Sunday, 28 April 2024
TheStudyTimes

สถาปัตย์นอกคอก กลายเป็น "ครูโยคะฟลาย" จนได้ดีบนผ้าพริ้ว กับ ครูต้น ธัญณกรณ์ | Click on Crazy EP.2

บทสัมภาษณ์รายการ Click on Crazy EP.2
ธัญณกรณ์ ธิบูรณ์บุญธรณ์ (ครูต้น) 
คุณครูสอนโยคะฟลาย ประสบการณ์กว่า 8 ปี

Q : แนะนำตัวหน่อยค่ะ

A : ครูต้น ธัญณกรณ์ ธิบูรณ์บุญธรณ์ ครับ ปัจจุบันสอนโยคะอยู่ที่สถาบัน Yoga&Me เป็นคลาสโยคะฟลาย คลาสเต้นและคลาสบาร์พิลาทิสครับ จบสถาปัตยกรรมภายใน มีความถนัดในเรื่องของการแสดง และก็พัฒนาตัวเองต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันนี้ครับ เป็นคุณครูมาประมาณ 8 – 9 ปีแล้วนะครับ 

Q : ครูต้นเรียกตัวเองว่าเป็น “สถาปัตย์นอกคอก” อะไรคือคำนิยามของสถาปัตย์นอกคอก และ ทำไมครูต้นถึงเรียกตัวเองแบบนั้น ?

A : ตั้งแต่ในสมัยเด็กมีความสามารถในการวาดรูป ก็เลยมองตัวเองว่าจะมีวิชาไหนบ้างที่เป็นศิลปะและสามารถหาเลี้ยงชีพได้เป็นอย่างดี ก็เลยเลือกที่จะเข้าไปสอบวิชาสถาปัตยกรรม แต่ช่วงแรกก็มีไปสอบวิศวะบ้าง วิทย์-คอม บ้างแต่สุดท้ายแล้วก็เลือกเรียนสถาปัตยกรรมภายใน 

ส่วนสถาปัตย์นอกคอกคือ ในช่วงระหว่างที่เรียนก็มีไปทำงานเพิ่มเติมบ้าง ก็เลยเอาความสามารถส่วนตัวอย่างเรื่องของการแสดงไปหารายได้เพิ่ม กลายเป็นเด็กสถาปัตย์ที่ตอนเช้าไปเรียน พอกลางคืนก็ต้องไปทำงานการแสดง ทำให้การใช้ชีวิตของเราแตกต่างจากเด็กสถาปัตย์คนอื่น ๆ มีวงจรของตัวเองในการทำงาน นอนวันล่ะ 3-4 ชั่วโมง ต้องรีบทำงานให้เสร็จ ส่งการบ้าน ทักษะที่ได้จากการเรียนสถาปัตยกรรมเลยมีเพียงแค่การวาดรูป 

Q : จากการเป็น “สถาปัตย์นอกคอก” สู่การเป็น ครูสอนโยคะฟลาย จุดเริ่มต้นเป็นอย่างไร ?

A : หลังจากที่เรียนสถาปัตย์มาก็ได้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับงานอีเวนต์ จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้เอางานของตัวเองไปขายลูกค้า โดยตัวเองนั้นทำทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่องค์ประกอบงานต่าง ๆ รูปแบบเวที สคริปต์พิธีกร เป็นงานอีเวนต์ใหญ่ ทำอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายได้กำไรมาน้อย เลยรู้สึกว่าตัวเองอาจจะไม่เหมาะกับงานนี้ เลยออกมาทำงานการแสดงได้แสดงมาเรื่อย ๆ และได้ไปออดิชั่นละครเวที ฟ้าจรดทรายเดอะมิวสิคเคิล และได้ไปอยู่ค่ายละครเวที Dreambox

และมีผู้ใหญ่ได้เข้ามาดูเหล่านักแสดงที่มีประสิทธิภาพ performance ดีให้ทุนไปเรียนเพื่อเป็นคุณครูสอนโยคะฟลาย ต้องมีการสอบเป็นคุณครูโยคะฟลาย โดยตัวเองเป็นคุณครูช้าที่สุด เพราะตอนแสดงละครหรือตอนเรียนโยคะฟลายเราสามารถจัดตัวเองได้ แต่พอเป็นคุณครูจะต้องอธิบายนักเรียน เราไม่ยอมพูด จนผู้ใหญ่บอกให้พูดให้อธิบายกับนักเรียนหน่อย ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเพื่อที่จะได้ฝึกฝนการเป็นคุณครู พิสูจน์ตัวเองว่าตัวเองสามารถทำได้ เมื่อเราสะสมประสบการณ์จากการ performance ความสร้างสรรค์บวกกับการเป็นคุณครูรู้วิธีการพูด ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นอิสระทางด้านความคิด ทำให้เราได้คิดค้นท่าทางต่าง ๆ มากมาย และโชคดีที่มีคนสนับสนุน นักเรียนก็ชื่นชอบ ถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับตัวเองมาก ๆ อย่างหนึ่ง

Q : คำว่า “โยคะ” และ “โยคะฟลาย” แตกต่างกันอย่างไร ในความคิดของครูต้น 

A : พื้นฐานหลัก ๆ เป็นเรื่องของร่างกาย โยคะฟลายเป็นการฝึกร่างกายโดยการใช้อุปกรณ์ในเบื้องต้น เราคุมร่างกายตัวเองและใช้อุปกรณ์เป็น ในสตูดิโอจะมีระดับชั้นในการเรียน เรียนรู้การควบคุมตัวเอง ในแต่ละระดับ 

Q : คลาสหนึ่งของครูต้นมีนักเรียนเยอะไหมคะ ?

A : มีประมาณ 12 – 16 คนครับ ในแต่ละช่วง ช่วงที่เราไปทำงานเราเป็นรุ่นที่ 2 ของสถาบัน Yoga&Me ที่มาสอน เราค่อนข้างที่จะบุกเบิกในเรื่องของการสอนโยคะฟลาย ในช่วงยุคนั้นจะเป็นที่นิยมและมีการพัฒนาการสอนมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่พื้นฐานจนไปถึงโยคะฟลายประกอบเพลงด้วย 

Q : ถ้านักเรียนไม่สามารถทำท่าโยคะฟลายตามที่เราสอนได้ หรือ มีการหมดกำลังใจ ไม่มีสติในการเรียน ครูต้นมีวิธีการอย่างไร ? 

