Friday, 3 May 2024
TodaySpecial

7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510  ‘สะพานสารสิน’ เปิดใช้งานครั้งแรก  เชื่อมแผ่นดินพังงา - ภูเก็ต 

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน เป็นวันเปิดใช้งาน สะพานสารสิน เป็นครั้งแรก เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต

สะพานสารสิน เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 หรือเมื่อ 55 ปีที่แล้ว เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต โดยเชื่อมต่อระหว่างบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงาและบ้านท่าฉัตรไชยของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสะพานสารสินมีความยาวทั้งหมด 660 เมตร รับผิดชอบดูแลโดย กรมทางหลวง

สะพานแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยเปิดให้บริษัทรับเหมาทำการก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างในระยะแรกมีปัญหาเพราะขาดความชำนาญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มทำการก่อสร้างสะพานอีกครั้งจนสำเร็จ และเปิดทำการได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,770,000 บาท

ปัจจุบัน สะพานสารสิน ไม่ให้รถยนต์สัญจรไปมาแล้ว โดยให้รถยนต์ใช้สะพานสารสิน 2 และ สะพานท้าวเทพกระษัตรีแทน

สะพานสารสินเดิม หรือ สะพานสารสิน 1 นั้นจึงถูกปรับปรุงให้เป็นสะพานคนเดินและสร้างหอชมวิวทิวทัศน์ สะพานแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

ทั้งนี้ สะพานสารสิน เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสถานที่ที่เป็นตำนานความรักของหนุ่มสาวสองคนที่ไม่สมหวัง คือ โกดำ (ดำ แซ่ตัน) กับ กิ๊ว (กาญจนา แซ่หงอ) ที่มีความแตกต่างกันทางฐานะ ด้วยโกดำเป็นเพียงคนขับรถสองแถวรับจ้างและรับจ้างกรีดยาง

ขณะที่กิ๊วมีฐานะที่ดีกว่า และเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู โดยที่ผู้ใหญ่ทางบ้านของกิ๊วได้กีดกั้นทั้งสองคบหากัน ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายที่กลางสะพานสารสิน ด้วยการใช้ผ้าขาวม้ามัดตัวทั้งสองไว้ด้วยกัน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเรื่องราวของทั้งคู่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ คือ สะพานรักสารสิน ในปี พ.ศ. 2530 นำแสดงโดย รอน บรรจงสร้าง และจินตรา สุขพัฒน์ และ สะพานรักสารสิน ในปี พ.ศ. 2541 นำแสดงโดย นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล และคทรีน่า กลอส ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่ากันว่า ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง จะมีกระต่ายสีขาวตาสีแดงคู่หนึ่ง ออกมาอยู่คู่กันที่สะพานแห่งนี้ เชื่อว่าเป็นวิญญาณของทั้งคู่อีกด้วย

8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ท่านพุทธทาสภิกขุ มรณภาพ ผู้ที่ยูเนสโก ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ครบรอบ 30 ปี ท่านพุทธทาสภิกขุ (2449-2536) มรณภาพอย่างสงบที่สวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ท่านได้ตัดสินใจมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านพร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเรียนตามประเพณี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา

หลังจากท่าพุทธทาสภิกขุมรณภาพไปแล้ว ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์

9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ ถูกปรับ 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมถูกแบน จากเหตุการณ์ช็อกโลกกัดหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์’

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ เจ้าของฉายามฤตยูดำ ถูกปรับเงิน 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมถูกยึดใบอนุญาตชกมวย จากเหตุการณ์ช็อกโลกกัดใบหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์’ ในการชกชิงแชมป์โลก รุ่น เฮฟวีเวท

ซึ่งชนวนเหตุ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ไมค์ ไทสัน หรือที่ทั่วโลกรู้จักเขาในฉายา มฤตยูดำ ต้องพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 2 ในการชกมวยอาชีพ ด้วยน้ำมือของ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ด้วยการถูกน็อกในยก 11 พร้อมกับทำให้ ไทสัน เสียเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทของสมาคมมวยโลก (WBA) ไปแบบสุดเจ็บช้ำ ซึ่งจากความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ทำให้ไทสันพยายามที่จะขอรีแมตช์เพื่อแย่งแชมป์โลกคืนมา และในที่สุดทั้งคู่ก็ตกลงดวลกำปั้นกันอีกครั้งในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ที่สังเวียน เอ็มจีเอ็ม แกรนด์ ลาสเวกัส พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เมื่อเริ่มยกแรก โฮลีฟิลด์ คู่ปรับเดินหน้าเข้าใส่ทันที และทำได้ดีจนกระทั่งเข้าสู่ยกที่ 2 โฮลีฟิลด์ ได้เอาหัวไปโขกไทสันจนบริเวณตาขวาบวมขึ้นมา แต่กรรมการ มิลล์ เลน ไม่ได้ลงโทษใด ๆ เนื่องจากมองว่าเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งจากอุบัติเหตุครั้งนี้ก็ทำให้ ไทสัน เริ่มออกอาการหัวเสีย

