Saturday, 17 May 2025
Region

เชียงใหม่ -อบจ.เชียงใหม่ แถลงข่าวความร่วมมือการจัดระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีน กับองค์กรภาคเอกชน ผ่าน Application “CM Smart”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมสภา ชั้น 2 อาคารหอประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วน จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน จังหวัดเชียงใหม่ (กกร.เชียงใหม่)  และ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่, นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, นายสุรชาติ ภีระคำ ประธานชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ ,พลตำรวจตรี ปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่, สมาชิก กกร.เชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ อบจ.เชียงใหม่ สมาชิกสภา อบจ.เชียงใหม่ แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าว ความร่วมมือ การจัดระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กับองค์กรภาคเอกชน ผ่าน Application “CM Smart”

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ได้ซบเซาลง ดังนั้น ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมและจัดระบบบริการฉีดวัดเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สามารถดำเนินการฉีดได้ทันท่วงทีภายในระยะเวลาที่กำหนด และเพื่อให้สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีกำหนดให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว เป็นวาระแห่งชาติ (ภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2564) จะต้องดำเนินการตั้งแต่การกระจายวัคซีนไปจนถึงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน หลังจากการร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานเตรียมความพร้อม

เพื่อเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ทางอบจ.เชียงใหม่ และ กกร.เชียงใหม่ ได้มีการจัดทำฐานข้อมูล “CM SMART” (ซีเอ็มสมาร์ท) เพื่อขึ้นทะเบียนเตรียมพร้อมฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากส่วนร่วมของภาคเอกชนและสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ การช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบการฉีดวัคซีนของผู้ที่อยู่ในรายชื่อในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคต และฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ให้ฟื้นคืนได้อย่างเร็วที่สุด ตามเป้าประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

ซึ่งระบบการจัดเก็บข้อมูลรายชื่อ มีคณะทำงานของนายแพทย์ธีรพัฒน์ ตันพิริยะกุล ได้บริหารจัดการฐานข้อมูล CM SMART (ซีเอ็มสมาร์ท) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากความเข้มแข็งของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน จังหวัดเชียงใหม่ (กกร.เชียงใหม่) และกลุ่มสมาชิกภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้บุคลากรที่สมัครใจในการเข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

โดยตั้งเป้าประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มภาคธุรกิจท่องเที่ยวลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน โควิด -19 ผ่านแอฟพิเคชั่น “CM Smart” 170,000 คน พร้อมรณรงค์ ให้ฉีดวัคซีน โดยดำเนินการ ภายใน 4 เดือน ให้ครอบคลุม 70% ตามมติของส่วนกลาง พร้อมกันนี้ประสานจุดฉีดวัคซีน ในเบื้องต้นโดยประสานผ่านทางเครือเซ็นทรัลพัฒนา ทั้งสองแห่ง สามารถรองรับการเข้ารับการฉีดวัคซีนได้แห่งละ 1,500 คนต่อวัน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีความพร้อม ทางด้านบุคลากรและอุปกรณ์ในการจัดฉีดวัคซีนนอกสถานที่ ซึ่งจะได้ร่วมกับภาคเอกชนในการรณรงค์ฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมพร้อมตามแนวทางการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว หลังจากการเปิดรับฤดูกาลท่องเที่ยว ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

กรุงเทพฯ - นิพนธ์ เดินหน้าจัดของเติมตู้ปันสุข ของกระทรวงมหาดไทย เชิญชวน พี่น้องประชาชนผู้มีกำลังฯร่วมกิจกรรม เพื่อเติมกำลังใจให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

ที่ บริเวณหน้ากระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ร.ต.ท.ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ร่วมกิจกรรม “คนมหาดไทย แบ่งปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19” นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน มาเติมเต็มที่ตู้ปันสุข เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยรอบกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลายความทุกข์ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

สำหรับกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข ส่งต่อความห่วงใย สู้ภัยโควิด 19” กรมการปกครอง โดยกระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ตามปรัชญากระทรวงมหาดไทยที่ว่า "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก จัดระเบียบผู้ที่มาเลือกหยิบของจาก "ตู้ปันสุข" ให้เป็นไปตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) วัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ รมช.มท.ได้กล่าวเชิญชวน ว่า "ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ที่พอมีกำลังทรัพย์ที่จะนำสิ่งของมาใส่ในตู้ปันสุขได้ ก็ขอให้มาร่วมเติมกำลังใจ ให้ได้มาร่วมกิจกรรมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ยังคงมีอยู่ต่อไปอีกสักระยะ ซึ่งยังมีพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด ดังนั้น การจัดกิจกรรมของเราก็จะคงจัดอยู่ไปจนกว่าสถานการณ์โดยรวมจะเข้าสู่สภาวะปกติ"


