Friday, 3 May 2024
TodaySpecial

27 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับชั่วคราว’

วันนี้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว เป็นวันประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

โดยเป็นผลพวงหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยพระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญภายในคณะราษฎร โดยในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กลับพระนคร และในวันเดียวกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร 

นอกจากนี้คณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามด้วย แต่พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า 'ชั่วคราว' สืบเนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของผู้ก่อการฯ ไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 นี้ใช้เพื่อเป็นกติกาในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้ประกาศใช้ถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475เท่านั้น และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ถือเป็นวันกำเนิด ‘รัฐสภาไทย’ 

วันนี้ เมื่อ 91 ปีก่อน เป็นวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นวันกำเนิด ‘รัฐสภาไทย’

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ประเทศไทย (สยาม) ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่นั้นมา ประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่เรียกว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ ทำหน้าที่ใช้สิทธิออกเสียงในการบริหารปกครองบ้านเมืองแทนประชาชน

เวลา 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมเป็นครั้งแรก ณ ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดห้องประชุมเป็นลักษณะครึ่งวงกลมตามระนาบพื้นห้อง การประชุมเริ่มขึ้นเมื่อหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อ่านรายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จำนวน 70 คน และเป็นผู้กล่าวนำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุม จากนั้น เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ได้อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านเปิดประชุม เสร็จแล้วจึงได้ดำเนินการประชุมต่อไป จึงถือว่าวันนั้นเป็นวันก่อกำเนิดของรัฐสภาไทยมาจนถึงทุกวันนี้

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนั้น ที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และเห็นชอบให้หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก รวมทั้งมีมติเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกันด้วย

แม้จะล่วงเลยผ่านตามการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา รัฐสภาชุดต่าง ๆ ยังคงทำหน้าที่ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชน โดยออกกฎหมายมาใช้บังคับในสังคม ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศ รวมทั้งแสดงบทบาทในฐานะผู้แทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ และเป็นสิทธิเป็นเสียงแทนประชาชนทั้งประเทศต่อเนื่องตลอดมา

จากวันนั้น...ถึงวันนี้...เป็นระยะเวลา 91 ปี ที่รัฐสภาได้เกิดขึ้นเคียงคู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสมาชิกรัฐสภาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ รวม 25 ชุด มีประธานรัฐสภาทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและดูแลการบริหารราชการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพ รวม 31 คน มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นกลไกหลัก ในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร รวม 8 คน รวมทั้งได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกับคณะรัฐมนตรี รวม 52 คณะ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี รวม 29 คน

ตัวเลขเหล่านี้ ย่อมบ่งบอกถึงการผ่านร้อนผ่านหนาว สั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ประโยชน์แก่บ้านเมืองมาเป็นระยะเวลาพอสมควร เผชิญเหตุการณ์มากมายทั้งที่เป็นปัญหาอุปสรรค และส่งเสริมสนับสนุนต่อวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เข้มแข็ง พัฒนาและก้าวหน้าขึ้น

เรือดำน้ำชุดแรก 4 ลำ ที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อ เดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทย

รู้หรือไม่ ในอดีตประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2481 

29 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เรือหลวงสินสมุทร, เรือหลวงพลายชุมพล, เรือหลวงมัจฉาณุ (ลำที่ 2) และ เรือหลวงวิรุณ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำชุดแรกที่รัฐบาลไทยสั่งต่อมาจากประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย

เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับการต่อที่อู่ต่อเรือ บริษัท มิตซูบิชิ ที่เมืองโกเบ เมื่อปี พ.ศ. 2479 ในสนนราคาลำละ 882,000 บาท วางกระดูกงูและปล่อยลงน้ำไล่เลี่ยกันคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม พ.ศ. 2479  ดังนี้ 

พิธีวางกระดูกงู ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2479

พิธีวางกระดูกงู ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 1 พ.ศ. ตุลาคม 2479

ปล่อยลงน้ำ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ โดยนางมิตรกรรมรักษา เมื่อ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2479

ปล่อยลงน้ำ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล โดยพระมิตรกรรมรักษา เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 (มีการถ่ายทำภาพยนตร์โดย ร.ท.นิตย์ สุขุม)

ทำพิธีมอบเรือ ร.ล.มัจฉาณุ และร.ล.วิรุณ เมื่อ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 ถือวันนี้เป็น “วันที่ระลึกเรือดำน้ำ”

พิธีมอบเรือ ร.ล.สินสมุทร และ ร.ล.พลายชุมพล เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2481 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ถอนสมอเคลื่อนที่ออกจากท่าน้ำประเทศญี่ปุ่น สู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2481 และเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2481 

