Saturday, 17 May 2025
Region

อยุธยา - บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 คุณอัมพร สุดสงวน ผู้จัดการฝ่ายแผนกลยุทธ์และบริหารนวัตกรรม สถาบันนวัตกรรม ,ว่าที่ร.ต.รุจ ศรีจักรโคตร ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 2 , นายวงศ์พันธ์ ทัศนางกูร ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 11 เป็นตัวแทน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”

โดยได้มอบเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดัน พร้อมอุปกรณ์ รุ่น VELA Plus จำนวน 1 เครื่อง เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูง (Humidifier with integrated flow generator) รุ่น Airvo 2 (สำหรับผู้ใหญ่) จำนวน 5 เครื่อง พร้อมทั้งมอบเงินบริจาคสำหรับซื้อออกซิเจนเหลว (liquid oxygen) จำนวนเงิน 100,000 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,550,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

โดยมีนายโชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พร้อมแพทย์หญิงเสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านลูกค้าสัมพันธ์ เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้รองรับสถานการณ์ COVID-19 และเป็นประโยชน์ด้านการรักษาผู้ป่วยวิกฤติ (ICU Ventilator) และผู้ป่วยของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป


ภาพ/ข่าว  เดชา อุ่นขาว รายงานจากอยุธา

สงขลา - รัฐบาลสั่ง ผลักดันนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชาชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.สงขลา จะมีทั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ เมืองต้นแบบที่ 4

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและกรอบแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ และกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายดำเนินงานขับเคลื่อนพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ ตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และ เชียงราย เมื่อปี 2558 เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ประโยชน์จากการค้าชายแดนและการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สำหรับ ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครอบคลุม 5 จังหวัด ประกอบด้วย สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสนั้น ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ เพื่อสนองนโยบายในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ขับเคลื่อนให้ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เป็นเมืองการค้าชายแดน อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองท่องเที่ยวและพึ่งพาตนเอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน และ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

โดยหนึ่งในวาระพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ มีการหารืออนุญาตให้เทศบาลตำบลสำนักขาม ใช้ที่ราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ดำเนินการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดาแห่งที่ 2 และขอเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ราชพัสดุของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย

สำหรับความคืบหน้าของเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นหนึ่งความหวังของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการแก้ปัญหาการว่างงานของคนในพื้นที่และเป็นแหล่งงานของผู้จบการศึกษาใหม่ นั้น แหล่งข่าวได้เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างทำข้อตกลงให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการที่จะให้ เมืองต้นแบบที่ 4 มี อุตสาหกรรมชนิดไหนบ้าง และไม่ต้องการอุตสาหกรรมชนิดไหน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเพราะอุตสาหกรรมที่เอกชนผู้ลงทุนเสนอมาในแผนเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมติ ครม. มีความชัดเจนว่า อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะไม่มีอุตสาหกรรมหนักที่เป็น ปิโตรเคมี  ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน ก็จะได้คำตอบจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้ผลสรุปที่ชัดเจนเพื่อการเดินหน้าในการขับเลื่อนโครงการดังกล่าว ตามมติ ครม. และการสั่งการของ นายกรัฐมนตรี

แต่อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวได้กล่าวว่า ในส่วนของผู้ลงทุนเองก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชนทั้ง 3 ตำบลมาโดยตลอด รวมทั้งได้ทำโครงการต่างสร้างสังคมในชุมชนตามที่คนในชุมชนต้องการ และในส่วนของผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด ( มหาชน ) ก็ได้มีการลงนาม เอ็มโอยู กับกลุ่มทุนในต่างประเทศ และในประเทศ ที่สนใจในการที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรม พลังงาน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ชลบุรี - กองทัพเรือโดย ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ระหว่างเวลา 09.00 – 12.00 น. พลเรือโท โกวิท  อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ในสังกัดกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 รวมทั้งเรือในหมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 และเรือในหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ร่วมบริจาคโลหิตในโครงการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแก้ปัญหาการขาดแคลนโลหิตเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับสภากาชาดไทย โดยมีเจ้าหน้าที่จากภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 3 จว.ชลบุรี เดินทางมาให้บริการรับบริจาคโลหิต ณ อาคารอเนกประสงค์ ทัพเรือภาคที่ 1

