Tuesday, 29 April 2025
TheStudyTimes

“ทีเคพาร์ค” ปรับทิศทางสู่องค์กรยุคดิจิทัล พลิกโฉมดีไซน์-บริการ-นวัตกรรมใหม่ มุ่งสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ เพื่อเสริมศักยภาพคนไทยในสังคมโลก นำเสนอ 5 จุดเช็คอินใหม่

สถาบันอุทยานการเรียนรู้ “TK Park” ครบรอบ 16 ปี เดินหน้าปรับทิศทางองค์กรครั้งใหญ่ พร้อมปรับโฉมใหม่ รวมทั้งเสริมบริการสุดล้ำให้เข้ากับยุคดิจิทัล โชว์วิสัยทัศน์พร้อมสร้างสรรค์ “ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้” คู่สังคมไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพคนไทยให้มีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดทุกช่วงชีวิต ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างทุนมนุษย์ที่มีความสำคัญ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน 

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ “TK Park” หน่วยงานในสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดวิสัยทัศน์ในโอกาสครบรอบ 16 ปี ว่า TK Park ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว พลิกกลยุทธ์จากห้องสมุดมีชีวิต มุ่งสู่บทบาทใหม่ ในฐานะผู้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้แห่งอนาคต (Pioneer of Innovative Future Learning) เน้นตอบโจทย์การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ให้คนไทย พร้อมปรับทิศทางและภาพลักษณ์องค์กรใหม่ 

เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างการบริหารงานในองค์กรให้มีความกระชับ เพื่อการขับเคลื่อนที่รวดเร็ว การพัฒนาบุคลากร สร้างคุณค่าหลักร่วมกันขององค์กร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนโลโก้ ให้ดูทันสมัยเข้ากับคนรุ่นใหม่ การปรับปรุงพื้นที่บริการ ชั้น 8 โดยแบ่งโซนบริการต่างๆ ให้สามารถใช้สอยได้อย่างสะดวก เข้ากับทุกกลุ่มทุกวัยที่มาเข้าใช้บริการ รวมทั้งการปรับปรุงบริการให้สะดวกรวดเร็วโดยการใช้นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้เข้ามาเสริมทัพ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก ซึ่งทั้งหมดนี้จะตอบโจทย์เป้าหมายหลักของ TK Park ในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อเสริมศักยภาพคนไทยให้มีคุณภาพ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำมาสู่การพัฒนาสังคมไทย และสร้างสรรค์คุณค่าแก่สังคมโลก 

“เป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ที่เราได้ปรับปรุงพื้นที่ภายในส่วนบริการ ชั้น 8 ด้วยรูปแบบใหม่เข้ากับยุคดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้สะดวกรวดเร็ว ในแนวคิด Journey to the Next Chapter นำเสนอ 5 จุดเช็คอิน ได้แก่ 

1. Start Your Journey พื้นที่ทางเข้าสู่อุทยานการเรียนรู้ ออกแบบใหม่เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศของการเดินทาง ที่พร้อมพาทุกคนสู่โลกการเรียนรู้ บริการสมัครสมาชิกผ่านแอป MyTK เข้าออกพื้นที่และชำระเงินแบบไร้การสัมผัสด้วยการสแกน QR Code 

2. Smart Library พบกับจุดให้บริการห้องสมุดในดีไซน์ใหม่ เน้นออกแบบมาเพื่อการบริการตนเอง (Self Service) สมาชิกสามารถยืม คืน ต่ออายุการยืม ผ่านอุปกรณ์อัตโนมัติ ลดการสัมผัสใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของทุกคน 

3. Toy Library ห้องสมุดของเล่น บริการใหม่ภายในห้องสมุดเด็กของ TK Park ให้เด็กๆ เรียนรู้เสริมทักษะได้มากขึ้นจากการเล่นที่สนุกสนาน ด้วยของเล่นวัสดุธรรมชาติจากความร่วมมือกับ PlanToys บริษัทของเล่นชั้นนำ พร้อมหนังสือในธีมเดียวกัน คัดสรรโดยบรรณารักษ์ TK Park

4. Reading Space พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือที่ปรับปรุงใหม่ เพิ่มมุมนิตยสารให้กว้างมากขึ้น ปรับขนาดชั้นวางหนังสือให้เข้าถึงได้สะดวกขึ้น เพิ่มที่นั่งการอ่านแบบโต๊ะขนาดใหญ่ พร้อมไฟส่องสว่างประจำโต๊ะ และเสริมที่นั่งอ่านเดี่ยว เพื่อความเป็นส่วนตัว

5. Book Wall & TK Cafe มุมใหม่ล่าสุด ที่เรียกได้ว่าเป็น Book Cafe ผสมผสานทั้งหนังสือ เครื่องดื่มและบรรยากาศได้อย่างกลมกล่อมลงตัว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของบทสนทนา แบบสบายๆ ระหว่างวัน แลกเปลี่ยนกันเรื่องหนังสือ การอ่าน การเรียนรู้ 

อุทยานการเรียนรู้ TK Park ได้เปิดให้บริการตามมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาลแล้ว ตั้งแต่วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 11.00 - 18.00 น. ที่ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หากยังคงเดินหน้ารักษามาตรการป้องกัน COVID-19 เพื่อความปลอดภัยของสมาชิก และผู้มาใช้บริการทุกคน โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 100 คน คนละไม่เกิน 60 นาที และทุกคนต้องสแกน QR Code ผ่าน "ไทยชนะ" ทุกครั้งที่แวะมายืม คืน หนังสือ สำหรับผู้สนใจสมัครสมาชิก TK Park สามารถลงทะเบียนผ่านแอป MyTK เพื่อรับโปรโมชั่นพิเศษ สมัครฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม 2564 เท่านั้น ดูรายละเอียดเพื่อเติมได้ที่ www.tkpark.or.th

สินค้า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods “โอกาส” ในตลาดชนบทอินเดีย

คนทั่วไปมักจะมองว่าอินเดียมีแต่ผู้คนที่ยากจนไม่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคอินเดียในเขตชนบทย่อมมีกำลังซื้อต่ำกว่าคนในเขตเมือง แต่ถ้าคิดให้ดีจะพบว่าไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ยังไงๆ ก็ต้องกินต้องใช้สินค้าที่จำเป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งก็คือสินค้าอุปโภคบริโภคที่นิยมเรียกกันว่า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods นั่นเอง โดย FMCG จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายได้เร็วเพราะคนทั่วไปต้องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป

ที่สำคัญก็คือ แนวโน้มการบริโภคสินค้า FMCG ในเขตชนบทของอินเดียกลับมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดชนบทอินเดียประกอบไปด้วยหมู่บ้านประมาณ 650,000 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 850 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมดของอินเดียและมีสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ประมาณ 50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

