Monday, 13 May 2024
TheStudyTimes

“ข้อเท้าแพลง” เกิดจากอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บที่ได้จากการทำกิจกรรมรวมไปถึงการสวมรองเท้าที่ไม่สบายเท้าทำให้เกิดข้อเท้าแพลง ถ้าเราปล่อยอาการไว้นานอาจจะทำให้เส้นเอ็นฉีดขาดได้ !

“ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain)” เกิดจากอุบัติเหตุโดยเฉพาะการหกล้ม, การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือ การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับขนาดเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณผู้หญิงที่ใช้รองเท้าส้นสูงจะเพิ่มโอกาสเกิดข้อเท้าแพลงได้ ซึ่งการบาดเจ็บดังกล่าวส่งผลต่อเอ็นข้อเท้าบริเวณตาตุ่ม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยของ American Academy of Orthopedic Surgeons พบว่าหากข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ หรือเกิดข้อเท้าแพลงซ้ำ ๆ อาจนำไปสู่ปัญหาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง ข้อเท้าเสื่อม และเกิดภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงได้ ทำให้การรักษาข้อเท้าแพลงกลายเป็นเรื่องไม่ง่ายและใช้เวลานานกว่าจะหายขาด จนทำให้เป็นที่มาของคำว่า “ข้อเท้าแพลง” 

อาการข้อเท้าแพลงส่วนมากมักเกิดจากการพลิกของข้อเท้าเข้าสู่ด้านในแล้วเกิดอาการบาดเจ็บที่เอ็นข้อเท้าบริเวณตาตุ่มด้านนอก เนื่องจากเส้นเอ็นในบริเวณดังกล่าวเกิดการยืดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ข้อเท้าแพลงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

ระยะแรก มีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

ระยะที่สอง มีอาการบาดเจ็บจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาด แต่ไม่ถึงครึ่งของเส้นเอ็น 

ระยะที่สาม เส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถลงน้ำหนักได้ 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นใช้หลักการของ RICE ได้แก่

>> Rest - พัก หากทำกิจกรรมอะไรอยู่ต้องหยุดพัก ไม่ว่าจะเดินหรือเล่นกีฬา และหลีกเลี่ยงการใช้งาน
>> Ice - น้ำแข็งหรือการประคบด้วยความเย็น ควรรีบทำทันทีเพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้ลดอาการบวมและลดความเจ็บปวด
>> Compression - รัด เพื่อลดอาการบวม
>> Elevation - ยกให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดไหลลงได้สะดวก ช่วยลดอาการบวม

โดยปกติ ถ้าหากมีอาการข้อเท้าแพลงแบบไม่รุนแรง สามารถประคบด้วยความเย็นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด ซึ่งอาการปวดจะลดลงภายใน 2-3 วัน และหายขาดภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้ารุนแรงถึงขั้นข้อเท้าหลวม มีการปวดเรื้อรังเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด 

สำหรับผู้ที่เคยข้อเท้าแพลง มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดข้อเท้าแพลงซ้ำได้อีกภายในปีเดียวกัน เนื่องจากเส้นเอ็นเคยได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับข้อเท้ามีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ข้อเท้าแพลงบ่อย ๆ และลดอาการปวดข้อเท้าเรื้อรังได้ ดังนี้

1.) ยืนเขย่งปลายเท้าสลับกับยืนบนส้นเท้า (Standing heel/toe rocking) ทำ 20 ครั้ง 3 รอบ

2.) ยืนทรงตัวด้วยขาเดียวนาน 1 นาที 

ทำ 3 รอบ (สลับข้างซ้าย-ขวานับเป็น 1 รอบ) ช่วยกระตุ้นการรับรู้ของข้อเท้าในการทรงตัว (Ankle proprioception/balance) อาจยืนบนพื้นปกติ (แบบง่าย) หรือยืนบนพื้นนุ่ม เช่น บนเบาะนิ่ม ๆ หรือบนพื้นทราย เพื่อเพิ่มความยาก

3.) ยืดกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายในท่ายืน

โดยก้าวขาไปข้างหน้า 1 ข้าง ปลายเท้าชี้ตรงไปด้านหน้าทั้งสองเท้า โน้มตัวไปข้างหน้า โดยส้นเท้าหลังไม่ยกจากพื้น และต้องรู้สึกตึงที่น่องของขาที่อยู่ด้านหลัง ยืดค้างไว้ 30 วินาที 3 รอบ (สลับขาและทำแบบเดียวกัน)

โดยทั้ง 3 ท่าที่แนะนำสามารถทำได้ทุกวันหรือหากท่านใดมีการบาดเจ็บของข้อเท้า ควรขอคำปรึกษาและออกกำลังกายภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์หลังจากที่ได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว

.

เขียนโดย  : กภ. สุวนีย์ งามพงศ์วาณิช
นักกายภาพบำบัด (ระบบกระดูกกล้ามเนื้อ) ผู้บริหารและหุ้นส่วน กันยาคลินิกกายภาพบำบัด -M.Sc. Exercise Physiology -Graduate Diploma (Manipulative Physical Therapy), Mahidol University -B.Sc. Physical Therapy, Mahidol University


เอกสารอ้างอิง
- Tran K, McCormack S. Exercise for the Treatment of Ankle Sprain: A Review of Clinical Effectiveness and Guidelines [Internet]. Ottawa (ON): Canadian Agency for Drugs and Technologies in Health; 2020 Apr 3. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK563007/
- Wells B, Allen C, Deyle G, Croy T. MANAGEMENT OF ACUTE GRADE II LATERAL ANKLE SPRAINS WITH AN EMPHASIS ON LIGAMENT PROTECTION: A DESCRIPTIVE CASE SERIES. Int J Sports Phys Ther. 2019;14(3):445-458. doi:10.26603/ijspt20190445
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/อันตรายจาก-ข้อเท้าพลิก/

งานพิธีเปิด “Tokyo olympic 2020” ที่ผ่านมาหลาย ๆ คนยังคงประทับใจกับแสง สี เสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ทางประเทศญี่ปุ่นได้จัด นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงวัฒนธรรมรวมไปถึงเอกลักษณ์บางอย่างในประเทศมาแสดงในพิธีเปิดนี้อีกด้วย

ในช่วงนี้มหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ 2020 กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ประเทศไทยเรามีเรื่องให้น่ายินดีกันไปแล้วกับเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญแรกของกีฬาเทควันโด กับน้องเทนนิส พาณิภัค ซึ่งเป็นการเบิกชัยให้กับทัพนักกีฬาไทยเป็นเหรียญแรกของการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ อย่างที่เราทราบกันว่าต้องจัดขึ้นท่ามกลางโรคระบาดอย่างโควิด-19 ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นงานมหกรรมกีฬาที่คนทั่วโลกต่างรอคอย และหลาย ๆ คน ยังคงประทับใจจากเมื่อครั้งพิธีปิดโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ที่ช่วงของการส่งต่อการเป็นเจ้าภาพที่นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปี 2016 ขณะนั้น ได้แต่งตัวเป็นมาริโอ ในเกมชื่อดัง "ซูเปอร์ มาริโอ" ร่วมพิธีปิดเพื่อรับช่วงต่อในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 เป็นภาพที่หลาย ๆ คนติดตา และคาดหวังว่าในโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียว เราจะได้เห็นพลัง Soft Power หรือวัฒนธรรมป็อปของญี่ปุ่นในการจัดงาน ทำให้ทุกคนรอคอยการจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่นในครั้งนี้ 

นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในพิธีปิดโอลิมปิก 2016

แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 อะไรหลาย ๆ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นได้วางแผนไว้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป บรรยากาศของพิธีเปิดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ลดความรื่นเริงหรือการเฉลิมฉลอง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้หายไปไหน คือความเป็นญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น คำที่หลาย ๆ คนอุทานในการชมพิธีเปิดในครั้งนี้ และทำให้ผู้เขียนได้นึกถึงเรื่อง “Soft Power” ที่เคยเขียนไว้ เพราะการจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้ก็ปฏิเสธได้เลยว่าญี่ปุ่น ได้ดึง Soft Power ที่โดดเด่นของประเทศมาใช้ในการแสดงพิธีเปิดงานโอลิมปิกเกมส์ 2020 เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา 

