Tuesday, 23 April 2024
TheStudyTimes

ทำไม?? เด็กเก่งแถวหน้าประเทศ จึงดั้นด้นมาแข่งขันสอบเข้า ม.4 เรียนม.ปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ปกครองยอมทุ่มเททุนหลักแสน หรือหลักล้าน ในการกวดวิชา และหาช่องทาง...มาคุยกัน

จากการที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โชว์สถิติ ม.6 เลือกเรียนต่อแพทยศาสตร์ อันดับ 1 ปีละเกือบ 500 คน และคณะอื่น ๆ แนวหน้าชั้นนำ มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ประเทศ

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดเผยสถิติผลการเรียนต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2562 ที่เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2563 แบ่งเป็นสถิติการศึกษาต่อในคณะต่าง ๆ สูงสุด 10 คณะ พบว่าคณะและมหาวิทยาลัยที่นักเรียนชั้นม.6 เข้าศึกษาต่อ มีดังนี้

คณะที่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษา เลือกเรียนมากสุด 10 อันดับ

อันดับหนึ่ง คณะแพทย์ศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 34.36 นับเป็นจำนวนคนสูงถึง 484 คน

อันดับสอง คณะด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 160 คน คิดเป็นร้อยละ 11.36

อันดับสาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ 143 คน หรือร้อยละ 10.15

อันดับสี่ คณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ 120 คน คิดเป็นร้อยละ 8.52

อันดับห้า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี/เศรษฐศาสตร์/บริหาร 112 คน คิดเป็นร้อยละ 7.95

อันดับหก คณะนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์/ศิลปกรรมศาสตร์ 79 คน คิดเป็นร้อยละ 5.60

อันดับเจ็ด คณะทันตแพทย์ศาสตร์ 76 คน คิดเป็นร้อยละ 5.35

อันดับแปด คณะ เภสัชศาสตร์ 30 คน คิดเป็นร้อยละ 2.13

อันดับเก้า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 21 คน คิดเป็นร้อยละ 1.49

อันดับสิบ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ 14 คน คิดเป็นร้อยละ 0.99

อันดับสิบเอ็ด คณะอื่น ๆ และศึกษาต่างประเทศ ทุน และส่วนตัว 115 คน คิดเป็นร้อยละ 8.16

อันดับสิบสอง Gab Year 55 คน คิดเป็น ร้อยละ 3.90

ทั้งนี้ จากจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 1,409 คน

.

ส่วนมหาวิทยาลัยที่นักเรียนไปเรียนต่อ

อันดับหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 716 คน คิดเป็นร้อยละ 50.82 คน

อันดับสอง มหาวิทยาลัยมหิดล 213 คน คิดเป็นร้อยละ 15.11

อันดับสาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 154 คน คิดเป็นร้อยละ 10.93

อันดับสี่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 53 คน คิดเป็นร้อยละ 3.77

อันดับห้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 คน คิดเป็นร้อยละ 1.703

อันดับหก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 คน คิดเป็นร้อยละ 1.35

อันดับเจ็ด มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11 คน คิดเป็นร้อยละ 0.78

อันดับแปด มหาวิทยาลัยศิลปากร 10 คน คิดเป็นร้อยละ 0.70

อันดับเก้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 9 คน คิดเป็นร้อยละ 0.64

อันดับสิบ เป็นมหาวิทยาลัยอื่นๆ และศึกษาต่างประเทศ เอกชน 145 คน คิดเป็นร้อยละ 10.30

อันดับสิบเอ็ด Gab Year 55 คน คิดเป็นร้อยละ 3.90

ทั้งนี้ จากจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 1,409 คน

.

ประเภททุนต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยม ที่นักเรียนเตรียมอุดมได้เลือกไปเรียนเป็นจำนวนมากทุกปี และสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

1. ทุนเล่าเรียนหลวง 6-9 ทุน จาก ทั้งหมด 9 ทุนทุกปี

2. ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย 1-3 ทุน จากทั้งหมด 3 ทุนทุกปี

3. ทุนวิวัฒน์ไชยนุสรณ์ปีละ 1 ทุนได้แทบทุกปี

4. ทุนกระทรวงต่างประเทศ ได้เป็นจำนวนหลายทุนทุกปี

5. ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับทุนหลายทุนทุกปี

6. ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น Monbugakagusho ( MEXT) ได้หลายทุนทุกปี

