Friday, 16 May 2025
Region

กรุงเทพฯ - โฆษกกองทัพเรือเผย อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ร่วมบริจาคสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2564) พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า พลเรือเอก ธีระ ห้าวเจริญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย คุณหญิงมัญชุมาศ ห้าวเจริญ อดีตนายกสมาคมภริยาทหารเรือ เข้ามอบเงินบริจาค จำนวน 100,000 บาท เพื่อสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อผู้ป่วย Covid-19 โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ โดยมี พลเรือตรี นิธิ พงศ์อนันต์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ, นาวาเอกหญิง ภาวิกา ธรรมโน  รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ฝ่ายศึกษาอบรมและวิจัย และนาวาเอกหญิง พิมพ์สิริ ชมะนันทน์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นผู้รับมอบ ณ ห้องรับรอง สำนักงานผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ กรุงเทพฯ


และท้ายสุด โฆษกกองทัพเรือ ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนรวมทั้งภาคประชาชน ร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ซึ่งผู้มีจิตศรัทธายังสามารถร่วมบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือบริจาคเงินผ่านมูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า “เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19” ทั้งนี้สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ศูนย์รับบริจาค โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02 475 2576 และ 06 3442 2614 หรือบริจาคผ่านบัญชีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี “มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เลขที่บัญชี 040-2-00002-0 มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดย โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมอบให้แก่ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนด้วยดีตลอดมา


ภาพ/ข่าว ปชส.โฆษกกองทัพเรือ / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 
 

ชลบุรี - ร้านอาหารในห้างพัทยา เปิดแล้ว...แต่ยังหงอยไม่คึกคัก

ร้านอาหารในศูนย์การค้าเมืองพัทยา ทยอยเปิดให้บริการแม้ไม่เต็มระบบ ทำภาพรวมไม่คึก แต่ผู้ประกอบการยังเข้มมาตรการป้องกันโควิด
ตามที่จังหวัดชลบุรีถูกปรับจากพื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมพิเศษและเข้มงวด เป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่ควบคุมพิเศษ โดยอนุญาตให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร (เว้นในสถานศึกษา และสถานพยาบาล) ให้เปิดจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มในลักษณะของการนั่งรับประทานที่ร้านได้ และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 23.00 น. โดยงดสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้น
วันที่ 18 พ.ค.64 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศโดยรวมการใช้บริการของประชาชนตามร้านอาหารต่าง ๆ ภายในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในเมืองพัทยา พบว่า ทุกร้านได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดทั้งเรื่องจุดตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าใช้บริการ การควบคุมปริมาณคนเข้าร้าน จุดบริการแอลกอฮอล์ และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

ในส่วนของศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พัทยา ทางผู้ประกอบการร้านอาหารที่อยู่ภายในศูนย์การค้าร้อยละ 80 ได้เปิดให้บริการ และพบว่ามีประชาชนมาใช้บริการไม่มากเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการควบคุมและป้องกันโรค ที่ทำให้จำนวนที่นั่งของร้านลดน้อยลง ส่วนประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยภายในศูนย์การค้าก็ยังคงมาใช้บริการตามระยะเวลาที่ภาครัฐกำหนด


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี 
 

กรุงเทพฯ - สภากาชาดไทย พร้อมเปิดสิทธิ์ให้ อสส. เข้าระบบแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เพื่อขอสนับสนุนชุดธารน้ำใจฯ

สภากาชาดไทย โดย สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร นำระบบแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” มาใช้ในการร้องขอการสนับสนุนชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤติโควิด-19 จากสภากาชาดไทย เพื่อนำไปมอบให้กับผู้กักกันโรค 14 วัน ที่เดือดร้อน ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค และยังไม่มีหน่วยงานอื่นให้ความช่วยเหลือในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมและมีการยกระดับมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด
นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จะได้รับ User Account ในการเข้าระบบแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เพื่อทำการปักหมุดตำแหน่งของผู้กักกันโรคโควิด-19 ที่ได้รับความเดือดร้อนด้านเครื่องอุปโภคบริโภคจากการกักตัว 14 วัน และยังไม่มีหน่วยงานอื่นให้การช่วยเหลือ จากนั้นข้อมูลจะผ่านกระบวนการคัดกรอง รวบรวม และส่งคำร้องมายังสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เพื่อให้การสนับสนุนชุดธารน้ำใจกู้ชีวิตฝ่าวิกฤติโควิด-19 โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ จะส่งมอบชุดธารน้ำใจฯ ให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขต่อไป”


