Thursday, 15 May 2025
Region

ปทุมธานี – ยอดทะลุ ‘บิ๊กแจ๊ส’ ปิดบัญชีรับบริจาคสร้างเตาเผาศพ หลังได้เงินกว่า 6 ล้านถวายหลวงพ่อชำนาญ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 10:30 น. ที่วัดชินวรารามวรวิหาร ตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ได้มอบเงินรับบริจาคสร้างเตาศพ จำนวน 3,000,000 บาท โดยมีประชาชนและชมรมต่าง ๆ เข้าร่วมถวายเงินและบริจาคเพิ่มเติมเข้ามาโดยมอบให้กับ พระมงคลวโรปการ (หลวงพ่อชำนาญ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดชินวรารามวรวิหาร เพื่อนำไปสร้างเตาศพไร้มลพิษ จำนวน 6 เตา ปัจจุบันวัดชินวรารามวรวิหาร ได้ดำเนินการสร้างเตาเผาศพเสร็จแล้วจำนวน 2 เตา ซึ่งมีเตาเผาเดิมที่ทางวัดใช้อยู่จำนวน 2 เตาเป็นเตาหลัก1 เตาสำรองอีก 1 เตา  และกำลังก่อสร้างอีกจำนวน 4 เตา หากสร้างเสร็จทางวัดจะมีเตาเผาศพจำนวน 9 เตา เพื่อรองรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดโควิด-19

ในส่วนของทาง อบจ.ปทุมธานีได้เปิดบัญชีให้ประชาชนร่วมบริจาคเงิน ได้กว่า 6,000,000 บาท และได้นำมามอบให้กับทางวัดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 จำนวน 2,000,000 บาท โดยวันนี้ได้นำมอบเงินเพิ่มอีกจำนวน 3,000,000 บาท เมื่อครบจำนวนที่ทางวัดต้องการทาง อบจ.จึงได้ปิดบัญชีแล้ว หากประชาชนมีความประสงค์จะร่วมบริจาคค่าน้ำมันเผาศพ สามารถร่วมสมทบบุญที่ ชื่อบัญชี พระมงคลวโรปการ ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 9123002777

ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ที่ได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา เนื่องจาก หลวงพ่อชำนาญ เจ้าอาวาสวัดชินฯ ได้มีการเผาศพให้กับผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดฟรี เมื่อมีผู้เสียชีวิตจากโควิดเกิดขึ้น ทางกู้ภัยจะมาเอาโลงศพที่วัดชินฯ เพื่อที่จะเอาไปใส่ศพมา เมื่อมาถึงวัดก็จะรีบเผาเลย ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 จนถึงวันนี้ทางวัดชินฯได้เผาศพไปแล้วจำนวน 131 ศพ ดังนั้นโครงการที่เกิดขึ้นมา กว่า 10 วันนี้ ได้มีผู้บริจาคเงินมาร่วมสมทบทุนสร้างเตาเผาศพเป็นเงินว่า 3,000,000 บาท วันนี้ อบจ.ได้เปิดบัญชีแล้ว เป็นการหมดภารกิจในส่วนนี้ไป จึงได้นำเงินทั้งหมดมาถวายท่าน เพื่อเป็นค่าเตาเผาศพจำนวน 3,000,000 บาท ซึ่งเราได้รับเงินที่บริจาคมาทั้งหมดเกือบ จำนวน 6,000,000 บาท ต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันบริจาคเงินทำบุญในครั้งนี้ ซึ่งเงินที่เหลือจะเป็นยอดของกองทุนน้ำมันและค่าใช้จ่ายในการเผาศพต่อไป


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

แม่ฮ่องสอน - ผบ.ร.7 พัน.5 ช่วยเกษตรกรช่วงโควิดระบาด รับซื้อข้าวโพดหวาน แจกจ่ายกำลังพลและครอบครัว สร้างความสุขใจ- อิ่มท้อง

วันที่ 6 ส.ค.64 เวลา 09.00 น. พ.อ.สันติพงษ์ ชิงดวง ผบ.ร.7 พัน.5 ได้สั่งการให้ฝ่ายกิจการพลเรือน ดำเนินการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรเป็นข้าวโพดหวานพันธุ์ชูก้า จำนวน 100 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือเกษตกร บ้านทุ่งโป่ง ต.ทุ่งยาว อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส (โควิด-19) โดยรับซื้อในราคาตลาด ซึ่งผลผลิตดังกล่าวที่รับซื้อทั้งหมดจะได้นำไปมอบให้แก่กำลังพลและครอบครัวไว้รับประทาน สร้างความสุขใจอิ่มท้อง และมีโภชนาการ รวมถึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจต่อไป

