Empathy คืออะไร ทำไมจึงเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตของทุกคน เราจะสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้อย่างไร?

คุณเคยผ่านช่วงชีวิตที่แย่ๆ จิตใจกำลังอ่อนแอ เผชิญปัญหาหนักๆ เพียงลำพังคนเดียวบ้างไหม? ในช่วงนั้นหากมีใครสักคนเข้าใจหัวอกของคุณอย่างลึกซึ้ง พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเรา ช่วยเหลือ สนับสนุน ให้กำลังใจเรา ในทุกประโยคทุกคำพูด ยืนอยู่ในมุมเดียวกับเรา เราจะรู้สึกดีมากแค่ไหน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร เขามีทักษะสำคัญที่เรียกว่า Empathy

•  Empathy คืออะไร
Empathy คือ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่นผ่านมุมมองของพวกเขา ในโลกยุคที่การใช้ชีวิตมีความซับซ้อนและคาดเดายาก เราต้องยิ่งอยู่ร่วมกับทุกคนให้ได้ ทักษะนี้เป็นส่วนสำคัญช่วยทำให้แต่ละคนเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่งผลต่อการสร้างบรรยากาศที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือกลุ่มชุมชนต่างๆ

• ทำไมจึงเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตของทุกคน

จากสถิติ 80% พนักงานในกลุ่ม Millennials ลาออกจากงาน เพราะที่ทำงานขาด Empathy มากกว่า 60% บุคลากรในกลุ่ม Baby Boomers ลาออกเพราะที่ทำงานขาด Empathy  ยิ่งในครอบครัว พ่อแม่ให้ความรักลูกแบบไหน ถ้าพ่อแม่แสดงความรักต่อลูกอย่างเหมาะสม ลูกก็จะเห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือ ลูกก็จะสามารถแสดงความรักต่อผู้อื่นเป็น 

ตรงกันข้าม หากพ่อแม่ที่เคยได้รับความรักที่ไม่เหมาะสมมา เช่น การถูกตามใจจนชิน เป็นหลานชายคนแรกของตระกูล พ่อแม่ญาติพี่น้องให้ความสำคัญจนเกินความเป็นจริง กระทั่งไม่รู้ผิดรู้ถูก ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร การแสดงความรักของพ่อแม่ที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ ลูกจะกลายเป็นคนไม่เห็นคุณค่าใคร ไม่เห็นอกเห็นใจใคร คนในครอบครัวขาดการเคารพกัน อาจถึงขั้นทำร้ายกันเอง และเมื่อมามีครอบครัวของตนเอง ก็จะส่งต่อความรักที่ไม่เหมาะสมแบบนี้แก่ลูกหลานต่อไป บรรยากาศครอบครัวเสียเพราะมีใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ขาด Empathy 

• เราจะสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้อย่างไร?

มาช่วยให้บ้านน่าอยู่ขึ้น ที่ทำงานน่าอยู่ สังคมน่าอยู่ ด้วยการปลูกฝังให้คนมี Empathy

หัวใจสำคัญของการมี Empathy  คือ การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา พิจารณาจากพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้  

-    สามารถแก้ปัญหาที่ยากๆ ได้ดีกว่าคนอื่น
-    ไม่กดขี่ข่มเหงคนอื่น ตรงกันข้ามจะเข้าช่วยเหลือเมื่อเห็นคนอื่นถูกรังแกมากกว่า
-    มีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ เพราะปรับตัวได้ง่ายและมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดี

ข้อเสนอแนะ 7 ขั้นตอนที่พ่อแม่ทำได้ง่ายๆ

1. แสดง Empathy ให้ลูกๆ เห็น เป็นที่ประจักษ์ชัด ทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะแบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน หาจังหวะเวลาที่เหมาะสม บอกสอนเรื่องการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา 