และทุนต่างประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย

จากสถิติ ทั้งการเข้าเรียนต่อคณะในฝันของเด็กไทย และความสนใจของผู้ปกครอง มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ การเป็นตัวแทนประเทศในรายการแข่งขันระดับโลก และความสำเร็จในการงานหลังจบการศึกษามา

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวกระตุ้นและความคาดหวัง ทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง ให้ได้มีโอกาสเข้ามาสู่สังคมการศึกษาในโรงเรียนที่ดีอันดับหนึ่งของประเทศ..นั่นคือ เตรียมอุดมศึกษา

ตอนที่ 2 จะมาคุยกันต่อว่า เตรียมตัวล่วงหน้าอย่างไร เพื่อเข้าเรียนม.ปลาย เตรียมอุดมให้ได้ ในสายการเรียนที่เป็นความฝัน


โดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ

อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก งานแนะแนวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

HSK คือ การสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีนมาตรฐานสากลสำหรับผู้ที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่สอง เพื่อวัดความสามารถในการนำภาษาจีนไปใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงานและการเรียน

รวมรายชื่อ 14 สถาบันจัดสอบ HSK ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

1. สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

https://www.chula.ac.th/academic/confucius-institute/

2. สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา http://cibsru.th.chinesecio.com/node

3. สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยบูรพา

http://confucius.buu.ac.th/th/?page_id=180

4. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

https://clc.hcu.ac.th/index.php

5. ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

https://sclc.mfu.ac.th/sclc-home.html

6. วิทยสถานแห่งวัฒนธรรมตะวันออก (OCA)

http://www.ocanihao.com/index.php?route=common/home

7. สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

https://confucius.human.ku.ac.th/

8. สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิตสุพรรณบุรี

https://ilac.dusit.ac.th/2020/10/3433.html/

9. โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิง วาณิชย์บำรุง จังหวัดเชียงใหม่

http://www.chongfah.ac.th/?p=87988

10. สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

http://www.ci.cmu.ac.th/tha/index.php

11. ศูนย์สอบสถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

https://confucius.kku.ac.th/home/th/

12. สถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

https://www.psu.ac.th/th/node/614

13. มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปีกกิ่ง กรุงเทพฯ

http://www.blcubangkok.com/detailblcubangkok.php?qno=1

14. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

http://www.rbru.ac.th/


ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/101346805058193/posts/215189883673884/

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จับมือ สมุทรสาคร เดินหน้า "ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติการศึกษาหรือ Smart Refer" รับมือวิกฤตการเรียนรู้ถดถอย-หลุดนอกระบบ พัฒนาสู่สมุทรสาครโมเดล

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จับมือ สมุทรสาคร เดินหน้า "ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติการศึกษาหรือ Smart Refer" รับมือวิกฤตการเรียนรู้ถดถอย-หลุดนอกระบบ พัฒนาสู่สมุทรสาครโมเดล

นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงสถานการณ์การปิดเรียนของจังหวัดว่า สมุทรสาครยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงต้องประเมินรายวัน จึงจำเป็นต้องปิดโรงเรียนมาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 และให้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยมอบหมายศึกษานิเทศคอยติดตามประเมินว่าการเรียนออนไลน์ได้ผลมากน้อยอย่างไร

อย่างไรก็ตามพบว่ามีเด็กบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งได้แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หากพบว่ามีเด็กคนใดต้องการเครื่องมืออุปกรณ์ เน้นเฉพาะรายที่ไม่มี ขาดแคลนจริงๆ เมื่อมีการร้องขอเข้ามา ทางจังหวัดยินดีที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลเด็กและเยาวชนในจังหวัดสมุทรสาครของเรา

นายธีรพัฒน์ กล่าวว่า “การจัดการเรื่องนี้ ต้องพิจารณาหลาย ๆ ส่วนร่วมกันทั้ง ด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และเรื่องการศึกษา ก็เป็นส่วนสำคัญ ต้องทำ ๆ ทุกอย่างในเวลาเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตอนนี้บุคลากรทางการศึกษาทั้งหมดรับทราบสถานการณ์ แต่ยังมีความจำเป็นไม่ให้เด็กเจอกัน เกรงว่าปัญหาการระบาดจะเกิดขึ้น ทางจังหวัดสมุทรสาครได้เตรียมประชุมร่วมกันกับหน่วยงานทางการศึกษาทั้งหมดเพื่อรับทราบข้อมูล และลงทำงานในพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมถึงเด็กทุกคน”

