Thursday, 15 May 2025
Region

ชัยภูมิ – อินทผาลัมดั้มราคาสุด ๆ จากโลละ 400 เหลือ 200 บาท สู้ภัยโควิดเราต้องรอด

เกษตรกรชาวสวนอินทผาลัม ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ประสบปัญหาผลผลิตอินทผาลัมในไร่ที่กำลังแก่จัดออกสู่ผู้บริโภค ผู้บริโภคน้อยลง ยอมดั้มราคาลงสุด ๆ จากทุกปีขายกิโลกรัมละ 400 บาท เหลือขายในราคากิโลกรัมละเพียง 200 บาท รับประกันสดจากสวนระดับพรีเมี่ยม สู้ภัยโควิด-19 เราต้องรอดไปกัน

วันนี้(29ก.ค.64) นายสุริยา มาทน  (โจ)อายุ 43 ปี เกษตรกรชาวสวนอินทผาลัม ไร่แม่ถวิล บ้านเลขที่ 19 หมู่6 บ้านแจ้งใหญ่ ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ได้นำชมสวนอินทผาลัมในไร่ของตนเองจำนวน 65 ต้น หลังจากกลับจากทำงานที่ต่างประเทศ ได้กลับมาประเทศไทย ได้ทำการเกษตรปลูกอินทผาลัม สายพันธุ์ต่าง ๆ เมื่อ 4 ปีก่อน และเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ผลผลิตอินทผาลัมที่ปลูกเริ่มให้ผลผลิตได้ประมาณ 3 ตัน นำออกขายกิโลกรัมละ 400 บาท มีรายได้หักค่าใช้จ่ายจากการขายอินทผาลัมหลักแสนบาท 

ในปีนี้อินทผาลัม คาดว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 3 ตันเช่นเดิม แต่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังดียังพอมีรายได้จากการขายอินทผาลัม มีรายได้พอเลี้ยงชีพครอบครัวได้บ้าง แต่ต้องยอมรับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลอินทผาลัมในไร่มียอดขายลดลงมากกว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 เมื่อผลผลิตทางการเกษตรออกมาจำนวนมาก ในไร่สวนอินทผาลัมของตนเอง จะขายทั้งผลอินทผาลัมกินสด และน้ำสกัดอินทผาลัมแช่เย็น ส่วนไร่อินทผาลัมที่นี่จะใช้ปุ๋ยขี่ไก่บำรุงดิน ทำให้ผลอินทผาลัมที่นี่ได้ผลลูกมีขนาดใหญ่ เปลือกบาง ฉ่ำน้ำ และเปลือกไม่แข็ง ส่วนน้ำสกัดอินทผาลัมแช่เย็น ไม่มีการใส่น้ำตาล แต่จะมีความหอมหวานตามธรรมชาติผลอินทผาลัม คลายผลละมุดแต่มีเอกลักษณ์ของผลอินทผาลัม หลังโควิด-19ระบาดลูกค้าน้อยลงหายไปมากกว่าครึ่ง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานอินผาลัมได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาก ทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารมากมาย ไม่ว่าจะช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มกำลัง ขจัดความเมื่อยล้า ช่วยดับความหนาวเย็นแล้ว เมื่อร่างกายมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง หากรับประทานอินทผาลัมภายในครึ่งชั่วโมงก็จะทำให้ร่างกายกลับมามีกำลังเหมือนเดิม และอื่น ๆ มากมาย

นายสุริยา มาทน (โจ) อายุ 43 ปี เกษตรกรชาวสวนอินทผาลัม แม่ถวิล บอกว่าขณะนี้ผลอินทผาลัมในไร่กำลังออกผลแก่ พร้อมออกสู่ตลาด หลังโควิด-19ระบาด ขณะนี้ยอมลดราคาลงแบบสุด ๆ จากกิโลกรัมละ 400 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 200 บาท และที่สำคัญต้องยอมลดราคาจากกำไร มาเป็นราคาต้นทุน เพื่อให้คนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารด้วย

