Thursday, 15 May 2025
Region

บึงกาฬ – อากาศร้อนอบอ้าว เห็ดระโงกผุดขึ้นใต้ต้นยางนา ชาวบ้านพากันเก็บขายกิโลละ 300 บาท

ฝนไม่ตกมาหลายวันประกอบกับอากาศร้อนอบอ้าว เห็ดระโงกทั้งสีขาวและเหลืองผุดขึ้นมาจากดิน ชาวบ้านเก็บไปทำอาหารเหลือก็ขายกิโลกรัมละ 300 บาทสร้างรายได้ช่วงโควิดระบาด

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 9 พ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานจากบ้านคำสมบูรณ์ หมู่ที่ 3 ตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬว่า  ชาวบ้านหาดคำสมบูรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยไวรัสโควิด 19 หลังจากมีนักท่องเที่ยวพาลูกหลานมาเล่นน้ำคลายร้อน กลับไปทำงานแล้วมีไทม์ไลน์บอกว่ามาเที่ยวหาดคำสมบูรณ์ ทำเอานักท่องเที่ยวคนอื่นไม่กล้ามาที่นี่อีก ทำให้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องเล่นต่าง ๆ ในน้ำต่างซบเซา และกำลังฟื้นตัวดีขึ้น

แต่ชาวบ้านอีกมุมหนึ่งซึ่งเป็นชาวสวนยางพารา หลังกรีดยางเสร็จก็จะพากันออกไปเก็บเห็ด ที่เกิดขึ้นตามป่าธรรมชาติ หรือที่ขึ้นตามใต้ต้นยางนาและต้นก่อ หรือเกาลักไทยที่ปลูกไว้ เนื่องจากหลายวันมาแล้วฟ้าฝนไม่ตกลงมาเลย อากาศจึงร้อนอบอ้าวทำให้พื้นดินร้อนไปด้วย จึงเป็นเหตุให้เห็ดหลายชนิดผุดขึ้นจากดิน โดยเฉพาะเห็ดระโงกเหลืองและเห็ดระโงกขาว ชาวบ้านจึงเก็บไปทำอาหารส่วนที่เหลือก็นำไปขายกิโลกรัมละ 300 บาท สร้างรายได้ให้กับครอบครัวในช่วงโควิดระบาดหนักรอบ 3 ซึ่งพอถึงฤดูฝนเห็ดก็จะเกิดขึ้นมาให้เก็บแบบนี้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม สภาพพื้นดินที่เป็นดินทรายปนดินเหนียวจะเป็นสภาพดินที่เหมาะกับเห็ดระโงกเป็นอย่างดี

น.ส มธุศร พันธุ์สุวรรรณ์ อายุ 25 ปี บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 3 ต.บึงโขงหลง กล่าวว่าเมื่อก่อนเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 62 ได้กลับมาอยู่บ้าน ช่วยพ่อทำการเกษตร เช่น เพาะต้นยางนาผสมเชื้อเห็ดขาย พร้อมกับปลูกต้นยางนาไว้ตามหัวไร่ปลายนาและที่ว่างเปล่าภายในสวนของตัวเอง เนื้อที่ประมาณ 2 งาน มีทั้งต้นยางนาและต้นก่อ โดยไม่ต้องหว่านหัวเชื้อ ปลูกไว้ 2-3 ปีก็ได้เก็บผลผลิตซึ่งเป็นเห็ดระโงกผุดขึ้นมาตามพื้นดิน ออกดอกมีทั้งแบบตูมคือออกมาใหม่ แต่พอสายๆ เห็ดก็จะบาน ก็เก็บเอามาจำหน่ายให้กับชาวบ้านที่ต้องการบริโภค ในราคากิโลกรัมละ 300 บาท วันหนึ่งๆ เห็ดก็จะออกอยู่ประมาณ 3-4 กิโลกรัม สร้างรายได้ให้กับครอบครัววันละ 1 พันกว่าบาทแบ่งเบาภาระช่วงโควิด-19 ซึ่งก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และคนในหมู่บ้านคำสมบูรณ์จะนิยมปลูกต้นยางนาไว้ขายเห็ดระโงก ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 10 กว่ารายแล้ว


ภาพ/ข่าว เกรียงไกร  พรมจันทร์

สระแก้ว – มันมาอีกแล้ว !! ช้างหนัก4 ตัน" ผวาทั้งหมู่บ้าน

ช้างป่าบุกหากินในสวนกล้วย รื้อข้าวในยุ้งฉาง ของชาวบ้านได้รับความเสียหายในบ้านหมู่ 7 ต ท่าแยก อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้วได้รับความเดือดร้อน

"ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านบริเวณอุทยานปางสีดา หมู่ 7 ท่าแยกอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว "  ร้องว่าได้รับความเดือดร้อน เมื่อช่วงเช้ามืด 4:00 น พบว่าช้างป่า  เดินเข้ามาบริเวณหลังบ้านของ นางกำไร ผลฟัก บ้านเลขที่ 49 หมู่ 7 ตำบลท่าแยกอำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ในช่วงฝนกำลังตกปอยๆ จึงทำให้เกิดเสียงสังกะสีดัง ตนเองตกใจตื่นขึ้นมาหลังเปิดหน้าต่างเห็นช้างตัวใหญ่มากกำลังรื้อยุ้งฉางข้าวกินอย่างเอร็ดอร่อย ตนเองก็ยืนดูอย่าง งง ๆ ไม่รู้จะโทรหาใคร เพราะมันดึกมากแล้ว ได้แต่ยืนดูช้าง ดึงข้าว ในยุ้งฉางออกมากิน ยืนดูกว่า 2 ชั่วโมง คิดว่ามันจะดึงลงมาเยอะ ก็กังวลว่าจะหมดยุ้งฉางแน่ ๆ เลย คิดว่าจะโทรหาใครดี เลยโทรหานายสงวนให้ช่วยหาคนมาไล่ช้างให้หน่อยเพราะมันดึกมากแล้วเลยไม่มีใครรับสาย จึงได้แต่ยืนมองช้างกิน จนกินอิ่มแล้วก็เดินจากไป

ด้านนางไสว กงจันทร์ บ้านเลขที่ 119 หมู่ 7 ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน จึงวอนให้หน่วยที่เกี่ยวข้องลงมา ตรวจสอบ ช่วยผลักดันช้างเชือกนี้ กลับได้ไหม เพราะตอนนี้ชาวบ้าน ไม่กล้าออกมา ทำมา หากิน ได้เลย อยู่กันอย่างหวาดระแวง ว่าข้างเชือก ดังกล่าวจะเข้ามาเมื่อไหร่อีก

ด้าน นายบุญเชิด เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา กล่าวว่าขณะนี้ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ติดตามแกะรอยเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้านและประสานไปยังหัวหน้าอุทยานเขาอ่างฤาไน เพื่อทำการผลักดันกลับพื้นที่เขาอ่างฤาไน เชื่อว่าช้างตัวดังกล่าวที่เข้ามาในหมู่ 7 เป็นตัวที่หลบหนี มาจากเขาอ่างฤาไนที่ผ่านมาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว กรณีเหยียบรถผู้สื่อข่าวสระแก้ว เสียหายที่ผ่านมา เขตเมืองสระแก้ว  " และเจ้าหน้าที่ เขาอ่างฤาไน มีการผลักดันให้ช้าง ตัวแรก เดินทางกลับไปยัง เขาอ่างฤาไน ได้สำเร็จ "

ส่วนอีกตัวมุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ช้างเชือกดังกล่าวที่พัดหลงกันไม่น่า จะเข้าฝูง ช้างในเขตอุทยานปางสีดาได้ จึงเดินหากินบริเวณ แนวเขาอุทยานแห่งชาติปางสีดา จนไปทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้


ภาพ/ข่าว ยุทธนา พึ่งน้อย / บูรพาทีวีออนไลน์ รายงาน

นราธิวาส - ตำรวจโกลก มอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภคแก่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่

พ.ต.อ.เจฟฟรีย์ ไศลมานกุล ผกก.สภ.สุไหงโก-ลก พร้อมด้วย พ.ต.ท.กิติเดช มะแซ สวป.สภ.สุไหงโก-ลก นำข้าราชการตำรวจ มอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำดื่ม อินทผาลัม รวมไปถึงหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตแก่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ในเขต อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนข้ามผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน

พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนในภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ ให้ประชาชนดูแลตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล โดยยึดหลัก D-M-H-T-T ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ​ หะไร​ 

ชัยนาท - พระห่วงใยชาวบ้าน ร่วมเจาะบ่อบาดาลช่วยเหลือชาวบ้าน บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง

ท่านเจ้าคุณพระสุธีวราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดชัยนาทพระมงคลกิจโกศล เป็นประธานดำเนินงานรวมน้ำใจต้านภัยแล้ง พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดชัยนาท พันเอกจิตต์เทพ ภาพันธ์ กอรมน.นายกชัชธรรม ครุธพันธุ์  สจ.นาวิน พยัคมาก พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมโครงการเจาะบ่อบาดาลช่วยเหลือชาวบ้านในครั้งนี้ ณ หมู่บ้านร่มโพธิ์ หมู่ 11 ต.วังตะเคียน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ที่ขาดแคลนน้ำใช้ จำนวน 45-50 ครัวเรือน โดยใช้ความลึกที่ 62 เมตร รวมแล้วจะได้น้ำใช้อยู่ที่ 6 ลูกบาศก์เมตร หรือ 6 คิว ต่อชั่วโมง

เนื่องด้วยจังหวัดชัยนาทเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จนทำให้เกษตรกรไร่นาขาดน้ำจนไม่สามารถเพาะปลูกได้ บางรายต้องออกไปหางานอื่นทดแทน ทั้งนี้จึงได้เห็นความสำคัญของชาวบ้านและชาวเกษตกร ชาวไร่ชาวนา ที่ยังขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งอุปโภค บริโภค ในหมู่ 11 บ้านร่มโพธิ์ ต.วังตะเคียน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท จึงได้เข้าช่วยเหลือชาวบ้านในครั้ง เนื่องจากชาวบ้านยังขาดแคลนเรื่องปัจจัย และช่วงนี้อยู่ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และความเป็นอยู่ ทั้งนี้ หากใครมีจิตศรัทธาอยากร่วมบริจาคเพื่อเจาะบ่อบาดาลช่วยชาวบ้าน สามารถโทรเบอร์ 091-7426994 หรือโอนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ชัยนาท 106-055-1020


ภาพ/ข่าว  ภาวิณี ศรีอนันต์ รายงาน จังหวัดชัยนาท

ยะลา – นายอำเภอเบตง กำชับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเบตง และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเบตง

เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเบตง ตำรวจท่องเที่ยว ทหารชุดเฝ้าตรวจชายแดนที่ 4 เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเบตง ให้เพิ่มความเข้ม เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าทางรั้วชายแดนไทย – มาเลเซีย ทางช่องทางธรรมชาติ โดยกำชับการตรวจสแกนควบคุมโรคคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย โดยทุกคนต้องผ่านการตรวจสแกนอย่างละเอียดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์อินเดียอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้มีการหลุดลอด

ปทุมธานี - ธอส. ทุ่มงบ 2 ล้านบาท สร้างหอผู้ป่วย ICU ความดันลบ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ สู้ภัยโควิด-19

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จัดสร้างหอผู้ป่วยไอซียูความดันลบแบบห้องแยก เพื่อให้บริการผู้ป่วยวิกฤติที่มีอาการรุนแรงได้เข้ารับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้อย่างเต็มศักยภาพ และเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ของธนาคาร

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้มอบเงินสนับสนุน จำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ท่ามกลางคณะกรรมการธนาคาร พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ที่เข้าร่วมในพิธีส่งมอบดังกล่าว เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (10 พ.ค. 64)

โดยนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่มีการระบาดขยายเป็นวงกว้าง ทำให้พบจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมทั้งผู้ป่วยวิกฤตที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นับเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลหลักที่รับส่งต่อตลอดจนดูแลและให้การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มาโดยตลอด ด้วยการจัดตั้งหอผู้ป่วย Cohort หอผู้ป่วยเฝ้าระวัง (PUI) หอผู้ป่วยความดันลบ รวมถึงโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ได้อย่างเต็มศักยภาพ และเพียงพอต่อการรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น ธอส.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ "ทำให้คนไทยมีบ้าน" ได้ตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณสู้ภัย COVID-19 จำนวนดังกล่าว มอบให้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สำหรับจัดสร้างหอผู้ป่วยไอซียูความดันลบแบบห้องแยกที่ใช้รักษาผู้ป่วยวิกฤติที่มีอาการรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนช่วยเหลือสังคมไทยสู้ภัย COVID-19 ที่ธนาคารดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ส่งมอบหน้ากากอนามัย พร้อมสายคล้องหน้ากากอนามัย จำนวน 10,420 ชุด ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในชุมชน อีกทั้งในด้านงบสนับสนุนน้ำดื่ม และอาหารกลางวันให้หน่วยงานสำคัญต่างๆ สถานพยาบาล สถานศึกษา และวัด เป็นต้น

ทั้งนี้ ธอส.มีภารกิจหลักในการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาตลอดระยะเวลากว่า 67 ปี ซึ่งทางธนาคารสร้างโอกาสให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้ว มากกว่า 3.7 ล้านครอบครัว ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ของธนาคาร ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และการกีฬา โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และการปลูกจิตอาสาช่วยเหลือสังคมของผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กร รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชน และสร้างสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเติบโตอย่างยั่งยืน  (สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย)