และด้วยแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ก็เลยส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทจําหน่ายสินค้า FMCG  หลายบริษัทในอินเดียกลับมาบุกตลาดชนบทอินเดียอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าผู้บริโภคในชนบทจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์แทนสินค้าขายปลีกที่ไม่มีแบรนด์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทเหล่านี้ในการผลักดันผลิตภัณฑ์อาทิ สบู่ แชมพู บิสกิต เครื่องดื่ม และอาหารแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าอาจจะต้องตั้งราคาต่ำกว่าก็ตาม โดยอุปสงค์ในสินค้า FMCG จากตลาดชนบทเติบโตเร็วกว่าจากตลาดในเมืองมาหลายไตรมาสแล้ว และคาดว่าอุปสงค์ในเมืองเล็กและเขตชนบทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Nestle India วางแผนที่จะขยายการเข้าถึงผู้บริโภคในเขตชนบทเพิ่มขึ้น 120,000 หมู่บ้านภายในปี 2567 โดย Nestle India พยายามที่จะขยายตลาดไปยังเขตชนบทมาหลายปีแล้ว โดยในปี 2560 สินค้าของบริษัทฯ วางจําหน่ายอยู่ในหมู่บ้านราว 1,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่ในปี 2561 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 89,000 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ยอดขายราว 75% ของ Nestle India มาจากเขตเมือง และที่เหลือมาจากเขตชนบท เพราะฉะนั้นการขยายตลาดไปยังเขตชนบทเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการปรับสัดส่วนสินค้าหรือการออกสินค้าใหม่ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท Nielsen ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระบุว่ายอดขายสินค้า FMCG ในเขตชนบทคิดเป็น 39% ของยอดขายสินค้า FMCG ในอินเดียทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าตลาดชนบทอินเดียยังเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ Nielsen ยังระบุอีกว่าตลาด FMCG ในเขตชนบทยังขยายตัวอยู่ในอัตราสูงราว 14.2% ในเดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในเขตเมืองเติบโตเพียง 0.8% เท่านั้น ซึ่งตลาดชนบทในช่วงก่อน COVID-19 เติบโตอย่างเชื่องช้าเนื่องจากข้อจํากัดด้านรายได้ แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทําให้มีการอพยพออกจากเมืองใหญ่มากขึ้น และการบริโภคในเขตเมืองเล็กและชนบทก็เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการขยายตัวของรายได้ต่อหัวในตลาดเหล่านี้อาจมีความท้าทายอยู่ บริษัท FMCG จึงอาจจะใช้กลยุทธ์ในการออกสินค้าแบบเน้นความคุ้มค่า (Value Pack) เพื่อที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในท้องถิ่นได้

Marico เป็นอีกหนึ่งบริษัท FMCG ของอินเดียที่ได้เพิ่มจํานวนผู้ค้าส่งในเขตชนบท ซึ่งทําให้บริษัทฯ อาจจะสามารถขยายการกระจายสินค้าได้ถึง 20% ในอีกไม่กีปีข้างหน้า เช่นเดียวกับบริษัทผลิตบิสกิต Britannia Industries ที่ได้เพิ่มจํานวนผู้จัดจําหน่ายในตลาดชนบทจาก 19,000 รายในเดือนมีนาคม 2563 เป็น 23,000 รายในเดือนธันวาคม 2563

ทั้งนี้ การบริโภคในเขตชนบทอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากระดับรายได้และความต้องการสินค้าใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดสินค้า FMCG ในเขตชนบทคาดว่าจะเติบโตจาก 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในปี 2561 เพิ่มเป็น 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดชนบทส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าขายแบบค้าปลีกตามร้านค้าขนาดเล็กและไม่เป็นระบบ (Kirana Store) หรือเรียกง่ายๆ แบบบ้านเราก็คือร้านโชห่วยนั่นเอง ผู้ค้าสินค้า FMCG ขนาดใหญ่ที่เป็นระบบจึงอาจจะวางแผนเจาะตลาดโดยการสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านร้านค้าปลีกที่ทันสมัย และมีการกระจายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไปพร้อมกัน เนื่องจากคาดว่าการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้า FMCG ในอินเดียในปี 2563 กว่า 40% จะเป็นการซื้อขายออนไลน์ ทั้งยังคาดว่าตลาด FMCG ออนไลน์ในอินเดียในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคสินค้า FMCG ส่วนใหญ่จะมาจากเขตเมือง แต่การบริโภคสินค้า FMCG บางประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า และเครื่องดื่มร้อนราว 40% มาจากเขตชนบท ส่วนสินค้าประเภทอาหาร เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาดว่าจะเติบโตทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท โดยผู้เล่นสําคัญในตลาด FMCG อินเดียในปัจจุบัน ได้แก่ HUL (Hindustan Unilever Ltd.), ITC (Indian Tobacco Company), Nestle India, GCMMF (AMUL), Dabur India, Asian Paints (India), Cadbury India, Britannia Industries, Procter & Gamble (P&G) Hygiene and Health Care, Marico Industries, Nirma, Coca-Cola และ Pepsi เป็นต้น โดย HUL และ Dabur India มียอดขายกว่าครึ่งมาจากเขตชนบทของอินเดียซึ่งมีประชากรราว 850 ล้านคน และเป็นคนที่อยู่ในวัยทํางานราว 400 ล้านคน

โดยเฉลี่ยแล้วชาวอินเดียในเขตชนบทมีกําลังซื้อน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอินเดียในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นตลาดใหม่ (Untapped Market) ที่ผู้เล่น FMCG หลายรายกําลังพยายามเข้าไปตีตลาดให้ได้ และด้วยสาเหตุที่หลายบริษัทยังคงมีมาตรการให้พนักงานทํางานที่บ้าน ประกอบกับการอพยพย้ายกลับเมืองเล็กหลังมาตรการล็อคดาวน์ในเดือนมีนาคม 2563 ทําให้การบริโภคในเมืองรองและชนบทเติบโตขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตรวมถึงความนิยมในอีคอมเมิร์ซก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทําให้ตลาดชนบทเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้ตลาดในเมืองใหญ่เช่นกัน

ก็ขอฝากส่งท้ายไว้ว่าอินเดียยังมีอะไรให้เราแสวงหาอีกมากมายโดยเฉพาะ “โอกาส” ที่รอให้เราเปิดใจที่จะพบและคว้าไว้...แม้แต่ “ตลาดชนบท” ที่เรารู้สึกว่ายากจน แต่สุดท้ายก็ยังมี “โอกาส” ให้ทุกคนวิ่งเข้าไปแย่งชิงกันในที่สุด

เขียนโดย: อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าในอินเดียแบบเจาะลึก

