15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 ประเทศไทยสูญเสียดินแดน ครั้งที่ 7 ยกเขมรและ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม

เมื่อ 156 ปีก่อน ประเทศไทยสูญเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้ฝรั่งเศส ในยุคล่าอาณานิคม อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนต้องศึกษาและจดจำ

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 เป็นอีกวันที่คนไทยทั้งชาติควรศึกษาและจดจำไว้เป็นบทเรียน กับเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ที่อันสำคัญในการรักษาอำนาจอธิปไตย ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นในยุคล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก กับความเจ็บปวดที่แลกมากับการต้องสูญเสียดินแดน เขมรและเกาะ 6 เกาะ เป็นพื้นที่ 124,000 ตร.กม. ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการเสียดินแดนครั้งที่ 7 จากทั้งหมด 14 ครั้ง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 จวบจนปัจจุบัน

สำหรับการเสียดินแดนเขมรและเกาะ 6 เกาะ นั้น สืบเนื่องจากการทำสงครามระหว่างไทยกับญวนหลายปี เพื่อแย่งชิงเขมรส่วนนอก หรือที่เรียกว่า 'อานามสยามยุทธ' ซึ่งภายหลังได้มีการตกลงกันว่า จะให้เขมรเป็นประเทศราชของสยามต่อไป แต่ก็ต้องส่งบรรณาการไปให้ญวนเสมือนประเทศราชของญวนด้วย แต่ไทยมีสิทธิ์ในการสถาปนากษัตริย์เขมรดั่งเดิม

โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ นักองด้วง เป็นกษัตริย์แห่งเขมร สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี หรือ สมเด็จพระหริรักษ์รามสุริยะมหาอิศวรอดิภาพ แต่ในปี 2397 เขมรได้แอบส่งสารลับไปยังฝรั่งเศส ขอให้ฝรั่งเศสช่วยกู้ดินแดนที่เสียให้ญวณกลับมาอยู่กับเขมรอีกครั้ง และมาช่วยคุ้มครองเขมรให้พ้นจากทั้งอำนาจของสยามและญวน

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ รัชการที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นักองราชาวดี หรือ สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรองค์ต่อจาก สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ที่เสด็จสวรรคต โดยในช่วงก่อนปี 2406 นั้น ฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบอินโดจีนหรือญวนมากขึ้น และได้เข้ามาบีบบังคับโดยใช้กำลัง ทั้งทางกองเรือและทางการทูต

ทำให้สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ยอมให้อำนาจแก่ฝรั่งเศส ในการเข้ามาปกครอง และให้เขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส โดยมีพระองค์ยังคงเป็นกษัตริย์อยู่ และได้ทำสัญญากันในปี 2406 ฝรั่งเศสเข้ามาเอาผลประโยชน์ โดยเอาเปรียบทางการค้าไทย และต้องการดินแดนเพื่อเข้าไปใกล้กับแม่น้ำโขง เพราะต้องการจะล่องเรือเข้าไปยังจีนผ่านทางนั้น

อย่างไรก็ตาม สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชา โดยทำสนธิสัญญาลับสยาม - กัมพูชา เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ.2406 เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา พระนโรดมยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน แต่เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ก็ได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญา

ทั้งนี้เมื่อฝ่ายสยามประเมินแล้วเห็นว่า ไม่มีทางจะต่อสู้กับฝรั่งเศสได้ จึงต้องยอมไปใน พ.ศ.2410 (ค.ศ.1867) โดยสยามจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส รับรองให้เขมรส่วนนอกด้านติดกับโคชินไชนา รวมเกาะอีก 6 เกาะ เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส หลังจากฝรั่งเศสบังคับกษัตริย์นโรดมพรหมบริรักษ์แห่งเขมร ให้ยอมยกดินแดนดังกล่าวไปอยู่ใต้การปกครอง