Thursday, 15 May 2025
Region

เชียงราย – วอนเร่งรัดกระบวนให้สัญชาติผู้เฒ่า เสียชีวิตก่อนได้บัตรประชาชนแล้ว 2 “ครูแดง” เผยอยู่ไทยมานานกว่า 40 ปี สร้างคุณประโยชน์มากมาย ยุคโควิดยิ่งลำบากไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีแปลงสัญชาติชนกลุ่มน้อย ผู้สูงอายุชาติพันธุ์อาข่า บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการของกรมการปกครองแล้ว จำนวน 15 ราย และได้ส่งรายชื่อไปยังคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณา และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ.2508 ระบุว่าเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต 

นางเตือนใจกล่าวว่า ผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวน 15 รายนี้ อยู่ในกลุ่มที่มีการยื่นคำร้องเป็นกรณีศึกษาชุดแรก จำนวน 23 ราย ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามหนังสือสั่งการที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายฉัตรชัย พรมเลิศ) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อย โดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 

“สำหรับความคืบหน้าในครั้งนี้ ถือว่ามาไกล นับตั้งแต่มีการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งมีความละเอียดและขั้นตอนที่ซับซ้อน ใช้เวลายาวนาน ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี กลมกลืนกับสังคมไทย และมีลูกหลานเป็นคนสัญชาติไทย ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ได้ทำคุณประโยชน์ ใช้ภูมิปัญญาในการรักษาป่าต้นน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูและปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 5,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พศ.2538 จนเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติที่สำนักทะเบียนอำเภอ  และส่งเข้าสู่คณะกรรมการระดับจังหวัด ในกลุ่มนี้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้ว  2 ราย และบางรายกำลังป่วยหนัก หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับงานแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตามที่อธิบดีกรมการปกครอง (นายธนาคม จงจิระ) กำหนดเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายหลัก จะต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบ พัฒนากลไก บุคคลากร และทรัพยากร ของสำนักทะเบียนจากระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับกรม เพื่อให้คำมั่นทั้ง 7 ข้อในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ผู้แทนรัฐไทยได้แถลงในที่ประชุมผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ณ นครเจนีวา ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2562 บรรลุเป้าหมายได้จริง โดยเฉพาะข้อ 5 การแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด” นางเตือนใจ กล่าว

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า สำหรับผู้เฒ่าไร้สัญชาติ การล่าช้าหมายถึงเวลาในชีวิตที่หมดไปทุกวัน เสียโอกาสในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยเยียวยาใดๆ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นบุพการีของคนสัญชาติไทย โดยข้อมูลของกรมการปกครองระบุว่ามีจำนวนผู้เฒ่าไร้สัญชาติมากถึง 77,000 กว่ารายทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ หนังสือสั่งการของปลัดกระทรวงมหาดไทยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งว่า สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดี ให้ยกเว้นการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมือง ฯลฯ โดยใช้การสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือไม่น้อยกว่า 3 คน คุณสมบัติเรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตท้องที่ เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ และยกเว้นเกณฑ์รายได้  คุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทย ให้พิจารณาการใช้ภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา และว่าการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาด้านสัญชาติให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐและห้ามมิให้มีการแสวงหาหรือเรียกรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใด ๆ 

