Friday, 3 May 2024
TodaySpecial

23 เมษายน พ.ศ. 2159 โลกสูญเสียยอดกวีเอก ‘วิลเลียม เชกสเปียร์’

วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) เกิดเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้แน่ รู้แต่ว่าเขาได้รับศีลล้างบาปในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1564 ซึ่งตามธรรมเนียมในสมัยนั้นการรับศีลของทารกมักจะทำกัน 3 วันหลังการเกิด วันที่ 23 เมษายนจึงถูกถือเอาเป็นวันเกิดของเขา

เชกสเปียร์เติบโตขึ้นในเมืองสแตรทฟอร์ดริมฝั่งเอวอน (Stratford-upon-Avon) วอร์วิกไชร์ (Warwickshire) ประเทศอังกฤษ รายละเอียดของชีวประวัติของเชกสเปียร์มีบันทึกไม่มากนักเนื่องจากเขามิใช่ชนชั้นสูง เรื่องราวในชีวิตช่วงแรกๆ ของเขาจึงมีแต่เพียงเรื่องที่ถูกบันทึกในเอกสารของทางการ เช่น การรับศีล และการแต่งงาน

พ่อของเขาจอห์น เชกสเปียร์ (John Shakespeare) ทำการค้าหลายอย่างและดูเหมือนจะมีปัญหาทางการเงินเป็นระยะ ขณะที่แม่ของเขาแมรี อาร์เดน แห่งวิล์มโคต (Mary Arden, of Wilmcote) มาจากครอบครัวเก่าแก่และเป็นทายาทที่จะได้รับมรดกเป็นที่ดินบางส่วน ทำให้เชื่อกันว่าการแต่งงานของทั้งคู่เป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อยกฐานะของจอห์น เชกสเปียร์

เชื่อกันว่าเชกสเปียร์น่าจะเข้าเรียนในโรงเรียนไวยากรณ์ (Grammar School เป็นโรงเรียนสอนภาษาละตินและวรรณกรรมคลาสสิกในยุคกลาง ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นโรงเรียนระดับมัธยมของอังกฤษ) ในสแตรทฟอร์ด แต่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

เมื่ออายุได้ 18 ปี เขาแต่งงานกับแอนน์ แฮทธาเวย์ หญิงซึ่งแก่กว่าเขา 8 ปี และตั้งท้องอยู่แล้วก่อนแต่งงานกับเขา หลังแต่งงานได้ 6 เดือนทั้งคู่ได้ลูกสาวคนแรกชื่อว่า ซูซานนา (Susanna) ในปี 1585 ทั้งคู่ได้ลูกแฝด แฮมเน็ต (Hamnet) และจูดิธ (Judith) ก่อนที่แฮมเน็ตลูกชายคนเดียวของครอบครัวเชกสเปียร์จะเสียชีวิตในอีก 11 ปีถัดมา

เชกสเปียร์เริ่มมีชื่อถูกอ้างถึงในฐานะนักเขียนในปี 1592 เมื่อเขาถูกวิจารณ์โดย โรเบิร์ต กรีน (Robert Greene) ผู้เป็นนักเขียนบทละครเช่นเดียวกับเชกสเปียร์ เชื่อกันว่าในขณะนั้นเชกสเปียร์ น่าจะเขียนเรื่องเฮนรีที่ 6 (Henry VI) ไปแล้ว 3 ตอน ในปี 1593 วีนัสแอนด์อดอนิส (Venus and Adonis) เป็นบทกวีชิ้นแรกของเชกสเปียร์ที่ถูกนำออกเผยแพร่ ซึ่งเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเฮนรี ไรโอเธสลีย์ ที่ 3 เอิร์ลแห่งเซาแธมป์ตัน (Henry Wriothesley, the 3rd earl of Southampton)