“เป็นเรื่องที่ดีที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้เข้ามาร่วมช่วยกับจังหวัดสมุทรสาคร ฉะนั้นเด็กนักเรียนยากจนพิเศษก็จะได้รับการดูแลจากจังหวัด และจากความร่วมมือจาก กสศ. ต้องขอขอบคุณ กสศ. ที่เข้ามาช่วยจังหวัดสมุทรสาคร และทุกฝ่ายที่ให้ความสนใจเรื่องการศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งช่วยให้สามารถชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ให้ได้มีสิทธิและความเท่าเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะอย่างไรก็ตามพวกเขาคือต้นกล้าต้นหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ”

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบการปิดโรงเรียนที่ยาวนานในจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า กลุ่มเด็กนักเรียนยากจนด้อยโอกาสกำลังเผชิญวิกฤตทางการศึกษา 2 ด้าน คือ

1.) การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในช่วงล็อคดาวน์เพราะขาดอุปกรณ์จึงส่งผลให้เกิดภาวะความรู้ถดถอย (learning loss) และ

2.) มีแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาสเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น

เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว กสศ.ได้ประสานจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำกลไกศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาหรือ smart refer ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในคณะกรรมการบริหารกสศ. เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เข้ามาสนับสนุนการช่วยเหลือเด็กยากจนด้อยโอกาสที่ประสบกับภาวะวิกฤติทางการศึกษา โดยการทำงานจะแบ่งเป็น 2 ระยะ

1.) ระยะวิกฤต ประคับประคองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ให้ได้รับการช่วยเหลือตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทันสถานการณ์ และ

2.) ระยะฟื้นฟู จัดทำโปรแกรมการช่วยเหลือดูแลรายคนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะวิถีปกติทางการศึกษาหรือได้รับการศึกษาตามสภาพปัญหาของแต่ละคนต่อไป

ทั้งนี้สามารถแจ้งความช่วยเหลือได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 079 5475 ต่อ 8

การที่กสศ.ริเริ่มศูนย์ smart refer นี้ขึ้น เพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤตทางการศึกษาคนใดตกหล่น ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่แรก เพื่อพัฒนาให้เป็นสมุทรสาครโมเดล ก่อนขยายการทำงานต่อไป


ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/government-of-thailand/458223

หลายคนสงสัยว่าโรงเรียนนานาชาติกับการเรียน English Program นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร? เพราะทั้งสองหลักสูตรก็เน้นการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษเหมือนกัน จะเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรนั้น ไปดูกัน!

โรงเรียนนานาชาติ

- ข้อมูลทั่วไป

ในโรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรที่ใช้เรียนจะเป็นหลักสูตรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร British, US, IB, Singapore และอื่นๆ การเรียนการสอนจะเป็นการเรียนกับครูต่างชาติหรือครูเจ้าของภาษาที่เป็น Native Speaker ค่าใช้จ่ายสูง โดยค่าใช้จ่ายนั้นหลักแสนถึงหลักล้านต่อเทอม

- การเรียนในระดับชั้นอนุบาล, ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ 100% แต่จะมีภาษาไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 คาบ นักเรียนในห้องมีประมาณ 10-20 คน การประเมินผลการเรียนนั้นจะประเมินตามหลักสูตรที่เรียน หากเรียนเป็นหลักสูตรอังกฤษ จะต้องสอบ IGCSE และ A-level, หากเป็นหลักสูตรอเมริกาจะต้องสอบ IB เป็นต้น โดยเด็กจะสามารถเลือกลงวิชาตามที่ตัวเองชอบและถนัดได้

