Thursday, 15 May 2025
Region

เชียงใหม่ - พิธีทำบุญครบรอบ 49 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ มช. พร้อมจัดพิธีมอบโล่รางวัลอาจารย์และบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2564

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2564 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 49 ปี และ วาระปีที่ 61 การศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นประธาน ภายในพิธีได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ มาประกอบพิธีทางศาสนา หลังจากนั้นได้จัดพิธีมอบโล่รางวัลอาจารย์และบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2564

ประกอบด้วย อาจารย์ดีเด่น ด้านการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ ผศ.ดร.คัทลียา ศิริภัทรากูร แสนหลวง ด้านการวิจัย/นวัตกรรมทางการพยาบาล ได้แก่ ผศ.ดร.วันเพ็ญ  ทรงคำ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ได้แก่ ผศ.ดร.วรันธร จงรุ่งโรจน์สกุล ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ ผศ.ดร.โรจนี จินตนาวัฒน์ บุคลากรดีเด่น สายปฏิบัติการ ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนากรณ์ ทำการดี สายบริการ ได้แก่ คุณสายทอง บุญเรือง และ ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ คุณรัชนี ทีปกากร รางวัลดังกล่าวมอบเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและประกาศเชิดชูคุณงามความดีให้เป็นเกียรติประวัติสืบไป

นอกจากนี้ได้มอบเข็มที่ระลึกแด่ผู้ที่ปฏิบัติงานในคณะฯ ครบ 30 ปี ได้แก่ ผศ.ดร.ฐิติณัฎฐ์  อัคคะเดชอนันต์  รศ.ดร.ประทุม สร้อยวงค์ อ.ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา และ คุณสังวาลย์ บุญมา ตลอดจนได้มอบกระเช้าดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีแด่ อ.ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา รับรางวัลบุคคลที่ดำเนินการดีเด่นด้านการป้องกันควบคุม การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประจำปี 2564 จาก สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย ประเภทบูรณาการทั่วไป จากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2562 คุณสายทอง คำป้อ รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2563 (ครุฑทองคำ) ประเภทลูกจ้างประจำ และ ศ.ดร.นงเยาว์ เกษตร์ภิบาล ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งฯ เป็น ศาสตราจารย์ ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร 4 คณะพยาบาลศาสตร์ โดยมีการถ่ายทอดสดให้ได้รับชมผ่านทาง Nurse CMU Youtube การดำเนินงานจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามประกาศของจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19


ภาพ/ข่าว  วิภาดา / เชียงใหม่

ปทุมธานี - ‘บิ๊กแจ๊ส’ วิสัยทัศน์ผู้นำ จับมือกรมชลเร่งขุดคลองเตรียมรับน้ำเหนือ ป้องกันน้ำท่วมปทุมฯ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เวลา 09:00 น. ที่บริเวณหน้าวัดนพรัตน์ คลองสิบสอง ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี , นายเสวก ประเสริฐสุข รอง นายกอบจ.ปทุมธานี , พร้อมด้วยนายสุริยา ธรรมธารา , นายสมบัติ วงศ์กวน สจ.เขตอำเภอหนองเสือ และ นายเฉลิมพงษ์ รังสิวัฒศักดิ์ สจ. เขตอำเภอธัญญบุรี พร้อมทีมงานลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ที่ได้ดำเนินการนำเรือโป๊ะรถแบคโฮจำนวน 5 โป๊ะ เพื่อดำเนินการขุดลอกและกำจัดวัชพืชที่คลองระบายน้ำที่สิบสอง ระยะทาง 22 กิโลเมตรที่มีวัชพืชผักตบชวาขึ้นหนาแน่นขวางทางน้ำและลำคลองก็ตื้นเขิน โดยระดมกำลังช่วยกันเร่งขุดลอกเตรียมการล่วงหน้ารองรับน้ำเหนือที่กำลังไหลบ่าลงมาเพื่อป้องกันอุทกภัยในปีนี้

