Saturday, 20 April 2024
TodaySpecial

วันสิ่งแวดล้อมโลก จัดขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัว ในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สำหรับจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้น จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮล์ม ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่มีรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยเรียกการประชุมนี้ว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” หรือ “UN Conference on the Human Environment” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คนจากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP : United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารเรียน ที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในการเปิดอาคารเรียน ยิมเนเซียม และ อาคารเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งอาคารยิมเนเซียมเป็นอาคารใหม่ เปิดใช้เพื่อเป็น โรงอาหาร ห้องเรียนทำอาหาร และชั้นบนเป็น สนามกีฬาในร่ม ซึ่งสามารถดัดแปลงไปเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ได้

และอาคารเซนต์ปีเตอร์ เป็นอาคารมัธยมปลาย ภายในอาคารประกอบด้วยเทคโนโลยี ด้านสื่อการเรียนการสอนครบวงจร อาทิเช่น การใช้จอ iBoard หรือ กระดานเรียนที่ใช้ระบบสัมผัสได้ นำเข้ามาใช้ประกอบการเรียนการสอน 

นอกจากนี้ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ก็ยังเคยถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น อีกด้วย
 

วันสิ้นสุด ‘ยุทธนาวีที่มิดเวย์’ ในสงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นยุทธนาวีที่สำคัญที่สุดในแนวรบมหาสมุทรแปซิฟิก

‘ยุทธนาวีมิดเวย์’ (Battle of Midway) เป็นยุทธนาวีที่สำคัญที่สุดในแนวรบด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน พ.ศ. 2485 ประมาณหนึ่งเดือนหลังยุทธนาวีทะเลคอรัล และประมาณหกเดือนหลังจากญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด จากการต่อต้านการโจมตีของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่มิดเวย์อะทอลล์ และเป็นการคาดโทษ ความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ของกองเรือรบญี่ปุ่น จอห์น คีแกนได้เรียกมันว่า “ที่สุดของความประหลาดใจและเด็ดเดี่ยวอย่างคาดไม่ถึง ในประวัติศาสตร์ของการทำสงครามกองทัพเรือ” ยุทธนาวีนี้ เคยเป็นการพ่ายแพ้ที่เลวร้ายที่สุดของกองทัพเรือญี่ปุ่นในระยะ 350 หลา

หลังยุทธนาวีทั้งสอง กองเรือสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิกเสียหายอย่างหนัก กองทัพญี่ปุ่นจึงคิดเข้าโจมตีมิดเวย์อะทอลล์ เพื่อเป็นการปิดช่องโหว่ในแนวป้องกันทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น และเป็นฐานในปฏิบัติการสำหรับแผนขั้นต่อไป รวมไปถึงการทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาที่ยังคงเหลืออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกาสามารถถอดรหัสลับของกองทัพเรือญี่ปุ่นได้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม สหรัฐอเมริกาจึงสามารถเตรียมการป้องกันและจัดวางกำลังพล จนสามารถทำลายกองทัพเรือของญี่ปุ่นได้ ยุทธนาวีมิดเวย์ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาชิงความได้เปรียบในยุทธบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มเป็นฝ่ายรุกโจมตีกองทัพเรือญี่ปุ่นจนจบสงคราม
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จวางศิลาฤกษ์ ‘ถนนรัชดาภิเษก’

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุงในวันนี้ โดยถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนรอบในของกรุงเทพฯ ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เริ่มเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2519 สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่จะต้องประสบปัญหาการจราจร

ความเป็นมาของถนนรัชดาภิเษก
ปี พ.ศ. 2514 ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก (Silver Jubilee) โดยรัฐบาลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี
.
แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นแทน ให้เป็นถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ และมีถนนออกจากศูนย์กลางไปรอบตัวตัดกับวงแหวนเหล่านั้น เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“ขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน...”

ถนนรัชดาภิเษกสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2536 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 23 ปี ถนนเส้นนี้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ ชั้นในให้คลี่คลายไปได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สัญจรเข้า-ออกระหว่างใจกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนถึงผู้ที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ ออกไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

วันอานันทมหิดล วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

‘วันอานันทมหิดล’ ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ด้วยความสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ได้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์และการศึกษา จึงถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกๆ ปี เป็น ‘วันอานันทมหิดล’ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมือง ไฮเดเบอร์ก ประเทศเยอรมณี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ได้ทรงศึกษาจากต่างประเทศและได้เสด็จนิวัตเมืองไทย ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ จึงมีการลงมติเห็นชอบอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์สืบราชสันติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

ซึ่งขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา จึงต้องทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะในระหว่างการศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เสด็จนิวัตเมืองไทย เพื่อกลับมาเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฏร เมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษา ทรงเสด็จนิวัตเมืองไทยอีกครั้ง ด้วยทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในฐานะประมุขของประเทศ ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่ 2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติอยู่เป็น เวลา 12 ปี

ปวงชนชาวไทยต่างน้อมรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านโดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น ‘วันอานันทมหิดล’ โดยในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่หน้าตึกอานันทมหิดลคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้ง ‘มูลนิธิอานันทมหิดล’ ขึ้น เพื่อให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทย ผู้มีความสามารถทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยม มีคุณธรรมสูง ได้มีโอกาสไปศึกษาวิทยาการขั้นสูงสุดในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์ และพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบไป
 