พ.อ.สันติพงษ์ ชิงดวง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส (โควิด-19) ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง  พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ ไม่สามารถนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายได้ ถึงแม้ผลผลิตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถระบายผลผลิตออกได้ทัน เนื่องจากการประกาศยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ห้ามการเดินทางข้ามพื้นที่ตอนกลางคืนซึ่งมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาปัญหาดังกล่าว ทางกองพันทหารราบที่ 5 กรมทหารราบที่ 7 จึงได้สั่งการให้กำลังพลได้ช่วยเหลือประชาชนโดยการรับซื้อผลผลิตเกษตรจากเกษตรกรผู้ปลูกถึงที่ โดยรับซื้อตามราคาตลาด และยินดีรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรตามศักยภาพของหน่วย โดยการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง และขอเป็นกำลังใจให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตโควิดนี้อย่างปลอดภัย

กรุงเทพฯ - สภากาชาดไทยผนึกกำลัง - รัฐ - เอกชน ให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation)

จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก ทำให้การบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการดูแล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้เปิดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน (Home Isolation: HI) แต่เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ทำให้พบว่ายังคงมีบางส่วนที่ลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ป่วยบางส่วนที่รอการติดต่อเป็นระยะเวลานาน กลายเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง และบางส่วนก็เสียชีวิตแล้ว

สภากาชาดไทย โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงประสานความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย ศูนย์เอราวัณ แพทยสภา กรุงเทพมหานคร และทีมอาสาสมัครภาคเอกชน ผนึกกำลังร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) หลังลงทะเบียนในระบบ Home Isolation ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี และได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ Home Isolation กับ สปสช.

ทั้งนี้ สปสช. สภากาชาดไทย ร่วมกับทีมงานจิตอาสา เช่น Let’s be heroes หมอริทช่วยโควิด Thai CoCare HICV และอาสาสมัครของสภากาชาดไทยเอง ได้รับผู้ป่วยมาอยู่ในการดูแลในเบื้องต้น จำนวน 3,163 ราย ซึ่งผู้ป่วยจำนวนดังกล่าว ได้ลงทะเบียนในระบบ Home Isolation แล้ว โดยมีสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม กรุงเทพฯ เป็นผู้ประสานงานหลักกับ สปสช. ในการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน ซึ่งหลังจากผู้ป่วยผ่านการติดต่อประสานงาน ประเมินและคัดกรองอาการแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการทางโทรศัพท์วันละ 2 ครั้ง (Telemedicine) อาหาร 3 มื้อ ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ยา Favipiravir ยาฟ้าทะลายโจร และยาพื้นฐานอื่น ๆ โดยด่วน

ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2564 สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ สภากาชาดไทย ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) ตามการประเมินและคัดกรองอาการของผู้ป่วยดังนี้

1. ลงทะเบียนผู้ป่วยและรับเข้าระบบรักษาพยาบาล จำนวน 3,163 ราย

2. ประเมินอาการทางโทรศัพท์วันละ 2 ครั้ง (Telemedicine) โดยทีมแพทย์ พยาบาลอาสาสมัคร จาก Let’s be heroes หมอริทช่วยโควิด Thai CoCare HICV และอาสาสมัครของสภากาชาดไทย จำนวน 2,778 ราย

3. ส่งชุดอาหารพร้อมรับประทาน จำนวน 1,600 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นก่อนที่จะได้รับอาหารกล่อง

4. ส่งอาหารกล่อง 3 มื้อ  จำนวน 1,383 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตลอดระยะเวลา Home Isolation

5. ส่งปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล  จำนวน 1,012 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19

6. ส่งเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว  จำนวน 868 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19

