Friday, 16 May 2025
Region

สุรินทร์ - ร.23 พัน.3 จัดกิจกรรมจิตอาสาฯ ตามโครงการ "มีแล้วแบ่งปัน" ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ ชุมชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองง จังหวัดสุรินทร์  พันโท พงษ์พัฒน์  เตือนขุนทด ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 ได้มอบหมายให้ ฝ่ายกิจการพลเรือน กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จัดชุด Army Delivery จำนวน 3 คัน ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาฯ ตามโครงการ "มีแล้วแบ่งปัน" โดยการนำข้าวกล่อง จำนวน 30 กล่อง, น้ำดื่ม และ หน้ากากอนามัย

ออกแจกจ่ายให้ประชาชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน บ้านเฉลิมพระเกียรติ หมู่ที่ 21 ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนต่อสู้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ในการช่วยเหลือ ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน


ปุรุศักดิ์  แสนกล้า  ข่าว/ภาพ

จันทบุรี - จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 โดยปลูกป่าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า บริเวณคูกันช้าง

วันนี้ ( 20 ก.ค.64 ) ที่ บริเวณคูกันช้าง พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว หมู่ที่ 7 ต.ปะตง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มพลังมวลชน ประชาชนจิตอาสา ร่วมกิจกรรม ปลูกป่าเพื่อรักษา สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 แสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

รวมทั้งปลูกป่าทดแทน เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า มีความสำคัญที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ป้องกันอันตรายจากช้างปาออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ อีกทั้งการปลูกต้นไม้ตามแนวคูกันช้างยังช่วยป้องกันการพังทลายของคูกันช้าง ได้เป็นอย่างดี เป็นการป้องกันภัยจากช้างป่า ซึ่งครั้งนี้เป็นการปลูกป่าบริเวณคูกันช้างระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร โดยใช้กล้าไม้ประกอบด้วย ยางนา ประดู่ ตะเคียนทอง มะค่าโมง พะยูง จำนวน 1,000 กล้า


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าวจ.จันทบุรี

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

ลำปาง - มทบ.32 พบปะหารือนายกสมาคมผู้สื่อข่าว-นายกสมาคมนักจัดรายการฯ ในการช่วยเหลือประชาชนในห้วงสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.00 น. พลตรี อโณทัย  ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 พร้อมคณะ ได้เดินทางไปพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับคุณไชยยันต์ เปรมทอง นายกสมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง,พันโท ชูเกียรติ มีโฉม นายกสมาคมนักจัดรายการวิทยุกระจายเสียงนครลำปาง  และคณะกรรมการสมาคม ณ ที่ทำการสมาคมผู้สื่อข่าวนครลำปาง บริเวณชั้น 1 ศาลาประชาคม ศาลากลางหลังเก่า อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง 

ในโอกาสนี้ทาง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้กล่าวถึงภารกิจของทหารในการช่วยเหลือประชาชนชาวลำปาง ทั้งให้การสนับสนุน จังหวัดลำปาง ในห้วงสถานการณ์การณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ การจัดกำลังพลและยานพาหนะสนับสนุนการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม, การจัดกำลังพล Army Delivery นำสิ่งของที่ชาวลำปางมีน้ำใจร่วมบริจาคผ่านหน่วยทหารนำไปมอบให้ประชาชนที่เดือดร้อน,การประชาสัมพันธ์ตามมาตรการการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในการปฏิบัติตัวของชาวบ้าน,นำกำลังจิตอาสาทำความสะอาดโรงเรียนในจังหวัดลำปางก่อนที่โรงเรียนจะเปิดฯ,จัดรถของหน่วยสนับสนุนตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง รับผู้ป่วยตามโครงการรับคนลำปางกลับบ้าน