- จุดเด่นของการเรียนโรงเรียนนานาชาติ

การเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ภาษาอังกฤษและภาษาที่สามจะค่อนข้างแน่น ภาษาไทยอ่านออกเขียนได้แต่อาจจะไม่คล่อง ไม่แน่นมาก นอกจากนี้ในโรงเรียนนานาชาติจะมี Facility ต่าง ๆ ค่อนข้างเพียบพร้อม เช่น ห้องสมุดที่ดี ห้องซ้อมดนตรีและอุปกรณ์ดนตรีต่างๆ ห้องแสดงละคร Art gallery สำหรับให้เด็กสร้างสรรค์และแสดงผลงาน ห้องคอมพิวเตอร์และห้องแลปสำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญ เด็กในโรงเรียนนานาชาติจะได้เปรียบในการไปเรียนต่อต่างประเทศในระดับมหาวิทยาลัย

English Program

- ข้อมูลทั่วไป

หลักสูตรของ English Program นั้นจะเป็นหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเหมือนโรงเรียนหลักสูตรไทย การเรียนการสอนจะเรียนทั้งกับครูเจ้าของภาษาและครูที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ในส่วนของค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ โดยค่าใช้จ่ายนั้นจะอยู่ที่หลักหมื่นต่อเทอม

- การเรียนในระดับชั้นอนุบาล, ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ในระดับอนุบาลจะเรียนเป็นภาษาอังกฤษประมาณ 50% และภาษาไทยประมาณ 50% ในระดับชั้นประถมศึกษาและระดับชั้นมัธยมนั้นจะสอนเป็นภาษาอังกฤษในวิชา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพลศึกษา ส่วนในวิชาอื่นๆ จะสอนเป็นภาษาไทย เช่น ภาษาไทย สังคมศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย กฏหมายไทย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย นักเรียนในห้องจะไม่เกินห้องละ 30 คน การประเมินผลจะเหมือนกับนักเรียนไทยและจะมีการสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL , IELTS หรือ TOEIC ตามเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด

- จุดเด่นของการเรียน English Program

ในการเรียน English Program ค่าเทอมจะเป็นมิตรกับผู้ปกครองมากกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ภาษาไทยจะคล่องและแน่น ภาษาอังกฤษแข็งแรงแต่อาจจะไม่เท่ากับเด็กที่เรียนในโรงเรียนนานาชาติ ส่วนในด้านการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย จะสามารถเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศภาคภาษาไทยได้ง่ายกว่าเด็กนานาชาติ


ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/1403037013276211/posts/2782927105287188/

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกให้ปี 64 เป็นปีแห่งการเดินหน้ายกระดับภาษาอังกฤษ วางแผนให้ครูมีสมรรถนะความรู้ด้านภาษาอังกฤษ สอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลัก

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ว่า ในปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะยกให้เป็นปีแห่งการเดินหน้ายกระดับภาษาอังกฤษ ของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนสังกัด สพฐ. โดยในส่วนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้กำหนดกรอบสมรรถนะไว้ ว่า

ครูผู้สอนจะต้องมีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับ A และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานความรู้ภาษาอังกฤษจะต้องอยู่ในระดับ B ตามตัววัดมาตรฐานสากล หรือ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR)

โดยขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างการวางแผนให้ครูมีสมรรถนะความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้ารับการพัฒนาหลักสูตรผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีกระบวนการทดสอบสมรรถนะให้แก่ข้าราชการครู จากนั้นจะมีการไต่ระดับสมรรถนะด้านภาษา รวมถึงจะนำภาษาอังกฤษมากำหนดเป็นค่าคะแนนให้ครูใช้เลื่อนวิทยฐานะด้วย เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้านภาษาให้แก่ครูมากขึ้น ดังนั้นต่อไปนี้ครูทุกคนจะต้องมีทักษะภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น

"ส่วนตัวผู้เรียนจะเริ่มฝึกการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยด้วยการสื่อสารภาษาคำศัพท์ที่เข้าใจง่าย เพราะต้องยอมรับว่าโลกยุคนี้คงไม่สามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้เพียงภาษาเดียวแล้ว ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษในโรงเรียนให้มากขึ้น ซึ่งผมจะกำหนดให้โรงเรียนขับเคลื่อนการสื่อสารภาษาอังกฤษในโรงเรียนอย่างเข้มข้น อีกทั้งครูผู้สอนจะต้องสอดแทรกภาษาอังกฤษในทุกกลุ่มการเรียนรู้วิชาหลักด้วย"เลขาฯ กพฐ.กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/93107?fbclid=IwAR3G4kD5MLmbw6MfoLL7c7gpVk2vE11BM5rRq---tBTDjBgf1k-D61x5CoU