A : การเป็นคุณครูทำให้เรามีประสบการณ์ในการสอนมาก ทำให้เรารู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างมากน้อยเพียงใด บางคนต้องการความเอาใจใส่เราก็จะไปอยู่ใกล้ ๆ ให้นักเรียนรู้สึกอุ่นใจ ถ้านักเรียนยังไม่พร้อมที่จะทำ เราจะเข้าไปสอนใกล้ ๆ ไม่ให้กดดันกับคลาส ให้นักเรียนฝึกและใช้เวลา ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน นักเรียนจะต้องสบายใจกับคุณครู ให้รู้สึกว่าที่นี้เป็นพื้นที่ของนักเรียนให้ได้ ให้นักเรียนมั่นใจ การก้าวเข้ามาเป็นสิ่งใหม่เสมอ ให้กำลังใจนักเรียนทุก ๆ คน

Q : ช่วงนี้มีสถานการณ์โควิดเข้ามาทำให้การสอนโยคะฟลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น ครูต้นมีวิธีการปรับเปลี่ยนทัศนคติอย่างไรกับสถานการณ์แบบนี้

A : ตอนแรกไม่ได้คิดว่าสถานการณ์เกิดขึ้นนานขนาดนี้ ในช่วงแรกที่โควิดเข้ามาเรามีการไลฟ์สอนออกกำลังกายให้นักเรียนได้เห็น และก็ได้เปิดสถาบันสอน พอมาตอนนี้ช่วงสถานการณ์ค่อนข้างยาวนาน เพราะอาชีพที่เราเป็นทั้งคุณครูสอนโยคะฟลาย นักแสดงละครเวที ศิลปะต่าง ๆ เราจะต้องพบปะผู้คนหมดเลย ทำให้เราคิดว่าเราไม่รู้จะทำอะไร เลยเริ่มมีการสอนออนไลน์แต่ความมั่นใจในการสอนกลับลดน้อยลง ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเรา ช่วงโควิดระลอกใหม่เราเก็บตัวถึง 2 เดือน ไม่ยุ่งกับ Social Media เลย สักพักหนึ่งเราเริ่มมีการมองหาอาชีพอื่น ขายของ ทำอาหารขาย และมีการปรึกษากับเพื่อน ๆ  ความมั่นใจกับศักยภาพตัวเองลดน้อยลง

เลยเริ่มมองหางานอดิเรกให้ตัวเองได้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เลยได้มีโอกาสวาดภาพสีน้ำมัน พอวาดสำเร็จก็เกิดความคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา และมีคนชื่นชมยินดี มีคนมาขอซื้อรูปวาดด้วย และก็ได้มีงานวาดรูปต่อมาเรื่อย ๆ และมีการเปิดสอนคลาสเต้น ก็มีคนมาเข้าเรียน เราก็เลยรู้สึกว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรอยู่ พอเรามั่นใจ หลาย ๆ คนก็เปิดโอกาสให้กับเรา งานก็เริ่มมีเข้ามาเรื่อย ๆ เราจะคิดแบบเดิมไม่ได้ เราจะต้องมีความคิด New Normal มาจากสมองของเรา งานแบบไหนที่เราสามารถทำได้ ในช่วงสถานการณ์แบบนี้  เราก็เริ่มมีการจัดฟังก์ชันบ้าน ทำความสะอาดห้อง จัดของต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ทำให้ระบบความคิดของเรามีศักยภาพ แบ่งปันประสบการณ์ พูดคุยกับผู้คนใน Social Media เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน 

Q : แล้วถ้าคนที่กำลังท้อ หรือ หมดกำลังใจ ครูต้นอยากฝากอะไรให้กับผู้คนเหล่านั้น 

A : เราอาจจะแนะนำวิธีกับใครไม่ค่อยได้ แต่เราจะแนะนำวิธีของเรา เริ่มต้นจากการจัดฟังก์ชั่นของตัวเองง่าย ๆ เช่นการทำบ้านให้สะอาด พอเราไม่รู้ว่าตัวเองจะออกจากจุดนี้ยังไง วิธีนี้มาจากตอนเรียนสถาปัตย์คือให้เราวาด Mind Mapping แบ่งออกมา ตัวเราทำอะไรได้บ้าง แตกแขนงออกไป แล้วตัวที่เราทำอะไรได้บ้างแล้วเราจะทำอย่างไรในตอนนี้ ลิสต์มันออกมาให้เห็นเป็นภาพ

ถ้าคุณยังไม่มั่นใจที่จะไปพูดคุยกับใครให้เขียน Mind Mapping ของตัวเองดูก่อน เราพอจะทำอะไรได้บ้างจากศักยภาพของตัวเราเอง และเราจะทำอะไรเพิ่มได้บ้างจากศักยภาพใหม่ที่คุณอยากเรียนรู้ ทำอาหาร ถ่ายรูป หรือ ขายของ ให้เราจำแนกออกมา จะทำให้เราเห็นตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่าพะวงอยู่ในหัวของตัวเอง ให้มันกระจายออกมา ถ้ายังไม่ได้จริง ๆ ให้คุณเดินออกไปจากในห้อง แล้วก็มองกว้าง ๆ ออกไป สูดอากาศให้ลึก ที่กล่าวมาทั้งหมดเริ่มจากตรงไหนก็ได้ แต่ขอให้คุณออกจากตัวเองไปก่อน ถ้าคุณทำได้คุณจะเห็นช่องทางหลาย ๆ ทางและจะมีคนรอซัพพอร์ตเราอยู่ เราก็ต้องส่งความรัก และ กำลังใจกลับไปให้ด้วย 

Q : ครูต้นมีความฝันอะไรต่อจากนี้ 

A : สิ่งแรกเลยคงจะสอนออนไลน์ต่อไป มีลูกศิษย์คนหนึ่งจะไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วบอกให้เราสอนออนไลน์ต่อไปเพื่อเป็นช่องทางในการออกกำลังกาย เราจะได้เจอกันต่อไปเรื่อย ๆ เราอยากที่จะให้ช่องทางออนไลน์เจริญต่อเรื่อย ๆ ให้มีลูกศิษย์กระจายกว้างมากขึ้น จะตั้งใจทำแบบเดิมแม้มีนักเรียน 2 คน 5 คนหรือ 10 คน เราทำออนไลน์แบบนี้ทำให้เรารู้สึกสร้างความอบอุ่นขึ้นมาได้ จะใส่ใจในทุกรายละเอียดที่เจอกัน จะเป็นครูที่ดีมากคนหนึ่ง ในส่วนของออนไลน์ จะพัฒนาต่อยอดไป

ในอนาคตก็คงสร้างคลาสออนไลน์จากความถนัด อาจจะเปิดฟรีก่อนให้นักเรียนมั่นใจในตัวผู้สอนหลังจากนั้นจะเปิดหารายได้อะไรก็ว่ากันไป ส่วนเรื่องของศิลปะเราก็จะไม่ทิ้ง หลังจากที่เราทิ้งไว้มา 10 ปี ปรากฎว่าเรากลับมาทำแล้วมีคนซัพพอร์ตเราขึ้นมา เราก็จะต่อยอดไปเรื่อย ๆ อาจจะวาดด้วยมือหรือวาดลงคอมพิวเตอร์ จะลองทำต่อไปในช่วงแรกที่เราได้ เราอาจจะไม่เก่งในทางด้านธุรกิจแต่คงจะมีการถ่ายทอดต่อ ๆ ไปได้จากศักยภาพที่เรามีและจะมีประโยชน์กับคนทั่วไปได้ด้วยครับ 

สนใจเรียน โยคะฟลาย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.yogaandme.net/

.

.


.

โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎีความรัก 3 องค์ประกอบ ซึ่งได้แก่ ความใกล้ชิด ความหลงใหล และการผูกมัด จากองค์ประกอบนี้สามารถแยกความรักได้เป็น 7 รูปแบบ

เคยสงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าแท้จริงแล้วความรักในชีวิตคนเรามีกี่รูปแบบ สามารถอธิบาย แบ่งแยกได้จากอะไร ผู้เขียนมีโอกาสได้ศึกษาและอ่านบทความที่น่าสนใจ อธิบายถึงนิยามความรัก 7 รูปแบบตามหลักจิตวิทยา 

หากถามว่า รักคืออะไร? แน่นอนว่านักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์พยายามตอบคำถามนี้มาเป็นเวลาหลายปี ในช่วงปี 1986 โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎีความรัก 3 องค์ประกอบ หรือที่ตั้งชื่อว่า ‘สามเหลี่ยมความรัก’ (triangular theory of love) ซึ่งได้แก่ ความใกล้ชิด ความหลงใหล และการผูกมัด จากองค์ประกอบนี้เอง สเติร์นเบิร์ก ได้แยกความรักออกเป็น 7 รูปแบบ คือ

1. ความหลงใหล 

ช่วงนี้นั้นเป็นช่วงที่ผู้คนแทบไม่รู้จักกัน แต่รู้สึกถึงแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน ในความสัมพันธ์นี้คนสองคนมักไม่มีความคิดที่ว่าทั้งคู่มีอะไรเหมือนหรือต่างกัน แต่พวกเขาก็ยังคงอยู่ด้วยกัน

2. ความชอบ

ในความสัมพันธ์นี้ คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ตลอดเวลา ความรักประเภทนี้ ผู้คนมักจะอยู่ด้วยกันเพราะมีความสนใจร่วมกัน มีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและความรู้สึกเข้าใจกัน นักจิตวิทยาเชื่อว่าความใกล้ชิดที่ปราศจากความหลงใหลและการผูกมัดจะส่งผลให้เกิดมิตรภาพมากกว่าความรักที่เต็มเปี่ยม

3. รักที่ว่างเปล่า

ความรักประเภทนี้มีเพียงการผูกมัด โดยปราศจากความใกล้ชิดและความหลงใหล บางครั้งความสัมพันธ์ประเภทนี้จะเกิดขึ้นหลังจากความรักที่ยิ่งใหญ่และเร่าร้อน หรือที่เรียกว่า ‘จุดอิ่มตัว’ คนที่พบกับความรักที่ว่างเปล่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือเพิ่มความหลงใหลให้กับความรู้สึกของพวกเขา

4. รักสายฟ้าแลบ

ความรักประเภทนี้ประกอบด้วยการผูกมัดและความหลงใหล เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคู่รักหลาย ๆ คู่ นี่คือความรักที่เกิดขึ้นเมื่อคน 2 คนดึงดูดซึ่งกันและกันจริง ๆ และพร้อมที่จะทำตามประเพณีบางอย่าง เช่น การแต่งงาน การแลกเปลี่ยนคำปฏิญาณ และการแบ่งปันหน้าที่ในบ้าน แต่ไม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมที่แท้จริง

5. ความรักโรแมนติก

ความรักประเภทนี้ประกอบด้วยความหลงใหลและความใกล้ชิด คู่รักรูปแบบนี้ดึงดูดซึ่งกันและกัน และรู้สึกสบายใจที่จะอยู่ข้าง ๆ กัน แต่พวกเขายังไม่พร้อมที่จะให้คำมั่นสัญญาที่จริงจัง ความสัมพันธ์ประเภทนี้มักจะไปไม่ถึงระดับของการอยู่ร่วมกันหรือการแต่งงาน

6. ความรักแบบมิตรภาพ

ความรักแบบเพื่อนประกอบด้วยการผูกมัดและความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ดังกล่าวแน่นแฟ้นกว่ามิตรภาพทั่วไปมากและมีความผูกพันที่แท้จริง เป็นข้อตกลงที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ เพราะความรักประเภทนี้ขาดความหลงใหล นักจิตวิทยากล่าวว่าความสัมพันธ์แบบคู่หูสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากรู้จักหรือแต่งงานกันมานานหลายปี

7. ความรักที่สมบูรณ์

ความรักนี้มีองค์ประกอบครบทั้ง 3 คือ ความหลงใหล ความใกล้ชิด และการผูกมัด ในความเป็นจริงแทบจะไม่เห็นความสัมพันธ์ประเภทนี้ แต่ถ้าผู้คนสามารถสร้างความสัมพันธ์นี้ได้ แสดงว่าพวกเขารักกันอย่างแท้จริง คู่รักเหล่านี้มักจะมีชีวิตที่ยืนยาวด้วยกันและมีความสุขกับชีวิตแต่งงาน

บางครั้งการจัดประเภทความรัก อาจจะช่วยให้คุณมองรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ออกออก และเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับมัน แล้วคุณผู้อ่านเคยพบเจอกับความรักรูปแบบไหนกันมาบ้าง หรือมุ่งหวังให้ความสัมพันธ์ของคุณกับคู่เป็นไปในรูปแบบใด ลองมาแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนพบเจอความรักที่พอดีกับตัวเองค่ะ

เขียนโดย: เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES


ข้อมูลอ้างอิง: https://brightside.me/inspiration-relationships/psychologists-defined-7-types-of-love-and-only-few-people-experience-the-last-one-603360/

เรื่องการเงินถือว่ามีความสำคัญในการเลี้ยงลูกในยุคใหม่ ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษารวมไปถึงค่ากิจกรรมต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรศึกษาและมีการวางแผนการเงินให้ดีเพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อลูก

สิ่งสำคัญที่สุดในการเลี้ยงลูกนอกจากความรัก ความเอาใจใส่ดูแลของคุณพ่อและคุณแม่ เรื่องค่าใช้จ่ายก็ถือว่ามีความสำคัญที่จะต้องดูแลและจัดการให้ดี เพราะในยุคปัจจุบันการเงินถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงลูก ยิ่งโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ควรที่จะมีการวางแผนให้ดี 

คุณแม่อุ้ย กัลยวีร์ โรจน์พัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP และเจ้าของเพจที่ชื่อว่า "การเงินฉบับคุณแม่ต้องรู้" ได้เล่าถึงการจัดสรรเงินค่าใช้จ่ายโดยสิ่งที่ต้องจัดการหลัก ๆ มีดังต่อไปนี้ 

1.) การจัดสรรเงินเป็นก้อน ๆ แยกค่าใช้จ่ายออกมาเป็นหลาย ๆ ส่วน ที่เราจะต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารต่าง ๆ เงินเก็บที่จะต้องออม และ ค่าใช้จ่ายเรื่องลูก อาจจะมีการวางแผนเขียนออกมาเป็นสัดส่วนเพื่อให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือของเราก็จะมีแอพลิเคชันรายรับ รายจ่าย รวมไปถึงแอพลิเคชันธนาคารจะทำให้เราได้เห็นรายรับรายจ่ายที่ชัดเจน 

2.) แยกบัญชีที่เป็นธุรกรรมทางการเงินสำหรับลูกโดยเฉพาะ การมีบัญชีเก็บเอาไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในเรื่องลูกจะทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่สามารถมีเงินเก็บในส่วนนี้ แยกออกไปจากค่าใช้จ่ายปกติได้ โดยบัญชีนี้อาจจะรวมพวกค่าเทอม ค่ากิจกรรมต่าง ๆ ของลูก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้เห็นภาพโดยรวมชัดเจนว่าในแต่ละเดือนลูก ๆ ของคุณมีค่าใช้จ่ายเท่าไร และเราสามารถออมเงินเพื่อเก็บไว้ให้ลูกจากบัญชีที่เป็นธุรกรรมทางการเงินของลูกโดยเฉพาะได้ อาจจะโอนเป็นรายเดือนเก็บเอาไว้