‘มายาคติ’ ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุ

ช่วงนี้สนใจอยากพูดถึงเรื่องของผู้สูงอายุในบ้านเรา เพราะไม่ปีนี้ก็ปีหน้าคาดว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และในฐานนักวิชาการด้านสื่อก็เกิดความสนใจว่าการศึกษาด้านสื่อกับผู้สูงอายุในเมืองไทยนั้นมีมากน้อยเพียงใดและว่าด้วยเนื้อหาเรื่องใดบ้าง ก็ไปพบว่าอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ ได้ทำการศึกษาประเด็นการสื่อสารกับผู้สูงวัย (2554)

อาจารย์พบว่างานวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้สูงอายุในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี พศ.2525 มาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน รวมเป็นเวลาเกือบ 30 ปีนั้น มีงานวิจัยที่ระบุหัวข้อชื่อตรงกับผู้สูงอายุและการสื่อสารไม่เกิน 10 เล่มทั้งที่จำนวนผู้สูงอายุนั้นมีถึงเกือบร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และยังพบว่าการวิจัยในประเด็นผู้สูงอายุที่มักเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจขนาดใหญ่นั้นไม่ช่วยเห็นลักษณะเฉพาะของความเป็นผู้สูงอายุได้ และเมื่อผสมกับการขาดแนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่รอบด้านและชัดเจนจึงทำให้ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีข้อค้นพบเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุในแง่มุมของการสื่อสาร และเมื่อศึกษางานวิจัยอื่น ๆ พร้อม ๆ ไปกับการสังเกตรายการในหน้าจอทีวี สังเกตได้ว่ามีความเข้าใจผิดหรือมีมายาคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุอยู่มากในเรื่องใช้สื่อของผู้สูงอายุ ลองมาดูกันค่ะว่าเราเองก็เข้าใจผู้สูงอายุผิดไปหรือไม่

มายาคติผู้สูงอายุตื่นแต่มืดแต่ดึก : ผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืด ตี 4 - 5 มาดูทีวี มาฟังวิทยุ จริงหรือ?

อาจจะพูดได้ว่าการคิดว่าผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืดดังนั้นถ้าจะทำสื่อให้ผู้สูงอายุต้องใช้ช่วงเวลาตีสี่ตีห้า แต่แทนจริงแล้วเป็นเพียงมายาคติที่สังคมมองมายังผู้สูงอายุ เพราะมีงานวิจัยหลายเรื่องที่พบว่าผู้สูงอายุไม่ได้เปิดรับสื่อช่วงเช้ามืดอย่างที่สังคมเข้าใจ เช่น จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) พบว่าผู้ชมที่มีอายุระหว่าง 60 - 65 ปีมีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และ ช่วงสาย (09.01 น. - 12.00 น.) ผู้ชมที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และช่วงเย็น (16.01 น. - 19.00 น.) 

และพนม คลี่ฉายา (2555) ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย โดยมีสำรวจการเปิดรับสื่อ โดยพบว่าเปิดรับสื่อเป็นประจำมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ บุคคลใกล้ชิด และโทรศัพท์มือถือ ผู้สูงอายุมักจะชมโทรทัศน์มากที่สุด โดยชมรายการข่าวเป็นประจำ ในช่วงเวลา 17.01 - 21.00 น. ใช้เวลาในการชม คือ 1 - 3 ชั่วโมง/ครั้ง สอดคล้องกับแนวคิดของบริษัทอาร์เอสโปรโมชั่น ในการผลิตรายการโทรทัศน์ช่องเพลินทีวี ทีวีเพื่อผู้สูงอายุ ระบุว่าผู้สูงอายุมีวิถีชีวิต (Lifestyle) ในการรับชมโทรทัศน์อยู่กับบ้านเฉลี่ยมากกว่าบุคคลวัยอื่นถึงร้อยละ 10 โดยที่เวลาไพร์มไทม์ของกลุ่มคนสูงอายุอยู่ในช่วงเวลา 17.30 - 21.30 น. (แต่แอบกระซิบเบา ๆ ว่าหลังจากที่ออกอากาศได้เพียงแค่ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 บริษัทอาร์เอสฯได้ประกาศยุติออกอากาศในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ)

ดังนั้นจะเห็นว่าสังคมมีความเข้าใจผิดคิดว่าผู้สูงอายุนั้นมักชอบชมรายการโทรทัศน์หรือฟังวิทยุในช่วงเวลาเช้ามืดนั้นไม่เป็นความจริง และหากจะถามหาเวลาที่เหมาะในการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุควรจะเป็นช่วงเย็น ๆ มากว่าช่วงเช้ามืดด้วยซ้ำไป

มายาคติผู้สูงอายุชอบทำบุญเข้าวัด : ผู้สูงอายุชอบรายการธรรมะที่สุด จริงหรือ?

มายาคติอีกเรื่องที่ไม่รู้ใครบัญญัติมาให้เชื่อตาม ๆ กัน คือการเหมารวมว่าการที่ผู้สูงอายุชอบเข้าวัดทำบุญดังนั้นจึงชอบดูรายการธรรมะที่สุด แต่จริง ๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) ในประเด็นการเปิดรับความต้องการและการใช้ประโยชน์รายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์จากการชมรายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรก ได้แก่

1) เพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสาร
2) เพื่อสร้างความเบิกบานใจ ความสุข และคลายเหงา
3) เพื่อนำเนื้อหาไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ลักษณะเนื้อหาในสื่อที่ผู้สูงอายุต้องการ จากผลงานวิจัยนี้ทำให้เชื่อมโยงได้ว่าผู้สูงอายุชอบรายการที่ให้ทราบข้อมูลข่าวมากว่ารายการธรรมะแน่ ๆ นอกจากนี้ยัง พบว่า

ผู้สูงอายุต้องการเนื้อหาให้สื่อนำเสนอให้เห็นถึงศักยภาพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกหรือเชิดชูผู้สูงอายุ เนื้อหาที่แสดงให้เห็นความรักความผูกพันระหว่างผู้สูงอายุกับครอบครัว และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การรักษาสุขภาพ สิทธิทางกฏหมาย และสวัสดิการต่างๆ เป็นต้นด้วย จากงานวิจัยที่กล่าวไปนี้น่าจะพอสรุปได้ว่ารายการธรรมะอาจไม่ได้เป็นรายการที่ผู้สูงอายุจะชื่นชอบที่สุดหรือจะเลือกชมเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยซ้ำไป

มายาคติว่าผู้สูงอายุทุกคนก็ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน : ผู้สูงอายุมีความต้องการใช้สื่อเหมือน ๆ กันหมดจริงหรือ?

