Sunday, 28 April 2024
TheStudyTimes

กระทรวงศึกษาธิการ โอนเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท เริ่ม 1-7 ก.ย. เช็กช่องทางตรวจสอบสิทธิ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ https://student.edudev.in.th

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินการ โดยมีความคืบหน้าดังนี้

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เริ่มการเบิกจ่ายเงินสำหรับโครงการ “อว.ลดค่าเทอม” แล้วตั้งแต่ 26 ส.ค. 64 สำหรับมหาวิทยาลัยและสถาบันที่ได้จัดส่งข้อมูลผ่านการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง ขณะนี้มีจำนวน 29 แห่ง รวมเป็นเงิน 2,250 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาจะนำไปใช้ลดค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคเรียนที่ 1/2564 ในสัดส่วนเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้เร่งติดตามและตรวจสอบระบบการเบิกจ่ายเงินอย่างใกล้ชิด เงินทุกบาทที่รัฐบาลสนับสนุน ต้องถึงมือนิสิตนักศึกษา คืนให้กับคนที่ได้ชำระค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาไปแล้ว หรือใช้ลดค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับผู้ที่กำลังจะชำระเงิน โดยมหาวิทยาลัยไม่เก็บเงินดังกล่าวไว้แต่อย่างใด 

ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งให้เร่งตรวจสอบและยืนยันข้อมูลนักศึกษาส่งมาที่กระทรวงโดยเร็ว เพื่อดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายแก่สถาบันที่เหลือ อีกประมาณ 100 กว่าแห่ง ให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาต่อไป

ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียน จำนวน 2,000 บาท กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบประมาณ จำนวน 1.95 หมื่นล้านบาท สำหรับเด็กนักเรียน 9.79 ล้านคน เมื่อ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา และทำการจัดสรรไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลแล้ว ได้แก่

 - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท ทั้งการรับเงินโอนเข้าบัญชี หรือรับเงินสดที่โรงเรียน

- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รับเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท ทั้งการรับเงินโอนเข้าบัญชี หรือรับเงินสดที่โรงเรียน

- สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท ทั้งการรับเงินโอนเข้าบัญชี หรือรับเงินสดที่สถานศึกษา

- สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รับเงินเยียวยานักเรียน คนละ 2,000 บาท โดยรับเงินสดที่สถานศึกษา 

ทั้งนี้ ผู้ปกครองที่ไม่ได้รับเงินภายในเวลาดังกล่าว ขอให้ติดต่อโรงเรียนที่บุตรหลานศึกษาอยู่ หรือโทร หมายเลข 1579 / 1693

“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทั้งสองกระทรวง ติดตามตรวจสอบระบบการจ่ายเงินอย่างใกล้ชิด ทุกขั้นตอน ไม่ให้มีการทุจริต ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และต้องถึงมือผู้ปกครองนักเรียน และนักศึกษาอย่างครบถ้วน ” น.ส.รัชดา กล่าว

สำหรับ ช่องทางเช็กสิทธิรับเงินเยียวยา 2,000 บาท สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิ ได้ที่ https://student.edudev.in.th โดยระบบจะให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนของนักเรียน เลขประจำตัวนักเรียน เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูล
 

การตั้งคำถาม กระตุ้นให้พวกเขามีโอกาสแสดงความเป็นตัวตน มอบพื้นที่แห่งความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออก เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง และค้นหาทางออกด้วยตัวของเขาเอง

การตั้งคำถามที่ทรงพลัง (Powerful Questioning) คือ การตั้งคําถามที่ช่วยให้คู่สนทนาสามารถจัดการความคิดยุ่งเหยิงของตนเองให้เป็นระบบระเบียบ และเมื่อความคิดความรู้สึกถูกจัดเรียงใหม่แล้ว เขาจะมีความพร้อมในการตั้งเป้าหมาย ประเมินสถานการณ์ มองหาทางเลือกต่างๆ และตัดสินใจเลือกวิธีการเดินหน้าต่อได้ชัดเจน 

การตั้งคำถามที่ทรงพลัง เป็นทักษะสำคัญที่ใช้ในการโค้ชเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการทำโครงการ/กิจการเพื่อสังคม แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือใช้สื่อสารกับผู้ที่กำลังสับสน ให้ได้ค้นพบคำตอบและแนวทางต่อด้วยตนเอง

1. คำถามกระตุ้นวิสัยทัศน์และเป้าหมาย 

วัยรุ่นค่อนข้างสับสนในตัวเอง เพราะมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อช่วยให้วัยรุ่นได้เข้าใจตัวเอง มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น จะได้มองเห็นภาพอนาคต จะได้มีความชัดเจนในตัวเอง ด้วยการตั้งคำถามกระตุ้นให้พวกเขาได้รู้จักข้อดีข้อเสีย โอกาสและอุปสรรคของตัวเอง จะได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตที่แคบลง  เช่น

 “วันนี้เราจะคุยเรื่องอะไรกันดี” 
“คิดว่าทักษะอะไรสำคัญบ้าง”
“สุดท้ายต้องการเห็นอะไร หลังจากที่จบการคุยกัน”
“จากจุดนี้ต้องการไปให้ถึงจุดไหน”
“คิดว่านิสัยส่วนไหนของเราที่อาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในเป้าหมายนะ”
“คิดว่านิสัยส่วนไหนที่เป็นจุดแข็งของเรานะ”

2. คำถามชวนตระหนักถึงความจริงที่เกิดขึ้น

ในเวลาที่ข้อมูลเยอะ เกิดความสับสนในชีวิต มักทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความลังเลสงสัย เกิดจินตนาการและการคาดการณ์ต่างๆ นานา เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงความจริงที่อยู่ตรงหน้า ช่วยตรวจสอบมุมมองของข้อมูลให้รอบด้านมากขึ้น “ข้อมูลที่พบ มีที่มาจากแหล่งใด” (ช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล) ด้วยการตั้งคำถามให้พวกเขาตระหนักและยืนอยู่บนพื้นฐานตามความจริง พร้อมช่วยประเมินสถานการณ์เบื้องต้น เช่น

“มีใครหรือหน่วยงานใดบ้างที่ทำงานในประเด็นนี้อยู่บ้างนะ”
“เกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดผลลัพธ์หรือผลกระทบกับคุณอย่างไรบ้าง”
“คิดว่ามีส่วนไหนบ้างที่ไม่จำเป็นในเบื้องต้น”
“ที่ผ่านมามีตรงจุดไหนบ้างที่เราพลาดไปไม่ได้ทำ”

3. คำถามชวนค้นหาทางเลือก

เมื่อช่วยให้วัยรุ่นมีจุดตั้งต้นอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงแล้ว ขั้นต่อไปคือการชวนคิดถึงโอกาสและทางเลือกต่างๆ โดยกลับไปเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น

– ถามเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และเปิดพื้นที่ให้เขาได้ทดลองคิดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ เช่น 

“คิดว่ามีไอเดียหรือทางเลือกใดบ้าง ที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน”
“เราจะพัฒนาสิ่งที่เรามีได้อย่างไรนะ”
“เกี่ยวกับเรื่องนี้เลวร้ายที่สุดคือเรื่องใด”
“หากมีคนที่อยู่ในสถานการณ์เหมือนเราตอนนี้ คุณจะแนะนำเขาว่าอย่างไร”
 “คุณจะมีแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแต่ละทางเลือกอย่างไรบ้าง”

ขั้นตอนนี้จะเป็นตัวสรุปการพูดคุย โดยเราอาจช่วยให้วัยรุ่นทบทวนสิ่งที่คุยกัน ตั้งแต่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ความเป็นจริงที่ผ่านมา และทางเลือกต่างๆ เพื่อให้คิดวิเคราะห์ และตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกทางใดดี ซึ่งเราอาจเพิ่มคำถามเพื่อย้ำบทสรุปให้เห็นแผนที่ชัดเจนขึ้น เช่น “คิดว่าจะพร้อมลงมือทำตามไอเดียที่เลือกเมื่อไรดี” หรือ “สรุปว่าเราจะทำอะไรกันต่อบ้าง” เป็นต้น
 
4. ทำความเข้าใจก่อนค่อยถามต่อ 

ระหว่างการพูดคุย หากพบว่ามีข้อมูลบางอย่างที่ไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจตรงกับวัยรุ่นหรือไม่ อย่างไร ให้จัดการเคลียร์ความเข้าใจนั้นให้กระจ่างก่อน เช่น ศัพท์เฉพาะ ให้อธิบายให้เข้าใจ หรือ เรื่องนามธรรมให้เปรียบเทียบเปรียบเปรยให้เห็นได้ชัดๆ ด้วยการพูดว่า

 “ตรงนี้นิดหนึ่งนะ…ที่คุณพูดว่า….(ทวบทวนสิ่งที่เราได้ยิน)”
“ที่คุณพูดว่า……(บอกสิ่งที่เราเข้าใจ)…ว่าใช่หรือไม่”
“นิดหนึ่ง….(บอกสิ่งที่เราเข้าใจ)….ไม่ทราบว่าเข้าใจตรงกันไหมคะ”

ซึ่งหากผลออกมาว่าเราเข้าใจไม่ตรงกับเป้าหมายของวัยรุ่น ขอแนะนำให้จดบันทึกไว้ว่า ประเด็นหลักที่วัยรุ่นต้องการสื่อสารแต่แรกคือเรื่องใด และขณะนี้เราต้องหยุดพักซักครู่เพื่อทำความเข้าใจเรื่องใดก่อน เพื่อป้องกันการคุยหลุดประเด็น

เคล็ดลับอยู่ตรงที่ การตั้งคำถามกระตุ้นให้พวกเขาได้มีโอกาสแสดงความเป็นตัวตน มอบพื้นที่แห่งความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออก เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง และค้นหาทางออกด้วยตัวของเขาเอง เราแค่เป็นตัวกลางที่ช่วยให้เขาเข้าถึงความจริงในตัวเองให้ได้ 

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/11291/
https://www.hcdcoaching.com/17020389/ทักษะการถาม-questioning-skill

อว. เดินหน้าโครงการ "อว. ลดค่าเทอม" ตามนโยบายรัฐบาล เบิกจ่ายเงินส่งให้มหาวิทยาลัยที่ยืนยันข้อมูลครบถ้วนแล้ว 29 แห่ง จำนวน 2,250 ล้านบาท ย้ำเงินทุกบาทที่รัฐสนับสนุนต้องถึงมือนักศึกษา

ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ อว. ดำเนินโครงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ขณะนี้ ได้เริ่มการเบิกจ่ายเงินสำหรับโครงการ "อว.ลดค่าเทอม" แล้วตั้งแต่วันที่พฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564 

สำหรับมหาวิทยาลัยและสถาบันที่ได้จัดส่งข้อมูลผ่านการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง เสนอครบถ้วนแล้ว มีจำนวน 29 แห่ง รวมเป็นเงิน 2,250 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาจะนำไปใช้ลดค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคเรียนที่ 1/2564 ในสัดส่วนเงินสนับสนุนจากรัฐบาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้แจ้งไปแล้ว โดยเน้นย้ำให้กระบวนการอนุมัติงบประมาณมีความรวดเร็ว รอบคอบ รัดกุม ขั้นตอนจ่ายเงินขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส สามารถติดตามตรวจสอบการจ่ายเงินทุกขั้นตอน ไม่ให้เกิดการทุจริตอย่างเด็ดขาด

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทางอว. ได้เร่งติดตามและตรวจสอบระบบการเบิกจ่ายเงินอย่างใกล้ชิด โดยเงินทุกบาทที่รัฐบาลสนับสนุน ต้องถึงมือนิสิตนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยจะจ่ายเงินคืนกับนิสิตนักศึกษาที่ได้ชำระค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาไปแล้วหรือใช้ลดค่าเทอมและค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับผู้ที่กำลังจะชำระเงิน โดยทางมหาวิทยาลัยไม่เก็บเงินดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. รายงานเพิ่มเติมว่า สำนักงานปลัด อว. ได้ตั้งศูนย์ประสานงานเรื่องดังกล่าวและทำงานร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.), ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล( ทปอ.มทร.), สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษานอก อว. กันอย่างใกล้ชิด ใช้ระบบฐานข้อมูลการอุดมศึกษากลางของประเทศ ซึ่งดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมาก 

โดยเมื่อสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบโครงการแล้ว ส่งต่อให้กรมบัญชีกลางเพื่อโอนเงินโครงการนี้มาให้ อว. ซึ่ง อว. ได้สั่งการเบิกจ่ายไปยังมหาวิทยาลัยที่ได้จัดส่งและยืนยันข้อมูลเข้ามาครบถ้วนแล้วในสัปดาห์เดียวกันเลย

 “การดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม อว. ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ให้เร่งตรวจสอบและยืนยันข้อมูลนักศึกษาส่งมาที่กระทรวงโดยเร็ว เพื่อดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาต่อไป” ปลัด อว. สรุป


ที่มา : Facebook Page : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
https://www.facebook.com/184257161601372/posts/4931132673580440/

อว. ก้าวข้ามกรอบทำงานรูปแบบเดิม อนุญาตบัณฑิตทุน พสวท. ใช้ทุนด้วยการทำงานในภาคเอกชน เดินหน้าร่วมเอกชนพัฒนาไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมบัณฑิตทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน ว่า ภาคเอกชนนับเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนในการลงทุนวิจัยและพัฒนากว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของการลงทุนวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของประเทศ 

ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนก็ต้องเพิ่มสูงมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อให้สามารถรองรับการลงทุนวิจัยและพัฒนาได้ การปลดล็อกเพื่อให้บัณฑิตทุนไปทำงานภาคเอกชน จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพสูงของภาคเอกชน 

ซึ่งขณะนี้ อว. ได้ร่วมมือกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงความต้องการของภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยของรัฐและบัณฑิตทุนเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อ Talent Thailand Platform ที่มีทั้งระบบการวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายและงานวิจัยขั้นแนวหน้า และการพัฒนาแพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ 

โดยในการดำเนินงานจะมีการส่งเสริมให้บัณฑิตทุนทุกคนได้รับการบ่มเพาะเพื่อเตรียมความพร้อมในการร่วมงานกับเอกชน และ ส.อ.ท. จะนำความเชี่ยวชาญของบัณฑิตทุนแต่ละคนมาวิเคราะห์เพื่อดูความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับสนับสนุนให้ไปทดลองงานกับภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 3 เดือน และหากภาคอุตสาหกรรมสนใจที่จะว่าจ้างบัณฑิตทุนต่อ ก็สามารถจัดทำเป็นสัญญาเพื่อดำเนินการจ้างต่อได้ 

ถือเป็นอีกก้าวที่การอุดมศึกษาจะเข้าไปเติมเต็ม ช่วยแก้ปัญหาการทำงานของภาคเอกชน และได้ก้าวข้ามกรอบการทำงานรูปแบบเดิมที่นักเรียนทุนต้องทำงานกับภาครัฐเท่านั้น โดยมุ่งหวังที่จะสามารถนำเอาศักยภาพของบัณฑิตทุนมาช่วยพัฒนาประเทศร่วมกับภาคเอกชนและเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี 

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีพลิกโฉม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงการเกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด -19 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 

ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนา การพัฒนากำลังคน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกำลังคนผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการดำเนินงานของทั้งภาครัฐและเอกชน 

แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีระบบส่งเสริมการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพสูงผ่านการให้ทุนการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถสร้างนักเรียนทุนรัฐบาลที่เป็นกำลังสำคัญที่จะใช้ความรู้และความสามารถช่วยพัฒนางานวิจัยและพัฒนาของประเทศเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การพัฒนาสังคมได้อย่างต่อเนื่อง 

แต่นักเรียนทุนรัฐบาลส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาแล้วจะมีรูปแบบการชดใช้ทุนโดยการบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของภาครัฐ สถาบันวิจัยของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาตามหน่วยทุนต้นสังกัด และข้อจำกัดจากเงื่อนไขการชดใช้ทุนนี่เองที่ทำให้นักเรียนทุนบางส่วนไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ งานที่ได้รับมอบหมายขาดความท้าทายและไม่สอดคล้องกับความรู้และทักษะที่มี ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการใช้กำลังคนอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาประเทศ
.
ปัจจุบันประเทศไทยมีนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ อาทิ ทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ทุนโครงการปริญญาเอกกาญนาภิเษก (คปก.) และทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย 

ซึ่งมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วรวมประมาณ 9,000 คน และกำลังศึกษาอยู่ประมาณ 6,000 คน และคาดว่าจะมีนักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาประมาณปีละ 500-700 คน และจากข้อมูลของ พสวท. พบว่า จากพลวัตรที่โลกปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว บางสาขาที่บัณฑิตทุนสำเร็จการศึกษามาอาจมีความล้ำหน้าหรือเจาะลึกและใช้เครื่องมือเฉพาะทางที่มีเฉพาะในห้องปฏิบัติการต่างประเทศ ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของงานวิจัยและการศึกษาในภาครัฐของไทยในปัจจุบัน จึงส่งผลให้บัณฑิตทุน พสวท. ยังรอเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนอยู่ถึง 53 คน โดยเป็นบัณฑิตระดับปริญญาเอก 42 คน และระดับปริญญาโท 11 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2564) 

ดังนั้น การเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุน พสวท. สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนที่มีกิจกรรมวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการใช้ประโยชน์กลุ่มกำลังคนศักยภาพสูง 


ที่มา : https://www.nxpo.or.th/th/8759/

หัวใจของการทำพิธีกรสัมภาษณ์ คือการฟังคู่สนทนาอย่างตั้งใจ การตั้งประเด็น เป็นที่มาของการตั้งคำถามในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง เมื่อตั้งประเด็นที่ใช่ การตั้งคำถามที่ใช่ก็จะตามมา และนำไปสู่คำตอบที่ใช่เช่นเดียวกัน

“การตั้งคำถามที่ดี จะนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง” คำสอนสำหรับพิธีกรสัมภาษณ์จากรุ่นพี่สู่พิธีกรรุ่นน้องเสมอๆ และทุกครั้งที่ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดคำสอนนี้ก็มักจะมีคำถามตามมาเสมอว่า แล้วคำถามที่ดี คำถามที่ถูก คือแบบไหนกันหรือ ? 

คำถามที่ทำให้ผู้ตอบรู้สึกดี ?
คำถามที่ใคร่รู้สงสัย ? 
คำถามที่ทำให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ ? 
หรือคำถามแบบไหนกัน 

แต่ทุกครั้งที่ถามและตอบ แล้วทำให้ทั้งผู้ถามและผู้ตอบรู้สึกดีในบทสนทนา อย่างน้อยที่สุดก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตามหัวใจของการทำพิธีกรสัมภาษณ์ ไม่ใช่การพูด แต่คือการฟังคู่สนทนา ฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ยินว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร แล้วเราก็จะได้ประเด็นที่จะสามารถต่อยอดได้ 

เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการฟังจากการคุย ไม่เหมือนการฟังเพื่อจดเลคเชอร์ การควบคุมบรรยากาศ การแสดงท่าที การมีส่วนร่วมระหว่างกัน จะทำให้การพูดคุยนั้นสนุกและน่าสนใจ แต่หากพิธีกรสติไม่อยู่กับการฟังแต่ดันเพลินไปกับการพูดคุย ก็จะทำให้หลุดประเด็นในการสัมภาษณ์เช่นเดียวกัน 

การเป็นพิธีกรสัมภาษณ์จึงต้องมีการฝึกฝน ฝึกให้มาก ตั้งคำถามให้เยอะ แล้วจะตั้งคำถามจากพื้นฐานของอะไร ?