เช่น ในช่วง Parade of Athletes ได้นำเพลงจากวิดีโอเกมมาเป็นเพลงเดินเข้าสนามของนักกีฬาในลักษณะเมดเลย์ เช่น Dragon Quest, Final Fantasy, Tales of series, Monster Hunter, Kingdom Hearts, Ace Combat, Sonic the Hedgehog, Winning Eleven (Pro Evolution Soccer) เป็นต้น ในรูปแบบวงออร์เคสตราอย่างยิ่งใหญ่อลังการต้อนรับนักกีฬาแต่ละประเทศ หรือการออกแบบ PLACARDS (ป้ายนำขบวนนักกีฬา) ก็มีการออกแบบเป็นรูป Bubble แบบในมังงะที่เราคุ้นเคยในการอ่านการ์ตูน รวมไปถึงชุดของผู้ถือป้ายนำขบวนแต่ละประเทศที่ออกแบบให้สอดคล้องกับป้าย รวมถึงลำดับการเรียงประเทศที่ใช้ตามตัวอักษรของประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเกม หรือการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่นที่เค้าไม่ได้มองว่าเป็นสื่อที่สร้างความบันเทิง แต่มันคือ Soft Power ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนประเทศได้ จึงนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในพิธีเปิดครั้งนี้ 

อีกหนึ่งโชว์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและคลิปถูกแชร์ส่งต่อไปกันในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก คือการแสดงในช่วง LET THE GAMES BEGIN กับการแสดงชุด The History of Pictograms ที่แสดงให้เห็นถึงที่มาของการใช้ Pictograms ในการแข่งขันกีฬา ซึ่งรูปสัญลักษณ์แทนชนิดกีฬานี้ ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 1964 ถือเป็นภูมิปัญญาของประเทศญี่ปุ่นที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของภาษา เป็นประโยชน์ให้กับนักกีฬา และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเจ้าภาพแต่ละประเทศก็จะมีการออกแบบในเวอร์ชันของประเทศตนเอง โดยในการแสดงพิธีเปิด ได้เลียนแบบ Pictograms โดยการใช้การแสดงละครใบ้ผสมผสานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกมาเป็นแนว Creative Performance ที่แสดงภาพสื่อออกมาเป็นชนิดกีฬาต่าง ๆ ถึง 50 ชนิดกีฬา โดยได้คู่หูนักแสดงที่มาแสดงครั้งนี้คือ MASA and hitoshi (GABEZ) ทำให้คนที่ได้ดูนึกถึงเกมซ่าท้ากึ๋น (Kasou Taisho) ที่สร้างความประทับใจให้กับคนดูในช่วงพิธีเปิดได้เป็นอย่างดี และยังถูกพูดถึงในอีกหลายวัน แม้จะผ่านช่วงพิธีเปิดมาแล้วก็ตาม 

แม้ว่าการแสดงพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 จะมีการปรับลดให้เหมาะสมกับช่วงสถานการณ์ แต่ในการแข่งขันครั้งนี้ เรายังได้เห็นในอีกหลาย ๆ เรื่องที่ชาวญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจทั้งผู้เข้าร่วมการแข่งขัน และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำเหรียญมาจากโลหะที่รีไซเคิลจากโทรศัพท์มือถือเก่าและขยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่น ๆ หรือช่อดอกไม้ที่มอบให้กับนักกีฬาคู่กับเหรียญรางวัล ก็นำมาจากดอกไม้ที่ปลูกในพื้นที่ประสบภัยในแถบตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นที่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสินามิเมื่อปี 2011 

ความเป็นญี่ปุ่น ที่ใช้ Soft Power ยังปรากฏให้เห็นอีกหลายอย่าง เช่น การนำน้องหมีคุมะมง มาสคอตประจำเมืองคุมาโมโตะ ที่คิวชู แปลงร่างเปลี่ยนสีเป็นน้ำเงินร่วมเชียร์กีฬาโอลิมปิก ซึ่งเป็นสีโทนเดียวกับโลโก้ประจำการแข่งขันครั้งนี้ 

นอกจากการเชียร์กีฬาที่สนุกสนาน เรามารอลุ้นกันว่า การแสดงพิธีปิดจะมีอะไรให้คนดูได้ประทับใจอีกบ้าง เพราะหากจะพูดถึงวัฒนธรรม J POP และ Soft Power ของญี่ปุ่น ยังมีอีกหลายอย่างที่พวกเราอยากเห็นไม่ว่าจะเป็นด้านเพลง การ์ตูน เกม มังงะ การแสดงต่าง ๆ และที่ลืมไม่ได้เลยคือ การส่งใจเชียร์นักกีฬาไทยในการแข่งขันครั้งนี้ต่อไป... 


ผู้เขียน : อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ (น้ำนุ่น)
อาจารย์ประจำสาขานวัตกรรมการสื่อสาร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

ปรากฎการณ์ “ฟ้าผ่า” เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่มาพร้อมกับพายุ ฝนตกอย่างหนัก เกิดจากก้อนเมฆที่มีประจุไฟฟ้าค่อนข้างมาก ทำให้เกิดกระแสไฟบนท้องฟ้า นอกจากความสวยงามที่เห็นก็ยังแฝงความอันตรายอย่างมาก

ช่วงนี้เชื่อแน่ว่าหลายพื้นที่คงได้รับผลกระทบจากการเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านลบ คือบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเกิดความเสียหาย หรือด้านบวก คือทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับน้ำฝน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นภัยที่มากับพายุ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเวลาและสถานที่ไหน นั้นคือปรากฏการณ์ฟ้าผ่า และหนึ่งในนั้นเป็นเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่หลายท่านคงได้ยินข่าว นั่นคือฟ้าผ่าลงกลางสนามฟุตบอลในขณะที่นักฟุตบอลกำลังเล่นฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้ผู้ที่กำลังเล่นฟุตบอลเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บด้วยกันหลายคน

ในวันนี้จะมาเล่าถึงการเกิดฟ้าผ่า สาเหตุของการเกิด และแนวทางในการป้องกันฟ้าผ่ากันครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อน ตามหลักการทางฟิสิกส์แล้ว สสารทุกชนิดจะมีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ โดยประจุไฟฟ้ามี 2 ชนิดคือประจุบวและประจุลบ คุณสมบัติของประจุไฟฟ้า ก็คือเมื่อเป็นประจุชนิดเดียวกันจะเกิดแรงผลักกัน แต่ถ้าเป็นประจุต่างชนิดกันจะเกิดแรงดูดกัน ทั้งนี้เมื่อประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า หรือที่เราเรียกว่าไฟฟ้ากระแสที่มีการใช้งานทั่วไปนั่นเอง

โดยทั่วไปถ้าไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ เกิดขึ้น สสารทุกชนิดจะมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า คือมีประจุบวกเท่ากับประจุลบ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการทำปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่นการขัดหรือถูกันระหว่างสสาร ก็จะทำให้เกิดการถ่ายเทประจุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทำให้สสารนั้นขาดความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า เช่นปรากฏการณ์ที่เราเห็นได้ง่ายคือการเอาไม้บรรทัดถูกับผ้าที่แห้ง ทำให้ประจุที่สะสมอยู่ในไม้บรรทัดสูญเสียความเป็นกลางทางไฟฟ้า ประจุบวกกับลบแยกกันอยู่คนละด้านของไม้บรรทัด เมื่อเรานำมาวางไว้ใกล้กระดาษ จะส่งผลให้ประจุที่ไม่เป็นกลางที่อยู่ในไม้บรรทัด พยามที่จะดึงเอาประจุตรงข้ามที่อยู่ที่กระดาษ ทำให้เกิดแรงดึงดูดระหว่างกระดาษกับไม้บรรทัด นั่นคือกระดาษเคลื่อนเข้าหาไม้บรรทัดนั่นเอง เรียกปรากฏการณ์ลักษณะนี้ว่า การเหนี่ยวนำให้เกิดประจุไฟฟ้า 