มายาคตินี้เราเจอกับบ่อย ๆ เพราะการคิดเหมารวมอีกเช่นกันว่าขึ้นชื่อว่าผู้อายุก็คงจะมีความต้องการใช้สื่อเหมือนกันหมดเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่จากการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยนั้นก็มีความต้องการในการใช้สื่อที่หลากหลายและแตกต่างกันไม่แพ้วัยเด็กและเยาวชน โดยสิ่งที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยมีทั้งปัจจัยส่วนตัว เช่น ลักษณะบุคลิกภาพ ความชอบ ความถนัดและปัจจัยด้านการศึกษา และปัจจัยทางด้านสังคม สภาพครอบครัวและฐานะทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยทางกายภาพ เช่น พื้นที่อยู่อาศัยนั้น ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้สื่อทั้งสิ้น ส่วนในภาพรวมนั้นอาจกล่าวได้ว่าแม้กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตน้อยที่สุดหากเทียบกับกลุ่ม Gen X และ Gen Y สื่อหลักอย่างโทรทัศน์และวิทยุก็ยังคงเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้สูงอายุได้มากที่สุด

โดยที่สื่อวิทยุนั้นจะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุในเขตต่างจังหวัดได้มากกว่าเขตเมือง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นและสื่อออนไลน์ก็เป็นที่นิยมของผู้สูงอายุมากขึ้น และยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน ดังเช่นงานวิจัยของ กันตพล บันทัดทอง (2557) เรื่อง พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 66 ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจในการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 66 ปีขึ้นไป อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ปัญหาสายตา ปัญญาการใช้นิ้วหรือมือ จึงไม่สามารถใช้บริการเครื่อข่ายสังคมออนไลน์ได้ จึงมีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น

มายาคติที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่กล่าวไปข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตสื่อ ยังมีความเข้าใจผิดถึงพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุและยังไม่มีข้อมูลองค์ความรู้สำคัญพื้นฐานที่จะทำให้การผลิตสื่อที่เหมาะสมตรงความต้องการของผู้สูงอายุ ดังนั้นการทำความรู้จักและเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุอย่างถ่องแท้ จะเป็นประโยชน์มากในการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุ ภาครัฐควรสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและพัฒนาบุคลากร เพราะในประเทศไทยการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับการทำสื่อเพื่อเด็ก คือผู้ประกอบการมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับผลกำไรที่ได้ในทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาช่วยหนุนเสริมภารกิจนี้อีกทาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดึงศักยภาพของผู้สูงอายุออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม นอกจากนี้สื่อยังสามารถทำหน้าที่ช่วยให้คนในสังคมที่มีความหลากหลายของช่วงวัยเกิดความเข้าใจซึ่งกันละกัน ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ยอมรับในความหลากหลายและเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกช่วงวัย อย่างที่ย้ำเสมอว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของเราทุกคนจริง ๆ

เขียนโดย: อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ข้อมูลอ้างอิง
กาญจนา แก้วเทพ.(2554).ผู้คนที่หลากหลายในการสื่อสาร: เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ.
ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์
พนม คลี่ฉายา. (2555). ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย: รายงาน
การวิจัย (Information Need, Media Uses and Media Habit of Thai Elderly: Research Report). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กันตพล บันทัดทอง.(2558) พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุใน
เขตกรุงเทพมหานคร.บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง.สืบคนเมื่อ 20 มกราคม 2556.จาก http://positioningmag.com/60832
Positioning. (2558) ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559. จาก http://positioningmag.com/60832
เผยแนวโน้ม “สื่อรุ่ง – สื่อร่วง” ปี ’59 ชี้ชะตาอนาคตสื่อปีหน้า ใครจะได้ไปต่อ !! สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2559. จาก http://www.brandbuffet.in.th/2016/12/kantar-worldpanel-media-profiler-2016

เทคนิค คิด-ทำ "GAT เชื่อมโยง" ต้องได้ 150 เต็ม!

ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย เด็ก ๆ มัธยมปลายหลายคนก็อาจะมีการเตรียมตัวสอบเข้าทั้งมีการติวในแต่ละวิชา เพื่อให้สอบเข้าคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ตัวเองใฝ่ฝัน และนอกจากการเตรียมสอบแต่ละวิชาแล้ว สิ่งที่สำคัญของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องมีคะแนน “GAT เชื่อมโยง” ด้วย

ซึ่ง GAT หรือ General Aptitude Test เป็นการสอบเพื่อวัดประสิทธิภาพในการเตรียมพร้อมที่จะเรียนมหาวิทยาลัย การสอบ GAT มี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่ 1 คือ ความสามารถในการอ่าน/การเขียน/การคิดเชิงวิเคราะห์/และการแก้โจทย์ปัญหา

ส่วนที่ 2 คือ ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งในวันนี้ THE STUDY TIMES จะขอมาแนะนำ การเตรียมตัว และ รายละเอียดของการสอบ GAT เชื่อมโยงซึ่งเป็นส่วนที่หนึ่งที่หลาย ๆ คนก็บอกว่าง่าย แต่ก็มีหลาย ๆ คนบอกว่ายากเหมือนกัน 

ซึ่งในการสอบ GAT เชื่อมโยงจะมีเวลาในการทำประมาณ 90 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง 30 นาที มี 2 บทความเพราะฉะนั้นจะต้องแบ่งเวลาเตรียมตัวให้ดี ซึ่งข้อสอบ GAT เชื่อมโยง จะเป็นการให้โจทย์มาเป็นบทความ ๆ หนึ่ง แล้วจะมีเลขตัวเล็ก ๆ เป็นตัวกำหนด ในการทำข้อสอบ GAT การทำเป็น Mind Mapping จะทำให้เห็นโครงสร้าง และ ง่ายต่อการทำข้อสอบ โดยการตอบจะแบ่งออกเป็น 4 คำตอบคือ 

ขอขอบคุณภาพจาก : WE by the brain

A เป็นคำตอบของผลที่ทำให้เกิดผลโดยตรง หรือ ส่งผลทำให้เกิด
ยกตัวอย่างเช่น 
น้ำท่วมในกรุงเทพ 01 ทำให้การจราจรติดขัด 02   
01 ชี้ไปหา 02
ใช้ลูกศรชี้ สิ่งที่เกิด ไปหา ผลกระทบ ผลที่เกิด

D เป็นคำตอบของสิ่งที่ประกอบด้วยในสิ่งนั้น ๆ 
ยกตัวอย่างเช่น 
ร้านยำหน้าปากซอย03 ขายพวกยำวุ้นเส้น ยำมะม่วง04
03  ชี้ไปหา  04
ใช้สัญลักษณ์ สิ่งที่เกิด ไปหา สิ่งที่ประกอบด้วยสิ่งนั้น ๆ

F เป็นคำตอบของสิ่งที่ยับยั้งด้วยสิ่งนั้น ๆ 
ยกตัวอย่างเช่น
การฉีดวัคซีน05 ช่วยยัยยั้งการความเสี่ยงที่จะเกิดโรค06  
05  ชี้ไปหา  06
ใช้สัญลักษณ์ สิ่งที่เกิด ไปหา สิ่งที่ยับยั้งด้วยสิ่งนั้น ๆ

99H เป็นคำตอบของไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือประกอบในบทความ 