ก็ประเด็นยังไงหล่ะ ?  การตั้งประเด็น จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง การตั้งประเด็นจึงมีความสำคัญมาก ว่าวันนี้อยากคุยในประเด็นไหน ประเด็นนั้นมีความน่าสนใจไหม ประเด็นนั้นให้อะไรแก่ผู้รับ ซึ่งนี่ต่างหากคือที่มาของการตั้งคำถาม เมื่อตั้งประเด็นที่โดน ที่ใช่ การตั้งคำถามที่ใช่ ก็จะตามมา และนำไปสู่คำตอบที่ใช่เช่นเดียวกัน 

แล้วจะฝึกการตั้งประเด็นที่คมมากพอได้อย่างไร ? เมื่อผู้ตั้งประเด็นมีข้อมูลพื้นฐานที่มากและรอบด้านมากพอที่จะทำให้เห็นว่าประเด็นไหนมีความน่าสนใจที่จะนำเสนอให้กับผู้รับสารนั้น 

สำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นพิธีกรสัมภาษณ์ และต้องตั้งประเด็นสัมภาษณ์เองนั้น ก็ต้องบอกตามตรงว่ายังไม่เก่งนัก และต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ความท้าทายคือ เราต้องทำสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอและมากขึ้นทุกวัน ไม่หยุดพัฒนา แล้ววันหนึ่งคำถามของเราจะนำไปสู่คำตอบที่ใช่ได้แน่นอน 


เขียนโดย: ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Program Director THE STUDY TIMES 

การศึกษาโลกอนาคต อีกนานไหม(ไทย)ถึงพร้อม | เปิด(ปม)ภาคการศึกษา EP.5

จากวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเขย่าวงการการศึกษา เรียกได้ว่าแตกกระจุยไม่ว่าจะเป็น การเรียนออนไลน์ การปรับหลักสูตรและวิธีการสอน รวมไปถึง Mindset ของครูอาจารย์และผู้ปกครอง

หลายคนสามารถปรับตัวได้ แต่ก็มีอีกหลายคนท่ีไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันประเทศไทย อยู่จุดไหนของโลก ชมจากคลิปนี้พร้อมๆ กันเลย‼️

.

.

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อารยธรรมอียิปต์โบราณเริ่มขึ้นราว 3,150 ปีก่อนคริสต์ศักราช ด้วยความสวยงาม ความลี้ลับ และ ตำนานที่นำมากล่าวขานกัน ผ่านภาพยนตร์ หนังสือต่าง ๆ ทำให้ผู้คนสนใจและใคร่รู้เกี่ยวกับความลับของแดนอียิปต์แห่งนี้

บทความนี้ พาไปย้อนประวัติศาสตร์ของแดนพีระมิด ในประเทศอียิปต์กันเล็กน้อย โดยผมอยากมาเล่าเรื่องราวของฟาโรห์ที่เชื่อว่าหลายท่านคงพอผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แต่จริง ๆ แล้วเรื่องของ ‘ฟาโรห์’ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ และความอัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่อีกมากครับ 

ฟาโรห์ (Pharaoh) เป็นชื่อตำแหน่งพระมหากษัตริย์อียิปต์โบราณของทุกราชวงศ์ มีรากศัพท์จากคำว่า ‘pr-aa’ แปลว่า ‘บ้านหลังใหญ่’ อันเป็นคำอุปมาหมายถึง ‘ปราสาทพระราชมนเทียร อียิปต์โบราณ’ หรือ ‘ไอยคุปต์’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ตั้งแต่ตอนกลางจนถึงปากแม่น้ำไนล์ โดยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศอียิปต์

อารยธรรมอียิปต์โบราณเริ่มขึ้นราว 3,150 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยการรวมอำนาจทางการเมืองของอียิปต์ตอนเหนือและตอนใต้ ภายใต้ฟาโรห์องค์แรกแห่งอียิปต์ และมีการพัฒนาอารยธรรมต่อเนื่องเรื่อยหลายพันปี 

ประวัติของอียิปต์โบราณที่เป็นช่วงที่โลกรู้จักกันอย่างมาก เป็นช่วงที่ ‘ราชอาณาจักร’ มีการแบ่งยุคสมัยของอียิปต์แบบมากมายไปตามราชวงศ์ที่ขึ้นมาปกครอง จนกระทั่งถึงราชอาณาจักรสุดท้าย หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘ราชอาณาจักรกลาง’ ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนามากมาย และก็ค่อย ๆ ลดลง อันเป็นเวลาเดียวกันที่ชาวอียิปต์พ่ายในการทำสงครามกับชนชาติอื่น เช่น อัสซีเรีย และเปอร์เซีย จนกระทั่งเมื่อ 332 ปีก่อนคริสต์ศักราช ก็ถึงกาลสิ้นสุดอารยธรรมอียิปต์โบราณลง เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสามารถยึดครองอียิปต์ และจัดให้อียิปต์เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งในจักรวรรดิมาซิโดเนีย

Maat เป็นทั้งเทพธิดาและตัวตนของความจริงและความยุติธรรม โดยขนนกกระจอกเทศของ Maat แสดงถึงความจริง

นอกจากนี้ ในสังคมอียิปต์โบราณ ‘ศาสนา’ เป็นศูนย์กลางของชีวิตประจำวัน โดยบทบาทหนึ่งของฟาโรห์ คือ การทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเทพเจ้าและผู้คน ดังนั้นฟาโรห์ จึงเป็นตัวแทนของเทพเจ้าในบทบาทที่เป็นทั้งผู้ปกครองและผู้นำทางศาสนา รวมถึงเป็นเจ้าของดินแดนทั้งหมดในอียิปต์ สามารถออกกฎหมายเก็บภาษี และปกป้องอียิปต์จากผู้รุกรานในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส่วนในทางศาสนาแล้วฟาโรห์ทรงเป็นผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนา และทรงเลือกสถานที่ตั้งของวัด มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษา Maat หรือ Maʽat (ระเบียบจักรวาลแห่งความสมดุลและความยุติธรรม) และรวมไปถึงการเข้าสู่สงครามเมื่อจำเป็น เพื่อปกป้องประเทศ หรือโจมตีผู้อื่นเมื่อเชื่อว่า สิ่งนี้จะมีส่วนช่วย Maat เช่น เพื่อการเพิ่มพูนทรัพยากร

ก่อนการรวมกันของอียิปต์ตอนบนและตอนล่าง Deshret หรือ "มงกุฎสีแดง" เป็นตัวแทนของอาณาจักรอียิปต์ตอนล่าง ในขณะที่ Hedjet ซึ่งเป็น "มงกุฎสีขาว" ถูกสวมใส่โดยกษัตริย์ของอาณาจักรแห่งอียิปต์ตอนบน หลังจากการรวมอาณาจักรทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นการรวมกันของมงกุฎทั้งสีแดงและสีขาวกลายเป็นมงกุฎของกษัตริย์อย่างเป็นทางการ เมื่อมีการเริ่มใช้ผ้าโพกศีรษะในช่วงระหว่างราชวงศ์ต่าง ๆ บางครั้งมีการพรรณนาถึงการสวมใส่เครื่องประดับศีรษะหรือมงกุฎเหล่านี้ด้วย

