Friday, 16 May 2025
Region

ชลบุรี - กองเรือยุทธการ มอบรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายวัตถุมงคล เหรียญกรมหลวงชุมพรฯ รุ่นเรือของพ่อ “เรือ ต.91” ให้กองทัพเรือ เพื่อนำไปใช้ในงานสาธารณกุศล ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19

วันที่ 23 ก.ค. 64 พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ รับมอบรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายวัตถุมงคล เหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รุ่นเรือของพ่อ “เรือ ต.91” จาก พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เพื่อนำไปใช้ในงานสาธารณกุศล ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของกองทัพเรือ ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

กองเรือยุทธการจัดสร้างวัตถุมงคล เหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รุ่นเรือของพ่อ “เรือ ต.91” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

             - จัดตั้งกองทุนในการบำรุงรักษาอุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ “เรือ ต.91”

             - ใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศลของกองทัพเรือ

             - เป็นสวัสดิการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกำลังพลกองเรือยุทธการ

จากวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างวัตวัตถุมงคลฯ ส่วนหนึ่งได้สอดรับกับเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการทหารเรือที่มอบหมายให้หน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือดำเนินการร่วมแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อประชาชน และกำลังพลของกองทัพเรือ ที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตอย่างเร่งด่วนอีกด้วย

โดยกองเรือยุทธการดำเนินการจัดพิธีมังคลาภิเษก 5 วาระ 4 ทิศ ทั่วประเทศไทย ซึ่งได้จัดให้มีพิธีมังคลาภิเษกใหญ่ วาระที่ 5 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค. 64 ณ อุทยานประวัติศาสตร์เรือของพ่อ “เรือ ต.91” อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ทั้งนี้ได้รับความเมตตาจากพระเกจิเถราจารย์ ที่ประชาชนเคารพศรัทธาร่วมประกอบพิธีอย่างเรียบง่าย แต่เข้มขลัง ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ ศบค. และ สสจ.ชลบุรี กำหนดอย่างเคร่งครัด

เหรียญชนิดต่าง ๆ ได้รับความสนใจจากผู้มีจิตศรัทธาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ยังสามารถร่วมบูชาวัตถุมงคลฯ ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ น.ต.ศิรภพ ภักดี 0969359163 หรือ น.ต.สายชล ผลาสิงห์ 0882141393


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

สุโขทัย - นายกมนู ห่วงคนสุโขทัยไม่วางใจสถานการณ์ รุดสั่งจองวัคซีนโมเดอร์นา จากสภากาชาดไทย

อบจ.สุโขทัย โดยนายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย สั่งจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 (โมเดอร์นา) จากสภากาชาดไทย เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.สุโขทัย ไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยได้จัดทำแผนดำเนินการฉีดวัคซีน ตามที่สภากาชาดไทยกำหนด ในกลุ่มประชาชนเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีมีครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาก่อน  บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในถิ่นทุรกันดาร ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครู อาจารย์ ผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาก่อน บุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนของ อบจ. ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย และเสนอต่อสภากาชาดไทย เพื่อให้ชาวสุโขทัยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และสร้างความเชื่อมั่น ในการป้องกันโรคโควิด – 19 ในพื้นที่ และลดติดเชื้อของประเทศ

นอกจากนี้นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย ได้ชี้แจงข้อสงสัยเรื่องวัคซีนที่หลายคนต้องการทราบ ของการสั่งจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของอบจ.สุโขทัย โดยได้สั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่เปิดให้สั่งจองในลำดับแรกจำนวน 100,000 โดส โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 88,800,000 บาท บวกค่าทำการฉีดพร้อมอุปกรณ์ที่ทางสาธารณสุข จ.สุโขทัยแจ้งมา เข็มละ 90 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 97,800,000 บาท