3.) ทำตารางค่าใช้จ่ายของลูก การศึกษาเปรียบเทียบค่าเทอม หรือ ค่ากิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้คุณพ่อและคุณแม่ได้ทราบว่าถ้าลูกจะต้องเรียนในโรงเรียนแห่งนี้จะต้องเสียค่าเทอมเท่าไร หรือ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เราจะได้คำนวณและวางแผนทางการเงินได้อย่างง่ายและดียิ่งขึ้น เช่น ถ้าเราต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนที่มีการเรียนแบบ English Program จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเท่าไร การเรียนพิเศษในแต่ละที่มีค่าใช้จ่ายเท่าไร เป็นต้น 

นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะวางแผนเรื่องการเงินให้กับลูก ๆ แล้ว คุณแม่อุ้ย ยังให้แนวทางปฏิบัติกับคุณพ่อคุณแม่ให้ปลูกฝังในเรื่องของการออมเงินหรือการประหยัดให้กับลูก ๆ ได้อีกด้วยเช่นการอ่านหนังสือนิทาน หรือ การฝึกให้ลูกหยอดกระปุกออมสินเพื่อที่จะได้ซื้อของที่อยากได้ ฝึกการออมให้เป็น ทำทุกวันเป็นนิสัย หรือมีกิจกรรมสนุก ๆ เช่นการเล่นบทบาทสมมุติเป็นคนขายของเพื่อฝึกการคิดเลข ต่อยอดเป็นการรู้จักให้ลูกรู้ในเรื่องของการหาเงินแต่ละบาทมีความยากมากแค่ไหน 

การปลูกฝังลูกในเรื่องของการวางแผนการเงิน การออมเงินตั้งแต่เล็ก ๆ ก็จะทำให้ลูกมีความรู้และฝึกความคิดในเรื่องของการบริหารทางการเงิน โดยทั้งหมดจะต้องเริ่มต้นจากพฤติกรรมของคุณพ่อและคุณแม่ เริ่มปรับที่ตัวของเรา การวางแผนทางการเงินก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป 


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : วางแผนทางการเงิน เรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่มือใหม่
Link : https://www.facebook.com/foryourchildz/videos/362360858805105
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: สถาพร สุตจิตจูล 
 

“โรคไมเกรน” ถือว่าเป็นโรคที่คนไทยหลาย ๆ คนเป็น เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองมีการหดตัว ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียว ต้องทานยาสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้หลาย ๆ คนก็สามารถเป็นโรคไมเกรนเทียมได้อีกด้วย !

'โรคไมเกรน' หรือ การปวดหัวข้างเดียว เกิดจากความผิดปกติในการหดตัวของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง มักเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ แต่อาจมีตัวกระตุ้น เช่น แสง สี เสียง กลิ่น อากาศร้อน หรือการมีประจำเดือน มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือปวดสลับข้างกัน หากเป็นมากจะเห็นแสงจ้าหรือแสงระยิบระยับร่วมด้วย ซึ่งการปวดหัวไมเกรนมักดีขึ้นได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ (ยาพาราเซตามอลไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น)

อย่างไรก็ตามหากรับประทานยารักษาไมเกรนแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจเกิดจาก 'ไมเกรนเทียม' แฝงอยู่ก็เป็นได้ !! 

ไมเกรนเทียมไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง แต่เกิดจากการเกร็งตัว หรือหดสั้นของกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า และฐานกะโหลกศีรษะ โดยกลุ่มกล้ามเนื้อที่มักก่อให้เกิดการปวดคล้ายไมเกรนพบได้หลายมัด เช่น Suboccipital, Upper trapezius, Semispinalis capitis, Splenius capitis, Sternocleidomastoid Muscle ซึ่งกล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หลักในการพยุงกะโหลกศีรษะ การหันหน้า และการก้มเงยคอ 
เนื่องจากกล้ามเนื้อเหล่านี้มีจุดเกาะอยู่ที่กระดูกสันหลังส่วนคอและฐานกะโหลก

เมื่อเกร็งคอและบ่าเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการปวดสะสมขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงอาจแยกไม่ออกว่าอาการปวดหัวข้างเดียวเกิดขึ้นเกิดจากไมเกรนเทียมหรือไม่

ทั้งนี้ ไมเกรนเทียมสามารถพบได้บ่อยไม่ต่างจากไมเกรนแท้!! แต่สามารถสังเกตได้!! 

วิธีสังเกตอาการของไมเกรนเทียม สังเกตได้จากเมื่อเกิดการปวดหัวข้างเดียว ขณะที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือ มือถือ รวมถึงการทรงท่าที่ผิดปกติ เช่น ไหล่ห่อ คอยื่น เป็นต้น 

นอกจากนี้ไมเกรนเทียมยังสามารถพบจุดกดเจ็บ (Trigger Point) หรือกล้ามเนื้อที่เกร็งค้างบริเวณคอ บ่า และใต้ฐานกะโหลก ซึ่งเมื่อทำการกด นวด หรือยืดกล้ามเนื้อมัดดังกล่าว อาจมีการปวดร้าวไปยังบริเวณต่าง ๆ 

ส่วนวิธีป้องกันไมเกรนเทียมที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องนั่งนาน ๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อมีการเกร็งและนำไปสู่การบาดเจ็บได้ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้... 

>> หากต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงานควรจัดระดับหน้าจอ เก้าอี้ และคีย์บอร์ดให้เหมาะสม ควรเป็นเก้าอี้ที่มีที่รองแขน เพื่อให้ไม่ต้องออกแรงยกไหล่ขึ้นตลอดเวลา ปรับระดับหน้าจอ และความสูงของเก้าอี้ 

>> ใส่แว่นสายตาและจัดแสงสว่างให้เหมาะสมกับการทำงานประเภทต่าง ๆ เพราะการต้องเพ่งมองมาก ๆ ทำให้กล้ามเนื้อคอ บ่า และฐานกะโหลกเกร็งตัวมากขึ้น

>> เปลี่ยนอิริยาบททุกชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย หรือดื่มน้ำ 1-2 แก้วทุกชั่วโมงทำให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบทและเดินไปเข้าห้องน้ำอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ระหว่างวันควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่อย่างสม่ำเสมอ ดังต่อไปนี้... 

ยืดกล้ามเนื้อบ่า 

เริ่มจากนำแขนข้างที่จะยืดไปไว้ด้านหลัง แล้วใช้มืออีกข้างจับไว้ โดยเอียงศีรษะไปด้านตรงข้าม ช้า ๆ เอียงจนรู้สึกตึงบ่าด้านขวา หรือให้หูซ้ายเข้าใกล้บ่าซ้ายมากที่สุด หากยังไม่รู้สึกตึงให้หมุนหน้าไปทางซ้ายหรือขวาเล็กน้อย ยืดค้าง 5-10 วินาที รอบละ 10-15 ครั้ง

บริหารกล้ามเนื้อฐานกะโหลก

ทำท่าเก็บคาง หรือพยายามเอาคางชิดอกโดยไม่ก้มคอ ห้ามกลั้นหายใจขณะทำ เกร็งค้างเบา ๆ 5-10 วินาที ทำรอบละ 10-15 ครั้ง

บริหารกล้ามเนื้อต้นคอ

...นอนคว่ำ ให้ช่วงอกยื่นออกจากเตียงเล็กน้อย

เก็บคาง ไม่เงยหน้า แต่ให้ออกแรงยกช่วงศีรษะขึ้นมาตรงๆ เกร็งกล้ามเนื้อด้านหลังคอค้างไว้ 5-10 วินาที ทำรอบละ 10-15 ครั้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปวดหัวข้างเดียวหรือไมเกรนและรับการรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เพราะอาจพบไมเกรนเทียมร่วมด้วยนั้น

เราจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจประเมินและรักษาไมเกรนเทียม โดยการรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดี เช่น การประคบร้อนหรือเย็นตามระยะของอาการ การกดจุดหรือยืดกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหา การใช้คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ทางกายภาพบำบัด ร่วมกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเฉพาะจุดและการปรับท่าทางในชีวิตประจำวัน จะช่วยลดปัญหาไมเกรนเทียมได้เป็นอย่างดี

.