เมื่อเข้าสู่ยกที่ 3 ไทสัน ดูจะฟิวส์ขาดอย่างชัดเจน เพียงแค่ 40 วินาทีสุดท้ายก่อนหมดยก ในขณะที่ทั้งคู่กำลังคลุกวงในอยู่ ไทสันที่ฟิวส์ขาดจนฉุดไม่อยู่ ก็ได้สร้างเหตุการณ์ช็อกโลก ไทสันแอบคายฟันยางและกัดเข้าที่ใบหูข้างขวาของ โฮลีฟิลด์ จนขาดติดปาก ก่อนจะถ่มลงพื้นเวที ทำเอา โฮลีฟิลด์ กระโดดไปทั่วด้วยความเจ็บปวดปนช็อกที่ไม่คิดว่าจะมาเจออะไรแบบนี้บนสังเวียน และการชกก็ต้องหยุดลงไปหลายนาทีเพื่อปฐมพยาบาล 

โดยเมื่อแพทย์ได้ห้ามเลือดและดูบาดแผลแล้วก็ยังอนุญาตให้ชกได้ กรรมการจึงประกาศหักคะแนนไทสัน 2 แต้ม จากการทำผิดกติกาก่อนจะให้ชกกันต่อ แต่ดูเหมือนไทสันจะยังไม่หนำใจ เพราะเขาได้ทิ้งรอยแผลที่หูอีกข้าง ด้วยการกัดไปอีกหนึ่งรอบ ก่อนระฆังจะหมดยก ซึ่งกรรมการ มิลล์ เลน ก็ได้ ปรับให้ไทสันแพ้ฟาวล์ในการกัดหูรอบที่สอง

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 วางระเบิด ‘เรนโบว์ วอร์ริเออร์’ เรือของกรีนพีซ ฝีมือ ‘สายลับฝรั่งเศส’

เมื่อปี วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สายลับของฝรั่งเศส ได้วางระเบิดสองลูกเพื่อจมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ เป็นเหตุให้ช่างภาพชาวโปรตุเกสเสียชีวิตหนึ่งราย

ย้อนไป วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528  เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซทอดสมออยู่ที่เมืองโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเตรียมความพร้อมออกปฏิบัติการต่อต้านการทดลองนิวเคลียร์ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่หมู่เกาะปะการังโมรูรัว

ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน กัปตันพีท วิลล์คอกซ์ และลูกเรือคนอื่น ๆ กำลังจะเข้านอน มีลูกเรือสองสามนายรวมทั้งเฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพประจำเรือ ยังนั่งคุยและดื่มเบียร์สองขวดสุดท้ายกันอยู่ที่โต๊ะเอนกประสงค์ของเรือ

ทันใดนั้น มีแสงสว่างวาบขึ้น ตามด้วยเสียงกระจกแตก และเสียงโครมของน้ำ ในนาทีแรกพวกลูกเรือคิดว่าเรืออาจถูกเรือโยงชน

หลังจากนั้นก็เกิดระเบิดลูกที่สอง

ลูกเรือที่อยู่บนดาดฟ้าเรือรีบกระโจนขึ้นบันไดหรือกระโดดหลบในที่ปลอดภัยบนท่าเรือ ภายในเวลาไม่กี่นาที พวกเขาเห็นเสากระโดงเรือที่เป็นเหล็กบิดงอไปต่อหน้าต่อตา 

เหตุการณ์ระเบิดได้คร่าชีวิต เฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพชาวโปรตุเกส ซึ่งเขาขึ้นเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ในฐานะลูกเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ที่มีหน้าที่ถ่ายภาพการทดลองนิวเคลียร์ของฝรั่งศส เพื่อนำไปเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้ประจักษ์ ร่างของเขาพูดน้ำพัดและจมไปในคืนนั้น

แน่นอนว่า เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ไม่ได้ถูกเรือโยงชน แต่เป็นฝีมือสายลับของฝรั่งเศส ที่ได้พยายามขัดขวางแผนการรณรงค์ของเรือ โดยวางระเบิดหุ้มพลาสติกไว้สองลูก ลูกหนึ่งซ่อนไว้ในใบพัด อีกลูกหนึ่งอยู่นอกกำแพงห้องเครื่อง

ในตอนแรก รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธการเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็ชัดเจนว่า รัฐบาลฝรั่งเศสมีส่วนรู้เห็น จนในที่สุดนายโลรองต์ ฟาบัวส์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ปรากฎตัวทางโทรทัศน์และกล่าวกับสาธารณชนว่า “สายลับ DGSE ได้ปฏิบัติการจมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ทั้งนี้ เป็นปฏิบัติการตามคำสั่ง”