ทีนี้เมื่อมาเปรียบเทียบกับการเกิดฟ้าผ่า ตามหลักโดยทั่วไปแล้ว ก้อนเมฆซึ่งเป็นไอน้ำก็เป็นสสารชนิดหนึ่งเช่นกัน นั่นแสดงว่าต้องมีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ ยิ่งก้อนเมฆมีขนาดใหญ่มากเท่าไร นั่นแสดงว่ามีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่เป็นจำนวนมากตามไปด้วย และเมื่อก้อนเมฆมีการเคลื่อนที่ ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากลม ซึ่งโดยทั่วไปลมจะเกิดจากการเคลื่อนที่ของอนุภาคอากาศ และเมื่อก้อนเมฆที่มีขนาดใหญ่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกิดการเสียดสีกันระหว่างหยดน้ำ และน้ำแข็งที่อยู่ในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการถ่ายเทประจุ ส่งผลให้ประจุไฟฟ้าที่อยู่ในก้อนเมฆ แยกตัวออกเป็นสองส่วน โดยประจุบวกจะสะสมอยู่ด้านบนหรือด้านยอดของเมฆ และประจุลบสะสมอยู่ด้านล่างหรือฐานของเมฆ เมื่อเกิดการสะสมประจุเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการถ่ายระหว่างประจุที่แตกต่างกัน ซึ่งก็คือเกิดการถ่ายเทกระแสไฟฟ้าที่มีจำนวนมหาศาล ถ้าเกิดระหว่างก้อนเมฆก็จะเป็นปรากฏการฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆ ที่เรามักได้ยินเสียงแต่นั่นเอง

โดยชนิดของเมฆที่ทำให้เกิดฟ้าผ่า คือเมฆที่เกิดฝน หรือเรียกว่าเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) ซึ่งจะมีฐานของเมฆที่สูงกว่าพื้นดินประมาณ 2 กิโลเมตรขึ้นไป และเมฆบางก้อนมีขนาดใหญ่จนยอดของเมฆสูงกว่าพื้นดินเกือบ 20 กิโลเมตร เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันเนื่องจากพื้นดินที่เราอาศัยอยู่ก็มีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปจะมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า  แต่เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยประจุต่างชนิดจากประจุของก้อนเมฆ ที่เคลื่อนที่เข้าใกล้พื้นดินมาก ก็อาจจะส่งผลให้ประจุบริเวณพื้นดินที่อยู่ใต้เงาก้อนเมฆ หรือบริเวณใกล้เคียงอาจเป็นประจุบวกหรือลบก็ได้ และเมื่อประจุไฟฟ้าที่อยู่บนก้อนเมฆเคลื่อนที่ลงมาหาประจุตรงข้ามที่อยู่บนพื้นดิน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากลงมายังพื้นดินด้วย พอเจอกับสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ หรือต้นไม้ ก็จะทำให้เกิดการไหลของกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ดังนั้นลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่โดนฟ้าผ่าจึงมีลักษณะคล้ายกับสิ่งมีชีวิตที่ถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงช็อต นั่นเอง

ทั้งนี้ลักษณะการผ่าของฟ้าเกิดได้หลายแบบ ได้แก่ฝ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆเดียวกัน เกิดจากการถ่ายเทประจุในก้อนเมฆเดียวกัน โดยอาจเกิดจากฐานเมฆไปยังยอดเมฆ หรือยอดเมฆมายังฐานก็ได้ ฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง เกิดจากการถ่ายเทประจุระหว่างก้อนเมฆแต่ละก้อน ทั้งนี้ฟ้าผ่าทั้งสองชนิดนี้จะไม่มีผลต่อมนุษย์เรา จะได้ยินแค่เสียงฟ้าร้องและฟ้าแลบเท่านั้น

ส่วนฟ้าผ่าที่มีผลต่อเราได้แก่ ฟ้าผ่าที่เกิดจากประจุลบบริเวณฐานเมฆที่ถ่ายเทประจุ มายังพื้นดินซึ่งเป็นประจุบวกที่เป็นเงาของเมฆทับอยู่ โดยทั่วไปจะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองเท่านั้น 

และฟ้าผ่าจากประจุบวกที่อยู่บนยอดเมฆถ่ายเทประจุลงมายังพื้นดินที่เป็นลบ ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าลงบริเวณเกิดฝน อาจผ่าลงบริเวณใกล้เคียงก็ได้ ซึ่งลักษณะของฟ้าผ่าแบบนี้จะมีระยะผ่าที่ไกลกว่าบริเวณที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ ทั้งนี้ในเวลาที่ฟ้าผ่าเราจะเห็นแสงและได้ยินเสียงร้องคำรามของฟ้าที่มีความดังสูงนั้น เกิดจากการที่ประจุไฟฟ้า เคลื่อนที่ผ่านอากาศด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดการเสียดสีกับอากาศอย่างรุนแรง อากาศเกิดความร้อนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นคลื่นกระแทก (shock wave) จึงเกิดทั้งแสงและเสียงที่ดังกึกก้องกัมปนาท คล้ายกับการเสียงของเครื่องบินรบที่บินด้วยความเร็วสูงนั่นเอง

ทั้งนี้เรามักจะมองเห็นแสงฟ้าแลบก่อนที่จะมีเสียงฟ้าร้อง เนื่องจากแสงมีความเร็วมากกว่าเสียงมาก ทำให้แสงวิ่งมาถึงตัวเราที่รับรู้ได้โดยสายตา ก่อนที่จะได้ยินเสียงที่รับรู้ได้ด้วยหูนั่นเอง การเกิดฟ้าผ่านั้นนอกจากเรารับรู้ได้ว่ามักจะเกิดบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดเวลาใด หรือบริเวณไหนของฝนฟ้าคะนองดังกล่าว

วิธีการป้องกันได้ดีที่สุดคือเวลาฝนตก ไม่ควรจะอยู่ในบริเวณที่โล่งแจ้งหรือต้นไม้ใหญ่ ควรอยู่ในบริเวณอาคารบ้านเรือน ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรสวมใส่โลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้า ถึงแม้จะยังไม่มีบทพิสูจน์อย่างชัดเจนได้ว่า การสวมใส่โลหะในขณะเกิดฝนตกจะเป็นตัวล่อให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากก้อนเมฆมายังโลหะตัวนำนั้น แต่ก็มีการค้นพบว่าเมื่อเกิดฟ้าผ่า บริเวณที่มีตัวนำไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และในอาคารที่สูงควรจะมีการติดตั้งวัสดุที่เรียกว่าสายล่อฟ้า ซึ่งจะมีหน้าที่ในการเหนี่ยวนำให้ประจุจากก้อนเมฆวิ่งลงมายังสายล่อฟ้า แล้ววิ่งลงไปยังพื้นดินข้างล่างที่ต่อกับสายล่อฟ้าไว้ ซึ่งประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นอันตราย และที่สำคัญที่สุด เวลามีพายุ ฝนฟ้าคะนอง ควรงดทำกิจกรรมที่อยู่ในที่โล่งแจ้งทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม แค่นี้เราทุกคนก็จะปลอดภัยจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าได้ครับ


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

Empathy คืออะไร ทำไมจึงเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตของทุกคน เราจะสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้อย่างไร?