เขียนโดย: กภ.อุสา บุญเพ็ญ ปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต พัฒนาการมนุษย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของคลินิกกายภาพบำบัด และเพจสุขภาพดี


ข้อมูลอ้างอิง
http://www.kulpphysicaltherapy.com/headache.html
https://kokyun.wordpress.com/2011/10/10/the-correct-sitting-posture-in-front-of-a-computer/
https://www.thonburihospital.com/Migraine.html
https://i.pinimg.com/originals/b0/80/90/b080902f6d514f13cd01408a57ff36dc.jpg
https://www.rehabmypatient.com/neck/splenius-cervicis
https://salusmt.com/saturday-stretch-the-suboccipital-group/

เมื่อเราอายุเริ่มมากขึ้น ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้นแต่เรื่องง่าย ๆ ที่หลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามไป ”อุบัติเหตุจากการหกล้ม” ซึ่งนอกจากจะเกิดอาการบาดเจ็บแล้วอาจส่งผลถึงระบบภายใน ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านคน ซึ่งนับเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด จึงถือว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged society) ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น, อิตาลี, เยอรมันและสวีเดน

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ, ความแข็งแรงเริ่มถดถอย, การทรงตัวแย่ลง จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การล้มเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องย้ายจากบ้านไปอยู่สถานพักฟื้น รวมถึงสภาพจิตใจและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการล้มมากถึงร้อยละ 28-35 และผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการล้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32-42 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตจากการล้มสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย

ทำไมผู้สูงอายุถึงล้ม

1.) มีปัญหาเรื่องการทรงตัว
2.) มีความบกพร่องทางการมองเห็น
3.) มีปัญหากระดูกสันหลังหรือหลังค่อม ทำให้ไม่สามารถยืดลำตัวตรง
4.) เป็นโรคความดันโลหิตหรือกินยาบางชนิดที่ส่งผลต่อความดันโลหิต
5.) กล้ามเนื้อขาและสะโพกไม่แข็งแรง

วิธีป้องกันและแก้ไขเบื้องต้น

1.) พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและแก้ไขปัญหาการทรงตัวที่เกิดจากทางกระดูกหูชั้นใน 
2.) แก้ไขปัญหาสายตา เช่น การตัดแว่นสายตาให้เหมาะสม
3.) เปลี่ยนอิริยาบทบ่อยๆ ไม่นั่งหลังค่อมเป็นระยะเวลานาน
4.) ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคความดันโลหิต
5.) ออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาและสะโพก โดยใช้เก้าอี้เป็นอุปกรณ์ช่วยในการออกกำลังกาย ดังนี้

ท่าที่ 1

เขย่งเท้า : ค้าง 10 วินาที ทำซ้ำ 20 ครั้ง

กระดกเท้า : ค้าง 10 วินาที ทำซ้ำ 20 ครั้ง

ท่าที่ 2     

ย่ำเท้า ซ้าย-ขวา สลับกัน

ยกขาขึ้น ค้าง 10 วินาที แล้วสลับข้าง ทำซ้ำ 40 ครั้ง (ข้างละ 20 ครั้ง)

ท่าที่ 3

แกว่งขาไปด้านหน้า ค้างไว้ 10 วินาที แล้วแกว่งไปด้านหลัง ค้างไว้ 10 วินาที ตัวตรง หลังตรง ทำซ้ำข้างละ 20 ครั้ง

ท่าที่ 4 กางขาออกด้านข้าง ซ้าย-ขวาสลับกัน

กางขา ค้างไว้ 10 วินาที แล้วเปลี่ยนข้าง

ตัวตรง หลังตรง ทำซ้ำข้างละ 20 ครั้ง

การออกกำลังกายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อขาและสะโพก เมื่อออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยฝึกการทรงตัวและป้องกันการล้มในผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้ลูกหลานต้องให้ความรัก ความห่วงใย ดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงจิตใจให้ท่านมีชีวิตอยู่กับเราไปอีกนาน

.

เขียนโดย:  กภ. วิชญดา มาเสถียร
นักกายภาพบำบัด ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล 


ข้อมูลอ้างอิง 
12 Best Elderly Balance Exercises For Seniors to Help Prevent Falls – ELDERGYM®
หกล้มในผู้สูงอายุ อันตรายกว่าวัยอื่นหลายเท่าตัว ปัญหาที่ต้องระวัง • RAMA Channel (mahidol.ac.th)

????พบกับรายการใหม่ "คุยกับพี่อ๊อด" คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว

????พบกับรายการใหม่ "คุยกับพี่อ๊อด"

"คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว"

✨พูดคุยกับ 'พี่อ๊อด' วิทยากรด้านการศึกษา เผยเทคนิคพิชิตโรงเรียนดัง ในช่วง “คุยกับพี่อ๊อด” 

♦️ พบน้องชมพู่ ช่วง'ลมตะวันออก' ความรู้ดีดีและข่าวสาร จาก โลกตะวันออก ทุกวันเสาร์ต้นรายการ

♦️พบน้องน้ำฟ้า ช่วง 'Easy English with น้ำฟ้า' ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว ทุกวันอาทิตย์ต้นรายการ 

✔️ เริ่มตอนแรก 
????เสาร์ที่ 21 ส.ค.64    
EP.1  เจาะลึก เข้า“โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” สุดยอดเด็กวิทย์ของไทย

????อาทิตย์ที่ 22 ส.ค.64
EP.2  ทำไม ใครๆ ก็อยากเข้าเตรียมอุดมฯ

????ดำเนินรายการโดย (กันต์) ธนพัฒน์ แจ่มปรีชา
.
⏰ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 2 ทุ่มตรง 

????ช่องทางรับชม 
Facebook และ YouTube: THE STUDY TIMES

????คุยกับพี่อ๊อด "คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว" EP.1

????คุยกับพี่อ๊อด "คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว"  

EP.1 เจาะลึก เข้า “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” สุดยอดเด็กวิทย์ของไทย

????พบ (พี่อ๊อด) กิตติเชษฐ์ เกื้อมา วิทยากร

????(กันต์) ธนพัฒน์ แจ่มปรีชา ผู้ดำเนินรายการ

????น้องชมพู่ ช่วง 'ลมตะวันออก' ความรู้ดีดีและข่าวสาร จาก โลกตะวันออก 

⏰วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม เวลา 2 ทุ่มตรง !

ติดตามรายการที่ช่อง THE STUDY TIMES
????Facebook : https://www.facebook.com/thestudytimes/
????YouTube : https://youtube.com/channel/UC2Sf0rVFuuSU2aQ5ioU34Lg
????TikTok : https://www.tiktok.com/@thestudytimes

.