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ลำพูน - พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 เพิ่ม 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ ไม่กักตัว 14 วัน แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ

จังหวัดลำพูน พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 เพิ่ม 4 ราย สถิติผู้ป่วยสะสม 298 ราย รักษาหายแล้ว 285 ราย คงเหลือผู้ป่วยรักษาตัวอยู่  7 ราย กลุ่มผู้ป่วยทั้ง 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ แล้วไม่เข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ซึ่งจังหวัดลำพูนจะแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ             

วันนี้ ( 26 พ.ค. 64 ) ที่ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยนายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน , นายแพทย์สาริกข์ พรหมมารัตน์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลลำพูน และ นายเดช ศิรินาม ศึกษาธิการจังหวัดลำพูน ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ของจังหวัดลำพูน

พบรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมจำนวน 4 ราย  ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน -  26 พฤษภาคม  มีจำนวน 298 ราย เสียชีวิตสะสม 6 ราย ซึ่งประชาชนสามารถ ดูข้อมูลการเดินทางของผู้ติดเชื้อ ที่ Facebook ศูนย์ข่าวโควิด -19 ลำพูน และ Facebook สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน 

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า วันนี้ในพื้นที่ จังหวัดลำพูน มีผู้ป่วยติดเชื้อ เพิ่ม 4 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงแต่ไม่เข้าสู่กระบวนการกักตัว จนทำให้มีความเสี่ยงในการนำเชื้อไปติดต่อบุคคลอื่นในครอบครัว การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน ซึ่งเมื่อทำการรักษาหายแล้วนั้น จะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดลำพูนหลังจากที่ไม่พบผู้ติดเชื้อมาติดต่อกันเป็นเวลา 12 วันแล้ว

หากแม้ว่าไม่พบผู้ติดเชื้อไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์จะจบลง การปฏิบัติตัวในการเฝ้าระวังและป้องกัน ยังคงต้องดำเนินต่ออย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่มาจากจังหวัดเสี่ยง และไม่ทำการกักตัว จะเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง ซึ่งผู้ที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดเสี่ยงแล้วกักตัวตามกระบวนการ เมื่อเจ็บป่วยทางจังหวัด จะนำเข้าสู่กระบวนการรักษาจนหาย หากประชาชนพบเห็นผู้ฝ่าฝืนไม่กักตัว สามารถแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่มาจากจังหวัดเสี่ยงและมีใบรับรองการฉีดวัคซีนป้งกันไวรัสโควิดจนครบ 2 เข็ม บุคคลเหล่านี้ยังคงต้องดำเนินการกักตัว จนครบ 14 วัน  เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีภูมิคุ้มกันและจะไม่มีการแพร่เชื้อในพื้นที่

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน  และ นายแพทย์ชำนาญชำการพิเศษ โรงพยาบาลลำพูน ยังได้เชิญชวนประชาชน ให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด – 19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงการเสียชีวิต ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว

ด้านการเตรียมความพร้อม สำหรับสถานศึกษา ศึกษาธิการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ในช่วงที่มีเปิดภาคเรียน ได้กำชับให้สถานศึกษาที่มีความพร้อม สามารถเปิดทำการเรียน – การสอน ได้ในวันที่ 1 มิถุนายน นี้ และดูแลเอาใจใส่ เด็กนักเรียน โดยให้เว้นระยะห่าง ทั้งในช่วงระหว่างที่มีการเรียนการสอน และช่วงพัก ให้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันตามหลักสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือผู้ปกครองให้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยให้แก่เด็กนักเรียนอย่างน้อย 3 ชิ้นต่อวัน สำหรับใช้ทดแทนเมื่อเด็กทำหล่นหาย


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดลำพูน

ประจวบฯ – คุมเข้ม โรงงานสับปะรดกระป๋อง และตลาดพื้นที่หัวหิน ช่วยสอดส่องแม่ค้าต่างพื้นที่

