Friday, 16 May 2025
Region

เชียงราย - โควิด-19 ลามเกาะคาสิโนคิงส์โรมัน เกือบ 300 คน ในเขตชายแดนสามเหลี่ยมทองคำ

คิงส์โรมันเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เกือบ 300 คน หลังเกิดการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จีนส่งทีมแพทย์ฉีดชิโนฟาร์ม ให้กับพนักงานควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมทั้งขอความร่วมชาวประมงไทยงดทำการประมงเส้นเขตแดน

วันที่ 17 พ.ค. 64 พบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในโครงการคิงส์โรมัน ที่อยู่ในเขตเศรษฐพิเศษสามเหลี่ยมคำ แขวงบอแก้ว สปป.ลาว ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบว่าตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อรวมจำนวน 284 ราย เป็นคนจีน 81 คน ลาว 138 คน เมียนมา 33 คน และไทย 7 คน โดยล่าสุดได้มีทางสาธารณสุขจากประเทศจีนเดินทางไปแก้ไขการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำแล้ว ขณะที่ทาง จ.เชียงราย ได้ประสานไปยังเขตดังกล่าวเพื่อขอรับคนไทยข้ามกลับมาแล้ว

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำได้มีการประกาศปิดการเข้าออก หรือล็อคดาวน์เขตระหว่างวันที่ 6-20 พ.ค.64 โดยมีการระดมฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มจากประเทศจีนให้กับพนักงาน  แล้วจำนวน 223 คน  และได้มีประกาศจากแขวงบ่อแก้วให้ล็อคดาวน์เมืองและหมู่บ้านทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ทั้ง 5 เมืองของแขวงบ่อแก้ว โดยได้ขอความร่วมมือมายังพื้นที่ชายแดน จ.เชียงราย ที่ติดกับแม่น้ำโขง ให้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านงดการทำประมงในแม่น้ำโขงที่เป็นเส้นเขตแดนเพื่อป้องกันกลุ่มคนปะปนไปกับชาวประมงลักลอบเข้าหนีเข้าเมืองได้


ภาพ/ข่าว  วัตร ลาพิงค์ / หมายเหตุภาพจาก คาสิโนคิงส์โรมัน

สุโขทัย - ทหารลุยสวนส้มแม่สิน อุดหนุนผลผลิต หลังจากพิษโควิดระบาด ราคาตกฮวบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.เสมอ แจ่มใส ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ ที่ 4มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหารในสังกัด ร่วมกับ พ.อ.หญิง คชาภา หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผนฯ กอ.รมน จังหวัดสุโขทัย พ.ท.คะเนตร รักวุ่น รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผนฯ กอ.รมน จังหวัดสุโขทัย พร้อมให้ เจ้าหน้าที่ทหารร่วมลงพื้นที่สวนส้มเขียวหวานที่ หมู่ 1 ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  ซึ่งเป็นของนายกิตติชัย พองาน  อายุ 28 ปี เพื่อสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตามที่ นายจักราวุธ ยาน้อย ได้ลงเฟซบุ๊กขอความช่วยเหลือเรื่องส้มเขียวหวาน ผลผลิตออกจำหน่ายไม่ได้ทำให้ราคาดิ่งลงมามากเมื่อเทียบกับทุก ๆ ปี หากเก็บใว้ก็ไม่ได้เพราะส้มเขียวหวานถึงอายุเก็บผลผลิตแล้วถ้าไม่เก็บจะทำให้ผลส้มนั้นเกิดความเสียหาย   


จากการสอบถามนายกิตติชัย พองาม เจ้าของสวนให้การว่า ผลผลิตส้มเขียวหวานนั้นขายไม่ได้เนื่องจากพิษโควิด-19 แม่ค้าส่วนมากจะรับซื้อแต่ส้มที่ลูกเล็กส่วนลูกใหญ่จะขายไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจำหน่ายดังกล่าว จึงขอฝากพี่น้องที่ได้ดูข่าวนี้แล้วมาช่วยซื้อส้มเขียวหวานตนเองเบอร์ใหญ่สุดขายเพียงกิโลละ 18 บาทเท่านั้น และในวันนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้ช่วยซื้อส้มเขียวหวานจำนวน 200 กก. เพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับกำลังพล และพลทหารกองประจำการ