.

????คุยกับพี่อ๊อด "คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว" EP.2

????คุยกับพี่อ๊อด "คุยง่ายๆ เรื่องการศึกษาใกล้ตัว"  

EP.2 ทำไม ใครๆ ก็อยากเข้าเตรียมอุดมฯ

????พบ (พี่อ๊อด) กิตติเชษฐ์ เกื้อมา วิทยากร

????(กันต์) ธนพัฒน์ แจ่มปรีชา ผู้ดำเนินรายการ

????น้องน้ำฟ้า ช่วง 'Easy English with น้ำฟ้า' ภาษาอังกฤษง่ายนิดเดียว 

⏰วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม เวลา 2 ทุ่มตรง !

ติดตามรายการที่ช่อง THE STUDY TIMES
????Facebook : https://www.facebook.com/thestudytimes/
????YouTube : https://youtube.com/channel/UC2Sf0rVFuuSU2aQ5ioU34Lg
????TikTok : https://www.tiktok.com/@thestudytimes

.

ทำไมคนมากมายถึงมีปัญหาการเงินเพิ่มมากขึ้นทุกปี เป็นไปได้ว่าผู้คนเหล่านั้นอาจมีลักษณะนิสัยบางอย่างที่ ‘ยิ่งทำ ยิ่งจน’ นิสัยเหล่านั้นเป็นแบบไหน? มีอะไรบ้าง? และจะแก้ไขได้อย่างไร?

ต้องยอมรับว่าหลายคนกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องการเงินอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่มีอัตราหนี้สินครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในทุกปี แล้วทำไมคนมากมายถึงมีปัญหาการเงินเพิ่มมากขึ้นทุกปี เชื่อได้เลยว่าทุกคนพยายามที่จะแก้ปัญหา ปรากฏว่าหนี้สินก็ยังไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น มันเป็นเพราะอะไร? 

เป็นไปได้ว่าผู้คนเหล่านั้นอาจมีลักษณะนิสัยบางอย่างที่ยิ่งทำ ยิ่งจน อยู่นั่นเอง แต่คนส่วนใหญ่ทำไปโดยไม่รู้ตัว วันนี้ผู้เขียนจะมาชี้แจงแถลงไขให้ทราบกันว่า นิสัยเหล่านั้นเป็นแบบไหน? มีอะไรบ้าง? และจะแก้ไขได้อย่างไร?

1. ใช้เงินไม่ยั้งคิด เห็นอะไรก็อยากได้ไปหมด วัน ๆ คิดถึงแต่วิธีใช้เงิน นั่งดูมือถือ เป็น FC Shopee Lazada นิสัยจ่ายไว ไม่ยั้งคิด ถือเป็นนิสัยที่เป็นสาเหตุหลักทำให้คนเรามีปัญหาด้านการเงิน หามาได้เท่าไรก็จ่ายจนหมด พอหมดแล้วก็เริ่มต้นหาใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะหันไปพึ่งบัตรเครดิต หรือ บัตรกดเงินสด ชีวิตก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ ถ้าเกิดช่วงไหนมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน ทั้งชีวิตก็จะกลายเป็นคนมีหนี้สินตลอด 

วิธีแก้ไข 

- ฝึกการยับยั้งชั่งใจ
- พิจารณาก่อนซื้อ สัก 3-4 วัน ความอยากจะลดลง
- การซื้อครั้งนี้ส่งผลกระทบต่องบจำเป็นในส่วนอื่นไหม 

2. คาดหวังกับสิ่งที่เลื่อนลอย รอคอยแต่โชคชะตา ชอบซื้อหวย ซื้อลอตเตอรี่ ใช้เกมพนันเพื่อหวังรวย ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้ ซึ่งถ้าจะลองมองย้อนไปดูตามสถิติ มีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถูกรางวัลใหญ่ ๆ จนร่ำรวย ส่วนคนอีกมหาศาลนั้นเสียเงินแต่ละงวดหลายพันไปเปล่า ๆ โดยที่ไม่ได้อะไรกลับมา รวมกันปีหนึ่งเสียเงินนับหมื่นกันเลยทีเดียว 

วิธีแก้ไข

- เอาเงินส่วนที่ซื้อหวย หรือลอตเตอรี่มาเก็บเป็นเงินออมจะดีกว่าไหม
- ตั้งใจเก็บเงิน 10% ของรายได้ ทุกเดือน ไม่ต้องรอมีเงินก้อนแล้วค่อยเก็บ แบบนั้นไม่ได้เก็บแน่นอน

3. วิถีชีวิตหรูหราเกินตัว หน้าใหญ่ ใจโต ทั้ง ๆ ที่มีรายได้ทางเดียวอย่างจำกัด บางคนมีความอยากได้อยากมีเกินรายได้ที่ตัวเองได้รับ เห็นคนอื่นมีของแพง ๆ ก็อยากได้บ้าง เพื่อหน้าตา เพื่ออวดคนอื่นว่าตัวเองก็มีนะ คุณมีได้ฉันก็มีได้ คุณซื้อได้ฉันก็ซื้อได้ เอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เขามีโอกาสมากกว่า โดยที่ไม่ได้มองเงินในกระเป๋าตัวเองเลย แล้วถ้าเงินไม่มีจะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องใช้บัตรเครดิตสิสะดวกดี ไม่ต้องเสียเงินสดแค่รูดปรื๊ดดด เดียว เดี๋ยวก็ได้ของมาแล้ว โดยไม่คิดคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะถาโถมเข้ามาให้คุณแทบล้มทั้งยืนในภายหลัง

วิธีแก้ไข

- ฝึกยับยั้งชั่งใจ อย่าตกเป็นทาสกิเลส
- พิจารณา ใคร่ครวญไตร่ตรอง ก่อนซื้อ 
- ศึกษาวิธีการใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด

4. ขาดความรู้เรื่องการเงิน เรื่องตัวเลขเป็นเรื่องน่าเบื่อ น่าปวดหัว ไม่อยากสนใจ มีเท่าไหร่ก็ใช้ ๆ ไป จึงทำให้ขาดการวางแผนในการใช้เงิน เงินหมดตั้งแต่กลางเดือนบ้าง สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ เงินสำรองฉุกเฉินไม่มี เงินเก่าหมดไป เงินใหม่ยังหาไม่ได้ ขาดสภาพคล่อง ทำให้ชีวิตติดขัดตลอดเวลา

วิธีแก้ไข

- การวางแผนเรื่องเงิน ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ประจำวัน ช่วยทำให้คุณรู้ความเคลื่อนไหวของสถานะการเงินของคุณ
- ควรหาที่ปรึกษาทางด้านการเงิน ให้มาช่วยจัดการ ป้องกัน ก่อนเกิดปัญหา

5. ไม่คิดถึงอนาคต ใช้ชีวิตไปวันๆ การไม่มีเป้าหมายในชีวิตนั้น จะส่งผลในแง่ลบต่อตัวคุณเองแน่นอน เพราะจะทำให้คุณใช้ชีวิตไปวัน ๆ มีเงินเท่าไหร่ก็ใช้ไปโดยไม่คิด ไม่รู้จักเก็บออม ไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ชีวิตหลังเกษียณ กลายเป็นคนกินอยู่อย่างลำบากตอนชีวิตบั้นปลาย หรือในเบื้องต้น อาจมีทัศนคติที่ไม่ดีกับความรวย เช่น “คนรวยไม่เห็นจะมีความสุข” หรือ “รวยไปก็แค่นั้น ตายไปก็เอาไปไม่ได้” พอมี Mindset แบบนี้จึงขาดเป้าหมายในทางปฎิบัติในการขยันหาและขยันเก็บ