ในกิจกรรมนี้ มีกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ที่มาร่วมกิจกรรมบริจาคโลหิต รวมทั้งสิ้น 58 นาย รวมจำนวนโลหิตที่บริจาค 26,100 มิลลิลิตร สนับสนุนให้แก่สภากาชาดไทย ทั้งนี้ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมสาธารณประโยชน์ รวมไปถึงกิจกรรมการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยแก้วิกฤตของชาติ เช่นนี้เสมอ


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือนทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ชลบุรี - ตลาดใหม่ชลบุรีปิด แม่ค้าบ่นอุบ พริกแพง 3 เท่าตัว ตลาดข้างเคียงวอนให้มาซื้อสินค้า

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันแรกที่ตลาดใหม่ชลบุรี อ.เมือง จ.ชลบุรี ปิดการค้าขายไปจนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม เนื่องจากมีการตรวจพบคัสเตอร์การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมาพบไปแล้วทั้งหมด 18 ราย จึงได้ทำการปิดตลาดเพื่อฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งทำความสะอาดไปด้วย ส่งผลให้บริเวณตลาดเงียบเหงาเพราะถือว่าเป็นตลาดค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังได้ส่งผลกระทบกับตลาดข้างเคียง อาทิ ตลาดใหม่พงษ์ศักดิ์ ตลาดนิยมสุข ส่งผลให้ตลาดเงียบเหงาไปด้วย เนื่องจากประชาชนเริ่มมีความหวาดกลัวเกรงว่าจะเกิดคัสเตอร์แห่งใหม่ บรรดาพ่อค้าแม่ค้าวิงวอนให้มาซื้อสินค้า เพราะยังเปิดขายตามปกติ

จากการสอบถาม น.ส.อทิสดา กาฬสินธุ์ แม่ค้าขายอาหารตามสั่งในพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี กล่าวว่า มาซื้อเครื่องประกอบอาหารตามสั่ง จากการที่ปิดตลาดใหม่ชลบุรี ทำให้เกิดผลกระทบเหมือนกัน เพราะต้องซื้อเครื่องประกอบอาหารแพงขึ้น โดยเฉพาะพริก จากการที่ซื้อในราคากิโลกรัมละ 20 บาท พุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 70 บาท สูงถึง 3 เท่าตัว ปกติไม่มีเงินเก็บ ซื้อ-ขายวันต่อวัน แต่หยุดไปถึง 7 วัน เดือดร้อนมาก เพราะหาแหล่งซื้อสินค้าราคาขายส่งไม่ได้


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

สุรินทร์ - โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน ให้บริการทางการแพทย์ตรวจรักษาดูแลสุขภาพ ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน

พร้อมเดินเคาะประตูบ้าน รณรงค์วัคซีนโควิด รับมือปูพรมฉีดประชาชน 1 มิถุนายนนี้ ในพื้นที่ชายแดน

วันที่  24 พฤษภาคม 2564 พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจรักษาดูแลสุขภาพ การแจกจ่ายยา การให้ความรู้การลงทะเบียนและขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด -19 และการคัดกรองสุขภาวะทางจิต ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานป้องกันชายแดนรักษาอธิปไตยของชาติ ณ กองพันทหารปืนใหญ่สนามที่ 62 ทหารปืนใหญ่กองกำลังสุรนารี จำนวน 300 นาย  เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ

จากนั้นพันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พร้อมชุดแพทย์เคลื่อนที่ ได้เดินเท้ารณรงค์ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ รณรงค์ให้ข้อมูลการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เพื่อรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบเคาะประตูบ้าน ร้านค้าชุมชนในหมู่บ้าน

โดยนำหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ไปแจกจ่ายแก่ประชาชนแนวชายแดน ที่บ้านหนองแวง หมู่ที่ 15 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว การดูแลตนเองกับครอบครัวให้ปลอดภัย และ เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ทำให้คนในชุมชนเข้าใจและคลายกังวลว่า การฉีดวัคซีนไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิดไว้ 