ทั้งนี้ โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของทหาร ได้ช่วยเหลือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางในการรับผู้ป่วยโควิดมารักษา ณ โรงพยาบาลปัจจุบันมี 13 คน นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือกับประชาชนชาวลำปางในการดูแลตัวเองตามมาตรการป้องกันตน เชื่อและปฏิบัติตามสิ่งที่พ่อเมืองหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กำหนดมาตรการสำคัญต่าง ๆ ล้วนต้องการให้ประชาชนลำปางได้ปลอดภัยจากโควิดทั้งสิ้น บรรยากาศการพัฒนาสัมพันธ์เป็นไปด้วยความชื่นมื่น ทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมร่วมมือ ร่วมใจกัน เพื่อผลสำคัญคือประโยชน์ได้เกิดต่อประชาชนชาวลำปางในโอกาสหน้าต่อไป

“ทหารไม่ใช่ด่านหน้า แต่ทหารพร้อมสนับสนุนกำลังทรัพยากร ยานพาหนะ เป็นส่วนสนับสนุนที่พร้อมให้การสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนทุกเรื่อง”


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

พังงา - เดือดร้อนหนัก รถส่งสินค้าเข้าภูเก็ตไม่ฉีดวัคซีน และฉีดวัคซีนแต่ไม่มีผลตรวจโควิดห้ามเข้าเด็ดขาด !! นักธุรกิจระหว่าง 2 จังหวัด วอนขอมาตรการผ่อนปรน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 หลังจากจังหวัดภูเก็ตได้ออกประกาศฉบับที่ 4021/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับคนไทยจากต่างจังหวัดหรือคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม-2สิงหาคม 2564 ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำนวน 53 จังหวัดและพื้นที่ควบคุมจำนวน 10 จังหวัดรวมทั้งสิ้น 76 จังหวัด เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค Covid 19 ชนิดชิโนแวค, ชิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็มหรือได้รับวัคซีนชนิด Astrazeneca ,ไฟเซอร์,  Moderna , Johnson & Johnson จำนวน 1 เข็มมาแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรค Covid-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วันและต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ Covid-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen test  ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการตรวจ ยกเว้นเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีจนถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีนและเดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ให้มีการตรวจหาเชื้อ Covid-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen test ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการตรวจ

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ด่านตรวจท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พบว่ามีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์มาตรการการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตเป็นระยะตั้งแต่ฝั่งจังหวัดพังงาก่อนขึ้นสะพานท้าวเทพกษัตรีย์ ขณะที่จุดตรวจมีเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ทัพเรือภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตได้ตรวจเข้มรถทุกคันที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดภูเก็ตตามมาตรการที่บังคับใช้ในวันนี้ ซึ่งพบว่ามีรถจำนวนมากที่ไม่ผ่านการตรวจต้องเลี้ยวกลับทันที โดยเฉพาะมีรถขนส่งสินค้าจำนวนมากที่ต้องเลี้ยวกลับรถมาจอดรอขนถ่ายสินค้าเข้าสู่จังหวัดภูเก็ตเนื่องจากตัวคนขับบางคนไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที มีแต่ผลตรวจ Antigen test มาโชว์ ซึ่งประกาศฉบับล่าสุดไม่อนุญาตให้เข้าได้ บางคนฉีดวัคซีนแล้ว แต่ไม่มีผลตรวจโควิด-19 มาแสดง และบางคนฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ครบระยะเวลาตามกำหนด แม้จะมีใบตรวจโควิด-19 เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้เข้าได้ต้องกลับรถมาจอดและให้ติดต่อรถในจังหวัดภูเก็ตมาขนถ่ายสินค้าไปต่อ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก รถขนส่งสินค้าทั้งคันเล็กคันใหญ่ต่างจอดรอขนถ่ายสินค้าอยู่ตามริมข้างทาง

นายวีระ แสงจำนงค์ อายุ 48 ปี ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตนเองรับจ้างขับรถบรรทุกไก่สดมาจากสุราษฎร์ธานีเพื่อส่งให้กับร้านไก่ย่าง5ดาวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งที่ผ่านมาจะตรวจ Antigen test ทุก 7 วัน เพื่อเข้าส่งสินค้าในจังหวัดภูเก็ต แต่มาวันนี้ ไม่สามารถเข้าได้เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนสักที ซึ่งตนเองก็อยากฉีดวัคซีนเหมือนกันแต่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่ได้มีวัคซีนมากเหมือนจังหวัดภูเก็ตตนจึงยังได้คิวฉีด จึงอยากให้มีมาตรการผ่อนปรนให้กับการขนส่งสินค้าเหมือนเดิม ขณะที่คนขับรถขนส่งบะหมี่แฟรนไชส์ชื่อดัง ขับรถขนส่งวัตถุดิบจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาส่งให้ลูกค้าในจังหวัดภูเก็ต ก็เกิดปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน ตนเองมีเพียงผลตรวจโควิด-19ก็ไม่สามารถเข้าได้ จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการประสานให้ลูกค้ามารับสินค้าที่ด่านท่าฉัตรไชย