โดยการหลักการทำความสอบ GAT เชื่อมโยงคือการอ่านโจทย์และการทำคิดวิเคราะห์โจทย์ให้แตกออกมาเป็นข้อ ๆ โดยในวันนี้ THE STUDY TIMES มีตัวอย่างแนวข้อสอบ GAT เชื่อมโยงจาก สทศ. หรือ สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาให้ดูกัน

ซึ่งในภาพเป็นตัวอย่างข้อสอบ GAT เชื่อมโยง และ แนวทางในการทำข้อสอบ ซึ่งการทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยงให้ได้เต็ม 150 คะแนน คือการฝึกฝนทำข้อสอบเก่า ๆ และการทำข้อสอบจะต้องใจเย็น อย่าใจร้อนเด็ดขาด อ่านโจทย์ให้ละเอียด และฝึกทำเป็นรูป Mind Mapping จะช่วยน้อง ๆ ได้มากเลยล่ะค่ะ ส่วนเรื่องกำหนดสอบ GAT-PAT ถ้าทาง สทศ. ประกาศแล้ว THE STUDY TIMES จะรีบมาประกาศอย่างแน่นอนค่ะ 


แหล่งข้อมูล : https://www.niets.or.th/th/

ชวนเด็กหัวกะทิเดินตามรอยพี่ๆ สมัครเข้าร่วมโครงการโอลิมปิก สอวน. ค่าย 1 กรุงเทพฯ วันนี้ ถึง 31 ก.ค. 64

???? ประกาศรับสมัครนักเรียนคัดเลือกเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการค่ายที่ 1 สอวน.กรุงเทพมหานคร โดยจัดสอบทั้งหมด 5 วิชา ได้แก่ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี คอมพิวเตอร์ ชีววิทยา ????????

ค่าย สอวน. คืออะไร?
สอวน. ย่อมาจาก มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ค่ายนี้เป็นเสมือนประตูสู่การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งจะมี 5 สาขาวิชา คือ คณิตศาสตร์  ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา  และคอมพิวเตอร์ โดยค่าย สอวน. จะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี

✅ เพิ่มขีดความสามารถด้านวิชาการ
✅ โควต้าเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำโดยไม่ต้องสอบ
✅ มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
✅ มิตรภาพ-เพื่อน ค่าย สอวน. ที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน

????วันที่รับสมัคร: 1 - 31 ก.ค. 64
????ชำระเงิน: ภายใน 2 ส.ค. 64 (ก่อน 18.00 น.)
????เลือกศูนย์สอบ: ภายใน 4 ส.ค. 64 (ก่อน 18.00 น.)
????ประกาศสถานที่สอบ: 20 ส.ค. 64
????สอบวันที่: 5 ก.ย. 64

* ค่าสมัครสอบ วิชาละ 100 บาท
** ผู้สมัครสอบสามารถสมัครสอบได้สูงสุด 2 วิชา โดยเวลาสอบจะต้องไม่ชนกัน
*** อ่านระเบียบการรับสมัครและสมัครสอบได้ที่ หน้าเว็บระบบรับสมัครฯ https://www.bkkposn.com/

ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4722977137735751&id=1133540740012760

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ ตัวแทนโอลิมปิกวิชาการ คลิก
https://thestatestimes.com/post/2021060503
https://thestatestimes.com/post/2021061602
https://thestatestimes.com/post/2021062914

ชี้เป้า ! ฝันอยากเป็นตำรวจ เรียนที่ไหนได้บ้าง ?

ในปัจจุบันการรับข้าราชการถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ นอกจากสวัสดิการที่ดีแล้ว ก็ยังมีความมั่นคงในชีวิตอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในอาชีพข้าราชการที่น่าสนใจคือ ”อาชีพตำรวจ” วันนี้ THE STUDY TIMES จะมาแนะนำโรงเรียนที่เรียนเฉพาะทางด้านตำรวจ พอจบแล้วสามารถเข้ารับราชการตำรวจได้เลย ไปดูกัน !

1.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (Royal Police Cadet Academy : RPCA) เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตั้งอยู่ที่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีภารกิจหลักในการฝึกอบรม ให้การศึกษา อบรมหล่อหลอมนักเรียนนายร้อยตำรวจให้มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และฝึกอบรมผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรอื่น ผู้ที่ศึกษาตามหลักสูตรหลักของในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเรียกว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) เมื่อเรียนจบ 4 ปีจะสามารถสอบได้ยศเป็น ร้อยตำรวจตรี 


โดยการสมัครสอบใช้วุฒิ : โรงเรียนเตรียมทหาร
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://admission.rpca.ac.th/register/

2.โรงเรียนชุมพลทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

ในสมัย พ.ศ. 2436 ประเทศไทยถูกกองเรือฝรั่งเศสรุกราน ทำให้ต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงเห็นความจำเป็นในกิจการทหารเรือมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรมนายทหารชั้นประทวนให้มีความรู้ความสามารถ และเป็นจ่าที่ดีสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามเรือและกรมกองต่าง ๆ ได้ ดังนั้นในปี พ.ศ.2438 จึงตั้งโรงเรียนนายสิบทหารเรือขึ้น ต่อมากรมทหารเรือดำริที่จะให้จ่าและพลทหารได้รับการศึกษาที่สูง ขึ้นตามกาลสมัย จึงให้ยุบโรงเรียนนายสิบทหารเรือ แล้วตั้งโรงเรียนจ่าขึ้นแทน ประกอบด้วย โรงเรียนจ่าอาวุธ โรงเรียนจ่าตอร์ปิโด โรงเรียนจ่าช่างกล โรงเรียนพลทหารเรือกรุงเทพ โรงเรียนพลทหารช่าง และโรงเรียนพันจ่าทหารเรือ จนในปัจจุบันก็ได้มีการรวบรวมโรงเรียนต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นโรงเรียนเดียว จนมาเป็น “กองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ” โดยการเรียนเพื่อจะได้เป็นตำรวจ คือการเรียนเป็นตำรวจทางน้ำ ใช้เวลาศึกษา 2 ปี ได้ยศมาเป็น สิบตำรวจตรี

โดยการสมัครสอบใช้วุฒิ : มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 / กศน. / ปวช.
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.navedu.navy.mi.th/indexnavedu.html

3.วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ

เดิมชื่อว่า โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย กองแพทย์กรม-ตำรวจ เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2512 โดยดำริของ ฯพณฯ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงค์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น โดยที่ท่านเคยปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน จึงมีความรู้และความเข้าใจ ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจกำลังประสบปัญหาขาดแคลนพยาบาล อย่างมาก 

กรมตำรวจจึงมีมติให้ กองแพทย์ เปิดรับสมัครนักเรียนพยาบาลรุ่นแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2513 โดยที่วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ผลิตบุคลากรทางการพยาบาลแก่หน่วยงาน สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและ เอกชนเพื่อสนับสนุนการบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพแก่ข้าราชการตำรวจ และครอบครัว รวมทั้งให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป เมื่อเรียนจบแล้ว สามารถเข้ารับราชการตำรวจในยศ ว่าที่ร้อยตำรวจตรี บรรจุเป็นข้าราชการโรงพยาบาลตำรวจ

