Friday, 16 May 2025
Region

ชลบุรี - กองทัพเรือโดย ฐานทัพเรือสัตหีบ จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID – 19”

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่สโมสรสัญญาบัตรฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พลเรือโท อนุชาติ อินทรเสน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแก่กำลังพลที่เข้าร่วมบริจาคโลหิต ในกิจกรรม “กองทัพเรือ เพื่อประชาชน ร่วมใจต้านภัย COVID-19” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2019 อีกทั้งเพื่อเป็นการสำรองปริมาณโลหิตให้แก่สภากาชาดไทย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้การจัดกิจกรรมได้แบ่งกำลังพลเป็นชุดเข้ารับบริจาคโลหิต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จังหวัดชลบุรีกำหนดโดยเคร่งครัด โดยมีภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 3 จังหวัดชลบุรี สภากาชาดไทยมาดำเนินการรับบริจาค ซึ่งมีกำลังพลฐานทัพเรือสัตหีบ เข้าร่วมบริจาคโลหิต ได้ปริมาณโลหิต 27,450 มิลลิลิตร


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

พิจิตร - คนดีน่ายกย่อง!นายก อบต.ห้วยเกตุ ให้ใช้ออฟฟิตและโรงงานมูลค่ากว่า 40 ล้านเป็นรพ.สนามตะพานหิน

ในสถานการณ์วิกฤตโควิดสิ่งที่ได้เห็นคือความมีน้ำใจของผู้ใจกว้าง ใจบุญ ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นน้ำดี จิตใจงดงาม และเป็นเจ้าของโรงงานยอมยกอาคารสถานที่มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท บนเนื้อที่ 12 ไร่  ให้เป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน เพราะเชื่อมั่นว่าผู้ให้คือผู้ที่มีความสุข

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นายธนรักษ์ พงศ์วุฒิเศรษฐ์ นายก อบต.ห้วยเกตุ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเคมีเกษตรช้างแดง ซึ่งตั้งอยู่ที่ 394/1 หมู่ 3 ต.ห้วยเกตุ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร เปิดใจกับผู้สื่อข่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะที่ อ.ตะพานหิน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ และมีประชากรเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าหลังจากที่มีมาตรการล็อคดาวน์กรุงเทพฯและปริมณฑลทำให้ชาว อ.ตะพานหิน ที่ไปทำงานอยู่ในเมืองใหญ่และติดเชื้อโควิดต่างขอกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด  คือที่อำเภอตะพานหินกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน เตียงเต็มและไม่เพียงพอต่อการบริการแก่ผู้ที่ติดเชื้อโควิด

ดังนั้นตนเองจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเสียสละและร่วมด้วยช่วยกันช่วยเหลือสังคม จึงได้ร่วมปรึกษากับนายอำเภอตะพานหิน และ ผอ.รพ.ยุพราชฯ ว่า  ที่โรงงานของตนซึ่งมีขนาดพื้นที่ 12 ไร่ มีอาคารเป็นตึกสำนักงาน 2 หลัง ที่เคยใช้เป็นออฟฟิตและห้องประชุมติดแอร์อย่างดีรวมถึงมีโกดังขนาดใหญ่อีก2หลังที่มีสภาพสมบูรณ์ตีราคามูลค่ามากกว่า 40 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอาคารและสถานที่ดังกล่าวไม่ได้ใช้งานเนื่องจากโรงงานผลิตเคมีเกษตรช้างแดงได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่ ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร จึงทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่ได้ใช้งานแต่ตั้งใจว่าจะรีโนเวทปรับปรุง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตโควิดจึงตัดสินใจมอบอาคารสถานที่ให้กับศูนย์บริหารจัดการโควิดตะพานหิน ให้ใช้อาคารสถานที่ในช่วงสภาวะวิกฤตโควิดตามสมควรและตามเวลาที่เหมาะสม โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้ชาว อ.ตะพานหิน ได้มีโรงพยาบาลสนามที่เป็นห้องแอร์ขนาด 70 เตียง เพื่อไว้ใช้เป็นที่พักรักษาตัวจากโรคไวรัสโควิด