ด้านคุณรุ่งนภา ศักดิ์ศรีสุวรรณ ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต เปิดเผยว่า บริษัทมีสาขาอยู่ในจังหวัดพังงาและภูเก็ต มีคลังสินค้าอยู่ในพื้นที่จังหวัดพังงา มีพนักงานที่ต้องเดินทางข้ามไป-มาระหว่าง 2 จังหวัดทุกวัน วันละ12 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้ความร่วมมือทุกอย่างตามประกาศของจังหวัดภูเก็ตในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งตอนนี้พนักงานทุกคนก็รับวัคซีนครบโดสแล้ว แต่กลับต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิด-19 ทุก 7 วัน ตามประกาศฉบับนี้อีก ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทก็ได้ประคับประคองธุรกิจให้เดินต่อไปได้ เลี้ยงพนักงานได้ จึงอยากขอวิงวอนให้ทางจังหวัดภูเก็ตมีมาตรการอะไรที่ช่วยผ่อนปรนให้กับผู้ทำธุรกิจระหว่าง 2 จังหวัด


ภาพ/ข่าว  อโนทัย งานดี / พังงา

บึงกาฬ - ผู้ว่าเปิด รพ.สนามแห่งที่ 2 เหตุผู้ป่วยล้นเตียง การระบาดโควิด-19 ทำให้เลื่อนสอบครูผู้ช่วยแบบไม่มีกำหนด

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 20 ก.ค.ที่หอประชุมจังหวัดบึงกาฬ ภายในศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ นายสนิท ขาวสอาด ผวจ.บึงกาฬ นายนฤชา โฆษาศรีวิไลช์ รอง ผวจ. นางแว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ.บึงกาฬ นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์ สสจ.บึงกาฬ นพ.กมล แซ่ปึง ผอ.รพ.บึงกาฬ ร่วมกันเปิดโรงพยาบาลสนามจังหวัดบึงกาฬ แห่งที่ 2 ภายหลังในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย หลังได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลให้อาการดีขึ้น เพื่อรอกลับบ้าน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนร่วมกันบริจาคเงินจัดซื้ออุปกรณ์จัดตั้ง รพ.สนาม ในครั้งนี้ร่วมเป็นสักขีพยาน

นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจังหวัดบึงกาฬ แห่งที่ 2 ในพื้นที่อำเภอเมืองบึงกาฬ ในครั้งนี้เพื่อรองรับสถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยภาพรวมทั้งประเทศและจังหวัดบึงกาฬมีแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 สูงขึ้น ซึ่งจังหวัดบึงกาฬ มีผู้ป่วยสะสม 189 ราย รักษาหาย 65 ราย เสียชีวิต 1ราย กำลังรักษา 123 ราย ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 11 ราย มีผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษา 142 ราย ซึ่งโรงพยาบาลในจังหวัดบึงกาฬ มีเตียงรองรับผู้ป่วย 262 เตียง และมีแนวโน้มที่เตียงรับผู้ป่วยจะไม่เพียงพอ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดบึงกาฬจะขยายเตียงเพื่อรองรับแล้วก็ตาม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินการ โดยโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 นี้ จะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เบื้องต้นจำนวน 100 เตียง และหากมีแนวโน้นผู้ป่วยสูงเพิ่มขึ้น ก็จะขยายโรงพยาบาลสนามแห่งนี้เพิ่มขึ้นได้อีก