โดย นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ , นายสมบูรณ์ เจิมไทย วิศกรชลประทานชำนาญการ , นายถนัดกิจ ทรัพย์ประทุม นายช่างชลประทาน และเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน หลังจากที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมได้ประสานไปที่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนปทุมธานีจึงได้เริ่มโครงการดำเนินการขุดลอกคลองชื่อ คลองน้ำใน ตำบลศาลาครุ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงได้ย้ายเรือโป๊ะรถแบคโฮมาที่คลองระบายน้ำที่คลองสิบสองต่อ เพื่อขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืชเพื่อให้น้ำไหลได้ดีเพื่อเป็นการรองรับปริมาณน้ำช่วงหน้าฝนนี้

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ขอบคุณท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากที่เราได้ประสานงานไป ท่านได้ส่งทีมงานกรมชลประทาน นำโดย นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ร่วมถึงทีมงานกรมชลประทานทั้งหมดลงมาร่วมพร้อมเครื่องมือลงมาทำงานที่คลองน้ำใน เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง 3 จังหวัด ประกอบด้วย นครนายก สระบุรีและปทุมธานี ได้ดำเนินการขุดลอกคลองกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะต้นไมยราบยักษ์ที่ขึ้นกลางคลองระยะกว่า 4 กิโลเมตรได้ดำเนินกำจัดหมดแล้วทำให้น้ำไหลได้สะดวก จากนั้นก็ได้จ้างเอกชนนำเรือโป๊ะรถแบคโฮ มาลงที่คลองสิบสอง จำนวน 5 โป๊ะ โดยขุดคอกคลองและกำจัดวัชพืชตลอดคลองสิบสองระยะทางตั้งแต่คลองระพีพัฒน์จนถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ระยะทาง 22 กิโลเมตร เมื่อเครื่องมือลงมาแล้วผมคาดว่าไม่เกิน 10 วันคลองสิบสองจะไม่มีวัชพืชขึ้นกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมรับน้ำเหนือที่จะมาถึง

ซึ่งคาดว่าทุกคลองในเขตพื้นที่อำเภอหนองเสือ รวมถึงอำเภอธัญบุรี คลองสิบสองมีความสำคัญมากเพราะเป็นที่ดินดอนสุงหากน้ำเดินทางไม่สะดวกจะส่งผลให้การไหลของน้ำล่าช้าและอาจจะล้นตลิ่งได้เมื่อไม่มีวัคพืชและลำคลองไม่ตื้นเขินน้ำจะไหลสะดวก เป็นการป้องกันอุทกภัยต้องขอบคุณทางกรมชลประทานและทีมงานที่ช่วยเหลือพี่น้องชาวปทุมธานีในครั้งนี้ นอกจากเป็นการรับมือไม่ให้เกิดอุทกภัยแล้ว ก็ยังจะเป็นลำคลองที่มีน้ำไว้ให้เกษตรได้เอาใช้ จะไม่ขาดน้ำในหน้าแล้งแล้ว


ภาพ/ข่าว  ประภาพรรณ ขาวขำ / รายงาน

จันทบุรี - ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี มอบยาฟ้าทะลายโจร แก่จังหวัดจันทบุรี เพื่อนำไปบรรเทา ยับยั้ง รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัด

วันนี้ ( 16 ส.ค.64 ) ที่ห้องรับรองชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายฤหัส ไชยศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีนำรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรีรับมอบสิ่งของบริจาค จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้วิจัย และผลิตเพื่อเป็นสมุนไพรทางเลือกในการป้องกัน รักษาผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่รักษาตัวในจังหวัดจันทบุรี โดยครั้งนี้เป็นการส่งมอบ ยาสมุนไพรฟ้าทลายโจรจำนวน 1,780 แคปซูล มี ดร.จตุพร อรุณกมลศรี รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี นำคณะ  


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี

พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

ลำปาง - ผู้ว่าหมูป่า นำทีมตรวจสถานประกอบการโรงงาน ย้ำมาตรการเข้มป้องกันโรค COVID-19