มัมมี่โบราณจากราชวงศ์ที่ 18 (1550 ถึง 1292 B.C.) เป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีจำนวนมากในสุสานที่อยู่ในเมืองลักซอร์ อียิปต์

แน่นอนว่าหากพูดถึงอียิปต์ อีกเรื่องที่ต้องพูดถึง คือ มัมมี่ (Mummy) หรือ ศพที่ดองหรือแช่ในน้ำยาพิเศษตามความเชื่อของอียิปต์โบราณ ที่มีการพันทั่วทั้งร่างกายด้วยผ้าลินินสีขาว เพื่อเป็นการรักษาสภาพของศพ ด้วยเชื่อว่า สักวันวิญญาณของผู้ตายจะกลับคืนร่างของตนเอง 

ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ คำว่า ‘มัมมี่’ มาจากคำว่า ‘มัมมียะ’ (Mummiya) ซึ่งเป็นคำในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง ร่างของซากศพที่ถูกดองจนกลายเป็นสีดำ ชาวอียิปต์โบราณจะทำมัมมี่ของฟาโรห์และเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ และนำไปฝังในลักษณะแนวนอนภายใต้พื้นแผ่นทรายของอียิปต์ อาศัยแรงลมที่พัดผ่านในแถบทะเลทรายอาระเบียและทะเลทรายในพื้นที่รอบบริเวณสุสาน เพื่อป้องกันการเน่าเปื่อยของซากศพที่อาบด้วยน้ำยา 

อียิปต์โบราณนั้นมีความเชื่อในเรื่องของชีวิตหลังความตาย การที่วิญญาณหวนกลับคืนร่าง ด้วยเชื่อว่า เมื่อวิญญาณออกจากร่างไปชั่วระยะเวลาหนึ่งจะหวนกลับคืนสู่ร่างเดิมของผู้เป็นเจ้าของ จึงต้องมีการรักษาสภาพของร่างเดิมเอาไว้ โดยการแช่และดองด้วยน้ำยาขี้ผึ้งหรือบีทูมิน (ยางสีดำสูตรเฉพาะในการทำมัมมี่) ซึ่งจะช่วยรักษาและป้องกันไม่ให้ซากศพเน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา

ค.ศ. 1922 Howard Carter ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก George Herbert, 5th Earl of Carnarvon เป็นผู้ค้นพบสุสาน KV62 ซึ่งเป็นสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน

สำหรับ ‘ฟาโรห์’ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดได้แก่ ‘ฟาโรห์ตุตันคาเมน’ (Tutankhamen) ซึ่งเป็นฟาโรห์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ มีพระชนม์อยู่ในราว 1341–1323 ปีก่อนคริสตกาล และเสวยราชย์ราวเก้าปีในช่วง 1332–1323 ปีก่อนคริสตกาลตามลำดับเวลามาตรฐาน อยู่ในช่วงที่ประวัติศาสตร์อียิปต์เรียกว่า ‘ราชอาณาจักรใหม่’ (New Kingdom) หรือ ‘จักรวรรดิใหม่’ (New Empire) นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ผลการตรวจสอบทางพันธุกรรมได้ยืนยันว่า ‘ฟาโรห์แอเคอนาเทิน’ (Akhenaten) มีความสัมพันธ์กับพี่สาวหรือน้องสาวของตน คือ ศพที่ตั้งชื่อว่า The Younger Lady จนมีโอรสด้วยกัน คือ ฟาโรห์ตุตันคาเมน 

ใน ค.ศ. 1922 Howard Carter ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก George Herbert, 5th Earl of Carnarvon เป็นผู้ค้นพบสุสาน KV62 ซึ่งเป็นสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จึงกลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนทั่วโลก ทั้งทำให้สาธารณชนสนใจอียิปต์ และหน้ากากพระศพก็ได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอียิปต์โบราณมาจนทุกวันนี้ ส่วนข้าวของเครื่องใช้จากสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน ยังได้ถูกนำไปจัดแสดงทั่วโลก 

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงการตายของบุคคลหลายคน นับแต่ค้นพบพระศพของพระองค์เป็นต้นมาว่าเกี่ยวข้องกับคำสาปฟาโรห์ ที่มีความเชื่อว่า สุสานฟาโรห์มีเวทมนตร์ที่ทรงพลังในตัวเอง และเชื่อว่ากษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์แล้วจะมีวิญญาณที่ทรงพลัง โดยการฝังพระศพในหมู่บรรพบุรุษ อาจจะช่วยให้ฟาโรห์ตุตันคาเมนบรรลุชีวิตหลังความตายได้ 

ถึงกระนั้น ก็ดูเหมือนว่า ฟาโรห์ตุตันคาเมน จะทรงต้องการถูกฝังไว้ในหลุมฝังพระศพที่สวยงามทั้งในหุบเขาหลักหรือในทุ่งนอกหุบเขาตะวันตกที่ซึ่งเสด็จปู่ของพระองค์ ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 ทรงถูกฝังอยู่ แต่ไม่ว่าพระองค์จะทรงตั้งใจอะไรก็ตาม ก็เป็นที่ทราบกันว่า พระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงถูกฝังอยู่ในหลุมฝังพระศพที่คับแคบ ซึ่งลึกลงไปในพื้นของหุบเขาหลัก

ฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดได้แก่ ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen)

8 เรื่องที่เรา (อาจ) ไม่รู้เกี่ยวกับฟาโรห์ตุตันคาเมน

1.) พระนามเดิมไม่ใช่ ตุตันคาเมน แต่เป็น ตุตันคาเตน ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า ‘ภาพที่มีชีวิตของเอเทน’ สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า พระบิดาและพระมารดาของฟาโรห์ตุตันคาเมนบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า ‘เอเทน’ หลังจากนั้นไม่กี่ปีในบัลลังก์ ฟาโรห์ตุตันคาเมน กษัตริย์หนุ่มก็ทรงเปลี่ยนศาสนาละทิ้งเอเทน และทรงเริ่มบูชาเทพเจ้าอามุน [ซึ่งเป็นที่เคารพในฐานะราชาแห่งเทพเจ้า] สิ่งนี้ทำให้พระองค์ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น ตุตันคาเมน ซึ่งแปลว่า “รูปชีวิตของอามุน”