คุณเคยผ่านช่วงชีวิตที่แย่ๆ จิตใจกำลังอ่อนแอ เผชิญปัญหาหนักๆ เพียงลำพังคนเดียวบ้างไหม? ในช่วงนั้นหากมีใครสักคนเข้าใจหัวอกของคุณอย่างลึกซึ้ง พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเรา ช่วยเหลือ สนับสนุน ให้กำลังใจเรา ในทุกประโยคทุกคำพูด ยืนอยู่ในมุมเดียวกับเรา เราจะรู้สึกดีมากแค่ไหน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร เขามีทักษะสำคัญที่เรียกว่า Empathy

•  Empathy คืออะไร
Empathy คือ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่นผ่านมุมมองของพวกเขา ในโลกยุคที่การใช้ชีวิตมีความซับซ้อนและคาดเดายาก เราต้องยิ่งอยู่ร่วมกับทุกคนให้ได้ ทักษะนี้เป็นส่วนสำคัญช่วยทำให้แต่ละคนเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่งผลต่อการสร้างบรรยากาศที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือกลุ่มชุมชนต่างๆ

• ทำไมจึงเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตของทุกคน

จากสถิติ 80% พนักงานในกลุ่ม Millennials ลาออกจากงาน เพราะที่ทำงานขาด Empathy มากกว่า 60% บุคลากรในกลุ่ม Baby Boomers ลาออกเพราะที่ทำงานขาด Empathy  ยิ่งในครอบครัว พ่อแม่ให้ความรักลูกแบบไหน ถ้าพ่อแม่แสดงความรักต่อลูกอย่างเหมาะสม ลูกก็จะเห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือ ลูกก็จะสามารถแสดงความรักต่อผู้อื่นเป็น 

ตรงกันข้าม หากพ่อแม่ที่เคยได้รับความรักที่ไม่เหมาะสมมา เช่น การถูกตามใจจนชิน เป็นหลานชายคนแรกของตระกูล พ่อแม่ญาติพี่น้องให้ความสำคัญจนเกินความเป็นจริง กระทั่งไม่รู้ผิดรู้ถูก ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร การแสดงความรักของพ่อแม่ที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ ลูกจะกลายเป็นคนไม่เห็นคุณค่าใคร ไม่เห็นอกเห็นใจใคร คนในครอบครัวขาดการเคารพกัน อาจถึงขั้นทำร้ายกันเอง และเมื่อมามีครอบครัวของตนเอง ก็จะส่งต่อความรักที่ไม่เหมาะสมแบบนี้แก่ลูกหลานต่อไป บรรยากาศครอบครัวเสียเพราะมีใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ขาด Empathy 

• เราจะสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้อย่างไร?

มาช่วยให้บ้านน่าอยู่ขึ้น ที่ทำงานน่าอยู่ สังคมน่าอยู่ ด้วยการปลูกฝังให้คนมี Empathy

หัวใจสำคัญของการมี Empathy  คือ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา พิจารณาจากพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้  

-    สามารถแก้ปัญหาที่ยากๆ ได้ดีกว่าคนอื่น
-    ไม่กดขี่ข่มเหงคนอื่น ตรงกันข้ามจะเข้าช่วยเหลือเมื่อเห็นคนอื่นถูกรังแกมากกว่า
-    มีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ เพราะปรับตัวได้ง่ายและมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดี

ข้อเสนอแนะ 7 ขั้นตอนที่พ่อแม่ทำได้ง่ายๆ

1. แสดง Empathy ให้ลูกๆ เห็น เป็นที่ประจักษ์ชัด ทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะแบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน หาจังหวะเวลาที่เหมาะสม บอกสอนเรื่องการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา 

2. อย่าละเลยความรู้สึกลูก อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองถูกละเลยหรือถูกทอดทิ้ง ลูกต้องรู้สึกว่ามีคนรับฟังและช่วยเหลือเขาอยู่ข้างพวกเขา เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยในขณะที่อยู่กับพ่อแม่ พวกเขาจะมีแนวโน้มในการส่งต่อความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น 

3. ฝึกให้ลูกแยกแยะเป็น ช่วยให้ลูกเข้าใจในอารณ์ที่เกิดขึ้นตามแรงกระตุ้นของสิ่งที่มากระทบ ทั้งทางลบและทางบวก เพื่อให้เขาได้เชื่อมโยงความรู้สึกของเขา เข้ากับคำพูด และสิ่งที่เข้ามากระทบอารมณ์ของพวกเขา เพราะถ้าพวกเขาเข้าใจความรู้สึกของตัวเองทั้งทางบวกและทางลบ เขามีแนวโน้มในการเข้าใจผู้อื่นเช่นกัน

4. มอบหมายหน้าที่ให้ทำ แม้นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้พวกเขามีส่วนร่วม และมอบหมายให้เป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงกิจกรรมการกุศล การให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เด็กที่อยู่ในบรรยากาศแบบนี้มีแนวโน้มเข้าใจผู้อื่น

5. อย่าแก้ปัญหาให้ลูกทุกเรื่อง ปล่อยให้ลูกได้แก้ปัญหาเองบ้าง ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ของความผิดหวังบ้าง จะได้ถือโอกาสสอนทักษะในการแก้ปัญหาให้กับลูกบ้าง สอนให้เขาคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็นจากปัญหาจริงที่เกิดขึ้น ไม่งั้นคุณจะกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน เมื่อเด็กได้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาเอง พวกเขาจะมีแนวโน้มในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อน



6. สอนให้ลูกยอมรับผู้อื่นและตัวเอง ไม่พูดเปรียบเทียบชีวิตลูกกับชีวิตของใคร แต่ในทางกลับกัน สอนให้ลูกรู้ว่าเรามีอะไรที่เหมือนและแตกต่างจากคนอื่นบ้าง พาให้พวกเขาได้เห็นชีวิตของแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน วิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม แตกต่างกัน ชีวิตแต่ละคนมีโอกาสและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป

7. สอนให้ลูกช่วยเหลือผู้อื่นจากหัวใจ สอนให้ลูกมีจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ โดยไม่คำนึงถึงคำชม รางวัล หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ให้ทำความดีเพื่อความดีจริงๆ อธิบายให้เขาเข้าใจถึงผลรับของการกระทำ Action Reaction หากลงมือทำที่เหตุต้องไม่ปฏิเสธผล ดีก็รับ ไม่ดีก็ต้องรับ 

บทสรุปของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือการเคารพความรู้สึกของผู้อื่น  ผลลัพธ์ที่ได้คือคนในครอบครัวเห็นคุณค่ากันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน บรรยากาศบ้านก็น่าอยู่ ในทางกลับกันหากผู้นำครอบครัวมีใครคนใดคนหนึ่ง เอาแต่ใจตัวเอง ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น บรรยากาศบ้านก็เสีย เต็มไปด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่เคารพกัน ทำลายคุณค่าของกันและกันในที่สุด

การสร้าง Empathy ไม่ยาก แต่คนส่วนมากไม่ค่อยทำ ไม่อยากให้ใครมองข้ามเรื่องสำคัญ เมื่อรู้ผลลัพธ์แบบนี้คุณพ่อคุณแม่เรามาสร้าง Empathy ที่ดีในครอบครัวกันเถอะค่ะ ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อคนที่มีความหมายในชีวิตของเราค่ะ 

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
http://www.thefamily.in.th/podcast/episode.php?code=100400
https://www.chanuntorn.com/post/o-bk-dkhr-bkhrawdwy-empathy-kuyaecchthiithamaihehnkhunkhaakanaelakan
https://www.urbinner.com/post/what-is-empathy-how-does-it-important-in-the-workplace

การคมนาคมในสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) : ใช้ชีวิตด้วยการเดินทาง ที่มีเวลาและระเบียบเป็นสิ่งสำคัญ

ถ้าพูดถึงเรื่องการเดินทางในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็น่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว และรถสาธารณะหรือรถประจำทางที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุด ส่วนทางน้ำคือการใช้เรือและเรือข้ามฟากก็พอมีบ้าง แต่อาจเทียบเป็นเปอร์เซนต์แล้วได้ค่อนข้างน้อย จักรยาน หรือ ebike ก็เช่นกัน รถยนต์น่าจะมีเปอร์เซนต์สูงที่สุดแล้ว