ต่อมาทางสภากาชาดไทยเปิดให้จองวัคซีนโมเดอร์นา ทางอบจ.สุโขทัย เห็นว่าใช้งบประมาณจองซิโนฟาร์มไปค่อนข้างเยอะแล้ว จึงจองโมเดอร์นาไปอีก 10,000 โดส ใช้งบ 11,000,000 บาท รวมวัคซีนทั้งสองชนิดจำนวน 110,000 โดส ซึ่งจะสามารถดูแลทั่วถึงทุกกลุ่ม ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดต้น ๆ ทั้ง 2 สถาบันเป็นผู้กำหนดมาทั้งสิ้น อบจ. มิได้เป็นผู้กำหนด

อบจ.สุโขทัย ขอยืนยันว่า ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้พร้อมแล้ว หากทั้งสองสถาบันจัดสรรวัคซีนมาให้ครับ ทั้งนี้วัคซีนจะมาได้เมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับทาง 2 สถาบันจะหาวัคซีนได้ แต่ก็คอยติดตาม แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ก็ได้ติดต่อ ติดตาม สอบถามไปอย่างต่อเนื่องทั้ง 2 สถาบัน และจะรีบแจ้งถึงประชาชนในพื้นที่ทันทีที่ได้รับความชัดเจนจากทั้ง 2 สถาบัน ที่เราได้ขอสั่งจองไว้


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

ชลบุรี - เกาะล้านพัทยา ฉีดวัคซีน 70% แล้ว พร้อมเป็นพื้นที่ตัวอย่าง ป้องกันไวรัสมรณะ

เกาะล้านรุกคืบ พื้นที่แห่งความปลอดภัย นายกเมืองพัทยาเผย คนเกาะล้านได้รับวัคซีนแล้ว 70% สร้างระบบภูมิคุ้มกันหมู่ตามแนวทางสาธารณสุข พร้อมเป็นพื้นที่ตัวอย่างการป้องกันไวรัสมรณะ

ตามที่เมืองพัทยา ประสานงานการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยได้รับการจัดสรรวัคซีน มาจากส่วนกลางเพื่อฉีดต่อให้กับประชาชน ในพื้นที่เขตเมืองพัทยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสานแนวทางสร้างระบบภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ โดยประชาชนต้องได้รับวัคซีนร้อยละ 70 ที่ผ่านมาวัคซีนทยอยจัดสรรมายังเมืองพัทยา อย่างต่อเนื่องนั้น

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า ในส่วนของพื้นที่ชุมชนเกาะล้านนั้น เมืองพัทยาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการนำร่องเป็นพื้นที่ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้เราสามารถกระจายวัคซีนให้กับชาวชุมชนเกาะล้านได้มากกว่า 70% แล้ว

ทั้งนี้ เมืองพัทยาได้ดำเนินโครงการ Pattaya Moves on นำร่องให้พื้นที่เกาะล้าน ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะ เหมือนเกาะภูเก็ต เกาะสมุย และเกาะเต่า ที่มีแผนจะนำร่องให้ประชาชน ได้รับวัคซีนจนสามารถสร้างภูมิค้มกันหมู่ได้ ซึ่งขณะนี้ทั้งชาวบ้านและประธานชุมชน ประชาชนบนเกาะล้าน ได้เข้ารับฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว และเป็นพื้นที่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ด้วยเช่นกัน


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

มุกดาหาร - เหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร ต้มน้ำสมุนไพรให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มไม่มีอาการ

วันที่ 23 ก.ค.64 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วยกรรมการและสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร ได้ช่วยกันต้มน้ำสมุนไพรให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการ) ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ”ศูนย์ฮักแพงชาวมุกดาหาร” ได้ดื่ม เนื่องจากผู้ป่วยที่รักษาที่โรงพยาบาลสนามเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ การใช้สมุนไพรจะสามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้

นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนาม ”ศูนย์ฮักแพงชาวมุกดาหาร” ที่ดื่มน้ำต้มสมุนไพรนี้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและไอน้อยลง หายใจได้โล่งขึ้น หายป่วยกลับบ้านแล้ว 94 คน เกี่ยวกับการรักษา คงต้องช่วยกันทุกทาง นอกจากนี้จะขยายผลไปสอนการทำน้ำต้มสมุนไพรในให้กับทั้ง 7 อำเภอ เพื่อส่งให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนามแต่ละอำเภอ