วิธีแก้ไข

- ตั้งเป้าหมายให้กับชีวิต เป็นเป้าหมายระยะสั้นๆ ก่อน เช่น เก็บเงิน 10% ของรายได้ ทุกเดือน
- ลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ภายใน 3 เดือน
- วาดภาพชีวิตในอนาคต คุณต้องการใช้ชีวิตแบบไหน ที่ไหน ท่องเที่ยวอย่างไร กับใคร 

ผู้เขียนเชื่อว่าบทความนี้จะสะท้อนภาพชีวิตของคุณได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้ว่าที่ผ่านมาเราผิดพลาดเรื่องใด จะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อให้ชีวิตมีอนาคตที่สดใสกันทุกคน

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://www.moneyguru.co.th/lifestyle/articles/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%99/
https://chookde.com/9-%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%99-%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87/
https://aommoney.com/stories/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/poor-people-behavior/2341#ksjt4nmj90

ผู้ที่เรียนลัดและก้าวไปสู่การเป็น 'สื่อพลเมือง' นั้น มักจะมีข้อเสียสุดยิ่งใหญ่จากความเชื่อมั่นในวิจารณญาณของตนจนไร้ขอบเขต สิ่งนั้น คือ ความรู้ด้านจริยธรรม หรือจรรยาบรรณของสื่อมวลชน!!

คำว่า 'สื่อพลเมือง' อาจฟังดูไม่ชัดเจนหรือดูเข้าใจง่ายเท่ากับคำว่า 'สื่อภาคประชาชน' หรือ 'นักข่าวประชาชน'

แต่คำๆ นี้เริ่มมีบทบาทกับโลกของสื่อยุคใหม่ โดยบางครั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนักข่าวเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะทำเพราะเป็นกิจกรรมที่ชอบโดยส่วนตัว หรือด้วยความรู้สึกท้าทายว่าตนทำหน้าที่เสนอข่าวและข้อมูลได้ดี จนหวังการอวยยศให้เป็น 'นักข่าวอิสระ' ก็ตามนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมแอบห่วง!! 

สื่อพลเมือง สามารถเสนอเนื้อหาได้อย่างมีอิสระ ไม่มีใครควบคุมหรือกลั่นกรองข้อมูล

สื่อพลเมือง สามารถนำเสนอเรื่องราวได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งทางวิทยุ, ทีวี, พอดแคสท์, ยูทูบ, โซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ, บล็อกและเว็บไซต์

สื่อพลเมือง อาจทำงานลำพัง หรือมีผู้ร่วมงานและทีม ช่วยกันคิดรูปแบบ คอนเทนต์ และสไตล์อันจะสร้างความแตกต่างให้ตนเด่นขึ้นมา

สื่อพลเมือง เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันที่หามาได้ในราคาไม่แพง ทำให้ความฝัน ที่อยากเป็น 'สื่อพลเมือง' กลายเป็นจริงได้ง่ายกว่าแต่ก่อน เช่น กล้องจากโทรศัพท์มือถือ มีคุณภาพสูงพอเพียงทั้งสำหรับภาพนิ่งและภาพวิดิโอ ซอฟท์แวร์ตัดต่อภาพและเสียง ที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อแบบจัดเต็ม ก็สร้างลูกเล่นจากฟังก์ชั่นที่สามารถผลิตคลิปวิดิโออันเร้าใจและอยู่ระดับมาตรฐานสากลได้ 

สื่อพลเมือง สามารถเพิ่มพูนทักษะของตนได้จากการอ่าน, คำแนะนำจากผู้อื่น, บทความออนไลน์, ดูจากคลิปออนไลน์, เรียนจากการสอนออนไลน์

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือ ศักยภาพของสื่อพลเมืองยุคใหม่ ที่เรียนรู้ทุกอย่างของอาชีพสื่อได้หมดโดยไม่ต้องจบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยใดๆ

พูดแบบนี้ แล้วรู้สึกว่าต่อจากนี้ไม่ต้องมีระบบการศึกษาที่เกี่ยวกับสื่ออีกเลยก็น่าจะได้!! 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการเรียนรู้ในระบบอุดมศึกษา ไม่ได้ว่าด้วยการพัฒนาทักษะทางด้านเทคนิค หรือครอบคลุมเฉพาะเรื่อง 'เนื้อหา' ของการนำเสนอ ทั้งข่าว สารคดี งานบันเทิง การคิดเชิงวิเคราะห์ หลักการวิจารณ์ ที่ดูๆ แล้ว สื่อพลเมือง ก็คงเรียนลัดเองได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ระบบการศึกษาได้สอน และเชื่อได้ว่า 'สื่อพลเมือง' จะไม่มีวันเรียนรู้ได้ คือ... 

จริยธรรมของการเป็นสื่อ!! 

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับผู้อ่านในที่นี้ คือ ผู้ที่เรียนลัดและก้าวไปสู่การเป็น 'สื่อพลเมือง' นั้น มักจะมีข้อเสียสุดยิ่งใหญ่จากความเชื่อมั่นในวิจารณญาณของตนจนไร้ขอบเขต

สิ่งนั้น คือ ความรู้ด้านจริยธรรม หรือจรรยาบรรณของสื่อมวลชน!! 

ในกระบวนการด้านการศึกษาที่จัดทำเป็นรายวิชานั้น จะมีวิชาหนึ่งที่นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนต้องเรียน รวมทั้งยังมีหนังสือ, ตำราวิชาการ และเนื้อหาเชิงวิเคราะห์จากผู้ประกอบอาชีพสื่อและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง มาถ่ายทอดเป็นความรู้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อโดยไม่ได้จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนโดยตรงมากมายด้วย

อันที่จริงจรรยาบรรณของสื่อ ไม่ใช่กรอบความคิดที่นิ่งอยู่กับที่ หรือไม่แปรเปลี่ยน หากแต่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่ต่างจากจรรยาบรรณในสาขาอื่นๆ

โดยบรรทัดฐานที่เคยใช้เป็นแนวทางในการเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน จะมีการเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมและค่านิยมของผู้เสพสื่อ ยิ่งเมื่อทุกสิ่งถาโถมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เน้นการเสนอข้อมูลแบบแข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว ความรอบคอบและความใส่ใจ ต่อความถูกต้องก็ลดน้อยลง เรื่องจริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นขึ้น

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ...ทุกวันนี้หลายคนคงเห็นข่าวปลอม ข่าวผิด ข่าวมั่ว ข่าวโจมตี ข่าวปลุกปั่น ที่ไหลซัดมาพร้อมกับความเร็ว แต่บังเอิญเป็นความเร็วที่มากับการมุ่งที่จะแข่งขันเพียงแค่หวังสร้างความนิยม และฉวยโอกาสจากยอดการติดตามเท่านั้น

หมายความว่าอะไร? 