7. ส่งยา Favipiravir และยาอื่น ๆ จำนวน 1,400 ราย ถึงบ้านผู้ติดเชื้อโควิด-19

โดยมีอาสาสมัครจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสภากาชาดไทย ได้ให้การสนับสนุนงานด้าน Telemedicine โทรศัพท์คัดกรองข้อมูลผู้ป่วย และจัดส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการติอต่อ ดูแล และรักษาพยาบาลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นครนายก – “อนุทิน” ลงพื้นที่มอบวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับอสม. พร้อมเยี่ยมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานเพื่อเป็นขวัญกำลังในในพื้นที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่มอบวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับอสม.ในพื้นที่จังหวัดนครนายก พร้อมเยี่ยมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานเพื่อเป็นขวัญกำลังในในพื้นที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม ที่ห้องโถง โรงพยาบาลนครนายก นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้ติดตามได้เดินทางไปมอบวัคซีน ให้กับอสม.ในพื้นที่จังหวัดนครนายก และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน้างานในจุดตรวจต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลนครนายก

โดยมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายก พร้อมทีมงานคณะแพทย์ ส.ส. นายกอบจ.นายกเทศมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ จากนั้นได้เดินทางไปตรวจพื้นที่โรงพยาบาลสนาม วังยาวริเวอร์ไซค์ ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก เพื่อเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมพลังในการให้บริการประชาชนอย่างดีที่สุด สำหรับจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม มีอำเภอที่มีผู้ป่วยสูงสุดได้แก่อำเภอองครักษ์ 1,235 ราย รองลงมาอำเภอบ้านนา 926 ราย อำเภอเมืองนครนายก 874 ราย และอำเภอปากพลี 105 รายนอกนั้นเป็นผู้ติดเชื้อที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด 428 ราย จำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,568 ราย รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว1,483 รายยังรักษาอยู่ 2,047 ราย เสียชีวิต 38 รายมีสถานกักกันของทางราชการ 6 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 11 แห่ง 4 อำเภอ จัดตั้งศูนย์พักคอย จำนวน 35 แห่ง


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

แม่ฮ่องสอน - “แอน ทองประสม” ดาราสาวสวยใจบุญ ช่วยเหลือราษฏรบ้านแม่แพน้อย เหมากะหล่ำปลีแจกจ่ายประชาชน ในโรงเรียน วัด และในพื้นที่ชายขอบ

"แอน ทองประสม"ดาราสาวใจบุญ ได้รับซื้อกะหล่ำปลีช่วยเหลือเกษตรกร บ้านแม่แพน้อย ต.กองก๋อย อ.สเบมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ  แจกจ่ายให้พี่น้องประชาชน โรงเรียนตามแนวชายขอบ วัด ตลอดจนหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน รวม 6,900 กิโลกรัม โดยชาวบ้านได้มายืนต่อคิว นำถุงกระสอบปุ๋ยมาใส่กระหล่ำปลี คนละ 4-5 หัว ส่วนโรงเรียนที่ต้องนำไปเป็นอาการกลางวันเด็ก เลี้ยงเด็กพักนอน หรือวัด หน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้นำรถกระบะมาใส่เฉลี่ยกันไป

เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก นางนงนุช  วิชชโลกา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่แพน้อย ซึ่งได้เป็นผู้ประสานงาน กับทาง คุณแอน ทองประสม ดาราสาวสวยใจดี  ในการรับซื้อกะหล่ำปลี จากราษฏรบ้านแม่แพน้อย ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากตนเองรู้สึกสงสาร ชาวบ้านที่ปลูกกะหล่ำปลี แต่ราคาตกต่ำมาก ประสบสภาวะขาดทุน จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือ จากดารานักแสดงชื่อดัง ซึ่งคุณแอน ทองประสม ก็ได้ตกลงใจรับซื้อกะหล่ำปลีของราษฏรบ้านแม่แพน้อย จำนวน 3 คันรถ น้ำหนัก 6,900 กิโลกรัม ให้นำไปแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนชาวอำเภอแม่สะเรียง และให้กับโรงเรียนในเขต อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย และ อ.แม่ลาน้อย สังกัด สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 จำนวนหลายสิบแห่ง ที่เดินทางมารับกะหล่ำปลี เพื่อนำไปประกอบเป็นเมนูอาหารกลางวัน หรืออาหารเด็กพักนอน รวมไปถึงวัด หน่วยงานตามแนวชายแดนต่าง ๆ เป็นต้น

