Sunday, 15 December 2024
Region

ผู้ว่าฯ ระยอง เปิดงานมหกรรมรวมพลังขับเคลื่อนจังหวัด น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลัง “บวร”

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 18.00 น. ที่วัดละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมรวมพลังขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยพลัง “บวร”

จังหวัดระยอง มีพระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยอง มหานิกาย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระราชปริยัติโมลี เจ้าคณะจังหวัดระยอง ธรรมยุตนิกาย นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายวรวุฒิ ด่านสมพงศ์ วัฒนธรรมจังหวัดระยอง นายดาระใน ยี่ภู่ นายอำเภอบ้านค่าย หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ภายใต้วิถีนิวนอร์มอล  ภายในงานมีกิจกรรมแสง สี เสียง สื่อผสม การแสดงวัฒนธรรม การออกร้านจำหน่ายอาหารและของดีทั้ง 8 อำเภอ การแสดงดนตรีแบบผสมผสานวงกะหลุกแบนด์ คิดบวกสิบป์ และการแสดงจากกุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ 

นายอนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรม คุณธรรม สร้างค่านิยมจิตสำนึกที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกลไก “ประชารัฐ” ให้ครอบคลุมมิติด้านศาสนา ด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทย โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายในและใช้คุณธรรมในการพัฒนาสร้างคนไทยและสังคมคุณธรรมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน 

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองมีอำเภอคุณธรรม 8 อำเภอ และชุมชนคุณธรรม 170 แห่ง โดยการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมชุมชนคุณธรรม เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมด้านหลักธรรม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วัฒนธรรมไทย ส่งเสริมให้วัด ศาสนสถาน ชุมชน และสถานศึกษา เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมด้านคุณธรรม รวมทั้งน้อมนำหลักธรรมทางศาสนา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติปรับใช้ในชุมชนให้มีรายได้ ทั้งผลิตภัณฑ์ชุมชน ทุนทางวัฒนธรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภายหลังจากสถานการณ์โควิด19 ในจังหวัดระยองคลี่คลาย


ภาพ/ข่าว : เดชา สุวรรณสาร ทีมข่าวภาคตะวันออก

เจ้าหน้าที่คุมเข้มจังหวัดชายแดนใต้ วันแรกของการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบใหม่ครั้งที่ 63

หน่วยกำลังในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพิ่มการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหตุการณ์เผายางรถยนต์และลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ จนมาถึงเหตุการณ์ปล้นรถยนต์ ในพื้นที่ จ.ยะลา และเหตุการณ์คนร้ายยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิตที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และเมื่อวันที่ 19 มี.ค.นี้ ตรงกับวันสุดท้ายของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 62 และในวันนี้ 20 มี.ค.จะเป็นวันแรกของต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบใหม่ครั้งที่ 63 ซึ่งมีการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.64 ซึ่งทำให้กลุ่มคนร้ายในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ถูกจำกัดเสรี

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64  ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยกำลังภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหตุการณ์เผายางรถยนต์และลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ จนมาถึงเหตุการณ์ปล้นรถยนต์ ในพื้นที่ จ.ยะลา และเหตุการณ์คนร้ายยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิตที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ตรงกับวันสุดท้ายของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 62 และในวันนี้ 20 มี.ค.จะเป็นวันแรกของต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบใหม่ครั้งที่ 63

ซึ่งมีการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.64 ทำให้กลุ่มคนร้ายถูกจำกัดเสรี   ขณะที่มีรายงานว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุพยายามที่จะสร้างสถานการณ์เพื่อเบี่ยงเบนเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดช่องให้กลุ่มวางระเบิดนำระเบิดที่จัดเตรีมมาเพื่อทำการวางคาร์บอมบ์ในย่านเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจ 3จังหวัดชายแดนใต้ โดยทำการลอบวางระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็ก (ไปป์บอมบ์) ภายในร้านสะดวกซื้อ และตู้เอทีเอ็มเพื่อทำการสร้างสถานการณ์ ขณะที่การรักษาความปลอดภัยในเขตเมือง

เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงโดยเฉพาะในวันแรกของต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบใหม่ครั้งที่ 63 ซึ่งมีการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 19 มิ.ย.64  ซึ่ง พ.ต.อ.เอกชัย พราหมณกุล ผกก.สภ.เบตง บอกว่าได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจต่าง ๆ เฝ้าระวังรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ต้องสงสัยอย่างเข้มงวด รวมถึงขอกำลังทหารและอาสาสมัครรักษาดินแดนเพิ่มเติมเข้ามาดูแล นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ราชการและแหล่งชุมชนเพื่อป้องกันความรุนแรงอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือจากประชาชนคอยเป็นหูเป็นตาด้วย