2.) สุสานหลวงของฟาโรห์ตุตันคาเมนเป็นสุสานหลวงมีขนาดเล็กที่สุดในหุบเขากษัตริย์ ฟาโรห์พระองค์แรกสร้างปิรามิดที่อลังการจนสามารถมองเห็นกลางทะเลทรายทางตอนเหนือของอียิปต์ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงยุคอาณาจักรใหม่ (1550-1069 ปีก่อนคริสตกาล) ความนิยมเช่นนี้สิ้นสุดลง และกษัตริย์ส่วนใหญ่ทรงถูกฝังอยู่อย่างเป็นความลับในสุสานที่สร้างด้วยด้วยหินตัดเป็นก้อน ซึ่งมีการขุดอุโมงค์เข้าไปในหุบเขากษัตริย์ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ที่เมืองธีบส์ทางตอนใต้ (อันเป็นเมืองลักซอร์ในปัจจุบัน) สุสานเหล่านี้มีประตูที่ไม่สะดุดตา แต่ภายในทั้งกว้างขวางและได้รับการตกแต่งเป็นอย่างดี อาจเป็นไปได้ว่า ฟาโรห์ตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์เสียชีวิตตั้งแต่ยังวัยเยาว์เกินไปที่จะทำตามแผนการอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้สำเร็จ หลุมฝังพระศพของพระองค์ยังสร้างไม่เสร็จ ดังนั้นพระองค์เขาจึงต้องทรงถูกฝังไว้ในสุสานที่ไม่ใช่ของราชวงศ์แทน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากกษัตริย์พระองค์อื่นทรงสามารถสร้างสุสานที่เหมาะสมได้ในเวลาเพียงสองหรือสามปี และดูเหมือนว่า ฟาโรห์เอย์ (Ay) รัชทายาทผู้สืบทอดราชบัลลังก์ของฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่สืบทอดบัลลังก์ในฐานะผู้อาวุโสทรงได้ใช้เวลาเพียงสี่ปีหลังจากการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์ตุตันคาเมน ฟาโรห์เอย์เองก็ทรงถูกฝังอยู่ในหลุมฝังพระศพที่สวยงามในหุบเขาตะวันตกใกล้กับหลุมฝังพระศพของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 หลุมฝังพระศพของฟาโรห์ตุตันคามุนที่มีขนาดเล็กอย่างไม่เชื่อ นำไปสู่สมมติฐานที่ว่าอาจมีบางส่วนของสุสานที่ยังไม่ถูกค้นพบ ปัจจุบันนักไอยคุปต์วิทยากำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ที่อาจจะมีห้องลับซ่อนอยู่หลังกำแพงฉาบปูนของห้องฝังพระศพของพระองค์

3.) ฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงถูกบรรจุฝังในโลงศพใช้แล้ว มัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมนบรรจุอยู่ในโลงศพทองคำสามใบซึ่งประกอบเข้าด้วยกันเหมือนตุ๊กตารัสเซีย ในระหว่างพิธีพระศพจะมีการวางโลงศพไว้ในโลงศพที่ทำด้วยหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า น่าเสียดายที่โลงศพด้านนอกมีขนาดใหญ่เกินไปเล็กน้อย และส่วนนิ้วเท้าของโลงโผล่พ้นขอบโลงศพทำให้ไม่สามารถปิดฝาได้ ช่างไม้จึงถูกเรียกมาอย่างรวดเร็ว และส่วนนิ้วเท้าของโลงศพถูกตัดออกไป กระทั่งกว่า 3,000 ปีต่อมา Howard Carter จึงพบเศษชิ้นส่วนของโลงตกอยู่ที่บริเวณฐานโลงศพ

4.) ฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงโปรดการล่านกกระจอกเทศ มีการค้นพบพัดขนนกกระจอกเทศของฟาโรห์ตุตันคาเมนอยู่ในห้องฝังพระศพใกล้ๆ กับพระศพของฟาโรห์ เดิมพัดประกอบด้วยด้ามจับสีทองยาวที่มี 'ที่จับรูปฝ่ามือ' ทรงครึ่งวงกลมรองรับขนนกสีน้ำตาลและสีขาวสลับกัน 42 อัน ขนเหล่านี้ร่วงโรยไปนานแล้ว แต่เรื่องราวของพวกมันถูกเก็บรักษาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบนด้ามจับของพัด สิ่งนี้บอกว่า ขนมาจากนกกระจอกเทศที่ฟาโรห์ทรงล่าเองในระหว่างการล่าสัตว์ในทะเลทรายทางตะวันออกของเฮลิโอโปลิส (ใกล้กับไคโรในปัจจุบัน) ฉากนูนบนที่จับรูปฝ่ามือแสดงให้เห็นใบหน้าของฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงออกเดินทางบนราชรถเทียมม้าเพื่อล่านกกระจอกเทศ และในทางกลับกันฟาโรห์เสด็จนิวัติอย่างมีชัยพร้อมกับเหยื่อของพระองค์

5.) อวัยวะส่วนหัวใจของฟาโรห์ตุตันคาเมนขาดหายไป ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าสามารถมีชีวิตได้อีกครั้งหลังความตาย แต่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายได้รับการรักษาให้อยู่ในสภาพเหมือนจริง สิ่งนี้ทำให้พวกเขาพัฒนาศาสตร์แห่งการทำมัมมี่ขึ้น โดยพื้นฐานแล้วการทำมัมมี่เกี่ยวข้องกับการผึ่งศพให้แห้งในเกลือเนตรอนจากนั้นพันด้วยผ้าพันแผลหลาย ๆ ชั้นเพื่อรักษารูปร่างให้เหมือนจริง อวัยวะภายในร่างกายถูกนำออกเมื่อเริ่มกระบวนการทำมัมมี่ และเก็บรักษาแยกกัน สมองซึ่งเป็นส่วนที่ไม่รู้จักในเวลานั้นว่าทำหน้าที่อะไรถูกทิ้งไป หัวใจในยุคนั้นถูกมองว่า เป็นอวัยวะแห่งการให้เหตุผลแทนที่จะเป็นสมอง ด้วยเหตุนี้หัวใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตหลังความตาย ดังนั้นจึงถูกเก็บไว้ หรือถ้าเอาออกโดยไม่ได้ตั้งใจก็จะเย็บกลับทันที แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมก็ตาม มัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมนไม่มีหัวใจ เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นเพียงเพราะ ความประมาทของผู้ทำมัมมี่ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณว่า ฟาโรห์ตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์จากพระราชวัง เมื่อพระศพของพระองค์มาถึงห้องปฏิบัติการในการทำมัมมี่หัวใจของพระองค์อาจจะเน่าสลายจนเกินกว่าจะรักษาไว้ได้

6.) สมบัติชิ้นที่ทรงโปรดของฟาโรห์ตุตันคาเมนคือ กริชเหล็ก Howard Carter ค้นพบกริชสองเล่มที่ห่ออย่างระมัดระวังในผ้าพันแผลมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมน กริชเล่มหนึ่งมีใบมีดสีทอง ส่วนอีกเล่มมีใบมีดที่ทำจากเหล็ก กริชแต่ละเล่มมีปลอกทอง กริชเหล็กทั้งสองมีค่ามากเพราะในช่วงชีวิตของฟาโรห์ตุตันคาเมน (ครองราชย์ตั้งแต่ 1336-1327 ปีก่อนคริสตกาล) เหล็กหรือ "เหล็กจากท้องฟ้า" ตามที่ทราบกันดีว่าเป็นโลหะหายากและมีค่า ตามชื่อของมันคือ "เหล็กจากท้องฟ้า" ของอียิปต์นั้นได้มาจากอุกกาบาตเกือบทั้งหมด

