่อโซเชียลในที่ประชุมว่า รัฐบาลไม่อนุญาตให้ใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางการปลุกระดมไปสู่ความรุนแรง จึงอยากเตือนให้รู้ไว้ว่าฝรั่งเศสมีกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดทางโซเชียลเช่นกัน 

ที่ฝรั่งเศส มีกฎหมายต่อต้านการคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นคดีอาญาหากมีการข่มขู่ คุกคามว่าจะทำร้ายร่างกาย ฆ่า ข่มขืน หรือแม้แต่ด่าทอ ดูหมิ่นกันในออนไลน์ ถือเป็นความผิดทั้งสิ้น และในปี 2020 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายควบคุมสื่อโซเชียล และ search engine ให้นำคอนเทนต์ต้องห้ามออกภายใน 24 ชั่วโมง 

แต่ทว่า เท่าที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายในคดีคุกคามทางโซเชียลมักไม่ค่อยจริงจังเท่าไหร่นักในฝรั่งเศส แต่มาคราวนี้ มาครงจะเอาจริงแล้ว เพราะเชื่อว่าความอลหม่านในรอบ 4-5 วันที่ผ่านมาเกิดจากการปลุกปั่นในโซเชียล ไม่ผิดแน่

จากข้อมูลของตำรวจ พบว่าในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมจากการก่อเหตุจลาจลป่วนเมืองนั้น 1 ใน 3 เป็นเพียงเด็ก และเยาวชน หลายคนยังเด็กมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะกล้าออกมาก่อเหตุรุนแรงได้อย่างไม่รู้สึกผิด ผู้นำฝรั่งเศสจึงฝากไปถึงพ่อแม่ ให้ดูแลลูกหลานของตัวเองให้ดีหน่อย 

"เพราะเป็นหน้าที่พ่อแม่ที่กันลูกตัวเองให้อยู่ในบ้าน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะไปตามจับตัวลูกคุณข้างนอกนะครับ"

เชื่อแล้วว่า เอมานูเอล มาครง ฉุนขาดจริงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสวันนี้ แต่ที่แปลกใจคือ ทางฝรั่งเศสเพิ่งจะตาสว่างหรือ? ว่าช่องทางโซเชียลถูกใช้ปลุกระดมให้เกิดม็อบจลาจลได้? เมื่อก่อนเห็นปกป้องตลอดเลยว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออก ตอนนี้แสดงออกไม่ได้แล้วนะ แถมยังใช้อำนาจรัฐบีบให้บริษัทโซเชียลส่งข้อมูลผู้ใช้ที่เข้าข่ายสร้างคอนเทนต์ปลุกระดมให้รัฐได้ด้วย 

ไฟไหม้บ้านคนอื่นไม่เดือดร้อนเท่าไฟไหม้บ้านตัวเองเช่นนี้แล

กฎหมายต้านสายลับฉบับใหม่ของจีนมีผล โทษถึงประหาร ด้าน สหรัฐฯ โวย!! จ้องเล่นงาน 'บริษัท-นักข่าว' มะกัน

ร่างกฎหมายต่อต้านหน่วยสืบราชการลับข้ามชาติฉบับใหม่ของจีน มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐบาลปักกิ่งในการตรวจสอบ จับกุมและลงโทษกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายจารกรรมสอดแนมข้อมูลลับ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้มากขึ้น 

การต่อต้านการจารกรรม สอดแนม ครอบคลุมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ ที่มีเป้าหมายไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยกฎหมายใหม่ ระบุถึง กลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายความผิดฐานเป็นสายลับ นอกจากจะหมายถึงตัวบุคคล หรือองค์กรจารกรรมเองแล้ว ยังรวมถึง องค์กรตัวแทนที่ได้รับ เผยแพร่ หรือครอบครอง เอกสาร ข้อมูล สิ่งของ และรายการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตอาจถือเป็นความผิดฐานสอดแนมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ สร้างความกังวลแก่องค์กรต่างชาติในจีน จากเนื้อหาที่ระบุว่า พลเมืองจีนทุกคนมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการสอดแนม จารกรรมข้อมูลลับแก่เจ้าหน้าที่ และ ทางการจีนมีสิทธิ์ที่จะขอตรวจค้นทรัพย์สินของผู้ต้องสงสัยได้ทันที ซึ่งกฎหมายจีนระบุโทษของการสอดแนมข้อมูลลับด้านความมั่นคงไว้สูงสุดถึงประหารชีวิต 

