Friday, 16 May 2025
Region

ตราด - เหล่ากาชาดจังหวัดตราด ลงพื้นที่ 3 ตําบล พร้อมมอบบ้าน-มอบถุงยังชีพ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ทั้ง 3 ตําบล

วันพุธ​ที่​ 14​ กรกฎาคม​ 64​ นายขจิตเวช​ แก้วน้อย​ นายอำเภอ​คลองใหญ่​ ปลัดอำเภอ​ กิ่งกาชาด​อำเภอ​คลองใหญ่​ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ 4 อ.คลองใหญ่ พร้อมด้วย นางสาวกิจปภา​ ประสิทธิเวช​ นายกเทศมนตรี​ตำบลหาดเล็ก​และคณะ​ นายสุรศักดิ์​ อิทรประเสริฐ​ นายกองค์การ​บริหารส่วนตำบลไม้​รูด​และคณะ​ ร่วมต้อนรับนางสรินยา​ ประกอบผล​ นายกเหล่า​กาชาด​จังหวัด​ตราด​ เนื่องในโอกาสลงพื้นที่มอบบ้านให้ผู้สูงอายุ​ ผู้พิการและผู้ยากไร้​ ในพื้นที่ตำบล​หาด​เล็ก​และตำบลไม้รูด​  ซึ่งได้รับอนุมัติจากเหล่ากาชาด​จังหวัด​ตราด​ ตำบล​ละ​ 1​ หลัง​ พร้อมทั้งส่งความห่วงใยมอบเครื่อง​อุปโภค​บริโภค​ให้แก่​ นางพา​ บุญ​ล้อม​ ผู้ที่ได้รับการอนุมัติ​​ซ่อมแซม​และก่อสร้างบ้าน​ ในพื้นที่​ หมู่​ 7​ ตำบล​คลองใหญ่​ อำเภอ​คลองใหญ่​ จังหวัด​ตราด​

ทั้งนี้เหล่ากาชาด​จังหวัด​ตราด​ ได้มอบถุง​ยังชีพ​ ให้กิ่งกาชาด​อำเภอ​คลองใหญ่​ ไว้ช่วยเหลือ​ผู้ประสบสาธารณ​ภัย​และกลุ่มเปราะบาง จำนวน​ 10​ ชุด​  อีกด้วยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป


ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี ผู้สื่อข่าว จ.ตราด

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

กระบี่ – คลัสเตอร์โรงเรียนปอเนาะ ยอดติดเชื้อผู้ป่วยลด ขณะที่จังหวัดกระบี่เตรียมผุดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 รับผู้ป่วยติดเชื้อกลับบ้าน

ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 จ.กระบี่ ได้รายผลการตรวจ เชื้อกลุ่มเสี่ยง ข้อมูล ณ เวลา 23.00 น. วันที่ 14 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 ราย ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสมเป็น 882 ราย กำลังรักษา 471 รายรักษาหายกลับบ้าน 411 ราย โดยคลัสเตอร์ นักเรียนโรงเรียนเอกภาพศาสนวิชญ์ ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเพียง 2 ราย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันนักเรียนโรงเรียนเอกภาพศาสนวิชญ์

นอกจากนี้ยังมีผู้ติดเชื้อ ในพื้นที่ อ.เมือง 4 ราย เป็นนักเรียนจากโรงเรียนจงรักสัตย์วิทยาจังหวัดปัตตานี 1 ราย จากพื้นที่เสี่ยง กทม. 2 ราย และมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช 1 ราย อำเภออ่าวลึก 1 ราย มาจากพื้นที่เสี่ยง กทม.อำเภอเกาะลันตา 1 ราย มาจากพื้นที่เสี่ยง กทม.อำเภอปลายพระยา 1 ราย สัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากจังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเหนือคลอง 1 รายสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน

สำหรับการฉีดวัคซีน ป้องกันไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กระบี่ เป้าหมายฉีดวัคซีน จำนวน 352,476 คน ฉีดแล้ว 84,191 คน คิดเป็นร้อยละ 23.87 ขณะที่บางคนตั้งข้อสงสัยปนคำถาม ในโซเชียลว่า! “ยังหนักไม่พอหรือ มีบางกลุ่มทำโครงการ “รับผู้ติดเชื้อ กลับบ้าน” มาอีก ไป copy จังหวัดอื่นมา จนลืมข้อจำกัดของจังหวัดเราไป เช่น กระบี่ เป็นพื้นที่สีแดง ชาวบ้านที่ได้ ฉีดวัคซีน เข็มแรก ก็ยังมีไม่ถึง 50% บุคลากรทางการแพทย์ พอไหม เขาจะไหวรึ หากคุมไม่อยู่จนระบาดเป็นพื้นที่แดงเข้ม ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตามมาเดือดร้อนมีอีกมาก ใครจะรับผิดชอบ หากผู้ติดเชื้อ กักตัวในโรงพยาบาลสนามแล้วหนีออกมา (เหมือนที่เคย) แล้วไประบาด จะทำไง การนำผู้ติดเชื้อกลับเวลานี้ เป็นการไปเพิ่มความเครียดให้คนในพื้นที่หรือไม่ จิตวิทยามวลชน สำคัญ และที่สำคัญไปกว่าคือ ชาวบ้านที่เขายังไม่ได้ฉีดเข็มแรกก็มีมาก และโดยเฉพาะรอบ ๆ โรงพยาบาลสนาม อย่าให้ไปเข้าสำนวนโบราณที่ว่า ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็มาแทรกเลยครับ สงสารประชาชน”

ขณะที่ จ.กระบี่ ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 ขึ้นที่ภายใน ม.กีฬา วิทยาเขตกระบี่ ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ รับผู้ป่วยได้ จำนวน 400 เตียง คาดว่า ไว้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตามโครงการรับผู้ป่วยกลับบ้าน


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

ร้อยเอ็ด - รองแม่ทัพภาค 2 นำ พสบ.ทภ.2 รุ่น 2 เยี่ยม รพ.สนาม ร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่กองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด พล.ต.สวราชย์ แสงผล รองแม่ทัพภาคที่ 2 และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามกองทัพบก หน่วยมณฑลทหารบกที่ 27 กองพันเสนารักษ์ที่ 6 กองพลทหารราบที่ 6 โดยมี พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปและนำตรวจนำตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจแพทย์และบุคลากรประจำโรงพยาบาล

จากนั้น พล.ต.สวราชย์ แสงผล นางธนชนก สุริยเดชสกุล และนายอรรครัตน์ รัตนจันทร์ ผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร กองทัพภาคที่ 2 รุ่นที่ 2 (พสบ.ทภ.2 รุ่น2) ได้มอบเสื้อและพัดลม เพื่อใช้ในกิจกรรมโรงพยาบาลสนามโดยมีนายแพทย์อัศราวุธ ใจหาญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสมเด็จ และผู้อำนวยการสนามแห่งที่ 3 เป็นผู้รับมอบ

พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามกองทัพบกมณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เริ่มเปิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม  เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ของจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อจากแห่งที่ 1 ที่หอประชุมจังหวัดร้อยเอ็ด และแห่งที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยเข้ารับการรักษาได้ จำนวน 100 เตียง โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ จากโรงพยาบาลศรีสมเด็จ โรงพยาบาลจังหาร โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ค่ายโสกเชือก) หน่วยเสนารักษ์ หมุนเวียนมาปฏิบัติงาน

พ.อ.ณัฎฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการของโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 นี้ จะใช้อาคารรับผู้ป่วย 2 อาคาร อาคารละ 50 เตียง ใช้บุคคลากรจากโรงพยาบาลอำเภอศรีสมเด็จ ร่วมกับโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกองพันเสนารักษ์ที่ 6 จัดวางระบบการดูแลผู้ป่วยผ่านกล้องวงจรปิด, Video call, และเครื่องขยายเสียง ไม่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง มีการกำหนดเขตหวงห้าม เส้นทางการนำส่งผู้ป่วยชัดเจนเพื่อให้ปลอดภัยต่อกำลังพลและครอบครัวของหน่วยที่อาศัยอยู่ภายในค่าย ในการนี้รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้เป็นผู้แทนรับมอบสิ่งของบริจาคจากภาคส่วนต่างๆสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ด้วย

"ภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติตามแผนการดูแลผู้ติดเชื้อที่สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ (Home Isolation) ของหน่วยในค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมทั้งให้คำแนะนำเพื่อให้หน่วยสามารถดำเนินการดูแลกำลังพลและครอบครัวให้ปลอดภัยตามมาตรการพิทักษ์พลด้วย" พ.อ.ณัฎฐ์ กล่าว


ภาพ/ข่าว  ชุด ฉก.พญาอินทรีย์ / เดวิท โชคชัย

ขอนแก่น – บุคลากรทางการแพทย์นับหมื่นคน เตรียมบูสเตอร์วัคซีนต้นเดือน ส.ค. ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามกำหนด ไม่สลับสูตร แม้หลายคนจะขอยกเลิกการฉีดก็ตาม

