Tuesday, 29 April 2025
TheStudyTimes

โรงเรียนอินเตอร์ สุดปัง!! ทำไม แพงแค่ไหน ก็ยอมจ่าย?

โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 เพราะโรงเรียนไม่ได้เพียงแค่ให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในด้านความรู้ในเรื่องของการเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่โรงเรียนที่ดีจะต้องสอนทั้งการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมให้ได้ ในที่นี่เราจะมาพูดถึงโรงเรียนอินเตอร์กัน 

โดยโรงเรียนอินเตอร์ทีเป็นโรงเรียนที่สอนทั้งในเรื่องของการเรียนหนังสือ และ ประสบการณ์การใช้ชีวิต สภาพแวดล้อมและสังคม เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะช่วยให้ลูกของคุณมีประสบการณ์และการเรียนรู้ ในวันนี้ THE STUDY TIMES ได้รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นว่าในโรงเรียนอินเตอร์มีข้อดีอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้ลูกรักได้มีโอกาสพัฒนาในเรื่องของการเรียนและสังคม 

1.) การเรียนรู้ที่ควบคู่ไปกับประสบการณ์
สิ่งหนึ่งที่ลูกของคุณจะได้รับจากโรงเรียนอินเตอร์คือการเรียนที่ไม่ใช่แค่อยู่ในตำรา ไม่ได้มีแค่เพียงทฤษฎี แต่เป็นการเรียนที่ควบคู่ไปกับประสบการณ์ โรงเรียนอินเตอร์จะสอนให้ลูกของคุณได้เรียนทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกของคุณมีพัฒนาการที่ดี โรงเรียนอินเตอร์หลายที่จะให้นักเรียนได้ทั้งเรียน เล่น และสนุกกับการใช้ชีวิตในเวลาเดียวกัน ยิ่งถ้าได้ลงมือปฏิบัติ ลูกของคุณก็จะยิ่งสนุกกับการเรียนมากยิ่งขึ้น นักเรียนในโรงเรียนอินเตอร์จะได้พัฒนาการจากทางด้านการเรียนและกิจกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการเรียนในยุคปัจจุบัน


2.) ภาษาอังกฤษคือใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ
ในปัจจุบันภาษาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกรักของคุณสามารถเปิดโลกกว้างได้อย่างมาก ยิ่งภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล และแน่นอนโรงเรียนอินเตอร์มีรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษในทุกวิชา เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะในด้านทางภาษา และจะทำให้ลูกของคุณเก่งภาษามากยิ่งขึ้น โดยโรงเรียนอินเตอร์จะมีการสอนทั้งการเขียน การอ่าน การพูด ในทุกระดับชั้น การเรียนภาษาอังกฤษนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย 


3.) สังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย 
เนื่องจากนักเรียนและคุณครูที่โรงเรียนอินเตอร์มีความหลากหลายทั้งในประเทศ ภาษา และ วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอย่างมาก ลูกของคุณจะได้รับทั้งในเรื่องของการพูดภาษาได้หลากหลายรวมไปถึงได้รับวัฒนธรรมจากอีกหลากหลายประเทศ ทำให้ลูกของคุณได้รับทั้งความรู้ มุมมองในการใช้ชีวิตที่หลากหลายนอกเหนือจากในห้องเรียน สังคมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในด้านของการใช้ชีวิต โรงเรียนอินเตอร์ถือว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม หลากหลายสัญชาติมารวมกัน 

4.) คณะอาจารย์ คุณครูที่มีความเป็นเลิศทางด้านการสอนและมากไปด้วยประสบการณ์
โรงเรียนอินเตอร์ทุกที่คณะครู อาจารย์จะต้องได้รับการศึกษามาในเฉพาะทางอย่างดีเยี่ยม จึงจะสามารถเข้ามาสอนในโรงเรียนอินเตอร์ได้ ด้วยศักยภาพและเนื้อหาการสอนที่คณะคุณครูเตรียมถ่ายทอดให้กับนักเรียนทั้งในด้านของทฤษฎีและด้านปฏิบัติก็จะทำให้ลูกของคุณได้รับการดูแลเอาใจใส่ และมีการเรียน การศึกษาที่ดี และบุคลากรในโรงเรียนอินเตอร์จะต้องมีความพร้อม ดูแลเอาใจใส่นักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 

5.) สถานที่และบรรยากาศคือการเรียนรู้และการใช้ชีวิต 
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนที่สำคัญในการเรียนคือ บรรยากาศและสถานที่ในการเรียนรู้ โรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่มีสถานที่ ๆ สวยงามและพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งสภาพแวดล้อมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณมีความรู้สึกที่อยากจะไปโรงเรียน หลาย ๆ ที่ในโรงเรียนอินเตอร์จะให้ความสำคัญกับสถานที่และบรรยากาศการเรียนอย่างมาก มีห้องกิจกรรมและการเรียนรู้ นอกเหนือจากทางด้านวิชาการแล้วการเรียนนอกห้องเรียนก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ด้านศิลปะ ดนตรี คหกรรม รวมไปถึงกีฬา เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาศักยภาพของตนเองและค้นหาความฝัน หรืออาชีพในอนาคต

เครดิตภาพ : โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันฯ

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในแต่ละข้อนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณเติบโตขึ้น โรงเรียนอินเตอร์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะสามารถให้ลูกของคุณมีศักยภาพในการเรียนและสังคมที่ดี ตลอดจนถึงมีพัฒนาการทางด้านความคิด และมีทักษะอื่น ๆ อีกมากมาย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ปกครองที่กำลังเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของคุณ เพื่อให้ลูกที่คุณรักได้ใช้ชีวิตและเปิดประสบการณ์ในช่วงวัยเรียนได้อย่างมีความสุขกับเส้นทางที่ทุกท่านได้กำหนดไว้

คุณฟ้า ฟ้าฤดี ทรงลักษณ์ | THE STUDY TIMES STORY EP.54

บทสัมภาษณ์ คุณฟ้า ฟ้าฤดี ทรงลักษณ์ Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS), Georgetown University Law Center, สหรัฐอเมริกา, นิติกรชำนาญการ
นิติกรสาว ดีกรีแน่น ทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม

คุณฟ้าเรียนปริญญา 5 ใบ และได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาล ศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันทำงานอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

จุดเริ่มต้นปริญญา 5 ใบของคุณฟ้า โดยปริญญาใบแรกคุณฟ้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตอนปี 2 คุณฟ้าได้เข้าร่วมโครงการ Work and Travel ทำให้คุณฟ้ารู้ตัวเองว่าชื่นชอบในเรื่องของการท่องเที่ยว จึงศึกษาในระดับปริญญาตรีอีกหนึ่งใบ เกี่ยวกับการบริหารเอกการท่องเที่ยว ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