โดยในปี พ.ศ. 2563 สภากาชาดไทย ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ดำเนินโครงการขยายผลและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานระบบฐานข้อมูลภัยพิบัติและระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) เพื่อส่งเสริมการนำระบบแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” มาสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ได้แจ้งขอชุดธารน้ำใจฯ ให้ผู้ถูกกักกันโรค ผ่านแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” และส่งความความช่วยเหลือไปแล้วมากกว่า 150,000 คน


สำหรับประชาชนที่มีจิตศรัทธาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสภากาชาดไทยที่จะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน สามารถบริจาคได้ในโครงการ “พลังใจ 99 บาท ก้าวผ่านวิกฤต COVID-19” เพื่อมอบชุดธารน้ำใจช่วยเหลือประชาชนที่ต้องกักกันตน ผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้และไร้ที่พึ่ง เพื่อลดความเสี่ยง ป้องกัน และเยียวยาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการสแกน QR CODE ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารใน ระบบ E-DONATION หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาสำนักสีลม ชื่อบัญชี "สภากาชาดไทย เพื่อภัยพิบัติ" ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 001-1-34567-0 หรือธนาคารกรุงไทย สาขาสุรวงศ์ ชื่อบัญชี "สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย" ประเภทบัญชี “กระแสรายวัน” เลขที่ 023-6-06799-0 ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สอบถามเพิ่มเติม โทร. 1664


 

เชียงใหม่ - กรรมการส่งเสริมฯ ม.แม่โจ้ ร่วมกับ แอโร กรุ๊ป ยกระดับความปลอดภัยนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโควิด ในโรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติแม่โจ้

คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด พร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ นำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot) เทคโนโลยีใหม่ เข้าทำการฆ่าเชื้อในพื้นที่โรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติแม่โจ้ ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2564 จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ต้องขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี ได้สนับสนุนให้ใช้สถานที่ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการจัดทำโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีโรงพยายาลสันทราย อำเภอสันทราย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาดูแลมาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุข รวมถึงมีการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 


ล่าสุด วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับการประสานงานจาก ดร.องอาจ กิตติคุณชัย บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot)  มาทำความสะอาด ซึ่งได้รับการวิจัยแล้วว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและฆ่าเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพสูง และใช้หุ่นสำเภาสำหรับการการยกของ เพื่อเสริมศักยภาพในการทำความสะอาดภายในโรงพยาบาลสนามศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติแม่โจ้ และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 
หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (Sun Robot) และหุ่นสำเภา รถฟอร์คลิฟท์อัตโนมัติสำหรับการเคลื่อนย้ายสิ่งของ นำทางด้วยรีโมทคอนโทรล เป็นผลงานของบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด โดย ดร.กฤษดา อัครพัทธยากุล กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้นำการให้บริการด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร

นอกจากนี้ แอโร กรุ๊ปฯ ยังมีหุ่นยนต์สำเภา ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารอัจฉริยะ นำทางด้วยระบบ Lidar Sensor, หุ่นยนต์สำเภา ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ขนส่ง เคลื่อนย้าย และลำเลียงสินค้าแบบอัตโนมัติ นำทางด้วยแถบแม่เหล็ก  และหุ่นยนต์แม่ไทร ซึ่งเป็นหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ ควบคุมทางไกล แสดงผลการรักษา, วีดีโอคอลพูดคุยกับผู้ป่วย, ส่งอาหาร และส่งยาเป็นต้น 


การทำงานของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี แบบ 360 องศา ส่งผลให้สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้สูงถึง 99.9% ในเวลารวดเร็ว และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อไป


ภาพ/ข่าว  นภาพร /เชียงใหม่
 

ขอนแก่น - ผู้ว่าฯขอนแก่น สั่งเข้มทุกมาตรการป้องกันโควิด เรือนจำ-สถานพินิจ-ศูนย์ฝึกอบรมฯ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ทั้งจังหวัด ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงชัดเจน นักโทษแรกรับต้องกักกันตัวอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องฉีดวัคซีนให้ครบ ขณะที่ผู้คุมขังเริ่มทยอยรับ

 เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 19 พ.ค.2564 นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ในพื้นที่ 26 อำเภอของจังหวัด มีพื้นที่ที่คุมขังผู้ต้องหาและสถานพินิจฯ รวมไปถึงศูนย์ฝึกอบรม ฯ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งหมด 5 แห่ง มีผู้ที่ถูกคุมขังกว่า 7,000 คน ซึ่งขณะนี้ผู้บัญชาการเรือนจำกลางขอนแก่น,ผู้บัญชาการทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น,ผู้บัญชาการเรือนจำ อ.พล,ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองและเด็กและเยาวชนขอแก่นและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 ขอนแก่น ได้สรุปรายงานมาตรการคุมเข้มจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อได้รับทราบแล้ว และที่สำคัญคณะทำงานได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามและเน้นย้ำในทุกมาตรการที่การ์ดห้ามตกแม้แต่วินาทีเดียวและให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ซึ่งพบว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานอยู่ภายใน 5 หน่วยงานได้รับวัคซีนไปแล้วมากกว่าร้อยละ 80 และมีการปฎิบัติตามมาตรการป้องกันย่างเข้มงวด


 “ จากการระบาดของกลุ่มคัสเตอร์ที่คุมขังนักโทษในหลายจังหวัด ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงของการพักผ่อนยามค่ำคืนที่นอนชิดติดกันเนื่องจากสภาพพื้นที่ที่จำกัด ขณะที่พื้นที่ขอนแก่น มีผู้ที่ถูกคุมขังและถูกควบคุมตัวรวมกว่า 7,000 คน ดังนั้นมาตรการป้องกันและควบคุม ทุกแห่งมีการดำเนินการอย่างเข้มงวด มีการออกคำสั่งให้สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา,การเยี่ยมผ่านระบบวิดีโอคอลหรือระบบไลน์ รถส่งสินค้าจากภายนอก จะต้องทำความสะอาดรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งเข้าและออกภายในเรือนจำทุกครั้ง โดยไม่อนุญาตให้คนขับจากภายนอกขับรถเข้าไปภายในเด็ดขาดเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคเข้าไปภายในเรือนจำ และที่สำคัญคือนักโทษแรกรับ จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวด ตามระเบียบที่กรมราชทัณฑ์กำหนดและมีการกักตัวจากเดิม 14 วันเป็น 21 วันตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด”


 ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า มาตรฐานด้านสุขอนามัยในพื้นที่คุมขัง และสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆภายในเรือนจำและสถานที่ควบคุมทั้ง 5 แห่ง ได้เน้นย้ำในเรื่องของความสะอาดและการจัดจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือและจุดล้างมือ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ขณะที่แผนเผชิญเหตุรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นคณะทำงานได้กำหนดแนวทางรับ-ส่งผู้ป่วยแบบเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลใกล้กับสถานที่ควบคุมเป็นจุดแรก รวมทั้งการจัดเตรียม รพ.สนาม แห่งที่ 2 พุทธมณฑลอีสานสำหรับการรับมือกับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ยังคงไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในเรือนจำและสถานที่ควบคุมภายในจังหวัด แต่การป้องกันและควบคุมยังคงเป็นไปอย่างรัดกุมและมีการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำที่ขณะนี้เริ่มทยอยฉีดวัคซีนไปแล้วบางส่วนอีกด้วย


 

สุโขทัย - ส่งด้วยใจให้ทีมแพทย์ ทำอาหารเสริมทัพเจ้าหน้าที่ ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ด้วยกัน

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย จ.สุโขทัยพร้อมคณะผู้บริหารครู อาจารย์ และบุคลากรในสถานศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ร่วมกันขอมีส่วนสนับสนุนให้กับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ในสถานการณ์โควิด-19 วันละ 200 กล่อง ตั้งแต่วันที่ 7-31 พฤษภาคมนี้ และเดินทางไปร่วมกันมอบยัง รพ.สวรรคโลก รพ.ศรีสังวร รพ.สุโขทัย พร้อมร่วมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์  ให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ด้วยกัน 