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 16 ก.ค.2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนการของการบูสเตอร์โดสวัคซีนให้กับบุลากรทางการแพทย์ ที่ปฎิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัด ซึ่งจัดเป็นกลุ่มด่านหน้าของการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโควิด-19  โดยที่เข็มแรกที่บุคลากรทางการแพทย์ฉีดนั้นคือในวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมาซึ่งแผนการบูสเตอร์โดสวัคซีนให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ขอนแก่นที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนประมาณ 22,000 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งมอบวัคซีนให้กับแต่ละจังหวัด ตามแนวทางการที่กำหนดโดยมี แผนการกระตุ้นที่ชัดเจนคือการใช้แอสตร้าเซเนเก้าบูสอีก 1 เข็ม ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม ซึ่งทุกคนที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว2 เข็มจะต้องเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ถึจะสามารถเข้ารับการบูสเตอร์โดสได้

“ขณะนี้ขอนแก่นได้เตรียมวัคซีนชิโนแวค 1 คนต่อ 2 เข็ม ซึ่งขณะนี้จากการสำรวจพบว่าหลายคนยังคงยืนยันขอรับการฉีดตามแผนเดิม ดังนั้นการบริหรจัดการวัคซีนในจังหวัด ที่กำหนดไว้คือภายในเดือน ก.ย. คนขอนแก่นจะต้องได้รับวัคซีนเข็มแรกครอบคลุมประชากรร้อยละ 70จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่สิ่งที่พบในขณะนี้คือ เริ่มมีการขอผลัดหรือขอเลื่อนการรับวัคซีนออกไป โดยเฉพาะกับการรับวัคซีนชิโนแวคเข็มที่ 1ดังนั้นทีมแพทย์จะต้องแนะนำและทำความเข้าใจกับประชาชนตามแผนงานที่กำหนด คือการให้ผู้ที่ได้รับการยืนยันการเข้ารับวัคซีนได้เข้ารับวัคซีนตามที่กำหนด  คือรับวัคซีนชิโนแวค เข็มที่ 1 เมื่อครบ 3 สัปดาห์ก็ให้เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามที่กำหนด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน”

นพ.สมชายโชติ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าหากทุกคนยอมรับเฉพาะแนวทางการฉีดชิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 ก็จะทำให้วัคซีนชิโนแวคจะเหลือ ได้ ซึ่งข้อมูลล่าสุดวันนี้ขอนแก่นมีวัคซีนชิโนแวคอยู่ประมาณ 10,000  โดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่จะเตรียมสำหรับการฉีดให้กับเข็มที่  2 ที่จะเข้าสู่ช่วงการฉีดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ค. อีกทั้งจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนอีกประมาณ 22,000 โดส ในระยะนี้ หากนำมาฉีดเป็นเข็มที่ 1 อย่างเดียว ก็ยังไม่ทราบว่าหากนำแอสตร้าเซเนก้า มาฉีดเป็นเข็มที่ 2 ให้นั้น จะทำอย่างไร และบางคนก็ปฎิเสธที่จะรับชิโนแวคทั้ง 2 เข็ม ซึ่งก็มีเกิดขึ้นแล้ว เช่นกัน

“ดังนั้นหน่วยบริการวัคซีนของทุกพื้นที่จะต้องทำความเข้าใจ ว่าวัคซีนที่ดีที่สุดวันนี้ คือวัคซีนทุกคนจะต้องได้รับได้เร็วที่สุด และปฎิบัติตัวด้วยความเข้าใจดำเนินการตามแผนงานที่ฝ่ายสาธารณสุขและแพทย์กำหนด  การป้องกันตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ไม่มีการป้องกันเป็นิส่งที่ไม่สมควรทำ อย่างไรก็ตามสำหรับการบูสเตอร์วัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจังหวัดหากนับรวมระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 และระห่างในภาพรวมนั้น ชุดแรกที่จะได้รับการบูสเตอร์วัคซีนก็จะสามารถเข้ารับการฉีดได้ในช่วงต้นเดือน ส.ค.”