นอกจากนั้น อินทผาลัมในไร่ช่วงนี้ได้เปิดร้านขายผลอินทผาลัมที่ถนนหมายเลข 201 ถนนชัยภูมิ- สีคิ้ว ทางออกไปยัง กทม. เลยปั้ม ปตท.ประมาณ 500 เมตร โดยจำหน่ายอินทผาลัมสดจากสวนของตนในราคากิโลละ 200 บาทเท่านั้น รวมทั้งสินค้าทางการเกษตรอื่น ๆ ตามฤดูกาลด้วย มีผลผลิตทางการเกษตร ไร่แม่ถวิล อินทผาลัม สดจากสวนระดับพรีเมี่ยม ราคาถูกสุด ๆ ราคาต้นทุนได้ทุกวัน และสามารถติดต่อสอบถามหรือสั่งจองได้ที่ คุณโจ เบอร์โทรศัพท์ 06 3929 9223 หรือ เฟซบุ๊ก “คุณโจ มาทน” https://www.facebook.com/jo.mathon ระยะทางห่างจากตัวอำเภอหนองบัวระเหว ประมาณ 14 กม. รับรองไม่ผิดหวัง

ปทุมธานี – นครรังสิต เตรียมเปิดรพ.สนาม อาคารหอประชุม 100 ปี เมืองธัญบุรี ต้นเดือนนี้พร้อมรับ 300 เตียง

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่อาคารหอประชุม 100 ปี เมืองธัญญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวว่า วันนี้ ทน.รังสิตได้เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามที่หอประชุม 100 ปี เมืองธัญบุรี ของเทศบาลนครรังสิต โดยเฟสแรกมีเตียง 128 เตียง รวมแล้วจะทยอยเพิ่มเตียงให้ได้จำนวน 300 เตียง โดยจะเปิดได้ช่วงต้นเดือนนี้

ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่เทศบาลนครรังสิตได้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และได้กักตัวเองอยู่ที่บ้าน Home isolation จำนวน 236 คน และทางเทศบาลนครรังสิตได้เปิดโรงครัว เพื่อส่งอาหารให้ผู้ที่กักตัวที่บ้านทั้ง 3 มื้อจำนวนวันละเกือบ 1,000 กล่อง ขณะนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน ในส่วนของวัคซีน ชิโนฟาร์มนั้นทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้อนุมัติวัคซีนให้ จำนวน 1,130 โดส ซึ่งคาดว่าจะมาถึงเราประมาณต้นเดือนนี้ โดยจะรีบจัดสรรให้กับพี่น้องประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ให้เร็วที่สุด ฝากถึงพี่น้องประชาชนเราต้องดูแลตัวเราเอง โดยป้องกันทุกอย่าง เพราะว่าขณะนี้สถานการณ์รุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เราต้องระมัดระวัง ต้องรักษาความสะอาด สวมใส่แมส ยิ่งหากเรายังไม่ได้รับวัคซีนต้องยิ่งระมัดระวังมากขึ้น แต่เมื่อได้รับวัคซีนแล้วก็ยังต้องระมัดระวัง สถานการณ์แบบนี้เราต้องช่วยกัน ทางเทศบาลนครรังสิตจะได้รีบจัดสรรวัคซีน การจัดถุงยังชีพต้องทั่วถึง อาจจะช้าต้องขออภัยด้วย และขอเป็นกำลังใจให้ทุก ๆ ท่าน


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

นครพนม - ทบ.นำเครื่องบินลำเลียง 295 ส่งผู้ป่วยโควิด ถึงภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม พลตรี สามารถ จินตสมิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 พร้อมด้วย นายสุวิทย์ จันทร์หวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายสมชัย นำโชคประเสริฐ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครพนม นายแพทย์ขวัญชัย ประเสริฐยิ่ง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดเตรียมสถานที่บริเวณท่าอากาศยานนครพนมและศูนย์พักคอยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับช่วงต่อจากกองทัพบกที่ได้ให้การสนับสนุนเครื่องบินลำเลียง 295 ส่งผู้ป่วยโควิด – 19 กลับบ้านที่นครพนม ซึ่งในวันนี้เป็นเที่ยวบินแรกที่นำส่งผู้ป่วยที่นครพนม