ทางด้าน นายจักราวุธ ยาน้อย ตัวแทนชาวสวนที่นำเรื่องราวไปลงในเฟซบุ๊ก บอกถึงสาเหตุว่า ซึ่งปัจจุุบันในการจำหน่ายสู่ท้องตลาดหรือการรับชื้อของพ่อค้าคนกลางนั้นลดน้อยลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโควิด-19 ที่กระจ่ายอยู่ทุกพื้นที่ ส่งผลให้พ่อค้าที่จะเดินทางมารับซื้อนั้นเดินทางเข้ามาในพื้นที่อยากลำบาก ประกอบกับช่วงนี้สภาพอากาศมีพายุฝน ทำให้ผลผลิตเสียหาย  ชาวสวนต้องเร่งเก็บผลผลิตส้มเพื่อจำหน่ายในราคาที่ต่ำก่อนที่จะได้รับผลกระทบเสียหายมากกว่านี้  
ในวันนี้ตนเองและชาวสวนส้มเขียวหวานหมู่ 1 ตำบลแม่สิน รู้สึกดีใจอย่างมากที่มีทหารลงมาช่วยดูเรื่องปัญหาและช่วยซื้อส้มเขียวหวาน และหวังว่าจะได้รับการแก้ไขในเร็ว ๆ นี้



ภาพ/ข่าว  พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย
 

ชลบุรี - กองเรือยุทธการ บริจาคโลหิตฝ่าวิกฤตโควิด-19 เนื่องในวันอาภากร

พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในการจัดกิจกรรม กองเรือยุทธการ บริจาคโลหิตช่วยวิกฤตชาติ เนื่องในวันอาภากร ประจำปี 2564 มีคุณสุนันท์  สมานรักษ์ ประธานชมรมภริยากองเรือยุทธการ พร้อมคณะร่วมกิจกรรมฯ และร่วมมอบของ เพื่อให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ของกองทัพเรือ ให้มีพลังร่วมกันฝ่าวิกฤตชาติ COVID-19 ณ ห้องคลังเลือด โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี   

จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้บริจาคโลหิตมีจำนวนลดลงทั่วประเทศ ทำให้ปริมาณโลหิตสำรองขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของกองทัพเรือ และเป็นศูนย์รับบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย ที่รองรับผู้ป่วยในพื้นที่ จ.ชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เข้าสู่ภาวะของการขาดโลหิตอย่างหนัก จนกระทั่งปัจจุบันจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ระรอกที่ 3 ก็ยังคงอยู่ในสภาวะวิกฤตของการขาดโลหิต กองเรือยุทธการ จึงได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนกำลังพลร่วมกิจกรรมบริจาคโลหิตในครั้งนี้

โดยจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตฯ ขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 18 พ.ค.64 มีกำลังพลของกองเรือยุทธการ ที่มีความตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 149 นาย นับเป็นโลหิต จำนวน 149 ยูนิต หรือประมาณ 67,050 ซีซี

ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ที่ตั้งไว้ว่า กองเรือยุทธการต้องร่วมแรงร่วมใจในการร่วมแก้วิกฤตของชาติ จาก COVID-19 อย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งกิจกรรมหนึ่งคือการบริจาคโลหิต โดยได้จัดกิจกรรมบริจาคโลหิตในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากวันที่ 8 ก.พ.64 ร่วมกับกาชาดจังหวัดชลบุรี และจะดำเนินการจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตเป็นระยะไปจนถึง วันที่ 30 ก.ค.64 หรือจนกว่าสถานการณ์การขาดโลหิตจะบรรเทา สอดคล้องกับนโยบายของกองทัพเรือ ในการร่วมแก้ปัญหาการขาดแคลนโลหิตในภาพรวมของประเทศ อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ระยอง - นายกช้าง รณรงค์ให้ชาวระยองฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 หากเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน จ่ายทันที 500,000 บาท

เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 ที่ห้องประชุมชั้น 3  อบจ.ระยอง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง เปิดแถลงข่าวรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนชาว จ.ระยอง ไปรับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ทุกคน เพื่อให้ จ.ระยอง เป็นจังหวัดที่ปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19
นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง กล่าวว่า หลังจากที่ตนติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 เม.ย.64 ที่ผ่านมา แต่โชคดีที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 1 เข็ม จึงทำให้อาการทั่วไปไม่รุนแรง เชื้อไม่ลงปอด ล่าสุดหายเป็นปกติแล้ว ซึ่งตนได้เล็งเห็นถึงประโยนช์ของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ดังกล่าว จึงควรให้ประชาชนชาว จ.ระยอง เข้ารับการฉีดวัคซีนกันทุกคน เพื่อทุกคนจะได้ปลอดภัยจากโควิด-19 เพราะการฉีดวัคซีนมีประโยชน์กว่าไม่ฉีด และไม่ต้องไปกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากการฉีด เพราะ ทางภาครัฐก็มีประกันให้ หากใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนมีการจ่ายเงินช่วยเหลือ จำนวน 400,000 บาท โดยตนจะควักเงินส่วนตัวจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มให้อีก โดยทางตนได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ต่อการฉีดวัคซีน จึงได้เสนอจ่ายเงินส่วนตัวจากผลกระทบต่อการฉีดวัคซีน 


โดยฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต หรือพิการถาวร ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน จ.ระยอง ที่ทะเบียนบ้านอยู่ในระยอง จ่าย 400,000 บาท  ประชาชนที่มีทะเบียนบ้านและเป็นชาวระยองโดยกำเนิด จ่ายเพิ่มให้ 100,000 บาท เป็น 500,000 บาท ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการพิการหรือสูญเสียอวัยวะทางร่างกาย จ่าย 240,000 บาท เป็นประชาชนที่มีทะเบียนบ้านเป็นชาวจ.ระยองโดยกำเนิด จ่าย 340,000 บาท บาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ใน จ.ระยอง จ่าย 100,000 บาท สำหรับประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน จ.ระยอง จ่าย 200,000 บาท ส่วนประชาชนที่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน จ.ระยอง จะตรวจสอบหลักฐานจากบัตรประกันสังคม และบัตรพนักงานแต่ก็จะต้องตรวจสอบกันอย่างละเอียดว่าอาศัยอยู่ใน จ.ระยอง จริง และมีเงื่อนไขว่าต้องฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ขอเชิญให้ชาวระยอง ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิดทุกคน หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อได้ที่ อบจ.ระยอง


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน 
 

ขอนแก่น - กฟผ.และบริษัทในกลุ่มกฟผ. มอบเงินสนับสนุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นางจิรประภา ศิริสูงเนิน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น 
เป็นประธานรับมอบเงินจำนวน 1,900,000 บาท จากนายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายไวฑูรย์ เกียรติเฉลิมคุณ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง และนายสหชาติ พิลาออน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทในกลุ่ม กฟผ. เพื่อสนับสนุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 5 โรงพยาบาล ได้แก่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จำนวน 500,000 บาท โรงพยาบาลขอนแก่นจำนวน 500,000 บาท โรงพยาบาลชุมแพจำนวน 300,000 บาท โรงพยาบาลน้ำพองจำนวน 300,000 บาท และโรงพยาบาลสมเด็จพระเด็จพยุพราชกระนวนจำนวน 300,000 บาท 


