ผู้ที่เรียนลัดและก้าวไปสู่การเป็น 'สื่อพลเมือง' นั้น มักจะมีข้อเสียสุดยิ่งใหญ่จากความเชื่อมั่นในวิจารณญาณของตนจนไร้ขอบเขต สิ่งนั้น คือ ความรู้ด้านจริยธรรม หรือจรรยาบรรณของสื่อมวลชน!!

คำว่า 'สื่อพลเมือง' อาจฟังดูไม่ชัดเจนหรือดูเข้าใจง่ายเท่ากับคำว่า 'สื่อภาคประชาชน' หรือ 'นักข่าวประชาชน'

แต่คำๆ นี้เริ่มมีบทบาทกับโลกของสื่อยุคใหม่ โดยบางครั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนักข่าวเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะทำเพราะเป็นกิจกรรมที่ชอบโดยส่วนตัว หรือด้วยความรู้สึกท้าทายว่าตนทำหน้าที่เสนอข่าวและข้อมูลได้ดี จนหวังการอวยยศให้เป็น 'นักข่าวอิสระ' ก็ตามนั้น มีสิ่งหนึ่งที่ผมแอบห่วง!! 

สื่อพลเมือง สามารถเสนอเนื้อหาได้อย่างมีอิสระ ไม่มีใครควบคุมหรือกลั่นกรองข้อมูล

สื่อพลเมือง สามารถนำเสนอเรื่องราวได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งทางวิทยุ, ทีวี, พอดแคสท์, ยูทูบ, โซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ, บล็อกและเว็บไซต์

สื่อพลเมือง อาจทำงานลำพัง หรือมีผู้ร่วมงานและทีม ช่วยกันคิดรูปแบบ คอนเทนต์ และสไตล์อันจะสร้างความแตกต่างให้ตนเด่นขึ้นมา

สื่อพลเมือง เกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันที่หามาได้ในราคาไม่แพง ทำให้ความฝัน ที่อยากเป็น 'สื่อพลเมือง' กลายเป็นจริงได้ง่ายกว่าแต่ก่อน เช่น กล้องจากโทรศัพท์มือถือ มีคุณภาพสูงพอเพียงทั้งสำหรับภาพนิ่งและภาพวิดิโอ ซอฟท์แวร์ตัดต่อภาพและเสียง ที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อแบบจัดเต็ม ก็สร้างลูกเล่นจากฟังก์ชั่นที่สามารถผลิตคลิปวิดิโออันเร้าใจและอยู่ระดับมาตรฐานสากลได้ 

สื่อพลเมือง สามารถเพิ่มพูนทักษะของตนได้จากการอ่าน, คำแนะนำจากผู้อื่น, บทความออนไลน์, ดูจากคลิปออนไลน์, เรียนจากการสอนออนไลน์

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือ ศักยภาพของสื่อพลเมืองยุคใหม่ ที่เรียนรู้ทุกอย่างของอาชีพสื่อได้หมดโดยไม่ต้องจบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยใดๆ

พูดแบบนี้ แล้วรู้สึกว่าต่อจากนี้ไม่ต้องมีระบบการศึกษาที่เกี่ยวกับสื่ออีกเลยก็น่าจะได้!! 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการเรียนรู้ในระบบอุดมศึกษา ไม่ได้ว่าด้วยการพัฒนาทักษะทางด้านเทคนิค หรือครอบคลุมเฉพาะเรื่อง 'เนื้อหา' ของการนำเสนอ ทั้งข่าว สารคดี งานบันเทิง การคิดเชิงวิเคราะห์ หลักการวิจารณ์ ที่ดูๆ แล้ว สื่อพลเมือง ก็คงเรียนลัดเองได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ระบบการศึกษาได้สอน และเชื่อได้ว่า 'สื่อพลเมือง' จะไม่มีวันเรียนรู้ได้ คือ... 

จริยธรรมของการเป็นสื่อ!! 

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับผู้อ่านในที่นี้ คือ ผู้ที่เรียนลัดและก้าวไปสู่การเป็น 'สื่อพลเมือง' นั้น มักจะมีข้อเสียสุดยิ่งใหญ่จากความเชื่อมั่นในวิจารณญาณของตนจนไร้ขอบเขต

สิ่งนั้น คือ ความรู้ด้านจริยธรรม หรือจรรยาบรรณของสื่อมวลชน!! 