หลังจากมาถึงประเทศไทยก็ได้ขึ้นระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 และปลดระวางประจำการพร้อมกันคือวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เมื่อครั้งกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส หลังจาก เรือหลวงธนบุรี และ เรือตอร์ปิโด ถูกเรือฝรั่งเศสยิงจมแล้ว เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ได้ไปลาดตระเวนเป็น 4 แนวอยู่หน้าบริเวณฐานทัพเรือเรียมของอินโดจีนฝรั่งเศส ใช้เวลาดำอยู่ใต้น้ำทั้งสิ้นลำละ 12 ชั่วโมง ขึ้นไปนับเป็นการดำที่นานที่สุด ตั้งแต่ได้เริ่มมีหมวดเรือดำน้ำมาจนกระทั่งได้ถูกยุบเลิกไป ปัจจุบันเรือหลวงมัจฉานุได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ

30 มิถุนายน พ.ศ. 2448 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ นำเสนอ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’

วันนี้ เมื่อ 118 ปีก่อน ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ เผยแพร่บทความ ‘On the Electrodynamics of Moving Bodies’ ซึ่งนำเสนอ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (The Special Theory of Relativity)

บทความ ‘On the Electrodynamics of Moving Bodies’ ซึ่งนำเสนอ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (The Special Theory of Relativity) ของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เป็นการรวมกลศาสตร์ดั้งเดิมเข้ากับ electrodynamics ของ Clark Maxwell โดยกล่าวถึงการเคลื่อนที่ของสิ่งต่างๆ ในมิติของเวลา, สถานที่ และทิศทาง ต่อมาได้กล่าวถึงมวลสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ และพลังงานก็สามารถเปลี่ยนเป็นมวลสารได้ หรือมวลสารกับพลังงาน คือ ‘สิ่งเดียวกัน’ (mass and energy equivalent) ดังสมการที่ลือชื่อ คือ ‘E=mc2’ เมื่อ E เป็น พลังงาน m คือ มวลที่มีหน่วยเป็นกรัม c คือ ความเร็วของแสง มีหน่วยเป็นเซนติเมตรต่อวินาที

‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (Special Relativity) จะเกี่ยวข้องกับระบบที่มีความเร็วคงที่คือเป็น ระบบที่ไม่มีความเร่ง การอธิบายทฤษฎีนี้อย่างง่ายที่สุดก็เปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อเรารู้สึกว่าทุกสิ่งกำลังหยุดนิ่งหรือมีความเร็วที่เท่ากัน เราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งใดกำลังเคลื่อนที่ เช่น โลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ เรายังรู้สึกว่าทุกสิ่งกำลังอยู่กับที่ แต่ที่จริงสิ่งที่เรานึกว่า หยุดอยู่กับที่กลับเคลื่อนที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity) ถูกเสนอขึ้นในปี พ.ศ.2448 (ค.ศ.1905) โดยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ในบทความของเขา ‘เกี่ยวกับพลศาสตร์ไฟฟ้าของวัตถุซึ่งเคลื่อนที่ (On the Electrodynamics of Moving Bodies)’ 

สามศตวรรษก่อนหน้านั้น หลักสัมพัทธภาพของกาลิเลโอกล่าวไว้ว่า การเคลื่อนที่ ด้วยความเร็วคงที่ทั้งหมดเป็นการสัมพัทธ์ และไม่มีสถานะของการหยุดนิ่งสัมบูรณ์และนิยามได้ คนที่อยู่บนดาดฟ้าเรือคิดว่าตนอยู่นิ่ง แต่คนที่สังเกตบนชายฝั่งกลับบอกว่า ชายบนเรือกำลังเคลื่อนที่ทฤษฎีของไอน์สไตน์รวมหลักสัมพัทธภาพของกาลิเลโอเข้ากับสมมติฐานที่ว่า ผู้สังเกตทุกคนจะวัดอัตราเร็วของแสงได้เท่ากันเสมอ ไม่ว่าสภาวะการเคลื่อนที่เชิงเส้นด้วยความเร็วคงที่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

ทฤษฎีนี้มีข้อสรุปอันน่าประหลาดใจหลายอย่างซึ่งขัดกับสามัญสำนึก แต่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการทดลอง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษล้มล้างแนวคิดของสเปซสัมบูรณ์และเวลาสัมบูรณ์ของนิวตันโดยการยืนยันว่า ระยะทางและเวลาขึ้นอยู่กับผู้สังเกต และเวลากับสเปซนั้นถูกรับรู้ต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้สังเกต มันนำมาซึ่งหลักการสมมูลของสสารและพลังงาน ซึ่งสามารถแสดงเป็นสมการชื่อดัง ‘E=mc2’ เมื่อ c คือ อัตราเร็วของแสง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษสอดคล้องกับกลศาสตร์นิวตันในสำนึกทั่วไป และในการทดลองเมื่อความเร็วของสิ่งต่างๆ น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราเร็วแสง