จังหวัดลำปาง บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจสถานประกอบการโรงงานที่มีการว่าจ้างกลุ่มแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ เน้นย้ำมาตรการปฏิบัติเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 "COVID-19" เนื่องด้วยในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 "COVID-19" ซึ่งปรากฏพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเขตพื้นที่จังหวัดลำปางก็ได้มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมาก มีทั้งผู้ป่วยที่ตรวจพบการติดเชื้อภายในเขตพื้นที่จังหวัด และผู้ป่วยติดเชื้อที่ได้รับตัวมารักษาตามโครงการ "รับคนลำปางกลับบ้าน" เพื่อจะลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อรวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคในกลุ่มพี่น้องประชาชน  ที่มีความเสี่ยงอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่

ล่าสุด นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง รวมถึงทีมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากสำนักงานอุสาหกรรมจังหวัด จัดหางานจังหวัด แรงงานจังหวัด ประกันสังคม และหน่วยงานท้องถิ่นอำเภอ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ทำการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการโรงงานภาคเอกชน ในเขตพื้นที่อำเภอห้างฉัตร โดยได้เข้าทำการตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตอาหารกระป๋องของ บริษัท มาเจสติคอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ในเขตท้องที่ตำบลหนองหล่ม ซึ่งเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่ได้มีการว่าจ้างแรงงานไว้ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติรวมจำนวนทั้งหมดกว่า 660 คน

โดยจากการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ บริษัท มาเจสติคอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ได้ร่วมกันให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค COVID-19 ภายในสถานที่โรงงาน ซึ่งได้มีการวางมาตรการไว้อย่างรัดกุม และได้กำหนดเป็นข้อบังคับให้พนักงานแรงงานทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย 100%, มีการจัดตั้งจุดตรวจตามประตูโรงงานทุกโรง เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทำการคัดกรองบุคคลก่อนเข้าพื้นที่ ตลอดจนให้มีการตรวจคัดกรองซ้ำกับพนักงานแรงงานทุกคนก่อนการเข้าปฏิบัติงาน รวมถึงให้มีการติดตั้งเจลล้างมือแอลกอฮอล์ไว้ตามจุดสำคัญ ๆ ให้ครอบคลุมทั่วบริเวณพื้นที่โรงงาน

นอกจากนี้ได้มีการนำมาตรการ Bubble and Seal และมาตรการรักษาระยะห่างมาใช้ มีการแบ่งกลุ่มพนักงานเพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าทำงาน มีการจำกัดการเคลื่อนย้ายของแรงงานโดยให้แรงงานบางส่วนที่สามารถพักแรมได้ พักค้างอยู่ที่โรงงาน ส่วนแรงงานที่เดินทางไปกลับ ให้มีการควบคุมการเดินทางไปมาระหว่างโรงงานกับสถานที่พัก รวมถึงให้มีการจดบันทึกติดตามการเดินทางด้วยแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน เพื่อจะได้เป็นประวัติยืนยันสถานที่ที่ไปถึง ตลอดจนทางบริษัท มาเจสติคฯ ยังได้มีการจัดเตรียมมาตรการเสริมจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุด PPE, Face Shield, ถุงมือแพทย์, แว่นตา, หมวกคลุมตัวหนอน, ถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า, หน้ากากอนามัย N95, ยาฟ้าทะลายโจร และชุดตรวจ Antigen Rapid test เพื่อเตรียมไว้สำหรับรองรับเหตุกรณีฉุกเฉินพบแรงงานติดเชื้อ COVID-19 ภายในโรงงาน ซึ่งในส่วนนี้ทาง บริษัทฯ ก็ได้มีการจัดเตรียมสถานที่ไว้ ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม และพื้นที่พักคอยสำหรับรองรับผู้ป่วยอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

แม่ฮ่องสอน - เกษตรกรบ้านหนองผักหนาม ร้องศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียง สร้างพนังกั้นริมตลิ่งน้ำยวมเปลี่ยนทางส่งผลกระทบที่ทำกิน เร่งให้หน่วยงานรับผิดชอบแก้ไข ได้รับความเดือดร้อนนับสิบราย

