Friday, 3 May 2024
TodaySpecial

๕ พฤษภาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
เกล้ากระหม่อม คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ประสูติเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2527 เป็นพระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ หรือพระนามลำลองว่าพระองค์ติ๊ด ประสูติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เป็นพระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระเชษฐภคินีหนึ่งพระองค์คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระองค์และพระกนิษฐภคินีมีฐานันดรศักดิ์เป็น 'พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า' ตั้งแต่ประสูติ ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระยศดังกล่าวเทียบเท่าตำแหน่ง 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า'

วันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

ทั้งนี้ คำว่า 'ฉัตรมงคล' หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า 'พระบาท' นำหน้า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า 'พระบรมราชโองการ' และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสระว่ายน้ำสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัด ให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และโรคระบบประสาท จำนวน 2 สระ โดยพระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า ‘สระสุวรรณชาด’ ตามชื่อของ ‘คุณทองแดง’ โดยเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ในการสร้างสระนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำในการออกแบบตามหลักวิชาการและได้ใช้สระว่ายน้ำของสุนัขทรงเลี้ยงมาเป็นต้นแบบ ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ประชาชนคนไทยรู้จัก ‘พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท’ กันเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนี้เมื่อ 147 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขึ้นอย่างเป็นทางการ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรง การณ์นี้ได้มีการว่าจ้าง นายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่งฯ 

ทั้งนี้เป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย กับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ฝรั่งสวมชฎา’ 

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยขึ้นบริหารประเทศ เรียกการบริหารงานของรัฐมนตรีชุดนี้ว่า สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) (รัฐมนตรีสภา) มีสมาชิกจำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ-ออกกฎหมาย 

2. สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (ที่ปรึกษาในพระองค์) หรือ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) มีสมาชิกจำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลบ้านเมือง-ราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ

ถือเป็นต้นกำเนิดของคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน 

สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามอนุสัญญาโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน

วันนี้ในอดีต เมื่อ 82 ปีก่อน ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน ผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส 

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า 'ความตกลงวอชิงตัน' มีผลให้อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นสุดลง โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศสตามเดิม 

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ คร่าชีวิตคนรวม 188 ราย

ครบรอบ 30 ปี โศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรง กับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ย่านพุทธมณฑล สาย 4 คร่าชีวิตผู้คนรวม 188 ราย

เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ที่ โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าของเล่นสำหรับเด็กส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ตุ๊กตา เป็นต้น นับเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 188 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน 

ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย

จากการสืบสวน พบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ประมาณ 15 นาที โรงงานก็ได้ยุบตัวพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน

สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540

11 พฤษภาคม ของทุกปี ‘วันปรีดี พนมยงค์’ ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

11 พฤษภาคม ‘วันปรีดี พนมยงค์’ เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของไทย ผู้สร้างคุณูปการมากมายทั้งด้านการเมือง กฎหมาย การศึกษา จนได้รับยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ บ้านวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับว่าเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยเป็นทั้งผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (27 มิถุนายน 2477) และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย (ในระหว่างปี 2477-2495) ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย แต่ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 8 โดยถูกกล่าวหาจากขั้วตรงข้ามทางการเมืองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

และเมื่อครั้งรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ รวมระยะเวลากว่า 30 ปี โดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทย แต่ระหว่างลี้ภัยทางการเมืองนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาท ปรากฏว่าชนะทุกคดี และได้รับการรับรองจากทางราชการตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของประเทศไทย กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 บนโต๊ะทำงาน ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ในบ้านพัก ที่ประเทศฝรั่งเศส สิริรวมอายุ 83 ปี

วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) ระลึก ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพพยาบาล

นอกจากวันพยาบาลแห่งชาติ ที่ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีแล้ว สภาพยาบาลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาลระดับโลก ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 

เหตุที่กำหนดให้ 12 พฤษภาคม เป็นวันพยาบาลสากล เพราะเป็นวันเกิดของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดวิชาชีพการพยาบาลแผนปัจจุบัน และเป็นผู้มีอุดมการณ์ ตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่อง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

วันพยาบาลสากลจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณความดีของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์อย่างมากมาย รวมทั้งเพื่อยกย่อง ให้เกียรติ และยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือกันจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางในการให้พยาบาลทั่วโลก ได้รณรงค์แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอีกด้วย

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เป็นชาวอังกฤษ แต่เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1820 ครอบครัวของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จัดว่าเป็นชนชั้นสูงที่มีฐานะดี ทำให้เธอได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เธอมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ จึงขอบิดามารดาเรียนพยาบาล แต่เนื่องจากในยุคนั้น งานพยาบาลถือเป็นงานของชนชั้นแรงงาน และไม่ได้รับความนับถือจากคนในสังคมชั้นสูงนัก ครอบครัวของเธอจึงปฏิเสธ แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ก็ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อผู้ที่เจ็บป่วย และคอยหาโอกาสได้ไปเยี่ยมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาอบรมวิชาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนีสมดังใจ

ต่อมาในปี 1857 เกิดสงครามไครเมียขึ้น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล อาสาไปช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม นอกจากเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวแล้ว เธอยังขอเรี่ยไรจัดหาเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทหาร และออกเยี่ยมเยียนเพื่อรักษา และให้กำลังใจทหารตั้งแต่เช้าจนค่ำ มักมีคนเห็นฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถือตะเกียงเล็ก ๆ คอยเดินตรวจอาการของเหล่าทหารกลางดึกอยู่เสมอ จนผู้คนต่างพากันเรียกเธอว่า The Lady with the Lamp

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มเสนอแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรค มากนัก ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือผู้ที่สังเกตเห็นว่า ทหารที่มีบาดแผลสกปรก จนเกิดการอักเสบ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และเรียกร้องให้มีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด

หลังสงครามสิ้นสุดลง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้พัฒนากิจการพยาบาลให้ก้าวหน้าขึ้น จนได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดระเบียบด้านสุขภาพในกองทัพประเทศอังกฤษ วางแผนงานด้านสุขาภิบาลในประเทศอินเดีย ก่อนจะก่อตั้งโรงเรียนการพยาบาลที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลก

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ‘เสธ.แดง - พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ‘เสธ.แดง - พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองที่ตึงเครียด และเสียชีวิต 4 วันต่อมา จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เป็นชาวอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2494 จบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63  และจบปริญญาเอกสาขาบริหารรัฐกิจจาก UNIVERSITY OF NORTHERN PHILIPPINES

เสธ.แดง เข้ารับราชการครั้งแรกในกองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ในยศร้อยตรี และได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าช่วงปี พ.ศ.2529 ก่อนได้เลื่อนยศเป็นพันเอกพิเศษ เมื่อปี พ.ศ.2536  และได้เลื่อนยศเป็นพลตรี เมื่อปี พ.ศ.2541 และได้เป็นผู้ชำนาญการกองบัญชาการทหารสูงสุด และกลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกในปีถัดมา

เสธ.แดง เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็มาจากคดีความรื้อบาร์เบียร์ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เมื่อ เสธ.แดง ได้กล่าวหา นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งว่าใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือนายชูวิทย์ ทำให้ นายตำรวจคนดังกล่าว ออกมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ในการชุมนุมใหญ่ของ นปช.( เสื้อแดง) เพื่อขับไล่ ‘รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ และเกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้ง ขณะที่ หลายเหตุการณ์มีชื่อของเสธ.แดง เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

กระทั่งมาถึงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 หลังจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ โดยการตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า งดบริการขนส่งสาธารณะ และห้ามผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่โดยเด็ดขาด 

ต่อมาเวลาประมาณ 19.20 น. ในขณะที่ เสธ.แดง กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง ได้มีสไนเปอร์ลอบยิงจากระยะไกล เป็นผลให้ เสธ.แดง ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงจากมุมสูงเข้าที่ศีรษะท้ายทอยด้านขวาและทะลุท้ายทอยด้านซ้าย กลุ่มคนเสื้อแดงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว หลังจากนั้นทางญาติจึงตัดสินใจย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน อาการของ เสธ.แดง อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอด จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้วยวัย 59 ปี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top