Saturday, 20 April 2024
TodaySpecial

เลาดาแอร์’ สายการบินของประเทศออสเตรีย เครื่องตกที่ป่าพุเตย จ.สุพรรณบุรี คร่า 223 ชีวิต

เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 767 ของสายการบินเลาดาแอร์ ประเทศออสเตรีย เส้นทางบิน ฮ่องกง-กรุงเทพฯ-เวียนนา บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือรวม 223 คนทะยานออกจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

หลังบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เพียง 16 นาทีเศษ ก็เกิดเสียงระเบิดกึกก้องเหนือท้องฟ้าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ พุเตย หมู่ 7 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเวลา 23.20 น. ชาวบ้านแถวนั้นเห็นดวงไฟขนาดใหญ่ตกจากท้องฟ้าพุ่งลงสู่พื้นดิน ทั้ง 223 คน เสียชีวิต เป็นชาวต่างชาติ 184 คน ชาวไทย 39 คน

จากการตรวจพิสูจน์กล่องดำ พบสาเหตุสำคัญที่สุดคือกลไกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ รีเวิร์สเซอร์’ (Thrust Reverser) ที่เครื่องยนต์หมายเลข 1 ซึ่งทำหน้าที่ชะลอความเร็วของเครื่องบินขณะบินลงเกิดทำงานขึ้นกะทันหันอย่างไม่รู้สาเหตุ ขณะที่เครื่องบินยังอยู่สูงบนท้องฟ้าที่ระดับความสูง 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ประกอบกับนักบินที่ 1 ไม่เชื่อไฟสัญญาณเตือนภัยที่กระพริบขึ้นมาในระยะที่เครื่องบินกำลังบินสูงราว 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วไม่ตรวจสอบแก้ไข จึงก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมสลดครั้งนี้

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ท่านพุทธทาสภิกขุ เกิดที่ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

พระธรรมโกศาจารย์ นามเดิม เงื่อม พานิช ฉายา อินทปญฺโญ หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เขาได้มาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาพุทธได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ผลงานเด่นของท่านพุทธทาสคืองานหนังสือ เช่น ตามรอยพระอรหันต์ คู่มือมนุษย์ และเป็นภิกษุไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ และท่านมีสหายธรรมคนสำคัญ คือ ท่านปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และท่าน บ.ช. เขมาภิรัต

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ‘แดนเนรมิต’ ปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากหมดสัญญาเช่า ระยะเวลา 25 ปี

‘แดนเนรมิต’ เป็นอดีตสวนสนุกกลางแจ้งแห่งที่สอง ตั้งอยู่ที่ริมถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เยื้องกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยเปิดให้บริการระหว่างวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519–28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543

แดนเนรมิต เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519 โดยก่อสร้างบนเนื้อที่ 33 ไร่และใช้เงินลงทุนกว่า 70-80 ล้านบาท มีเครื่องเล่นจากต่างประเทศกว่า 30 ชนิด มีความโดดเด่นที่ปราสาทเทพนิยาย ซึ่งตั้งอยู่ส่วนหน้าของพื้นที่ สร้างขึ้นตามแบบที่ผสมผสานจากปราสาทเทพนิยาย ของสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ กับปราสาทนอยส์ชวานสไตน์ของเยอรมนี ภายในมีเครื่องเล่นต่าง ๆ อาทิ รถไฟเหาะ เครื่องเล่นรถไฟรางเดี่ยว เรือไวกิง ส่วนจัดแสดงสัตว์โลกล้านปี เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีพาเหรดแฟนตาซี ซึ่งออกเดินไปตามถนนโดยรอบบริเวณ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 แดนเนรมิตได้ปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เนื่องจากหมดสัญญาเช่า ระยะเวลา 25 ปี โดยไม่สามารถต่อสัญญาเช่าได้ เนื่องจากในปัจจุบัน พื้นที่ของแดนเนรมิตกลายเป็นพื้นที่ในเมือง พื้นที่ไม่เหมาะกับการทำกิจการสวนสนุก เห็นได้จากสวนสนุกใหม่ ๆ มักจะตั้งอยู่ในย่านชานเมือง รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการบำรุงรักษาเครื่องเล่นเดิมและการจัดหาเครื่องเล่นใหม่ นอกจากนี้เจ้าของแดนเนรมิตยังมีกิจการสวนสนุกดรีมเวิลด์อีกแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นเครื่องเล่นที่มีอยู่จึงถูกรื้อถอนไป (เครื่องเล่นบางส่วนถูกเอาไปใช้ที่ดรีมเวิลด์) ปัจจุบันยังคงเหลือปราสาทเทพนิยายตั้งอยู่เพียงเดียว และให้เช่าเปิดเป็นสนามแข่งขันรถ มอเตอร์ สปอร์ต แลนด์ โกคาร์ต (Motor Sport Land Go Cart) และกิจกรรมชมและเชียร์การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในนัดสำคัญ เช่น ศึกแดงเดือด