พลตรี สามารถ จินตสมิทธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทีมแพทย์ต้องรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่อนข้างที่จะมีข้อจำกัดในด้านจำนวนบุคลากร ดังนั้นจึงได้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของในแต่ละจังหวัดเพื่อแบ่งเบาภาระ ซึ่งทางรัฐบาลและกองทัพบก ได้มีความตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับสู่ภูมิลำเนา และที่ผ่านมาก็มีทั้งการเตรียมการในการจัดขบวนยานพาหนะนับ 100 คัน ไว้ที่กองทัพภาคที่ 2 และมีการขนย้ายมาบ้างแล้วในทางรถยนต์ ส่วนทางรถไฟในปัจจุบันก็มีการเตรียมแผนเช่นเดียวกัน แม้จะมีการเลื่อนไปเมื่อในเมื่อวานแต่วันนี้ก็ดำเนินการแล้วเหมือนกัน

ในส่วนของจังหวัดนครพนมซึ่งมีระยะทางที่ไกลและผู้ป่วยมีความจำเป็นเร่งด่วนทางกองทัพบก ก็ได้มีการสนับสนุนเครื่องบินลำเลียงแบบ 295 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใช้งานทั่วไป เพื่อขนย้ายพี่น้องประชาชนที่พบเชื้อโควิดกลับภูมิลำเนา ซึ่งเดิมทีจะมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ปิดทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบิน เกิดความไม่ปลอดภัย จึงยังไม่ได้นำส่งผู้ป่วย แต่ในวันนี้ที่สภาพอากาศพร้อมจึงได้นำผู้ป่วยบินกลับภูมิลำเนา จำนวน 2 เที่ยวบิน โดยเที่ยวแรกในเวลา 11:30 น จำนวน 18 คน เที่ยวบินที่ 2 เวลา 15.30 น. อีก 20 คน

ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมบูรณาการในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ท่าอากาศยานนครพนมที่ได้สนับสนุนพื้นที่ในการลงจอดของเครื่องบิน หน่วยงานสาธารณสุขที่สนับสนุนบุคลากรในการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วย โดยทางมณฑลทหารบกที่ 210 จะดำเนินการลำเลียงผู้ป่วยจากสนามบินไปยังจุดพักคอยเพื่อคัดกรองผู้ป่วยก่อนนำส่งต่อไปยังจุดรักษาต่าง ๆ ตามอาการ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม ในส่วนของค่ายพระยอดเมืองขวางก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดสถานที่เพื่อรองรับเป็นลักษณะของโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกันหากโรงพยาบาลฝ่ายพลเรือนมีเตียงไม่เพียงพอ ซึ่งก็อยากฝากถึงพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลค่ายพระยอดเมืองขวาง ที่เมื่อมีผู้ป่วยเข้าไปในค่ายแล้วทางค่ายจะมีมาตรการที่เข้มงวดและเข้มข้นในการที่จะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปสู่ชุมชนและพื้นที่

ขอให้ทุกคนมีความมั่นใจในแนวทางการปฏิบัติว่าทางค่ายพระยอดเมืองขวางมีความพร้อมที่จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยที่จะช่วยแบ่งเบาภาระและพร้อมในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่และเต็มประสิทธิภาพ


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส ผู้สื่อข่าวนครพนม

นครศรีธรรมราช - นิพนธ์ ยัน พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรราคามังคุดภาคใต้ตกต่ำ สั่งการใช้กลไกมหาดไทย อำนวยความสะดวกเดินทางมารับซื้อผลผลิตให้เพิ่มมากขึ้น ประสาน 3 กระทรวง