หน่วยข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NCSC) เชื่อว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ ทำให้รัฐบาลปักกิ่งขยายขอบเขตอำนาจรัฐในการเข้าถึง และควบคุมข้อมูลของบริษัทของสหรัฐฯ ในจีนได้ง่ายขึ้น และติงว่า คำจำกัดความของ "ข้อมูลลับด้านความมั่นคง" ในกฎหมายของจีนมีความกำกวม ไม่ชัดเจน ซึ่งข้อมูลที่ทางการจีนมองว่าเป็นความลับ อาจจะเป็นเพียงเอกสารภายในบริษัทที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจทั่วไปก็ได้ ที่อาจทำให้บริษัทของสหรัฐถูกลงโทษด้วยข้อหาเป็นสายลับได้ในอนาคต 

แต่ในกฎหมายฉบับเดิมของจีน ก็ระบุโทษในคดีการจารกรรมไว้สูงสุดถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีชายวัย 78 ปี สัญชาติอเมริกันถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตข้อหาเป็นสายลับมาแล้ว  

นอกจากนี้ ยังมีกรณีพนักงานชาวญี่ปุ่นของบริษัทยา Astellas Pharma Inc. ถูกทางการจีนกักตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม ด้วยข้อหาเป็นสายลับ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของคดีจากทางการจีน ทำให้ เท็ตสึโระ ฮอนมะ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในจีน แสดงความวิตกกังวลถึง ความไม่แน่นอน, ความยุติธรรม และ ความโปร่งใสในตลาดจีน ที่จะส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นได้ 

สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มองว่า กฎหมายต่อต้านการจารกรรมใหม่ จะส่งผลต่อบริษัทต่างชาติที่อาจถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับองค์กรสายลับ หรือแม้แต่ชาวจีนเอง ที่ต้องติดต่อ ร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติ หรือชาวต่างชาติ 

ด้าน หลิว เผิงหยู่ โฆษกประจำสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตอบโต้ว่า รัฐบาลจีนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองจากภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศผ่านกฎหมายของตนเอง แต่ทั้งนี้ จีนยังคงส่งเสริมการเปิดตลาดในระดับสูง และจัดเตรียมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักกฎหมาย และความเป็นสากลสำหรับบริษัทจากทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย 

อีกประเด็นที่มีการกล่าวถึงไม่น้อยว่า กฎหมายใหม่นี้จะส่งผลต่อการทำงานของสื่อมวลชนต่างชาติในจีนด้วยหรือไม่ และอาจเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับ นายอีวาน เกรชโควิช นักข่าวสัญชาติอเมริกันจาก Wall Street Journal ที่ถูกจับตัวในรัสเซียด้วยข้อหาเป็นสายลับเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเป็นนักข่าวอเมริกันคนแรกนับตั้งแต่หลังสงครามเย็นที่ถูกจับกุมโดยรัสเซียด้วยข้อหานี้ 

ในประเด็นนี้ เหมา หนิง โฆษกหญิงประจำกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาสรุปสั้นๆ ว่า "หากทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายจีนแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว" 

เกิดเหตุระเบิดที่บาร์กลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คาดมีแก๊สรั่วภายในอาคาร เบื้องต้นบาดเจ็บ 4 ราย

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 เกิดเหตุระเบิด และเพลิงไหม้อาคารหลังหนึ่งในย่านชิมบาชิ ใจกลางกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น เมื่อเวลาราว 14.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 12.40 น. เวลาประเทศไทย โดยเหตุระเบิดทำให้เศษกระจก และเศษคอนกรีตปลิวกระจายในพื้นที่

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ในเวลาต่อมา โดยมีประชาชนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 4 คน โดยระบุว่า พวกเขาเห็นเปลวเพลิงออกมาจากหน้าต่างหลายบานบนชั้นสอง และได้กลิ่นแก๊ส

ตำรวจเปิดเผยว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า เหตุระเบิดเกิดขึ้นที่บาร์แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร ซึ่งผู้จัดการบาร์ดังกล่าว ระบุว่า เขาพยายามจะจุดบุหรี่ในจุดที่ให้สูบบุหรี่ในอาคาร ซึ่งทำให้เกิดระเบิดตามมา โดยคาดว่าน่าจะมีแก๊สอยู่เป็นปริมาณมากในอาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อยืนยันรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับอาคารที่เกิดระเบิดนี้ มีความสูง 8 ชั้น ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ JR ชิมบาชิ  ที่เต็มไปด้วยบาร์ ร้านอาหารชื่อดัง และบริษัทต่าง ๆ ด้วย