ซึ่งทุกคนต่างแห่ชื่นชมในความใจบุญของดาราสาวที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้ความลำบาก ทั้งเจ้าของกะหล่ำปลี และพี่น้องประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน ตกงาน ขาดรายได้ ให้มีกำลังแรงใจที่จะยืนหยัดและสู้ต่อไป โดยทุกคนฝากขอบคุณดาราสาว แอน ทองประสม ที่ได้ซื้อกะหล่ำปลีแจกจ่ายในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ตราด - ทหารเรือในทุกพื้นที่ของท้องทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ยังคงห่วงใยพี่น้องประชาชน ภายใต้สถานการณ์ Covid -19 เร่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน

เมื่อ 8 ส.ค. 64 หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ทัพเรือภาคที่ 1 โดยหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนส่วนที่ 1 (มชด./1) ส่งเรือ ต.237 ออกลาดตระเวนในพื้นที่เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด พร้อมทั้งจัด จนท.พยาบาลทหารเรือกับยาและเวชภัณฑ์ จำนวนหนึ่ง ตั้งโต๊ะข้างเรือ บริเวณท่าเทียบเรืออ่าวใหญ่ เกาะกูด ให้บริการตรวจรักษาเบื้องต้นและให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่เกาะกูด อีกทั้งยังแจกจ่ายยา อาธิ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาแก้ไอ เป็นต้น ให้แก่ประชาชนอีกด้วย

นอกจากนี้ ในระหว่างลาดตระเวนมีการตรวจเยี่ยมเรือประมง เอกชัย กลางทะเล ทางเรือได้สอบถามข้อมูลและมอบยาเวชภัณฑ์ พร้อมกับหน้ากากอนามัย ให้กับเรือประมงลำดังกล่าว เพื่อใช้ในการป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid -19 ด้วยเช่นกัน

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ตอบสนองนโยบายของ กองทัพเรือ และ แนวทางของ พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ที่มอบให้ น.อ.เกียรติกูล สุวรรณ รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1/ผู้บังคับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน(ผบ.มชด.) กำกับให้เรือใน มชด. เมื่อออกทำการลาดตระเวน ให้เข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง และยังคงให้เรือใน มชด./1 เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือ ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ covid -19 ทางทะเล ตามเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่ จว.ตราด ให้ได้ทันที ตลอด 24 ชม. เมื่อมีการร้องขอ


ภาพ/ข่าว  เรือ ต.237-กองกิจการพลเรือนทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

สตูล - เหล่ากาชาดสตูล ส่งมอบชุดธารน้ำใจ กู้ชีวิตฝ่าวิกฤตโควิด 100 ชุด และฟ้าทะลายโจรจำนวน 3,000 แคปซูล พร้อมของใช้จำเป็น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล

วันนี้ 9 สิงหาคม 2564 ณ ท่าเรือ อาคีร่า คาร์โก้ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนาวาตรีหญิงโนสมา หลีเส็น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล สมทบ “ชุดธารน้ำใจ กู้ชีวิตฝ่าวิกฤต COVID-19” จำนวน 100 ชุด น้ำดื่ม จำนวน 100 แพ็ค ฟ้าทะลายโจรจำนวน 3,000 แคปซูล ชุดหน้ากากอนามัย สบู่ แชมพู เจลแอลกอฮอล์จำนวน 33 ชุด สเปรย์กันยุง จำนวน 15 ขวด มุ้ง จำนวน 10 หลัง ผ้าห่ม จำนวน 10 ผืน พร้อมกันนี้ นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลสนับสนุนชุดเครื่องนอนและพัดลมจำนวนหนึ่งด้วย.เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชน ผู้กักตนเองอยู่ในบ้านพัก หรือผู้กักกันในสถานกักกันโรคท้องที่ (LQ) ในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล

ทั้งนี้ หากประชาชนผู้กักตนเองอยู่ในบ้านพัก (HQ) ประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอ ถูกเลิกจ้างงาน หรือไม่มีรายได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก โรค COVID-19 มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนชุดธารน้ำใจฯ หรือความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ สามารถแจ้งทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ เพื่อพิจารณาคัดกรอง และร้องขอรับความช่วยเหลือผ่าน แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” และหากเป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ประสบความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 /ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ/ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล หมายเลขโทรศัพท์ 074 711 998, 093 583 7496 หรือ Facebook page “เหล่ากาชาดจังหวัดสตูล”