วันที่ 27 พ.ค. นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคณะกรรมการโรคติดต่อ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอหัวหิน ว่าข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 24 พฤษภาคม 64 จากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 1,596 ราย เสียชีวิต จำนวน 4 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดในอำเภอหัวหิน จำนวน 1,169 ราย รองลงมาคือ อ.ปราณบุรี และ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 212 ราย และ 119 ราย ตามลำดับ กำลังรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 318 ราย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 1,274 ราย การระบาดในระลอกใหม่นี้สาเหตุเริ่มต้นมาจากสถานบันเทิง มีการกระจายเข้าสู่โรงงานสับปะรดกระป๋อง บริษัท ควอลิตี้ ไพน์แอปเปิล โปรดักส์ จำกัด (QPP) ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน ทำให้ยอดผู้ป่วยของจังหวัดสูงขึ้นอีกครั้ง และต่อเนื่องจนพบผู้ป่วยในโรงงานสับปะรดกระป๋อง บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ต.หนองพลับ อ.หัวหิน

จากการสอบสวนโรคในผู้ป่วยรายที่ 1,288 และ 1,413 ทำงานที่บริษัทโดลไทยแลนด์ จำกัด มีประวัติเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยันจากโรงงานสับปะรดกระป๋อง QPP ซึ่งมีการระบาดในก่อนหน้านี้ หลังพบผู้ป่วยในโรงงานสับปะรดกระป๋องบริษัท โดลฯ สำนักงานสาธารณสุข จ.ประจวบฯ สาธารณสุขอำเภอหัวหิน และโรงพยาบาลหัวหิน ได้ร่วมกันวางแผนมาตรการควบคุมจำกัดวงจรการแพร่ระบาดโรคทันทีร่วมกับผู้บริหารบริษัท โดลฯ โดยนำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เป็นแรงงานต่างด้าวหลายร้อยคน มากักตัวในโรงงาน ถึงล่าสุดวันที่ 24 พ.ค.64 พบผู้ป่วยทั้งหมด 56 ราย เป็นชาวไทย 10 ราย เมียนมาร์ 46 ราย

ขณะที่ นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯได้ลงนามในคำสั่งประกาศจังหวัดที่ 5213/2564 ให้จัดตั้งสถานที่กักกันโรคผู้มีความเสี่ยงสูง14 วัน ภายในโรงงานของบริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด โดยโรงงานสามารถเปิดสายการผลิตสับปะรดกระป๋องได้ตามปกติ เนื่องจากการปิดโรงงานจะมีปัญหาการกระจายตัวของแรงงานไปพื้นที่อื่น ทำให้ยากกับการควบคุม สำหรับบริษัทโดลฯจะใช้แนวทางการบริหารจัดการนำผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากนั้นจะกักตัวแรงงานเมียนมากว่า 1,500 คนตลอด 24 ชั่วโมงไว้ในหอพักของโรงงานฯ เพื่อให้ชุมชนรอบโรงงานปลอดภัย หากสถานที่กักกันไม่เพียงพอประกาศคำสั่งได้กำหนดสถานที่ภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตวังไกลกังวล และโรงแรมแอทเดอร่า ต.หินเหล็กไฟ โดยห้ามมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับบริษัทโดลฯมีพนักงานกว่า 3,900 คน เป็นแรงงานเมียนมากว่า 1,500 คน แรงงานชาวไทย 2,400 คน ล่าสุดมีการติดตามแรงงานเมียนมาจำนวนมากกลับไปกักตัว ส่วนสายการผลิตในโรงงานจะมีแรงงานไทย 1,900 คน ทำงานตามปกติ