บริเวณสะพานบ้านไร่ - บ้านคะปวง มีกลุ่มเกษตรกรจากบ้านหนองผักหนาม และพี่น้องเกษตรกรที่อาศัยทำกินริมฝั่งลำน้ำยวมบ้านนาคาว  บ้านทุ่งพร้าว บ้านไร่ ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 50 คน มาร่วมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขผลกระทบจากการก่อสร้างพนังกั้นริมตลิ่งน้ำแม่ยวม บริเวณฝั่งบ้านคะปวง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางกัดเซาะพื้นที่ทำกินของเกษตรกรบ้านหนองผักหนามกว่า 10 ราย โดยมี นายวีกิจ เจ้าดูรี ปลัดอำเภอแม่สะเรียง เดินทางมารับเรื่องร้องเรียน จากกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อน สำหรับการก่อสร้างพนังกั้นริมตลิ่งในเขต ต.แม่ยวม ระหว่าง บ้านคะปวง – บ้านทุ่งแพม เป็นของหน่วยงานกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ โอภาสงวน เกษตรกรบ้านหนองผักหนาม เป็นตัวแทนในการยืนหนังสือร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียง ถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า กรณีการขุดลอกลำน้ำยวมเพื่อจัดทำพนังกั้นตลิ่งริมน้ำ ส่งผลทำให้เกิดการเบี่ยงทางน้ำหรือน้ำเปลี่ยนทางเข้าพื้นที่ทำกินที่นา ที่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์ของชาวบ้านนับสิบราย ประกอบกับเข้าสู่ฤดูฝนหากเกิดปัญหาน้ำไหลหลากก็จะทวีความเสียหายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางราษฏรบ้านหนองผักหนามที่มีที่ทำกินติดริมน้ำบริเวณฝั่งตรงข้าม ไม่รู้เรื่องการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบทำการประชาคมกับราษฏรฝั่งเขตตำบลแม่ยวมเท่านั้น ไม่ได้มีการทำประชาคมหรือประชามติรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงหรือผู้เสียหายจากโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด จึงอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขการเปลี่ยนทางน้ำ หรือ ดำเนินการทำพนังกั้นลำน้ำทั้งสองฝั่ง

ด้าน นายวีกิจ เจ้าดูรี ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่สะเรียง กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากทางศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียงได้รับหนังสือร้องเรียน ก็จะดำเนินการทำหนังสือด่วนที่สุดถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะมีการนัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกรอบเพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

สมุทรปราการ - “พระครูแจ้” หนุนเกษตรกรพิจิตร เหมาแตงโม 8,000 โล แจกประชาชนที่มาฉีดวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในวัดบางพลีใหญ่กลาง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้มีรถกระบะบรรจุผลไม้มาเต็มคันรถ  และจากการสอบถามทราบว่ารถคันดังกล่าว  ได้มีการลำเรียงผลไม้มาเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทางจังหวัดพิจิตร  โดยการสนับสนุนจากท่าน​ พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ที่มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนจังหวัดพิจิตร จึงได้ให้การสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรชาวสวน โดยการสั่งผลไม้ประเภทแตงโม ของพี่น้องชาวสวนจังหวัดพิจิตร จำนวน 8 ตัน หรือ 8,000 กิโลกรัม เพื่อเป็นการช่วยเหลือและให้กำลังใจเกษตรกรชาวสวนเพื่อช่วยกันฟันฝ่าวิกฤต Covid-19

โดย ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง กล่าวว่า ผลไม้ทั้งหมดได้สั่งตรงมาจากสวนผลไม้ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนในจังหวัดพิจิตร จำนวน 8 ตัน หรือ 8,000 กิโลกรัม เพื่อเป็นการช่วยเหลือและอุ้มพี่น้องเกษตรกรชาวสวนเพื่อฟันฝ่าวิกฤต Covid-19

อีกทั้ง ในวันนี้ศูนย์ฉีดวัคซีนวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกให้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12-18 ปี 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม และผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกิน 80 กิโลกรัม โดยตั้งแต่ในช่วงเช้าภายในศูนย์ฉีดวัคซีนวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้มีผู้ปกครองนำบุตรหลานเดินทางมารอรับการฉีดวัคซีนกันอย่างต่อเนื่อง ตามที่โรงพยาบาลได้มีการแจ้งผ่านทาง SMS และได้ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีการจัดระเบียบและเว้นระยะห่างแบบ New normal