สวิสเป็นประเทศที่ค่อนข้างเล็กจากเหนือจรดใต้ห่างกันเพียง 220 กิโลเมตร และจากตะวันออกถึงตะวันตก 348 กิโลเมตร เท่านั้น และมีประชากรเพียง 8.723.277 ล้านคน ในปี 2020 วันนี้เลยอยากเล่าไปถึงเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้ว ตอนที่ผู้เขียนพึ่งมาอยู่สวิสใหม่ ๆ มีรถยนต์บนท้องถนนไม่มากเท่ากับทุกวันนี้ เทียบปี 2000 กับ 2020 มีรถยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 31 % เลยนะ แถมโมเดลของรถก็ค่อนข้างเปลี่ยนไป สมัยก่อนเราจะเห็นแต่รถคันเล็ก ๆ เป็นรถเพื่อการใช้งานโดยเฉพาะ แต่เดี๋ยวนี้เราจะเห็นรถคันใหญ่ ๆ แบบในอเมริกาเยอะขึ้น บริบทของสังคมเริ่มเปลี่ยนไป รถยนต์ไม่ใช่เพื่อการใช้งานเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการบอกสถานะทางสังคมไปด้วย ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น คนสวิสนิยมซื้อรถมือสองมากกว่าผ่อนไฟแนนซ์ อย่างที่บอกคือเพื่อใช้งานอ่ะเนอะ รถใหม่ก็อาจเป็นพวกคนชอบเล่นรถจริง ๆ หรือแบบคนฐานะดีมาก ๆ แต่คนประเภทนี้ก็จะเปลี่ยนบ่อย ๆ ไม่รอให้ราคาตกมากก็ไปเทิร์นคันใหม่ ประหนึ่งว่าผ่อนไม่เคยหมดคัน

ด้านรถโดยสารก็จะมีรถไฟ และรถบัส การรถไฟของสวิสมีบริการรถไฟโดยสาร 5,000 ขบวนโดยประมาณ ซึ่งครอบคลุมระยะทาง 274,000 กิโลเมตรต่อวันเชียวนะ ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เดินทางโดยรถบัสและรถไฟไปทำงานในเมืองซูริคทุกวัน จากประตูบ้านถึงหน้าออฟฟิศใช้เวลา 1 ชั่วโมงพอดิบพอดี อาจแลดูเหมือนนานแต่จริง ๆ ไม่นานเลยนะ จากบ้านขึ้นรถบัสเพื่อไปสถานีรถไฟ มีเวลาเปลี่ยนรถ 5 นาที ขึ้นรถไฟไปลงสถานีหลักที่ซูริค จากนั้นต่อรถไฟอีกขบวนไปที่ทำงาน บนรถไฟภาพที่เห็นจนชินตาคือจะเห็นคนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฟรีที่แจกตามสถานีรถไฟนั่นแหล่ะ บางคนก็ใส่หูฟัง ฟังเพลง บางคนเอาโน๊ตบุ้คขึ้นมานั่งทำงาน บรรยากาศจะเงียบสงบมาก แต่พอถึงเวลาลงเมื่อไหร่ละก็ เดินแทบจะชนกันเลยล่ะ

ในซูริค ช่วงเร่งด่วนคือเช้ากับเย็น ผู้คนจะเดินกันขวักไขว่และเดินค่อนข้างเร็วไม่เหมือนบ้านเรา ที่รู้เพราะเวลาครอบครัวมาเยี่ยม หรือเพื่อน ๆ มาหาจากเมืองไทยจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมเดินเร็วจัง จริง ๆ คือไม่เคยสังเกตตัวเองเลย

บางขบวนรถไฟก็จะมีโบกี้เด็กด้วยนะ มีสไลเดอร์ของเล่นสำหรับเด็ก ทำให้การเดินทางไม่น่าเบื่อสำหรับผู้โดยสารตัวน้อย การเดินทางที่สวิสตรงต่อเวลามาก สามารถกะเวลาได้แบบเป๊ะ ๆ เลย ปี ๆ นึงจะมีการล่าช้าอยู่ไม่กี่ครั้งหรอก ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนก็จะมีรถประจำทางเสมอทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนค่อนข้างสะดวก

จริง ๆ ผู้เขียนก็ขับรถเป็นมีใบขับขี่แต่แทบจะไม่ได้แตะรถเลย เพราะรถโดยสารมันสะดวกมาก ถ้าเทียบเรื่องค่าใช้จ่ายก็น่าจะไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะรถส่วนตัวจะมีค่าภาษีรถ ภาษีถนน และอื่น ๆ อีก การขับรถบนไฮเวย์ก็จะเสียค่าสติ๊กเกอร์แปะรถต่อปีคือ 40 สวิสฟรังค์เท่านั้น ซึ่งถูกมากถ้าเทียบกับประเทศใกล้เคียง

ผู้คนค่อนข้างรักษากฎจราจรเคร่งครัดเพราะปรับจริงยึดใบขับขี่จริง จะเห็นก็มีแต่จักรยานที่ไม่ค่อยรักษากฎเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเมือง เช่นในซูริค จักรยานจะขี่แบบเย้ยฟ้าท้าดินมาก ผ่าไฟแดงบ้างอะไรบ้างเป็นเรื่องที่เห็นกันชินตา และถ้าจะไม่พูดถึง ebike นี่ไม่ได้เลยนะ ช่วงหลายปีมานี้คือมาแรงมาก เป็นจักรยานที่มีแบตเตอรี่ การปั่นอีไบค์ ก็เหมือนการปั่นจักรยานทั่วไปนั่นแหละ เป็นเครื่องทุ่นแรงเพราะสภาพภูมิประเทศของสวิสที่มีภูเขาน้อยใหญ่ บางครั้งขี่ขึ้นเนินมันก็ง่ายขึ้นอ่ะเนอะถ้ามีมอเตอร์ส่งแรงได้ แถมบางทีเร็วมากด้วยนะ ซึ่งคนสวิสชอบขี่จักยาน ไม่ว่าจะเป็น ebike mountainbike (จักรยานเสือภูเขา), Rennrad (จักรยานเสือหมอบ)

อีกหนึ่งการเดินทางที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้คือทางเรือ เนื่องจากสวิสมีทะเลสาบเยอะ และหน้าร้อนผู้คนก็ชอบที่จะนั่งเรือเล่น อย่างเช่นตัวผู้เขียนเองจะชอบนั่งเรือเล่นจากสถานที่หนึ่งไปสถานที่หนึ่ง และนั่งรถไฟกลับ หรือกลับกัน อาจนั่งรถไฟไปและนั่งเรือกลับ ซึ่งวิวที่นี่มันว๊าวมากขอบอก !! การได้เดินทางและชมบรรยากาศมันเป็นการพักผ่อนอีกรูปแบบหนึ่งของคนสวิสเลยทีเดียว บนเรือก็คล้าย ๆ กับรถไฟ มีชั้นหนึ่งกับชั้นสอง ถ้าเราซื้อตั๋วชั้นสองแต่ไปนั่งชั้นหนึ่งก็มีสิทธิ์ที่จะโดนค่าปรับที่แสนจะแพงด้วยนะเออ เพราะฉะนั้นสังเกตหมายเลขไว้ให้ดี ส่วนเรือข้ามฟากก็มีได้เลือกใช้ แต่รู้สึกว่าไม่ได้เยอะมาก และเรือก็เป็นเรือเล็ก ๆ ที่จุรถได้ไม่เยอะมาก ทุกอย่างเป็นเวลาและเป็นระเบียบ และนี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบในสวิตเซอร์แลนด์


เขียนโดย: วีวี่ เซเลบภูเขา 
ตาล หรือ วีวี่ สาวสัตหีบชาวไทย เรื่องราวที่อยากบอกเล่า จากประสบการณ์ชีวิตมากกว่า 21 ปี ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
 

"โปรแกรมเมอร์" เบื้องหลังความสำเร็จธุรกิจยุคโซเชียลกับ คุณบิว อธิศนันท์ | Click on Crazy EP.1

บทสัมภาษณ์ Click on Crazy EP.1
คุณบิว อธิศนันท์ กีรติณัตินันท์
โปรแกรมเมอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนิวสเปคทีฟ กรุ๊ป 