นอกจากนี้ยังได้มอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่กดเจลแอลกอฮอล์แบบเท้าเหยียบพร้อมเจลแอลกอฮอล์ขนาด 450 มล.10 ชุด หน้ากากอนามัย 1,000 ชิ้น หมวกคลุมผม 1,000 ชิ้น ถุงมือยาง 1,000 ชิ้น ชุดกาวน์กันน้ำ 100 ชุด น้ำดื่ม 100 โหล ให้สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และน้ำดื่ม 100 โหลให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อใช้ในการออกปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและเฝ้าระวัง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่นี้ กฟผ.และบริษัทในกลุ่ม กฟผ. ได้แก่ บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ระดมเงินงบประมาณจำนวน 81 ล้านบาท เพื่อร่วมบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 149 โรงพยาบาล นำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของบุคลากรทางการแพทย์ และนับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 กฟผ.ได้สนับสนุนงบประมาณรวม 400 ล้านบาทในการสนับสนุนการทำ จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ให้กับโรงพยาบาล 300 โรงพยาบาล และชุมชนกว่า 1,000 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตามแนวการดำเนินงานว่า กฟผ.เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต


 

ขอนแก่น - มข. คว้ารางวัล “เหรียญเงิน” ระดับนานาชาติ จาก “อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่” ณ สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์

“อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device” คว้ารางวัล “เหรียญเงิน” ระดับนานาชาติ จากผลงานประกวด 800 ชิ้น กว่า 40 ประเทศ ของการประกวดแข่งขัน Geneva Inventions ในงาน The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์

โดย “อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device” เป็นสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากทีมวิจัยสหสาขาวิชาชีพจากคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.ทพ.พูนศักดิ์ ภิเศก เป็นหัวหน้าทีม โดยผลงานดังกล่าว มีจุดเริ่มต้น ในปี พ.ศ. 2561 ในรายวิชาโครงการวิจัยทางทันตกรรม ซึ่งรศ.พูนศักดิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย และนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ประกอบด้วย นทพ.วนิดา อัครโชติสกุล, นทพ.ชลนภา พัฒนภิรมย์ และนทพ.ธนาภรณ์ นีละกาญจน์ (ปัจจุบันทุกท่านสำเร็จการศึกษารับราชการเป็นทันตแพทย์แล้ว) สนใจออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โดยมี รศ.ดร.สุรสิทธิ์ ปิยะศิลป์ คณะวิศวกรรมศาสตร์, ผศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา คณะแพทยศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในลักษณะของทีมสหสาขาวิชาชีพ และต่อยอดด้วยการศึกษาเชิงคลินิกของ ทพญ.สุลาวัลย์ แววสง่า นักศึกษาหลังปริญญาหลักสูตรวุฒิบัตร สาขาทันตกรรมจัดฟัน โครงการวิจัยนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ “Research Fantasia Season X” จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาผลงานนี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการใช้งานในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ในโรงพยาบาลและสถานบริการทั่วประเทศ โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายอุปกรณ์นี้จาก สปสช.

ในปีพ.ศ. 2562 ผลงานนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม (National Innovation Awards for Social Contribution 2019) จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ปี พ.ศ.2563 ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ปี พ.ศ.2564 ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดแข่งขัน ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ จนคว้ารางวัลระดับนานาชาติในครั้งนี้

รศ.ทพ.ดร. พูนศักดิ์ ภิเศก หัวหน้าทีมผู้คิดค้นอุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “การออกแบบอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ได้ทำการวิจัยร่วมกันในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเริ่มจากนักศึกษาทันตแพทย์ระดับปริญญาตรีได้ทำการศึกษาออกแบบพัฒนาเครื่องมือเป็นตัวต้นแบบ ตามมาด้วยการศึกษาวิจัยต่อยอดทางคลินิกโดยนักศึกษาหลังปริญญาในหลักสูตรทันตแพทย์ประจำบ้านสาขาทันตกรรมจัดฟัน ได้ศึกษาผลของอุปกรณ์นี้ในเชิงคลินิก ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่องติดตามผลการใช้งานในผู้ป่วยหลังใช้เครื่องมือนี้ในการผ่าตัดตกแต่งจมูกและริมฝีปาก โดยคณาจารย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย เดิมทีอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ยังไม่มีการผลิตขึ้นมาในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาชิ้นละ 3,500 – 4,000 บาท ต่อชิ้น ซึ่งคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ 1 คนต้องใช้ประมาณ 3 ชิ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย 1 คน อยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท เมื่ออุปกรณ์นี้สามารถผลิตได้สำเร็จจะทำให้ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและต้นทุนการผลิตถูกลง เฉลี่ยชิ้นละ 200-300 บาท ทำให้ค่าอุปกรณ์ในการรักษา ลดลงถึง 10 เท่า สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ ผมขอขอบคุณ ผศ.ทพ. วัชรินทร์ หอวิจิตร ผศ.ดร.ทพ. เอกสิทธิ์ มโนสุดประสิทธิ์ อ.ดร.ทพญ. พุทธธิดา วังศรีมงคลและ คุณสุธีรา ประดับวงศ์ ที่มีส่วนช่วยเหลือในงานวิจัยและเตรียมการประกวดแข่งขัน ขอขอบพระคุณประธานมูลนิธิตะวันฉาย ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น รศ.(พิเศษ) ดร.ทพญ. สมใจ สาตราวาหะ และท่าน รศ.ดร.ทพญ. วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด”

“อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ หรือ Nasal Creator Device” เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร (อย.) เป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย และได้มาตรฐาน ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) จึงอนุมัติให้สถานพยาบาลทั่วทุกประเทศได้ใช้งาน และยังได้ส่งต่อไปในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชาอีกด้วย

ชลบุรี - วางแผนฉีดวัคซีน 3 หมื่นคนต่อวัน ผู้ติดเชื้อโควิดลดลงต่อเนื่อง

จังหวัดชลบุรี จัดเตรียมสถานที่พร้อมและศักยภาพบุคลากรที่ให้บริการฉีดวัคซีนได้ 3 หมื่นคนต่อวัน  ขณะที่ภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19  ลดลงต่อเนื่อง
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมชลบุรี ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อไวรัสโควิด-19  ครั้งแรก เพื่อเตรียมความพร้อมบูรณาการขับเคลื่อนการกระจายแจกจ่ายวัคซีน การลงทะเบียนรับวัคซีนและฉีดวัคซีน ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ


โดยนายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี สรุปภาพรวมบริหารจัดการฉีดวัคซีน ในบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า  และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตั้งแต่มีนาคมถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม นี้ จะครอบคลุมครบร้อยเปอร์เซ็นต์  โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนทเป็นต้นไป เป็นบริการฉีดให้ผู้รับวัคซีนในกลุ่มหลัก 7 โรคเสี่ยง กลุ่มผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป กำหนดรูปแบบร้อยละ 30 ในกลุ่มลงทะเบียนผ่านไลน์หรือแอปหมอพร้อม ร้อยละ 50 ในกลุ่มประชาชนทั่วไป องค์กรหรือหน่วยงานที่ประสานโรงพยาบาล นัดวันฉีดวัคซีนซึ่งจะเป็นจำนวนหลัก และร้อยละ 20 ในประชาชนที่เดินทางเข้ามารับวัคซีน ซึ่งทีมสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีสามารถให้บริการวัคซีนที่ผ่านมามากกว่าหมื่นคนต่อวันต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพพร้อมให้บริการ 3 หมื่นคนต่อวัน ภายใน 30-45 วันจะครบร้อยละ 70 ของประชากรล้านคนเศษ ตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรรช้าหรือเร็ว 9 แสนโด้ส  


ในส่วนพื้นที่ทั้ง 11 อำเภอได้กำหนดสถานที่นอกโรงพยาบาล  เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้ารับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ วันนี้  33 ราย เป็นผู้สัมผัสในครอบครัว 19 ราย ที่ทำงาน 6 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 8 ราย  ยอดสะสมรวม 3,770 ราย  หายป่วยเพิ่ม 156 ราย รวมเป็น 2,728 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 สะสม 15 ราย โดยยังค้นหาผู้สัมผัสจำนวน 241 ราย ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ 620 ราย และด้วยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน อีกจำนวน 569 ราย



ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี 
 

สตูล - แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ติดตามแนวชายแดนไทยมาเลเซีย สั่งคุมเข้มพื้นที่ป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงาน เพื่อป้องกันนำเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามา พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่

พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4  / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะลงพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยมาเลเซียพื้นที่ เขตรอยต่อระหว่าง ต.ปูยู อ.เมือง จังหวัดสตูลประเทศไทย ติดแนวเขตรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ผบ.ร้อย ร.5 พัน 2 ,กอ.รมน.สตูล,ทหารจากกองกำลังเทพสตรี, เจ้าท่า จ.สตูล,ตำรวจน้ำ, ตชด.436 ,ตม.จ.สตูล และฝ่ายปกครองอำเภอเมืองสตูลได้เดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของชุดเฝ้าตรวจแนวชายแดนกำลังทหารจากกองกำลังเทพสตรี ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันแนวชายแดน เฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดนทางฝั่งทะเล จ.สตูล

ซึ่งหลังจากมีการเปิดด่านให้มีการเดินทางกลับประเทศของคนไทยในมาเลเซีย โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้นั่งเรือจากท่าเทียบเรือเกาะปูยู อ.เมือง จ.สตูลไปยังเขตรอยต่อระหว่าง ต.ปูยู อ.เมือง จังหวัดสตูลประเทศไทย ติดแนวเขตรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย สั่งคุมเข้มพื้นที่ป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยตลอดแนวชายแดนไทยมาเลเซียเพื่อป้องกันนำเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามาพร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ใช้ยุทธ์การเดินหน้ากระดานปิดหน้าทะเลทางช่องทางธรรมชาติ ลงทะเลขึ้นฝั่ง เกาะแนวเขตสกัดกั้น หวั่นแรงงานต่างด้าว และคนไทยในต่างแดนหลบหนีเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย ไม่ผ่านเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยนำเรือออกลาดตระเวนตามเกาะแก่งที่อยู่ใกล้ป่าชายเลน และเทือกเขาที่ติดแนวเขตประเทศมาเลเซีย เรือตรวจการณ์จอดเทียบท่าในพื้นที่บริเวณนากุ้งร้าง จากนั้นเปิดปฏิบัติการเดินเท้าทันที ไปยังพื้นที่แนวเขตรอยต่อพรมแดนฝั่งแผ่นดินที่ติดกับทะเล มีรั้วกำแพงสูงกั้นแนวเขตระหว่างจังหวัดสตูล ประเทศไทย ติดแนวเขตรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียที่มีกำแพงกั้นตรงกลางพร้อมลวดหนาม หากไม่มีกำแพง ก็สามารถข้ามได้เพียงไม่ถึง 10 ก้าวจากฝั่งไทย โดยพื้นที่รั้วกำแพงดังกล่าวนั้นอยู่ในพื้นที่เขต ต.ปูยู อ.เมือง จ.สตูล พบบ้าน จำนวน 3 หลังอยู่ใกล้กำแพง และทางทหารเรือตรวจสอบเป็นชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณนั้น

โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ที่ติดกับรัฐเปอร์ลิสประเทศมาเลเซีย และมีแนวเขากั้นเขตแดน ทำให้ ผู้ที่ลักรอบสามารถเดินเข้ามาได้ เลย หรือ แม้กระทั้งการเดินทางเข้ามาทางเรือก็ง่าย เนื่องจากแนวเขตชายฝั่งนั้น สามารถเดินลัดเลาะแนวชายฝั่งเข้ามาได้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อ ร่วมกันในการลาดตระเวน ทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อไม่ให้แรงงานหลบหนีเข้ามา 


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล 
 

สงขลา - นิพนธ์ เติมเครื่องอุปโภค-บริโภค ตู้ปันสุข ร่วมกิจกรรม “คนมหาดไทย แบ่งปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19” ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างจริงจัง