โดยทุกคนที่เดินทางมารับการฉีดวัคซีนยังศูนย์ฉีดวัคซีนวัดบางพลีใหญ่กลาง จะได้รับมอบแตงโมจากท่าน พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง มอบแตงโมให้คนละ 2 ลูก นำกลับไปทานที่บ้านโดยสั่งตรงมาจากเกษตรกรชาวสวนในจังหวัดพิจิตร จำนวน 8,000 กิโลกรัม 

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ทั้งหมดที่ช่วยเกษตรกรอุดหนุนมานั้น จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่าง ๆ โรงพยาบาลสนาม รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการตำรวจและพี่น้องประชาชนในชุมชน อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงออกถึงความรักและความห่วงใยที่มีต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนและจะนำผลผลิตทั้งหมดแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่เดินทางมารับการฉีดวัคซีนในวันนี้แต่จะทำการแจกทุก ๆ วัน จนกว่าผลไม้ที่สั่งมานั้นจะหมดเพื่อแทนความห่วงใยที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังคงปฎิบัติหน้าที่อย่างเหน็ดเหนื่อย รวมถึงประชาชนที่เดือดร้อน ประชาชนที่ขาดรายได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

กาฬสินธุ์ – ผุดธนาคารน้ำใต้ดิน เพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์เขาวงพ้นภัยแล้ง ตั้งเป้าได้ผลผลิตมากกว่า 500 ก.ก.ต่อไร่

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเขาวง ข้าวอินทรีย์ GI อันดับหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าได้ผลผลิตมากกว่า 500 ก.ก.ต่อไร่

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่แปลงนานางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ (ทสจ.) พร้อมด้วยนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ทสจ. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ กิจกรรมหลักปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเพื่อการเกษตรและอาหารปลอดภัย กิจกรรมย่อยจัดทำระบบเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อบาดาลเสริมระบบแหล่งน้ำในไร่นา เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ข้าวเขาวง โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้อนรับ และรายงานความคืบหน้าผลดำเนินการ

นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำฯ ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดิน ในการเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุน ส่งเสริมการปลูกข้าวเขาวงและการเกษตรผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ซึ่งตามข้อมูลสถิติในปี 2557 พบว่า จ.กาฬสินธุ์มีผลิตภัณฑ์ของจังหวัดค่าหัวอยู่ในระดับต่ำ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนแก้ไขปัญหาความยากจนให้ประสบผลสำเร็จ ด้วยการพัฒนาศักยภาพการผลิตการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด

นายอัครพงษ์กล่าวอีกว่า ข้าวเขาวง ซึ่งได้รับมาตรฐาน  GI เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ประกอบกับทาง จ.กาฬสินธุ์ จัดโครงการกรีนมาร์เก็ต มุ่งเน้นผลผลิตจากภาคเกษตร อาหารปลอดภัย และเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จึงได้เลือกพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกข้าวเขาวงซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์ เป็นจุดนำร่องของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มพื้นที่การกระจายน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ทำธนาคารน้ำใต้ดินฯ ดังกล่าว โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.เขาวง อ.นาคู และ อ.กุฉินารายณ์ เข้าร่วมโครงการ 60 ราย 

ด้านนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าโครงการดังกล่าว ได้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวเขาวง ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของชลประทาน การทำเกษตรกรรมอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้ ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่เป้าหมาย สำรวจความต้องการของเกษตรกร จากนั้นทำความเข้าใจและลงนามความร่วมมือ  เลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ที่สามารถขุดบ่อกักเก็บน้ำขนาด 1 ไร่ เพื่อรองรับน้ำตามหลักการส่งน้ำจากฟ้าสู่ใต้ดิน และมีพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งการดำเนินการได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ เป็นการขุดและวางระบบน้ำให้ฟรี เกษตรกรไม่ต้องจ่ายเงินสมทบแต่อย่างใด