นายพรหมพิริยะ กล่าวอีกว่า บริษัทโดลฯมีพื้นที่กว้างขวางกว่าบริษัทอื่น ซึ่งในส่วนนี้จะสามารถควบคุมคนที่จะเข้าสู่ quarantine ในการกักกันไปอยู่ในที่พักเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันในสายการผลิต บริษัทโดลฯจะต้องปรับสายการผลิตลงจากเดิม 2 รอบ เหลือ 1 รอบ คนที่ไปปฏิบัติงานน่าจะ 1,000 คนเศษ อันนี้ก็ดำเนินการตามปกติของโรงงานเขา ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลใกล้ชิดในส่วนนี้อยู่ ส่วนเรื่องตลาดต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญที่เราจะต้องดูแลซึ่งจะเห็นได้ว่าแรกๆจะเริ่มเกิดจากตลาดกุ้งสมุทรสาครไปตลาดบางแค ไปตลาดปทุมธานี ไปตลาดบางใหญ่และตลาดอื่น ๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่พี่น้องประชาชนจะต้องระมัดระวังดูแลตนเอง ขณะเดียวกันท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฯได้แจ้งให้ที่ทำการปกครองจังหวัดดำเนินการดูว่าตลาดเป็นของใคร ใครเป็นเจ้าของบ้าง ซึ่งจะต้องร่วมไม้ร่วมมือในการรักษาความสะอาด และกำหนดควบคุมการดูแลตลาด ต้องมีการทำความสะอาดทุกวันในส่วนนี้ก็ต้องฝากผู้ที่เป็นเจ้าของตลาดให้ช่วยดำเนินการ ส่วนแม่ค้าเร่ แม่ค้าจร ก็ต้องอยู่ในการควบคุมดูแลว่าใครมาจากไหน มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ก็ได้ฝากให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งไปว่าให้ช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วย" นายพรหมพิริยะ กล่าว

ด้าน นพ.สุริยะ กล่าวถึงกรณีขยะติดเชื้อจากที่เกิดขึ้นจากสถานที่กักตัว โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลหัวหินว่า เราได้ดำเนินการตามมาตรฐานอยู่ก็คือ ถ้าส่วนที่เป็นโรงพยาบาลสนามที่ราชมงคลฯหรือพื้นที่ต่างๆเรามีบริษัทกำจัดขยะติดเชื้อที่มีคอนแทคอยู่ เราได้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะเป็นบริษัทเดียวกันกับที่มาเก็บขยะของของโรงพยาบาลหัวหิน และโรงพยาบาลปราณบุรี จะมาเก็บที่โรงแรมที่ราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันที่ไปเก็บที่โรงแรมหัวหินแกรนด์  และส่วนที่บริษัทโดลเองเพิ่งจะเริ่มต้น ยังไม่ได้คุยเรื่องนี้ แต่ทิศทางก็เป็นทำนองเดียวกัน คือให้บริษัทนำไปกำจัดให้หมด ซึ่งมันมีกระบวนการในการจัดการอยู่แล้ว โดยนำไปกำจัดที่ จ.สมุทรสาครในการทำลายเชื้อ ในอดีตที่ผ่านมาที่เราทำคือ ได้รวมตัวกันหลายโรงพยาบาลในการที่จะเลือกบริษัท จากนั้นก็อยู่ที่บริษัทเองว่าเขามีกระบวนการที่จะจัดการขยะอย่างไร แล้วก็ตกลงสัญญากันว่าจะให้ทำแบบไหน ทาง จ.สมุทรสาครเองก็จะช่วยคุมให้ ณ ตอนนั้น ส่วนตอนนี้เองเกิดการระบาดที่จังหวัดสมุทรสาครยังบอกไม่ได้ว่าระบบมันยังดีเหมือนเดิมหรือเปล่า เพราะว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว โดยตามกติกาที่กำหนดไว้ เขาจะมาเก็บสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยจะมาเก็บทุกวันอาทิตย์เท่าที่ทราบ แล้วก็ครั้งหนึ่งไม่เกิน 500 กิโลกรัมด้วยรถขนของเขา แต่ถ้าสมมุติว่าขยะที่มันเกิน เขาก็จะค้างไว้อีกอาทิตย์หนึ่งแล้วค่อยเข้ามา เรื่องเก็บอยู่ที่เขา เพราะว่าเขามีคิวที่จะเก็บจังหวัดอื่นๆ ไล่เรียงตามคิวอยู่เหมือนกัน


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เพชรบุรี – นักอนุรักษ์เฮ ! เต่ากระ ขึ้นวางไข่เกาะทะลุต่อเนื่อง

วันที่ 27 พ.ค. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี ได้รับรายงานจาก นายภัทร อินทรไพโรจน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ) ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ขณะลาดตระเวนและเฝ้าระวังการขึ้นวางไข่ของเต่ากระในพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์