7.) เสียงแตรของพระองค์สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมมากกว่า 150 ล้านคน สมบัติจากหลุมพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนมี เครื่องดนตรีชิ้นเล็ก ๆ ได้แก่ แคลปเปอร์ (Clappers) งาช้าง 1 คู่ ซิสตร้า (Sistra) 2 ตัว (เครื่องเขย่าแล้วเกิดเสียง) และทรัมเป็ตอีก 2 อัน อันหนึ่งทำจากเงินพร้อมปากเป่าสีทอง และอีกอันหนึ่งทำด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มด้วยทองคำบางส่วน และดูเหมือนว่า ดนตรีจะไม่ได้อยู่ในลำดับความสำคัญของชีวิตหลังความตายของฟาโรห์ตุตันคาเมนมากนัก ในความเป็นจริงแตรของพระองค์ควรได้รับการจัดประเภทให้เป็นยุทโธปกรณ์ทางทหารจะเหมาะกว่า วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2482 แตรทั้งสองได้ถูกเล่นในรายการวิทยุถ่ายทอดสดของ BBC จากพิพิธภัณฑ์ไคโร ซึ่งมีผู้ฟังประมาณ 150 ล้านคน Bandsman James Tappern ใช้กระบอกเป่าแบบปัจจุบันที่ทันสมัย ซึ่งทำให้กับทรัมเป็ตตัวสีเงินเสียงหาย ในปี พ.ศ. 2484 มีการเล่นทรัมเป็ตสำริดอีกครั้ง และคราวนี้ไม่มีกระบอกเป่าแบบปัจจุบัน ที่ทันสมัยแล้ว บางตำนานใน “คำสาปของฟาโรห์ตุตันคาเมน” อ้างว่า ทรัมเป็ตมีพลังอำนาจในการทำให้เกิดสงคราม การออกอากาศในปี พ.ศ. 2482 จึงทำให้อังกฤษต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

8.) ฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงถูกบรรจุในโลงศพที่แพงที่สุดในโลก สองในสามโลงศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนทำด้วยไม้ปิดด้วยแผ่นทอง แต่เป็นที่ประหลาดใจอย่างยิ่งของ Howard Carter ซึ่งพบว่า โลงศพด้านในสุดทำจากแผ่นทองหนา ๆ โลงศพนี้มีความยาว 1.88 เมตร และหนัก 110.4 กิโลกรัม ราคาในวันนี้จะมากกว่า 1 ล้านปอนด์ 

มัมมี่ในขบวนพาเหรดของผู้ปกครองอียิปต์สมัยโบราณเดินผ่านกลางกรุงไคโร

ปรากฎการณ์มัมมี่ในขบวนพาเหรดของผู้ปกครองอียิปต์สมัยโบราณที่เดินผ่านกลางกรุงไคโรนั้น ทางฟาโรห์ทั้งแปดและราชินีทั้งสี่จะถูกเชิญขึ้นยานพาหนะที่สั่งทำพิเศษ ซึ่งติดตั้งด้วยโช้คอัพพิเศษ โดยมีชาวอียิปต์ร่วมเป็นสักขีพยานในขบวนแห่ของผู้ปกครองอันเก่าแก่ผ่านกรุงไคโรนครหลวงของอียิปต์ 

มัมมี่ 22 ตัว เป็นของฟาโรห์ 18 พระองค์และราชินี 4 พระองค์ มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ถูกเคลื่อนย้ายจากพิพิธภัณฑ์อียิปต์ไปยังสถานที่ตั้งแสดงแห่งใหม่ที่อยู่ห่างออกไปราว 5 กม. (สามไมล์) ด้วยการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาสมกับเป็นราชวงศ์ และสถานะที่เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งมัมมี่ทั้งหมดจะถูกย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งอารยธรรมอียิปต์ของชาติที่ใหม่ ด้วยขบวนพาเหรดทองคำของฟาโรห์ และมัมมี่แต่ละตัวจะถูกเชิญขึ้นรถที่ได้รับการตกแต่งซึ่งติดตั้งโช้คอัพพิเศษ รวมถึงรถศึกที่ลากด้วยม้าจำลอง 

แต่เดิมบรรดามัมมี่จะถูกตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์อียิปต์อันเป็นสัญลักษณ์ และมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมมากมายในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลอียิปต์หวังว่า พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ (Royal Hall of Mummies) ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบจะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศที่สำคัญของประเทศ โดยห้องโถงได้รับการออกแบบเพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับภาพจำลองเสมือนจริงของหุบเขากษัตริย์ในเมืองลักซอร์ และพิพิธภัณฑ์ Grand Egyptian แห่งใหม่ โดยเป็นที่เก็บของสะสมของฟาโรห์ตุตันคาเมนที่มีชื่อเสียง เปิดให้บริการใกล้ๆ กับมหาปิรามิดแห่งกิซ่า จนกระทั่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอียิปต์ได้รับความเสียหายจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

'คำสาปของฟาโรห์' (Pharaoh's curse) เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

คำสาปของฟาโรห์

แม้ว่า ขบวนพาเหรดของฟาโรห์ผู้ปกครองอียิปต์สมัยโบราณผ่านกลางกรุงไคโร จะถูกมองว่า เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสนุกสนาน แต่มัมมี่ของอียิปต์มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อโชคลางและลางสังหรณ์ในอดีต ในห้วงเวลานั้นอียิปต์ต้องเผชิญกับภัยพิบัติหลาย ๆ อย่าง เช่น อุบัติเหตุรถไฟชนกันมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนในเมือง Sohag อียิปต์ตอนบน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คนเมื่ออาคารในกรุงไคโรถล่มลงมา จากนั้นเมื่อมีการเตรียมการเพื่อขนย้ายมัมมี่อย่างเต็มที่ คลองสุเอซก็ถูกเรือบรรทุกสินค้า MS Ever Given เกยฝั่งขวางกั้นเป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ 

จริยธรรมในการแสดงมัมมี่ของอียิปต์โบราณ จึงกลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก โดยนักวิชาการมุสลิมหลายคนเชื่อว่า คนตายควรได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและด้วยความเคารพ และไม่จัดแสดงเป็นสิ่งสนใจ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 อดีตประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต ได้สั่งปิดห้องมัมมี่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ โดยอ้างว่าห้องนี้ทำให้ผู้ตายเสื่อมเสีย เขาต้องการให้มัมมี่ถูกฝังใหม่แทน แม้ว่าจะไม่สมปรารถนาก็ตาม