ขณะที่นางอรวรรณ พันธุ์คุ้มเก่า อายุ 42 ปี บ้านเลขที่ 69 หมู่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ตนมีพื้นที่ทำนา 13 ไร่ โดยที่ผ่านมาปลูกข้าวเหนียวเขาวง บางปีที่ฝนทิ้งช่วง ประสบภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน ขณะที่ในปีที่ฝนตกต้องตามฤดูกาล ได้ผลผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 ก.ก.ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม จากการที่สำนักงาน ทสจ.กาฬสินธุ์ เข้ามาส่งเสริมโครงการดังกล่าว ตนและเพื่อเกษตรกรมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ที่นำโครงการดี ๆ มาถึงเกษตรกร สำหรับตนมั่นใจว่าต่อไปนี้จะไม่ประสบภัยแล้ง เพราะจะมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวตลอดปี และได้ผลผลิตข้าวเขาวงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะสามารถกระจายน้ำไปสู่ที่นาของเพื่อนเกษตรและปลูกพืชผสมผสานชนิดอื่นได้ตลอดปีอีกด้วย

ชลบุรี – ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดอาคารประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ สร้างความภาคภูมิใจในหน่วยรบพิเศษของกองเรือยุทธการ

วันที่ 16 ส.ค.64 พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ โดยมี พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ พล.ร.ต.ศุภชัย ธนสารสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ ณ อาคารประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

อาคารประวัติศาสตร์หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ สร้างขึ้นเพื่อ รวบรวมประวัติความเป็นมาของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ตลอดระยะเวลา 66 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งหน่วย , วิวัฒนาการด้านกำลังพล , การฝึก , ยุทโธปกรณ์ , การปฏิบัติราชการที่สำคัญ , เผยแพร่วีรกรรม , เชิดชูเกียรติบุคคลที่มีส่วนร่วมและได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศและกองทัพเรือ อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางทหารที่เป็นแบบอย่างของความเสียสละ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เพื่อชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และกองทัพเรือ เป็นตัวอย่างให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษา ร่วมภาคภูมิใจต่อหน่วยรบพิเศษของกองเรือยุทธการสืบไป


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

ตราด - “FROM THE SEA” หมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ทัพเรือภาคที่ 1 ส่งกำลังใจทางทะเล ให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าบนเกาะช้าง

ระหว่าง 15-16 ส.ค.64 ขณะออกเรือลาดตระเวนตามแผน ร.ล.ตากใบ ได้ร่วมกับ ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ เกาะช้าง (ศรภ.ทร.เกาะช้าง) สนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด ลำเลียงขนส่งทางทะเล เตียงสนามกระดาษ จำนวน 30 เตียง เพื่อส่งไปยังศูนย์พักคอย (community isolation) เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จว.ตราด โดยการประสานงานของ ศรชล.จว.ตราด

และในโอกาสที่ ร.ล.ตากใบ จอดเทียบที่ท่าเทียบเรือสวนหลวง เกาะช้าง ทัพเรือภาคที่ 1 โดยหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน และ ศรชล.ภาค 1 โดย ศรชล.จว.ตราด และ ศคท.จว.ตราด ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด รวมทั้ง ชมรมศิษย์เก่าสวนกุหลาบจังหวัดจันทบุรี-ตราด บูรณาการร่วมกันจัดกิจกรรม “ครัวเรือหลวง ห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์”  แพคใจใส่กล่อง ส่งมอบกำลังใจทางทะเล โดยใช้ศักยภาพของครัวเรือหลวงตากใบ ปรุงอาหารกล่องเมนูยอดนิยม (กระเพราหมู+ไข่ดาว) จำนวน 140 ชุด โดยฝีมือเชฟประจำเรือ (สหโภชน์) ส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเกาะช้าง จำนวน 120 ชุด และเจ้าหน้าที่ด่านชุมชน เทศบาลตำบลเกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จว.ตราด จำนวน 20 ชุด เพื่อแบ่งเบาภาระ และเติมกำลังใจเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ให้ต่อสู้ฝ่าฟัน จนผ่านพ้นสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ป้อง COVID -19 เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากากป้องกันละอองฝอย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และน้ำดื่มจำนวนหนึ่ง มามอบให้อีกด้วย โดยมี น.อ.เกียรติกูล สุวรรณ ผู้บังคับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน (ผบ.มชด.) น.อ.นฤพนธ์ วิไลธัญญา รอง ผอ.ศรชล.จว.ตราด และ นายสัคศิษฐ์ มุ่งการ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จว.ตราด เป็นผู้แทนส่งมอบ