หลังจากเรียนจบทั้ง 2 ที่แล้ว คุณฟ้าเข้าศึกษาต่อปริญญาโทกฎหมายธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะขณะศึกษาในระดับปริญญาตรีที่จุฬาฯ ได้เรียนเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายมหาชน และปริญญาอีก 1 ใบ คุณฟ้าได้รับทุนรัฐบาล Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS) ศึกษาต่อ ณ Georgetown University Law Center, Washington D.C., สหรัฐอเมริกา และในปัจจุบันคุณฟ้ากำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก

สำหรับการแบ่งเวลาเรียนปริญญาตรี 2 ใบ คุณฟ้าเล่าว่า ในช่วงที่เรียนคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ คุณฟ้าจะศึกษาแนวทางในการเรียนที่ถนัด ถ้าเข้าห้องเรียนและเข้าใจที่อาจารย์สอนจะช่วยลดเวลาในการอ่านเตรียมสอบ และสามารถแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมได้ ส่วนในตอนเรียนการบริหารเอกการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยรามคำแหง สองปีแรกจะเรียนวิชาหลัก สามารถอ่านเตรียมสอบเองได้ ในช่วงสองปีหลัง เน้นการทำกิจกรรมลงพื้นที่จริง และมีการทำงานเป็นทีม โดยจะต้องแบ่งงานกับเพื่อนและช่วยเหลือกัน ต้องเข้าใจความถนัด แบ่งเวลาให้ดี ทำให้คุณฟ้าและเพื่อนๆ สามารถทำงานกันได้อย่างราบรื่น สิ่งสำคัญในการเรียนปริญญาตรี 2 ควบคู่กันของคุณฟ้าคือ การจัดตารางเรียน และการจัดสรรเวลา ให้ความสำคัญทั้ง 2 มหาวิทยาลัย

เทคนิคการเรียนให้ได้เกียรตินิยมจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ คุณฟ้ากล่าวว่า ในทุกครั้งจะจดในสรุปที่ได้จากรุ่นพี่ในปีก่อนๆ  และ จดเนื้อหาเพิ่มเติม จดแนวข้อสอบของอาจารย์ เราจะต้องทำความเข้าใจในตัวโจทย์และเนื้อหาการเรียน ส่วนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อนๆ ของคุณฟ้ามีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะต้องทำงานกันเป็นทีม 

การทำกิจกรรมของคุณฟ้า แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. กิจกรรมในมหาวิทยาลัย 2. กิจกรรมที่ทำร่วมกับมูลนิธิรัฐบุรุษ นำนักเรียนนักศึกษาจากหลายสถาบันมาทำกิจกรรมร่วมกัน 3. กิจกรรมสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร เป็นกระบอกเสียงช่วยเหลือเยาวชนด้วยกัน ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับคนในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ คุณฟ้าได้รับทุนรัฐบาล Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS) ศึกษาต่อ ณ Georgetown University Law Center, Washington D.C., สหรัฐอเมริกา มีการแลกเปลี่ยนหนึ่งเทอมการศึกษา ส่งให้ไปเรียนที่ King's College London คนที่มาเข้าร่วมโครงการมาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย หลากหลายทวีป นอกเหนือจากความรู้ในการเรียนกฎหมาย ยังได้เรียนรู้ระบบกฎหมายในแต่ละประเทศ ได้ความรู้ทางกฎหมายหลากหลายทวีป ทั้งยังได้เที่ยวแทบทุกอาทิตย์ขณะไปอยู่ที่อังกฤษ 

การเข้าร่วมกิจกรรมในต่างประเทศ คุณฟ้าได้เรียนรู้วิถีชีวิตและเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีการเข้าร่วมทำกิจกรรมศาลจำลอง ได้ทำกิจกรรมอาสามสมัครการใช้กฎหมายที่มิชิแกน รับเคสจริง ได้ปรึกษากับลูกความ ลองพูดคุยกับลูกความโดยตรง เป็นการฝึกงานจริง คุณฟ้ากล่าวว่า ในความรู้สึกไม่มีความกดดัน เพราะการที่ได้รับมอบหมายงานมาทำ ความคาดหวังคือเขาต้องการเห็นจุดที่เราเริ่มต้นวันแรก กับจุดสุดท้ายที่จบการฝึกงาน เราได้อะไรมากกว่า 

ปัจจุบัน คุณฟ้าทำงานเป็นนิติกรชำนาญการ อยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตัวคุณฟ้าจะอยู่ในเรื่องของการสืบสวน จับกุม การค้ามนุษย์ การพนัน ยาเสพติด หนี้นอกระบบ คุณฟ้ากล่าวว่า การค้ามนุษย์แท้จริงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง อาจรวมไปถึงการค้าแรงงาน จะต้องมีทักษะในการประสานงาน การบังคับใช้กฎหมาย การจับกุม และมีการประสานงานกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ถ้าหน่วยงานหรือทีมมีจุดประสงค์เดียวกัน ก็จะทำให้งานราบรื่นมากขึ้น 

สุดท้ายนี้คุณฟ้าอยากจะฝากข้อคิดในเรื่องของการใช้ชีวิตว่า วันนี้เรายังไม่จำเป็นต้องรู้ว่า เราอยากทำอะไร แต่ใช้ชีวิตทุกๆ วัน ให้เรารู้สึกว่าเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม สนุกไปกับมัน ล้มเหลวบ้าง สนุกบ้าง แต่อย่าหยุดที่จะไปต่อ
.

.

.

.
 

THE STUDY TIMES X DekThai Online, ClassOnline เสาร์อาทิตย์นี้ พบกับ LIVE วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาสังคม

????THE STUDY TIMES X DekThai Online, ClassOnline เสาร์อาทิตย์นี้

????วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม และ วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม 2564

⏰เวลา 2 ทุ่มตรง!

พบกับ LIVE วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาสังคม

????วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม
วิชาคณิตศาสตร์: เรื่อง ตัวอย่างการสอบคณิตศาสตร์ ม.ปลาย

โดย ครูพี่ปุ๊ องอาจ สุภัคชูกุล
อดีตตัวแทนคณิตศาสตร์โอลิมปิก นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น
#สอนวิชาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ม.ต้น-ม.ปลาย

????วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม
วิชาสังคม: เรื่อง ตัวอย่างข้อสอบวิชาสามัญ (สังคม)

โดย ครูต้นคูน ดร.ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์
ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (Ph.D. in Communication Arts) สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
#สอนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม ระดับ ม.ต้น-ม.ปลาย

????ช่องทางรับชม LIVE
Facebook และ Youtube: THE STUDY TIMES

หนุ่มหล่อสุดฮอต “มิว ศุภศิษฏ์” นักร้องและนักแสดงมากความสามารถ ทั้งยังพกดีกรี ว่าที่ ดร. จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย !!

มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ นักแสดงมากความสามารถ ที่ใคร ๆ ที่ได้ชมผลงานต่างชื่นชอบและตกเป็นแฟนคลับของเจ้าตัวกันไปหมด แต่นอกจากความสามารถในด้านวงการบันเทิง ที่เป็นทั้งสายแสดงและสายนักร้อง มิว ศุภศิษฏ์ ก็มีดีกรีทางด้านการเรียนที่ไม่เป็นสองรองใครเหมือนกัน 

โดยหนุ่มมิวนั้นจบชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แผนการเรียนวิทย์-คณิต หลังจากเรียนจบได้เข้าศึกษาต่อในภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองอีกด้วย 

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี หนุ่มมิวก็ไม่รอช้าศึกษาต่อทางด้านปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนที่มิวศึกษาระดับปริญญาโทอยู่นั้น ทางอาจารย์ก็ให้มิวได้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนแทนอาจารย์อยู่ช่วงหนึ่ง โดยสอนวิชาสถิติ (Statistics) ให้กับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หลังจากคว้าปริญญาโทมาได้สมดั่งใจแล้ว หนุ่มมิวก็สอบเข้าไปศึกษาต่อปริญญาเอกทันทีโดยศึกษาที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นอกจากงานในวงการบันเทิงจะเก่งแล้ว เรื่องการเรียนก็ยังไม่แพ้กัน นับได้ว่าหนุ่มมิวนั้นครบเครื่องทั้งหน้าตา ความสามารถ และ เรื่องการเรียนจริง ๆ 


ที่มา : https://www.sanook.com/campus/1400748/

https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/87343/-newenttha-newent-new-enttv-ent-musoth-mus-
 

รู้จัก “มศว ประสานมิตร” เป๊ะปังยังไง ทำไมใคร ๆ ถึงอยากเรียน ?!

หลาย ๆ คนก็คงจะรู้จัก “มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ” หรือ “มศว” ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังที่ผลิตบุคลากรในวงการต่าง ๆ มากมาย มีวิทยาเขตด้วยกัน 2 ที่คือ มศว ประสานมิตร ที่อโศก กรุงเทพฯ และ มศว องครักษ์ ที่จังหวัดนครนายก ในวันนี้ THE STUDY TIMES จะมาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักถึงประวัติและชื่อเสียงของ มศว ประสานมิตร กัน

มศว หรือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ถือกำเนิดเมื่อตอนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคมได้คลี่คลาย การศึกษาในยุคนั้นก็ต้องการที่จะพัฒนาให้คงอยู่

แต่มีประชากรครูไม่เพียงพอต่อประชากรนักเรียนเพื่อผลักดันการศึกษาทางด้านวิชาชีพครู กระทรวงศึกษาธิการจึงก่อตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง” ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2492 ที่ถนนประสานมิตร กรุงเทพมหานคร โดยได้ถือกำเนิดขึ้นจาก หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น

หลังจากนั้นจึงได้พัฒนามาเป็น “วิทยาลัยวิชาการศึกษา” ในปี พ.ศ.2496 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เป็นผู้นำพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน หลังจากนั้นก็พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ มีหลักสูตรมากมายจนกลายมาเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมี 2 วิทยาเขตคือ มศว ประสานมิตร ที่อโศก กรุงเทพฯ และ มศว องครักษ์ ที่จังหวัดนครนายก

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความหมายว่า "มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร" "วิโรฒ"มาจากคำว่า "วิโรฒ" ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความงอกงามหรือเจริญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) มีชื่อย่อว่า "มศว" (ไม่มีจุด) เขียนอักษรโรมันว่า "Srinakharinwirot University" มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SWU (อ่านว่า สะ-วู)

สัญลักษณ์ของมศวคือกราฟ ซึ่งเป็นสมการทางด้านคณิตศาสตร์ Y = ex (Exponential Curve) เส้นกราฟของการขยายเพิ่มขึ้น มีความหมายสอดคล้องปรัชญาที่ว่า “การศึกษาคือความเจริญงอกงาม” หรือ สิกขา “วิรุฬหิ สมปตตา” หรือ “ Education is Growth” รวมทั้งสอดคล้องกับ “สีเทา–แดง” ซึ่งสีเทา เป็นสีของสมอง หมายถึง “ความคิด” และสีแดงเป็นสีของเลือด หมายถึง “ความกล้าหาญ” สีเทา – แดง จึงหมายถึง “คิดอย่างกล้าหาญ” นั้นเอง โดย มศว จะใช้คำว่า นิสิต แทนตัวผู้เรียน

ในวันนี้ THE STUDY TIMES ขอพูดถึง มศว ประสานมิตร กันก่อนนะคะ โดย มศว ประสานมิตรตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา อโศก การเดินทางก็ง่ายและสะดวกมาก ๆ เนื่องจากตัวมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้ BTS และ MRT (อยู่หลังตึกแกรมมี่ด้วยนะ)

นอกจากนี้ มศว ประสานมิตร ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสอบแข่งขันแอดมิชชั่นสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยคณะที่เป็นยอดนิยมคือ คณะวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม นั่นเอง ซึ่งเป็นคณะที่มีการแข่งขันสูงมาก ๆ โดยเฉพาะเอกภาพยนตร์ หรือ คนในคณะจะเรียกเอก Cinema ที่มีรุ่นพี่อย่าง เก้า จิรายุ เจเจ กฤษณภูมิ และมีรุ่นพี่ดาราคนอื่น ๆ ที่กำลังศึกษาต่อหรือจบจากคณะนี้ก็มีอีกเพียบ

ในส่วนของคณะที่มศว ประสานมิตร มีคณะที่ศึกษาอยู่ที่มศว ประสานมิตรทั้ง 4 ปีมีคณะดังต่อไปนี้

คณะศึกษาศาสตร์

คณะเศรษฐศาสตร์

คณะทันตแพทยศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์

คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คณะศิลปกรรมศาสตร์

วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม

วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกษาความยั่งยืน

ส่วนคณะอื่น ๆ จะเป็นการสลับเปลี่ยนกันไปเรียนที่มศว องครักษ์บ้าง อย่างเช่นคณะแพทย์ศาสตร์จะเรียนที่ มศว ประสานมิตรตั้งแต่ปี 1 – 3 และจะไปเรียนต่อในชั้นปีที่ 4 – 6 ที่ มศว องครักษ์