พบร่องรอยการขึ้นวางไข่ของแม่เต่ากระอย่างต่อเนื่องแต่ไม่พบตัวแม่เต่ากระ บริเวณอ่าวเทียน พิกัด 47 P 560368 E 1223962 N ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) เจ้าหน้าที่จึงสำรวจบริเวณโดยรอบ พบหลุมวางไข่และได้ทำการขุดหลุมรังไข่เพื่อทำการย้ายรัง นับเป็นรังที่ 3 มีจำนวนไข่ทั้งหมด 86 ฟอง วัดขนาดรอยพายได้ 78 เซนติเมตร ความกว้างของหลุม 25 เซนติเมตร ความลึกของหลุม 44 เซนติเมตร ก่อนทำการเคลื่อนย้ายไข่เต่าไปยังจุดอนุบาลฯ ต่อไป ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับ "เต่ากระ" ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Eretmochelys imbricata (Linnaeus,1766) เป็นสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ สถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ด้วย


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชลบุรี - เมืองพัทยา เตรียมชงแผนเปิดเมืองรับ นทท.ต่างชาติ แบบไม่กักตัวหากแผนการฉีดวัคซีนตรงเป้า 70 %

เมืองพัทยา ร่วม ททท.พัทยา และภาคธุรกิจ เตรียมชงแผน SOP แผน Pattaya move on  เปิดเมืองรับท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ไตรมาส 4 ให้ ศบค.พิจารณาก่อนกลางเดือน มิ.ย.นี้ หากแผนการฉีดวัคซีนประชาชนตรงเป้า 70 %

ที่ ศาลาว่าการเมืองพัทยา นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธานประชุมแผน Pattaya move on  พร้อมด้วย นายขจรเดช อภิชาตตรากุล ผอ.ททท. สำนักงานพัทยา นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก นายบุญอนันต์ พัฒนสิน เป็นนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และตัวแทนภาคท่องเที่ยว เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

โดยในที่ประชุมได้มีการหารือและข้อสรุปการจัดทำแผน Pattaya move on  ในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ได้รับวัคซีนแล้วมายังพื้นที่เมืองพัทยา อำเภอบางละมุงและอำเภอสัตหีบ โดยไม่ต้องกักตัวแต่ต้องอยู่หรือในพื้นที่ 2 อำเภอนี้อย่างน้อย 7 วัน ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ภายใต้แนวคิด Neo Pattaya ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับรับนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มประเทศที่จะเปิดรับเข้ามาในพื้นที่นั้นจะเป็นกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ ตามรายชื่อจากกระทรวงสาธารณสุข และเป็นนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉัดวัคซีนครบตามเกณฑ์วัคซีนแต่ละชนิดแล้วในระยะเวลาการฉีดวัคซีนมากกว่า 14 วันแต่ไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้วัคซีนที่นักท่องเที่ยวได้รับจากประเทศต้นทางนั้นจะต้องรับรองโดนรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจโควิด-19 มาแล้วก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง พร้อม Covid-19 free Certificate

โดยนักท่องเที่ยวต้องพักอาศัยอยู่ในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+และสามารถทำกิจกรรมใช้บริการได้จากสถานประกอบการตามพื้นที่ที่กำหนดที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ เท่านั้น อีกทั้งจะต้องรายงานตัวผ่านระบบแอพพลิเคชั่นที่รัฐบาลกำหนดทุกวันตลอดเวลา 7 วัน ที่พักอยู่ในพื้นที่ ซึ่งแผน Pattaya move on เป็นการดำเนินการ ภายใต้มาตรการ SOP หรือ Standard Operation Procedure  12 มาตรการ อาทิ 1.มาตรการรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศของ่ทาอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและสุวรรณภูมิ 2.มาตรการเดินทางจากสนามบินเข้าที่พัก 3. มาตรการบริการบริการระหว่างลูกค้าเมื่อมาถึงจุด Check in ของโรงแรม 4.มาตรการท่องเที่ยวชายหาด 5.มาตรการจัดการสำหรับพื้นที่พักผ่อนแบบองค์รวม 6.การท่องเที่ยวและการเดินเรือ และ 7.มาตรการสำหรับผู้ให้บริการ โดยสถานประกอบการ หรือโรมแรมที่จะเข้าร่วมต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน SHA+ เป็นหลัก ซึ่งการดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะบรรลุเป้าหมายนั้นประชากรและแรงงานในพื้นที่เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 70 % ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อจะสามารถเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวในฤดูกาลท่องเที่ยวปลายเดือนตุลาคม 2564 โดยมีกลุ่มประเทศเป้าหมายหลัก คือเยอรมันและรัสเซีย

ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับแผน Pattaya move on เป็นความร่วมมือระหว่างเมืองพัทยา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานพัทยา โดยได้มีการนำเสนอผ่าน ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการหารือเพื่อจะเดินหน้าต่อด้านการท่องเที่ยว อย่างเมืองพัทยา ที่เชื่อมโยงไปกับเรื่องของวัคซีนที่จังหวัดชลบุรี จะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีน เพื่อจะนำมาฉีดวัคให้กับประชาชนตามเป้าหมาย 70% โดยในส่วนของแผน Pattaya move on เป็นการโฟกัสไปยังพื้นที่ท่องเที่ยว โดย ททท.พัทยา ได้นำพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวติดต่อในอำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ เป็นหลัก ในการจัดทำแผนดังกล่าว โดยประชากรที่จะได้รับวัคซีนโควิดตามเป้าหมาย 70 % นั้นจะต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 900,000 โดส ตามแผนของ Pattaya move on ซึ่งได้มีการวางแผนจัดฉีดวัคซีนวันละ 15,000 โดส ในพื้นที่พัทยา และพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้สามารถเปิดเมืองพัทยารับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ในไตรมาสที่ 4 ตามแผนที่รัฐบาลกำหนดไว้

ทั้งนี้แผน Pattaya move on ที่เมืองพัทยา ททท.พัทยา และภาคธุรกิจ ได้ร่วมกันจัดทำขึ้นหลังจากนี้จะได้มีการนำเสนอให้ทางสาธารณสุขเห็นชอบ ก่อนจะผ่านไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และส่งต่อไปให้ ศบค.พิจารณาอนุมัติ ก่อนกลางเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้สอดรับกับแผนการฉีดวัคซีน ที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ โดยในส่วนเมืองพัทยาและภาคท่องเที่ยว ได้มีการเสนอแผนการพิจารณาและการเพิ่มสัดส่วนของวัคซีน ที่จะมีการจัดสรรให้กับจังหวัดชลบุรี เพื่อจะสามรรถขับเคลื่อนการป้องกันการแพร่ะระบาดและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดชลบุรี เดินหน้าต่อไปได้


ภาพ/ข่าว นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

เพชรบุรี - “วราวุธ” มอบ “ยุทธพล” ปลูกต้นไม้ที่เพชรบุรี ย้ำความสำคัญป่าชายเลน

วันที่ 27 พ.ค. นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  เป็นประธานกิจกรรมปลูกต้นไม้เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 มีนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายไพโรจน์ นาครักษา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ นายจำลอง จงศรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ผู้บริหารในสังกัด ทส.ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมบริเวณชายหาดพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกในวันนี้ ประกอบด้วย ต้นจิกทะเลจำนวน 20 ต้น ต้นข่อย ต้นมะนาวผี ต้นแจง ต้นกุ่มบก ต้นเกด อีก 30 ต้น พร้อมเตรียมวางแผนจัดการป่าชายเลนอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่าตนได้เปิดเผยบ่อยครั้งถึงความสำเร็จและความร่วมมือของพี่น้องประชาชนที่ได้มีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่และอนุรักษ์ป่าชายเลนให้ดีขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจส่งผลให้การรวมกลุ่มกันของพี่น้องประชาชนในการแสดงพลังเพื่อปลูกและบำรุงป่าอาจจะเห็นได้ไม่บ่อยครั้งนัก สำหรับวันนี้ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา และเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2532 หลายหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้จัดเตรียมกิจกรรมปลูกป่าบกและป่าชายเลนร่วมกับจิตอาสาและพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพื่อเป็นเครื่องหมายที่สะท้อนให้เห็นว่า พวกเรายังให้ความสำคัญกับทรัพยากรป่าไม้และพร้อมที่จะดูแลและฟื้นฟูผืนป่าให้คงอยู่และเพิ่มขึ้นเช่นนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามวันนี้ผมได้มอบหมายให้ นายยุทธพล อังกินันนทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่และเป็นประธานในกิจกรรมปลูกไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ร่วมกับพี่น้องประชาชนและจิตอาสา นอกจากนี้ตนได้กำหนดแนวนโยบายในการขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน ภายใต้โครงการ Thailand Plus One โดยมุ่งเน้นการรักษาผืนป่าและการลดการเผาที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแถบภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ตนจะได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการสำรวจ ลาดตระเวน และติดตามการดำเนินงานและสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ได้แบบ Real time ขอฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์และคงความสมดุลอย่างยั่งยืนเช่นนี้ต่อไป เพื่อพวกเราเองและเพื่อลูกหลานของเราทุกคน