โดย นายธนรักษ์ นายก อบต.ห้วยเกตุ หรือ “เฮียช้วงช้างแดง” กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราใช้เวลาแค่ 4 วัน ในการดำเนินการจัดหาเตียงเพื่อใช้ในโรงพยาบาลสนามตะพานหินแห่งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้ก็มีผู้ป่วยทั้งชาย-หญิง เข้ามาใช้อาคารสถานที่แล้ว อีกทั้งมีบุคลากรทางการแพทย์และฝ่ายปกครองมาช่วยกันดูแลอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

กรุงเทพฯ - กองทัพบก นำเครื่องบินลำเลียงแบบ 295 มาเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด19 ที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศ

พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้นำขีดความสามารถและทรัพยากรที่กองทัพบกมี มาช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 สั่งการเพิ่มเติมให้นำอากาศยานของกองทัพบก คือ “เครื่องบินลำเลียงแบบ 295” มาเป็นยานพาหนะในการเคลื่อนย้าย ส่งผู้ป่วยไปยังพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ

ล่าสุดในวันนี้ ทีมลำเลียงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทางอากาศกองทัพบก จากกรมการขนส่งทหารบก พร้อมด้วยแพทย์เวชศาสตร์การบินจากกรมแพทย์ทหารบก ได้นำ "เครื่องบินลำเลียงแบบ 295" ที่ดัดแปลงเป็นยานพาหนะส่งป่วยขึ้นบินทดสอบระบบ และซักซ้อมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายตั้งแต่การรับและนำผู้ป่วยขึ้นเครื่องอากาศยานและกระบวนการบริหารจัดการผู้ป่วยมีความพร้อมรองรับภารกิจ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะกลับไปรักษายังภูมิลำเนาสามารถ ประสานไปยังศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบก (กทม.) โทร. 02-270-5685-9 กองทัพบก , ยุทโธปกรณ์ , ทหาร เป็นที่พึ่งของประชาชนทุกโอกาส

ชัยภูมิ - นายกฯธี เชิงรุก ฟัง-แก้ไข-พัฒนา ส่งเครื่องจักรเคลียร์ทางน้ำพร้อมรับแผนปรับระบบผังเมืองน่าอยู่

22 ก.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่นายธีวรา วิตนากร นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ ได้ชนะการเลือกตั้งมานั่งเก้าอี้บริหารงานในตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ คนใหม่ได้เร่งประชุมวางแนวทางนโยบายการบริหารงาน เร่งด่วนเช่น การปรับปรุงซ่อมแซมและพัฒนาระบบผังเมือง การสาธารณสุขเรื่องความสะอาดในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาขยะล้นเมือง ระบบถนน-คูคลองหรือทางน้ำ และการบริหารงานในด้านต่าง ๆ ตามลำดับ เพื่อรับฟังหาแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนชาวเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ตามที่ได้รับปากและสัญญาไว้ ทั้ง 25 ชุมชน

ขณะที่นายธีวรา วิตนากร นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ ได้มีการสั่งการให้ทาง จนท.กองช่างเทศบาลเมืองชัยภูมิ ออกดำเนินการตามนโยบายสร้างพื้นฐานมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ตามแหล่งน้ำห้วย-หนอง-คลอง-บึง หรือทางน้ำที่ไหลผ่าน ภายในชุมชนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนนี้โดยได้นำ จนท.รถและเครื่องจักร ลงเคลียร์และกำจัดพวกวัชพืช ขยะ ถุงพลาสติก กิ่งไม้ท่อนไม้ที่ เป็นสาเหตุทำให้มีการ กีดขวางทางระบายน้ำภายในเขตเทศบาลเมือง ทั้งยังเร่งนำรถดูดดินโคลนขนาดใหญ่ ออกปฏิบัติงาน ตามท่อระบายน้ำในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ

โดยในครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาลเมืองชัยภูมิ ได้ดำเนินการในเบื้องต้นจนแล้วเสร็จในพื้นที่ห้วยลำปะทาว ชุมชนราษฎร์เจริญสุข ห้วยดินแดง ฝั่งตะวันออก สะพานแยกโรงต้ม คลองสิงห์ทอง ตะวันตกวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ บริเวณคลองคูขาด หรือคลองห้วยเสวน้อย ชุมชนเมืองเก่า ลำห้วยชีลอง ฝั่งทิศตะวันออกถึงสามแยกหนองระเริง ลำห้วยเสว ช่วงที่ 5 ฝั่งทิศเหนือสะพานบายพาส-ผ่านชุมชุนหนองสังข์-สะพานเมืองเก่า สองฝั่งถนนสายชุมชนกุดแคน-โนนสมอ ห้วยชีลอง หลังบขส.2ถนนชัยภูมิ-ตาดโตน 

ซึ่งขณะนี้เพื่อเป็นการรับเรื่องร้องทุกข์ช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยเร่งด่วนให้ทันโลกโซเชียล ทางเทศบาลเมืองชัยภูมิ ได้เปิดเพจ Facebook ชื่อ เทศบาลเมืองชัยภูมิ หรือ เพจ Facebook ธีวรา วิตนากร เพื่อไว้เป็นช่องทางการสื่อสารการ ประชาสัมพันธ์ ในเรื่องต่าง ๆ ให้เข้าถึงประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิทั้ง 25 ชุมชนให้เร็วที่สุด ซึ่งหากประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ท่านใดได้รับเรื่องเดือดร้อน ไม่ได้รับความสะดวก ทั้งพบเห็นปัญหาที่ต้องการให้แก้ไข และอยากเสนอแนวทางแก้ไข ก็สามารถแจ้งข้อความหรือ Comment เรื่องร้องเรียนมาได้ตลอด และทางเทศบาลเมืองชัยภูมิ จะได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขตามลำดับให้ครบทุกเรื่องอีกด้วยต่อไป

ชลบุรี - ส.ส.เขต 7 พร้อมทีมงานผู้ช่วย ทำข้าวกล่อง 400 กล่อง มอบให้บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลบางละมุง

เมื่อเวลา 18:00 น วันที่ 22 กรกฎาคม 64 ที่โรงพยาบาลบางละมุงอำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชลบุรีเขต 7 พร้อมทีมงานผู้ช่วยดำเนินงานทำข้าวกล่อง 400 กล่องมอบ บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลบางละมุงเ เพื่อเป็นกำลังใจให้คณะแพทย์ ในการทำงานเฝ้าผู้ป่วยดูแลผู้ป่วย ยามกลางคืน

เนื่องด้วยปัจจุบันสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิค-19 มีจำนวนมากขึ้นรายวันและทำให้พื้นที่ของโรงพยาบาล เต็มไปด้วยผู้ป่วย และผู้กับตัวจากโควิด-19 ระบาดอยู่ในขณะนี้ เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นบุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนเท่าเดิมจึงทำให้ทำงานหนักถึง 2 เท่า ดังนั้น นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ แสดงความห่วงใยด้วยการทำข้าวกล่อง 400 กล่องหมอบให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้คณะแพทย์ในการทำงานเฝ้าดูแลผู้ป่วยในยามเข้าเวรเวลาค่ำคืน


ภาพ/ข่าว  สมชาย โคตล่ามแขก ผู้สื่อข่าวพัทยาจังหวัดชลยุรี

ลำปาง - มทบ.32 พร้อมช่วยเหลือปชช. จัดกำลังพลสนับสนุนช่วยจัดตั้ง ร.พ.สนาม

“เมื่อได้รับการประสาน ทหารพร้อมนำกำลังมา ช่วยขจัดปัญหาที่มี ยิ่งในสถานการณ์โควิดแบบนี้  ค่ายสุรศักดิ์มนตรีช่วยทันทีทันใด” ตามที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นตามลำดับ โดย จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยเหล่านั้น ในการนี้ พลตรี อโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ในการเตรียมการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนามมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อ 22 กรกฎาคม 2564 เวลา 15.00 น. หน่วยได้รับการประสานจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ในการช่วยจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลลำปาง ได้จัดกำลังพลจิตอาสา 10 นาย ร่วมในการประกอบเตียงสนาม จำนวน 20 เตียง ก่อนหน้านี้หน่วยได้จัดกำลังพลและยานพาหนะเข้าให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ จังหวัดลำปาง มาแล้วทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง , โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารี และ โรงเรียนวังเหนือวิทยา