นายอุดม จันทนันท์ ชาวบ้านหนองแวง กล่าวว่า หลังจากได้ฟังคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่แล้วรู้สึกคลายกังวล และพร้อมที่จะลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิวัคซีนเพื่อร่วมภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่คนในพื้นที่ด้วย


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า   

กรุงเทพฯ - มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ส่งต่อน้ำใจไทยอีกกว่า 5.6 ล้าน มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เสริมทัพบุคลากรทางการแพทย์ สู้ภัยโควิด-19

วันนี้ (วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564) นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นายสัก กอแสงเรือง รองประธานกรรมการ นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ พร้อมด้วย คณะกรรมการมูลนิธิฯ มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ในโครงการ “ส่งต่อน้ำใจไทย สู้ภัยโควิด-19” แก่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 20 แห่ง และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง รวม 23 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 5.6 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยมี นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พร้อมคณะเป็นผู้รับมอบในส่วนสังกัดสำนักการแพทย์ ณ ลานสำนักงาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ และ ผศ.พิเศษ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา พร้อมคณะ เป็นผู้รับมอบผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกำหนดนัดหมายมอบให้กับรพ.สังกัดกรมการแพทย์อื่น ๆ เพื่อรับมอบต่อไป

อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 4 เครื่อง ชุด PPE (EN 14126) หน้ากาก N95 (ยี่ห้อ 3M / 8210) หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และชุดของใช้ประจำวันหรือชุดแรกรับ มอบให้กับโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม สังกัดสำนักการแพทย์ 20 แห่ง และกรมการแพทย์ 3 แห่ง รวม 23 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กลาง รพ.สิรินธร รพ.นพรัตนราชธานี รพ.สมุทรปราการ รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ รพ.ราชพิพัฒน์ เขตบางแค รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ลาดกระบัง รพ.คลองสามวา รพ.บางนา ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์เอราวัณ) รพ.สนาม เอราวัณ 1 บางบอน รพ.สนาม เอราวัณ 2 หนองจอก รพ.สนาม เอราวัณ 3 ทุ่งครุ รพ.สนาม (รพ.บางขุนเทียน) รพ.สนาม (รพ.ราชพิพัฒน์) เขตทวีวัฒนา รพ.สนาม (รพ.กลาง) Hospital โรงพยาบาลสิรินธร ( โรงแรม Elegant Airport Hotel) เขตประเวศ Hospital โรงพยาบาลตากสิน (โรงแรม บ้านไทย บูทีค) เขตบางกะปิ พร้อมกันนี้ยังได้มีการมอบเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัลแก่สถาบันประสาทวิทยาผ่านระบบออนไลน์

สำหรับการมอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ริเริ่มดำเนินการมามอบมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา โดยในครั้งแรก มูลนิธิฯ ทุ่มงบ 110 ล้านบาท มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั้งในกรุงเทพฯ และถิ่นทุรกันดารในต่างจังหวัด รวม 37 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ มูลนิธิฯ ได้ประสานโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้แสดงความประสงค์สิ่งที่ขาดแคลน และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วน หลังจากนั้นภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) มูลนิธิฯ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุน “ธารน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19” มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์มอบให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนต่อเนื่อง

และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ระลอกใหม่นี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ปรับแผนการดำเนินงานการช่วยเหลือประชาชนทั้งด้านบรรเทาสาธารณภัย สังคมสงเคราะห์ และหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน พร้อมประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเชิงรุกทั้งในส่วนของประชาชน ชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารปรุงสุกเพื่อช่วยเหลือประชาชนในขณะนี้ รวมงบประมาณดำเนินการออกช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 32.9 ล้านบาท

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ติดต่อสอบถาม รวมถึงติดตามข่าวสารกิจกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ – ผู้ประสบภัยต่าง ๆ ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

กาฬสินธุ์ – น้องโวลต์มอบเงินบริจาค 1.2 ล้าน เข้ากองทุนช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจน

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์รับมอบเงินบริจาคจากน้องโวลต์จำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจนจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนมีความประพฤติดี เรียนเก่ง แต่ฐานะทางบ้านยากจน พร้อมกระจายทุนจำนวน 50,000 บาทต่อคนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด 18 อำเภอ

จากกรณีนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ สอบติดคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามแต่ฐานะทางบ้านยากจน จึงทำการเปิดรับบริจาค เพื่อเป็นทุนการศึกษาเรียน และมีผู้ใจบุญบริจาครวมเป็น 3.7 ล้านบาท และได้ปิดบัญชี แต่กลับมีกระแสข่าวดราม่าในสื่อออนไลน์และโลกโซเซียลว่า “จนทิพย์” ซึ่งน้องโวลต์ได้ชี้แจงว่าได้ทำงานเก็บเงินตั้งแต่ ม.3 ซื้อมาด้วยตัวเอง เพราะจำเป็นต้องใช้และสิ่งของบางอย่างไม่ได้มีราคาแพง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก็พบว่ายากจน ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามากำกับดูแลเงินที่ได้รับการบริจาค และมติจัดสรรเป็นเงินในการศึกษาและน้องโวลต์ต้องการที่จะบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อการศึกษาให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเงิน 1.2 ล้านบาทตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมโปงลาง ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ ดร.เพิ่มพูล พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการ จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นายเทอดเกียรติ ขันธ์พิมูล ผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือ น้องโวลต์ ประชุมร่วมกัน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นประธาน มีนายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์กล่าวรายงานแจงรายละเอียดสรุปมติจากการประชุมของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลเงินบริจาคจากผู้ใจบุญที่โอนผ่านบัญชีน้องโวลต์

โดยคณะกรรมการมีมติจัดสรรดังนี้ 1. เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาตลอดหลักสูตรการเรียน 6 ปี จำนวน 1.7 ล้านบาท 2. ค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นระหว่างการศึกษา จำนวน  8 แสนบาท ซึ่งเพียงพอแล้วกับการเรียน และ 3.มอบให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 1.2 ล้านบาท ตามความตั้งใจของน้องโวลต์

จากนั้นนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนรับมอบเงินจำนวน 1.2 ล้านบาทจากน้องโวลต์ พร้อมมอบนโยบายและกล่าวขอบคุณผู้ใจบุญที่บริจาคเงิน และขอบคุณในกุศลเจตนาที่ดีของน้องโวลต์ที่มีความประสงค์มอบเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทุน เพื่อการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ช่วยรุ่นน้องเรียนดีแต่ยากจน ซึ่งทางจังหวัดกาฬสินธุ์ มีนโยบายที่จะจัดต้องกองทุนเพื่อการศึกษามุ่งหวังให้กับนักเรียนที่เรียนดีประพฤติดีแต่ฐานะทางบ้านยากจนให้คลอบคุมทั้ง 18 อำเภอ จำนวนทุนละ 50,000 บาท ต่อคน ต่อปี ตามหลักสูตรที่ผู้ได้รับทุนเข้าเรียนโดยไม่จำกัดสาขาวิชาที่เรียน แต่ต้องมีความประพฤติที่ดี มีผลการศึกษาต่อเทอมที่ดี เพื่อพิจารณามอบทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ต่อไปได้ให้แต่ละอำเภอจัดตั้งกองทุนเป็นการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาอย่างน้อยๆ 18 ทุน ตามความสามารถศักยภาพของแต่ละอำเภอ ผู้ที่ได้รับการพิจารณาทุนการศึกษานั้นต้องเป็นเด็กที่เรียนดี แต่ฐานะทางบ้านยากจนตามสาขานั้นๆตามหลักสูตรที่ได้เข้าเรียนส่งทุนการศึกษาให้ต่อเนื่องตลอดหลักสูตร หลักสูตรละ 50,000 ต่อคน ต่อปี ในแต่ละอำเภอต่างๆสามรถระดมทุน ทำเป็นผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมเข้ากองทุนเพื่อการศึกษา