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมศรีวิชัย ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาราคาไม้ผลตกต่ำ(มังคุด) โดยมีนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดภาคใต้และภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบไม่สามารถส่งผลผลิตไปขายยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้ โดยมังคุดออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี  ทำให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ด้วยกลไกของกระทรวงมหาดไทยยินดีสนับสนุนและให้ความร่วมมือช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกร  ส่วนปัญหาการขาดแคลนจุดรับซื้อและกระจาย(ล้ง)และแรงงานที่จะลงไปรับซื้อและคัดแยกมังคุดในพื้นที่จุดรวบรวมใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นครศรีธรรมราช และชุมพร โดยผู้ว่าฯ ทั้ง 3 จังหวัดรับทราบปัญหาและช่วยผ่อนผันให้ล้งและแรงงานเคลื่อนย้ายไปซื้อมังคุดที่นครศรีธรรมราช ชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ได้ โดยทำงานร่วมกันระหว่างแรงงานจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิด-19 สำหรับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้รัฐบาลในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้ขอความร่วมมือไปยังเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ให้จัดมังคุดเข้าไปในเมนูอาหารของกรมราชทัณฑ์ด้วย จึงขอให้มั่นใจว่าทุกมาตรการรัฐบาลดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยที่ยืนยันสนับสนุนการดูแลแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรอย่างเต็มที่เร่งด่วนและรวดเร็วที่สุด ส่วนปัญหาเรื่องตู้บรรทุกสินค้า ขาดช่วง ตู้กลับไม่ทัน จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหากรณีด่านตรวจประเทศเพื่อนบ้านใช้เวลาในการตรวจตู้สินค้าเป็นเวลานาน เพื่อให้รถบรรทุกสินค้ากลับมารับผลไม้ของจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ทัน ไม่มีผลผลิตตกค้างในพื้นที่

เพชรบูรณ์ - “เหมืองทองอัครา” มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในเพชรบูรณ์ เพื่อร่วมฝ่าวิกฤติ COVID-19

เพื่อให้การบริหารจัดการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ในจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  และสำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด จึงเร่งลงพื้นที่ตรวจเชิกรุก เตรียมความพร้อมของสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการรักษา พร้อมทั้งให้กำลังใจบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นนักรบด่านหน้าในการก้าวผ่านวิกฤกติโควิดครั้งนี้

ในโอกาสนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ขอเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์มูลค่า 150,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลวังโป่งและโรงพยาบาลชนแดน เพื่อให้นักรบด่านหน้าของเรามีอุปกรณ์เพียงพอในการต่อสู้กับโควิด โดยได้รับเกียรติจากนายสมศักดิ์ เกี้ยวเกิด นายอำเภอวังโป่ง นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอชนแดน นายณัฐพัชร์ ภัทรพิศิษฐ์ ปลัดอาวุโสอำเภอวังโป่ง พร้อมด้วยคณะแพทย์พยาบาลของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งเป็นผู้รับมอบเมื่อวันที่  22 กรกฎาคมที่ผ่านมา #เพราะเราต้องรอดไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  ยุทธ ศรีทองสุข / มนสิชา คล้ายแก้ว

สุรินทร์ - พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ จัดโครงการ ‘รถ Mobile…พาณิซย์ลดราคา!’ ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดสุรินทร์

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานปล่อยขบวนรถ โครงการรถ Mobile...พาณิซย์ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พันเอกชินวิช  เจริญพิบูลย์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมกิจกรรม และมี นายสิทธิศักดิ์  พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ กล่าวรายงาน  จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคไวรัสโควิด-19 ได้ขยายระบาดโรคออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางส่วนปิดตัวลง ทำให้เกิดการว่างงาน การบริโภคครัวเรือนหยุดชะงัก เนื่องจากประชาชนเกิดความหวาดระแวงในการออกนอกพื้นที่ และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ โดยงดออกนอกเคหะสถาน และมาตรการ Work from Home

ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รองรัฐนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) จึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการ รถ Mobile...พณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ จำนวน 161.3240 ล้านบาทจากงบประมาณเงินกู้ ให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ดำเนินโครงการรถ Mobile พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากขึ้น  เพื่อช่วยประชาชนในพื้นที่ของทุกจังหวัด ระยะเวลาดำเนินการ 1 เดือน

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ และสินค้าเกษตร/ชุมชนที่ได้รับกระทบจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ผ่านรถ Mobile เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนและลดค่าครองชีพ ตลอดจนเป็นการลดความเสี่ยงจากการเดินทางไป จับจ่ายสินค้าให้แก่ประชาชนในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งยังเป็นการกระจายผลผลิตให้แก่เกษตรกร เกิดการจ้างงานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 สำหรับจังหวัดสุรินทร์ มีเป้าหมาย จำนวนรถ Mobile จำนวน 12 คัน ครอบคลุมทั้ง 17 อำเภอ 159 ตำบล รวมทั้งหมด 720 จุด (คันละ 2 จุดต่อวัน) ในการนำสินค้าอุปโภคบริโภคไป จำหน่ายให้กับประชาชนในราคาประหยัดที่ต่ำกว่าท้องตลาดทั่วไป ประมาณ 10-40 % อาทิเช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระปอง น้ำตาลทราย บะหมี่ถึงสำเร็จรูป

โดยเริ่มวิ่งไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 และจะสิ้นสุดในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 สำหรับโครงการนี้ ได้รับความ ร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างดี โดยเฉพาะท่านนายอำเภอทุกอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่อำนวยความสะดวกในการกำหนดจุดจำหน่าย การประชาสัมพันธ์ การจัดส่งเจ้าหน้าไปอำนวยความสะดวก และการกำกับดูแลตามมาคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์อย่างเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์  แสนกล้า

ระยอง - พ่อเมืองระยอง เปิดศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 เทศบาลตำบลมาบข่า โดยสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 100 เตียง

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้เดินทางไปเปิดศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 อำเภอนิคมพัฒนา ซึ่งใช้อาคารหอประชุมที่ว่าการอำเภอนิคมพัฒนาจัดตั้ง ดำเนินการโดยเทศบาลตำบลมาบข่า และภาคีเครือข่าย ภาคเอกชนในพื้นที่ มีนายภิรมย์ ชุมนุม นายอำเภอนิคมพัฒนา นพ.โกมล ภู่ถาวรทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนิคมพัฒนา นายธารา ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง นายอาจิน อ่ำพุด นายกเทศมนตรีตำบลมาบข่า พ.ต.อ.สราวุธ นุชนารถ ผกก.สภ.นิคมพัฒนา นางพิมพ์บุญญา สมุทรรัตน์ สาธารณสุขอำเภอนิคมพัฒนา นายมนูญ วิวรรณ ปลัดเทศบาลตำบลมาบข่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับ พร้อมกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ยังได้เป็นตัวแทนรับมอบเงินสนับสนุนศูนย์พักคอยฯ จำนวนเงินกว่า 2 แสนบาท และรับมอบเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยจากผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 10 ราย

สำหรับศูนย์พักคอยของอำเภอนิคมพัฒนาดังกล่าว เทศบาลตำบลมาบข่า และองค์กรภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ได้ร่วมกันดำเนินการจัดตั้งขึ้นเพื่อรองผู้ป่วยในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลนิคมพัฒนา โดยมีเตียงจำนวน 100 เตียง


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

กาฬสินธุ์ - โควิดดับอีก 3 ป่วยเพิ่ม 202 ราย เร่งตั้งรพ.สนามชุมชนตำบล รองรับผู้ป่วย