10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ‘ด้วง’ หรือ ‘ทองด้วง’ เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ใน พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง โดยได้เสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่างๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ

ต่อจากนั้น ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่างๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม

ครั้น พ.ศ.2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 และทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีขึ้น 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมทุกด้าน โดยมีพระราชประสงค์ให้กรุงรัตนโกสินทร์เจริญรุ่งเรืองเหมือนกับกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดต่างๆ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดให้เชิญพระพุทธรูปโบราณตามหัวเมืองต่างๆ มาประดิษฐานในพระนครด้วย

นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายโบราณสมัยอยุธยา ที่เหลืออยู่ให้เป็นหมวดหมู่และประทับตราสามดวงไว้เป็นฉบับหลวง

ทางด้านศาสนาโปรดให้ชำระพระไตรปิฎกและคัดเป็นฉบับหลวง เพื่อเก็บรักษาไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม ภายในพระบรมมหาราชวัง 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา

จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจ ขณะลี้ภัย อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม บรรดาศักดิ์เดิม หลวงพิบูลสงคราม นามเดิม แปลก ขีตตะสังคะ หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ป. พิบูลสงคราม เป็นนายทหารและนักการเมืองชาวไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปีพ.ศ. (2481–2487 และ 2491–2500) รวมระยะเวลา 15 ปี 11เดือน นับเป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด และยังเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

12 มิถุนายน ของทุกปี วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก (World Day Against Child Labour) เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญต่อการดำเนินการป้องกันและขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

ซึ่งในปีนี้ไอแอลโอ ได้กำหนดแนวคิดหลัก คือ ความยุติธรรมทางสังคมสำหรับทุกคน ยุติการใช้แรงงานเด็ก (Social Justice for All. End Child Labour) มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในมิติต่าง ๆ เพื่อให้เด็กทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

ในหลวง ร.9 - สมเด็จพระพันปีหลวง ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ พระราชอาคันตุกะ

วันนี้ เมื่อ 17 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แด่พระประมุข พระราชอาคันตุกะ จาก 25 ประเทศ ที่มาร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี

งานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำครั้งประวัติศาสตร์จัดถวายอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติพระราชอาคันตุกะทั้ง 25 ประเทศ ภายในท้องพระโรงพระที่นั่งบรมราชาสถิตยมโหฬาร อันเป็นพระที่นั่งองค์ใหม่ที่จัดอย่างงดงามตระการตา เป็นที่ประทับพระทัยของพระราชอาคันตุกะเป็นอย่างยิ่ง ส่วนช่วงก่อนถึงงานเลี้ยงพระราชทานนั้น พระราชอาคันตุกะหลายพระองค์เสด็จพักผ่อนพระอริยาบถทั้งทอดพระเนตรความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยา เสด็จวัดพระแก้ว และทรงเยี่ยมบ้านจิม ทอมป์สัน

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ถือเป็นอีกหนึ่งความสำคัญของงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นก็คืองานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ จากทั้ง 25 ประเทศ

เหตุการณ์ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ รับเสด็จพระราชอาคันตุกะทุกพระองค์ที่ พระที่นั่งบรมราชาสถิตยมโหฬาร โดยถวายเลี้ยงพระราชทานเป็นโต๊ะเสวยรูปยาวขนานไปกับห้องจัดเลี้ยงภายในท้องพระโรงใหญ่

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสขอบพระทัยพระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศ และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะทรงเป็นผู้แทนประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ราชินีลูกทุ่ง ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ เสียชีวิตด้วยโรคเอสแอลอี

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นชื่อการแสดงของ รำพึง จิตรหาญ หรือ ผึ้ง เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งขวัญใจคนไทย โดยได้รับฉายาว่าเป็น "ราชินีลูกทุ่ง"

พุ่มพวง ดวงจันทร์  เกิดที่จังหวัดชัยนาท ต่อมาเติบโตที่ จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบครัวเป็นชาวไร่ฐานะยากจน เมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาได้ฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ซึ่งแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกชื่อ "แก้วรอพี่" ก่อนจะมีชื่อเสียงทั้งในวงการร้องเพลงและการแสดงในเวลาต่อมา

ปลายปี พ.ศ. 2534 พุ่มพวง ดวงจันทร์  ป่วยด้วยโรคเอสแอลอี โดยเธอพำนักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช และที่จันทบุรี ในช่วงวาระสุดท้ายเธอย้ายมาพำนักอยู่ที่บ้านพักของน้องสาว (สลักจิต ดวงจันทร์) ที่พุทธมณฑลสาย 2 เนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปที่เชียงใหม่

เพื่อไปเยี่ยมบุตรชายทั้งที่อาการของเธอแย่มากแล้ว ทุกคนต่างทำใจไว้ว่าเธอคงจะไม่รอดแล้ว และระหว่างทางเกิดอาการกำเริบจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และเสียชีวิตในคืนวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เวลา 21:30 น. ด้วยวัยเพียง 30 ย่าง 31 ปี พิธีรดน้ำศพของเธอถูกจัดขึ้นที่วัดมกุฏกษัตริยารามเมื่อเย็นวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ณ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไป ในการพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้นด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top