นายอาทู่ เบียงแลกู่ อายุ 72 ปี และนางพิซุง เบียงแลกู่ อายุ 73 ปีคู่สามีภรรยา กล่าวว่าพวกตนอยู่ประเทศไทยมา 45 ปี แต่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่อยากได้เพราะต้องการสิทธิในการรักษาพยาบาล เพราะหากไม่มีบัตรต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง “ไม่รู้หรอกว่าหากได้บัตรประชาชนแล้วจะได้สวัสดิการอะไรบ้าง ไม่รู้ด้วยว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี เพราะไม่เคยป่วย แต่อยากได้บัตรประชาชนไทย เพราะเป็นความภูมิใจในชีวิตที่อยู่บนแผ่นดินไทยมายาวนาน และจะได้นอนตายตาหลับ” พ่อเฒ่าแม่เฒ่าไร้สัญชาติ กล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิพชภ. ได้รับการร้องเรียนและติดตามปัญหาของชาวบ้านบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะบนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่ามีผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กำลังประสบความยากลำบากในชีวิตเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 40-50 ปี บางส่วนเกิดในไทยแต่ขาดหลักฐานเอกสารยืนยัน บางส่วนไม่ได้เกิดในไทยแต่อยู่มานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พชภ.ได้พาผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้เดินทางมายื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่พบว่ามีข้อติดขัดหลายประการ โดยเฉพาะกระบวนการที่ซับซ้อน ทำให้เรื่องการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่ากลุ่มนี้ยืดเยื้อมานาน อย่างกรณีของบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง บนดอยแม่สลอง ซึ่งมีคนเฒ่าไร้สัญชาติ ยื่นคำร้องจำนวน 27 ราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่อายุ 65-98 ปี แต่กระบวนการที่ล่าช้า ทำให้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้วในระหว่างรอจำนวน 3-4 ราย

ลำปาง - ครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ลำปาง เร่งพิจารณาจัดหาผู้แทนในส่วนภาครัฐ (คพรฟ.)เนื่องจากไม่ได้รับเงินเดือนมากว่า 11 เดือนแล้ว!!

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดย น.ส.ปวีณา เนียมประยูร ประธานครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ  พร้อมพวกจำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากรผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อขอความอนุเคราะห์เร่งพิจารณาจัดหาผู้แทนในส่วนภาครัฐ (คพรฟ.)เนื่องผู้ว่าฯลำปางติดราชการจึงมอบหมายให้ นายจำลักษ์  กันเพ็ชร์ และนายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าฯลำปาง และนางศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง มารับหนังสือแทน

ตามที่ได้รับหนังสือตอบรับการขอติดตามและเร่งรัดการดำเนินการอนุมัติการจัดสรรและสนับสนุนงบประมาณตามโครงการครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง จากสำนักงานจังหวัดลำปาง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนของการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือผู้แทนในส่วนของภาครัฐแล้ว ผลปรากฎว่ามีผู้แทนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ขาดคุณสมบัติ ตามที่ กกพ.ได้กำหนดไว้ จำนวน 2 คน จาก 6 คน ซึ่งอาจจะต้องมีการคัดเลือกจัดหาผู้แทนใหม่อีกครั้ง ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลให้เกิดความสาข้าต่อการพิจารณาอนุบัติโครงการดังกล่าวตามขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบที่ กกพ. ได้ตั้งไว้จนสิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย. 2564 โดยจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของครูอัตราจ้าง จำนวนทั้งสิ้น 52 อัตรา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนที่สังกัดและรอผลอนุมัติโครงการดังกล่าวเพื่อรับค่าตอบแทนที่ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาถึง 10 เดือน

ดังนั้น ในนามตัวแทนของครูอัตราจ้างตามโครงการครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ จึงขอความอนุเคราะห์ ได้ดำเนินการเร่งพิจารณาการคัดเลือกจัดหาผู้แทนในส่วนของภาครัฐที่มี คุณสมบัติครบตรงตามเกณฑ์หรือระเบียบตามที่ กกพ. กำหนด เพื่อจะได้เร่งดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอน หลักเกณฑ์วิธีการและระเบียบของกองทุนฯ ในการอนุมัติโครงการโดยเร็ว และเพื่อให้ทันต่อการอนุมัติจัดสรรโครงการก่อนสิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย.2564 นี้

ทางคณะครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมายื่นหนังสือเรียกร้องเมื่อเดือน ก.ค. 2564 จำนวน 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าและในเดือน ก.ย. 2564 นี้ ก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว ครูอัตราจ้างจาก 20 โรงเรียน จำนว 52 คน และ สาธารณสุขอีก 36 คนไม่ได้รับเงินมากว่า 11 เดือนแล้ว รวมเงินกว่า 9 ล้านบาท จึงขอความเห็นใจท่านผู้ว่าฯลำปาง ทุกคนต้องกินต้องใช้ มีภาระค่าใช้จ่ายเหมือนกันหมด