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำหรับพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ภายในวันอาทิตย์นี้ (7 ส.ค.64) จะทยอยนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งทั้งหมด และงดการท่องเที่ยว หยุดการเดินเรือ และงดการเดินทางเข้าออกเกาะหลีเป๊ะ เป็นเวลา 28 วัน (วันที่ 9 ส.ค.- 5 ก.ย.64) ส่วนเรือขนส่งสินค้าอุปโภค - บริโภค ยารักษาโรคเวชภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน เรือขนส่งขยะ จะมีพนักงานคัดกรอง ส่วนพื้นที่มีที่การแพร่ระบาดบนเกาะหลีเป๊ะทางจังหวัดสตูลมีมาตรการล็อคดาวน์เดินทางเข้าออก 14 วัน และพื้นที่อื่น ๆ ประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21:00 น ถึง 04:00 น. ขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้าน ออกนอกพื้นที่เฉพาะมีเหตุจำเป็น เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สุโขทัย - อบจ.สุโขทัย ร่วมส่งเสริมอุปกรณ์ด่านหน้าชุด Rapid Test และชุด PPE ให้สาธารณสุขสุโขทัย หวังเร่งแยกกลุ่มที่ติดเชื้อออกจากชุมชนให้ได้เร็วที่สุด

วันนี้ 9 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย พร้อมด้วย นายเขตพงศ์ กุลนาถศิริ รองนายก อบจ.สุโขทัย ผู้บริหารและบุคลากรในสังกัด อบจ.สุโขทัย ลงพื้นที่มอบชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร็ว (Rapid Antigen Test) จำนวน 2,000 ชุด และชุด PPE 1,000 ชุด ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจในขั้นต้นเพื่อคัดกรองแยกกลุ่มที่ติดเชื้อ ออกจากชุมชนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้การทำงานในการรักษาและแยกกลุ่มให้เร็วขึ้นทันท่วงที ยับยั้งการแพร่กระจายผู้ติดเชื้อ มีนายแพทย์ปองพล วรปาณิ นายแพย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย พร้อมแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย เป็นตัวแทนรับมอบ ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย

นอกจากนี้ นายกมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.และอบจ.สุโขทัย ยังให้การสนับสนุนชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 และชุด PPE แก่บุคลากรด่านหน้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีส่วนสำคัญในการป้องกันและบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดสุโขทัย เพื่อออกปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นายแพทย์ปองพล วรปาณิ นายแพย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่าทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย จะได้มีการจัดสรร ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร็ว (Rapid Antigen Test)และชุด PPE ไปยังหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัด 9 อำเภอ ในจังหวัดสุโขทัยต่อไป 


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

พิจิตร - คุณพระช่วย! พระครูยังวัดสามง่าม ยกสำนักปฏิบัติธรรมสถานที่สุดหรูให้เป็นโรงพยาบาลสนาม

นายกอบจ.พิจิตร ร่วมสนับสนุนช่วยเหลือบวรร่วมใจ บ้าน วัด ราชการ  รวมพลังต้านโควิดที่กำลังแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดพิจิตร อีกทั้งมีผู้ป่วยที่อยู่กรุงเทพฯและปริมณฑลแห่ขอกลับบ้านหาที่พักรักษาตัว ล่าสุด พระครูพินิตปัญโญภาส “พระครูยัง” เจ้าอาวาสวัดสามง่าม ยอมสละสำนักปฏิบัติธรรมที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่เอี่ยมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ให้นายอำเภอจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม 100 เตียง 

วันที่ 9 สิงหาคม 2564  พ.ต.อ. กฤษฎา  ภัทรประสิทธิ์  นายก อบจ.พิจิตร ลงพื้นที่ไปที่สำนักปฏิบัติธรรมวัดสามง่าม อ.สามง่าม โดยได้นำสิ่งของและเตียงสนามจำนวน 50 เตียง ไปมอบให้กับ นายสุภโชค ศิลปคุณ / นายอำเภอสามง่าม ที่กำลังจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 โดยใช้สำนักปฏิบัติธรรม ซึ่งจัดสร้างขึ้นโดย พระครูพินิตปัญโญภาส “พระครูยัง” เจ้าอาวาสวัดสามง่าม ที่มีวัตถุประสงค์จะใช้คารสถานที่แห่งนี้เป็นที่ปฏิบัติธรรมสอนวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสร้างอยู่บนพื้นที่ 11 ไร่  มีอาคารและภูมิทัศน์ที่สวยงามมีพระประธานองค์ใหญ่ มีศาลาปฏิบัติธรรม มีอาคารที่เป็นที่พักของญาติโยมอีก 30 หลัง (ซึ่งจะยกให้ใช้เป็นอาคารที่พักของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน) รวมมูลค่าสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 50 ล้านบาท