นายทรงพล กล่าวอีกว่า สำหรับในกรณีของโวลต์ จำนวนเงินที่ได้รับบริจาคเกินกว่าความต้องการนั้น น้องโวลต์ก็มีความประสงค์ที่จะบริจาคเงินจำนวน 1.2 ล้านบาท ให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนการศึกษาให้กระจายไปในแต่ละอำเภอ ขึ้นอยู่กับความพร้อมความสามารถของผู้ได้รับทุนจะเรียนสาขาวิชาใดๆก็แล้วแต่ โดยจะมีคณะกรรมการไปเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกมอบให้กับผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี และจะเตรียมเงินส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เรียนต่อในสาขาวิชาเฉพาะทางและให้แต่ละอำเภอเป็นผู้ติดตามผลของการศึกษาในรูปของคณะกรรมการต่อไป อย่างไรก็ตามขอขอบคุณคณะกรรมการที่กำกับดูแลในส่วนทุนการศึกษาของน้องโวลต์ทุกท่านที่ทำให้เกิดผลดีอันเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ต่อไป

ด้านนางสาวณัฐวดี เหล่าบุบผา หรือน้องโวลต์ กล่าวว่า ขอขอบพระคุณทุกท่านที่บริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาในคณะแพทย์ ตนจะใช้เงินที่บริจาคมาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค และตามที่คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดเห็นชอบและทุกการใช้จ่ายจะผ่านคณะกรรมการทั้งหมด และจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อมอบให้ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งต่อไปยังน้องๆเพื่อนๆที่ประพฤติดีเรียนดี แต่มีฐานะยากจนที่ลำบากเหมือนกับตน ส่งต่อความสุขด้วยการมอบเงินเพื่อเข้ากองทุนเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ตนยืนยันว่าจะตั้งใจเรียนให้จบตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่บริจาคเงินมาและกลับมาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ต่อไป

สุโขทัย - เรือนจำ อบจ.เตรียมพร้อม โรงพยาบาลสนามรับมือโควิด หากแพร่ระบาดในเรือนจำสุโขทัย

เช้าวันนี้ (24 พ.ค.64) วิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยนายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยและนายแพทย์ปองพล วรปราณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ติดตามความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมทำโรงพยาบาลสนามของเรือนจำจังหวัดสุโขทัย

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กระจายเข้าสู่เรือนจำหลายแห่งทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก กรมราชทัณฑ์มีความห่วงใย ในสภาวการณ์ของการระบาด เพื่อให้ญาติผู้ต้องขังและสังคมสบายใจ ได้ให้ทุกเรือนจำทั่วประเทศจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทำโรงพยาบาลสนาม ซึ่งอาจจะต้องกันแดนไว้ 1 แดนเพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนาม เตรียมพร้อมรับมือ ในส่วนของเรือนจำจังหวัดสุโขทัยขณะนี้ได้ใช้อาคารโรงฝึกงาน ในแดนฝึกวิชาชีพ เป็นโรงพยาบาลสนาม สามารถรองรับได้ทั้งหมด 100 เตียง โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 50 เตียง

นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำและแพทย์ที่จะมาดูแล ว่าจังหวัดสุโขทัยโดยเรือนจำจังหวัดสุโขทัยและเรือนจำอำเภอสวรรคโลกได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายในเรือนจำเป็นอย่างดี โดยจะดำเนินการตรวจหาเชื้อผู้ต้องขังทั้งเรือนจำให้ครบ 100% มีการคัดกรองรายใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขังเข้าใหม่ออกศาล หรือกลับจากโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และเร่งตรวจหาเชื้อโดยเร็วที่สุด และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะจำหน่ายจากแดนกักควบคุมโรคไปยังแดนทั่วไป จากเดิมที่มีการคัดกรอง 3 วันแรกจะเปลี่ยนเป็นคัดกรองตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกก่อนที่จะส่งไปเข้าเรือนจำ ทั้งนี้จะมีทีมแพทย์ละพยาบาลเข้ามาดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ด้านนายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยเพื่อสร้างโดมอเนกประสงค์ (covid -19) อีกจำนวน 1 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พักรักษา และบุคลากรในการปฏิบัติงานให้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น  หลัง ซึ่งปัจจุบันเรือนจำจังหวัดสุโขทัยมีผู้ต้องราชทัณฑ์ 1077 คน

นครนายก - พระนักพัฒนา มอบข้าวสารวันละ 100 ถุง 13 วัน 13 หมู่บ้าน ช่วยภัยโควิด -19

ที่วัดดงละคร ต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก จัดโครงการ”โคกหนอง วัดดงละคร”มอบข้าวสาร วันล่ะ 100 ถุง เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด -19