ชลบุรี - กองเรือยุทธการ ร่วมกับ อำเภอสัตหีบ ปล่อยแถวขบวนรถช่วยเหลือประชาชนช่วยโควิด-19

วันนี้ (16 ก.ค.64) ที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กองเรือยุทธการ ร่วมอำเภอสัตหีบ ร่วมพิธีเปิดปล่อยแถวขบวนรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยมี พลเรือเอก สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ นายกิตติพงษ์ กิติคุณ นายอำเภอสัตหีบ รวมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมพิธี

พลเรือเอก สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าวว่า กองเรือยุทธการและอำเภอสัตหีบ ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนพื้นที่สัตหีบต้องการคือกำลังใจ ที่ได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการส่งความช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนชาวสัตหีบ จึงเกิดเป็นที่มาของกิจกรรมปล่อยแถวขบวนรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อยุ่ในกลุ่มเสี่ยงสูงถึงกลุ่มเสี่ยงต่ำ ประชาชนกลุ่มนี้คือผู้ได้รับความเดือดร้อนที่ต้องการรถรับ-ส่งเพื่แยกออกจากชุมชนที่อาศัย รอการตรวจคัดกรองไปยังสถานที่ที่กำหนดไว้ต่อไป

ขบวนรถดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะสามารถอำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในภาพรวมได้เป็นอย่างดี


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

กรุงเทพฯ - “มูลนิธิมาดามแป้ง” มอบชุดตรวจ Antigen Test Kit แก่ รพ.รามาธิบดี เพื่อหนุน Community Isolation แบ่งเบาแพทย์ พยาบาล

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 “มูลนิธิมาดามแป้ง” โดย “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ซีอีโอ บมจ.เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิ ขอร่วมแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองประชาชน และลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการมอบชุดตรวจ Antigen Test Kit จำนวน 3,000 ชุด มูลค่ากว่า 1,000,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งต่อไปยังประชาชนผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนภารกิจ Community Isolation ของโรงพยาบาล

ด้านมาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวว่า “ในสถานการณ์อันยากลำบากนี้ มูลนิธิมาดามแป้งพยายามบูรณาการการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ ซึ่งพบว่าปัญหาหลักในปัจจุบัน คือผู้มีความเสี่ยงสูงมีจำนวนมากกว่าศูนย์บริการตรวจ RT-PCR จะรองรับได้ ส่งผลให้ยังไม่ได้รับการตรวจ นั่นอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อมากขึ้นด้วย”

“การอนุมัติใช้ Antigen Test Kit ตรวจด้วยตัวเองได้ จะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุดตอนนี้ มูลนิธิมาดามแป้ง ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนน้ำใจจากการบริจาคของประชาชน จึงขอร่วมสนับสนุนชุดตรวจแก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อโครงการ Community Isolation เราเชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบางานของคุณหมอ พยาบาล อาสาสมัคร ที่ทำงานหนักมาตลอด อีกทั้งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบัน ลดโอกาสติด ปิดความเสี่ยงจากการออกนอกบ้านอีกด้วย” นางนวลพรรณ กล่าวเพิ่มเติม

มูลนิธิมาดามแป้ง ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในยามวิกฤตของสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิกฤตนี้จะผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว

กาฬสินธุ์ – ภาคประชาชนร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อประนีประนอม ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ลดขั้นตอนการพิจารณาคดีความ โดยไม่ต้องแจ้งความที่สถานีตำรวจ ไม่ต้องจ้างทนาย และไม่เสียค่าบริการ

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน บ้านโคกเครือ หมู่ 3 ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดป้ายที่ทำการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยมีพระครูโสภณวินัยวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอยางตลาด (ธ) ประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน นายประหยัด ไม้แพ ยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น คณะทำงานบริหารประจำศูนย์ฯ ประชาชน ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ทุกคนต่างปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ร.ต.อ.ธีระชัย ภูเกิดพิมพ์ ผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน กล่าวว่า ในภาวะสังคมปัจจุบัน ทั้งการดำเนินชีวิต การจราจร การประกอบอาชีพต่าง ๆ จะเห็นว่าเกิดข้อขัดแย้ง กรณีพิพาท เป็นคดีความ นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้คู่ขัดแย้งหรือคู่กรณี เสียทรัพย์ เสียเวลา จากการว่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งๆที่บางคดีเป็นเรื่องเล็กๆน้อย สามารถยอมความกันได้ แต่กลับต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ทำให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากตกลงกันไม่ได้

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวอีกว่า จากสาเหตุดังกล่าว ตนและเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงได้ร่วมกับส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม จัดตั้งคณะทำงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนถึงชุมชนหรือหมู่บ้านขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ มีหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านคดีความให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาบางคนอาจเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลา โดยเป้าหมายต่อไปเครือข่ายยุติธรรมภาคประชาชน ยังจะร่วมกันเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ให้ครอบลมทุกตำบลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 3 แห่ง คือที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยแห่งนี้ รวมทั้ง อ.นามน และ อ.ห้วยเม็ก