ทั้งนี้การให้การสนับสนุนหน่วยงานหรือช่วยเหลือประชาชนของหน่วยทหารในพื้นที่ จังหวัดลำปาง นั้น ทุกหน่วยพร้อมเข้าให้การสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่หน่วยมี เพื่อให้ชาวลำปางได้มั่นใจว่าทหารพร้อมเคียงข้างและช่วยเหลือประชาชนในทุกโอกาส  


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

กรุงเทพฯ - นิพนธ์ เติมเสบียงตู้ปันสุขในกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข ส่งต่อความห่วงใย สู้ภัยโควิด-19”

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 กรกฏาคม 2564 ที่บริเวณหน้ากระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ร่วมกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข ส่งต่อความห่วงใย สู้ภัยโควิด-19” นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน มาเติมเต็มเสบียงที่ตู้ปันสุข

นำอาหารปรุงสุกแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมจัดทำข้าวกล่องแจกฟรีให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ตกงาน วินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ คนที่หาเช้ากินค่ำ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 200 กล่องต่อวัน โดยเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะแจกต่อเนื่องไป 10 วันทำการซึ่งเป็นการสนับสนุนอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานจากร้านค้าบริเวณรอบกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นการกระจายเม็ดเงินให้สะพัดในชุมชนบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลายความทุกข์ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

สำหรับกิจกรรมนี้ กรมการปกครองได้จัดกำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและกำกับดูแลแถวตามมาตรการ “D-M-H-T-T-A ป้องกันโควิด - 19” Distancing เว้นระยะห่างทางสังคม Mask wearing สวมหน้ากาก Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ และ Testing ตรวจวัดอุณหภูมิ และ Application ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” เพื่อเป็นไปตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

ชัยภูมิ – ผู้ว่าฯ และคุณหมอ ห่วงใยสุขภาพ ชวนงดเหล้าเข้าพรรษาหลีกเลี่ยงสังสรรค์เป็นกลุ่ม ช่วยห่างไกลการติดเชื้อ ลดค่าใช้จ่าย ได้สุขภาพที่ดี และยังช่วยตัดวงจรโควิด-19 เน้นมาตรการงดการรวมกลุ่มเฮฮา

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดและพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จังหวัดชัยภูมิ ทั้งหมด 16 อำเภอ ตัวเลข ยอด ที่ป่วยสะสมระลอกเดือนเมษายน วันที่ 22 กรกฎาคมนี้ 1,800 กว่าราย โดยแบ่งเป็น ป่วยที่ทางจังหวัดได้รับการติดต่อจากผู้ป่วยจังหวัดกลุ่มเสี่ยง กลับรักษาตัวพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ในโครงการส่งรถรับพี่น้องกลับบ้านรักษาตัวกว่า 900 ราย ทั้งยังมียอด ผู้เสียชีวิตแล้ว 21 ราย

ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชัยภูมิ ได้มีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ชะลอและงดการจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มกันจำนวนมาก เพื่องดการสังสรรค์ และขอความร่วมมืองดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องนั้น 

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ปี 2564 เป็นอีกปีที่คนชัยภูมิและสังคมกำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤติและสูญเสียคนที่เรารักจากโรคโควิด-19 จึงอยากใช้โอกาสเทศกาสงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2564 นี้ ขอร้องและเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดชัยภูมิ “งดเหล้า งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดอบายมุขในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อดูแลตัวเองและตัดตอนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีลูกหลานตกงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก การงดเหล้าเข้าพรรษาจะทำให้ประหยัดเงิน ดูแลคนในครอบครัว จึงเน้นมาตรการงดการรวมกลุ่มเพื่อเฮอาสังสรรค์ กำจัดเชื้อโควิด-19”  

