การตั้งคำถาม กระตุ้นให้พวกเขามีโอกาสแสดงความเป็นตัวตน มอบพื้นที่แห่งความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออก เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง และค้นหาทางออกด้วยตัวของเขาเอง

การตั้งคำถามที่ทรงพลัง (Powerful Questioning) คือ การตั้งคําถามที่ช่วยให้คู่สนทนาสามารถจัดการความคิดยุ่งเหยิงของตนเองให้เป็นระบบระเบียบ และเมื่อความคิดความรู้สึกถูกจัดเรียงใหม่แล้ว เขาจะมีความพร้อมในการตั้งเป้าหมาย ประเมินสถานการณ์ มองหาทางเลือกต่างๆ และตัดสินใจเลือกวิธีการเดินหน้าต่อได้ชัดเจน 

การตั้งคำถามที่ทรงพลัง เป็นทักษะสำคัญที่ใช้ในการโค้ชเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการทำโครงการ/กิจการเพื่อสังคม แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือใช้สื่อสารกับผู้ที่กำลังสับสน ให้ได้ค้นพบคำตอบและแนวทางต่อด้วยตนเอง

1. คำถามกระตุ้นวิสัยทัศน์และเป้าหมาย 

วัยรุ่นค่อนข้างสับสนในตัวเอง เพราะมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อช่วยให้วัยรุ่นได้เข้าใจตัวเอง มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น จะได้มองเห็นภาพอนาคต จะได้มีความชัดเจนในตัวเอง ด้วยการตั้งคำถามกระตุ้นให้พวกเขาได้รู้จักข้อดีข้อเสีย โอกาสและอุปสรรคของตัวเอง จะได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตที่แคบลง  เช่น

 “วันนี้เราจะคุยเรื่องอะไรกันดี” 
“คิดว่าทักษะอะไรสำคัญบ้าง”
“สุดท้ายต้องการเห็นอะไร หลังจากที่จบการคุยกัน”
“จากจุดนี้ต้องการไปให้ถึงจุดไหน”
“คิดว่านิสัยส่วนไหนของเราที่อาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในเป้าหมายนะ”
“คิดว่านิสัยส่วนไหนที่เป็นจุดแข็งของเรานะ”

2. คำถามชวนตระหนักถึงความจริงที่เกิดขึ้น

ในเวลาที่ข้อมูลเยอะ เกิดความสับสนในชีวิต มักทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความลังเลสงสัย เกิดจินตนาการและการคาดการณ์ต่างๆ นานา เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงความจริงที่อยู่ตรงหน้า ช่วยตรวจสอบมุมมองของข้อมูลให้รอบด้านมากขึ้น “ข้อมูลที่พบ มีที่มาจากแหล่งใด” (ช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล) ด้วยการตั้งคำถามให้พวกเขาตระหนักและยืนอยู่บนพื้นฐานตามความจริง พร้อมช่วยประเมินสถานการณ์เบื้องต้น เช่น

“มีใครหรือหน่วยงานใดบ้างที่ทำงานในประเด็นนี้อยู่บ้างนะ”
“เกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดผลลัพธ์หรือผลกระทบกับคุณอย่างไรบ้าง”
“คิดว่ามีส่วนไหนบ้างที่ไม่จำเป็นในเบื้องต้น”
“ที่ผ่านมามีตรงจุดไหนบ้างที่เราพลาดไปไม่ได้ทำ”

3. คำถามชวนค้นหาทางเลือก

เมื่อช่วยให้วัยรุ่นมีจุดตั้งต้นอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงแล้ว ขั้นต่อไปคือการชวนคิดถึงโอกาสและทางเลือกต่างๆ โดยกลับไปเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น

– ถามเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และเปิดพื้นที่ให้เขาได้ทดลองคิดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ เช่น 

“คิดว่ามีไอเดียหรือทางเลือกใดบ้าง ที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน”
“เราจะพัฒนาสิ่งที่เรามีได้อย่างไรนะ”
“เกี่ยวกับเรื่องนี้เลวร้ายที่สุดคือเรื่องใด”
“หากมีคนที่อยู่ในสถานการณ์เหมือนเราตอนนี้ คุณจะแนะนำเขาว่าอย่างไร”
 “คุณจะมีแผนรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแต่ละทางเลือกอย่างไรบ้าง”

ขั้นตอนนี้จะเป็นตัวสรุปการพูดคุย โดยเราอาจช่วยให้วัยรุ่นทบทวนสิ่งที่คุยกัน ตั้งแต่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ความเป็นจริงที่ผ่านมา และทางเลือกต่างๆ เพื่อให้คิดวิเคราะห์ และตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกทางใดดี ซึ่งเราอาจเพิ่มคำถามเพื่อย้ำบทสรุปให้เห็นแผนที่ชัดเจนขึ้น เช่น “คิดว่าจะพร้อมลงมือทำตามไอเดียที่เลือกเมื่อไรดี” หรือ “สรุปว่าเราจะทำอะไรกันต่อบ้าง” เป็นต้น
 
4. ทำความเข้าใจก่อนค่อยถามต่อ 

ระหว่างการพูดคุย หากพบว่ามีข้อมูลบางอย่างที่ไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจตรงกับวัยรุ่นหรือไม่ อย่างไร ให้จัดการเคลียร์ความเข้าใจนั้นให้กระจ่างก่อน เช่น ศัพท์เฉพาะ ให้อธิบายให้เข้าใจ หรือ เรื่องนามธรรมให้เปรียบเทียบเปรียบเปรยให้เห็นได้ชัดๆ ด้วยการพูดว่า

 “ตรงนี้นิดหนึ่งนะ…ที่คุณพูดว่า….(ทวบทวนสิ่งที่เราได้ยิน)”
“ที่คุณพูดว่า……(บอกสิ่งที่เราเข้าใจ)…ว่าใช่หรือไม่”
“นิดหนึ่ง….(บอกสิ่งที่เราเข้าใจ)….ไม่ทราบว่าเข้าใจตรงกันไหมคะ”

ซึ่งหากผลออกมาว่าเราเข้าใจไม่ตรงกับเป้าหมายของวัยรุ่น ขอแนะนำให้จดบันทึกไว้ว่า ประเด็นหลักที่วัยรุ่นต้องการสื่อสารแต่แรกคือเรื่องใด และขณะนี้เราต้องหยุดพักซักครู่เพื่อทำความเข้าใจเรื่องใดก่อน เพื่อป้องกันการคุยหลุดประเด็น

เคล็ดลับอยู่ตรงที่ การตั้งคำถามกระตุ้นให้พวกเขาได้มีโอกาสแสดงความเป็นตัวตน มอบพื้นที่แห่งความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยในการแสดงออก เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง และค้นหาทางออกด้วยตัวของเขาเอง เราแค่เป็นตัวกลางที่ช่วยให้เขาเข้าถึงความจริงในตัวเองให้ได้ 

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/11291/
https://www.hcdcoaching.com/17020389/ทักษะการถาม-questioning-skill