ร.ต.อ.ธีระชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนบ้านโคกเครือที่จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่มีข้อขัดแย้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคู่กรณี ทั้งอุบัติเหตุทางจราจร เรื่องที่ดิน เรื่องมรดก ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ซึ่งไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หรือว่าจ้างทนายความ ทางศูนย์พร้อมที่จะให้คำปรึกษา หาทางออกที่ดี โดยให้ความคุ้มครองทางสิทธิ เสรีภาพ และไม่เสียค่าใช่จ่ายใด ๆ ซึ่งเมื่อคู่กรณีมารับบริการที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยและสามารถตกลงยอมความกันได้ ก็จะทำบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ส่งข้อมูลเข้าระบบกระบวนการยุติธรรมทุกสาขา ถือเป็นการยุติข้อร้องเรียนหรือความขัดแย้งกรณีนั้น และจะไม่สามารถฟ้องร้องกันอีก

ทั้งนี้ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้น จึงเป็นทั้งศูนย์สร้างความปรองดองและศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในเชิงรุกถึงหมู่บ้าน ประโยชน์ที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับจากการเข้ามาไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ฯ คือนอกจากจะใกล้บ้านแล้ว ยังเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องจ้างทนายความ โดยเฉพาะเป็นการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยฟรี ไม่เสียค่าบริการแต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

สุโขทัย - วิทยาลัยเกษตรสุโขทัย ติวเกษตรยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาผลผลิตยั่งยืน

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้ดำเนินโครงการอบรมพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะปลูก ณ ห้องประชุมอาคาร 8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวว่าโครงการนี้ เป็นแนวคิดของคณะผู้บริหารและครูผู้สอน ในการต้องการเสริมการทำเกษตรแบบดั่งเดิมเพื่อต่อยอดทักษะและความรู้สู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างองค์ความรู้ ขยายผลสู่นักเรียน นักศึกษา และชุมชนให้มีคุณภาพสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ การเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก 

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เป็นวิทยาลัยเกษตร หรือโรงเรียนที่ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดสุโขทัย ในการประกวดโครงการต่าง ๆ ของภาคเกษตรระดับประเทศ ที่เน้นการทางเกษตรอินทรีย์ และต้องการต่อยอดเทคโนโลยี 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการเพาะปลูก มาผสมผสานกับการเกษตรแบบดั่งเดิม และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน นักเรียน นักศึกษา แก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะขาดทุน และการใช้สารเคมีในการปลูกพืชทำให้เกิดสารพิษจากการสัมผัสโดยตรงมากเกินไปของเกษตรกร ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาประชาชนเป็นโรคต่าง ๆ

ดังนั้นจึงมอบหมายให้ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ทดลองฝึกใช้ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก และแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุด ที่นักเรียน นักศึกษา ยอมรับและเต็มใจ เห็นด้วยจากความคิดที่ได้นำมาทดลอง และแลกเปลี่ยนความคิดกัน เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ และการใช้แรงงาน ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา 

ดังนั้นทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย จึงเห็นถึงความสำคัญนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูกในปัจจุบัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ ในการศึกษาผลิตการเป็นผู้ผลิตพืชผัก ผลไม้ และเกษตกรรมด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะวิชาการ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานเป็นทีม มีทักษะการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยียุค 4.0 ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น พึ่งพาตนเองได้ ลดการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง เด็กรักถิ่นเกิดของตนเองเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ และจังหวัดสุโขทัย และสามารถสร้างอาชีพได้อย่างแท้จริง

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวเพิ่มเติมว่าวัตถุประสงค์ มุ่งสร้างให้เยาวชนเป็นเด็กเก่งและเด็กดี ของสังคมและประเทศชาติ โดยเน้นพัฒนาด้านทักษะและสมรรถนะมากขึ้น เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเรียนรู้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และต่อยอดสู่อาชีพ การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตนักเรียน นักศึกษา และอาชีพที่เติบโต  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษารู้เครื่องมือใช้งาน อุปกรณ์ควบคุม และการเขียนโปรแกรม ควบคุมอุปกรณ์เทคโนโลยีสุโขทัย

ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถต่อยอดความรู้ไปสู่นวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนารูปแบบวิธีการเดิม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถนำนวัตกรรมไปสู่ชุมชน ต่อยอดให้ความรู้แก่ชุมชนยั่งยืนได้