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ทั้งด้านสุขอนามัย ความสะดวกสบาย มีทั้งอินเตอร์เน็ต ทีวี พัดลม และความปลอดภัยจากกล้องวงจรปิด เพื่อให้มีพื้นที่รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย หลังได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลให้อาการดีขึ้น เพื่อรอกลับบ้าน จากนั้น ผวจ.ได้ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามแนวทาง ศบค. โดยที่ประชุมออกคำสั่งยกระดับมาตรการคุมโควิด-19 มีผล 20 กรกฎาคม 64 นี้  ร้านอาหาร ฯลฯ ให้เปิดดำเนินการตามมาตรการ แต่ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน ขอให้งด หรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องกักตัว โดยต้องรายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ ต้องคัดกรองที่สถานีขนส่ง ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของคนจำนวนมากกว่า 150 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย บังคับใช้ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ 042 492 046 ต่อ 114 (ในเวลาราชการ) หรือ 061 205 3743 (นอกเวลาราชการ)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ หรือ สพป.บึงกาฬ แจ้งในที่ประชุมเลื่อนการเปิดการสอนแบบเต็มรูป (On Site) ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ค. โดยให้จัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบ On Ai/On tine/On hand และ On Demand เพื่อความปลอดภัยของครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนที่มารับส่งบุตรหลาน ส่วนการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ทางกระทรวงศึกษาก็ขอให้เลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทุเลาเบาบางลง


ภาพ/ข่าว  เกรียงไกร  พรมจันทร์ / บึงกาฬ

ลำปาง - จิตอาสา มทบ.32 "มีแล้วแบ่งปัน" พบปะเยี่ยมเยือน ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ชุมชนบ้านกลางทุ่ง เมืองลำปาง

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 เวลา 13.30 น. พลตรี อโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานมณฑลทหารบกที่ 32 มอบหมายให้ วิทยากรจิตอาสา 904 ร่วมกับประชาชนจิตอาสา พบปะ เยี่ยมเยือน ให้กำลังใจ มอบธารน้ำใจ สิ่งของอุปโภค-บริโภค หน้ากากอนามัย ให้กับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 บริเวณชุมชนบ้านกลางทุ่ง ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ตามกิจกรรมจิตอาสา “มีแล้วแบ่งปัน” ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ ท่านผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ที่กำลังประสบปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 สร้างความปลาบปลื้ม ดีใจแก่ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งกล่าวขอบคุณที่ทหารคอยเคียงข้างและช่วยเหลือประชาชนเสมอมา


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

พิจิตร - ไม่ลืมบ้านเกิด ! ไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมต.แรงงาน มอบเงินช่วย รพ.สนามในพิจิตร

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่โรงพยาบาลสากเหล็ก นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมต.แรงงาน และ นราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ ซึ่งติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและเห็นความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์รวมถึง อสม.และฝ่ายปกครองจึงได้มอบหมายให้ นายพิชิต แก้วทอง นายก อบต.หนองปลาไหล , นายวรวุฒิ  แก้วทอง , นายพงษ์ศักดิ์ ศรีนามนต์ ผอ.สนง.พัฒนาฝีมือแรงงานพิจิตร , นายวัชรินทร์ แทนจำรัส เลขาฯส่วนตัว ของ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ นำเงินสดจำนวน 1 แสนบาท ไปมอบให้กับ นพ.ประทีป จันทร์สิงห์ ซึ่งเป็น ผอ.รพ.สากเหล็ก และ รพ.วังทรายพูน เพื่อใช้ในภารกิจในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิดที่กำลังแพร่ระบาดอยู่นี้  นอกจากนี้  นายดิเรก- พิมพ์ฉวี พัฒนพงษ์ ท่าข้าวพิมพ์ฉวีและร้านอาหารบุญปาก ยังได้ร่วมบริจาคเงินสดจำนวน 1 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นการทำบุญร่วมกันในครั้งนี้ด้วย