นางสาวหทัยรัตน์ ฟองชล รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า สูตรน้ำต้มสมุนไพรนี้ ประกอบด้วย น้ำ 40 ลิตร ขิงแก่ง 2 กิโล กระชาย 1 กิโลกรัม หอมแดง 1 กิโลกรัม กระเทียม 1 กิโลกรัม เกลือไอโอดีน 1 ช้อนโต๊ะ น้ำผึ้ง 200 ซีซี ซึ่งน้ำผึ้งจะตัดรสเผ็ด และน้ำตาลอ้อย  ขั้นตอนล้างวัตถุดิบให้สะอาดทุบพอหยาบ ๆ ใช้หม้อต้มเบอร์ 50 ต้มน้ำให้เดือด นำส่วนผสมทั้งหมดลงไปต้มอีก 30-40 นาที เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ส่งให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสนาม ”ศูนย์ฮักแพงชาวมุกดาหาร”

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดมุกดาหาร ประจำวันที่ 23 ก.ค. 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 35 คน แยกเป็นติดเชื้อนอกจังหวัด 34 คน และติดเชื้อในจังหวัด 1 คน ยอดผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 464 คน รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 208 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 100 คน ผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 154 คน และเสียชีวิตสะสม 2 คน คงเหลือกำลังรักษา 308 คน


ภาพ/ข่าว  พวงเพชร / เดวิท โชคชัย ชุด ฉก.พญาอินทรีย์มุกดาหาร

กาฬสินธุ์ – หวั่นโควิด ทำบุญวันพระใหญ่บางตา สวดรัตนสูตรคุ้มภัยป้องกันโควิด-19

พุทธศาสนิกชนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ หวั่นโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงวิกฤต เข้าวัดทำบุญบางตา แต่ยังร่วมกันสืบสานประเพณีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันอาสาฬหบูชา สวดภาวนาพุทธมนต์รัตนสูตร เพื่อเสริมสร้างกำลังใจคุ้มภัย ป้องกันในสถานการณ์โรคติดเชื้อโรคโควิดระบาดหนัก

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ที่ศาลาพระพุทธสุจิตตสุวรรณรังษี วัดประชานิยม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ พระเทพสารเมธี เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) พร้อมด้วยทายกทายิกาวัดประชานิยมนำพุทธศาสนิกชนทำบุญตักบาตร สวดมนต์ฟังธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ในปีนี้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัดทำบุญในวันอาสาฬหบูชาบางตากว่าภาวะปกติมาก 

อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวพุทธที่ไม่หวั่นไหวที่กับโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการจรรโลงพระพุทธศาสนา และยึดมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อในเส้นทางการความดี  ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษต่อยอดทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ก่อนที่จะเข้าบริเวณด้านในศาลาหน้าประตูทางเข้า ยังได้ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไวรัสโรคติดเชื้อโควิด-19 เว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย พร้อมกับทำตามมาตรการการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

พระเทพสารเมธี เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) กล่าวว่าวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมธรรมเทศนา หรือการประกาศพระศาสนาในวันแรกหลังจากทรงตรัสรู้ พระธรรมเทศนานี้เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หมายถึงพระสูตรที่กล่าวถึงการหมุนกงล้อแห่งธรรม พูดถึงการเวียนว่ายตายเกิด การดับทุกข์ การทำให้พ้นจากทุกข์ การประกอบความดีตามหลัก มรรค 8 ทาง แสดงหลักของการไม่ยึดมั่น แต่ให้ดำเนินในมัชฌิมาปฏิปทาหรือเส้นทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ทรงแสดงให้กับเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายาวัน เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน  ทำให้พระโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม เข้าใจในหลักคำสอน ขอบวชในพระศาสนา ทำให้พระรัตนตรัยสมบูรณ์ มีพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา พระธรรมทำสอนนำไปปฏิบัติ และพระสงฆ์นำพระธรรมไปปฏิบัติ และประกาศคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ หลังจากทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ยังได้ร่วมกันสวดภาวนาพุทธมนต์รตนสูตร เพื่อเสริมสร้างกำลังใจคุ้มภัย ป้องกันในสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิดที่กำลังระบาดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้ พบผู้ติดเชื้อ 200 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยัน 1,779 ราย กำลังรักษา 1,240 ราย หายป่วยแล้ว 533 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ชลบุรี - สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ปิดให้บริการชั่วคราว ตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี และเตรียมไลฟ์สดชมชีวิตสัตว์นานาชนิดคลายเหงา ผ่าน Facebook