รมช. ศึกษาธิการ เร่งสตาร์ท "โครงการวิทย์พลังสิบ" หลัง ครม.อนุมัติ มุ่งสร้างโอกาสเด็กไทยเข้าถึงการเรียนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ ลดเนื้อหา เพิ่มการปฏิบัติ สร้างความเท่าเทียมองค์ความรู้พื้นฐาน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการระยะ 10 ปี ใช้งบประมาณทั้งหมด 9,000 ล้านบาทว่า จะเริ่มดำเนินโครงการทันทีในปีงบประมาณ 2564 โดยจะใช้งบประมาณ จำนวน 200 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาครูในการเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงวิทยศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างทั่วถึง รวมทั้งเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์รูปแบบใหม่ลดเนื้อหาด้านวิชาการ และเน้นการเรียนแบบปฏิบัติมากขึ้น เพื่อให้เด็กนำไปใช้ชีวิตประจำวันได้จริง

เนื่องจากในอนาคตการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมีบทบาทมากขึ้น อีกทั้งยังมีบทบาทต่อวงการอุตสาหกรรม และการเกษตรอย่างก้าวกระโดด จึงริเริ่มโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบนี้ขึ้น โดยโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้คนไทยทั้งประเทศ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้ตั้งแต่เด็กเล็ก โดยการเพิ่มพลังวิทยาศาสตร์ จาก 10 คน เป็น 100 คน และจาก 100 คน เป็น 1,000 คน

นอกจากนี้ โครงการนี้ถือเป็นการเพิ่มพลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แบบต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้คนไทยได้มีพื้นฐานความคิดอย่างเป็นระบบ คิดแบบวิธีวิทยาศาสตร์ ดังนั้น จะมีการต่อยอดเพิ่มการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ชั้น ป.4 – ม.6 โดยมีภาคีเครือข่ายจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มาช่วยเติมเต็มการอบรมให้แก่ครูทั่วประเทศให้สอนในเรื่องนี้ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการเรียนรู้ของเด็กด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในอนาคต

“เบื้องต้นยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั่วประเทศ เนื่องจากต้องมีการพัฒนาครู ซึ่งจะเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีครูที่เชี่ยวชาญเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในรูปแบบใหม่ ที่วิชาเรียนจะน้อยลง เน้นการปฏิบัติมากขึ้น และเพิ่มเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตทั้งการทำงาน และการใช้ชีวิต ที่ประชุม ครม. ขอให้พิจารณาดำเนินการทุกอย่างให้รอบคอบมากที่สุด” รมช. ศึกษาธิการ กล่าว

การอ่านนิทานให้ลูกฟัง ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก

ผลงานวิจัยที่ยาวนานที่สุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ติดตามชีวิตของคนจำนวนหนึ่งถึง 75 ปี ได้เปิดเผยให้เรารู้ว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่มนุษย์ต้องการ คือสายสัมพันธ์ที่ดี และการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูกวิธีหนึ่ง คือการเล่านิทานให้ลูกฟัง ในบทนี้อยากจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกด้วยการอ่านนิทานให้ลูกฟังกันค่ะ

หากเราอยากให้ลูกวัยก่อนเข้าอนุบาลเตรียมพร้อมกับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ดี การให้เด็กดูหนังสือนิทานนั้น เป็นหนึ่งในวิธีสุดคลาสสิคมาช้านาน นิทานช่วยให้ลูกสะสมคลังคำศัพท์และเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กสามารถทำความเข้าใจจากการฟังครูในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ทว่าหนังสือที่ดีของเด็กเล็กอาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับหนังสือที่ดีของเด็กที่อ่านหนังสือได้แล้ว เด็กเล็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นาน ยังคงเห็นโลกแบบที่สดใหม่ แตกต่างและเต็มไปด้วยจินตนาการก่อนจะกลายเป็นผู้ใหญ่อย่างเรา

แล้วหนังสือที่ดีสำหรับเด็กเป็นอย่างไร

สมมติว่ามีพลังวิเศษ เสกให้ลูกพูดได้ตั้งแต่แรกเกิด ลูกจะเล่าอะไรให้เราฟัง...