ในปี 1594 เชกสเปียร์ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะละครลอร์ดแชมเบอร์เลน (Lord Chamberlain’s Men) ซึ่งภายหลังกลายเป็นคณะละครในพระบรมราชูปถัมภ์ (King’s Men) เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (James I) ขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นคณะละครที่เชกสเปียร์ร่วมงานด้วยจนกระทั่งเขาเกษียณอายุ

24 เมษายน ของทุกปี กำหนดเป็น 'วันเทศบาล' ระลึกถึงการกำเนิดการปกครองส่วนท้องถิ่น

กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปีเป็น 'วันเทศบาล' เพื่อระลึกถึงความสำคัญของการก่อกำเนิดเทศบาล และเพื่อให้พนักงานเทศบาลตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการประชาชน

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดเทศบาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ โดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาลออกไปในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต่อมา ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 กำหนดให้เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น จึงได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2467 และเกิดรูปแบบของเทศบาลตั้งแต่นั้นมา

การเรียกชื่อของเทศบาลนั้นแตกต่างกันตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้แก่

26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลศิริราช

วันนี้ เมื่อ 135 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิด ‘โรงพยาบาลศิริราช’ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีอายุยาวนานที่สุด

ย้อนเวลากลับไป ในปี พ.ศ.2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดหนัก ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวในที่ชุมชนขึ้นรวม 48 ตำบล ภายหลังเมื่อโรคร้ายทุเลา จึงได้ทำการปิดโรงพยาบาลลง แต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า การมีโรงพยาบาลนั้น จะสร้างประโยชน์สุข ให้แก่พสกนิกรได้ในระยะยาว

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2429 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ( วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

โรงพยาบาลใช้เวลาก่อสร้างอยู่ราว 2 ปี กระทั่งในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีเปิดโรงพยาบาลแห่งแรกนี้ และพระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘โรงพยาบาลวังหลัง’ หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ‘โรงพยาบาลศิริราช’

27 เมษายน พ.ศ. 2523 เครื่องบินแบบ 2 ใบพัด ตกที่ทุ่งรังสิต สุดสลด สิ้นพระเถระผู้ใหญ่ถึง 5 รูป

วันนี้ เมื่อ 43 ปีก่อน เครื่องบินของ บ.เดินอากาศไทย บินจาก จ.อุดรธานี มายังกรุงเทพฯ ตกที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สาเหตุเกิดจากการสูญเสียการควบคุมเนื่องจากพายุฝน ส่งผลให้สูญเสียพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ถึง 5 รูป 

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2523 เที่ยวบิน TG 231 อุดรธานี-กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเครื่องบิน 2 ใบพัด รุ่น HS-748 รหัส HS-THB บินออกจากท่าอากาศยานอุดรธานี จะไปลงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายมีลมกระโชกแรง เกินที่นักบินจะควบคุมเครื่องให้ลงจอดได้อย่างปลอดภัย สุดท้ายเครื่องบินลำดังกล่าวได้เสียการควบคุมและตกลงมากระแทกกับพื้นดินบนท้องนา ทุ่งรังสิต บริเวณหมู่ที่ 4 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ทำให้ผู้โดยสารบนเครื่อง จำนวน 53 คน เสียชีวิต 40 คน 

ก่อนเครื่องจะตก ซึ่งเหลือระยะทางอีกเพียงประมาณ 20 กิโลเมตรเศษ จนเมื่อ เครื่องบินได้ตั้งลำ และลดเพดานบินเพื่อเตรียมลงสู่สนามบินดอนเมือง กลับต้องมาเจอ 'พายุหมุน' และประกอบกับฝนตกหนัก จึงเสียหลักตกลงที่ท้องนาทุ่งรังสิต ทั้งนี้ ผู้ที่รอดชีวิตเป็นผู้ที่นั่งทางส่วนหางของเครื่องบิน เพราะส่วนหางของเครื่องบินยังอยู่ในสภาพดี