2. อย่าละเลยความรู้สึกลูก อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองถูกละเลยหรือถูกทอดทิ้ง ลูกต้องรู้สึกว่ามีคนรับฟังและช่วยเหลือเขาอยู่ข้างพวกเขา เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยในขณะที่อยู่กับพ่อแม่ พวกเขาจะมีแนวโน้มในการส่งต่อความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น 

3. ฝึกให้ลูกแยกแยะเป็น ช่วยให้ลูกเข้าใจในอารณ์ที่เกิดขึ้นตามแรงกระตุ้นของสิ่งที่มากระทบ ทั้งทางลบและทางบวก เพื่อให้เขาได้เชื่อมโยงความรู้สึกของเขา เข้ากับคำพูด และสิ่งที่เข้ามากระทบอารมณ์ของพวกเขา เพราะถ้าพวกเขาเข้าใจความรู้สึกของตัวเองทั้งทางบวกและทางลบ เขามีแนวโน้มในการเข้าใจผู้อื่นเช่นกัน

4. มอบหมายหน้าที่ให้ทำ แม้นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ให้พวกเขามีส่วนร่วม และมอบหมายให้เป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงกิจกรรมการกุศล การให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เด็กที่อยู่ในบรรยากาศแบบนี้มีแนวโน้มเข้าใจผู้อื่น

5. อย่าแก้ปัญหาให้ลูกทุกเรื่อง ปล่อยให้ลูกได้แก้ปัญหาเองบ้าง ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ของความผิดหวังบ้าง จะได้ถือโอกาสสอนทักษะในการแก้ปัญหาให้กับลูกบ้าง สอนให้เขาคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็นจากปัญหาจริงที่เกิดขึ้น ไม่งั้นคุณจะกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน เมื่อเด็กได้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาเอง พวกเขาจะมีแนวโน้มในการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อน



6. สอนให้ลูกยอมรับผู้อื่นและตัวเอง ไม่พูดเปรียบเทียบชีวิตลูกกับชีวิตของใคร แต่ในทางกลับกัน สอนให้ลูกรู้ว่าเรามีอะไรที่เหมือนและแตกต่างจากคนอื่นบ้าง พาให้พวกเขาได้เห็นชีวิตของแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน วิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม แตกต่างกัน ชีวิตแต่ละคนมีโอกาสและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป

7. สอนให้ลูกช่วยเหลือผู้อื่นจากหัวใจ สอนให้ลูกมีจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ โดยไม่คำนึงถึงคำชม รางวัล หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่ให้ทำความดีเพื่อความดีจริงๆ อธิบายให้เขาเข้าใจถึงผลรับของการกระทำ Action Reaction หากลงมือทำที่เหตุต้องไม่ปฏิเสธผล ดีก็รับ ไม่ดีก็ต้องรับ 

บทสรุปของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือการเคารพความรู้สึกของผู้อื่น  ผลลัพธ์ที่ได้คือคนในครอบครัวเห็นคุณค่ากันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน บรรยากาศบ้านก็น่าอยู่ ในทางกลับกันหากผู้นำครอบครัวมีใครคนใดคนหนึ่ง เอาแต่ใจตัวเอง ไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น บรรยากาศบ้านก็เสีย เต็มไปด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่เคารพกัน ทำลายคุณค่าของกันและกันในที่สุด

การสร้าง Empathy ไม่ยาก แต่คนส่วนมากไม่ค่อยทำ ไม่อยากให้ใครมองข้ามเรื่องสำคัญ เมื่อรู้ผลลัพธ์แบบนี้คุณพ่อคุณแม่เรามาสร้าง Empathy ที่ดีในครอบครัวกันเถอะค่ะ ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อคนที่มีความหมายในชีวิตของเราค่ะ 

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
http://www.thefamily.in.th/podcast/episode.php?code=100400
https://www.chanuntorn.com/post/o-bk-dkhr-bkhrawdwy-empathy-kuyaecchthiithamaihehnkhunkhaakanaelakan
https://www.urbinner.com/post/what-is-empathy-how-does-it-important-in-the-workplace