“ในตอนที่หนูเพิ่งลืมตาดูโลกมาได้ไม่ถึงสามเดือน หนูเหมือนคนสายตาสั้นประมาณแปดร้อย รวมถึงเด็กคนอื่นด้วยเช่นกัน หนูมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพเบลอไหวไปมา หนูไม่รู้ว่าที่เห็นนั้นคืออะไร

ถึงตอนนั้นหนูอาจจะมองเห็นได้ไม่ค่อยถนัดแต่หนูได้ยินเสียงชัด ทุกครั้งที่มีเสียงเกิดขึ้น หนูยังไม่รู้ว่าเสียงนั้นคือเสียงอะไร มาจากไหน แต่หนูสัมผัสได้เสมอว่าเสียงนั้นมาพร้อมกับความรัก โอบกอดที่แสนอบอุ่น และนมอุ่น ๆ ให้หนูดื่มกิน

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้กว่าสี่เดือน หนูเริ่มเห็นชัดขึ้น หนูมองเห็นเสียงแห่งความรักนั้น เสียงของแม่ แม่มาพร้อมกับแผ่นภาพพับทับซ้อนกันเปิดกลับไปมาหน้าหลังได้ แผ่นที่มีสีสันสดใสเต็มไปหมด หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูจ้องรูปภาพ หนูไม่รู้ว่ารูปสื่อความหมายอะไร ทุกครั้งเวลาหนูดูภาพสีสันสดใสนั้น จะมีเสียงแห่งความรักเปล่งบรรยายประกอบไปด้วย หนูเริ่มจับได้ว่าเสียงแบบนี้มากับรูปนี้ หนูเริ่มรู้ความหมายทางภาษา

เมื่อหนูอยู่บนโลกนี้ได้เกือบสิบสองเดือน หนูพบว่าหนูใช้ร่างกายเคลื่อนไหวไปมาได้ หนูรู้สึกตื่นเต้น หนูอยู่ไม่นิ่ง หยิบจับคว้าทุกอย่างมาเล่นและชิมมัน ทุกอย่างคือของเล่นที่หนูได้เรียนรู้ บางทีของเล่นก็กินได้ หนูเลยชอบชิมมันด้วย

เมื่อหนูครบหนึ่งขวบเต็ม หนูตื่นเต้นอยากเล่นของเล่นใหม่ทุกวัน แม่เอาหนังสือใหม่มาให้เล่น มีภาพที่เปิดออกมาแล้วตั้งขึ้นมาจากหนังสือได้ พอหนูพับหน้าต่อไปภาพที่ตั้งขึ้นก็หดเก็บตัวลงในหนังสือเอง หนูรู้สึกตื่นเต้น ยิ่งหนูได้เล่นสนุก หนูยิ่งจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี

เมื่อหนูเข้าโรงเรียนอนุบาล หนูเจอคุณครูครั้งแรก หนูเข้าใจความหมายของคำที่คุณครูสอนได้ มันอยู่ในนิทานที่แม่อ่านให้ฟังก่อนนอนเต็มไปหมด หนูสามารถจินตนาการในหัวตามสิ่งที่ครูสอนได้ เหมือนกับเอาภาพมากมายในหนังสือนิทานหลายเล่มมาประกอบกันใหม่ หนูเข้าใจสิ่งที่คุณครูสอน”

ตัวอย่างสมมตินี้ เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่อยู่ในโลกของเด็ก เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ที่เรานำข้อมูลทางวิชาการมาเล่าเท่านั้น ในโลกของเด็กนั้นอาจจะเต็มไปด้วยจินตนาการไร้ขีดจำกัด ยากที่ผู้ใหญ่อย่างเราที่หลงลืมช่วงวัยแรกเกิดไปแล้วจะคิดตามได้ ทุกวันสำหรับเด็กคือการเรียนรู้ และทุกวินาทีของลูกที่ได้อยู่กับพ่อแม่คือการสร้างสายสัมพันธ์