ด้าน นายวชิระ บถวิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ รองประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีหลาย ๆ คลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นโดยมีงานบุญประเพณี งานเลี้ยง สังสรรค์และมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุสำคัญในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรับภาระหนักมากกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น หากจะช่วยลดภาระนี้ อยากให้ชาวชัยภูมิและทุกคน  ใช้โอกาส “เข้าพรรษาปี 2564 นี้ ทำความดีเพื่อตนเอง ครอบครัวและสังคม ด้วยการงดเหล้าเข้าพรรษา ตับเราก็ได้พัก สื่อรักด้วยการพักเล้า คนที่รักของเราก็ปลอดภัยจากโรคโควิด-19” เชื่อว่าทุกคนทำได้และขอเป็นกำลังให้กับคนที่ตั้งใจบวชใจงดเหล้าเข้าพรรษา อีกด้วย

ส่วนภาคการศึกษา นายชัยวัฒน์ ตั้งพงษ์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ (สพม.ชัยภูมิ) กล่าวว่า ด้านการศึกษาก็ได้มีนโยบาย งดเหล้าเข้าพรรษา งดอบายมุขในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้บริหาร ครูและบุคลากร เข้าร่วมโครงการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ยิ่งไม่ควรออกนอกบ้านเพื่อไปร่วมกิจกรรมที่ไม่จำเป็น การปฏิบัติหน้าที่ราชการก็มีการลดเวลาและจำนวนผู้มาปฏิบัติงานในสำนักงาน เน้นการทำงานที่บ้าน การเรียนการสอนออนไลน์ตามมาตรการจังหวัดชัยภูมิ แต่กิจกรรมสำคัญเช่น การถวายต้นเทียนและปัจจัยไทยธรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาทางหน่วยงานก็ได้ให้ความสำคัญด้านวัฒนธรรมประเพณีอันดีของไทย แต่ก็ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมลงให้มากที่สุดและปฏิบัติตามมาตการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด

กาฬสินธุ์ - อบจ.กาฬสินธุ์ทุ่ม 20 ล้าน ซื้อวัคซีน ‘โมเดอร์นา’ ฉีด ช่วยประชาชน 5 กลุ่ม เปราะบาง

อบจ.กาฬสินธุ์จัดเต็มทุ่ม 20 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” จากสภากาชาดไทย ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน 5 กลุ่มเป้าหมายฟรี พร้อมเตรียมงบอีก 10 ล้านบาทสนับสนุนโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักกันตัว

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมชั้น 5 องค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายกอบจ.กาฬสินธุ์ นายวรากรณ์ ภูอาภรณ์ ประธานสภาอบจ.กาฬสินธุ์ นายนพกุล ปัญญาแก้ว รองปลัด อบจ.กาฬสินธุ์ นายมานพ เวฬุวณารักษ์ รองปลัด อบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมกันแถลงแผนการจัดซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” จากสภากาชาดไทย เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลของรัฐทั้ง 18 อำเภอ ดำเนินการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่าง ๆ 5 กลุ่มเป้าหมายฟรี  เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน และให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิต พร้อมแถลงการจัดเตรียมงบอีก 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักกันตัว และศูนย์พักคอยต่าง ๆในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด และพบผู้ป่วยจำนวนมาก หลังก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 4 ล้านบาทในการสร้างโรงพยาบาลสนามไปแล้ว 2 แห่ง

นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายกอบจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดได้แพร่ระบาดในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั้งจังหวัด ประกอบกับปัจจุบันจำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งทาง อบจ.กาฬสินธุ์ มีความห่วงใยในชีวิตของพี่น้องประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน ลดการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงของโรค จึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีน โมเดอร์น่า (Moderna) จากสภากาชาดไทย โดยผ่านความเห็นชอบของสภา เพื่อกระจายฉีดวัคซีนไปยังโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลของรัฐทั้ง 18 อำเภอ ฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่าง ๆจำนวน 5 กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ฟรี   ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความปลอดภัยในชีวิต ให้กับประชาชนชาวกาฬสินธุ์