ในส่วนของ นพ.ประทีป จันทร์สิงห์  ซึ่งเป็น ผอ.รพ.สากเหล็ก และ รพ.วังทรายพูน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลสนามสากเหล็กมีจำนวน 26 ราย และในวันพรุ่งนี้จะมีขอเข้ารับการรักษาอีกจำนวน 30 ราย  ซึ่งจะใช้โรงพยาบาลสนามภายใน รพ.สากเหล็กและภายในหอประชุมของที่ว่าการอำเภอสากเหล็ก ส่วนที่ รพ.วังทรายพูน ขณะนี้มีนอนพักรักษาตัวอยู่ 40 ราย และกำลังเตรียมการตั้งเต็นท์โรงพยาบาลสนามอีก 1 เต็นท์ เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่มีเพิ่มขึ้น ซึ่งหวังว่า รพ.สนามที่มีอยู่ จะมีเพียงพอที่จะรองรับชาวพิจิตรที่ไปอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ และติดเชื้อโควิดหาที่ตรวจหาที่รักษาไม่ได้แล้วจะขอกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านเกิด ซึ่งเงินที่บริจาคมานี้จะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดตามวัตถุประสงค์ของ นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมต.แรงงาน ซึ่งเป็นชาวจังหวัดพิจิตรและไม่เคยทอดทิ้งประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  สำหรับเป้าหมายการบริจาคเงินเพื่อช่วยโรงพยาบาลสนามของ นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต รมต.แรงงาน ในที่ต่าง ๆ ของ จ.พิจิตร มีเป้าหมายจะบริจาคอีกหลายแห่ง ซึ่งความคืบหน้าผู้สื่อข่าวจะได้รายงานให้ทราบต่อไป


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

สุโขทัย – เทศบาลเมืองสุโขทัย เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีน Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) 5,000 โดสให้ประชาชน

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.00 น. นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ที่มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เทศบาล และประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ที่มาลงทะเบียนรับวัคซีน Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) เป็นวันแรก โดยมีนายขรรค์ชัย ดอนพิมพา นายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัยธานี พร้อมคณะผู้บริหารเทศบาลฯ พนักงานเทศบาล ให้การต้อนรับ

สำหรับประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี จะได้ลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) อย่างทั่วถึงตามเป้าที่ตั้งไว้ของผู้บริหารเทศบาลฯ หลังที่ทางคณะผู้บริหารเทศบาลและสภาเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ได้ทำการขอรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 5,000 โดส ซึ่งรอบแรกได้มา 400 โดส ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะให้กลุ่มเปราะบางก่อน และอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี และจะทยอยจัดสรรมาจนครบ ตามที่ทางเทศบาลเมืองสุโขทัยธานีได้เร่งขอรับการจัดซื้อในครั้งนี้

ทำการเปิดจอง ตั้งแต่วันนี้ 21-25 กรกฏาคม 2564 เวลา 09.00 น.-16.00 น. บริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระแม่ย่า(ตึกใหม่) และอาคารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อาคารดับเพลิง) เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี โดยเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ได้กำหนดขั้นตอนการลงทะเบียนไว้อย่างชัดเจน ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A กระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

กาฬสินธุ์ - ปิดโรงเรียนไม่มีกำหนด ยอดติดเชื้อโควิดยังนิวไฮวันเดียวพุ่ง 157 ราย

กาฬสินธุ์ยกระดับคุมเข้มมาตรการโควิด-19 หลังปรับเป็นพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปิดโรงเรียน-งดเรียนออนไซด์ไม่มีกำหนด ร้านอาหารนั่งได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการรวมกลุ่มสังสรรค์ ขณะที่สถานการณ์ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อนิวไฮวันเดียว 157 ราย ทุบสถิติสูงสุด ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมพุ่ง 1,315 ราย ขณะที่หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรม ทยอยส่งผู้ป่วยพาคนอีสานกลับภูมิลำเนา

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่องรายวัน โดยล่าสุดวันนี้ (21 ก.ค.64) พบผู้ติดเชื้อนิวไฮ เป็นผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 157 ราย ทุบสถิติสูงสุด โดยเป็นผู้ป่วยติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 40 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ระหว่างการกักกันตัว 83 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 27 ราย และตรวจพบจากระบบเฝ้าระวังอื่น ๆ อีก 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุถึง 1,315  ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ล่าสุดคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธาน และทางจังหวัดได้ออกประกาศคำสั่งมาตรการยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังปรับเป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยให้ปิดการเรียนการสอนแบบ on-site รวมไปถึงศูนย์เด็กเล็ก จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนามกีฬา ยิม สถานที่ออกกำลังกายเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ จำกัดจำนวนผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะไม่เกินร้อยละ 50 และผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ 13 จังหวัดเสี่ยง ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

