12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชดำริให้ ‘เลิกทาส’

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 หรือวันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน คือจุดเริ่มต้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะ "เลิกทาส" 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชดำริของพระองค์ว่าจะ ‘เลิกทาส’ กลางที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ อันเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระองค์เอง ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417

จนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 หรือ 31 ปีต่อมา พระองค์จึงจะทรงสามารถออก ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ อันเป็นการสิ้นสุดระบบทาสโดยถาวรไปจากสยามประเทศ

40 วัน หลังจากทรงประกาศพระราชดำรินี้ คือวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 ทรงออก ‘พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย’ คือการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ เพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของค่าตัวทาส ซึ่งมักจะมีการโก่งและขึ้นราคา เนื่องจากนายทาสมักจะนิยมสะสมทาสเพื่อแสดงศักดิ์ และบารมีของตนเอง โดยพระราชบัญญัตินี้บังคับให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ แต่จะมีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมาเท่านั้น และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ และ ‘พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124’ ถือเป็นการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ โดยในส่วนของทาสนั้น ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก ทำให้วันที่ 1 เมษายนเป็นที่รู้จักกันใน ‘วันเลิกทาส’