ในกระบวนการด้านการศึกษาที่จัดทำเป็นรายวิชานั้น จะมีวิชาหนึ่งที่นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนต้องเรียน รวมทั้งยังมีหนังสือ, ตำราวิชาการ และเนื้อหาเชิงวิเคราะห์จากผู้ประกอบอาชีพสื่อและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง มาถ่ายทอดเป็นความรู้แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อโดยไม่ได้จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนโดยตรงมากมายด้วย

อันที่จริงจรรยาบรรณของสื่อ ไม่ใช่กรอบความคิดที่นิ่งอยู่กับที่ หรือไม่แปรเปลี่ยน หากแต่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่ต่างจากจรรยาบรรณในสาขาอื่นๆ

โดยบรรทัดฐานที่เคยใช้เป็นแนวทางในการเสนอข้อมูลต่อสาธารณชน จะมีการเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมและค่านิยมของผู้เสพสื่อ ยิ่งเมื่อทุกสิ่งถาโถมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่เน้นการเสนอข้อมูลแบบแข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว ความรอบคอบและความใส่ใจ ต่อความถูกต้องก็ลดน้อยลง เรื่องจริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นขึ้น

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ...ทุกวันนี้หลายคนคงเห็นข่าวปลอม ข่าวผิด ข่าวมั่ว ข่าวโจมตี ข่าวปลุกปั่น ที่ไหลซัดมาพร้อมกับความเร็ว แต่บังเอิญเป็นความเร็วที่มากับการมุ่งที่จะแข่งขันเพียงแค่หวังสร้างความนิยม และฉวยโอกาสจากยอดการติดตามเท่านั้น

หมายความว่าอะไร? 

สื่อพลเมือง กำลังเข้ามามีบทบาทในการ 'ลด' เพดานของจรรยาบรรณสื่อ เพื่อที่จะแต่งเติมให้พาดหัวข่าว กระตุ้นความสนใจได้ สื่อใช้ภาพประกอบที่ไม่ตรงกับเรื่อง หรือนำภาพของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับการอนุญาติ และทำให้สื่อหลักที่น่าเชื่อถือ ยังหลงประพฤติตนตาม เพื่อยอดรับชม

ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่ลุกลามในกลุ่ม 'สื่อพลเมือง' ส่วนหนึ่งผมมองแง่บวกว่าเพราะทำงานกันอิสระ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดการช่วยกันกลั่นกรองตรวจตรา ขาดประสบการณ์ที่ตกผลึก หรือผู้รู้ที่จะช่วยกรองข้อมูลที่ผิดพลาด ล่อแหลมและล่วงละเมิดออกไปจากเนื้อหาและพาดหัวเรื่อง

>> Citizen media is here to stay – สื่อพลเมืองจะอยู่ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง ในบทบาทของสื่อพลเมือง แต่เชื่อว่า 'สื่อพลเมือง' จะอยู่กับเราตลอดไป และจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาทดแทนสื่อหลักในอดีต  

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเห็น ในวันที่สื่อพลเมือง พร้อมจะแปลงร่างเป็นสื่อหลักได้ทุกเมื่อ คือ การยกระดับศักยภาพของสื่อพลเมือง เมื่อคิดจะเป็นสื่อ ต้องเป็นสื่ออย่าง 'มืออาชีพ' เหมือนกับสื่อที่มีสังกัดชัดเจน ที่เขียนข่าวหรือบทความให้กับหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือค่ายวิทยุข่าว (ทั้งข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม ข่าวบันเทิง และข่าวกีฬา)

ผมไม่อยากเห็นสื่อพลเมือง อาศัยความเป็นอิสระและรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่นำเสนอ

ยิ่งสื่อพลเมือง ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก มีอิทธิพลต่อการรับรู้และพฤติกรรมของผู้ติดตามมากไม่น้อยกว่าสื่อสำนักใหญ่ ยิ่งควรทำงานด้วยความระมัดระวัง 

>> เพราะนี่คือการก้าวเข้าเท้ามาในสายสื่อแล้วแบบค่อนตัว
>> จริยธรรมและจรรยาบรรณในการสร้างสรรค์สื่อจึงควรพึงมี 
>> และจงพึงรับรู้ว่าทุกการสื่อสารของคุณ ควรต้องอยู่บนเกียรติและศักดิ์ศรีของตนและผู้อื่น
>> เนื่องจากสื่อของคุณอาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครบางคน จงท่องให้ขึ้นใจว่า "อะไรคือความรับผิดชอบต่อสังคม" 

อย่างไรซะ ก็ไม่ใช่ว่าจะมาพูดจาเพียงเพื่อกล่าวโทษ อิสรภาพของสื่อพลเมืองที่นำมาสู่จริยธรรมอันมืดบอด แต่อยากบอกทางรอดให้ในตัว โดยผมอยากให้ภาคส่วนที่มีบทบาทต่อห่วงโซ่ของสื่อต้องตื่นตัว!!  