ขณะที่เมื่อเวลา 20.00 น. ที่ผ่านมา  รับแจ้งว่า มีปล้นทรัพย์ บริเวณบ้านเลขที่ 108 ม.9 บ.บุดี ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยมีกลุ่มคนร้าย 7 - 8 คน ปิดบังใบหน้า บุกเข้าไปภายในบ้าน และปล้นเอารถยนต์กระบะ โตโยต้า แคปสีบรอน ทะเบียน บจ 3793 ยะลา โดยคนร้าย ใช้รถยนต์ฮอนด้า CRV เป็นพาหนะในการก่อเหตุ แล้วหลบหนีไปทาง แยกปารามีแต อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ต่อมาได้รับแจ้งจาก ร.อ.วิถีชัย อ่อนสนิท ผบ.ร้อย ทพ.4113  ได้ตรวจพบรถยนต์กระบะวีโก้ หมายเลขทะเบียน 3793  ยะลา ซึ่งถูกปล้นไปโดยคนร้ายได้นำมาจอดทิ้งไว้ในพื้นที่ ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง/คุณชานนท์ บ้าน ปะกาสาแม ม.1  ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการเข้าตรวจสอบ

นอกจากนี้ยังมีรถยนต์เฝ้าระวัง อีกจำนวน 5 คันที่กลุ่มคนร้ายได้ปล้นไป และมีรถจักรยานยนต์เฝ้าระวังพิเศษ อีก จำนวน 41 คัน ซึ่งรถจักยานยนต์บางส่วนเจ้าหน้าที่สามารถตามตรวจยึดคืนได้บ้างส่วน ซึ่งเจ้าหน้าที่เกรงว่าจักรยายนต์และรถยนต์ กลุ่มคนร้ายจะนำไปเพื่อเตรียมก่อเหตุระเบิดที่ได้ล็อตเป้าหมายเอาไว้แล้ว


ภาพ/ข่าว : ธานินทร์  โพธิทัพพะ

ศรชล.ร่วม หน่วยงานทางทะเล ปล่อยลูกหอยลาย 5 ล้านตัว รักษาความสมดุลทางธรรมชาติสัตว์น้ำ

น.อ.ธัญญ์นิธิ แก้วเวียงเดชณรัฐ  รอง ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จว.ประ จวบคีรีขันธ์ (รอง ผอ.ศรชล.จว. ประจวบคีรีขันธ์) ว่าที่ น.อ.ไกรพิชญ์ กรวีร์ปภาวิทย์ หน.ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ศคท.จว.ประจวบคีรีขันธ์) นายอติชาติ ชัยศรี นายกสมาคมประมงปราณบุรี นายนุกูล วัฒนากร ปลัดอำเภอปราณบุรี และหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ ศูนย์รับแจ้งเรือเข้าออกปราณบุรี ตำรวจน้ำปราณบุรี และประมงปราณบุรี ร่วมปล่อยลูกหอยลาย จำนวน 5,000,000 ตัว โดยได้รับการสนับสนุนลูกหอยลาย จากศูนย์วิจัยประมงคลองวาฬ ประจวบคีรีขันธ์

มีวัตถุประสงค์เพื่อ ปล่อยลูกหอยลายจำนวน 5,000,000 ตัว ลงสู่ท้องทะเล เพื่อรักษาความสมดุลย์ทางธรรมชาติของสัตว์น้ำ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และชายฝั่งในพื้นที่ อ่าวปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ซึ่งเกิดขึ้นจาก ความร่วมมือของ ศรชล.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมงอำเภอปราณบุรี สมาคมประมง และผู้ประกอบการประมงปราณบุรี และศูนย์วิจัยประมงคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ภาพ/ข่าว : นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

อบจ.สุโขทัย ชวนเที่ยว ชมไม้งาม รับลมคลายร้อนในทะเลหลวง

"ดอกเสลา" ม่วงขาวพราวสีสัน สวยทั้งวันบานพลิ้วลมไสว "กัลปพฤกษ์"ชมพูอ่อนเย้ายวนใจ "เหลืองปรีดียาธร" สดใสรับอรุณ มาเช็คอิน ถ่ายรูป ดอกไม้บานรับลมร้อน ที่บริเวณแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ทุ่งทะเลหลวงสุโขทัย