สังคมของมศวในแต่ละคณะก็มีความแตกต่างหลากหลายกันไปแต่จากที่ได้ประสบพบเจอนั้นสังคม มศว ถือว่าเป็นสังคมที่ดี ทุกคนเป็นมิตรและมีอัธยาศัยดีมาก ๆ เลยละค่ะ คณะคุณครูหรืออาจารย์ ก็มากไปด้วยประสบการณ์จัดเต็มทุกเนื้อหาการสอน เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่อัดแน่นไปด้วยการเรียนรู้ที่ไม่ที่สิ้นสุดจริง ๆ ค่ะ

นอกจากนี้ รอบ ๆ มศว ประสานมิตร เป็นแหล่งออฟฟิศ มีแหล่งของกิน และ และห้างสรรพสินค้า มากมายเพราะว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ใจกลางย่านออฟฟิศ เหล่าพนักงานออฟฟิศและผู้คนหนาแน่นจริง ๆ ค่ะ เรียกได้ว่าสัมผัสบรรยากาศของเสน่ห์กรุงเทพฯเต็ม ๆ

ถ้าผู้ใดสนใจที่อยากจะเข้าศึกษาต่อที่มศวไม่ว่าจะเป็นที่ประสานมิตรหรือองครักษ์ ทางมหาวิทยาลัยจะมีงาน Open House ที่จัดขึ้นทุก ๆ ปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยแต่ละปีก็จะมีธีมการจัดงานที่แตกต่างกันไป และ มีบรรดาพี่ ๆ ศิษย์เก่าที่ชื่อเสียงมาแชร์ประสบการณ์และให้กำลังใจน้อง ๆ นักเรียนถึงที่ โดยงานจะจัดที่ มศว ประสานมิตรนะคะ ส่วนจัดวันที่เท่าไร ทาง THE STUDY TIMES จะรีบนำข่าวมาแจ้งให้เร็วที่สุดเลยค่ะ


แหล่งข้อมูล : https://www.swu.ac.th/history.php

วิกฤตหรือโอกาส? พลิกโฉมการศึกษาไทยยุค New Normal

โควิดระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้หากจะพูดถึงผลกระทบของโควิด ทุกคนคงกระจ่างแจ้งอย่างที่ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยกันหลายคำ เพราะทุกคนล้วนเป็นผู้ประสบภัยกันทั่วหน้า แม้ผลกระทบมากน้อยอาจต่างกัน 

โควิดส่งผลกระทบมากมายอย่างคาดไม่ถึง ทั้งด้านชีวิตและสุขภาพ สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปจากปกติเดิม จนต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ อย่างคำว่า “New Normal” วิธีชีวิตปกติแบบใหม่ นี้ก็คือการปรับพฤติกรรมของมนุษย์ในชีวิตประจำวันเพื่อการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดนี้เอง เช่น การทำงานก็เปลี่ยนจากการที่ต้องเดินทางไปที่ออฟฟิศ ไปสำนักงานก็เปลี่ยนมาเป็นการทำงานที่บ้าน หรือที่เราเรียกทับศัพท์กันอย่างติดปากว่า Work From Home การประชุมติดต่อประสานงานนั้นก็ทำได้โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วย 

และไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับขบวนกันยกใหญ่ ภาคการศึกษาก็เช่นกัน ต้องปรับจากการเรียนในสถานศึกษา มาเป็นห้องเรียนออนไลน์กันทุกระดับชั้นต้องแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อมาตรการในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการระบาดของโรค

1 ปีกว่าผ่านมาหากจะชวนคิด ชวนตั้งคำถามว่าการศึกษาในยุค New Normal นี้ โอกาสหรือเป็นวิกฤต กับสังคมไทยนั้นก่อนจะสรุปว่าเป็นวิกฤตหรือโอกาส ลองมาสำรวจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ กันก่อน

จากการเรียนในห้องเรียนที่มีเพื่อนร่วมห้อง มีคุณครู มีประตู หน้าต่าง มีการพบหน้าคาดตา ปรับมาเป็นการเรียนออนไลน์ ต่างคนต่างอยู่บ้าน เจอหน้ากันผ่านจอคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ตไว้เพื่อการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ จากข่าวคราวที่ปรากฎในสื่อเห็นชัดว่าการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายในประเทศไทย เพราะด้วยเหตุผลหลายประการในเชิงโครงสร้าง  

ประการแรก เรายังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้เรียนออนไลน์ที่บ้าน ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกรูปแบบในระบบการศึกษาไทย จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนของไทยในปี 2563 อยู่ที่ 26018.42 ในขณะที่มีรายจ่ายปี 2562 อยู่ที่ 20,742.12 และล่าสุดรายจ่ายของครัวเรือนของไทยในปี 2563 มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เฉลี่ยเดือนละ 21,329 บาท โดยร้อยละ 87 ของค่าใช้จ่าย ทั้งสิ้นเฉลี่ยต่อเดือนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค และร้อยละ 13 เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง / หวย ดอกเบี้ย) ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจัดสรรเงินสำรองเพื่อการศึกษาที่ไม่มากนั้น ยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด ที่อาจทำให้รายรับของครอบครัวลดน้อยลงไปอีก จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับครอบครัวที่ถูกซ้ำเติมในยามโควิดระบาดนี้อยู่แล้ว จะจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน การซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ต ซึ่งช่องว่างทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นอีกในระบบการศึกษาไทย  

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการศึกษาของ TDRI ที่พบว่าปัญหาของครัวเรือนในประเทศไทยที่ใหญ่กว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านคือ การไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 49 การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของครัวเรือนยิ่งยากมากขึ้นหากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะยากจน 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2560 ในประเทศไทย ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 2 แสนบาทมีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 2 แสนบาทขึ้นไปมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งหมด และหากจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์สูงถึงร้อยละ 42 ของครัวเรือนทั้งหมด ครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ในภาคกลางร้อยละ 21 ส่วนในภาคเหนือ ร้อยละ 19 ในภาคใต้ ร้อยละ 17 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 14  ซึ่งสถิตเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทย 

นอกจากความไม่พร้อมในเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว ประการต่อมาที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องความไม่พร้อมของการจัดการเรียนการสอน ทั้งในแง่หลักสูตร ความพร้อมของครูอาจารย์ ตลอดจนความพร้อมในการเรียนของนักเรียนนักศึกษาในการเรียนออนไลน์มีมากน้อยเพียงใด 

