งานพิธีเปิด “Tokyo olympic 2020” ที่ผ่านมาหลาย ๆ คนยังคงประทับใจกับแสง สี เสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ทางประเทศญี่ปุ่นได้จัด นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงวัฒนธรรมรวมไปถึงเอกลักษณ์บางอย่างในประเทศมาแสดงในพิธีเปิดนี้อีกด้วย

ในช่วงนี้มหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ 2020 กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ประเทศไทยเรามีเรื่องให้น่ายินดีกันไปแล้วกับเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญแรกของกีฬาเทควันโด กับน้องเทนนิส พาณิภัค ซึ่งเป็นการเบิกชัยให้กับทัพนักกีฬาไทยเป็นเหรียญแรกของการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ อย่างที่เราทราบกันว่าต้องจัดขึ้นท่ามกลางโรคระบาดอย่างโควิด-19 ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นงานมหกรรมกีฬาที่คนทั่วโลกต่างรอคอย และหลาย ๆ คน ยังคงประทับใจจากเมื่อครั้งพิธีปิดโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ที่ช่วงของการส่งต่อการเป็นเจ้าภาพที่นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปี 2016 ขณะนั้น ได้แต่งตัวเป็นมาริโอ ในเกมชื่อดัง "ซูเปอร์ มาริโอ" ร่วมพิธีปิดเพื่อรับช่วงต่อในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 เป็นภาพที่หลาย ๆ คนติดตา และคาดหวังว่าในโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียว เราจะได้เห็นพลัง Soft Power หรือวัฒนธรรมป็อปของญี่ปุ่นในการจัดงาน ทำให้ทุกคนรอคอยการจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่นในครั้งนี้ 

นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในพิธีปิดโอลิมปิก 2016

แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 อะไรหลาย ๆ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นได้วางแผนไว้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป บรรยากาศของพิธีเปิดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ลดความรื่นเริงหรือการเฉลิมฉลอง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้หายไปไหน คือความเป็นญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น คำที่หลาย ๆ คนอุทานในการชมพิธีเปิดในครั้งนี้ และทำให้ผู้เขียนได้นึกถึงเรื่อง “Soft Power” ที่เคยเขียนไว้ เพราะการจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้ก็ปฏิเสธได้เลยว่าญี่ปุ่น ได้ดึง Soft Power ที่โดดเด่นของประเทศมาใช้ในการแสดงพิธีเปิดงานโอลิมปิกเกมส์ 2020 เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา 

เช่น ในช่วง Parade of Athletes ได้นำเพลงจากวิดีโอเกมมาเป็นเพลงเดินเข้าสนามของนักกีฬาในลักษณะเมดเลย์ เช่น Dragon Quest, Final Fantasy, Tales of series, Monster Hunter, Kingdom Hearts, Ace Combat, Sonic the Hedgehog, Winning Eleven (Pro Evolution Soccer) เป็นต้น ในรูปแบบวงออร์เคสตราอย่างยิ่งใหญ่อลังการต้อนรับนักกีฬาแต่ละประเทศ หรือการออกแบบ PLACARDS (ป้ายนำขบวนนักกีฬา) ก็มีการออกแบบเป็นรูป Bubble แบบในมังงะที่เราคุ้นเคยในการอ่านการ์ตูน รวมไปถึงชุดของผู้ถือป้ายนำขบวนแต่ละประเทศที่ออกแบบให้สอดคล้องกับป้าย รวมถึงลำดับการเรียงประเทศที่ใช้ตามตัวอักษรของประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเกม หรือการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่นที่เค้าไม่ได้มองว่าเป็นสื่อที่สร้างความบันเทิง แต่มันคือ Soft Power ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนประเทศได้ จึงนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในพิธีเปิดครั้งนี้ 

อีกหนึ่งโชว์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและคลิปถูกแชร์ส่งต่อไปกันในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก คือการแสดงในช่วง LET THE GAMES BEGIN กับการแสดงชุด The History of Pictograms ที่แสดงให้เห็นถึงที่มาของการใช้ Pictograms ในการแข่งขันกีฬา ซึ่งรูปสัญลักษณ์แทนชนิดกีฬานี้ ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 1964 ถือเป็นภูมิปัญญาของประเทศญี่ปุ่นที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของภาษา เป็นประโยชน์ให้กับนักกีฬา และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเจ้าภาพแต่ละประเทศก็จะมีการออกแบบในเวอร์ชันของประเทศตนเอง โดยในการแสดงพิธีเปิด ได้เลียนแบบ Pictograms โดยการใช้การแสดงละครใบ้ผสมผสานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกมาเป็นแนว Creative Performance ที่แสดงภาพสื่อออกมาเป็นชนิดกีฬาต่าง ๆ ถึง 50 ชนิดกีฬา โดยได้คู่หูนักแสดงที่มาแสดงครั้งนี้คือ MASA and hitoshi (GABEZ) ทำให้คนที่ได้ดูนึกถึงเกมซ่าท้ากึ๋น (Kasou Taisho) ที่สร้างความประทับใจให้กับคนดูในช่วงพิธีเปิดได้เป็นอย่างดี และยังถูกพูดถึงในอีกหลายวัน แม้จะผ่านช่วงพิธีเปิดมาแล้วก็ตาม 

แม้ว่าการแสดงพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 จะมีการปรับลดให้เหมาะสมกับช่วงสถานการณ์ แต่ในการแข่งขันครั้งนี้ เรายังได้เห็นในอีกหลาย ๆ เรื่องที่ชาวญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจทั้งผู้เข้าร่วมการแข่งขัน และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำเหรียญมาจากโลหะที่รีไซเคิลจากโทรศัพท์มือถือเก่าและขยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่น ๆ หรือช่อดอกไม้ที่มอบให้กับนักกีฬาคู่กับเหรียญรางวัล ก็นำมาจากดอกไม้ที่ปลูกในพื้นที่ประสบภัยในแถบตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นที่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสินามิเมื่อปี 2011 

ความเป็นญี่ปุ่น ที่ใช้ Soft Power ยังปรากฏให้เห็นอีกหลายอย่าง เช่น การนำน้องหมีคุมะมง มาสคอตประจำเมืองคุมาโมโตะ ที่คิวชู แปลงร่างเปลี่ยนสีเป็นน้ำเงินร่วมเชียร์กีฬาโอลิมปิก ซึ่งเป็นสีโทนเดียวกับโลโก้ประจำการแข่งขันครั้งนี้ 

นอกจากการเชียร์กีฬาที่สนุกสนาน เรามารอลุ้นกันว่า การแสดงพิธีปิดจะมีอะไรให้คนดูได้ประทับใจอีกบ้าง เพราะหากจะพูดถึงวัฒนธรรม J POP และ Soft Power ของญี่ปุ่น ยังมีอีกหลายอย่างที่พวกเราอยากเห็นไม่ว่าจะเป็นด้านเพลง การ์ตูน เกม มังงะ การแสดงต่าง ๆ และที่ลืมไม่ได้เลยคือ การส่งใจเชียร์นักกีฬาไทยในการแข่งขันครั้งนี้ต่อไป... 


ผู้เขียน : อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ (น้ำนุ่น)
อาจารย์ประจำสาขานวัตกรรมการสื่อสาร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