โดยการสมัครสอบใช้วุฒิ : มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 (สายการเรียน วิทย์ - คณิต)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://nursepolice.go.th/

4.กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน หรือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 

โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นหน่วยตำรวจที่มีขีดความสามารถในการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหารและไม่ใช่ทหาร ในการสงครามพิเศษ และการแก้ไขปัญหา การก่อความไม่สงบ, การก่อการร้าย ทุกรูปแบบ ด้วยการปฏิบัติการปกปิด รับผิดชอบการปฏิบัติการทั่วประเทศ ปัจจุบันเป็นหน่วยระดับกองกำกับการ มีผู้กำกับการเป็นหัวหน้าหน่วยราชการ ขึ้นตรงกับกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยใช้ระยะเวลาการเรียน 1 ปี สามารถสอบเข้าราชการได้ในยศสิบตำรวจตรี

โดยการสมัครสอบใช้วุฒิ : มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 / กศน. / ปวช.
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.bppparu.go.th/index.php 

และนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนที่เรียนจบมาแล้วสามารถรับข้าราชการเป็นตำรวจได้เลย หวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางให้กับนักเรียนที่มีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นตำรวจ ขอให้ตั้งใจและทำความฝันของตัวเองให้ได้ THE STUDY TIMES เป็นกำลังใจให้นะคะ 


แหล่งข้อมูล 
เพจ : เรียนต่อไหนดี
https://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
http://www.navedu.navy.mi.th/
http://nursepolice.go.th/
http://www.bppparu.go.th/index.php

'มัลคอล์ม แม็กลีน' ผู้พลิกโฉมการขนส่งสินค้ายุคใหม่ ชายผู้ผลักดันให้เกิดการขนส่งด้วย ‘ตู้คอนเทนเนอร์’

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับภาพรถบรรทุกขนกล่องเหล็กขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า 'ตู้คอนเทนเนอร์' ซึ่งตู้เหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ เพราะช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนถ่ายสินค้าระหว่างรถบรรทุก, เรือ และรถไฟ 

ในสัปดาห์นี้ จึงขอเล่าเรื่องราวของชายผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์

มัลคอล์ม แม็กลีน (Malcom McLean) ในวัยหนุ่มได้ซื้อรถบรรทุกมือสองและทำธุรกิจขนส่งสินค้าให้แก่เกษตรกร ระหว่างรอการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือ แม็กลีน เขาได้สังเกตวิธีการทำงานในยุคนั้นที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก... 

คนงานทยอยขนสินค้าลงจากรถบรรทุกแล้วไปเก็บในคลังสินค้าที่ท่าเรือ เมื่อเรือมาถึงท่าก็ทยอยขนสินค้าขึ้นเรือด้วยวิธีการชักรอก กว่าจะขนสินค้าขึ้นและลงเรือเสร็จก็ใช้เวลาหลายวัน หากช่วงไหนที่คนงานไม่ว่างหรือสภาพอากาศไม่ดี ก็หยุดทำงาน ส่งผลให้รถบรรทุกต้องจอดรอเป็นเวลานานเสียโอกาสในการไปวิ่งหารายได้ 

เมื่อเห็นดังนั้น แม็กลีน จึงคิดว่าจะมีวิธีการปรับปรุงการขนส่งให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการลดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง แต่วิธีการขนส่งแบบใหม่ที่เขาคิดได้ต้องมีการปรับปรุงหลายอย่าง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำมาก จึงได้แต่เก็บความคิดเอาไว้ในใจ

ในปี 1940 แม็กลีนวัย 42 ปี ซึ่งตอนนี้เขาได้กลายเป็นเจ้าของบริษัทรถบรรทุกที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น และมีรถบรรทุกมากกว่า 1,700 คัน ก็ได้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเอาไอเดียที่เคยคิดไว้ตอนหนุ่มมาทำให้เป็นจริง 

เขาจึงตัดสินใจขายธุรกิจรถบรรทุก แล้วนำเงินมาซื้อมาธุรกิจเดินเรือ Pan Atlantic Tanker ที่มีเรือขนส่งน้ำมันอยู่ 2 ลำ แล้วยังกู้เงินมาอีก 42 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อท่าเรือและอู่ต่อเรือ เพราะเขามั่นใจว่าวิธีการขนส่งแบบใหม่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการขนส่งไปได้

แม็กลีน มีความคิดว่า หากสามารถขนเฉพาะส่วน 'หางเทรลเลอร์' ของรถบรรทุกขึ้นไปไว้บนเรือแทนที่จะใช้คนงานทยอยขนสินค้าขึ้นลง จะช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าและลดค่าใช้จ่ายได้ แต่เมื่อได้ทดลองจึงพบปัญหาว่า 'หางเทรลเลอร์' ที่มีล้อนั้น ลดพื้นที่บรรทุกสินค้าของเรือและยังไม่สามารถเอาหางเทรลเลอร์วางซ้อนกันได้ ส่งผลให้ในเรือหนึ่งลำขนส่งสินค้าได้ไม่มากต้นทุนการขนส่งจึงสูง 

แม็กลีน จึงได้พัฒนาส่วนหางเทรลเลอร์แบบใหม่ที่สามารถถอดล้อออกได้ เพื่อลดความสูงและสามารถวางซ้อนกันได้ แต่หางเทรลเลอร์แบบใหม่กลับใช้งานไม่สะดวกอย่างที่คิด แม็กลีน จึงได้ปรึกษากับ คีธ แทนท์ลิงเกอร์ (Keith Tantlinger) วิศวกรที่ทำงานในบริษัทผลิตเทรลเลอร์ และเขาก็ได้ช่วยออกแบบตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถแยกออกจากหางเทรลเลอร์ได้สำเร็จ

แล้วความฝันของแม็กลีน ก็เป็นความจริง!! 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1956 เรือ SS Ideal X เรือบรรทุกน้ำมันที่มีการปรับปรุงใหม่ เพื่อสามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์บนดาดฟ้าเรือได้ แล่นออกจากท่าเรือที่นิวยอร์กไปยังฮุสตันพร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์ 58 ตู้และน้ำมัน 15,000 ตัน 

จากนั้นในปีต่อมา เรือ Gateway City เรือคอนเทนเนอร์เต็มรูปแบบของแม็กลีนที่ขนตู้คอนเทนเนอร์ได้มากถึง 226 ตู้ แต่ใช้เวลาในการขนสินค้าขึ้นลงเพียงแค่ 8 ชั่วโมง ก็ได้ออกให้บริการ ซึ่งหากเทียบต้นทุนการขนส่งแล้ว แบบเดิมจะอยู่ที่ 5.86 เหรียญต่อตัน ส่วนแบบใหม่จะลดลงเหลือ 0.16 เหรียญต่อตัน ถูกลงมากกว่าเดิมถึง 37 เท่า 