ทางด้านนายศรัณยู หลังได้รับหนังสือดังกล่าวรับปาก พร้อมกับรับจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะพากันเดินทางกลับ


ภาพ/ข่าว  วินัย / ลำปาง  รายงาน

 

ระยอง - ประมงจังหวัดระยอง มอบพันธุ์ปลาตะเพียน จำนวน 250,000 ตัว ให้ อปท. ปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 ที่ห้องโถงชั้น 1(มุขหน้า) ศาลากลางจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในการกิจกรรมมอบพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ตะเพียนทอง จำนวน 250,000 ตัว ให้แก่นายฉลาด มีลาภ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชากโดน อ.แกลง มีนายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง นายพิสัณห์ เนื่องจำนงค์ คลังจังหวัดระยอง นายพิศ นันทพูลพิพัฒน์ พัฒนาการจังหวัดระยอง และนายกุมพล ชวนชม ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง ร่วมกิจกรรมฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ จำนวน 7 แหล่งน้ำในพื้นที่

นายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง กล่าวว่า กิจกรรมมอบพันธุ์ปลาดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 นี้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

สุโขทัย – คณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัย ช่วยเหลือบุคลากรและประชาชน ที่ได้ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 ส.ค.64 พระมหากายสิทธิ์ สิทธาภิภู รองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย เจ้าอาวาสวัดบึงครอบศรัทธาราม พร้อมด้วยคณะสงฆ์อำเภอทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย โดยพระมหาสุธีร์ อิสฺสโร เจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม พระครูชัยรัตนบรรพต รองเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม คณะกรรมการกลุ่มงานสาธารณะสงเคราะห์อำเภอทุ่งเสลี่ยม กองงานเลขานุการเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม ได้เดินทางไปมอบอาหาร น้ำดื่ม ให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม และศูนย์พักคอยตำบลกลางดง วัดเชิงผา และศูนย์พักคอยตำบลทุ่งเสลี่ยม วัดป่าเด่นดีหมี

ด้านพระมหาสุธีร์ อิสฺสโร เจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม กล่าวว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ในขณะนี้ทางคณะสงฆ์สุโขทัย โดยพระมหากายสิทธิ์ สิทธาภิภู รองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้นำอาหาร น้ำดื่ม มามอบให้กับทางโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม และศูนย์พักคอยตำบลกลางดง วัดเชิงผา และศูนย์พักคอยตำบลทุ่งเสลี่ยม วัดป่าเด่นดีหมีเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่คุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง บุคลากรด่านหน้า และเจ้าหน้าที่กู้ภัยทุกท่าน ที่ทุ่มเทการทำงานให้กับประชาชน และผู้ป่วย และผู้กักตัวในพื้นที่และที่เดินทางกลับมารักษาตัวยังพื้นที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้

 

ชลบุรี – คนพัทยานับพันชีวิต นำลอตเตอรี่เก่าเข้าร่วมโครงการแจกข้าวสาร 1,999 ถุง แน่นแหลมบาลีฮาย

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 9 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่เทศกิจเมืองพัทยาได้ปฏิบัติงานดูแลและอำนวยความสะดวก พร้อมควบคุมมาตรการดูแลและป้องกันโรคติดต่อให้กับประชาชนเมืองพัทยานับพันคนที่ทยอยเดินทางมาร่วมโครงการแจกข้าวสาร 1,999 ถุง ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหามหาราชินี ประจำปี 2564

โครงการแจกข้าวสาร 1,999 ถุง ถวายเป็นพระราชกุศลฯ เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ภาคเอกชน โดย MTC หรือ บจก. Moji Tree Connection และ บจก.โคลเวอร์ โกลฟว์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ Clover Kit ได้ร่วมกันแสดงออกเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยมี พ.ต.ท.สมบูรณ์ เอื้อสมานไมตรี สว.ส.ทท.4 กก.2 บก.ทท.1 นำคณะจิตอาสา ช่วยกันแจกจ่ายข้าวสารและสิ่งของบริจาคให้กับประชาชน ในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากนายวัฒนา จันทนวรานนท์ ที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา พร้อมครอบครัวได้นำอาหารชุดและข้าวสารอาหารแห้งมาร่วมช่วยเหลือประชาชนกว่า 800 รายการด้วย