นายยุทธพล กล่าวว่า วันนี้ตนได้ร่วมกับพี่น้องประชาชนและจิตอาสาในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ร่วมปลูกป่าชายเลนเนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ บริเวณพื้นที่ชายหาด ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงพลังและความร่วมมือของพี่น้องชาวจังหวัดเพชรบุรี ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนในจังหวัด ซึ่งตนได้หารือกับหน่วยงานในพื้นที่ถึงแนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าบกและป่าชายเลนในจังหวัดโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการบุกรุกและการจัดหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่ประสบปัญหาในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจพื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดเพชรบุรี รวมถึง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเลเพื่อวางแผนการบริหารจัดการ รวมถึงการกำหนดมาตรการและแนวทางการตรวจลาดตระเวนร่วมกับภาคประชาชนและอาสาสมัครในพื้นที่อย่างเป็นระบบและเกิดความยั่งยืนในการดำเนินงานต่อไป

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทช. กำลังเร่งรัดประชาสัมพันธ์เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนโดยทั่วไปเข้ามาร่วมปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนให้คืนสู่ความสมบูรณ์ในการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้ กรม ทช.ได้เตรียมพื้นที่พร้อมดำเนินการไว้แล้วประมาณ 1 หมื่นไร่ เพื่อรองรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมอีกทั้งหน่วยงานในสังกัดกรม ทช. ได้จัดเตรียมกล้าไม้ป่าชายเลนไว้บริการแจกฟรีสำหรับหน่วยงานและประชาชนที่มีความประสงค์จะขอรับกล้าไม้ไปปลูกในพื้นที่เอกสารสิทธิ์หรือพื้นที่สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามเหมาะสมโดยติดต่อขอรับกล้าไม้ได้ที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 และศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนทุกแห่งในพื้นที่


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

จันทบุรี - สุดลำบากหญิงวัย 24 ปี คลอดลูกได้ 11 วัน ต้องทนลำบากไม่มีบ้านอยู่ ฝนตกสาดเปียก ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก

ที่ หมู่1 ต.มะขาม อ.มะขาม มีชาวบ้านได้ร้องขอความเห็นใจสื่อมวลชนให้ช่วยเหลือหญิงยากจน อาชีพรับจ้างทั่วไป ที่เพิ่งคลอดลูกใหม่แต่ที่อยู่อาศัยยากแค้น ลำบาก นางสาววิศัลย์ยา ทองแก้ว หรือฟ้า อายุ 24 ปี ที่เพิ่งคลอดบุตรสาวชื่อเด็กหญิงพรพรรณ ทองแก้วหรือว่าน้องน้ำแข็ง โดยเพิ่งคลอดเมื่อวันที่ 16 พ.ค.64 ที่ผ่านมา และได้กลับมาพักอาศัยยังบ้านพักที่ดูสภาพแล้วไม่เหมือนบ้าน มีที่กันฝนเพียงเล็กน้อยไม่มีห้องน้ำไม่มีห้องครัว ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ซึ่งดูแล้วมีความน่าสงสารเป็นอย่างมากเนื่องจากครอบครัวมีความยากจน อาศัยอยู่กับสามีชื่อนายธวัชชัย สุขกะชาติ อายุ 38 ปี ทั้งคู่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป

เพิงพักในปัจจุบันตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณะ อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลมะขามเมืองใหม่ โดยทางครอบครัวต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของพี่พักอาศัยที่สามารถใช้หลบแดดหลบฝนได้ เบื้องต้นวันนี้มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่เทศบาลมะขามเมืองใหม่ เจ้าหน้าที่เทศบาลอ่างคีรี และชาวบ้านในแวกใกล้เคียงได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเบื้องต้นในเรื่องอาหารการกินและข้าวของที่จำเป็นสำหรับเด็กอ่อนและทางเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมอยู่ระหว่างการช่วยเหลือเรื่องของเงินเยียวยาบุตร และอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือเรื่องการจัดหาที่พักอาศัยให้กับทางครอบครัวของน้องฟ้าผ่านทาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด และส่วนราชการภาคเอกชนที่พร้อมช่วยเหลือต่อไป