โดย ดร.พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร ร่วมกับ พุทธศาสนิกชนศัทธาวัดดงละคร ได้ทำตามหลักทฤษฎีในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 คือให้ทำทานหรือแจกทานกับผู้ยากไร้หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและอสม. เช็ครายชื่อลูกบ้านของแต่ล่ะหมู่ ในเขต ต.ดงละคร โดยจะทำการแจกข้าวสารทั้ง ต.ดงละคร วันล่ะ 100 ถุง แจกทั้งสิ้น 13 วัน 13 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 1,300 ครัวเรือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนในเขต ต.ดงละคร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพราะเราจะไม่ทิ้งกัน เราจะผ่านมันไปด้วยกัน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านและ อสม. จะเป็นผู้ประสานนำชาวบ้านมารับมอบข้าวสารที่วัดดงละคร ทั้งนี้ได้ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด สวมแมส วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และลงทะเบียนเข้ารับมอบข้าวสารทุกคน

ทั้งนี้ ดร.พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร และผู้รับใบอนุญาต/ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิริวัฒน์ เป็นพระนักพัฒนา หาปัจจัยสร้างโรงเรียนให้เด็กได้เรียนฟรี ใครอยากบวชแต่ไม่มีเงินก็บวชให้ฟรี เสียชีวิตไม่มีเงินทำศพก็เผาให้ฟรี จัดหารถวิลแชร์และเตียงผู้ป่วยให้กับผู้ป่วยติดเตียงฟรี และที่วัดดงละครยังได้จัดทำโคกหนองนาโมเดล ซึ่งผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ ของจังหวัดนครนายก (สัมภาษณ์ ดร.พระมหาสิริวัฒนา  สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร)


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

แม่ฮ่องสอน - โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง พื้นที่ใกล้การสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ชูแผนการสอนตามบริบท ให้เด็กได้รู้ทักษะการใช้ชีวิตในภาวะสงคราม เน้นความปลอดภัยและฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กเป็นสำคัญ

นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า เดิมกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปิดการเรียนการสอน ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่จากการประเมินความพร้อมตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของโรงเรียน ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ยังคงมีการปะทะอย่างต่อเนื่องจากกองกำลังทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลให้โรงเรียนที่กำลังจะเปิด จึงเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 อย่างไรก็ตาม หากเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์แทรกซ้อน โรงเรียนมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ความสำคัญ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นสำคัญ ซึ่งหากเกิดเหตุได้เตรียมแผนรวบรวมพลเรือน อพยพเข้าไปยังจุดรวมพล พร้อมจัดสรรที่พักอาศัยและอาหาร เรียบร้อยแล้ว  

ส่วนแผนการเรียนการสอนจะปรับรูปแบบการเรียนการสอน บนฐาน "ทุนที่เรามี" "บริบทที่เราเป็น" และ "พรุ่งนี้ที่อยากเห็น" ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มากที่สุด เน้นการออกแบบโดยใช้สถานการณ์ (Phenomenon Based Learning) เช่น ในภาวะสงครามเช่นนี้ จะสร้างทักษะชีวิตด้านใดให้กับนักเรียน การพักอาศัยอยู่ในป่าต้องทำอย่างไร รวมถึงการบริหารจัดการ เรื่องความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เป็นต้น และที่นี่สอนได้แต่แบบออนไซท์เพราะมีเพียงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ยังไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตที่สัญญาณต่ำมากไม่เสถียร และยังขาดอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็กอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ในห้วงที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้ร่วมกับคริสตจักรบ้านท่าตาฝั่ง เยียวยาเรื่องสภาพจิตใจของนักเรียน ผู้ปกครอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเด็ก ๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้เด็กต้องหนีภัยสงคราม ที่ยากกว่านั้นเด็ก ๆ ต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพราะยังกลัวกับเสียงปืนและระเบิด ครูจึงต้องปรับการสอนฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กอันดับแรก ในขณะนี้เด็ก ๆ ยังอยู่กับครอบครัว ญาติพี่น้อง ในอนาคตหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ทางโรงเรียนจะเตรียมความพร้อมเรื่องที่พัก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมให้กับนักเรียนต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top