‘อุตสาหกรรม NEV’ จีนพุ่ง!! ยอดผลิตแตะ 20 ล้านคัน!! เร่งเดินหน้าพัฒนาคุณภาพ-ขยายฐานเจาะทั่วโลก

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, กว่างโจว รายงานว่า ภาคธุรกิจยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ของจีนได้ปักหมุดหมายความสำเร็จครั้งสำคัญ หลังจากมีการส่งยานยนต์พลังงานใหม่ออกจากสายการผลิตเป็นคันที่ 20 ล้าน ณ นครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา

‘ฟู่ปิ่งเฟิง’ รองประธานและเลขานุการสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน เผยว่า ยานยนต์พลังงานใหม่คันที่ 20 ล้าน ผลิตโดยบริษัท จีเอซี ไอออน นิว เอนเนอร์จี ออโตโมบิล จำกัด (GAC Aion New Energy Automobile) บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนเข้าสู่ระยะใหม่ของการพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั่วโลก และคุณภาพสูง รวมถึงเป็นส่วนสำคัญของระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของจีน

กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน เป็นผู้ประกาศการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนครบ 20 ล้านคัน ณ พิธีเฉลิมฉลองสถิติใหม่ในนครกว่างโจว ด้านจีเอซี ไอออน (GAC Aion) เป็นบริษัทยานยนต์พลังงานใหม่ในเครือบริษัท กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป จำกัด (GAC Group) ในนครกว่างโจว

‘Meta’ เปิดตัวแอปฯ ‘Threads’ ท้าชน ‘ทวิตเตอร์’ ชูใช้บริการฟรี - ไม่จำกัดจำนวนการดูโพสต์

(4 ก.ค. 66) ‘เมตา’ บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กเตรียมเปิดตัวแอพลิเคชันใหม่ ‘เทรดส์’ (Threads) เพื่อแข่งขันกับทวิตเตอร์ พร้อมสำหรับการสั่งซื้อล่วงหน้าบนแอปเปิล แอปสโตร์ และจะเชื่อมโยงกับอินสตาแกรม ภาพที่มีการบันทึกจากหน้าจอ แสดงให้เห็นแดชบอร์ดที่มีลักษณะคล้ายกับทวิตเตอร์ โดยจะเปิดตัวในวันที่ 6 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ 

โดยอีลอน มัสก์ ได้ทวีตข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘เทรดส์’ ว่า "ขอบคุณพระเจ้า พวกเขาก็ยังดูมีสติ" ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการล้อเลียนมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเมตา ขณะเดียวกันทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า ผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนจึงจะสามารถใช้งานทวีตเด็ค (TweetDeck) ได้ โดยจะเริ่มบังคับใช้มาตรการใหม่ใน 30 วัน

‘เทรดส์’ จะเป็นแอพฯ ที่ให้บริการฟรี และจะไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนโพสต์ที่ผู้ใช้สามารถดูได้ ซึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับ ‘เทรดส์’ ระบุว่า "เทรดส์เป็นที่ที่ชุมชนมารวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับทุกสิ่งตั้งแต่หัวข้อที่คุณสนใจในวันนี้ ไปจนถึงสิ่งที่จะเป็นเทรนด์ในวันพรุ่งนี้" 

โดย ‘เทรดส์’ จะสามารถซ่อนข้อมูลในโทรศัพท์ของผู้ใช้ รวมถึงข้อมูลตำแหน่ง การซื้อ และประวัติการท่องเว็บอีกด้วย

ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ‘เทรดส์’ อาจเป็นภัยคุกคามใหญ่ของทวิตเตอร์ที่ต้องเผชิญเลยก็เป็นได้ เพราะไม่ว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่อะไรมาก็จะพบว่าประสบความสำเร็จเสมอ ‘เทรดส์’ จะเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มอินสตาแกรม ดังนั้นจึงเชื่อมโยงกับบัญชีหลายร้อยล้านบัญชีของผู้ใช้งานทั่วโลก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มองว่า ‘เทรดส์’ จะสามารถดึงผู้ใช้ที่ไม่สนใจทวิตเตอร์เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้ใช้งานได้

‘อีลอน’ โคตรรวย!! ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีเบอร์ 1 ครึ่งแรกปี 66 แซงหน้าเจ้าพ่อ META ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ กระจุย