เกาะกลางรูปหัวใจ เป็นที่รู้จักกันคือบริเวณทุ่งทะเลหลวง ตั้งอยู่ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชมธรรมชาติ และเก็บน้ำขนากกลาง  “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ” หรือเรียกโดยทั่วไปว่า “เกาะรูปหัวใจ” พื้นที่แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณใจกลางทุ่งทะเลหลวง มีเขตติดต่อกันถึง 3 ตำบล ต.ปากแคว ต.บ้านกล้วย ต.ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจแห่งนี้ ได้เกิดจากแนวคิดโครงการแก้มลิง ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยได้เริ่มทำโครงการสร้างแหล่งเก็บน้ำขึ้น ในปี พ.ศ. 2545 โดยใช้บริเวณทะเลหลวงซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำในอดีต โดยได้มีการขุดลอกพื้นที่และขุดคลองเผื่อผันน้ำเข้ากักเก็บไว้ในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ เเละได้มีการออกแบบให้เป็นรูปหัวใจ

จนถึงปัจจุบันนี้ โครงการแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง และแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ซึ่งมีนายมนู พุกประเสริฐ นายกอบจ. ได้ส่งเสริมให้ “เกาะกลางรูปหัวใจ” ทุ่งทะเลหลวงแห่งนี้ เป็นสถานที่พักผ่อน สถานที่ท่องเที่ยว แขกบ้านต่างเมือง และส่งเสริมให้เป็นที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุโขทัย ในเชิงสุขภาพ ความสดชื่นเบิกบานใจเชิงธรรมชาติร่มรื่น  สร้างความสุขให้กับผู้มาเยือนและคนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย มีแหล่งท่องเที่ยว มีที่พักผ่อน มีสวนสุขภาพที่ทำให้หายเหนื่อยจากการทำงาน และสภาวะต่าง ๆ มาเติมพลังและเพิ่มความสุขยังทุ่งทะเลหลวงแห่งนี้

ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุโขทัยไปแล้ว โดยบริเวณพื้นที่บนเกาะนั้น ได้มีการปลูกต้นไม้เพื่อความร่มรื่น เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว และผู้คนที่มาออกกำลังกาย เเละยังได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการจัดงานในวันสำคัญต่าง ๆ อาทิ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา นอกจากเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยแล้ว ยังมีส่วนราชการสำคัญ ๆ หลายหน่วยงานได้เข้ามาทำการปลูกสร้างและจัดเป็นส่วนราชการในอนาคตต่อไป เพื่อความคล่องตัวและขยายพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัยให้กว้างและคล่องตัวมากขึ้น  และสร้างอาคารสำคัญเช่น สนามกีฬา สนามฟุตบอลสโมสรสุโขทัยเอฟซีที่โด่งดัง และสวนสาธารณะไว้ในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญแห่งใหม่ของจังหวัดสุโขทัยในอนาคตข้างหน้า

ลักษณะเด่นแก้มลิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ทะเลหลวงเป็นแหล่งเก็บน้ำ โอบล้อมด้วยทิวเขาหลวงมีเกาะกลางเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ เป็นความงดงามเพียงหนึ่งเดียวในโลก โดดเด่นจากการสร้างสรรค์จากน้ำ  อยากให้นักที่องเที่ยวทั้งต่างจังหวัด และในพื้นที่ เดินทางมาพักผ่อน  คลายร้อน รับโอโซนของของธรรมชาติ และดอกไม่เด่น ๆ สวยงาม ที่ผลิดอก ออกใบ สวยงามสะพรั่งขณะนี้  มีทั้ง "ดอกเสลา" ม่วงขาวพราวสีสัน สวยทั้งวันบานพลิ้วลมไสว "กัลปพฤกษ์" ชมพูอ่อนเย้ายวนใจ "เหลืองปรีดียาธร" สดใสรับอรุณ มาเช็คอิน ถ่ายรูป ดอกไม้บานรับลมร้อน ที่บริเวณแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์รูปหัวใจ ทุ่งทะเลหลวงสุโขทัย


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา สุโขทัย

นักเรียนสตูล เนรมิตผืนดินร้างในโรงเรียน เป็นทุ่งทานตะวันแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนสร้างรายได้