นายเทวินทร์ รัตนะวงศะวัต ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้พื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและประชาชน ทางสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จึงขอประกาศปิด งดให้บริการเที่ยวชมสวนสัตว์ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งการเปลี่ยนแปลง ตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดชลบุรี

และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทางสวนสัตว์ต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์  เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติมาเที่ยวสวนสัตว์ไม่ได้ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จึงดึงไอเดียยกสวนสัตว์มาเสิร์ฟถึงหน้าจอมือถือกลับมาอีกครั้ง ซึ่งได้เคยเผยแพร่ไปในช่วงโควิดระลอกแรก ผ่านทาง Facebook live กลับมาถ่ายทอดให้ผู้ชมทางบ้าน ในชื่อรายการ Zoo To Home Comeback

สำหรับ Zoo to home Comeback เป็นรายการสด ที่จะพาผู้ชมไปดูความน่ารักของสัตว์แต่ละชนิดในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวอย่างใกล้ชิด อาทิ ยีราฟ ม้าลาย เพนกวิน และครอบครัวฮิปโปโปเตมัส ราวกับเราได้ไปยืนดูด้วยตัวเอง พร้อมทั้งได้สาระความรู้ จากเจ้าหน้าที่อีกด้วย บอกได้เลยว่าดูไปยิ้มไป ช่วยให้คลายเหงาในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยความน่ารักของเจ้าสัตว์โลกทำให้ความสุขถูกส่งผ่านหน้าจอมือถือได้อย่างง่ายดาย ทุกวันพุธ เวลา 11.00-11.30 น. ทาง Facebook สวนสัตว์เปิดเขาเขียว


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

สุรินทร์ - กองกำลังสุรนารี ร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 25 เข้มกำลังพล พร้อมรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด ที่ต้องการเดินทางกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสุรินทร์ ตามนโยบายกองทัพบก

วันที่ 25 กรกฏาคม 2564 ที่ศูนย์ปฏิบัติติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และค่ายฝึกมวลชนสัมพันธ์ กองกำลังสุรนารี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 2 พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี จัดเจ้าหน้าแพทย์พยาบาล ร่วมให้ความรู้การป้องกันการติดเชื้อกำลังพลจากกองพันเสนารักษ์ ที่ 6 ,หน่วยเฉพาะกิจที่ 2,มณฑลทหารบกที่ 25 ร.23.พัน 3ในภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน โดยจัดแบ่งเป็นชุด รับ-ส่ง จากกรุงเทพมหานคร สู่ภูมิลำเนาจังหวัดสุรินทร์ ตามนโยบายกองทัพบก

จากนั้นที่หน้ากองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พร้อมด้วย พลตรีสาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 นายพรชัย มุ่งเจริญพร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ร่วมปล่อยขบวนรถบรรทุกทางทหารและรถพยาบาลทหารพร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ ที่เตรียมพร้อมในการรับส่งผู้ป่วยตามโครงการ สุรินทร์แบ็คโฮม "SURIN BACK HOME" เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ นำตัวพี่น้องคนสุรินทร์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมารักษาตัวที่บ้าน เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนสุรินทร์ อีกหนึ่งช่องทาง  ทั้งนี้ โครงการ สุรินทร์แบ็คโฮม "SURIN BACK HOME" เกิดจากการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครองจังหวัดสุรินทร์, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์, โรงพยาบาลสุรินทร์ และ โรงพยาบาลประจำอำเภอ อีก 16 แห่ง ของจังหวัดสุรินทร์ จัดโครงการ "SURIN BACK HOME" เปิดสายด่วนและศูนย์ประสานงานรับ-ส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVI-19) ขึ้นมา จากพื้นที่สีแดงเข้มและเขตปริมณฑลให้กลับมารักษาตัวที่สุรินทร์ได้ทันท่วงที