สถานการณ์โรคโควิด-19ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย และพบผู้ป่วยรายใหม่ 202 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสม 2,613 ราย ขณะที่ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ สั่งเตรียมพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบลทุกตำบลรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขอเดินทางกลับมารักษาที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศูนย์อำนวยการต้านโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 202 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุถึง 2,613 ราย กำลังรักษาอยู่ 1,578 ราย รักษาหายแล้ว 1,021 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รายแรกเป็นเพศชาย อายุ 48 ปี ชาว อ.กุฉินารายณ์ รายที่ 2 เพศชาย อายุ 53 ปี ชาว อ.หนองกุงศรี และรายที่ 3 เพศเพศหญิง อายุ 37 ปี ชาว อ.สมเด็จ โดยทั้ง 3 ราย มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด-19 และระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเจ้าหน้าที่และญาติได้ทำพิธีฌาปนกิจตามประเพณีแบบเรียบง่าย และตามมาตรการขั้นตอน ทั้งนี้ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 14 ราย

ขณะที่นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงลงพื้นที่ดูแลความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล (Community Isolation) หลังจากมีนโยบายให้ทุกตำบลในจังหวัดจัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะเดินทางกลับมายังภูมิลำเนาเพิ่มมากขึ้น ภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

โดยจุดแรกที่บริเวณสมอทอง รีสอร์ท เทศบาลตำบลภูดิน อ.เมืองกาฬสินธุ์  ที่ได้ปรับสถานที่จากจุดพักคอยเป็นโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล โดยเป็นการให้บริการสาธารณาสุขแก่ผู้ป่วยโควิด-19  ที่มีอาการไม่หนัก หรืออยู่ในระดับสีเขียว และสำหรับผู้ป่วยที่รอการพักฟื้นเพื่อเฝ้าดูอาการ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งจะมีการตรวจเช็คอาการผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เบื้องต้นสามารถรับผู้ป่วยได้เตียง 10 เตียง และอยู่ระหว่างการจัดสถานที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับให้แต่ละตำบลจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบลในทุกตำบล อย่างน้อยให้ได้ตำบลละ 20-30 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่อำเภอนามน จ.กาฬสินธุ์ได้มีการยกระดับจากศูนย์พักคอย เป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 100 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย โควิด-19 โดยนางสาวอ้อมอารีย์  ยี่วาศรี นายอำเภอนามนได้ให้ทุกตำบลเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชุมชนประจำตำบล ให้ได้ประมาณ 20-50 เตียง ซึ่ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก ทั้งภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สุรินทร์ - มณฑลทหารบกที่ 25 ร่วมจัดกิจกรรม “สุรินทร์รวมใจปันสุข แด่ผู้ประสบภัยโรคโควิค-19”

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 มณฑลทหารบกที่ 25 โดย พลตรีสาธิต เกิดโภค ร่วมกับ จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กองกำลังสุรนารี ตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ โดย พลตำรวจตรี ชาญชัย พงษ์พิชิตกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ หอการค้าจังหวัดสุรินทร์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ ร่วมจัดงาน “สุรินทร์รวมใจปันสุข”ได้จัดทำอาหารกล่อง ถุงยังชีพและน้ำดื่ม ไปมอบให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค covid-19 ตลอดจนจะขยายพื้นที่ออกไปยังต่างอำเภอ ตลอด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.-12 ส.ค. 64

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค จากผู้มีเมตรตาร่วมบริจาคในครั้งนี้ ให้กับตัวแทนชุมชนเพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนชนผู้ได้รับผลกระทบในชุมชน ในครั้งนี้ด้วย โดยมีส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน องค์กร มูลนิธิฯต่าง ๆ ร่วมในครั้งนี้ด้วยความรัก และสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อยามทุกคนประสบกับวิกฤติด้วยกัน คนสุรินทร์ย่อมไม่ทิ้งกัน โดยระดมเงินทุนจากผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงาน เริ่มต้นที่หนึ่งล้านบาท เพื่อปันสุขให้ชาวสุรินทร์ โดยจะร่วมกันประกอบอาหารและบรรจุกล่องแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาขอรับ ณ  บริเวณหอประชุม อบจ.สุรินทร์ และจะทยอยแจกจ่ายไปยังชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