วันนี้ 22 มีนาคม 2564 นักเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครอง กำลังสนุกสนาน เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกับทุ่งทานตะวันที่ชูช่อดอกเหลืองอร่าม ท้าแสงแดด บนพื้นที่ 2 ไร่ บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านาท่าแลหลา  ต.กำแพง  อ.ละงู  จ.สตูล สร้างความสุข และเกิดการเรียนรู้ของนักเรียนภายใต้แนวคิด  การจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนหลักการความคุ้มค่า  "ทุกตารางเมตรคือแหล่งเรียนรู้"

โดยแปลงทานตะวันแห่งนี้เกิดขึ้น  โดยคณะครู และนักเรียนต้องการให้ทุกพื้นที่ของโรงเรียนใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกทักษะอาชีพ ฝึกนิสัยความรับผิดชอบ การช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม และเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน แปลงทางตะวันแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ ของนักเรียน คณะครู และผู้บริหาร โดยนักเรียนแต่ละชั้นเรียนร่วมกันรับผิดชอบ  ตั้งแต่กกระบวนการแรก พรวนดิน  ลงเมล็ดพันธุ์  รดน้ำ ดูแลจนเบ่งบานสวยงาม  ผ่านกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง

นายสนั่น หวันสมัน ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านท่าแลหลา กล่าวว่า เดิมทีโรงเรียนแห่งนี้ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ว่าง ทางคณะกรรมการสถานศึกษาคณะครูผู้ปกครองมีแนวคิดว่าโรงเรียนแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับ ลูก ๆ หลาน ๆ ของเราในชุมชน พร้อมทั้งผู้ปกครองที่เข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียน ทุกตารางเมตรของโรงเรียนคือแหล่งเรียนรู้โดยเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่า เราจึงปลูกดอกไม้เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบ ในโรงเรียนร่วมกัน ร่วมกันใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใช้สอยเพราะโรงเรียนของเราเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่เยอะแต่ทุกตารางเมตรก่อให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

ในส่วนของพื้นที่ตรงนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลก็เข้ามามีส่วนร่วม เป็นจุดเช็คอิน  เพื่อดึงคนจากภายนอกมาเที่ยวในชุมชนในตำบลของเราได้ด้วย  ตรงนี้เราไม่ได้เรียกร้องขอค่าบริการต่าง ๆ  แต่ในส่วน ของผู้มีจิตศรัทธา ก็ร่วมกันบริจาคสมทบทุนเพื่อให้กับลูกหลานในชุมชนในโรงเรียนเพื่อเป็นค่าดูแลได้ สำหรับดอกทานตะวันนี้จะแบ่งบานยาวไปจนถึงช่วงสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุกวันฟรี

รวมทั้งทางโรงเรียนเองนั้นต้องการที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อให้หมู่บ้านบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนมีรายได้  รวมทั้งตำบลกำแพงนี้มีการท่องเที่ยว และการทำของฝากหลาย ๆ จุด และจะนำโรงเรียนแห่งนี้เป็นจุดเส้นทางการมาเที่ยวอีกด้วย เพราะปัจจุบันนี้ ของฝากในพื้นที่ทั้งขนม และสิ่งของขายได้จากนักท่องเที่ยวเดือน ๆ หนึ่งได้ 3,000 – 10,000 บาท หากมีดอกทานตะวัน ยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี  ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 446 นำกำลังพลลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำ แม่น้ำสุไหงโก-ลก

พ.ต.ท.อเนชา ตาวันผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 446 อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสพร้อมร.ต.ต.สมยศ หนูเอียดหัวหน้าชุดเฝ้าตรวจชายแดน 4408 พร้อมกำลังพล 4407 และ 4408 ร่วมลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำแม่น้ำสุไหงโก-ลกและลาดตระเวนสำรวจหลักเขตแดนที 72 ณ.หมู่ที่ 2 บ้านภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสและพักค้างแรม 1 คืนทีบริเวณหลักเขตแดนที่ 74            

วัตถุประสงค์ของการลาดตระเวนตรวจสอบป่าต้นน้ำในครั้งนี้เพื่อดูแลการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและขบวนการพาคนข้ามเขตแดน แรงงานต่างด้าวและคนไทยทีติดอยู่ในประเทศมาเลเซียเข้ามาและเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิค 19 อีกด้วย


ภาพ/ข่าว : แวดาโอ๊ะ หะไร นราธิวาส

กรมประมง เปิดเวทีจัดเสวนา “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พร้อมมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชน ประมงท้องถิ่นและปล่อยกุ้งกุลาดำ กว่า 1 ล้านตัว ลงทะเลสาบสงขลา