จากเสียงสะท้อนของทั้งผู้สอน และผู้เรียน ตลอดจนผู้ปกครองต่างต้องรับมือกับสถานการณ์การเรียนออนไลน์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ฝั่งผู้สอน ครูอาจารย์ก็รู้สึกท้อแท้กับการไม่มีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษาจากการใช้ระบบออนไลน์ ยิ่งเป็นการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยที่ให้ความไว้วางใจว่านักศึกษาโตพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้ ยิ่งพบว่าบรรดาอาจารย์ต่างปรับทุกข์ในทำนองเดียวกันว่านักศึกษาแทบไม่ค่อยมีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนเท่าที่ควรจะเป็น ไม่เปิดกล้อง ไม่ถามคำถาม ไม่ตอบคำถาม ส่วนในมุมผู้เรียนก็มองว่าเรียนออนไลน์น่าเบื่อ ไม่มีบรรยากาศการเรียนที่กระตุ้นการอยากรู้อยากเห็น ครูอาจารย์ไม่มีกลวิธีการสอนที่ดึงดูดใจพอ 

ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเล็ก ๆ ในชั้นอนุบาลหรือประถมต้นนั้นก็เหนื่อยไม่แพ้กันเพราะเหมือนต้องคอยดูแลกำกับให้ลูก ๆ หลาน ๆ นั่งหน้าจอเรียนออนไลน์ ในยุคก่อน new normal พ่อแม่ผู้ปกครองก็อาจมีหน้าที่ช่วยสอนลูกหลานในการทำการบ้าน แต่เหมือนว่าในยุค new normal นี้ต้องทั้งเรียนด้วย สอนด้วย ดูแลบุตรหลานด้วย ความเครียดจึงบังเกิดแด่พ่อแม่ผู้ปกครองกันทั่วหน้า

ดังนั้นปรากฏการณ์ของโควิด-19 ที่มีพลิกโฉมการเรียนการสอนจากห้องเรียนทางกายภาพสู่ห้องเรียนออนไลน์ หากมองดี ๆ แล้ว จะพบว่าความปกติใหม่ หรือ New normal นี้ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ใหม่และกระตุ้นเตือนให้เราหันกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษามากขึ้น 

ไม่ว่าจะเป็นตัวหลักสูตร ที่ควรตั้งคำถามว่าหลักสูตรที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษานั้นเหมาะสมสำหรับพัฒนาการการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของเด็กและเยาวชนจริงหรือไม่ หลักสูตรที่มีเหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่น ในพื้นที่ของเด็ก ๆ หรือไม่ หรือแม้แต่กฎเกณฑ์กติกาบางอย่างที่แท้จริงแล้วสำคัญหรือไม่อย่างไร หากเด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน เช่น การแต่งชุดนักเรียนและการไว้ทรงผม และกติกาหรือระเบียบวินัยแบบไหนที่ควรต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ แทน เป็นต้น 

นอกจากตัวเนื้อหาของหลักสูตรแล้ว กลวิธีการสอนและรูปแบบในการนำเสนอสำหรับการเรียนรู้ในห้องเรียนออนไลน์นั้นก็มีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงและต้องถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับเนื้อหาและธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ด้วย การใช้วิธีการเดียวกันกับการสอนในห้องเรียนปกตินั้นคงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

ทั้งนี้ TDRI ได้ทำการศึกษาเราควรใช้ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ มาออกแบบอนาคตของการศึกษาไทย โดยให้น้ำหนักกับสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนให้มากที่สุด ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยมากในหลายประเด็น เช่น 

• ให้น้ำหนักกับปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียน มากกว่า จำนวนชั่วโมงที่นักเรียนอยู่ในห้องเรียนหรือเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์

• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับความสนใจของนักเรียน เชื่อมโยงกับชุมชนและบริบทที่นักเรียนอยู่มากกว่า การเรียนรู้อิงตามมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ

• ให้น้ำหนักกับการประเมินผลเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) จากชิ้นงานและพฤติกรรมของนักเรียน มากกว่า การประเมินเพื่อการตัดสิน (summative assessment) เพื่อนำไปใช้ให้คุณให้โทษแก่โรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษา

• ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้เพื่อสุขภาพกายและใจ ควบคู่กับการเรียนรู้ด้านวิชาการ สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของทุกคนรวมถึงเด็ก ๆ ทุกวัย 

• ให้น้ำหนักกับการจัดสรรทรัพยากรออฟไลน์แก่เด็กและครอบครัว ควบคู่กับ ทรัพยากรออนไลน์ เช่น จัดสรรหนังสือเด็กให้แก่ครอบครัวด้อยโอกาสเพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่บ้าน จัดให้มีอาสาสมัครติดตามสถานการณ์เด็กในแต่ละครอบครัวและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลลูก เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศไปด้วย 

ดังนั้น หากย้อนกลับมาที่คำถามของเราว่า การศึกษาไทยในยุค New normal นี่เป็นวิกฤตหรือโอกาส ก็คงตอบได้อย่างชัดเจนว่ามีทั้งสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นวิกฤต และโอกาส เพราะวิกฤตในวันนี้เราสามารถพลิกให้เป็นบทเรียนเพื่อสร้างโอกาสในวันหน้าได้ เพียงแต่ต้องปรับมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย ปรับวิธีคิดของบุคลากรทางการศึกษา สร้างความร่วมมือกันใหม่ในการมีส่วนช่วยกันยกเครื่องระบบการศึกษา ทั้งพัฒนาหลักสูตร พัฒนาศักยภาพบุคคลกรทางการศึกษา พัฒนาแนวทางและรูปแบบ

โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้อาจจะต้องดึงภาคเอกชนและหน่วยงานนอกระบบราชการ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมาร่วมมือกันออกแบบการจัดการเรียนการสอน รวมถึงถอดบทเรียนองค์ความรู้จากทั้งในและต่างประเทศ เพราะเราจะพบว่าแนวโน้มในการความเป็น New normal นี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต เช่น เปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเกิดเทคโนโลยี disruptive หรือแม้แต่การเปลี่ยนด้านการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจของโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมพร้อมในการสร้างคน สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศและโลก ซึ่งการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างคนนั้นเอง 

เขียนโดย: อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ข้อมูลอ้างอิง
http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/08.aspx
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเป็นประจำตั้งแต่ปี 2500 (nso.go.th)
New Normal ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ - TDRI: Thailand Development Research Institute
วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์ - TDRI: Thailand Development Research Institute

พร้อมไม่พร้อม!! เช็คลิสต์ เรื่องที่ต้องรู้ก่อนสอบ TCAS65 ????????