Q : จุดเริ่มต้นของสายงานอาชีพ “โปรแกรมเมอร์”

A : คือจริงๆแล้วก็ไม่คิดไม่ฝันเหมือนกันว่าตัวเองจะมาเป็นโปรแกรมเมอร์เพราะว่าเรียนจบบริหารธุรกิจนะคะในสายคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แล้วก็เรียนจบมาเนี่ยก็ทำงานในสายของแอดมิน เป็นคนคอยคีย์ข้อมูลเข้าระบบอะไรประมาณนี้ค่ะ

ทีนี้เนี่ยก็มีการปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระบบมาเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ยังไงก็เกิดจากการที่เราคีย์ข้อมูลเข้าระบบนี้แหละแล้วเรามีความรู้สึกว่าระบบเนี่ยถ้าเกิดว่ามีการเขียนโปรแกรมและไม่มีการคีย์ข้อมูลซ้ำๆเข้าไปแล้วสามารถที่จะดึงข้อมูลมาแล้วคีย์สต็อกได้เนี่ยมันน่าจะทำงานได้ง่ายมากขึ้นเราก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาก็เลยเดินเข้าไปคุยกับเจ้าของบริษัทว่าเราคิดว่าเราจะทำตรงนี้ให้ได้นะอย่างนั้นเราขอโอกาสว่าเราเป็นคนเขียนโปรแกรมได้ไหมก็ถือว่าเป็นงานที่เปิดทางให้เราได้ก้าวจากแอดมินทั่วไปมาเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นก็คือจุดเริ่มต้น

Q : ประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์มาทั้งหมดกี่ปี 

A : ประมาณ 17 ปีค่ะ 

Q : คำว่า “โปรแกรมเมอร์” คือในความหมายของคุณบิวคืออะไร

A : โปรแกรมเมอร์ หรือ Programmer developer ก็คือเป็นผู้พัฒนาเป็นผู้สร้างเป็นผู้คิดพัฒนาระบบขึ้นมา หลายคนที่ดูจากภายนอกเข้ามาอาจจะมองว่าต้องเก่งมากๆเลย จริงๆ แล้วเป็นงานที่ไม่สายเลยนะคะใช้ความคิดค่อนข้างมาก ระยะเวลาในการทำงานเนี่ยบางครั้งเนี่ยจะต้อง Coding ถึง 10 ชั่วโมงขึ้นไปโดยส่วนใหญ่โปรแกรมเมอร์เหมือนความคิดของเขาเนี่ยมันจะมีกระบวนการซึ่งเขาจะต้องเชื่อมต่อระบบในหัวตลอดเวลา หลาย ๆ คนเลยบอกว่าโปรแกรมเมอร์เข้าถึงยาก อาจจะเป็นเพราะการทำงานของแต่ละคน

Q : ทำไมถึงชื่นชอบในอาชีพ “โปรแกรมเมอร์”

A : จริง ๆ ทุก ๆ สายงานมีเสน่ห์เฉพาะตัวของมันไม่ว่าจะเป็นบัญชีหรือผู้สื่อข่าวก็จะมีความพิเศษเฉพาะของอาชีพนั้น ๆ แต่ในส่วนของโปรแกรมเมอร์เนี่ยมันก็มีเสน่ห์ของมันสิ่งหนึ่งที่เป็นความภูมิใจคือเวลาที่ทำงานชิ้นหนึ่งของมาแล้วทำให้คนหรือบริษัทได้ใช้งานได้ง่ายขึ้นจากการที่เขาเคยอ่านต้องมานั่งคีย์ที่ระบบหลายขั้นตอน เราก็สามารถทำงานให้ระบบออกมาเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นคืออันนั้นคือความภูมิใจของโปรแกรมเมอร์ที่จะได้ทำงานออกไปแล้วให้คนที่ใช้งานได้ง่ายขึ้นก็เหมือนเราทำงานให้มันน้อยลงพยายามลดขั้นตอนในการทำงาน

Q : หลังจากได้ทำงาน “โปรแกรมเมอร์” รู้สึกว่าตัวเองมีการพัฒนาอะไรมากยิ่งขึ้น

A : หน้าที่ของโปรแกรมเมอร์เนี่ยเดิมทีต้องเป็นคนที่ออกแบบ สร้างและพัฒนาดูแลและ support โปรแกรมเมอร์เนี่ยจะต้องมีทักษะเหล่านี้อยู่ฉะนั้นเวลาที่เราได้รับงานมาเนี่ยเราก็ต้องมีการวางแผนก่อนบางครั้งโจทย์ที่ได้รับมาอย่างเช่นให้ทำระบบบัญชีอย่างล่าสุดที่เข้ามาอยู่ใน Newspective ทางบริษัทให้ทำเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับระบบบริหารธุรกิจ ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะจบบริหารมาแต่เราก็ไม่รู้ระบบ PO เราไม่ได้รู้ระบบเกี่ยวกับบัญชี ตอนเราได้โจทย์มาว่าจะต้องทำโปรแกรมที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เพื่อที่จะทำให้คนใช้งานสามารถเปิด po ออนไลน์ได้สามารถที่จะเปิด invoice ออนไลน์ได้สามารถที่จะเบิกค่าใช้จ่ายอะไรได้ทุกอย่างเราก็ต้องทำการรีเซ็ตตัวเองก่อน การเป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยก็จะได้มีสะสมประสบการณ์จากการที่เราเขียนโปรแกรมเหล่านี้ การ Research ขั้นตอนกับเจ้าของโปรแกรมว่าต้องการอะไร เราก็เอากระบวนการทำงานของเขาเนี่ยมันคิดเป็นระบบแล้วก็เขียนโปรแกรมออกมาได้เรียนรู้ใหม่ตลอด 

Q : ถ้าเราเขียนโปรแกรมแล้วเกิดปัญหาอย่างการติด Bugs มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร 

A : อย่างการเกิด Bugs จะเกิดหลังจากที่เราเขียนโปรแกรมเสร็จแล้วก็คือหลังจากที่ User เข้ามาทำการทดลองใช้งาน บางครั้งโปรแกรมเขียนจะไม่เจอปัญหา แต่คนอื่นจะมาเจอปัญหาที่ว่าในขณะการใช้งานการแก้ไขปัญหาในเรื่องบางเรื่องไม่ต้องซีเรียสเลยเพราะว่าโปรแกรมเมอร์จะรู้แล้วว่าจะ Error โปรแกรมก็ต้องฟ้องว่า Error เพราะอะไรเกิดจากอะไรและข้อมูลของมาไม่ครบหรือเกิดจากการที่ข้อมูลค้างอยู่แล้วส่งไปไม่ได้อันนี้ก็คือเป็นหน้าที่เราที่เข้าไปแก้ไขแล้วก็ไปดูว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหน เกิดจากอะไรและเราก็ทำการแก้ไขให้สามารถทำงานได้เอง คือปัญหาเหล่านี้จริง ๆ แล้วเป็นของคู่กันกับโปรแกรมเมอร์อยู่แล้วซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยแล้วถ้าเกิดปัญหาเหล่านี้มาหลังจากที่เขียนเสร็จแล้ว 