 โดยมีรถประกอบอาหารจากมณฑลทหารบกที่ 25 จำนวน 2 คัน มาร่วมประกอบอาหารเมนูเด็ดคือข้าวผัดใบกะเพราทั้งหมู ทั้งไก่ และเมนูอื่น ๆ อีกอย่างหลากหลาย ซึ่งจะ Kick Off ชุมชนแรกในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์  ตั้งแต่วันนี้( 28  กรกฎาคม 2564) เป็นต้นไป ส่วนพื้นที่อื่นจะทยอยดำเนินการไปจนถึง 12 สิงหาคม 2564  นี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฏาคม 2564 เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ประกอบกับเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการและประชาชนทุกภาคส่วนในจังหวัดสุรินทร์ จัดตั้งศูนย์บรรเทาความเดือดร้อนและครัวสนาม ณ บริเวณหอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และได้เปิดรับบริจาคจากผู้ที่มีจิตเมตตาเพิ่มเติมเพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือชาวสุรินทร์ ในครั้งนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

นครนายก - แทนความห่วงใย จากใจเกรียงไกร กิตติธเนศวร นักบริหารยุคใหม่ จัดหาวัคซีนซิโนฟาร์ม (เข็มที่2) ให้พนักงานและประชาชน

แทนความห่วงใย จากใจเกรียงไกร กิตติธเนศวร และดร.เกยูร โชคล้ำเลิศ นักบริหารยุคใหม่ จัดหาวัคซีนชิโนฟาร์ม(เข็มที่2ให้พนักงาน ครอบครัวพักงาน องค์กรลูกค้าและประชาชน เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่โรงแรมจันทรา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ดร. เกยูร โชคล้ำเลิศ และ นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร กรรมการบริษัท ยู้ ฟิชบอล จำกัด และ หจก นครนายกการโยธา อาหารเสริม ยูเอ็นซี แคลเซียม (UNC Calcium) บริการวัคซีนทางเลือก ชิโนฟาร์ม  ได้ประสานกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อขอรับวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ให้กับ พนักงานและครอบครัวพนักงาน ในองค์กร ลูกค้าและประชาชนที่อยู่ในชุมชนเสี่ยงนครนายก

ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครนายก ดร.เกยูร โชคล้ำเลิศกรรมการ ยู้ ฟิซบอล จำกัดและนาย เกรียงไกร กิตติธเนศวร  หจก.นครนายกการโยธา ได้ประสานกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อขอรับวัคซีนทางเลือก ชิโนฟาร์ม พร้อมนำบุคลากรทางการแพทย์มาฉีดวัคซีนทางเลือก ชิโนฟาร์ม ให้กับพนักงาน ครอบครัวพนักงานในองค์กร ลูกค้าและประชาชนที่อยู่ในชุมชนเสี่ยงของจังหวัดนครนายก

นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร  หจก.นครนายกการโยธา เสริมว่า ทางเราพยายามหามาตรการป้องกันมาตลอด และคิดว่า วัคซีน คือ คำตอบของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่  ในเดือน มิถุนายน - สิงหาคม เราบริจาคข้าวสารมากกว่า 10000 กิโลกรัม แมสมากกว่า 2000 ลัง เจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ทุกวันนี้ เราให้ทุกวัน  เพราะคิดว่า การให้ คือ ให้ไม่ต้องรอ ไม่ต้องคิด หากมีโอกาสเราจะนำวัคซีน หรืออะไรที่เราตัวเล็ก ๆ พอจะช่วยได้ เราจะนำมาแจกให้กับประชาชนอีกครั้ง  และเราจะทำอีกเรื่อยๆ เพราะว่า เราคือคนไทยด้วยกัน “เพราะความสำเร็จนั้นจะ เยี่ยมยอดที่สุด เมื่อมันถูกแบ่งปัน“


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top