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ณ บริเวณหน้ากระทรวงมหาดไทย (ถนนบำรุงเมือง) นายนิพนธ์  บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ข้าราชการในสังกัดกรมการปกครอง ร่วมเติมของอุปโภค-บริโภคในกิจกรรม “มหาดไทยปันสุข ส่งต่อความห่วงใยสู้ภัยโควิด-19” ให้กับประชาชนที่พักอาศัยชุมชนโดยรอบกระทรวงมหาดไทย เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส คนไร้ที่พึ่ง และผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็น ทั้ง ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมกล่อง หน้ากากอนามัยแจลแอลกอฮอล์  และของใช้จำเป็นต่าง ๆ ใส่ในตู้ปันสุข

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มท. ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 D-M-H-T-T-A คือ D : Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask wearing สวมหน้ากาก H : Hand washing ล้างมือสม่ำเสมอ T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิ T : Testing ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ A : Application Thaichana ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ เพื่อเป็นการป้องกันคนในครอบครัวและป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้คนในชุมชน สังคม โดยขอให้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนได้ลงทะเบียนและไปฉีดวัคซีนฯให้มากขึ้น

ทั้งนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดกำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน(อส.)ให้ปฏิบัติหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและกำกับดูแลแถวให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่มารับสิ่งของได้ใช้วิธีแจกคูปองให้กับคนในชุมชนเพื่อมีคัดกรองคนที่จะมารับในเบื้องต้น ขณะที่ในช่วงของการรอรับสิ่งของบริจาค กระทรวงมหาดไทย มีการเว้นระยะห่างวัดอุณหภูมิเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด และจะดำเนินการโครงการนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ต่อไป


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ หาดใหญ่ จ.สงขลา

กาฬสินธุ์ – คณะสงฆ์มอบสิ่งของช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ มอบสิ่งของให้กับผู้ได้ที่รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 
วันที่ 18 พ.ค.64 ที่วัดเวฬุวัน ต.นิคม อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์  พระครูสิทธิวราคม ดร. เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ (ธ) ตัวแทนคณะสงฆ์ อ.สหัสขันธ์ พร้อมด้วยสำนักงานวัฒนธรรมจ.กาฬสินธุ์ มอบสิ่งของยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง และไข่ไก่สด ให้กับนายตระกูล หนูนิล นายอำเภอสหัสขันธ์  เพื่อนำไปมอบให้กับครอบครัวผู้ยากไร้ ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งพื้นที่อ.สหัสขันธ์มี 1 หมู่บ้านที่ต้องกักตัวกว่า 29 ครัวเรือน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบครอบครัว 5 ราย โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกิจกรรมตามโครงการจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ภายใต้การควบคุมตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 D-M-H-T-T-A  โดยจุดแรกที่นำไปมอบคือพื้นที่ ต.โนนแหลมทอง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์


พระครูสิทธิวราดม ดร. เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ (ธ) กล่าวว่า  เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะสงฆ์อำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์  ในงบประมาณประจำปี 2564 ภายใต้โครงการบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุฤดูร้อน สามเณร และบวชชีพราหมณ์ ภาคฤดูร้อน เป็นกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้ทำร่วมกันโดยคณะสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ใน 8 ตำบล มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่สด นม และสาธารณูปโภคอื่น ๆ  เป็นถุงพระทำจำนวน 100 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้าน  และเพื่อเป็นรักษาตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดได้จำกัดจำนวนคนที่จะร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน มีจุดคัดกรอง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ มีการเว้นระยะห่าง และการบังคับสวมใส่แมสก์ 100% ภายในบริเวณวัด  ซึ่งประชาชนมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี


สำหรับอำเภอสหัสขันธ์ มี 1หมู่บ้าน 29 ครัวเรือน ที่ยังต้องกักตัว แม้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 5 ราย จะรักษาหายและกลับมาอาศัยที่บ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนรอบข้าง จึงอยู่ในระหว่างการกักตัวต่ออีก 14 วัน นอกจากนี้ยังมีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาจากพื้นที่สีแดงเข้ม ที่จะต้องกักตัวอีกกว่า 60 ราย  นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากไร้ฐานะยากจน ที่จะต้องให้การดูแลในระยะนี้


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top