Q : ในการเป็นโปรแกรมเมอร์มาตลอด 17 ปี ส่วนไหนของการเขียนโปรแกรมยากที่สุด

A : สำหรับตัวเองไม่เคยมองว่าการเขียนโปรแกรมจะยาก แต่ความยากอาจจะเกิดจากการทำงานในสภาวะแวดล้อมและบุคคล ที่เราเลือกทำอาชีพนี้เพราะเราต้องการที่จะไม่ปะทะกับคนสักเท่าไหร่เวลาเราเขียน Coding มีแค่เรากับ Code แล้วก็เรา คือเราคุยกับสิ่งที่เราจะสร้างโดยที่เราไม่ได้คุยกับคนข้างนอกเลยมันก็เลยกลายเป็นว่ามันเป็นการเขียนโค้ดมันเป็นการที่ดิ่งลงไปแล้วเราต้องใช้เวลาส่วนตัวของเราในการสร้างผลงานนี้ขึ้นมาเอง ปัญหาของโปรแกรมเมอร์เนี่ยมันก็เลยกลายเป็นว่าเวลาที่มีการ Coding หรือว่าใช้สมาธิสูงในการเขียน สำหรับพี่เนี่ยมองว่าการเขียนโปรแกรมมันไม่ได้ยากเพราะว่าสุดท้ายแล้วการเขียนโปรแกรมอย่างมันจะมีทางออกของมันอยู่แล้วเราจะหาของมันไปจนแก้ปัญหานั้นได้แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ยากที่สุดก็คือภาวะของสภาพแวดล้อมของตัวเราและอารมณ์ของเราที่มีกับคนข้างนอกมากกว่า ทุก ๆ สายงานมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน 

การเขียนโปรแกรมไม่ใช่เป็นการเขียนให้มันจบ ให้มันเสร็จ ๆ ไป แต่การเขียนโปรแกรมมันคือชีวิตของคนอื่นด้วยนะคือหนึ่งในเรื่องของความปลอดภัยในเรื่องของข้อมูลต่างๆในการรั่วไหลในเรื่องของความปลอดภัยของระบบ ความคิดของเรามันมีหลายชั้นมาที่เราจะต้องต้องดูแล มันคืองานที่ล้ำค่ามากสำหรับตัวเรานะ คือเขียนงานหนึ่งเราเขียนเสร็จแล้วเนี่ยมันมีผลกระทบอะไรกับใครถ้าเกิดเขียนไปแล้วเนี่ยความปลอดภัยดีมากแค่ไหนเราก็ต้องดูในเรื่องนี้ด้วย 

Q : จุดไหนที่คุณบิวคิดว่า การเขียนโปรแกรมจะต้องคำนึงในเรื่องของความปลอดภัยของคนอื่น ด้วยนอกจากระบบ 

A : จากการเคยทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ด้วยความที่เป็นระบบโรงพยาบาลจะเชื่อมโยงหมดทุกจุดตั้งแต่คนไข้ หมอ ยา คือหนึ่งเป็นความลับของคนไข้ สองเป็นความปลอดภัยของคนไข้อย่างการเขียนระบบถ้าเราไม่มีความรับผิดชอบ ทำงานไม่ละเอียด ไม่คิดให้ถี่ถ้วนผลที่ตามมา ไม่ใช่แค่ระบบผิดพลาดแต่มันหมายถึงชีวิตคน ๆ หนึ่งนี่คือจุดเปลี่ยนของเวลาทำงานเลยค่อนข้างที่จะละเอียดและระวังในเรื่องนี้พอสมควร ก็ต้องขอบคุณโรงพยาบาลหัวเฉียวด้วย 

ถ้าเกิดข้อผิดพลาดไปคือชีวิตคนหนึ่งเลยถ้าเราคิดผิดระบบผิดไปเราไปแจ้งคนไข้ก็ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่คนใช้โปรแกรม แต่เป็นคนออกแบบโครงสร้างและประมวลผลออกมา ถ้าสมมุติว่าเราเขียนระบบใดระบบหนึ่งแล้วเราเขียนด้วยความที่ไม่ตั้งใจ ไม่ตรวจสอบให้มันถี่ถ้วนก่อนแล้วพอคนใช้งาน ปรากฏว่าเราผิดแค่ตัวอักษรเดียวมันอาจจะทำให้ผลของคนไข้คนนั้นผิดไปหรือไปดึงของคนอื่นมาใส่อีกคนนึง การรักษาก็จะไม่ถูกต้อง

การเป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยสำหรับพี่ถือว่าเป็นอาชีพที่ทรงคุณค่าเหมือนกันนะเพราะว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่ใช่ทำงานแล้วจบ ในทุก ๆ กระบวนการมีความสำคัญอยู่ในทุกขั้นตอน ความยากง่ายขึ้นอยู่ขึ้นอยู่กับโจทย์กับองค์กรที่เราทำงานอยู่ องค์กรที่เราทำงานด้วยต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูลของคนทุกคน อย่างในโรงพยาบาลด้วยความที่ระบบมันใหญ่มากคือมีทั้งข้อมูลของผู้ป่วยข้อมูล ยา และข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็เป็นข้อมูลที่จะต้องเก็บถึง 10 ปีอย่างนี้ฉะนั้นถ้าเราเขียนโปรแกรมแล้วเราทำผิดก็อาจจะทำให้คนไข้คนนั้นได้รับยาผิดไปก็ได้

นี่คือสิ่งที่เราต้องคำนึงเหมือนกันระบบทั่วไปทุกวันนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากคือการขายของออนไลน์ถ้าเราเปลี่ยนระบบเช่นเราดึงข้อมูลผิดชื่อ นามสกุล ลูกค้าสั่งของชิ้นนี้แล้วปรากฏว่าเราเขียนผิดไปดึงอีกคนหนึ่งมาซึ่งไม่ใช่สินค้าของคนนี้แล้วส่งผิดคน คือความเสียหายมันไม่ได้มันเกิดแค่ที่บริษัทอย่างเดียว โปรแกรมก็ผิดด้วย โปรแกรมเมอร์จึงต้องมีละเอียด ถี่ถ้วน 

Q : ตอนนี้เป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับทาง Newspective Group  เป็นอย่างไรบ้าง 

A :  ก็หลังจากที่ออกจากหัวเฉียวมาก็มาร่วมงานกับทาง Newspective Group งานแรกเลยที่เข้ามาทำระบบในเรื่องของระบบบริหารทั่วไป แต่ว่าก็มีโครงการสตาร์ทอัพเข้ามาส่งเข้าประกวดซึ่งตอนนั้นเนี่ยไม่ได้คิดอะไรมากก็สั่งอะไรให้ทำก็ทำ ตามที่เขา Request มาแต่ว่าสิ่งที่เป็นแรงกดดันจากงานนี้คือระยะเวลามันสั้นมากคือต้องเสร็จภายใน 20 วันในใจคิดว่าจะทำได้ไหมแต่ทางผู้ใหญ่บอกว่าถ้าทำได้องค์กรเราจะดียิ่งขึ้น เราก็เลยมองว่าถ้าเกิดอะไรที่ทำให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้าได้เราก็พร้อมที่จะลุยอันนี้ก็คือเป็นนิสัยของเราก็เห็นว่าช่วยคนอื่นได้ด้วย 

เราไม่เคยประกวด การแข่งขันอะไรแบบนี้เลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกแล้วก็ได้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของการประกวด บริษัทสตาร์ทอัพลงประกวดเยอะ ทำให้เห็นว่าคนไทยเนี่ยเก่งเยอะมากแต่แค่ว่าเราแค่ไม่มีโอกาสให้ได้นำเสนอในสิ่งที่เราคิดแค่นั้นเอง จริง ๆ มันไม่ใช่ผลงานของพี่ทั้งหมดพี่เป็นเพียงคนเขียนโปรแกรมตามที่เราได้รับมอบหมายมา ทางทีมช่วยกันไม่ว่าจะเป็นทีมการตลาดและคิดระบบเราก็ทำตามโจทย์ว่าระบบอยากได้อะไรเราก็ทำตามเงื่อนไขนั้นให้สำเร็จ

Q : เว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES เว็บไซต์ที่คุณบิวเขียนขึ้นมาด้วยตัวเอง 

A : ใช่ค่ะ เป็นคนทำคนเดียว โจทย์คือเว็บไซต์สำนักข่าวต้องขึ้นภายใน 1 เดือน ซึ่งเว็บไซต์นี้ก็ถือว่ายากพอสมควร ปัจจุบันสายอาชีพนี้มีความแตกต่างจากสมัยก่อนเมื่อเมื่อ 10 ปีที่แล้วก็คือว่าสมัยที่พี่ทำงานเนี่ยคือเขาเรียกว่าเป็นลักษณะของการเขียนคนเดียวออกแบบคนเดียว หลังๆมาช่วง 5 ปีหลังมานี้เป็นลักษณะของการพัฒนาระบบ ซึ่งมีการแบ่งงานกันทำ แต่อย่างในเว็บไซต์นี้ค่อนข้างกดดัน เพราะทำเองคนเดียว ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะต้องเจองานที่เรากลัวจะทำไม่ทันถือว่าเป็นความท้าทายตัวเองด้วยเหมือนกัน

Q : เป็นโปรแกรมเมอร์จำเป็นต้องเรียนเก่งจริงหรือ ?