28 เมษายน พ.ศ. 2493 เป็นวัน ‘พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส’ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันนี้ เมื่อ 73 ปีก่อน เป็นวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศในขณะนั้น)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง กำหนดให้วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 เป็นวันประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อใกล้ถึงเวลาพระฤกษ์ เวลา 09.30 น. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงนำหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ไปยังวังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ลงนามในสมุดทะเบียนสมรส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขี 2 คน คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี, พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามด้วย เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชปิตุลา

เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออก ณ ชั้น 2 ของพระตำหนักแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนเครื่องราชสักการะ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์แก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามโบราณราชประเพณี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และบุคคลที่ได้รับเชิญมาร่วมในพระราชพิธี ทูลเกล้าฯ ถวายของขวัญ ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานของที่ระลึกเป็นหีบบุหรี่เงินขนาดเล็ก ประดับอักษรพระนามาภิไธยย่อ ภ.อ. และ ส.ก

วันที่ 29 เมษายน วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ

วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตรงกับวันที่ 29 เมษายนของทุกปี พระองค์เป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 18.35 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช พระองค์มีพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา 2 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

คณะแพทย์ถวายพระประสูติโดยการผ่าตัด เมื่อแรกประสูติ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติทรงมีน้ำหนัก 2,680 กรัม มีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง พระเนตรโต พระนาสิกโด่ง โดยพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชหัตถเลขาขนานพระนามว่า 'พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ' เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และพระราชทานเสมาอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ทองคำ ส่วนพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชตินั้น พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระมหากรุณาธิคุณอธิบายพระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ว่า 'ผู้ทำประทีปคือปัญญาให้สว่างกระจ่างแจ้ง, ผู้ทำเกาะคือที่พึ่งให้รุ่งเรืองโชติช่วง'

วันที่ 30 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน ‘คุ้มครองผู้บริโภคไทย’ รำลึกถึงวันตรา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

30 เมษายน ของทุกปี กำหนดเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคขึ้น ในปี พ.ศ. 2522 

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้เป็น วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 ถือได้ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้โดยตรง คือประชาชนในฐานะผู้บริโภค

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค 5 ประการ ดังนี้

1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ระลึกถึงความสำคัญผู้ใช้แรงงาน

ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น 'วันแรงงานแห่งชาติ' หรือที่เรียกว่า 'Labour Day' ถือเป็นวันหยุดประจำปีที่มีผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองผลงานทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน

ในสมัยก่อนประเทศแถบยุโรปจะถือเอา 'วันเมย์เดย์' (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งทางภาคเหนือของยุโรปก็จะมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังมีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

จากตอนแรกที่เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงถือเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ 

ความหมายของ วันเมย์เดย์ (May Day) จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการเรียกร้องในหลายประเทศทางตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น 'วันแรงงานสากล' ทำให้หลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน 

ในประเทศไทย เมื่ออุตสาหกรรมได้ขยายตัวขึ้น ผู้ใช้แรงงานมีปัญหามากขึ้น รวมทั้งแรงงานมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยริเริ่มมีการบริหารจัดการแรงงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

กระทั่งวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึก ได้จัดประชุมขึ้น พร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็น 'วันที่ระลึกแรงงานไทย'

2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถึงแก่อสัญกรรม หลังลี้ภัยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2490

ครบรอบ 40 ปี ‘ปรีดี พนมยงค์’ อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม

ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

3 พฤษภาคม ของทุกปี วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ตระหนักถึงเสรีภาพการแสดงออกของสื่อมวลชน

ย้อนเวลากลับไปราว 30 ปีก่อน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1991 (หรือ พ.ศ.2534) องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

สาเหตุของการมีวันสำคัญนี้ เกิดจากการที่มีนักข่าวภาคสนามมากมาย ต้องเสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน และรวมไปถึงถูกคุกคาม จากการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาของการสร้างสัญลักษณ์ของความมีเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน โดยจัดตั้งให้ทุก ๆ วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top