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

พังงา – ด่วน !! ใช้รถทหารรับผู้ป่วยโควิดจากคลัสเตอร์ใหม่กลุ่มค้าสะตอบ้านบางคลี พบผู้ป่วยแล้วกว่า 40 ราย ยอดรวมจังหวัดทะลุ 500 ราย ผู้ว่าสั่งปิดหมู่บ้านทันที

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านบางคลี ม.8 ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอท้ายเหมือง นำรถขนส่งทางทหารเข้ารับผู้ป่วยยืนยัน 20 รายในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดคลัสเตอร์ใหม่ของจังหวัดพังงาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า ซึ่งมีผู้ป่วยบางรายที่เป็นเด็กน้อยที่ต้องขึ้นรถไปกับคุณแม่ และบางครอบครัวต้องขึ้นรถไปรักษาตัวทั้งบ้าน ขณะคนที่ผลตรวจไม่พบเชื้อต้องกักตัวเองที่บ้าน และบางส่วนต้องเข้ากักตัวที่สถานที่กักตัวของอำเภอท้ายเหมือง สำหรับผู้ป่วยในคลัสเตอร์บ้านบางคลีพบผู้ป่วยครั้งแรกในวันที่ 22 กรกฎาคม จำนวน 3 รายและล่าสุดพบผู้ป่วยแล้วรวมกว่ า40 ราย ซึ่งมีผู้ป่วยชุดแรกได้ปกปิดข้อมูลทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ในคลินิกเอกชน ในโรงพยาบาลตะกั่วทุ่ง โรงพยาบาลท้ายเหมืองและโรงพยาบาลพังงา ต้องถูกกักตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาได้ออกประกาศปิดพื้นที่ ห้ามคนเข้า-ออกป้องกันการแพร่ระบาดแล้ว

นายสมคิด ปาทาน ผู้ใหญ่บ้านบางคลี เปิดเผยว่า ตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะมีผู้ติดเชื้อหลายรายแต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ สหหรับการระบาดเกิดขึ้นจากชุมชนพรุวังช้าง เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ซื้อสะตอมารวบรวมแกะเมล็ดนำไปขายต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าติดเชื้อมาจากต่างจังหวัดแล้วมาแพร่เชื้อในชุมชน ซึ่งบางรายยังไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาในมัสยิด และล่าสุดพบว่าผู้ป่วยในวันนี้บางคนเปิดร้านค้าในหมู่บ้าน บางรายขายอาหารในโรงเรียนและออกเร่ขายอาหารในหลายหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีกลุ่มเสี่ยงอีกเป็นจำนวนมาก ล่าสุดตนเองได้ใช้เสียงตามสายประชาสัมพันธ์ไม่ให้ชาวบ้านตกใจ ขณะที่จุดที่เกิดการระบาดนั้นจะสามารถควบคุมได้ ตอนนี้ได้ปิดทางให้เข้า-ออกได้ทางเดียวเท่านั้น พร้อมประกาศคนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า

ด้านนายปรารถนา สมบัติปิยะ กำนันตำบลนาเตย กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ได้ร่วมกับอำเภอท้ายเหมือง ผู้นำท้องที่ รพ.สต. อสม. ลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงไปตรวจซึ่งพบว่าติดเชื้อ 8 ราย จึงจัดตั้งด่านปิดทางเข้า-ออกหมู่บ้าน และมีบางคนที่ติดเชื้อไปแล้วยังไปเร่ขายของ ร่วมพิธีกรรมทางศาสนา พบปะเพื่อนบ้าน ซึ่งตอนนี้ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ถ้าไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน เพราะพบผู้ป่วยในพื้นที่แล้วกว่า 40 ราย ขณะที่การปิดหมู่บ้านนั้น ทางตนเองและผู้นำท้องที่และผู้มีจิตกุศลได้นำข้าวสารอาหารที่จำเป็นมาสำรองไว้ที่ด่านตรวจเพื่อเป็นเสบียงให้กับคนในชุมชนประมาณ 50 ครัวเรือน จำนวนกว่า 200 คน