โดมินิเก พริเยอร์ และ อแลงน์ มาฟาร์ต ซึ่งครั้งนั้นอยู่ในสถานะของนักท่องเที่ยวชาวสวิส เป็นสายลับเพียงสองนายที่เข้ารับการไต่สวน และยอมรับในข้อกล่าวหาฆาตกรรมและทำลายทรัพย์สินโดยเจตนา ซึ่งมีโทษจำคุก 10 และ 7 ปี แต่มีการเจรจาในกรอบของสหประชาชาติที่มีผลให้ทั้งสองคนย้ายไปต้องโทษที่หมู่เกาะ Hao ซึ่งเป็นฐานทัพทหารของฝรั่งเศสในเฟรนซ์โปลินิเซีย

และทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวในช่วงไม่ถึงสองปีหลังจากนั้น

คริสติน กาบอง เป็นสายลับอีกหนึ่งคนที่แทรกซึมเข้าไปในสำนักงานของกรีนพีซนิวซีแลนด์ก่อนมีการวางระเบิดที่เรือ เธอหลบหนีก่อนจะถูกจับได้ในอิสราเอลและไม่มีใครเห็นเธออีกเลย ส่วนฌอง-มิเชล แบร์เตโล หนึ่งในนักประดาน้ำสองคนที่เชื่อว่า เป็นผู้วางระเบิด ก็ไม่มีใครพบเห็นเช่นกัน 

คนที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่ท่าเรือโอคแลนด์ ในคืนนั้น ล้วนหายตัวไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

11 กรกฎาคม ครบรอบ 135 ปี วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทรงมีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับพระราชเทวีสิริกัลยาณี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์ 

พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี

สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร

สมเด็จพระนารายณ์มีส่วนสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา โดยพระองค์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระองค์ หลังจากที่พระองค์ช่วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้แล้วนั้น สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและให้เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ พระองค์ทรงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก (ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199) มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา

หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุกๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมุหนายก ขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์

ในช่วงปลายรัชกาล ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะสวรรคตนั้น เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมายขึ้นในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2231 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ พระเพทราชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ประทับอยู่ที่ลพบุรี และทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิชัยดิษฐ์ในปัจจุบัน

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชดำริให้ ‘เลิกทาส’

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 หรือวันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน คือจุดเริ่มต้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะ "เลิกทาส" 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชดำริของพระองค์ว่าจะ ‘เลิกทาส’ กลางที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ อันเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระองค์เอง ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417

จนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 หรือ 31 ปีต่อมา พระองค์จึงจะทรงสามารถออก ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ อันเป็นการสิ้นสุดระบบทาสโดยถาวรไปจากสยามประเทศ

40 วัน หลังจากทรงประกาศพระราชดำรินี้ คือวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 ทรงออก ‘พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย’ คือการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ เพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของค่าตัวทาส ซึ่งมักจะมีการโก่งและขึ้นราคา เนื่องจากนายทาสมักจะนิยมสะสมทาสเพื่อแสดงศักดิ์ และบารมีของตนเอง โดยพระราชบัญญัตินี้บังคับให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ แต่จะมีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมาเท่านั้น และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ และ ‘พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124’ ถือเป็นการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ โดยในส่วนของทาสนั้น ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก ทำให้วันที่ 1 เมษายนเป็นที่รู้จักกันใน ‘วันเลิกทาส’

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ประสูติ เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (พระนามเดิม หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร) เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร พระองค์เป็นทั้งพระภาติยะและอดีตพระสุณิสาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา มีพระธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ภายหลังการหย่าในปี พ.ศ. 2534 พระองค์ยังมีสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ยูเนสโก ประกาศให้ ‘ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

วันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน ที่ประชุมยูเนสโกประกาศให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เป็น #มรดกโลก ทางธรรมชาติ ภายใต้ชื่อ ‘ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น ‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’ จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ นับเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติไทย ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็นผืนป่าตะวันออก ซึ่งเปรียบเทียบกับผืนป่าตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก และรอบ ๆ

ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นผืนป่าอนุรักษ์เชิงระบบนิเวศ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง อยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดนครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ได้แก่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์

ลักษณะภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนของภูเขาใหญ่น้อยแห่งเทือกเขาสันกำแพง โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มียอดเขาสูงสุดของพื้นที่ สลับกับพื้นที่ราบและทุ่งระหว่างหุบเขา สภาพป่าโดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ชนิดป่า ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่า โดยเฉพาะยังเป็นแหล่งที่อยู่อายของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์หลานชนิด เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสำคัญ ๆ หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำนครนายก แม่น้ำประจันตคาม แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี ลำพระเพลิงและลำตะคอง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวนรก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศในอุทยานแห่งชาติทับลาน ตลอดจนมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หลากหลาย เช่น การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การดูนก การดูผีเสื้อ การส่องสัตว์ การล่องแก่ง ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ เป็นต้น