ชลบุรี - ตำรวจภูธรภาค 2 แถลงข่าวการจับกุมตัวผู้ต้องหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ หลอกขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลค่าความเสียหายมากกว่า 800 ล้านบาท

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานตำรวจภูธรภาค 2 พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ได้เข้าสอบสวน นางสาวจิตราโยธาภิรมย์ ผู้ต้องหาคดี ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์หลอกขายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยหลอกให้ประชาชนร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง โดยซื้อในราคาใบละ 80 บาท และบางคนหากไม่รับสลากกินแบ่งรัฐบาลไปขาย ก็จะฝากขายสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยรับเงินส่วนต่างฉบับละ ๓ - ๕ บาท โดยในช่วงแรกผู้เสียหายหลายคนได้รับสลากจริงและผลตอบแทนจริงทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก จนต่อมาในรอบประจำวันที่ 16 เมษายน 2564 ทางผู้ต้องหาไม่ส่งสลากและจ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าว ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก และปัจจุบันมีมูลค่าความเสียหายในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองตราด เป็นเงินจำนวน 814, 184,113 บาท

ซึ่งวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นางสาววนิดา มานะเปรมปรีย์ พร้อมผู้เสียหายอีกเป็นจำนวนมาก  ได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองตราด ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.จิตรา ซึ่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองตราด ได้รับคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญาที่ 400/2564 และได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลจังหวัดตราด ออกหมายจับ จนทางผู้ต้องหาทนความกดดันไม่ไหว ได้เข้ามอบตัวผ่านช่องทางชี้เบาะแส ภาค 2  เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความปลอดภัยและความยุติธรรมในการเข้าสู่ กระบวนการทางกฎหมาย จึงได้นำตัวมาแถลงข่าว ก่อนนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองตราด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป

ชลบุรี - ล็อกดาวน์กาะล้าน ท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮายพัทยาเป็นไปอย่างเงียบเหงา

บรรยากาศบริเวณ ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา (แหลมบาลีฮาย) เป็นไปอย่างเงียบเหงา หลังชาวบ้านมีมติขอปิดเกาะล็อกดาวน์ งดรับนักท่องเที่ยว 15 วัน ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างของระลอกที่ 3 ทำให้รัฐกลับมากำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคระบาด โดยในส่วนชองชุมชนเกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ได้มีมติจากประชาชนบนเกาะ ให้ทำการล็อกดาวน์ปิดเกาะ แบบงดรับนักท่องเที่ยว เป็นเวลา 15 วัน คือระหว่างวันที่ 5-20 พ.ค.64 นั้น

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศ บริเวณท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา (แหลมบาลีฮาย) พบว่าบรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษของเมืองพัทยา ปฏิบัติงานบริเวณจุดคัดกรอง ในอาคารท่าเทียบเรือ  ส่วนที่บริเวณท่าเทียบเรือบริการเรือนำเที่ยว ชนิดเรือเร็วหรือสปีดโบ๊ทแทบที่จะไม่มีการให้บริการ มีเพียงเรือเร็วนำส่งของข้ามฝั่งที่ยังคงทำงานอยู่เท่านั้น

บริเวณสุดสะพานแหลมบาลีฮาย  สำหรับเป็นท่าเทียบเรือโดยสารขนาดใหญ่ ที่ให้บริการเรือโดยสารขนาด 2 ชั้น ข้ามฟาก พัทยา-เกาะล้าน (หาดตาแหวน) และพัทยา-ท่าหน้าบ้านเกาะล้าน พบว่าหยุดให้บริการ ตามมติของประชาชนชาวชุมชนเกาะล้าน ส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมดูแตกต่างจากช่วงเหตุการณ์ปกติเป็นอย่างมากง