(4 ก.ค. 66) ‘Bloomberg Billionaires Index’ จัดอันดับให้นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในครึ่งแรกของปี 2566 ด้วยทรัพย์สินสุทธิมูลค่า 9.66 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเมตา แพลตฟอร์ม รวยเป็นอันดับ 2 ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 5.89 หมื่นล้านดอลลาร์

ข้อมูลของ Bloomberg Billionaires Index ซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า บุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 500 อันดับแรกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้น 8.52 แสนล้านดอลลาร์ โดยแต่ละบุคคลที่ได้รับการจัดอันดับครั้งนี้ สามารถสร้างมูลค่าทรัพย์สินโดยเฉลี่ย 14 ล้านดอลลาร์/วัน ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสถิติรอบครึ่งปีที่ดีที่สุด นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

มูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้แรงหนุนจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นเป็นวงกว้าง เนื่องจากนักลงทุนมองข้ามผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง รวมทั้งสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครน และวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารระดับภูมิภาค โดยดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้น 16% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ทะยานขึ้น 39% ซึ่งทำสถิติรอบครึ่งปีแรกที่ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ขณะเดียวกันความมั่งคั่งสุทธิของนายโกตัม อดานี เจ้าของบริษัทอดานี กรุ๊ป ลดลง 6.02 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบ 6 เดือน นอกจากนี้ นายอดานียังเป็นบุคคลที่ความมั่งคั่งรายวันลดลงมากที่สุด โดยเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ปีนี้ ความมั่งคั่งของนายอดานีลดฮวบลง 2.08 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากฮินเดนเบิร์ก รีเสิร์ช ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนจากสหรัฐออกรายงานกล่าวหาว่า นายอดานีได้ทำการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แวดวงธุรกิจโลก แม้ว่านายอดานีได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ตาม

สำหรับนายอีลอน มัสก์นั้น ความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ค. โดยราคาหุ้นเทสลาทะยานขึ้น 6.9% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กในวันจันทร์ (3 ก.ค.) ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งของนายมัสก์เพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ราคาหุ้นเทสลาได้รับแรงหนุนหลังจากบริษัทเปิดเผยยอดการส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 2 จำนวน 466,140 คัน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส และพุ่งขึ้น 83% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้อานิสงส์จากการปรับลดราคาและการลดหย่อนภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ

'ตะวันตก' กรี๊ด!! จีนเบรกส่งออก 2 แร่หายาก ตอบโต้มาตรการคุมส่งออก 'ชิปชั้นสูง' ของสหรัฐฯ

สงครามชิงเจ้าแห่งอุตสาหกรรมผลิตชิป ยังคงเดือดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางการจีนออกกฎหมายใหม่ จำกัดการส่งออกแร่หายาก Gallium และ Germanium หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิป เพื่อใช้ในอุปกรณ์สื่อสารล้ำสมัย แผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์เรดาร์ อุปกรณ์ไฟเบอร์ออพติค เลนส์กล้องอินฟาเรด ที่ช่วยส่งผ่านข้อมูลได้เร็วขึ้น โดยกฎหมายนี้เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั้งในสหรัฐฯ และ ยุโรป

ทางการจีนระบุว่า จำเป็นต้องจำกัดการส่งออกแร่หายากทั้ง 2 ชนิด เพื่อความมั่นคงของชาติ โดยบริษัทผู้ส่งออกต้องได้รับ Licence จากกระทรวงพาณิชย์จีนเท่านั้น จึงสามารถส่งออกได้ และต้องแจ้งรายละเอียดของผู้ซื้อปลายทาง รวมถึงระบุวัตถุประสงค์ที่นำแร่ไปใช้ เพื่อพิจารณาอนุมัติการส่งออกด้วย ซึ่งกฎหมายนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป 

เชื่อว่ากฎหมายจำกัดการส่งออกแร่ Gallium และ Germanium เป็นการตอบโต้มาตราการควบคุมการส่งออก ชิปชั้นสูง สำหรับใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีล้ำสมัย และ เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่นำมาใช้กับจีนมาก่อน 