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 จังหวัดพังงา (ศบค.พง) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.00 น.ว่าพบผู้ป่วยรายใหม่ 29 ราย อำเภอท้ายเหมืองคลัสเตอร์บ้านบางคลี 20 ราย อำเภอตะกั่วทุ่ง 1 ราย รับผู้ป่วยจากกรุงเทพฯ 7 ราย จากอยุธยา 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 501 ราย


ภาพ/ข่าว  อโนทัย งานดี / พังงา

ตราด - สลด! โลมาอิรวดีขนาดใหญ่ ตายลอยเกยหาดบ้านตาหนึก

ชาวประมงพื้นบ้านออกมาลากปลาที่ชายหาดพบโลมาขนาดใหญ่ ตายเกยหาดสภาพเน่าเปื่อยเกยบริเวณชายหาดบ้านตาหนึกหมู่ 5 ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เมื่อเวลา 15.30 น. ของวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างบุญช่วยเหลือธรรมสถานตราดเขตอําเภอคลองใหญ่ได้รับแจ้งจากนายประพันธ์ จรุงศิลป์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านตาหนึก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เข้าตรวจสอบที่ชายหาดบ้านตาหนึก หลังรับแจ้งพบซากโลมาตายถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาด เข้าตรวจสอบพบซากโลมาสายพันธุ์อิรวดี หรือโลมาหัวบาตร ตายอยู่ในสภาพเน่าเปื่อย ส่งกลิ่นเหม็นเน่า มีร่องลอยที่ศรีษะมีบาดแผลอยู่ 1 แผล ส่วนลําตัวไม่มีรองลอยบาดแผล คาดว่าตายมาแล้วไม่ตํ่ากว่า 7 วัน เป็นเพศเมีย มีความยาวประมาณ 2.50 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณกว่า 100 กิโลกรัม ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโลมาอิรวดีตัวนี้ที่ตายเพราะสาเหตุอะไรเนื่องจากอยู่ในสภาพเน่าเปื่อย และไม่มีเครื่องมือการผ่าพิสูจน์ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างบุญช่วยเหลือธรรมสถานตราดเขตอําเภอคลองใหญ่ได้ร่วมกับชาวบ้านแถวชายหาดช่วยกันลากขึ้นมาจากชายหาดด้วยความยากลําบาก เนื่องจากโลมามีขนาดลำตัวใหญ่มาก จึงต้องใช้เชือกมัดลำตัวของโลมา และใช้ไม้กลม ๆ ยาวประมาณ 1 เมตร วางกับพื้น จากนั้นช่วยกันดึงเชือกให้ตัวของโลมาอยู่บนไม้ เพื่อเป็นการลดแรงดึง ก่อนจะทําการฝังกบที่บริเวณชายหาดต่อไป

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวเล่าให้ฟังว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา พบว่ามีโลมาตายลอยมาเกยชายหาดบ้านตาหนึกจำนวนหลายตัวแล้ว จึงอยากฝากถึงชาวประมงถ้ามีโลมาว่ายเข้าไปติดอวนหาปลาแล้วอย่าไปทำร้าย เพราะปัจจุบันโลมาในอ่าวไทยยังคงมีให้เห็นกันอยู่ประจําในช่วงคลื่นลมดี ๆ จะมีปลาโลมา มาว่ายนํ้าให้เห็นเป็นประจําที่บริเวณสถานที่ต่าง ๆ ในอ่าวไทยปัจจุบันโลมามีจำนวนลดปริมาณลงไปมาก โลมาถือว่าเป็นจุดขายของแหล่งท่องเที่ยวในท้องทะเลตราด จึงอยากให้ช่วยกันดูแลและอนุรักษ์โลมากันต่อไป


ภาพ/ข่าว  วิเชียร ม่วงสี จ.ตราด

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

ปทุมธานี - เผาศพโควิดทั้งวัน ทรุดโทรมหนักเตาเผาวัดชินฯ บิ๊กแจ๊สตั้งกองทุนสร้างเพิ่ม 6 เตา