โดย “พระครูยัง” เจ้าอาวาสวัดสามง่าม ที่เป็นพระนักปฏิบัติสละกิเลสไม่ยึดติดกับวัตถุเพราะของทุกสิ่งในวัดที่มีและได้มาล้วนเป็นสิ่งของที่ได้มาจากเงินบริจาคของญาติโยมทั้งสิ้นในเมื่อช่วงนี้บ้านเมืองวิกฤตญาติโยมมีภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดท่าน จึงยินดี ยินยอมยกสละอาคารสถานที่แห่งนี้ให้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3  ของอำเภอสามง่ามเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้เป็นจุดพักคอยหรือที่พักรักษาตัวของผู้ที่ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลสนามที่สวยหรูที่สุดในจังหวัดพิจิตรก็ว่าได้ เนื่องจากภายในอาคารศาลาการเปรียญมีพระประธานให้ผู้ป่วยได้กราบไหว้เข้าถึงรสพระธรรม ภายในอาคารสูงโปร่งโล่งสบายประดับประดาอย่างสวยงามเนื่องจากตั้งอยู่ริมถนนแวดล้อมไปด้วยทุ่งนา ในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกก็มีห้องน้ำ / ห้องสุขา จำนวนมากกว่า 20 ห้อง อีกด้วย

ในส่วนของ นายสุภโชค ศิลปคุณ นายอำเภอสามง่าม กล่าวว่า ขณะนี้ อ.สามง่ามมีโรงพยาบาลสนาม รวม 3 แห่ง มีจำนวน 200 เตียง ซึ่งมั่นใจว่าจะพอเพียงแก่การให้บริการประชาชน อีกทั้งยังมีศูนย์พักคอยตามตำบลต่าง ๆ รองรับอีกหลายแห่งอีกด้วย

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมจังหวัดพิจิตรเมื่อวานที่ผ่านมา (8 ส.ค.64) มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ70 ราย มีผู้ป่วยสะสม (ระลอกเมษายน 64)รวม 1,958 ราย มีผู้รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 973 ราย 


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

เชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ MOU ร่วมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ ปลูกกัญชงอินทรีย์-สร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดเชิงพาณิชย์-บันทึกข้อมูลระบบ Cloud เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ (Northern organic Hemp: NOH) ซึ่งประกอบไปด้วยวิสาหกิจชุมชนจากจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน จำนวน 16  วิสาหกิจชุมชน ในโครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud 

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุชาติ  อินต๊ะเขียว ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ เป็นผู้แทนลงนามทั้งสองฝ่าย โอกาสนี้ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ ดร.ธนสาร  ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจ (ผ่านระบบออนไลน์) แก่เกษตรกรในเครือข่ายที่ได้ร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารของทางสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยายาน ณ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

โครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud  เป็นโครงการที่ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขอรับอนุญาตผลิต (ปลูก)กัญชง ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงและนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์  โดยร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในเกษตรกรเพาะปลูกกัญชงระบบเกษตรอินทรีย์  ร่วมกันทดลองสายพันธุ์กัญชงที่มีเสถียรภาพ ผลผลิตต่อไร่สูง ให้สารสำคัญ CBD สูง มี THC ต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคเหนือ และยังดำเนินการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลการปลูกกัญชงอินทรีย์ทั้งกระบวนการ แล้วจัดเก็บฐานข้อมูลในระบบคลาวด์ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานและเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร และประชาชนที่สนใจต่อไปในอนาคต  

ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงานและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและมอบหมายให้ผู้แทนของแต่ละฝ่ายได้ตกลงกันในรายละเอียดภายใต้วัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ หน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนด โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี


ภาพ/ข่าว  วิภาดา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top