นายจิรวุฒิ พงพินิท กรรมการผู้จัดการ MTC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้ได้ร่วมกับนายก้องภพ กันตถาวร เจ้าของ Clover Kit และนายเอกปัญญา หอมตระกูลขจร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บจก.โคลเวอร์ โกลฟว์ ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากได้รับแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลเก่าที่ประชาชนนำมาแลกข้าวสารแล้ว จะได้นำไปจัดทำเป็นดอกไม้จันทน์และพวงหรีดมอบให้กับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ตามความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ทุเลาเบาบาง ทาง MTC ได้มีแนวคิดในการช่วยเหลือสังคมแบ่งเบาภาระของบุคคลากรทางการแพทย์ ด้วนการจัดกิจกรรมรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Clover Kit ให้กับประชาชนที่มีความประสงคจำนวน 1,000 ราย และจะได้ร่วมกับสมาคมนักข่าวพัทยาในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กลุ่มสมาชิกนักข่าวที่ออกปฏิบัติงานด่านหน้าในเร็ว ๆ นี้ด้วยเช่นกัน


ภาพ/ข่าว  อนันต์ สุขวัฒนะ / เอกชัย สุขวัฒนะ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค พัทยา จ.ชลบุรี

จันทบุรี - ประชุมระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการในการรองรับผลผลิตทางการเกษตร ป้องกันแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ

วันนี้ ( 10 ส.ค.64 ) ที่ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานการประชุม ระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการในการรองรับผลผลิตทางการเกษตร ป้องกันแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจันทบุรีเชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นตามข้อเสนอของ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ.จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้เขตร้อนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศสร้างมูลค่าและรายได้แก่ประชาชนจำนวนมาก

การผลิตผลไม้คุณภาพของเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ แต่บางครั้งในช่วงฤดูการผลิตผลไม้มีมากว่าความต้องการของตลาด และข้อจำกัดในการขนส่งสินค้า รวมทั้งกลไกการตลาดเสรี จึงอาจส่งผลให้ผลไม้ราคาตกต่ำ ทางจังหวัดจึงได้มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการวางแผนการบริหารตัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ก่อนสรุปเป็นแผนเพื่อป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ 

  


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

ฉะเชิงเทรา - เปิดบรรยากาศ Bubble and seal โรงพยาบาลสนามภายในโรงงานไทยแอร์โรว์

จากการที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรามีนโยบายโครงการตำบลเข้มแข็ง เพื่อเอ็กซเรย์ทุกตำบล หากมีผู้ติดเชื้อต้องรีบรักษา และผู้เสี่ยงสูงต้องมีสถานที่กักตัว และตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในพื้นที่

ทั้งนี้ วันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผวจ.ฉะเชิงเทรา ได้มอบหมายให้ นายไพโรจน์ ปลื้มจันทร์ ปลัดอำเภอบางคล้า พร้อมด้วย นายวันชัย เกาะสูงเนิน อุตสาหกรรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ดูโรงงานไทยแอร์โรว์ ซึ่งถูกสั่งปิดโรงงานเป็นเวลา 14 วัน หลังพบว่าพนักงงานติดเชื้อกว่า 700 คน  เมื่อปลายเดือน กค. ที่ผ่านมา และทางโรงงานฯ ได้ทำแผนเสนอขอเปิดโรงงานฯ เมื่อวันที่ 5 ส.ค 2564 เนื่องจากทางโรงงานฯ มีการทำ Bubble and seal พื้นที่เรียบร้อยแล้ว

โรงงานไทยแอร์โรว์เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ที่เขต อ.บางคล้า เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่คู่แปดริ้ว มานานกว่า 30 ปี มีพนักงานประมาณ 4,200 คน ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ เจ้าของโรงงานเป็นชาวญี่ปุ่น ภายในบริเวณโรงงานมีอาคารถึง 4 โรง ตามแผนที่โรงงานฯ เสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขอเปิดโรงงานนั้น ระบุว่าจะขอใช้พนักงานทำงานเพียง 1,050 คน ทางโรงงาน ได้ปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งนำตู้คอนเทนเนอร์ มาจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน มีเตียงสนามประมาณ 300 เตียง และกันพื้นที่เป็นอาคาร สำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง กักตัว อย่างปลอดภัย และหากพบว่าครอบครัวติดเชื้อก็สามารถนำครอบครัวมาพักได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังทีมแพทย์และพยาบาลประจำโรงงาน ให้คำแนะนำในการรักษาตลอด 24 ชม. อีกด้วย