15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 ประเทศไทยสูญเสียดินแดน ครั้งที่ 7 ยกเขมรและ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม

เมื่อ 156 ปีก่อน ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนต้องศึกษาและจดจำ

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 เป็นอีกวันที่คนไทยทั้งชาติควรศึกษาและจดจำไว้เป็นบทเรียน กับเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ที่อันสำคัญในการรักษาอำนาจอธิปไตย ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นในยุคล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก กับความเจ็บปวดที่แลกมากับการต้องสูญเสียดินแดน เขมรและเกาะ 6 เกาะ เป็นพื้นที่ 124,000 ตร.กม. ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 7 จากทั้งหมด 14 ครั้ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 จวบจนปัจจุบัน

สำหรับการเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ นั้น สืบเนื่องจากการทำสงครามระหว่างไทยกับญวนหลายปี เพื่อแย่งชิงเขมรส่วนนอก หรือที่เรียกว่า 'อานามสยามยุทธ' ซึ่งภายหลังได้มีการตกลงกันว่า จะให้เขมรเป็นประเทศราชของสยามต่อไป แต่ก็ต้องส่งบรรณาการไปให้ญวนเสมือนประเทศราชของญวนด้วย แต่ไทยมีสิทธิ์ในการสถาปนากษัตริย์เขมรดั่งเดิม

โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ นักองด้วง เป็นกษัตริย์แห่งเขมร สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี หรือ สมเด็จพระหริรักษ์รามสุริยะมหาอิศวรอดิภาพ แต่ในปี 2397 เขมรได้แอบส่งสารลับไปยังฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสช่วยกู้ดินแดนที่เสียให้ญวณกลับมาอยู่กับเขมรอีกครั้ง และมาช่วยคุ้มครองเขมรให้พ้นจากทั้งอำนาจของสยามและญวน

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชการที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นักองราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรองค์ต่อจาก สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ที่เสด็จสวรรคต โดยในช่วงก่อนปี 2406 นั้น ฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบอินโดจีนหรือญวนมากขึ้น และได้เข้ามาบีบบังคับโดยใช้กำลัง ทั้งทางกองเรือและทางการทูต

ทำให้สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ยอมให้อำนาจแก่ฝรั่งเศส ในการเข้ามาปกครอง และให้เขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส โดยมีพระองค์ยังคงเป็นกษัตริย์อยู่ และได้ทำสัญญากันในปี 2406 ฝรั่งเศสเข้ามาเอาผลประโยชน์ โดยเอาเปรียบทางการค้าไทย และต้องการดินแดนเพื่อเข้าไปใกล้กับแม่น้ำโขง เพราะต้องการจะล่องเรือเข้าไปยังจีนผ่านทางนั้น

อย่างไรก็ตาม สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชา โดยทำสนธิสัญญาลับสยาม - กัมพูชา เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ.2406 เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา พระนโรดมยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน แต่เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ก็ได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญา

ทั้งนี้เมื่อฝ่ายสยามประเมินแล้วเห็นว่า ไม่มีทางจะต่อสู้กับฝรั่งเศสได้ จึงต้องยอมไปใน พ.ศ.2410 (ค.ศ.1867) โดยสยามจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส รับรองให้เขมรส่วนนอกด้านติดกับโคชินไชนา รวมเกาะอีก 6 เกาะ เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส หลังจากฝรั่งเศสบังคับกษัตริย์นโรดมพรหมบริรักษ์แห่งเขมร ให้ยอมยกดินแดนดังกล่าวไปอยู่ใต้การปกครอง

16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488  ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก  ภายใต้รหัส ‘Trinity’ ของกองทัพสหรัฐฯ

Trinity เป็นชื่อรหัสของการทดสอบการระเบิดของอุปกรณ์นิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก โดยฝ่ายกองทัพสหรัฐฯ เมื่อเวลา 5.29 น. ของวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

การทดสอบมีขึ้นที่ทะเลทราย Jornada del Muerto ห่างจากเมือง  Socorro รัฐนิวเม็กซิโกราว 56 กิโลเมตร ซึ่งในสมัยนั้นถูกใช้เป็นสนามสำหรับการซ้อมการทิ้งระเบิดและซ้อมยิงของกองทัพอากาศสหรัฐ แต่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสนามทดสอบขีปนาวุธ White Sands Missile Range 

สิ่งปลูกสร้างเดียวในพื้นที่ เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ชื่อ  McDonald Ranch House ที่นักวิทยาศาสตร์เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับทดสอบอุปกรณ์ของระเบิด จึงมีการตั้งเบสแคมป์ขึ้นที่นั่น โดยขณะที่มีการทดลองระเบิด มีผู้คนมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ 425 คน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top