นอกจากนี้แดนเนรมิตยังเคยเปิดสวนสนุกที่ชั้น 8 มาบุญครองเซ็นเตอร์ แต่เลิกกิจการไปหลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ปี พ.ศ. 2538–2540

ปัจจุบันพื้นที่แดนเนรมิตเตรียมพัฒนาเป็นจ๊อดแฟร์ บนที่ดิน 33 ไร่ เปิดบริการภายใน 28 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยคอนเซปจะแตกต่างจากจ๊อดแฟร์ รัชดา จะเน้นเป็นที่ถ่ายรูป ที่ท่องเที่ยว ธีมยุโรปวินเทจ ตลาดนัดกลางคืน คล้ายคลึงกับม่อนจ๊อด ที่เชียงใหม่

29 พฤษภาคมของทุกปี วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ รำลึกถึงเจ้าหน้าที่ ในภารกิจเพื่อสันติภาพ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

วันที่ 29 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติ” (International Day of United Nations Peacekeepers) เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพลเรือน ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เพื่อสันติภาพและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง บรรเทาความทุกข์ยากของผู้อื่นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ทรงเสด็จสูสวรรคาลัย

หลังจากเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประพาสยุโรป เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาด้านต่างๆ และทรงรับการผ่าตัดรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องด้วยพระราชดำริที่ไม่ตรงกัน กับรัฐบาลคณะราษฎรหลายประการ และทรงพิจารณาแล้วว่า ไม่ทรงสามารถประสานกับรัฐบาล

เพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่ปวงชนส่วนรวมได้ จึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ขณะประทับพักฟื้นพระวรกายที่พระตำหนักโนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนื่องๆ อันเนื่องมาจากพระพลนามัยของพระองค์ ทรงไม่แข็งแรงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

กระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา 6 เดือน 23 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ  พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากท่าเรือเมืองเซาแธมตันโดยรัฐบาลอังกฤษ ตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จ เรือ Willem Ruys นำเสด็จฯ สู่สิงคโปร์ และเรือภาณุรังษีของบริษัทอีสต์เอเชียติก ได้นำเสด็จฯ เข้าสู่ประเทศไทยถึงเกาะสีชัง รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรือหลวงแม่กลองไปรับเสด็จที่เกาะสีชัง มาถึงท่าราชวรดิฐ วันที่ 24 พฤษภาคม 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฝ้าฯ รับเสด็จฯ และอัญเชิญพระบรมอัฐิ โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ เข้าสู่พระบรมมหาราชวังประดิษฐาน ร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถาบันพระปกเกล้า จึงได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับพระองค์ว่า สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 โดยให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อันเป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
 

31 พฤษภาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลก ยกให้เป็น ‘วันงดสูบบุหรี่โลก’ หลังเล็งเห็นอันตรายจากพิษของบุหรี่ที่กระทบต่อสุขภาพ

ตั้งแต่ปี 2531 องค์กรอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศ ตระหนักถึงอันตราย และความสูญเสียทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยได้ประกาศให้มีการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยใช้ชื่อว่า World Spidemic หรือการสูบบุหรี่เป็นโรคระบาดยู่ทั่วโลก 

ดังนั้นรัฐบาลไทย ได้ตระหนักถึงความสูญเสียในชีวิตของประชากร ที่เกิดจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ให้รับทราบถึงอันตราย โทษของการสูบบุหรี่ซึ่งก็เป็นที่รู้กัน แต่จะให้เลิกสูบเลย เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้ที่ติดบุหรี่แล้ว

จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้ โดยการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ พยายามเลิกสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเลิกได้สำเร็จหรือไม่ก็ตาม ดังเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้ มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้มีการพิมพ์คำเตือนโทษของการสูบบุหรี่ที่ข้างซอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย

กฎหมายของไทยในสมัยอดีตในยุคก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ได้มีการใช้พระราชศาสตร์ มาเป็นแนวทางในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระเจ้าแผ่นดินสร้างขึ้นจากการพิจารณา และคำตัดสินในเหตุการณ์ต่าง ๆ และก็ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินตราขึ้นใช้บังคับ ตัวอย่างเช่น กฎหมายลักษณะแพ่ง กฎหมายลักษณะอาญาหลวง กฎหมายลักษณะผัวเมีย ลักษณะโจร เป็นต้น

พอมาสมัยรัตนโกสินทร์ในตอนต้น ในช่วงรัชกาลที่ 1- 4 ประเทศไทยมีกฎหมายตราสามดวงบังคับใช้ ต่อมามีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้กฎหมายของไทยก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มมีการปรับปรุงกฎหมายให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับหลักความยุติธรรม

ต่อมาเมื่อ กรมหลวงราชบุรีทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ก็ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้นที่กระทรวงยุติธรรม โดยทรงสอนวิชากฎหมายด้วยพระองค์เอง และได้เขียนตำรากฎหมายขึ้นตามที่เป็นอยู่ในแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาและการละเมิดนั้นได้เอาหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายอังกฤษมาสอน และผู้พิพากษาศาลไทยก็นำเอากฎหมายอังกฤษตามใช้ที่สอนในตำรามาใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี 

การร่างกฎหมายใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมายใหม่นี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2450 โดยมีนักกฎหมายชั้นนำของไทยและของต่างประเทศ ได้เลือกร่างกฎหมายลักษณะอาญาก่อนกฎหมายฉบับอื่น โดยร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วจึงค่อยแปลเป็นภาษาไทย เสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2450

จากนั้นก็พิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส เมื่อเสร็จแล้วคณะกรรมการก็นำขึ้นทูลเกล้าถวาย และได้ทรงประกาศใช้เป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2451 และเรียกประมวลกฎหมายฉบับแรกนี้ว่า ‘กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127’

ว่ากันว่าประมวลกฎหมายฉบับแรกนี้เป็นกฎหมายที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น เพราะได้นำเอาหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมกันในประเทศต่าง ๆ มาพิจารณาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมไทยขณะนั้น และเพื่อเป็นการยกระดับประเทศขึ้นสู่ระดับอารยประเทศ

กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นประมวลกฎหมายที่แท้จริงฉบับแรกของไทย มีทั้งสิ้นรวม 340 มาตรา 
และได้ใช้บังคับมาจนถึง พ.ศ. 2486  จึงได้มีการปรับปรุงใหม่ ฉบับใหม่เรียกว่า ‘กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2486’ และได้ใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2499 จึงได้มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้งคือประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

2 มิถุนายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันส้มตำสากล’ (International Somtum Day) การันตีความจากอร่อยนานาชาติ พร้อมยกย่องให้เป็นอาหารสากล

ส้มตำไทย อร่อยไม่แพ้ชาติใดในโลกจริงๆ อร่อยจนนานาชาติยกย่องให้เป็นอาหารสากล และให้วันที่ 2 มิถุนายน กำหนดเป็นวันส้มตำสากล หรือ International Somtum Day ด้วย

“ส้มตำ” เป็นอาหารปรุงมาจากการทำตำส้ม คือการทำให้เปรี้ยว ในลาวเรียกว่า “ตำหมากหุ่ง” โดยนำมะละกอดิบที่สับแล้วฝานหรือขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น มะเขือเทศลูกเล็ก,มะเขือสีดา,มะเขือเปราะ,พริกสดหรือพริกแห้ง,ถั่วฝักยาวมกระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และมะนาว

โดยส่วนผสมและเครื่องปรุงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว โดยในภาคอีสานนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนไทยภาคกลางนิยมรสเปรี้ยวหวาน ซึ่งนิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยในบางครั้งรับประทานกับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู 

นอกจากนี้ ร้านส้มตำส่วนใหญ่มักขายอาหารอีสานอื่นด้วย เช่น ซุบหน่อไม้ อ่อม ลาบ ก้อย แจ่ว ปลาแดกบอง น้ำตก ซกเล็ก ตับหวาน ไก่ย่าง คอหมูย่าง พวงนม กุ้งเต้น (ก้อยกุ้ง) ข้าวเหนียว

3 มิถุนายน 2565 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2543

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546 และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2551 ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป

ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหารในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ (ในเวลานั้นคือพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์) ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้ตามเสด็จในพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานฯ และปรากฏตัวอีกครั้งในวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในปีเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางกองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้เผยแพร่รายงานการเสด็จพระราชดำเนินที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติไปทอดพระเนตรพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา (มีหมายกำหนดการระบุชื่อสกุลดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน)

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 พระองค์ทรงนำทำการแสดงทางทหารประกอบดนตรี “ราชวัลลภ เริงระบำ” (Hop to the Bodies Slams) ในงานวันราชวัลลภได้อย่างสง่างามและเข้มแข็ง ในฐานะผู้บังคับการกองผสม

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจตุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ให้แก่ พลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา อีกทั้งได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น ท่านผู้หญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชินีสุทิดา” ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสุทิดาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมราชินี” ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

4 มิถุนายน พ.ศ. 2490  วันสถาปนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยสังกัดอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2510 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ถือกำเนิดจากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 

การดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้เริ่มขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเพียงแปดเดือนเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทย ประสบความยากลำบากทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายจากการทิ้งระเบิด คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการสาธารณสุขของประเทศ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา 

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก 3 สาขา ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือด้านแพทยศาสตรศึกษา ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยและฝึกอบรมด้านไวรัสและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top