ซึ่งโครงการนี้ สืบเนื่องจาก "คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับผิดชอบดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กำกับงานด้านอาชีวะเกษตร ได้เล็งเห็นถึงขีดความสามารถ ความพร้อมของคณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักศึกษาของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงทั่วประเทศ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย จ.สุโขทัย ซึ่งก็มีความสามารถในการผลิตพืชผักทางการเกษตรฯ เลี้ยงสัตว์ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และผลผลิตอื่น ๆ มากมาย และมีครูอาจารย์มีคุณภาพและมีฝีมือมากในเรื่องการผลิต และการสร้างอาชีพทางการเกษตร รวมถึงฝีมือในการปรุงและทำอาหาร ประกอบกับเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ส่งผลกระทบในสังคมไม่น้อย

ทางผู้บริหารวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย จ.สุโขทัย จึงได้ร่วมใจกันทำกิจกรรมดังกล่าวขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในความห่วงใยประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และเป็นกำลังใจ แก่บุคลากรทางการเเพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ตรวจหา รักษา ดูแล ช่วยเหลือ และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบผู้ติดเชื้อ COVID-19 และประชาชนที่เดือดร้อนในโรงพยาบาลของจังหวัดสุโขทัย


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย
 

ชลบุรี - กองเรือยุทธการ วางพวงมาลาถวายราชสักการะเสด็จเตี่ย วันอาภากร ครบรอบ 98 ปี

วันนี้ 19 พ.ค.64 พลเรือเอก สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ มอบหมายให้ พลเรือโท ชาญชัยยศ อัฑฒ์สุวีร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธี วางพวงมาลาถวายราชสักการะ และพิธีบวงสรวง พระบรมราชานุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์พระบิดาทหารเรือไทย ณ หน้ากองบัญชาการกองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เนื่องในวันอาภากร หรือวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีผู้บังคับบัญชาหน่วยขึ้นตรงกองเรือยุทธการ คณะนายทหาร ข้าราชการ เข้าร่วมกระทำพิธี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ผู้ทรงเป็นรากฐานให้แก่ กองทัพเรือไทย ให้ดำรงอยู่ตราบจนปัจจุบัน

พระประวัติโดยย่อของ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2423 และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2446 ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาโหมด ในปีพุทธศักราช 2436 ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ ผลการศึกษาปรากฏอยู่ในขั้นดีเยี่ยม มีพระวิริยะอุตสาหะ พระจริยวัตรที่งดงาม เป็นที่รักใคร่ของครู อาจารย์ และเป็นที่ยอมรับของชาวอังกฤษ เมื่อจบการศึกษาได้เสด็จกลับเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท ผู้บังคับการในตำแหน่ง นายธงผู้บัญชาการทหารเรือ และเมื่อปี พุทธศักราช 2448 ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทรงได้ปรับปรุงการศึกษาของ โรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้า ดังปรากฏทำให้ทหารเรือไทย มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ สามารถเป็นครู และผู้บังคับบัญชาทหารเรือได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศ และเมื่อปีพุทธศักราช 2450 ทรงเป็นผู้บังคับการ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร นำนักเรียนนายเรือ และนักเรียนช่างกล ไปฝึกภาคต่างประเทศ ได้ทรงนำเรือแวะที่ประเทศสิงคโปร์ เปลี่ยนสีเรือจากสีขาวเป็นสีหมอก ให้เหมือนเรือรบต่างประเทศ เพื่อให้กลมกลืนกับลักษณะของสีน้ำทะเล และภูมิประเทศอีกด้วย 

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงศึกษาตำราหมอยาไทยอย่างจริงจัง จนมีความรู้แตกฉาน ทรงเป็นหมอยาไทย รับรักษาประชาชนทั่วไป ด้วยน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี จนได้รับพระสมัญญาว่า “หมอพร” แห่งราชนาวีไทย


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
 

กาฬสินธุ์ – ประกาศเขตโรคระบาดทั้งจังหวัด พบสัตว์ป่วยโรค ‘ลัมปีสกิน’ หลายอำเภอ

จังหวัดกาฬสินธุ์ประกาศเป็นพื้นที่เขตโรคระบาด พร้อมห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ หลังพบโคและกระบือป่วยโรคลัมปีสกินหลายอำเภอ ขณะที่ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจและให้การช่วยเหลือเกษตรกร
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564  ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านทุ่งกระเดา หมู่ที่ 5 ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ หลังจากได้รับแจ้งว่ามีโคและกระบือของเกษตรกรป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย และเป็นกาแพร่ระบาดเป็นครั้งแรกในหมู่บ้าน เบื้องต้นได้พบกับนางสมพร ปาวรี อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่1/1 หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งกระเดา ต.กุดปลาค้าว อ.เขาวง  จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เลี้ยงโคและได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน


โดยนางสมพร กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาเริ่มมีการระบาดของโรคลัมปี สกินในหมู่บ้านข้างเคียง และได้มีการระบาดมายังหมู่บ้านของตน แต่ก็ไม่คาดคิดว่าโรคลัมปี สกิน จะติดต่อมายังวัวของตนเองได้เร็วขนาดนี้  โดยปกติแล้วตัวเองเลี้ยงวัวอยู่ 5 ตัว ปัจจุบันวัวติดโรคลัมปี สกินแล้ว 2 ตัว ซึ่งเป็นแม่ลูกกัน และเป็นโรคลัมปี สกิน มาประมาณ 2-3วันแล้ว หลังจากที่รู้ว่าวัวทั้ง 2 แม่ลูกติดโรคระบาด ก็ได้ทำการแยกออกจากฝูงนำไปเลี้ยงไว้ที่อื่นก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการติดไปยังวัวที่เหลือ


นางสมพร กล่าวอีกว่า สำหรับอาการของโรคลัมปี สกินนั้น จะมีตุ่มขึ้นตามตัวของวัว แต่เบื้องต้นมีไม่มาก แต่มีอาการซึม ไม่กินนม ไม่กินหญ้า หรือแม้แต่น้ำก็ไม่กิน อีกทั้งยังมีน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ตัวเองเกิดความวิตกกังวลว่าวัวที่ตัวเองเลี้ยงนั้นจะเสียชีวิตเหมือนกับวัวของคนอื่นที่เคยเป็นข่าว ทั้งนี้เบื้องต้นได้แจ้งไปยังปศุสัตว์อำเภอเขาวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแล เพื่อทำการรักษาแล้ว แต่ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์แจ้งว่ายังไม่มีวัคซีนหรือยาที่สามารถรักษาได้โดยตรง ได้แต่เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยมาให้คำแนะนำหรือช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย เพราะเท่าที่ทราบตอนนี้พื้นที่อำเภอเขาวงได้มีการระบาดของโรคลัมปี สกินในหลายตำบลแล้วเช่น ตำบลกุดปลาค้าว ตำบลคุ้มเก่า  ตำบลสระพัง หรือแม้กระทั่งในอำเภอติดกันอย่างอำเภอนาคู และอำเภอกุฉินารายณ์ก็มีสัตว์ป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมาก จึงอยากให้ช่วยนำไปพิจารณาเป็นปัญหาเร่งด่วนด้วย


ขณะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เรื่องกำหนดเขตโรคระบาด ชนิดโรคลัมปีสกิน ในสัตว์ชนิดโค กระบือ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ด้วย จ.กาฬสินธุ์พบว่ามีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดในสัตว์(ชนิด) โคเนื้อป่วยด้วยโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดไปยังจังหวัดอื่นๆได้ จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด


ดังนั้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์จึงออกประกาศไว้ดังนี้ 1.ให้ท้องที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปีสกินในสัตว์ชนิดโค กระบือ 2.ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ ชนิดโค กระบือ หรือซากสัตว์ดังกล่าวเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตว์แพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ


อย่างไรก็ตามล่าสุดทางนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์ และอำเภอทั้ง 18 อำเภอ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจ ให้ความรู้ และให้การช่วยเหลือเกษตรกรในการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนแล้ว

ขอนแก่น – พล.ร.3 โดย ร.8 แสดงความยินดีกับน้อง ๆ ทหารของหน่วย ที่สามารถผ่านการทดสอบ ผ่านเข้าศึกษา ณ โรงเรียนนายสิบทหารบก (รุ่นที่ 25) ได้สำเร็จ

ที่ค่ายสีหราชเดโชไชย ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ กรมยุทธศึกษาทหารบก (ยศ.ทบ.) ประกาศการรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลเข้าเป็น นักเรียนนายสิบทหารบก ประจำปีการศึกษา 2564 (นนส.ทบ.) ประจำปี 2564 นั้น มีกำลังพลของหน่วยกรมทหารราบที่ 8 ได้เข้ารับการทดสอบขั้นที่ 2 (ภาควิชาการ) จำนวน 4 นาย ที่สามารถผ่านการทดสอบผ่านเข้าศึกษา ณโรงเรียนนายสิบทหารบก (รุ่นที่ 25) ค่ายโยธินศึกษามหามงกุฏ จ.ประจวบคีรีขันธ์  