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สมุทรปราการ - ทร. ส่งกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิง เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น

โฆษก ทร.เผย เจ้ากรมสวัสดิการและประธานกรรมการมวยสากลสมัครเล่นกองทัพเรือ ส่งกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิงกองทัพเรือ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ญี่ปุ่น

วันที่ 17 ก.ค.64 พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.00 น. พลเรือตรี ดุลยพัฒน์ ลอยรัตน์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ/ประธานกรรมการกีฬามวยสากลของ กองทัพเรือ ได้มาส่ง อาสาสมัครทหารพรานหญิง สุดาพร สีสอนดี นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นหญิง รุ่น 60 กิโลกรัม (ไลท์เวท) ในการเดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่น ในการนี้ได้อวยพรขอให้ประสบความสำเร็จและนำชื่อเสียงกลับประเทศ โดยมี ดร.สมชาย พูนสวัสดิ์ ประธานฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะนักมวยฯ ทีมชาติไทยในครั้งนี้

สำหรับกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2021” ที่ประเทศญี่ปุ่น จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2564 กำหนดชิงชัยกัน 33 ชนิดกีฬา 50 ประเภท รวมแข่งขันทั้งหมด 339 รายการ


ภาพ/ข่าว สนง.โฆษกกองทัพเรือ

นิราข / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

สงขลา –ขบวนคาราวานประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ นำถุงยังชีพ 50,000 ถุง แจกจ่ายแก่พี่น้องชาวภาคใต้ สู้ภัยโควิด-19

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (18 ก.ค.64 ) นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยการมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ลงพื้นที่โรงเรียนเกาะแต้วพิทยาสรรค์ อ.เมือง จ.สงขลา พร้อมด้วย นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายจักรธร สุริแสง นายกเทศบาลเมืองเขารูปช้าง นายร่อเซ็ง ไหรเจริญ นายกเทศบาลตำบลเกาะแต้ว นายสรรเพชญ บุญญามณี ปชป.เขต 1 สงขลา ผู้ช่วยดำเนินงานประธานรัฐสภา และนายนิพัฒน์ อุดมอักษร เลขานุการนายก อบต.สงขลา/นายกสมาคม SME จังหวัดสงขลา ตลอดจนตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ชายแดนใต้ ร่วมปล่อยขบวนรถ "คาราวาน ประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ สู้ภัยโควิด"

โดย ขบวนคาราวานประชาธิปัตย์ช่วยคนใต้ สู้ภัยโควิด นี้จะนำถุงยังชีพจำนวนกว่าห้าหมื่นถุง ไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องชาวภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งถุงยังชีพดังกล่าวได้รับการจัดสรรและบริจาคจากมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช รวมถึง ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้นำมาส่งมอบให้เพื่อนำไปดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งภายในถุงยังชีพจะบรรจุ ข้าวสารหอมมะลิเกรดคุณภาพ 5 กก. ปลากระป๋อง หน้ากากอนามัย เป็นต้น โดยจะมีตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์แต่ละพื้นที่นำไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งภาคใต้ และ ในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "ได้รับมอบหมายจากท่านจุรินทร์ ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในการปล่อยขบวนรถคาราวานถุงยังชีพ ซึ่งประกอบด้วยข้าวสาร ปลากระป๋องและหน้ากากอนามัย ในการที่จะส่งไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์โดยมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ฯ ต้องการจัดถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจากภัยโควิด-19  วันนี้จึงเป็นวันที่นัดปล่อยคาราวานถุงยังชีพลงไปในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบกับภัยโควิดอยู่ในขณะนี้  และขอถือโอกาสนี้ในการขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน ที่ได้ช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบภาวะความยากลำบาก"

"พรรคประชาธิปัตย์ โดยมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชก็ได้ดูแลพี่น้องมาตลอดตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ ด้วยการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนกว่า 5 ล้านชิ้น แจกอาหารพร้อมรับประทาน รับซื้อพืชผลทางเกษตรเพื่อลดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาดราคาตกต่ำ ตลอดจนการประสานช่วยเหลือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในสถานการณ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังคงทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดไป ซึ่งท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้สั่งการและมอบหมายให้แต่ละพื้นที่ลงไปดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ดังนั้นขบวนรถคาราวานถุงยังชีพ 50,000 ถุง โดยจัดไปในพื้นที่ 4จังหวัดชายแดนจำนวน 15,000ถุง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายๆส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดเพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว" นายนิพนธ์ กล่าว


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top