ทฤษฎีนี้เรียกว่า ‘พิเศษ’ เนื่องจากมันประยุกต์หลักสัมพัทธภาพกับกรอบอ้างอิงเฉื่อยเท่านั้น ไอน์สไตน์พัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป โดยประยุกต์หลักสัมพัทธภาพให้ใช้ทั่วไปกล่าว คือ ใช้ได้กับทุกกรอบอ้างอิง และทฤษฎีดังกล่าวยังรวมผลของความโน้มถ่วง ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษไม่ได้รวมผลของความโน้มถ่วง แต่มันสามารถจัดการกับความเร่งได้ ถึงแม้ว่าทฤษฎีสัมพัทธภาพจะทำให้เกิดการสัมพัทธ์กันของปริมาณบางอย่าง เช่น เวลาซึ่งเรามักคิดว่าเป็นปริมาณสัมบูรณ์ เนื่องจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ถึงกระนั้น มันก็มีปริมาณบางอย่างที่เป็นปริมาณสัมบูรณ์ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นปริมาณสัมพัทธ์ กล่าวให้ชัดคือว่า อัตราเร็วของแสงจะเท่ากันสำหรับทุกผู้สังเกต แม้ว่าพวกเขาจะเคลื่อนที่สัมพัทธ์กันก็ตาม ทฤษฎีสัมพัทธภาพแสดงให้เห็นว่า c ไม่ใช่แค่ความเร็วของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘แสง’ เท่านั้น แต่ยังเป็นค่าพื้นฐานที่เชื่อมสเปซกับเวลาเข้าด้วยกัน กล่าวโดยเจาะจงคือว่า “ทฤษฎีสัมพัทธภาพยืนยันว่า ไม่มีวัตถุใดเคลื่อนที่เร็วเท่ากับแสงได้”

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา ‘กิจการลูกเสือไทย’ .

วันนี้ เมื่อ 112 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนากิจการลูกเสือไทยขึ้น จึงยึดถือเอาวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น ‘วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ.
ลูกเสือได้กำเนิดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยท่านลอร์ดบาเดน เพาเวลล์ กิจการลูกเสือในยุคแรกมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร หลายประเทศที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร จึงได้จัดให้มีลูกเสืออย่างประเทศอังกฤษบ้าง หลังจากนั้นไม่นานกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

ต่อมาใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติมีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู

เมื่อกิจการของเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้วพระองค์ จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะได้มีการอบรมของลูกเสือด้วย ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งลูกเสือขึ้นในประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนขึ้น ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากลและมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก เป็นสื่อผูกมิตรไมตรีกันโดยใช้กฎของลูกเสือ 10 ประการ ผูกสัมพันธ์กันไม่เว้นเชื้อชาติใด ศาสนาใดทั้งสิ้น ถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด

แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสวรรคตแล้วก็ตาม พระราชอนุสรณ์กิจการลูกเสือของพระองค์ท่านได้พัฒนารุ่งเรืองมาตามลำดับจน โดยปัจุบันกลายเป็นกิจการที่สร้างคุณประโยชน์สร้างชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักของนานาประเทศทั่วโลก และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่าน ทางราชการจึงได้กำหนดวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปีเป็น ‘วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ’ หรือ ‘วันลูกเสือ’
 

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540  ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จุดเริ่มต้นสู่ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นไปที่ 40 บาททันที

วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 วันอีกหนึ่งวันที่คนไทยหลายคนยังจดจำไม่ลืม เมื่อรัฐบาลไทยในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปทันทีที่ 40 บาท และไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลายบริษัทที่ไปกู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาลงทุน

จากภาวการณ์ลดลงของค่าเงินบาทได้ส่งผลต่อภาระหนี้ต่างประเทศเป็นอันมาก เพราะดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืนเพิ่มสูงเป็นอันมาก (ก่อนเกิดวิกฤต กู้มาในอัตราเพียง 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท) ในปี 2533 ประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศ 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 82,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2539 และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ไทยเป็นหนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำแนกเป็นหนี้ภาครัฐ 24,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้ภาคเอกชน 85,200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นภาครัฐเท่ากับร้อยละ 22.5 และหนี้ภาคเอกชนเท่ากับ 77.5 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

จากวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและได้ขยายไปสู่ประเทศต่างในเอเชียอย่างรวดเร็ว จนถูกขนานนามว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี

วิกฤตครั้งนั้น ยังส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นอันมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2542) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบคือ เท่ากับ –2.6 โดยที่ภาคเกษตรกรรมขยายตัวเท่ากับร้อยละ 0.8 และภาคอุตสาหกรรมเท่ากับร้อยละ 0.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีผลให้รายได้ของคนไทยลดลงในปี พ.ศ. 2540 รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีของคนไทยเท่ากับ 75,991 บาท และลดลงเท่ากับ 73,771 บาท ในปี 2542 