สื่อพลเมือง กำลังเข้ามามีบทบาทในการ 'ลด' เพดานของจรรยาบรรณสื่อ เพื่อที่จะแต่งเติมให้พาดหัวข่าว กระตุ้นความสนใจได้ สื่อใช้ภาพประกอบที่ไม่ตรงกับเรื่อง หรือนำภาพของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับการอนุญาติ และทำให้สื่อหลักที่น่าเชื่อถือ ยังหลงประพฤติตนตาม เพื่อยอดรับชม

ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่ลุกลามในกลุ่ม 'สื่อพลเมือง' ส่วนหนึ่งผมมองแง่บวกว่าเพราะทำงานกันอิสระ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดการช่วยกันกลั่นกรองตรวจตรา ขาดประสบการณ์ที่ตกผลึก หรือผู้รู้ที่จะช่วยกรองข้อมูลที่ผิดพลาด ล่อแหลมและล่วงละเมิดออกไปจากเนื้อหาและพาดหัวเรื่อง

>> Citizen media is here to stay – สื่อพลเมืองจะอยู่ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง ในบทบาทของสื่อพลเมือง แต่เชื่อว่า 'สื่อพลเมือง' จะอยู่กับเราตลอดไป และจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาทดแทนสื่อหลักในอดีต  

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็น ในวันที่สื่อพลเมือง พร้อมจะแปลงร่างเป็นสื่อหลักได้ทุกเมื่อ คือ การยกระดับศักยภาพของสื่อพลเมือง เมื่อคิดจะเป็นสื่อ ต้องเป็นสื่ออย่าง 'มืออาชีพ' เหมือนกับสื่อที่มีสังกัดชัดเจน ที่เขียนข่าวหรือบทความให้กับหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือค่ายวิทยุข่าว (ทั้งข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวบันเทิง และข่าวกีฬา)

ผมไม่อยากเห็นสื่อพลเมือง อาศัยความเป็นอิสระและรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่นำเสนอ

ยิ่งสื่อพลเมือง ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก มีอิทธิพลต่อการรับรู้และพฤติกรรมของผู้ติดตามมากไม่น้อยกว่าสื่อสำนักใหญ่ ยิ่งควรทำงานด้วยความระมัดระวัง 

>> เพราะนี่คือการก้าวเข้าเท้ามาในสายสื่อแล้วแบบค่อนตัว
>> จริยธรรมและจรรยาบรรณในการสร้างสรรค์สื่อจึงควรพึงมี 
>> และจงพึงรับรู้ว่าทุกการสื่อสารของคุณ ควรต้องอยู่บนเกียรติและศักดิ์ศรีของตนและผู้อื่น
>> เนื่องจากสื่อของคุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครบางคน จงท่องให้ขึ้นใจว่า "อะไรคือความรับผิดชอบต่อสังคม" 

อย่างไรซะ ก็ไม่ใช่ว่าจะมาพูดจาเพียงเพื่อกล่าวโทษ อิสรภาพของสื่อพลเมืองที่นำมาสู่จริยธรรมอันมืดบอด แต่อยากบอกทางรอดให้ในตัว โดยผมอยากให้ภาคส่วนที่มีบทบาทต่อห่วงโซ่ของสื่อต้องตื่นตัว!!  

ควรมีการจัดอบรมเพื่อเติมเต็มให้กับความรู้และแนวคิดด้านสื่อสารมวลชนแก่ สื่อพลเมือง อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะจะเป็นสถาบันหรือหน่วยงานที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอาชีพได้ ก็จัดมาให้เต็มที่ เช่น มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวารสารศาสตร์และนิเทศศาสตร์ บริษัทโฆษณา สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ

หน่วยงานเหล่านี้ ต้องออกมาเล่นเกมรุก ต้องมุ่งอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสื่อพลเมือง โดยมีเงื่อนไขที่ว่าอย่าพยายามยัดเยียดบุคลากรของตน หรือผู้อาวุโสทางตำแหน่งเข้าไปในการอบรม แบบนั้นมันเอาท์!! ในทางตรงกันข้าม ต้องคัดเฟ้นบุคลากรด้านวิชาการที่มีเครดิตเป็น 'นักคิด' และผู้มีประสบการณ์ในการทำงานสื่อตัวจริงในโลกยุคใหม่ ซึ่งตรงนี้ไม่ติดว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่า แต่ขอเป็นบุคคลที่เชื่อมโซ่ข้อกลางของวงการสื่อยุคนี้ให้ได้

จับคนเหล่านี้มาเจอกัน เรียนรู้กันและกัน แลกเปลี่ยนไปด้วยกัน ตรงนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายด้านอาชีพที่มีลักษณะจับต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำสื่อจากเพื่อนร่วมอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้สื่อพลเมืองต้องพัฒนาตนเองเพื่อจะได้อยู่ในระนาบเดียวกับเพื่อนร่วมอาชีพในแง่ของมาตรฐานและจริยธรรม

นอกจากนี้ อยากให้ตระหนักถึง 'การคัดเลือก' โดยการเฝ้าติดตาม หรือสร้างการประกวดเพื่อมอบรางวัลแก่สื่อบ่อยๆ ฟังดูอาจเป็นวิธีที่ล้าสมัย แต่การชนะรางวัลเอย การมีวุฒิบัตรเอย โล่ห์เกียรติคุณเอย ย่อมผลักดันให้อาชีพนั้นๆ อยากรักษาและปรับปรุงคุณภาพของงานให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งอาชีพสื่อก็ไม่ต่างกัน

และนั่นอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บรรดา สื่อพลเมือง อยากก้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตข่าวอย่างถูกต้อง ปัญหาการสร้างข่าว หรือเขียนข้อมูลขึ้นมาเองจะค่อยๆ หมดไป 

สิ่งที่จะตามมา คือ พวกเขาจะต้องแน่ใจว่าข่าว และข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมดเป็นความจริง มีหลักฐานยืนยันได้ ก่อนนำออกเสนอหรือตีพิมพ์ จะต้องแน่ใจว่าไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ทั้งโดยตัวอักษรหรือภาพ และต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย 

เชื่อไหมว่า ทุกวันนี้ สื่อพลเมือง หลายกลุ่มกำลังย่ำแย่ เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในด้านกฎหมาย เพราะด้วยความที่ไม่มีสังกัด หรือองค์กร คิดว่าอิสรภาพของตนไร้ขอบเขต พอเจอฟ้องเอาผิด ก็หาคนช่วยเหลือหรือปกป้องคอนเทนต์ไม่ได้ สุดท้ายต้องมาเสียทั้งเงินและเวลาเอาง่ายๆ

แน่นอนว่า วันนี้จุดแข็งของ สื่อพลเมือง และผู้ผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต คือ การสร้างสูตรในการนำเสนอ จนผมเชื่อมั่นเหมือนกันว่า บรรดาสื่อพลเมืองเหล่านี้ ก็ได้สร้างบรรทัดฐานของความสำเร็จ จนเหมือนเป็นนักวิชาการอิสระ ที่ช่วยชี้นำทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อได้มาก

เพียงแต่พวกเขา ควรต้องมีพื้นที่ยืนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดเกียรติภูมิในอาชีพ มีตัวตนที่จับต้องได้ และมีความภูมิใจ ที่จะเสนอเนื้อหาที่มีพร้อมรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป


เขียนโดย: แพท แสงธรรม นักวิชาการอิสระ ด้าน Communication facilitator และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ระยะเวลามากกว่า 23 ปี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top