หาดจันทร์สว่าง (หาดปลาไก่) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา กรมประมงจัดพิธีเปิดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 สงขลา เป็นประธาน มีนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายปัญญา จินดาวงศ์ นายอำเภอสิงหนคร ข้าราชการ คณะครูและนักเรียน รวมถึงพี่น้องชาวประมงจาก 15 ชุมชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วม

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 25 ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงทะเลชายฝั่ง โดยกำหนดให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่องการมีส่วนร่วม การรวมกลุ่ม การให้คำปรึกษาแก่ชุมชน การเผยแพร่ความรู้ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของชุมชน ฯลฯ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านชายฝั่งไปแล้วกว่า 459 ชุมชน เช่นโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน , โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร , โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง

กรมประมงจึงกำหนดจัดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม - สิงหาคม 2564 ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งชองชุมชนประมงชายทะเล และแนวทางการขับเคลื่อนเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในการบริหารจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน อีกทั้ง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ภายในงานมีการเสวนา ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พิธีมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชน กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งกุลาดำ จำนวน 1 ล้านตัว โดยปล่อยในทะเลชายฝั่งบริเวณหาดจันทร์สว่าง และขบวนคาราวานเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 20 ลำ ยังได้นำกุ้งกุลาดำ (500,000 ตัว) ไปปล่อยในเขตอนุรักษ์และเขตสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำของชุมชนอีกด้วย อีกทั้งยังมีการมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จำนวน 10 ชุมชน เพื่อนำไปบริหารจัดการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างทั่วถึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพประมง และชุมชนประมงเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ทางการประมงมากมาย อาทิ มาตรฐานประมงพื้นบ้านยั่งยืน มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในอ่าวไทย เขตทะเลหลวง เขตทะเลชายฝั่ง การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้แนวทางระบบนิเวศ การตลาด (ปลากะพง) โรคสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากชาวประมง อีกด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงชายทะเล เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ภายใต้บริบทและวิถีของชุมชน เกิดความมั่นคงในอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน หวังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 23 จังหวัด เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรประมงของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพประมงภายใต้ความยั่งยืนของทรัพยากร ตามนโยบายที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวประมง


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  หาดใหญ่ สงขลา

เทอร์มินอล 21 พัทยา จัดงาน Fresh Farm ขายสินค้าสดจากไร่ เจาะตลาดออแกนิกส์

สดจากไร่! ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พัทยา จัดงาน Fresh Farm 2021 แคมป์ติดฟาร์ม ดึงผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกร้านสร้างจุดขายเจาะดึงดูดนักท่องเที่ยวตลาดออแกนิกส์

มีรายงานว่า ระหว่างวันที่ 16 - 24 มี.ค.64 ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พัทยา จัดงาน Fresh Farm 2021 แคมป์ติดฟาร์ม โดยนำเอาผู้ประกอบการร้านค้าประเภทผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และสินค้าเกษตรอินทรีย์ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร รวมกว่า 30 แห่ง มาร่วมกันออกร้านจำหน่ายสินค้า

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวบรวมเอาของดีทั่วประเทศมารวบรวมกันไว้ในแบบแคมป์ปิ้ง ช้อปกลางสวน อร่อยกลางฟาร์ม ด้วยคุณภาพคัดสดจากไร่และแหล่งเพาะปลูกถึงมือผู้บริโภค เพื่อเป็นจุดขายสำหรับตลาดรักสุขภาพและผู้ชื่นชอบดูแลตัวเองด้วยอาหารการกินในผลิตภัณฑ์และสินค้าการเกษตรแบบออแกนิกส์หรือปลอดสารพิษ

ภายในงาน Fresh Farm 2021 แคมป์ติดฟาร์ม ในวันแรกนี้ ถือว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและประชาชนทยอยเข้าร่วมเลือกชมและเลือกซื้อสินค้าภายในงานกันอย่างคึกคัก โดนเฉพาะในส่วนของร้านรื่นเริงกัญ โดยวิสาหกิจชุมชนไทยเฮิร์บพลัส ได้ออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องดื่มและอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมายมาจำหน่าย ซึ่งได้รับความสนใจกับผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก


ภาพ/ข่าว : นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบของ Event Maketing ให้คนไทยท่องเที่ยวในภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครนายก เพื่อการกระจายรายได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ที่บริเวณลานอเนกประสงค์เขื่อนขุนด่านปราการชล ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายอำนาจ แย้มศิริ ปลัดจังหวัดนครนายก ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลกินกุ้ง กินปลาและของดีเมืองนครนายก ในวันที่ 20 - 21มีนาคม 2564 โดยมี จ่าสิบตำรวจสกล ทอง คำ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก พร้อมคณะให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน