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงได้สร้างแรงกดดันให้ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าขนส่งและค่าบริการสาธารณูปโภคสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ในปี พ.ศ. 2540 อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีสูงขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 6 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.1 ในปี พ.ศ. 2541 มีคนว่างงานเนื่องจากการถูกปลดและบริษัทล้มละลายเกือบ 1 ล้านคน

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม 'จุฬา' ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530

ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีตาร์

พ.ศ.2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง 'กู่เจิง' ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม 'สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน' กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ 'ถักร้อย สร้อยรัก' และโครงการ 'ดร.น้ำจิต' นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย

ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี" เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนนครนิวยอร์ก ปชช.กว่า 7.5 แสนคน รับเสด็จแน่นถนนบรอดเวย์

ภาพแห่งความทรงจำไทย-สหรัฐ: นครนิวยอร์กถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างสมพระเกียรติ ด้วยขบวนพาเหรดสายรุ้งอันสวยงาม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 โดยมีชาวนิวยอร์กกว่า 750,000 คนมาคอยเฝ้าชมพระบารมี แน่นถนนบรอดเวย์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ประชาชนกว่า 750,000 คน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเหรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเหรดในนครนิวยอร์ก

ขบวนพาเหรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา

“มันอลังการมาก เราเคยเห็นการต้อนรับแบบนี้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเราก็ตื่นเต้นมากที่ได้รับการต้อนรับแบบเดียวกัน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสกับ โรเบิร์ต แวกเนอร์ (Robert Wagner) ผู้ว่านครนิวยอร์กในขณะนั้น

ในช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น สื่อสหรัฐฯ จึงตั้งคำถามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบว่า

“ประชาชนชาวไทยต้องการสันติภาพ สันติภาพอันมีเกียรติ…เราไม่เคยยั่วยุผู้ใด แต่เราพร้อมที่จะปกป้องตนเองจากการรุกรานจากภายนอก”

‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จ

วันนี้ เมื่อ 138 ปีก่อน หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นครั้งแรก โดยใช้รักษาให้กับเด็กชาย โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) วัย 9 ขวบ 

ในสมัยนั้น โรคพิษสุนัขบ้าแม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนมาก เพราะเมื่อผู้ใดที่ถูกสุนัขบ้ากัดแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็จะต้องตายโดยไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันได้เลย 

จากการค้นคว้าปาสเตอร์พบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย ดังนั้นเมื่อถูกน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อโรคอยู่ไม่ว่าจะถูกเลียหรือถูกกัด เชื้อโรคในน้ำลายก็จะซึมเข้าไปทางแผลสู่ร่างกายได้ 

ปาสเตอร์ได้นำเชื้อมาเพาะวัคซีน แล้วนำไปทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี แต่เขาก็ยังไม่กล้านำมาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กชายเมสเตร์ถูกสุนัขบ้ากัด ไหน ๆ ก็จะต้องตายอยู่แล้ว พ่อแม่จึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์ทดลองรักษา ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้า การค้นพบครั้งนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2431 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้ง "สถาบันปาสเตอร์” (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ขยายสถาบันปาสเตอร์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “สถานเสาวภา” ก่อตั้งในปี 2455 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย

‘น้ำชา ชีรณัฐ’ โพสต์คลิปเล่นไวกิ้งกับลูกชาย  พี่สาวชาวเน็ตติง “เล่นอันตรายเกินไปไหม”

(6 ก.ค. 66) ดรามาสนั่นไอจีกันทันที หลัง ‘น้ำชา ชีรณัฐ’ โพสต์คลิปเล่นไวกิ้งกับลูกชาย ‘น้องน้ำทะเล’ ด้วยท่าอุ้มเหวี่ยงไปมาแล้วโยนลงบนเตียง โดยในคลิปดังกล่าวจะเห็นว่าน้องน้ำทะเลหัวเราะชอบใจ และเมื่อคุณแม่ถามว่า “เอาอีกไหม” น้องน้ำทะเลตอบว่า “อีก”

ทางด้านพี่สาวชาวเน็ตและคุณแม่ออนไลน์ทั้งหลาย ได้เข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นว่าเล่นกับลูกอันตรายเกินไป เช่น

- ระวังกระดูกต้นคอนะคะ เราเคยเล่นกับลูกแบบนี้ เจ็บไปหลายวันเลย
- ทำไมทำลูกแรงขนาดนั้นคะ อันตรายมากถ้าน้องลงผิดท่า
- โยนแรงไปไหม กลัวคอน้องค่ะ
- เราเคยเล่นกับหลาน ตกใจหมดเลยกลัวคอเขาหัก ลงผิดท่าเขาร้องไห้เลย
- เด็กสนุก​ แต่อันตรายท้องกระแทกค่ะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top