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

นราธิวาส - ผบ.ฉก.นราลงเรือกำชับทหารเข้ม หวั่นโควิดแอฟริการะบาดไทยหลังปิด 9 หมู่บ้านที่ตากใบ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 พ.ค. 64 พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส พ.อ.เรวัตร เซ่งเข็ม เสนาธิการกรมทหารราบที่ 5 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมนั่งเรือยนต์ตรวจการณ์ของชุดเฉพาะกิจนราธิวาส แล่นไปตามลำน้ำของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่บริเวณด่านพรมแดน อ.ตากใบ เพื่อสำรวจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 ซึ่งมี ร.อ.ธนาคาร ทองขำ เป็น ผบ.ร้อย ในการควบคุมกำลังเสริมทั้งหมด ที่ได้รับการสนับสนุนกำลังจาก พ.อ.ทวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผบ.ฉก.ทพ.45 และจากที่ว่าการ อ.ตากใบ รวม 3 หน่วยงานหลัก ที่ถูกส่งตัวมาปฏิบัติหน้าที่ตรึงแนวพรมแดนด้าน อ.ตากใบ ซึ่งมีระยะทาง 21 ก.ม. เพื่อสกัดกั้นคนไทยที่เดินทางไปขายแรงงานอยู่ในรัฐต่าง ๆ ของประเทศมาเลเซีย ที่อาจจะมีการลักลอบข้ามแดนโดยนำเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ เชื้อไวรัสแอฟริกา ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศมาเลเซีย เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลฮารีรายอที่คนไทยจะลักลอบข้ามแดนเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว ซึ่งจะมีขึ้นประมาณในวันที่ 13 หรือ 14 พ.ค.64 ที่จะถึงนี้

โดย พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้นั่งเรือเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กองกำลัง และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ จำนวน 3 จุด จุดที่ 1 ที่บริเวณกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่บ้านศรีพงัน ม.3 ต.เกาะสะท้อน จุดที่ 2 ที่บริเวณบ้านนาฆออีบู ม.2 ต.นานาค และจุดที่ 3 เยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4502 กรมทหารพรานที่ 45 พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ทหารทุกนาย มีความตื่นตัวในการตรวจตราและมีความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคล ที่อาจจะมีการลักลอบข้ามแดนเข้ามาในช่วงระยะนี้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีครอบครัวคนไทย 3 พ่อแม่ลูก ได้ลักลอบข้ามแดนเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ด้าน อ.ตากใบ โดยได้นำเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแพร่ระบาดในหมู่บ้าน จนทำให้นายสังคม เกิดก่อ นายอำเภอตากใบ ได้ประกาศปิด 9 หมู่บ้าน ของ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ ไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.64 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบมีชาวบ้านติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 17 ราย และหากเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกา ก็จะทำให้เกิดความโกลาหนครั้งใหญ่ขึ้นได้


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ​ หะไร​ จ.นราธิวาส

ชลบุรี - มูลนิธิพุทธรักษา บริษัทสี่พระยามอบเครื่องออกซิเจนรักษาผู้ป่วยโควิด รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ

วันนี้ 10 พ.ค.64 ที่ศูนย์รับบริจาคโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  นายเวคิน  ตั้งกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC)  ผู้แทนมูลนิธิพุทธรักษา นางสาววิภาวี จิรังบุญกุล และ นายวรงค์ รุ่งตระการ ผู้แทน บริษัท สี่พระยาก่อสร้าง จำกัด นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 จังหวัดชลบุรี  ได้ร่วมกันส่งมอบ เครื่องช่วยหายใจ แบบ Vela Plus จำนวน 1 เครื่อง และเครื่องช่วยใจแบบ High Flow จำนวน 1 เครื่อง ร่วมมูลค่ากว่า 670,000 บาท   ให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี นาวาเอกหญิงนงลักษณ์ สิงหโกวินท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการสุขภาพ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นผู้รับมอบ

สำหรับการบริจาค มีมูลนิธิพุทธรักษา มูลนิธิธนินท์เทวี เจียรวนนท์ บริษัทสี่พระยาก่อสร้าง จำกัด  ได้ร่วมกันบริจาคเครื่องช่วยหายใจ แบบ Vela Plus จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 420,000 บาท และเครื่องช่วยใจแบบ High Flow จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 250,000 บาท  ร่วมมูลค่ากว่า 670,000 บาท  ให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ  เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19   

        

นาวาเอกหญิงนงลักษณ์ สิงหโกวินท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการสุขภาพ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระลอกที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการระบาดครั้งนี้ส่งผลเป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้ป่วยรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ เป็นจำนวนมาก หลายโรงพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะ “เครื่องออกซิเจน” เป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นและสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหายใจล้มเหลว หรือมีภาวะพร่องออกซิเจน และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ทางโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ต้องขอขอบคุณผู้บริจาค ที่ร่วมกันบริจาคเครื่องออกซิเจน เพื่อช่วยรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลัง ระบาดอยู่ในช่วงนี้  โดยมี นายสะถิระ เผือกประพันธุ์. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 จังหวัดชลบุรี  เป็นผู้ประสานงานในการได้รับมอบ เครื่องออกซิเจน ในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top