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เวลา 13:30 น. ที่วัดชินวรารามวรวิหาร ตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พระมงคลวโรปการ (หลวงพ่อชำนาญ) เจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหาร , พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ร่วมตั้งกองทุนสร้างเตาเผาศพและน้ำมันสำหรับเผาศพผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้าน พระมงคลวโรปการ (หลวงพ่อชำนาญ) เจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหาร กล่าวว่า วัดชินวรารามวรวิหารมีเตาเผาหลักจำนวน 2 เตา และมีเตาสำรองอีก 1 เตา เนื่องจากปัจจุบันศพที่เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้น และก็เผาทุกวันเตาสำรองก็มีสภาพที่ชำรุดมาก เตาหลักก็เริ่มชำรุดแล้ว เพราะว่ามีศพให้เผาทุกวันวันละไม่ต่ำกว่า 6 ศพ มากที่สุดคือวันละ 9 ศพ อาตมาจึงได้ปรึกษา พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เรื่องการเพิ่มเตาเผาศพจำนวน 4 เตา งบประมาณเตาละ 500,000 บาท

เมื่อคุยกันแล้วท่านนายก อบจ.ปทุมธานี เห็นว่าควรเพิ่มอีก 2 เตา เป็น 6 เตา เพื่อรองรับการเผาศพสำหรับผู้ที่เสียชีวิตด้วยเชื้อโควิด-19 โดยเผาให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ มาตอนไหนเผาตอนนั้น ในส่วนของเตาที่สร้างขึ้นมาให้นั้นเป็นห้องเผาศพและเผามลภาวะ เป็นเตาเผาไร้ควัน ความสามารถของแต่ละเตาจะสามารถเผาศพได้จำนวน 4 ศพต่อ 1 วัน เพื่อช่วยเหลือญาติโยมที่มีญาติติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิต ส่วน นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ หัวหน้าสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีได้สนับสนุนชุด PPE และอุปกรณ์เกี่ยวกับการป้องกันความปลอดภัยของพระที่ทำหน้าที่เป็นสัปเหร่อ โดยวันนี้ได้ถวายน้ำมันดีเซล จำนวน 20 ถัง ถังละ 200 ลิตร เนื่องจากพระมงคลวโรปการ (หลวงพ่อชำนาญ) เจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหาร มีความต้องการสำรองปริมาณน้ำมันให้เพียงพอ ไว้สำหรับเตรียมเผาศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้จะมีศพมาให้เผาอย่างน้อย 6 ศพต่อวัน โดยน้ำมันปริมาณถังละ 200 ลิตรจะเผาได้เพียง 3 ศพ อย่างน้อยในหนึ่งวันทางวัดต้องใช้น้ำมัน 2 ถังเพื่อเผาศพแล้ว ซึ่งทางสำนักงาน วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พลังงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือทางวัด เนื่องจากทุกวันนี้ พระมงคลวโรปการ (หลวงพ่อชำนาญ) เจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหาร ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับการเผาศพ

ทางด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ผู้ที่อยากร่วมบุญสมทบทุนสร้างเตาเผาศพ สามารถเข้ามาติดต่อที่วัดชินวรารามวรวิหาร นอกจากนี้ทาง อบจ.ปทุมธานีได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมบุญสมทบทุนเงินบริจาคกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ อบจ.และพระเลขาฯของ พระมงคลวโรปการ เป็นกรรมการฯ ผมเชื่อว่าจำนวน 4 เตาจะไม่เพียงพอกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น จึงต้องเพิ่มอีก 2 เตาเป็น 6 เตา ผมเชื่อว่าคนปทุมเราไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีการตั้งกองทุนน้ำมันขึ้นมา เพื่อรองรับการเผาศพในแต่ละวันก็ใช้น้ำมันเยอะ สามารถร่วมสมทบทุนสร้างเตาเผาศพ ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 9123002777 ชื่อบัญชี พระมงคลวโรปการ


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top