โดย 5 กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดประกอบด้วยกลุ่มที่ 1 คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีมีครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน, กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19  มาก่อน, กลุ่มที่ 3 บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในถิ่นทุรกันดาร, กลุ่มที่ 4 ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครูอาจารย์ผู้ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน และกลุ่มที่ 5 บุคลากรที่ออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค โควิด -19 มาก่อน ซึ่งบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้าตามเกณฑ์ใน 5 กลุ่มดังกล่าว ที่มีความประสงค์จะรับการฉีดวัคซีนจากอบจ.กาฬสินธุ์ สามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านแอป “วัคซีน อบจ.กาฬสินธุ์” สำหรับรายละเอียดและขั้นตอนการลงทะเบียน จะได้ประชาสัมพันธ์ให้ได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง และสำหรับการสั่งจองผ่านสภากาชาดไทยจะได้รับวัคซีนมาในช่วงเดือนตุลาคม 2564 นี้

นายชานุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อบจ.กาฬสินธุ์ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 4 ล้านบาท ในการสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 โรงพยาบาลฆ้องชัย และโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ด้านหลังศูนย์ราชการจังหวัด และขณะนี้ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้อีกจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม สถานที่กักกันตัว และศูนย์พักคอยจุดต่างๆในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดและพบผู้ป่วยจำนวนมากอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ยะลา – ประชาชนแน่น รพ.เบตง รอคิวฉีดวัคซีนโควิด บ่นพรึบ !! คิวจองยังไม่ได้ฉีด ดันเปิด walk in แบบนี้ไม่ต้องเว้นระยะห่าง

ประชาชนในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา แน่นโรงพยาบาลเบตง แห่เข้าคิวรอรับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกและเข็มสองกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้มีน้ำหนักตัว 100 กก.ขึ้นไป จำนวน 1,060 โดส โดยมี ประชาชนมารอรับการฉีดจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนบางส่วน บ่นกันว่า คิวจองรอฉีดวัคซีนยังไม่ได้ฉีดดันเปิด walk in ทำให้ ประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

วันนี้ (22 ก.ค. 2564) ที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ประชาชนในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ต่างเดินทางมาเพื่อเข้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ในช่วงเช้าจำนวนมาก มีการต่อแถวยาวตลอดทางเข้าจนถึงหน้าสหกรณ์โรงพยาบาลฯ ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกที่เปิดให้ประชาชน สามารถวอล์คอิน เข้ามาฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลเบตงได้ เพื่อให้บริการฉีดวัคซีน โควิด-19 แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้มีน้ำหนักตัว 100 กก.ขึ้นไป และที่มีนัด เนื่องจากปัจจุบันปัญหาผู้ติดเชื้อโควิค-19 ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หากกลุ่มดังกล่าวได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะสามารถลดการติดเชื้อ ลดป่วยรุนแรง และลดการเสียชีวิต จึงเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 (เข็มที่ 1) ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่ตั้งครรภ์มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยจะต้องแสดงเอกสารการตั้งครรภ์ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ และผู้ที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป

ขณะที่ในวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางมาตามนัดแต่ต้องต่อรอคิวนานเนื่องจากทาง รพ.เบตง ได้เปิดรับบริการฉีดวัคซีนโควิด ทุกกลุ่มที่ walk in ทั้งที่มีนัดและไม่ได้นัด โดยเริ่มตั้งแต่ เวลา 08.30-16.00 น. ขณะที่ประชาชนในพื้นที่อำเภอเบตงส่วนใหญ่ได้เริ่มฉีดไปแล้วเข็มที่ 1 คือ วัคซีนซิโนแวค และเข็มที่ 2 คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และในวันนี้ประชาชนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน รวม 1,060 โดส

อย่างไรก็ตาม จากการเปิด walk in ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจต่างบอกว่า ”ทำไมไม่แบ่งเป็นวันครับ คนลงทะเบียนยังฉีดไม่ครบเลย เปิด walk in แล้วแบบนี้จะลงทะเบียนเพื่ออะไร ผมว่าทาง รพ.ต้องจัดแบ่งวันเวลาใหม่แล้ว ไม่ใช่เรียกมาพร้อมกันหมด ถ้าในนั้นมีคนติดสักคน จะเป็นยังไง คนเยอะขนาดนี้จะมาบอกให้เค้าเว้นระยะ ก็คงทำยาก”

ขณะที่ประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างเคร่งครัด โดยการรักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อย ๆ และสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top