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้จัดทำระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา TCAS ปีการศึกษา 2565 ได้มีการพิจารณาแนวทางการคัดเลือกระบบ TCAS65 โดยมีมติยุติการใช้คะแนนโอเน็ตในการคัดเลือกในรูปแบบ Admission2 เพื่อลดภาระการสอบให้บริมาณที่ลดน้อยลง พร้อมนำเสนอ (ร่าง) รูปแบบการคัดเลือกในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2565 (TCAS65) เป็น 4 รอบ 4 รูปแบบ ดังนี้

1. Portfolio รับตรงโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน
ใช้แฟ้มสะสมผลงานเป็นเครื่องมือแสดงความโดดเด่น ความสนใจ ความถนัด ความสามารถพิเศษ ความเป็นเลิศ หรือมีผลงานที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับคณะที่จะเข้าศึกษา 

สมัครกับ : มหาวิทยาลัย
เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือก : GPAX, Portfolio, คะแนนสอบวิชาเฉพาะ, คะแนนสอบภาษาอังกฤษ

2. Quota รับตรงโควตาตามเกณฑ์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด
รอบนี้เป็นรอบของโควตาตามกฎเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น โควตาโรงเรียนที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โควตาเรียนดี / มีความสามารถพิเศษ, โควตาเขตพื้นที่, โควตากระจายโอกาสให้เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือโควตารูปแบบต่าง ๆ

สมัครกับ : มหาวิทยาลัย
เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือก : GPAX, GAT/PAT, วิชาสามัญ, คะแนนสอบวิชาเฉพาะ, คะแนนสอบภาษาอังกฤษ

3. Admission รับตรงร่วมกัน
รอบรับตรงร่วมกัน ทุกสถาบันจะเปิดรับสมัครพร้อมกัน ในวันและเวลาเดียวกัน โดยจำกัดการเลือกไว้ตามจำนวนอันดับที่ ทปอ.กำหนด และที่สำคัญคือ ใช้คะแนนสอบเป็นหัวใจในการคัดเลือก 

สมัครกับ : mytcas.com
เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือก : GPAX, GAT/PAT, วิชาสามัญ, คะแนนสอบวิชาเฉพาะ

-เลือกได้จำกัดจำนวน เรียงตามลำดับความชอบ (รอสรุปจำนวนจาก ทปอ.)
-กสพท อยู่ในรอบนี้
-มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์ตรงของใครของมัน แต่รับสมัครผ่าน ทปอ.
-ทปอ. ประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ 
-Double Sorting ประมวลผล 2 รอบ

4. Direct Admission รับตรงอิสระ
รอบเก็บตก ปลายทางรอบสุดท้ายของระบบ จำนวนรับน้อยที่สุด และบางสถาบันก็ไม่ได้เปิดรับในรอบนี้ 

สมัครกับ : มหาวิทยาลัย
เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือก : GPAX, GAT/PAT, วิชาสามัญ

ทุกรอบต้อง Clearing House ผ่านระบบ mytcas ของ ทปอ.
แม้ว่าระบบการคัดเลือกจะเป็นระบบการรับตรง แต่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยกระจายโอกาสอย่างเสมอภาค ตามหลักการของ TCAS ที่กำหนดให้ทุกคนมี 1 สิทธิ์เท่าเทียมกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะติดรอบใดก็ตาม จะต้องเข้ามา Clearing House หรือยืนยันสิทธิ์ในระบบ mytcas ซึ่งเป็นระบบที่ใช้บริหารจัดการสิทธิ์ในระบบ TCAS (ยกเว้นคนที่ติดในรอบที่ 4 Direct Admission ไม่ต้องเข้ามายืนยันสิทธิ์ในระบบของทปอ. แต่ให้ไปยืนยันสิทธิ์กับมหาวิทยาลัยที่ติดได้เลย) 


ขอบคุณข้อมูล: https://www.admissionpremium.com/content/6340
https://www.trueplookpanya.com/tcas/article/detail/87856

เทคนิคการอ่านหนังสือสอบให้จำได้แม่นยำ ง่ายๆ มีอะไรบ้าง? ????????

ช่วงนี้นักศึกษาหลายคนคงจะกำลังเตรียมตัวสอบกลางภาค-ปลายภาคกันแล้วนะคะ ครูพิมพ์เชื่อว่านักศึกษาที่ลงทะเบียนหลายวิชา คงกำลังเลือกรายวิชาที่จะเริ่มอ่านอยู่ หรือบางคนอาจจะเลือกไม่ถูกว่าจะอ่านเล่มไหนก่อนหรือหลังดี วันนี้ครูพิมพ์มีเทคนิคในการอ่านหนังสือสอบที่สามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ ง่ายๆ มาให้นักศึกษาทุกคนได้ลองทำตามกันดูนะคะ 

อันดับแรก นักศึกษาต้องเตรียมความพร้อมก่อนค่ะ โดยการเตรียมตำราเรียนทุกรายวิชาที่จะเข้าสอบให้เรียบร้อย และเช็คตารางสอบให้ดีว่า วิชาไหนสอบก่อน-หลัง ไล่ลำดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวิชาสุดท้ายค่ะ     

 
ตัวอย่างเช่น  วิชาแรก สอบวิชา A, วิชาที่สอง สอบวิชา B, วิชาที่สาม สอบวิชา C, วิชาที่สี่ สอบวิชา D, วิชาที่ห้า สอบวิชา E, วิชาที่หก สอบวิชา F และวิชาที่เจ็ด สอบวิชา G  รวมทั้งสิน 7 วิชา

เมื่อนักศึกษาทราบรายวิชาที่จะเข้าสอบตามลำดับก่อน-หลังแล้ว ให้นักศึกษาเลือกหยิบตำราเล่มที่สอบวิชาสุดท้ายมาเริ่มอ่านก่อนเป็นวิชาแรก ซึ่งก็คือ วิชา G เมื่ออ่านจบแล้วให้หยิบตำราเล่มวิชา F ซึ่งเป็นวิชาที่หก มาอ่านต่อ อ่านไล่ย้อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชา A ที่เป็นวิชาที่จะสอบในวันแรก ซึ่งถ้านักศึกษาอ่านตำราวิชา A จบแล้ว ก็ใกล้ถึงวันที่จะเข้าสอบในวันแรกพอดี เมื่อนักศึกษาสอบวิชาแรกเสร็จสิ้นแล้ว ก็สามารถหยิบวิชาที่จะเข้าสอบเป็นวิชาที่สองที่ได้อ่านไว้ล่วงหน้าแล้วมาทบทวนทำความเข้าใจอีกนิดหน่อยก็เข้าสอบได้เลยค่ะ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชาสุดท้าย 

เห็นไหมคะ เทคนิคง่ายๆ นิดเดียว ดีกว่าที่นักศึกษาจะต้องนั่งอ่านวิชาแรก ไล่ไปจนกระทั่งวิชาสุดท้าย พอถึงวันเวลาที่จะเข้าสอบ ก็อาจจะลืมวิชาแรกที่อ่านไปแล้ว ต้องมานั่งอ่านกันอย่างหนักอีกรอบทำให้เสียเวลานะคะ 