กระทรวงศึกษาธิการจีนสั่งเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากหลายสถาบัน รวมทั้ง มหาวิทยาลัยเกริกของไทย หากไม่ได้รับการรับรองจะทำให้ปริญญาบัตรไม่สามารถใช้เรียนต่อและทำงานในประเทศจีนได้

ศูนย์นักศึกษาต่างชาติ กระทรวงศึกษาธิการจีน ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ระบุว่าได้รับการร้องเรียนจำนวนมากว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด สถาบันการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งได้เปิดหลักสูตรการเรียนออนไลน์ที่มีคุณภาพต่ำเพื่อดึงดูดนักศึกษา

เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักศึกษาชาวจีนที่ไปเรียนในต่างประเทศ และการดำเนินการที่เหมาะสมของตลาดการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจีนจะเพิ่มความเข้มในการตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้

1. Sekolah Tinggi Ilmu Ekonomi IBMT อินโดนีเซีย

2. University of Perpetual Help System Dalta ฟิลิปปินส์

3. มหาวิทยาลัยเกริก ประเทศไทย

4. Universidad Rey Juan Carlos สเปน

กระทรวงศึกษาธิการจีนจะเพิ่มระยะเวลาในการตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ โดยใช้เวลาไม่เกิน 60 วันทำการ โดยจะตรวจสอบเอกสารและสถานภาพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นอิสระ

ต้นฉบับประกาศ http://www.cscse.edu.cn/web/xsy/411032/504070/index.html

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า มหาวิทยาลัยเกริก ถูกซื้อกิจการโดยกลุ่มทุนจากประเทศจีน เพื่อขยายหลักสูตรนานาชาติโดยมีนักศึกษาชาวจีนเป็นกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่หลักสูตรของนักศึกษาไทยก็ยังทำการเรียนการสอนตามปกติ

ขณะนี้ รัฐบาลจีนมีนโยบายจัดระเบียบธุรกิจด้านการศึกษา โดยสั่งระงับกิจการโรงเรียนกวดวิชาจำนวนมาก และกำลังขยายผลมายังการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดหลักสูตรเพื่อดึงดูดนักศึกษาจีน โดยไม่ได้มาตรฐาน

ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการจีนได้มีคำสั่งระงับการรับรองวุฒิการศึกษาของ North Borneo University College ประเทศมาเลเซีย และสั่งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศเบราลุส


ที่มา: https://mgronline.com/china/detail/9640000087937

อว. จับมือ บีโอไอ ป้อนแรงงานคุณภาพสูงตามความต้องการอุตสาหกรรมไฮเทคจากไต้หวัน ได้ฝึกทักษะควบคู่ทำงานจริง รูปแบบ “โรงเรียนในโรงงาน” รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 15,000/เดือน

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังการประชุมหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) เรื่องการสนับสนุนกำลังคนทักษะสูงตามความต้องการของอุตสาหกรรมระดับสูงจากต่างประเทศ โดยกล่าวว่า

อว. พร้อมสนับสนุนบีโอไอ ในการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนักลงทุนเก่าและนักลงทุนใหม่ ที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงในประเทศไทย ซึ่งต้องการแรงงานคุณภาพสูง มีทักษะที่จำเป็นในการทำงานในโรงงานที่มีเทคโนโลยีระดับสูง โดย สอวช. และ สวทช. มีประสบการณ์ในการจัดหา ดูแล ประสานงาน และฝึกอบรมแรงงาน ภายใต้โครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) ในรูปแบบ โรงเรียนในโรงงาน โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในวันนี้ คือบริษัทแคล-คอมพ์จากไต้หวัน เป็นผู้ผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทยมากว่า 30 ปี มีความต้องการขยายฐานการผลิตร่วมกับบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา โดยต้องการแรงงานทักษะสูงประมาณ 400 ตำแหน่งภายในปีนี้

แรงงานดังกล่าวจะได้รับการฝึกฝนทักษะไปพร้อม ๆ กับการทำงานจริง ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาโทเป็นพี่เลี้ยง ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายโรงงานและรับแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่า 2,000 ตำแหน่งในอนาคต

“นี่เป็นเพียงตัวอย่างของหนึ่งบริษัทจากต่างประเทศที่เลือกลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงในประเทศไทย เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมของประเทศไทยโดยบีโอไอ ประกอบกับการดำเนินการจัดตั้งศูนย์พัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการลงทุน โดย อว. จะทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะมีแรงงานทักษะสูงที่พร้อมป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไฮเทค สร้างงานและรายได้ให้แก่คนไทย เพิ่มจีดีพีให้แก่ประเทศ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวหรือ Resiliency ของประเทศไทย ที่จะผ่านพ้นวิกฤตและมุ่งสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว


ที่มา: https://www.facebook.com/184257161601372/posts/4950589134968127/

ผู้ว่าฯ สงขลา มอบโล่เกียรติคุณ แก่น้องสไปรท์ นักเรียนโรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ หาดใหญ่ ที่คว้าเหรียญทอง จากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 62 ประจำปี 2564 (IMO 2021)

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบโล่เกียรติคุณแก่เด็กชายพิพิชชญะ ศรีดำ หรือน้องสไปรท์ นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 62 ประจำปี 2564 (IMO 2021) ซึ่งเป็นการแข่งขันผ่านระบบออนไลน์จากประเทศไทย โดยมีสหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 14–24 กรกฎาคม 2564 



สำหรับการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้มีเยาวชนกว่า 619 คน จาก 107 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ข้อสอบประกอบไปด้วยคำถาม 6 ข้อที่ถูกเลือกมาจากเนื้อหาคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาหลายสาขา ผู้เข้าแข่งขันจะต้องหาคำตอบและแสดงวิธีทำ โดยแต่ละคำถามมีคะแนนเต็ม 7 คะแนน ผู้เข้าแข่งขันต้องทำคะแนนรวมให้ได้ 24, 19 และ 12 คะแนนจากคะแนนเต็ม 42 คะแนน จึงจะได้เหรียญทอง, เงิน และทองแดงตามลำดับ



ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวชื่นชม และแสดงความยินดีกับน้องสไปรท์ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมต้น Year 9 ของโรงเรียนนานาชาติบลูมส์เบอรี่ หาดใหญ่ ที่เป็นตัวแทนนักเรียนไทย 1 ใน 6 คน เข้าร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวสงขลาทุกคน เพราะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นในต่างจังหวัดเพียงคนเดียวของประเทศไทย ที่ผ่านเข้าไปแข่งขันกับนักเรียนมัธยมปลาย จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ ครั้งที่ 62 ผ่านระบบออนไลน์ และได้รับคะแนนสูงสุด สามารถคว้าเหรียญทองได้เพียงคนเดียวของทีม


 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top