หัวใจของการทำพิธีกรสัมภาษณ์ คือการฟังคู่สนทนาอย่างตั้งใจ การตั้งประเด็น เป็นที่มาของการตั้งคำถามในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง เมื่อตั้งประเด็นที่ใช่ การตั้งคำถามที่ใช่ก็จะตามมา และนำไปสู่คำตอบที่ใช่เช่นเดียวกัน

“การตั้งคำถามที่ดี จะนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้อง” คำสอนสำหรับพิธีกรสัมภาษณ์จากรุ่นพี่สู่พิธีกรรุ่นน้องเสมอๆ และทุกครั้งที่ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดคำสอนนี้ก็มักจะมีคำถามตามมาเสมอว่า แล้วคำถามที่ดี คำถามที่ถูก คือแบบไหนกันหรือ ? 

คำถามที่ทำให้ผู้ตอบรู้สึกดี ?
คำถามที่ใคร่รู้สงสัย ? 
คำถามที่ทำให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ ? 
หรือคำถามแบบไหนกัน 

แต่ทุกครั้งที่ถามและตอบ แล้วทำให้ทั้งผู้ถามและผู้ตอบรู้สึกดีในบทสนทนา อย่างน้อยที่สุดก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตามหัวใจของการทำพิธีกรสัมภาษณ์ ไม่ใช่การพูด แต่คือการฟังคู่สนทนา ฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ยินว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร แล้วเราก็จะได้ประเด็นที่จะสามารถต่อยอดได้ 

เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการฟังจากการคุย ไม่เหมือนการฟังเพื่อจดเลคเชอร์ การควบคุมบรรยากาศ การแสดงท่าที การมีส่วนร่วมระหว่างกัน จะทำให้การพูดคุยนั้นสนุกและน่าสนใจ แต่หากพิธีกรสติไม่อยู่กับการฟังแต่ดันเพลินไปกับการพูดคุย ก็จะทำให้หลุดประเด็นในการสัมภาษณ์เช่นเดียวกัน 

การเป็นพิธีกรสัมภาษณ์จึงต้องมีการฝึกฝน ฝึกให้มาก ตั้งคำถามให้เยอะ แล้วจะตั้งคำถามจากพื้นฐานของอะไร ?

ก็ประเด็นยังไงหล่ะ ?  การตั้งประเด็น จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง การตั้งประเด็นจึงมีความสำคัญมาก ว่าวันนี้อยากคุยในประเด็นไหน ประเด็นนั้นมีความน่าสนใจไหม ประเด็นนั้นให้อะไรแก่ผู้รับ ซึ่งนี่ต่างหากคือที่มาของการตั้งคำถาม เมื่อตั้งประเด็นที่โดน ที่ใช่ การตั้งคำถามที่ใช่ ก็จะตามมา และนำไปสู่คำตอบที่ใช่เช่นเดียวกัน 

แล้วจะฝึกการตั้งประเด็นที่คมมากพอได้อย่างไร ? เมื่อผู้ตั้งประเด็นมีข้อมูลพื้นฐานที่มากและรอบด้านมากพอที่จะทำให้เห็นว่าประเด็นไหนมีความน่าสนใจที่จะนำเสนอให้กับผู้รับสารนั้น 

สำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นพิธีกรสัมภาษณ์ และต้องตั้งประเด็นสัมภาษณ์เองนั้น ก็ต้องบอกตามตรงว่ายังไม่เก่งนัก และต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ความท้าทายคือ เราต้องทำสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอและมากขึ้นทุกวัน ไม่หยุดพัฒนา แล้ววันหนึ่งคำถามของเราจะนำไปสู่คำตอบที่ใช่ได้แน่นอน 


เขียนโดย: ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Program Director THE STUDY TIMES