และที่สำคัญที่สุดก่อนที่นักศึกษาจะเริ่มอ่านหนังสือสอบนั้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายและสมองพร้อมที่จะเริ่มคิด วิเคราะห์และจดจำไปกับเรานะคะ และถ้าไม่จำเป็นพยายามอย่าจับสมาร์ทโฟนนะคะ ถ้าปิดเครื่องได้ยิ่งดีค่ะ เพราะอาจทำให้เราเผลอท่องโลกโซเชียลจนไม่ได้อ่านหนังสือสอบนะคะ 

เมื่อพร้อมแล้วเรามาเริ่มลงมือเปิดตำราหน้าแรก โดยเริ่มอ่านประเด็นที่สำคัญตามที่ท่านอาจารย์สอนในรายวิชานั้นๆ ได้เน้นย้ำ หรือตามแนวข้อสอบที่ท่านอาจารย์ได้ให้มาได้เลยค่ะ 

เมื่อนักศึกษาอ่านไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงผ่านไป ให้นักศึกษาหยุดพักและนอนหลับพักผ่อนให้ได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้สมองได้หยุดพัก และตื่นขึ้นมาแล้วหาของว่างเย็นๆ ดื่ม เช่น นม หรือน้ำหวาน จะได้รู้สึกสดชื่นนะคะ แล้วอ่านต่ออีกประมาณ 2 ชั่วโมง และหยุดพัก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวิชาสุดท้ายนะคะ 


สาเหตุที่ไม่ควรอ่านหนังสือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน เพราะจะทำให้สมองทำงานหนักและล้าจนเกิดความง่วง เบื่อหน่าย เสียสมาธิในการอ่านและการจดจำค่ะ และสิ่งที่อันตรายที่สุดที่สามารถทำลายสมาธิจนอาจทำให้หลายคนสอบตกนั่นก็คือ การแอบเล่นสมาร์ทโฟนจนไม่ได้อ่านหนังสือ สุดท้ายแล้วเมื่อถึงเวลาสอบก็ไม่สามารถทำข้อสอบได้ ผลที่ได้รับคือ สอบตก ค่ะ 

เทคนิคการอ่านหนังสือสอบดังกล่าวที่ครูพิมพ์ได้แนะนำไปแล้วนั้น ครูพิมพ์ได้ทดลองทำด้วยตนเอง ตั้งแต่สมัยที่ศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งสอบครั้งนึงก็ไม่ต่ำกว่า 7-8 รายวิชา จึงคิดว่าทำอย่างไรให้อ่านหนังสือแล้วไม่ง่วง และสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ จึงได้คิดเทคนิคการอ่านวิธีนี้ขึ้นมา ซึ่งฟังดูแล้วอาจเหมือนคนที่ขี้เกียจ แบบอ่านไป นอนไป หลับไป แต่ทำแล้วได้ผลนะคะ 

ซึ่งผลการเรียนที่ได้ในขณะนั้น ในช่วงเรียนปี 1 ครูพิมพ์ได้เกรดเฉลี่ย 3.83 ไปจนกระทั่งได้เกรดเฉลี่ยสูงที่สุดในชีวิต คือ 4.00 ซึ่งเป็นเกรดเฉลี่ยที่สูงที่สุดในระดับห้องและระดับชั้น ทำให้เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ตนเองเป็นอย่างยิ่งและอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ที่สามารถทำเกรดเฉลี่ยได้สูงเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาในระดับมัธยมศึกษา เกรดเฉลี่ยจะต่ำมากๆ ค่ะ ซึ่งครูพิมพ์ก็ใช้เทคนิคนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบันครูพิมพ์จบปริญญาตรี 5 ใบ จบปริญญาโท 1 ใบ และปัจจุบันครูพิมพ์กำลังจะจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการบริหารรัฐกิจ อีก 1 ใบ ค่ะ 

เทคนิคง่ายๆ แค่นี้ ครูพิมพ์ขอแนะนำให้ทุกคนนำไปลองฝึกปฏิบัติกันนะคะ ได้ผลอย่างไรมาเล่าให้ครูพิมพ์ฟังกันด้วยนะคะ 

ท้ายนี้ครูพิมพ์จะขอฝากไว้ให้นักศึกษาทุกคนเพื่อเป็นกำลังใจนะคะ “สิ่งที่วิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้” 

มุ่งต่อยอดความรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด  


เขียนโดย ครูพิมพ์ฑักษอร แสงทองไชย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ 

คุณป้อง จิรพัชร พูลสุวรรณ | THE STUDY TIMES STORY EP.55

บทสัมภาษณ์ คุณป้อง จิรพัชร พูลสุวรรณ ปริญญาโท Public Policy, University of Bristol, สหราชอาณาจักร
เรียนในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่รัก ย่อมประสบความสำเร็จ

คุณป้องผู้ที่มีความสนใจในด้านรัฐศาสตร์ และได้ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ตอนนี้ทำงานในบริษัท food delivery ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ เป็นหน้าด่านของบริษัทในการติดต่อกับภาครัฐ ประสานไปยังทีมที่เกี่ยวข้อง

ย้อนกลับไปในช่วงระดับปริญญาตรี คุณป้องเลือกเรียนในคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุดเริ่มต้นมาจากตัวเลือกที่ขัดแย้งระหว่างแพทย์และสังคมศาสตร์ โดยตัวคุณป้องเองจะเปรียบเทียบกันระหว่างความคาดหวัง และความชื่นชอบ สุดท้ายเลือกความชอบในด้านที่เกี่ยวข้องกับสังคม 

การเรียนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการทูต ต้องเรียนความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเศรษฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชิงภูมิภาค ต้องดูองค์ประกอบความสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

หลังจากนั้นคุณป้องเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในสาขานโยบายสาธารณะ หรือ Public Policy ที่ University of Bristol สหราชอาณาจักร ประสบการณ์การเรียนในต่างประเทศ ในพาร์ทของการใช้ชีวิต คุณป้องเล่าว่า การเรียนหนังสือจะแตกต่างกับที่ประเทศไทยมาก ประเทศไทยคือการเรียนตามตำรา เน้นทฤษฎีเยอะ ขณะที่บรรยากาศห้องเรียนที่ต่างประเทศ เน้นการคิดวิเคราะห์ ออกความคิดเห็น แชร์ประสบการณ์ การเรียนปริญญาโทมีคนจากหลากหลายเชื้อชาติ ข้อดีคือการแสดงความแตกต่างทางความคิด ทำให้เกิดความน่าสนใจ

การใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ เพราะคุณป้องมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษในวัยเด็ก ทำให้เกิดความเคยชิน แต่เมื่อโตขึ้น ไม่มีผู้ปกครอง ก็จะมีความอิสระ ทำให้เราต้องเป็นคนกำหนดตัวเอง และการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่นๆ ทำให้ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อปรับตัว 

คุณป้องเล่าว่า ตัวเองนั้นได้รับรู้หลายอย่างจากการเรียนที่อังกฤษ หนึ่งทักษะคือ การทำอาหารรับประทานเอง เพราะต้องพึ่งพาตัวเอง ทำให้เป็นทักษะที่ชื่นชอบมากที่สุด มีการแบ่งปันอาหารรับประทานกับเพื่อนๆ ทำให้ได้สังคม ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน

นอกจากนี้ระหว่างเรียน คุณป้องได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ ตอนอยู่มหาวิทยาลัยที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมวงดนตรีออร์เคสตรา เพราะชื่นชอบในการเล่นดนตรีคลาสสิค กิจกรรมทำความรู้จักรุ่นพี่ กิจกรรมจัดค่ายแนะนำคณะให้น้องมัธยม ส่วนกิจกรรมขณะอยู่ประเทศอังกฤษ จะเป็นเข้าวงสังคม ไปสังสรรค์กับเพื่อนในสาขา เข้าร่วมกิจกรรมในสมาคมคนไทยที่อยู่ในประเทศอังกฤษ 

ประสบการณ์การทำงาน ในช่วงที่เรียนจบปริญญาตรี คุณป้องเข้าทำงานในตำแหน่ง นักวิเทศสัมพันธ์ ที่องค์กรซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม มีโอกาสลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัย หลังจากนั้นได้มีโอกาสเปลี่ยนงานไปทำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นพนักงานแอดมิน ดูแลจัดการประชุม หลังจากเรียนจบระดับปริญญาโท คุณป้องได้เข้าทำงานในบริษัทที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวข้องกับรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบายสาธารณะ ให้คำปรึกษากับบริษัทต่างชาติที่ติดต่อเข้ามายังประเทศไทย เปิดประสบการณ์การทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง จากนั้นเข้ามาทำงานอยู่ในบริษัทปัจจุบัน ตำแหน่งเกี่ยวกับรัฐกิจสัมพันธ์ สร้างความสัมพันธ์กับภาครัฐในรูปแบบต่างๆ 

สิ่งที่ได้จากการทำงานคือ มีโอกาสรู้จักผู้คนและการทำงานที่หลากหลายรูปแบบ ได้ฝึกการคิด การเข้าหาคน การปรับตัวเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมให้คุณป้องสามารถทำงานและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้

คุณป้องฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าชอบหรือรักอะไร อย่าให้มีอะไรมากั้น ถ้าเราชอบอะไรสักอย่าง เรามีโอกาสประสบความสำเร็จได้อยู่แล้ว
.

.

.

.

รู้จัก Land Bridge หรือ ‘สะพานแผ่นดิน’ เส้นทางขนส่งร่นระยะทาง

วีคนี้จึงมาขอมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Land Bridge กันสักหน่อยว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง...

Land Bridge หรือแปลเป็นไทยว่า ‘สะพานแผ่นดิน’ เดิมเป็นคำศัพท์ทางชีวภูมิศาสตร์ หมายถึง พื้นที่ที่เป็น ‘คอคอด’ ซึ่งเชื่อมแผ่นดินขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน และใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของสัตว์ต่าง ๆ เช่น พื้นที่ประเทศปานามาที่เชื่อมระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปอเมริกาใต้

ต่อมาเริ่มมีการใช้คำนี้ในทางคมนาคม คือ เส้นทางทางบก เพื่อใช้เชื่อมโยงระหว่างทะเลหรือมหาสมุทร แทนการใช้การขนส่งทางทะเล

ในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น มักจะใช้กับการขนส่งทางบกในระยะทางที่ไม่ไกล เนื่องจากระบบการขนส่งทางบกยังไม่พัฒนา สภาพเป็นทางเกวียนหรือเส้นทางธรรมชาติเป็นหลัก ส่งผลให้ใช้เวลาเดินทางนานและขนส่งได้น้อย เพราะข้อจำกัดของสภาพถนนและยานพาหนะ ทำให้ต้นทุนการขนส่งทางบก สูงกว่าการขนส่งทางทะเลที่ระยะทางไกลกว่า

เมื่อมีการพัฒนาระบบรถไฟหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งทางบกลดต่ำลง เพราะสามารถขนสินค้าได้ครั้งละจำนวนมากและทำความเร็วได้ดีกว่าเดิม เส้นทาง Land Bridge จึงมีระยะทางยาวขึ้น

ในช่วงปี 1880 มีโครงการแรกที่ถือได้ว่าเป็น Land Bridge สมัยใหม่ที่ใช้การขนส่งระบบราง คือ เส้นทาง Canadian Pacific Railway ที่เชื่อมโยงสองฝั่งของประเทศแคนาดา เนื่องจากช่วงนั้นมีการนำเข้าสินค้าราคาสูง เช่น ผ้าไหม เครื่องเทศ ชา จากเอเชียไปยังยุโรป โดยวิธีเดิมคือการขนส่งทางเรืออ้อมทวีปแอฟริกาหรืออ้อมทวีปอเมริกาใต้

แต่การใช้เส้นทางนี้ ช่วยร่นระยะทางด้วยการขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วขึ้นฝั่งทางตะวันตกของแคนาดาและขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อไปยังท่าเรือทางตะวันออกของประเทศ แล้วขนส่งสินค้าทางเรือต่อไปยังยุโรป

อย่างไรก็ตามเส้นทางขนส่งสินค้านี้ ได้รับความนิยมอยู่ประมาณ 40 ปี ก็กลับไปใช้การขนส่งทางทะเล เพราะมีการขุดคลองสุเอชและคลองปานามาที่ช่วยลดระยะเวลาในการเดินเรือ แต่เมื่อคลองสุเอชและคลองปานามา มีข้อจำกัดทางการใช้งานและปัญหาทางการเมือง การขนส่งสินค้าทาง Land Bridge ของอเมริกาเหนือ ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ว่า การเลือกเส้นทางการขนส่งสินค้ามีปัจจัยประกอบหลายด้าน ทั้งในด้านเทคโนโลยีการขนส่ง ความสามารถของคู่แข่ง หรือรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีระยะเวลาคืนทุนหลายสิบปี จึงควรพิจารณาให้รอบคอบเพราะเหตุการณ์ในอนาคตอาจไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ที่มา:
https://transportgeography.org/contents/applications/transcontinental-bridges
https://www.britannica.com/science/land-bridge


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top