นอกจากนี้มติที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการขยายเตียงในโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน จ.กาฬสินธุ์มีโรงพยาบาลสนามรวม 19 แห่ง รองรับผู้ป่วยจำนวน 1,159 เตียง และในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก และแสดงอาการ อีก 433 เตียง รวมทั้งหมด 1,592 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมากที่เดินทางกลับมารักษายังภูมิลำเนา พร้อมวางแผนจัดตั้งศูนย์โควิดชุมชนหรือ Community Isolation โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ เน้นผู้ป่วยสีเขียวและให้มีบุคลากรจาก รพ. สต. อสม. เข้ามาดูแล

ขณะที่หน่วยกู้ภัยเมตตาธรรมกาฬสินธุ์ ได้ทยอยส่งตัวผู้ป่วยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และหลายจังหวัดในภาคอีสานตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และบริเวณกักกันตัวตามภูมิลำเนา หลังจัดขบวนคาราวานตู้พยาบาล 8 คัน และเช่ารถบัสอีก 1 คัน รับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลบุษราคัม จ.นนทบุรี และพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งจังหวัดปริมณฑล “พาคนอีสานกลับบ้านเฮา” ฟรีกว่า 100 คน


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

พิจิตร – แม่น้ำยมพิจิตร รอดพ้นวิกฤต กรมชลประทานส่งน้ำช่วยชาวนาแล้ว

วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ความคืบหน้าจากการที่ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ และ นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ได้ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตรเพื่อหาแนวทางส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำยม

ล่าสุด นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานดงเศรษฐี และ นายวัชรินทร์ แทนจำรัส เลขาฯส่วนตัว ของ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ , สจ.สมชาย บุญผ่อง สจ.เขต อ.สามง่าม ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชนได้ลงพื้นที่ดูปริมาณและระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ประตูระบายน้ำสามง่าม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าฝายไฮดรอลิกพับได้ ซึ่งพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำยมมีปริมาตรเพิ่มขึ้นระดับน้ำด้านเหนือ ปตร.สามง่าม มีปริมาณน้ำสูงเกือบครึ่งตลิ่งของแม่น้ำยมแล้ว ดังนั้นจึงมีการเปิดประตูระบายน้ำสองบานเพื่อจ่ายน้ำไปยัง ต.รังนก ต.วังจิก ต.โพธิประทับช้าง และอีกหลายตำบลที่อยู่ด้านใต้ของแม่น้ำยม ทำให้ได้รับน้ำอย่างทั่วถึงแล้ว

โดย นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานดงเศรษฐี กล่าวว่า การส่งน้ำเข้าสู่แม่น้ำยมในช่วง 7-10 วันที่ผ่านมานั้นน้ำที่ส่งให้เกษตรกรลุ่มน้ำยมเป็นการส่งน้ำมาจากโครงการส่งน้ำ ยม-น่าน ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ส่งน้ำมาให้เพื่อรักษาระบบนิเวศให้ได้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร รวมถึงทำให้ความอุดมสมบูรณ์เกิดขึ้นในแม่น้ำยม ทำให้ผู้ที่มีอาชีพหาปลาและทำประมงสามารถดำเนินชีวิตและทำมาหากินได้ทำให้แม่น้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

ในส่วนของ สจ.สมชาย บุญผ่อง สจ.เขต อ.สามง่าม ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน กล่าวขอบคุณกรมชลประทานที่ดูแลใส่ใจเกษตรกรในลุ่มน้ำยม ซึ่งขณะนี้ได้อานิสงส์จากการส่งน้ำในครั้งนี้ทำให้นาข้าวนับหมื่นไร่ได้รอดพ้นจากวิกฤตฝนทิ้งช่วง โดยได้น้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวและทำให้เกิดน้ำซึมน้ำซับหรือน้ำบาดาลใต้ดินมีระดับเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ทำให้ชาวนาสามารถสูบน้ำเข้านาข้าวจนได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ในขณะนี้อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top