ควรมีการจัดอบรมเพื่อเติมเต็มให้กับความรู้และแนวคิดด้านสื่อสารมวลชนแก่ สื่อพลเมือง อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะจะเป็นสถาบันหรือหน่วยงานที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอาชีพได้ ก็จัดมาให้เต็มที่ เช่น มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวารสารศาสตร์และนิเทศศาสตร์ บริษัทโฆษณา สำนักนายกรัฐมนตรี กรมประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ

หน่วยงานเหล่านี้ ต้องออกมาเล่นเกมรุก ต้องมุ่งอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสื่อพลเมือง โดยมีเงื่อนไขที่ว่าอย่าพยายามยัดเยียดบุคลากรของตน หรือผู้อาวุโสทางตำแหน่งเข้าไปในการอบรม แบบนั้นมันเอาท์!! ในทางตรงกันข้าม ต้องคัดเฟ้นบุคลากรด้านวิชาการที่มีเครดิตเป็น 'นักคิด' และผู้มีประสบการณ์ในการทำงานสื่อตัวจริงในโลกยุคใหม่ ซึ่งตรงนี้ไม่ติดว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่า แต่ขอเป็นบุคคลที่เชื่อมโซ่ข้อกลางของวงการสื่อยุคนี้ให้ได้

จับคนเหล่านี้มาเจอกัน เรียนรู้กันและกัน แลกเปลี่ยนไปด้วยกัน ตรงนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายด้านอาชีพที่มีลักษณะจับต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำสื่อจากเพื่อนร่วมอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้สื่อพลเมืองต้องพัฒนาตนเองเพื่อจะได้อยู่ในระนาบเดียวกับเพื่อนร่วมอาชีพในแง่ของมาตรฐานและจริยธรรม

นอกจากนี้ อยากให้ตระหนักถึง 'การคัดเลือก' โดยการเฝ้าติดตาม หรือสร้างการประกวดเพื่อมอบรางวัลแก่สื่อบ่อยๆ ฟังดูอาจเป็นวิธีที่ล้าสมัย แต่การชนะรางวัลเอย การมีวุฒิบัตรเอย โล่ห์เกียรติคุณเอย ย่อมผลักดันให้อาชีพนั้นๆ อยากรักษาและปรับปรุงคุณภาพของงานให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งอาชีพสื่อก็ไม่ต่างกัน

และนั่นอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บรรดา สื่อพลเมือง อยากก้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตข่าวอย่างถูกต้อง ปัญหาการสร้างข่าว หรือเขียนข้อมูลขึ้นมาเองจะค่อยๆ หมดไป 

สิ่งที่จะตามมา คือ พวกเขาจะต้องแน่ใจว่าข่าว และข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมดเป็นความจริง มีหลักฐานยืนยันได้ ก่อนนำออกเสนอหรือตีพิมพ์ จะต้องแน่ใจว่าไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ทั้งโดยตัวอักษรหรือภาพ และต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย 

เชื่อไหมว่า ทุกวันนี้ สื่อพลเมือง หลายกลุ่มกำลังย่ำแย่ เนื่องจากไม่มีความเข้าใจในด้านกฎหมาย เพราะด้วยความที่ไม่มีสังกัด หรือองค์กร คิดว่าอิสรภาพของตนไร้ขอบเขต พอเจอฟ้องเอาผิด ก็หาคนช่วยเหลือหรือปกป้องคอนเทนต์ไม่ได้ สุดท้ายต้องมาเสียทั้งเงินและเวลาเอาง่ายๆ

แน่นอนว่า วันนี้จุดแข็งของ สื่อพลเมือง และผู้ผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต คือ การสร้างสูตรในการนำเสนอ จนผมเชื่อมั่นเหมือนกันว่า บรรดาสื่อพลเมืองเหล่านี้ ก็ได้สร้างบรรทัดฐานของความสำเร็จ จนเหมือนเป็นนักวิชาการอิสระ ที่ช่วยชี้นำทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อได้มาก

เพียงแต่พวกเขา ควรต้องมีพื้นที่ยืนอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดเกียรติภูมิในอาชีพ มีตัวตนที่จับต้องได้ และมีความภูมิใจ ที่จะเสนอเนื้อหาที่มีพร้อมรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป


เขียนโดย: แพท แสงธรรม นักวิชาการอิสระ ด้าน Communication facilitator และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ระยะเวลามากกว่า 23 ปี