หากเราอยากจะจินตนาการตามเด็กที่กำลังเรียนรู้ผ่านการอ่านนิทานให้ลูกฟังได้นั้น คุณหมอแพม หมอกุมารแพทย์ ผู้ที่ทำเพจออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คนในโลกโซเซียลมีเดีย ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ที่สนใจการปลูกฝังให้ลูกรักการอ่าน กล่าวว่า “ผู้ใหญ่จะเน้นอ่านตัวอักษร ใช้คลังคำศัพท์ที่สะสมไว้เอามาจินตนาการได้หมด แต่การดูนิทานของเด็กเล็กจะอาศัยฟังเสียงพ่อแม่เสริมรูปภาพ แล้วเด็กจะจินตนาการเป็นเอนิเมชั่นในหัว”

หมอแพมแนะนำว่า “หนังสือนิทานในท้องตลาดนั้น ต้องยอมรับว่ามีทั้งดีและไม่ดี คร่าว ๆ คือ หนังสือดี ภาพต้องไม่สื่อไปทางที่โหดร้าย เพราะเด็กอารมณ์อ่อนไหวกว่าผู้ใหญ่ หนังสือที่ดีควรมีรูปชัด ๆ เส้นชัด ๆ เส้นน้อย ๆ ส่วนใหญ่ราคาจะแพง หนังสือไม่ดีก็จะพยายามเอาใจคนซื้อคือพ่อแม่ ยัดเส้นเยอะ ๆ รูปเยอะ ๆ ให้ดูคุ้ม ไม่มีประโยชน์กับเด็ก”

คุณหมอบอกอีกว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้น มีแต่ผลดี ช่วยเสริมสร้างคลังคำศัพท์และจินตนาการของเด็ก ที่สำคัญ ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะเล่านิทานไม่เก่ง หนังสือนิทานเด็กถูกออกแบบมาให้ใครอ่านก็สามารถเล่านิทานได้ เพียงเราแบ่งเวลา 5-10 นาทีต่อวันเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ จะเป็นปู่ย่า ตายาย หรือพี่เลี้ยงก็ยังได้ ขอเพียงมีคนที่เด็กสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับคนคนนั้นผ่านกิจกรรมเล่านิทานได้ก็เพียงพอ

ถึงแม้หนังสือจะดีซักเพียงไหนคุณหมอก็ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะรักการอ่าน หรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กนั้นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่ภาพประกอบสีสวยสดใสหรือถ้อยคำจังหวะจะโคลนไพเราะเสนาะใจ หรือว่าส่วนที่ดีที่สุดของหนังสือดีสำหรับเด็กนั้นจะเป็นเสียงที่กำลังเล่า แววตาแห่งความห่วงใย และประสบการณ์สัมผัสอุ่นไอจากพ่อแม่

ทีม The Study Times Family ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูก Style หมอแพม

Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1287921204923232

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

กำหนดการรับสมัครสอบนักเรียนเตรียมทหาร เหล่าทหารเรือ ประจำปีการศึกษา 2564

โรงเรียนนายเรือ เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ในส่วนของกองทัพเรือ) ประจำปีการศึกษา 2564

ดูรายละเอียดและสมัครทางอินเตอร์เน็ต

????ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 22 มีนาคม 2564 ????

ลิ้งค์สมัครและข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://admission-rtna.net


ที่มา: https://www.facebook.com/316941331691043/posts/3975975832454223/

กำหนดการรับสมัครสอบนักเรียนเตรียมทหาร เหล่าทหารบก ประจำปีการศึกษา 2564

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ในส่วนของกองทัพบก) ประจำปีการศึกษา 2564

ดูรายละเอียดและสมัครทางอินเตอร์เน็ต

????ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม 2564 ????

สมัครได้ทาง http://precadet64.crma.ac.th


ที่มา: https://www.facebook.com/113801546641150/posts/451227559565212/

กำหนดการรับสมัครสอบนักเรียนเตรียมทหาร เหล่าทหารอากาศ ประจำปีการศึกษา 2564

โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ในส่วนของกองทัพอากาศ) ประจำปีการศึกษา 2564

ดูรายละเอียดและสมัครทางอินเตอร์เน็ต

????ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 มีนาคม 2564 ????

สมัครได้ทาง http://www.admission.nkrafa.com

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองสถิติและประเมินผลโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช หมายเลขโทรศัพท์ 0 2534 3624 - 7 ในวันและเวลาราชการ

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่

เว็บไซต์ : www.nkrafa.rtaf.mi.th

เฟซบุ๊ก : โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5200872533318995&id=159646607441638


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top