ซึ่งก่อนเดินทางนั้นทางด้านกองพลทหารราบที่ 3 โดย กรมทหารราบที่ 8  พันเอก ณรงค์ วิชญาณวรวุฒิ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8(ผบ.ร.8) ได้แสดงความยินดีพร้อมทั้งได้มอบขวัญและกำลังใจให้กับน้อง ๆ ทหารของหน่วย จำนวน 4 นาย ที่สามารถผ่านการทดสอบ ผ่านเข้าศึกษา ณโรงเรียนนายสิบทหารบก (รุ่นที่ 25) และกล่าวให้โอวาท เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพล โดยได้เน้นย้ำการใช้ความรู้ความสามารถที่หน่วย ไปปรับใช้ในชีวิตการเป็นนักเรียนให้เกิดประโยชน์ การปฏิบัติตัวในการเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนนายสิบทหารบก และตั้งใจศึกษาเรียนรู้ ให้มีมุ่งมั่นพยายามศึกษาหาความรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับการศึกษานำมาต่อยอดความรู้สู่การเป็นกำลังพลหลักในการพัฒนาหน่วยทหารในกองทัพบก สร้างความภาคภูมิ ให้ตนเองและครอบครัว เป็นแบบอย่างความสำเร็จในการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกและบรรจุ เป็นนายทหารประทวนสังกัดกองทัพบกของหน่วยต่าง ๆ รวมถึงการรับราชการทหารซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคง ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว ในอนาคตต่อไป


ภาพ/ข่าว  ขอบคุณภาพจาก ร.8 / ไทบ้าน  นิวส์ (พรพิพัฒน์  เพ็ชรสังหาร)
 

กาฬสินธุ์ – ส่งทีมนักรบชุดขาว เสริมทัพโรงพยาบาลบุษราคัมกรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด

โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ส่งทีมนักรบชุดขาวบุคลากรแพทย์ พยาบาล เข้าเสริมทัพสนับสนุนการปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด-19 ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย  รวมมีผู้ป่วยสะสม 100 ราย หายป่วยกลับบ้านแล้ว 68 ราย
เมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ที่บริเวณหน้าอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินหลังเก่า โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ร่วมกันส่งทีมแพทย์ พยาบาล  นักรบชุดขาวโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร สู้ภัยโควิด-19


ทั้งนี้ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ ได้เข้ากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และร่วมมอบช่อดอกไม้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล  นักรบชุดขาวโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ นำโดยมีนายแพทย์ณัฐพล  สัตย์ซื่อ นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เป็นหัวหน้าทีม ในครั้งนี้


นายแพทย์ณัฐพล  สัตย์ซื่อ กล่าวว่า ทีมบุคลากรที่เดินทางไปสนับสนุนการปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร ช่วยภัยโควิด-19 ครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 คน โดยมีทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทุกคนต่างเต็มใจและพร้อมที่จะเดินทางไปสนับสนุน การทำงาน เพื่อร่วมคลี่คลายสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้มีสถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว โดยยืนยันว่าจะนำความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาและประสบการณ์ที่ได้ทำงานที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ไปร่วมกับทุกหน่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม กรุงเทพมหานคร อย่างเต็มความสามารถต่อไป


ด้านนพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า บุคลากรของโรงพยาบาล รวมทั้งชาวกาฬสินธุ์จะเป็นกำลังใจ และขอให้ทุกคนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ได้มีกำลังใจ ซึ่งการที่เราเข้ามาอยู่ในหน่วยงานสาธารณสุข เราจะต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ขอให้กำลังใจผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเสียสละ ขอให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ทุกคนทั่วประเทศ เราจะสู้ไปพร้อมกันและเราจะชนะไปพร้อมกัน ทีมกาฬสินธุ์ทุกคนมีขวัญกำลังใจ และมีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มที่


ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์รายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย  โดยผู้ป่วยเดิม 99 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 100 ราย หายป่วยวันนี้ 2 ราย หายป่วยสะสม 68 ราย ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 31 ราย และ เสียชีวิต 1 ราย โดยทางจังหวัดยังคงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกท่านได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ให้กักตัวในที่พำนัก 14 วัน หรือตามระยะเวลาพำนักที่น้อยกว่า และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ (ผอ.รพ.สต./กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) หรือ อสม.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top