นอกจากนั้นรถบรรทุกและเรือไม่ต้องจอดรอขนสินค้าขึ้นลงเป็นเวลานาน สามารถเพิ่มเวลาในการวิ่งรับส่งสินค้าเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การขนส่งวิธีใหม่ของแม็กลีน นอกจากจะเร็วกว่าและถูกกว่าแล้ว สินค้ายังมีโอกาสเสียหายและสูญหายน้อยกว่าวิธีเดิมอีกด้วย เพราะสินค้าไม่ได้ถูกยกขนโดยตรงและยังใช้แรงงานน้อยลง

จากจุดนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วงการขนส่ง ต่างให้ความสนใจกับการขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ โดยในปี 1962 ท่าเรือนิวยอร์กได้เปิดตัวท่าเรือแห่งใหม่ที่เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์แห่งแรกของโลก ตามมาด้วยการเปิดตัวท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ร็อตเตอร์ดัมในปี 1966 และท่าเรือสิงคโปร์ในปี 1972  

แน่นอนว่า ในทุกวันนี้มีการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทุกท่าเรือหลักของโลก แต่มันจะไม่เกิดขึ้นได้ หากจุดเริ่มต้นทั้งหมดไม่ได้มาจาก 'มัลคอล์ม แม็กลีน' บุคคลระดับตำนานที่มีอิทธิพลต่อวงการอุตสาหกรรมและการค้าของโลกยุคใหม่

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.pbs.org/wgbh/theymadeamerica/whomade/mclean_hi.html
https://www.shippingandfreightresource.com/leaders-and-visionaries-in-shipping-malcom-mclean/
https://www.maritime-executive.com/article/the-story-of-malcolm-mclean
https://portfolio.panynj.gov/2015/06/23/the-world-in-a-box-a-quick-story-about-shipping/
https://www.shippingandfreightresource.com/leaders-and-visionaries-in-shipping-malcom-mclean/

ดีกรีนักกีฬาไอซ์สเก็ตลีลาทีมชาติคว้าเหรียญทองมามากมาย แถมการเรียนยังเริ่ดคว้าปริญญาถึง 3 ใบ มากความสามารถต้องเธอคนนี้ “ทับทิม อัญรินทร์”

“ทับทิม อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์” ดารานักแสดงหญิงที่มากความสามารถในวงการบันเทิงเป็นทั้งดารานักแสดง พิธีกร รวมไปถึงนักร้อง และยังไม่พอด้านกีฬาของสาวทับทิมยังเคยไปแข่งไอซ์สเก็ตเอเชียถึงต่างประเทศได้เหรียญทองมาครอบ และยังเรียนจนได้ปริญญาถึง 3 ใบกันเลยทีเดียว 

ทางด้านการศึกษา สาวทับทิมนั้นเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนอุดมศึกษา หลังจากนั้นสาวทับทิมได้ระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิตจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (เอกภาษาอังกฤษ) บริหารบัณฑิตจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หลังจากที่เรียนคว้าปริญญาได้ 2 ใบแล้ว ทับทิมก็ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกด้วย 

ทางด้านกีฬา สาวทับทิมนั้นมีความชื่นชอบในกีฬาไอซ์สเก็ตอย่างมาก โดยได้ฝึกฝน พัฒนาตนเองจนได้กลายมาเป็นนักกีฬาไอซ์สเก็ตลีลาทีมชาติไทยและได้ไปแข่งขันในรายการ Skate Asia 2016 คว้าเหรียญทองมาได้ถึง 5 เหรียญ 1 ในนั้นคือการนำศิลปะวัฒนธรรมอย่างมโนราห์มาผสานกับกีฬาไอซ์สเก็ตลีลาจนทำให้ชนะใจกรรมการได้เหรียญทองกลับมานั้นเอง 

เรียกได้ว่าเป็นนักแสดงไทยที่มีความสามารถจริง ๆ การเรียนก็ดีแถมกีฬาก็ยังเริ่ดขนาดนี้ นับได้ว่าคงเป็นแบบอย่าง Idol ของใครหลาย ๆ คนกันเลยทีเดียวค่ะ 


แหล่งที่มา : 
https://www.sanook.com/campus/1404967/
https://www.tomasverner.com/ทับทิม-อัญรินทร์/

รู้เพื่อตั้งรับ!! 5+1 รูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังวิกฤติโควิด-19

มาตรการเร่งกระจายวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศขณะนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์จากหลายฝ่ายถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่จะกลับสู่ระดับเดิมเช่นก่อนเกิดวิกฤติ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประสิทธิภาพของนโยบายการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายการเงิน การคลัง ที่ผ่อนปรนต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นำไปสู่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคาดเดาได้ยาก 

อย่างไรก็ตาม ตามหลักเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายถึง 5 รูปแบบ ของการฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่  V, U, W, Swoosh และ L-Shape ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ 

ที่มา ห้องเรียนนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7516&type=article)

1.) การฟื้นตัวแบบ V-Shape (V-Shape Rebound) “ลงเร็ว ฟื้นเร็ว”
เป็นรูปแบบที่ถูกคาดหวังอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือ เมื่อประเทศผ่านวิกฤติซึ่งเป็นจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้ว เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับสู่ระดับเดิมได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอาจไม่กลับมาฟื้นตัวในปีนี้ ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ยาก

2.) การฟื้นตัวแบบ U-Shape (U-Shape Rebound) “หดตัวนาน ฟื้นตัวช้า”
เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจเป็นไปได้สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมีรูปแบบคล้ายกับ V-Shape แต่แตกต่างตรงระยะเวลาของผลกระทบที่อาจนานกว่า ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า ก่อนที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดิม ทั้งนี้การออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญถึงระยะเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ไปได้ช้าเร็วเพียงใด

3.) การฟื้นตัวแบบ W-Shape (W-Shape Rebound) “ฟื้นเร็ว ดิ่งลงรอบสอง”
จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด หากเกิดการระบาดในระลอกใหม่อย่างรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ และรัฐบาลเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีรูปแบบ “ดับเบิ้ล ดิป” ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหรือจุดที่ต่ำที่สุดอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มาตรการผ่อนปรนที่ถูกใช้ในเวลาหรือสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวในรูปนี้ก็เป็นได้

4.) การฟื้นตัวแบบ Swoosh (Swoosh Rebound) “ไถลลงเร็ว ค่อยๆ ฟื้นตัว” หรือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามแบบ “รูปเครื่องหมายไนกี้”
เป็นการไถลลงเร็วแบบตัว V และค่อยๆ ฟื้นตัว โดยการฟื้นตัวของนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายถูกหางยาว ที่แสดงถึงการเติบโตอย่างเชื่องช้า แต่สุดท้ายเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ก็ไปในแนวโน้มที่ดีและพุ่งขึ้นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามการผ่อนปรนมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศในช่วงแรกยังคงทำได้อย่างจำกัด