โดยรัฐบาลสหรัฐฯ เคยออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันในช่วงเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว (2022) ว่า บริษัทใดที่ส่งออกชิปชั้นสูง ระบบซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ไฮเทคไปจีนต้องได้รับ Licence จากรัฐบาลเสียก่อน ไม่ว่าอุปกรณ์ หรือชิปนั้น จะผลิตจากใน หรือ นอกสหรัฐก็ตาม ซึ่งนอกจากสหรัฐแล้ว ยังมีเนเธอร์แลนด์ และ ญี่ปุ่น กระโดดมาเข้าร่วมกับสหรัฐ แบนการส่งออกชิปไปจีนกับเขาเหมือนกัน 
.
'ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย' จีนเลยยกระดับการโต้กลับบ้าง ด้วยการระงับการส่งออก 2 แร่หายากไปต่างประเทศ หรือจะพูดให้ตรงก็คือ ห้ามส่งไปประเทศที่ผลิตชิปเป็นหลัก และ คว่ำบาตรจีนนั่นแล

ซึ่งแร่หายากทั้ง 2 ชนิดนี้ อยู่ในหมวด 'โลหะรอง' ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการถลุงโลหะพื้นฐาน อาทิ สังกะสี และ อลูมิเนียม และผลิตออกมาได้น้อยมาก และนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิปประมวลผลความเร็วสูง เลนส์กล้องส่องทางไกล และอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ 

และในแต่ละปี สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าแร่ Gallium และ Germanium ราวๆ 225 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7.84 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการผลิตเทคโนโลยีด้านกลยุทธ์ หรือพูดง่ายๆคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับอาวุธทางทหารนั่นแล ดังนั้นการตัดกำลังการส่งออกแร่หายากของจีนอาจไม่ส่งผล กระทบต่อตลาดผู้บริโภคเท่าไหร่นัก ยกเว้น บริษัทผลิตขีปนาวุธ และเครื่องบินรบชั้นนำของสหรัฐอย่าง Lockheed Martin 

พอล ทริโอโล นักวิเคราะห์จากสถาบันด้านยุทธศาสตร์ และการต่างประเทศของสหรัฐมองว่า ยิ่งจีนพยายามที่จะตัดห่วงโซ่อุปทานในกระบวนการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีกับทั้งสหรัฐ EU และเอเชีย ที่จะเริ่มพึ่งพาจีนน้อยลงเท่านั้น 

ดังนั้น แบนได้ แบนไป ใช่ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตแร่หายากเจ้าเดียวในโลกเสียเมื่อไหร่ 

ซึ่งจะว่าไปก็ถูกต้อง เพราะจีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่สามารถผลิต Gallium และ Germanium ได้ แค่ในตอนนี้ 94% ของแร่ Gallium และ 83% ของ แร่ Germanium ในตลาดโลกตอนนี้ มาจากจีนเท่านั้นเอง ด้วยปริมาณการผลิตที่มากขนาดนี้ทำให้แร่หายากทั้ง 2 ชนิดที่ผลิตจากจีน มีราคาถูกที่สุดในท้องตลาด 

ส่วนประเทศอื่น ที่สามารถผลิต Gallium และ Germanium ในปริมาณที่ส่งออกได้ และมีราคาพอรับได้ ก็คือ รัสเซีย และ ยูเครน ซึ่งตอนนี้ไม่ว่าง เพราะกำลังรบกันอยู่ 

สงครามเซมิคอนดัคเตอร์เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น มีอะไรให้ตกใจอีกเยอะต่อจากนี้

‘หวัง อี้’ แนะ ‘ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ รู้จักรากเหง้าตัวเอง

หวังอี้ ผู้รับผิดชอบนโยบายต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกร้องให้เกิดความสามัคคีกันระหว่าง จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยระบุว่า “ชาวตะวันตกไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้ และไม่ว่าเราจะย้อมผมทองแค่ไหน ทำจมูกโด่งแค่ไหน เราก็ไม่สามารถเป็นชาวตะวันตกได้ เราควรรู้ว่ารากเหง้าเราอยู่ที่ไหน”

‘ซอสศรีราชาตราไก่’ ในสหรัฐฯ ราคาพุ่งพรวด ขายขวดละ 2,000 บาท แพงขึ้นเกือบ 20 เท่า

ศรีราชาตราไก่ หรือซอสพริกศรีราชา ของบริษัท Huy Fong Foods คือแบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้น โดยชาวเวียดนามอพยพ และเป็นซอสพริกที่เป็นที่นิยมมาก ๆ ในสหรัฐอเมริกา

ประเด็นคือตอนนี้ ซอสศรีราชาตราไก่ในสหรัฐอเมริกา ขายกันขวดละ 2,000 บาท จากปกติราคาประมาณ ขวดละ 140 บาท
แล้วมันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องนี้ ?