A : ตอนที่พี่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เกรดเฉลี่ยแค่ 1.88 เอง ในช่วงตอนเรียนที่โรงเรียนก็ไม่สนใจเรียนคือเรียกว่าติด 0 ติดรอด้วยซ้ำ เป็นเด็กฝ่ายกิจกรรม เมื่อก่อนอยู่วงโยธวาทิตของโรงเรียน ก่อนที่จะมาเข้าสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์ในความฝันจริง ๆ คือการเป็นนักดนตรี สอบเข้าจุฬาได้ด้วยแต่ด้วยความที่ฐานะทางบ้านเนี่ยไม่ได้ ก็เลยมาเรียนสายบริหารคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

Q : อาชีพ “โปรแกรมเมอร์” อาชีพที่ไม่ตกงานในช่วงยุคโควิด-19

A : โปรแกรมเมอร์ถือได้ว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ไม่ตกงานในยุคโควิด แล้วหลังจากนี้สายโปรแกรมเมอร์จะแรงขึ้นเรื่อยๆเพราะว่าทุกอย่างจะอยู่บนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และโลกออนไลน์ทั้งหมดถ้าคุณอยากทำอะไรสักอย่างเช่นคุณจะเปิดร้านขายของออนไลน์ก็ต้องอาศัยโปรแกรมเมอร์เหมือนกัน อีกทั้งการต่อยอดของสายอาชีพนี้เยอะมากเพราะเนื่องจากสายอาชีพนี้เป็นสายอาชีพที่ยังไงบริษัทหลายแห่งก็ต้องการขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นสามารถต่อยอดตัวของเขาเองได้

Q : ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ 

A : สำหรับพี่เนี่ยคืออันดับแรกต้องถามตัวเองก่อนว่าเราอยากเป็นอะไร ซึ่งปัจจุบันนี้ทุกวันนี้โปรแกรมเมอร์เนี่ยใน YouTube หรือว่า Social Media ต่าง ๆ มีสอนเยอะมากแล้วก็โอกาสของเด็กยุคใหม่เนี่ยมีโอกาสพัฒนาเร็วแล้วก็มีข้อมูลค่อนข้างเยอะมากกว่ายุคพี่ กว่าพี่จะหาความรู้ได้เนี่ยคือพี่ต้องอ่านหนังสือค่อนข้างเยอะเลยแล้วก็ในอินเทอร์เน็ตแทบจะไม่มีคนแชร์ข้อมูลเลยแต่ในปัจจุบันเนี่ยถ้าเกิดเราค้นพบตัวเองแล้วว่า เฮ้ย..ฉันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์จริง ๆ ฉันมีความรักในเรื่องของโปรแกรมเมอร์แต่เราต้องชอบความเป็นโปรแกรมเมอร์แล้วเราต้องถามตัวเองว่าเราสามารถที่จะนั่งเขียนโปรแกรมเนี่ยมากกว่า 10 ชั่วโมงได้ไหมด้วยโปรแกรมเมอร์เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งคืนหนึ่งการทำงานเนี่ยงานหนักในที่นี่คือใช้สมองเยอะสมาธิเยอะความกดดันเยอะ

อย่างความกดดันคือหนึ่งกดดันจากตัวเองแล้วกดดันจากเวลาที่เราได้รับงานมาอีกต่างหาก ซึ่งถ้าเกิดว่าเราตอบโจทย์ว่าเราสามารถทำได้ ถ้าเกิดเรารักในงานใดงานหนึ่งต่อให้งานนั้นยากมาก เราก็จะผ่านมันไปได้ถ้าเกิดว่าชอบจริง ๆ เหมือนตอนที่พี่เขียนโปรแกรมเพราะว่าพี่สามารถอยู่กับงานนี้ได้ เราสามารถอยู่กับมันได้ทั้งวัน เหมือนเราพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ได้เพราะว่าเกิดจากที่เรารักมันถ้าเกิดเราตอบตัวเองว่าเราชอบงานนี้จริง ๆ เราก็ลุยเลยเพราะว่าพี่คิดว่าโปรแกรมเมอร์ไม่ยากแต่ว่าเราจะต้องฝึกเยอะ ๆ

ทุกวันนี้ที่พี่ยังมองว่าพี่ยังต้องพัฒนาอยู่ทุกวันเพราะเนื่องจากว่าระบบเนี่ยมันมีการพัฒนาทุกวันแล้วก็มีอะไรใหม่ๆมาตลอดคือการที่เป็นโปรแกรมเมอร์เนี่ยเราไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้เพราะว่าการเขียนโปรแกรมเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับวันนี้เขียนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงมันไม่สามารถเอาสิ่งที่เรียนเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาใช้กับวันนี้ได้แต่พื้นฐานมันยังคงเดิมอยู่แต่เราต้องรู้จักมันต้องมีการประยุกต์ใช้ให้มันแล้วแต่ยกเว้น Generation ที่มันพัฒนาไปนี่ก็คุยกับตัวเองว่าเอาจริงไหมเราเอาจริง ให้ลุยเลย แล้วสายงานนี้เนี่ยก็อย่างที่ทุกคนเห็นก็คือรายได้ดีแต่ก็แต่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบที่เราต้องรับผิดชอบอย่างมากเลยทีเดียว 
.

.

.

.

วิชาคณิตศาสตร์: เรื่อง ทฤษฎีจำนวนสำหรับ สอวน. คณิต

THE STUDY TIMES X DekThai Online

????วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม

วิชาคณิตศาสตร์: เรื่อง ทฤษฎีจำนวนสำหรับ สอวน. คณิต

โดย ครูพี่ปุ๊ องอาจ สุภัคชูกุล

อดีตตัวแทนคณิตศาสตร์โอลิมปิก นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

#สอนวิชาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ม.ต้น-ม.ปลาย

#DakThaiOnline

https://dekthai-online.com/browse

.

.

วิชา BMAT: เรื่อง แนวข้อสอบ BMAT

THE STUDY TIMES X DekThai Online

????วันอังคารที่ 10 สิงหาคม

วิชา BMAT: เรื่อง แนวข้อสอบ BMAT

โดย ครูพี่จึ๋ง สมนึก สงวนตระกูล

อันดับ 1 สอบ Pre ม.ปลาย ระดับประเทศ

นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น Monbusho

#BMAT เรียนเตรียมสอบแพทย์ Critical Thinking, Problem Solving, Maths & Science

#DekThaiOnline

https://dekthai-online.com/browse

.

.

วิชาชีววิทยา: เรื่อง Neuron

THE STUDY TIMES X DekThai Online

????วันพุธที่ 11 สิงหาคม

วิชาชีววิทยา: เรื่อง Neuron

โดย ครูหมอเมศ กฤษณะ ธรรมศิริ

ปริญญาตรี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

#สอนชีววิทยาม.ต้น-ม.ปลาย

#DekThaiOnline

https://dekthai-online.com/browse

.

.

วิชาดาราศาสตร์: เรื่อง ปรากฏการณ์แสงโลก

THE STUDY TIMES X DekThai Online

????วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม

วิชาดาราศาสตร์: เรื่อง ปรากฏการณ์แสงโลก

โดย คุณน้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี

นักเรียนทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ปริญญาตรี-ปริญญาเอก สหรัฐอเมริกา

#สอนวิชาฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ เตรียมเข้าม.4

#DekThaiOnline

https://dekthai-online.com/instructor/P'NAMWAN

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top