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าวจ.จันทบุรี

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

ประจวบคีรีขันธ์ - ศนชล.บูรณาการหน่วยงาน ตรวจแรงงานต่างด้าว สถานประกอบการ โรงงาน ที่พัก แคมป์คนงาน คัดกรองโควิด-19

วันที่ 27 พ.ค.64 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ศรชล.ภาค 1) โดย น.อ.ไกรพิชญ์ กรวีร์ปภาวิทย์ หน.ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ศคท.จว.ปข.)

ร่วมบูรณาการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กอ.รมน. ฉก.จงอางศึก ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด จนท.ฝ่ายปกครอง ลงตรวจสถานประกอบการ โรงงาน หอพัก บ้านพัก ที่มีแรงงานต่างด้าว

เพื่อตอบสนองมาตรการของจังหวัดในการตรวจค้นหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ให้เข้ากระบวนการตรวจคัดกรองโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอปราณบุรี โดยเข้าทำการตรวจโรงงาน จำนวน 2 แห่ง ท่าเรือแพปลา 1 แห่ง และเรือประมง 1 ลำโดย มีรายละเอียดดังนี้

   1.โรงงานแปรรูปสัปรด บจก.เนเชอรัล ฟรุต ตรวจแรงงานเมียนมาร์ จำนวน 300 คน

   2.โรงงานแปรรูปสัปรด บจก.(มหาชน)สยามอุตสาหกรรม เกษตรอาหาร ตรวจแรงงานเมียนมาร์ จำนวน 303 คน

   3.แพปลาสมนึก ตรวจแรงงานเมียนมาร์ 3 คน

   4.เรือ ส.เลิศสมุทร 111 ตรวจแรงงานเมียนมาร์ 3 คน กัมพูชา 21 คน

ผลการตรวจไม่พบการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่อย่างใด


ภาพ/ข่าว ปชส.ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

สมุทรสงคราม - ศรชล.รับเรื่องร้องเรียนแจกจ่ายวัคซีนไม่เป็นธรรม จากชาวประมง

วันที่ 27 พ.ค.64 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม (ศรชล.จว.สส.) โดย นายชรัส บุญณสะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม/ผวจ.สมุทรสงคราม

(ผอ.ศรชล.จว.สส./ผวจ.สส.) พร้อมด้วย น.อ.นิคม  แจ่มยิ่ง รอง ผอ.ศรชล.จว.สส. และคณกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเรื่องร้องเรียน จากสมาคมประสมุทรสงคราม, สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม และสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด กรณีไม่พอใจการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากกรมควบคุมโรคติดต่อ เพื่อจ่ายให้กับ จว.สส. ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงมาก เพราะอยู่ท่ามกลางระหว่างจังหวัดพื้นที่สีแดงและพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้โอกาสแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีโอกาสสูงมาก โดยตลาดปลาสหกรณ์แม่กลองเป็นตลาดกลางซื้อสัตว์น้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เปิดทำการซื้อขายสัตว์น้ำทุกวันจากชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ซึ่ง จว.สส. ตามแผนที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะได้รับวัคซีนมากสุดช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.64 โดยเกรงว่าจะไม่ทันกับการระบาดของโรคโควิด-19      

ผอ.ศรชล.จว.สส./ผวจ.สส. ได้ชี้แจง พร้อมนำหนังสือที่ได้ทำเรื่องเสนอกรมควบคุมโรคติดต่อ ด่วนที่สุด ที่ สส.0017.1/7098 ลง 26 พ.ค.64 เรื่องขอรับการสนับสนุนการปรับแผนการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับจังหวัดสมุทรสงคราม ให้ผู้ที่มาร้องเรียนได้ดูและรับทราบ ทำให้ผู้ที่มาร้องเรียนเข้าใจและพึงพอใจ จึงได้สลายการรวมตัวในครั้งนี้

 


ภาพ/ข่าว ปชส.ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top