เพจ BrandCase ได้ทำสรุปว่า

Huy Fong Foods หรือซอสพริกศรีราชาตราไก่นี้ ก่อตั้งขึ้นโดยชาวเวียดนามที่อพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ชื่อว่า คุณ David Tran 

โดยในสมัยที่เขาอพยพไปนั้น ในสหรัฐอเมริกายังไม่ค่อยมีคนทำซอส ที่มีจุดเด่นคือรสเผ็ด จัดจ้าน เปรี้ยว หวาน ออกมาขาย 

เขาจึงตัดสินใจทำขายเอง โดยทำในปริมาณไม่มาก และเน้นขายคนเอเชียที่อยู่ในละแวกเดียวกันกับเขา 

ต่อมาซอสพริกศรีราชาของคุณ David ก็เริ่มกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะถูกปากคนอเมริกัน รวมถึงชาวเม็กซิโกที่มาอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่ชอบอาหารรสจัดเหมือนกัน

จนสามารถก่อตั้งบริษัท Huy Fong Foods ขึ้นในปี 1980

หลังจากประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา ซอสพริกศรีราชาตราไก่นั้นก็เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 

แม้แต่ในประเทศไทยเอง ก็ยังมีซอสพริกศรีราชาของแบรนด์นี้ วางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ..

แล้วมันเกิดอะไรขึ้น 

ทำไมตอนนี้ซอสพริกที่ว่านี้ ถึงกำลังขาดตลาด ? 

ต้องเล่าว่า ถึงแม้จะเป็นซอสพริกสไตล์แบบเอเชีย 

แต่สำหรับซอสพริกศรีราชาของ Huy Fong Foods นั้น จะเลือกใช้พริก Red Jalapeno ที่ปลูกทางตอนเหนือของประเทศเม็กซิโก 

ซึ่งปัญหาในตอนนี้ก็คือ ประเทศเม็กซิโกกำลังเจอกับสภาพอากาศแห้งแล้ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

บวกกับปรากฏการณ์ลานีญาที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้พื้นที่แถบนั้นฝนตกน้อยลง ก็ยิ่งส่งผลให้การปลูกพริกเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก 

โดยทางบริษัทเริ่มเจอปัญหานี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และได้เริ่มหยุดรับออร์เดอร์ใหม่ ๆ มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 แล้ว 

ที่น่าสนใจคือ ในเวลานี้ ซอสพริกศรีราชาของ Huy Fong Foods ขาดตลาดจนถึงขั้นที่ว่า 

ในเว็บไซต์อย่าง Ebay ซอสพริกศรีราชาขวดเล็กขนาด 28 ออนซ์ ราคาพุ่งไปถึง 2,400 บาทต่อ 1 ขวด จากราคาเดิมที่ประมาณ ขวดละ 140 บาท 

หรือราคาขวดใหญ่ในเว็บไซต์ Amazon ก็พุ่งไปสูงถึงประมาณ 4,300 บาท ต่อแพ็ก (แพ็กละ 2 ขวด) 

พูดง่าย ๆ ว่าราคาเพิ่มขึ้นไปเป็นเกือบ 20 เท่า เลยทีเดียว

และมันถึงกับทำให้เกิดเหตุการณ์ ซอสศรีราชาตราไก่ถูกขโมยตามร้านอาหารต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ต้องบอกว่าเรื่องของวัตถุดิบขาดแคลนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่บริษัท Huy Fong Foods เพียงบริษัทเดียว 

แต่กำลังเกิดขึ้นกับหลาย ๆ บริษัททั่วโลก อย่างเช่น General Mills เจ้าของแบรนด์ธัญพืชชื่อดังรายใหญ่ของโลก ก็กำลังเจอปัญหานี้อยู่ 

แล้วพอเป็นแบบนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ? 

ถ้าอ้างอิงจาก เว็บไซต์ Hivecpq สิ่งที่พอจะช่วยได้ เช่น 

1. บริหารสินค้าคงเหลือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
2. ลดปริมาณวัตถุดิบเหลือทิ้งให้ได้มากที่สุด 
3. รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับ Supplier ต่าง ๆ ไว้

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็คือ ที่ซอสพริกศรีราชาตราไก่ ขาดตลาด แถมราคาพุ่งสูงขึ้นไปขนาดนี้ ก็อาจจะสะท้อนว่า สินค้าชิ้นนี้ คือสินค้าที่ฮอตจริง ๆ 

เพราะแม้จะขายแพงกว่าเดิมหลายเท่า ก็ยังมีคนยอมจ่ายเงินซื้อ..


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top