5.) การฟื้นตัวแบบ L-Shape (L-Shape Rebound) “หดตัวยาวนาน ไร้สัญญาณการฟื้นตัว” 
เป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ที่เมื่อเศรษฐกิจปรับลดลงแล้ว อัตราการขยายตัวจะไม่สามารถกระตุ้นให้กลับมาเป็นปกติเท่ากับระดับก่อนหน้าเกิดวิกฤติได้ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องยาวนาน และไม่รู้ว่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้หรือไม่ ดังเช่น วิกฤติโลก Great Depression ที่ใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวในรูปแบบนี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ และเกิดภาวะถดถอยในระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง 

นอกจากนี้ มีการกล่าวถึงรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งเพิ่มเติม คือ รูปแบบ K-Shaped หรือ ตัวอักษร K ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับเดิมได้และขยายตัวต่อเนื่องในบางกลุ่ม (แทนหางของตัว K ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน) ขณะเดียวกันสำหรับบางกลุ่มอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ และยังคงเผชิญกับภาวะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ (แทนหางของตัว K ที่ชี้ลงมาด้านล่าง)

ที่มา : บทความการฟื้นตัวแบบรูปตัว K ของเศรษฐกิจไทย: ในวิกฤตยังมีโอกาส ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_31May2021.aspx)

อย่างไรก็ตาม แสงสว่างปลายอุโมงที่อาจเริ่มมองเห็นได้ในขณะนี้ คงเป็นความหวังของทุกคนที่จะร่วมใจผ่านพ้นวิกฤติโควิดของประเทศในครั้งนี้ไปด้วยกัน

เขียนโดย อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง อาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7516&type=article
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_31May2021.aspx
https://www.prachachat.net/public-relations/news-521654
https://www.terrabkk.com/news/198705/

ศธ. ลุยสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตในสถานศึกษา เน้นใช้ Home room รับฟังเสียงสะท้อน หาต้นตอ แก้ไขภาวะเด็กเครียด!

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมหารือการจัดระบบดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน (Learning support) ในสถานศึกษา ร่วมกับ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ว่า การหารือดังกล่าวจะนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลง ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน) เพื่อขับเคลื่อนการดูแลลูกหลานนักเรียน นักศึกษา และผู้เรียน ด้วยเทคนิคการสะท้อนคิด (Reflection) โดยใช้ "อาข่าโมเดล" กรณีศึกษาดอยตุง (Home room) เพื่อรับฟังเสียงผู้เรียนของเรา ด้วยคำถาม 3 คำถาม ประกอบด้วย รู้สึกอย่างไร เรียนรู้อะไร และทำอย่างไรต่อ ซึ่งมีโรงเรียนที่นำไปใช้จนประสบความสำเร็จ อาทิ โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนบ้านตะโกล่าง จ.ราชบุรี เป็นต้น 

โดยความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับงานของสำนักงาน กศน. ที่กระจายอยู่ในบริบทของชุมชนทั่วประเทศ และการพัฒนาศูนย์ Active center ที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำกับนักศึกษาในเรื่องต่าง ๆ ต่อยอดไปสู่ศูนย์เรียนรู้ My care system เพื่อดูแลและรับฟังนักศึกษา จัดให้มีระบบคัดกรอง ระบบการส่งต่อ ระบบการบริหารจัดการ การพูดคุยและการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษา กศน. ที่มิเพียงมุ่งเน้นแต่เรื่องความฉลาดทางด้านสติปัญญา (Intelligence Quotient :IQ ) เท่านั้น แต่จะมุ้งเน้นในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) ด้วย พร้อม ๆ กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สนับสนุนส่งเสริมลงสู่ระดับชุมชน เพื่อสร้างรูปแบบคุณธรรมจากแนวคิดการสะท้อนคิด จากครอบครัว ชุมชน และสังคมไปพร้อมกัน

ด้านนพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โดยในส่วนของความร่วมมือ ศูนย์คุณธรรมฯ มีตัวอย่างโรงเรียนคุณธรรมที่ประสบความสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว 2-3 แห่ง อาทิ โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ จ.บุรีรัมย์ ที่นำเทคนิคการสะท้อนคิดไปใช้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ ดังนั้น หากสำนักงาน กศน. จะนำไปใช้ ก็จะเกิดสู่เป็น ศูนย์เซ็นเตอร์ (Center) ที่สามารถเกื้อกูลกันด้วยความเข้าใจ เชื่อมโยงสู่คนในชุมชนตามบทบาทของ กศน. พัฒนาไปสู่ระบบธนาคารจิตอาสา ที่มีระบบบริหารจัดการ การบริการ มีระบบส่งต่อ ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา ของครูหรือบุคลากรที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อเปิดใจคุยกันระหว่างผู้เรียนและพี่เลี้ยง เมื่อเป็นดังนี้ได้ ก็จะเป็นบันไดก้าวแรก ในการยกระดับเป็น กศน.องค์กรแห่งคุณธรรม 

ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้จะแก้วิกฤติให้กลายเป็นโอกาส โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แม้แต่ผู้ปกครอง ครู และตัวเด็กเอง ก็มีภาวะตึงเครียด ดังนั้น การนำเทคนิคการสะท้อนคิดดังกล่าว ด้วยคำถามเพียง 3 คำถาม เป็นเทคนิคที่สามารถปรับใช้ในสถานศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งครอบครัวและชุมชน และทำให้เราสามารถถอดรหัสความรู้สึกนึกคิดของเด็ก เป็นกระบวนการลดความตึงเครียดระหว่างกัน เริ่มจากการค้นหาจุดที่มีปัญหา เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายสภาวะความตึงเครียด โดยสามารถใช้ในครอบครัว และในสถานศึกษา ด้วยวิธีโฮมรูม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อน แทนการให้ข้อมูล และจะทำให้เราได้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ การได้รับอารมณ์และความรู้สึกของเด็กทั้งห้อง หรือแม้แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองเอง ก็สามารถใช้คำถามเพื่อรับฟังความคิดของบุตรหลานได้เช่นกัน

“สำหรับที่มาของเทคนิค 3 คำถาม เกิดจากการถอดบทเรียนชาวอาข่า บนดอยตุง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ขาดโอกาสในการเรียนหนังสือ แต่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข จึงถือว่าเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะในสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ ซึ่งยังต้องเรียนรู้ผ่านออนไลน์ อาข่าโมเดลจึงเป็นอีกทางออก ที่จะช่วยลดภาวะความตึงเครียด หรือแม้ว่าจะยังมีความตึงเครียด ก็จะรู้สาเหตุ และใช้ความเป็นจิตอาสาในการแก้ปัญหาให้กันและกันต่อไป” นพ.สุริยเดว กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/108191


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top