น.ส ณัฐธิดา วาศโสภา พยาบาลประจำโรงงานกล่าวว่า มีแพทย์และพยาบาลเวร 15 คนเข้าเวรตลอด 24 ชม. เพื่อดูแลผู้ป่วย และให้คำแนะนำจนกว่าจะรักษาหายเป็นปกติ ทางด้าน นพ.ธนู นพโสภณ หัวหน้ากลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธโสธร ได้กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้มาตรฐานเป็นต้นแบบที่ดีให้โรงงานอื่น ได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา โรงงานไทยแอร์โรว์ถูกสังคมมองด้วยความไม่มั่นใจ แต่เมื่อเข้ามาดูการจัดทำ Bubble and seal แล้ว ขอชื่นชม และน่าจะเป็นต้นแบบที่ดีให้โรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เมื่อพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แล้วต้องเตรียมความพร้อมในการจัดสร้างโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัวที่ได้มาตรฐานแบบไทยแอร์โรว์ วันนี้ชาวแปดริ้ว ทุกคนจับตามองคลัสเตอร์โรงงานต่าง ๆ เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์อุตสาหกรรมถึง 4 แห่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ประมาณ 2,000 แห่ง จำนวนผู้ติดเชื้อหลัก ๆ มาจากคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม

นโยบายของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้วางกรอบให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดทำแผน 4 แผน คือ แผนคน คือให้ความรู้พนักงานในการป้องกันตัวเอง แผนองค์กร ปรับสภาพโรงงานให้เหมาะสม รักษาระยะห่าง มีเจล แอลกอฮอล์ และที่วัดอุณหภูมิ แผนการขนย้ายพนักงาน ต้องชัดเจนว่า ระหว่างที่ทำงานถึงบ้านพัก ต้องปลอดภัย และเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ต้องมีแผนเผชิญเหตุ โดยเฉพาะการทำ Bubble and seal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และสร้างความมั่นใจให้ชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ผู้สื่อข่าวภูมิภาคฉะเชิงเทรา

ปทุมธานี - อบจ.ปทุมธานี จับมือกรมชล ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมถนนคอนกรีตเพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 เวลา 08:30 น. ที่คลองระบายน้ำลาดผักขวง ต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี , นายสุริยา ธรรมธารา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เขต 1หนองเสือปทุมธานี , นายอนันต์ รุ่งแสง นายก อบต.ศาลาครุ ได้ตรวจดูการดำเนินงานของ กรมชลประทาน ที่ได้ดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำลาดผักขวง ระยะทาง 4 กิโลเมตร พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำช่วงหน้าฝน และให้เกษตรกรกว่า 10,000 ไร่ได้ใช้ประโยชน์

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ต้องขอบคุณกรมชลประทานที่ได้งบประมานมาขุดลอกคลอง โดยได้จัดสรรจากจังหวัดปทุมธานี เป็นจำนวนเงินล้านกว่าบาท เพื่อขุดลอกคลองระยะทาง 4 กิโลเมตร คาดว่าใช้ระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน หลังจากที่เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว จะต้องมีการดูแลรักษาเพื่อไม่ให้วัชพืชขึ้นเต็มคลองอย่างที่เคยเป็นมา จะต้องไม่ให้มีขึ้นอีก ขอบคุณกรมชลประทานจริง ๆ ที่เห็นความสำคัญของพี่น้องชาวเกษตรกรในการใช้น้ำ เมื่อดำเนินการพัฒนาคลองดีแล้วก็จะทำถนนเลียบคลองจากบริเวณประตูทางระบายน้ำ นี้ไปออกเส้นทางคลองสิบสี่หลังวัดปทุมนายก เป็นการย่นระยะทางการสัญจรของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง เมื่อกรมชลประทานมีงบประมานมาทำถนน เลียบคลองทั้งสองฝั่ง ซึ่งก็พอจะทราบในการจัดสรรงบของกรมชลประทาน เป็นถนนลูกรัง ทาง อบจ.ก็จะสามารถสนับสนุนใช้งบประมานสร้างถนนคอนกรีต เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด

นายสมบูรณ์ เจิมไทย วิศวกรชลประทานชำนาญการ กรมชลประทาน กล่าวว่า คลองแห่งนี้เป็นคลองที่เชื่อมระวังคลองสิบสามและคลองสิบสี่ ในการดำเนินลอกคูคลองครั้งนี้มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำถึง 10,000 ไร่ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการระบายน้ำ ซึ่งโครงการระยะยาวจะมีการสร้างประตูระบายน้ำและขยายคลอง อาจจะมีการสร้างถนนเลียบตลอดทั้งคลอง โดยได้รับการประสานทางจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ในการเสริมคอนกรีตถนน เป็นเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมชลประทานและ อบจ.ปทุมธานี


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

กาฬสินธุ์ – นำจิตอาสาร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน ทำความดี ด้วยหัวใจ ร่วมกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านโจด หมู่ที่ 10 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์ นำจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล ของนางอุไลย์ ทบวัน  ซึ่งเป็นไปตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ 'โคก หนอง นา โมเดล'

โดยจิตอาสาพระราชทานได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคม ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานนี้ มาจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี เพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการเกื้อกูลแบ่ง อันเป็นวัฒนธรรมอันที่ทรงคุณค่าและดีงามของประเทศไทย โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.เรืองพงษ์ วงศรีสุข รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายสัมฤทธิ์ กิตติโชติสุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้รอบแปลงศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบฯ พร้อมทั้งได้ร่วมกันปล่อยปลาตะเพียนจำนวน 30,000 ตัว และเยี่ยมชมแปลงสาธิต โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งมีพื้นที่ 15 ไร่ ได้ทำการปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา พร้อมทั้งเตรียมเพาะปลูกพืชบนคันนา เป็นคันนาทองคำ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และเยี่ยมชมแปลงเพาะต้นกล้าสมุนไพร ประกอบด้วย  ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ว่านไฟ และพืชผักสวนครัว ทั้งนี้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล บ้านโจด มีประชาชน ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และสอบถามเกี่ยวกับการทำโคก หนอง นา โมเดล อย่างต่อเนื่อง


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

พังงา - รมช.มหาดไทย 'นิพนธ์ บุญญามณี' เดินสายตรวจความพร้อมการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเตรยมรับการท่องเที่ยว

ที่บริเวณด่านหน้า รพ.สต.บ้านเตรียม อ.คุระบุรี จังหวัดพังงา 'นายนิพนธ์ บุญญามณี' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางจากจังหวัดระนอง เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ด่านตรวจป้องกันโควิด-19 จังหวัดพังงา ฝั่งรอยต่อจังหวัดระนอง ก่อนมอบ เสื้อกั๊ก “บำบัดทุก บำรุงสุข” ให้กับ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เนื่องในวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเดินทางต่อไป จ.กระบี่

โดยพบว่า จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดต้น ๆ ของประเทศไทย ที่สามารถบริหารจัดการ และรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และถือเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม ในการนำร่องเปิดโมเดลอันดามันแซนด์บ๊อก ต่อจากภูเก็ตแซนด์บ๊อก ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ควบคู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดพังงา พบว่า ในระลอกแรก พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ระลอกที่2 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนระลอก3 ข้อมูลล่าสุดพบ 806 ราย โดยจังหวัดพังงายังคงใช้มาตรการ SEAL พื้นที่ชุมชนที่เกิดการระบาด SCAN ตรวจหาผู้ป่วย และ CLEAN พร้อมกับมาตรการ รักษา เยียวยา ฟื้นฟูผู้ติดเชื้อ

ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการฉีดวัคซีน คาดว่าในช่วยปลายปี จะครบตามจำนวนที่วางแผนเอาไว้


ภาพ/ข่าว  อโนทัย​ งานดี / พังงา​


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top