การบูรณาการร่วมกันในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยใช้ขีดความสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ภายใต้แนวคิด From The Sea (การช่วยเหลือทางทะเล) ที่ พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 (ผบ.ทรภ.1) มอบให้หน่วยในการบังคับบัญชา ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ น.อ.เกียรติกูล สุวรรณ ผู้บังคับหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน (ผบ.มชด.) ได้สั่งการให้เรือในหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนส่วนที่ 1 (มชด./1) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ แบ่งเบา และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกโอกาส ที่มีการออกเรือลาดตระเวนและไปจอดตามเกาะต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ


ภาพ/ข่าว  มชด./1 และกองกิจการพลเรือนทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

นราธิวาส - แม่ทัพภาคที่ 4 เยี่ยมชมการดำเนินงานโรงงานแปรรูปผลไม้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด พร้อมผลักดัน รองรับผลผลิตทางการเกษตรแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

วันนี้ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ โรงงานแปรรูปผลไม้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางเยี่ยมชมการดำเนินงานโรงงานแปรรูปผลไม้ ที่ถือเป็นศูนย์กลางการรวบรวม และแปรรูปผลไม้ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน พร้อมหารือถึงการเพิ่มคุณภาพ ศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลอด นอกจากนี้ยังได้หารือถึงการต่อยอดโครงการ  แนวโน้มการเติบโตในอนาคต ให้สามารถกระจายรายได้กับคนในชุมชนอย่างทั่วถึงครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากในปัจจุบันมียอดการสั่งซื้อกว่า 1,000  ตัน และในอนาคตคาดว่ายอดจะพุงสูงขึ้นเป็น 5,000 ตัน หากมีศักยภาพและกำลังการผลิตที่เพียงพอ จะสามารถพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรให้เติบโต และมีเสถียรภาพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน  โดยมี พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15/  ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส,  นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, ผู้แทนบริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด และส่วนที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

โดยแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ได้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ล้นตลาด ที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่มีการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการประสานการทำงาน สร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับพี่น้องเกษตรกร ในขณะเดียวกันหากมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จำเป็นที่จะต้องมีโรงงานในลักษณะนี้ เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องเกษตรกร แปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มศักยภาพทางการผลิตให้สามารถส่งออก และกระจายสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ขอให้ทุกคนได้มุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนาโรงงาน ให้สามารถเป็นจุดแข็งรองรับ และช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย คือการให้ความรู้กับพี่น้องเกษตรกร การรักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรให้สามารถเป็นที่ยอมรับ และคงคุณภาพสินค้าไว้ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้เติบโตเป็นที่ยอมรับ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป"

ทั้งนี้ บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด จัดตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตลาดกลางการเกษตร เพื่อส่งออกภาคใต้ชายแดน จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่จำนวน 32 ไร่ นับเป็นองค์กรที่สนับสนุน และส่งเสริมราคาผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก เกิดจากการต่อยอดธุรกิจจากรุ่นแม่เป็นผู้รวบรวมผลไม้ในพื้นที่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาจากการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าในพื้นที่ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และสะตอ โดยใช้เทคโนโลยีแช่เยือกแข็ง ปัจจุบัน บริษัท ซัน โฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด ถือเป็นบริษัทผลิต และรวบรวม และจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร รวมไปถึงการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า มีการวางแผนกับหน่วยงานราชการ พูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงการรักษามาตรฐานคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับสร้างการเติบโตอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top