ทั้งนี้เพื่อกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบของ  Event Maketing ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครนายก เพื่อการกระจายรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดนครนายก อาทิ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านค้า รานอาหาร สินค้าของฝากของที่ระลึกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้หมุนเวียนตามแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในวิถีปกติใหม่ New Nomal ที่จะสร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว เป็นการยกระดับการท่องเที่ยวที่สะอาด สะดวก ปลอดภัย และคนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นรูปแบบมหกรรมอาหารเมนู กุ้ง ปลา และของดีของฝากจากนครนายก โดยรวบรวมร้านอาหารจกกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง-ปลาในพื้นที่ และสินค้าชุมชน จากชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในท้องที่ เพลิดเพลินไปกับการแสดงศิลปะพื้นบ้าน ลิเกชื่อดัง ”ศรราม น้ำเพชร” และวงดนตรีข้าวเปลือก ที่จะมาสร้างสีสันในงาน


ภาพ/ข่าว : สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่  ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

เชียงใหม่ เปิดโครงการพัฒนา และฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ สำหรับมัคคุเทศก์ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รุ่นที่ 1

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 รองศาสตราจารย์  ดร.ชรินทร์ เตชะพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เกียรติ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาและฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุสำหรับมัคคุเทศก์ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 2 เมษายน 2564  ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมด้วย  แขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานผู้สนับสนุนโครงการ และเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ ผศ. สุรพงษ์ เลิศทัศนีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการเมดิโคโพลิสเชียงใหม่ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) , นายมานพ แซ่เจีย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ , นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ , ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และสมาคมสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เซ็กชั่นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) มากที่สุดก็คือ เช็กชั่นการท่องเที่ยว กลุ่มมัคคุเทศก์ ซึ่งเดิมมีอาชีพหลักอยู่ก็ทำให้ได้รับผลกระทบในระยะยาว  ยังคิดว่าในระยะ 1 ปียังไม่พลิกฟื้นที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องหาทางเลือกในการประกอบอาชีพให้เขา ประกอบกับทาง TCELS  สนับสนุนในเรื่องงบประมาณในการฝึกอบรมการดูแลผู้สูงอายุ ก็มองเป้าหมายมาที่กลุ่มของมัคคุเทศก์ก่อน เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด 19

และเป็นการเตรียมคน เพราะว่าผู้สูงอายุไม่ได้มีเฉพาะคนไทย รวมถึงถ้าการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาแบบสมบูรณ์ กลุ่มตลาดท่องเที่ยวใหญ่ที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มองเป้าไว้ในเรื่องโครงการเมดิโคโพลิส ก็คือ การทำให้เราเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ กลุ่มหนึ่งก็คือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นผู้สูงอายุ ฉะนั้นก็จะสอดรับกับกลุ่มมัคคุเทศก์ที่เข้ามา ในการรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวฟื้นตัวแล้วเขาไม่ได้ประกอบอาชีพนี้ แต่ท้ายที่สุดมีการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้สูงอายุอยู่มัคคุเทศก์ก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปที่จะไปดูแลได้  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่ระบาดไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกจึงได้ประกาศให้โรคติดเชื้อดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินระดับนานาชาติ (Public health emergency of international concern – PHEIC) ทำให้หลายประเทศออกมาตรการห้ามการเดินทางเข้า - ออกประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเทียวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนสูงสุดที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมากเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นตัวแปรสำคัญในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

โดยในปี พ.ศ. 2563 พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ถึง 83.21% ส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ในเมืองท่องเที่ยว เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบ และว่างงานเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานเป็นปัญหาที่สำคัญ และควรบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์อย่างเร่งด่วน เพื่ออุดหนุนให้ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกภาคส่วนให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะเดียวกันนี้ ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2564 โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวพบเช่นเดียวกันเกือบทุกประเทศทั่วโลก

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับความไว้วางใจจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (Thailand Center of Excellence for Life Sciences – TCELS) , สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่, สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชียงใหม่และเครือข่ายพันธมิตร ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดโครงการพัฒนาและฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุสำหรับมัคคุเทศก์ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) รุ่นที่ 1 ขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ด้านการดูแลผู้สูงอายุให้แก่มัคคุเทศก์ เพื่อแก้ไขปัญหามัคคุเทศก์ผู้ว่างงานอันเนื่องมากจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา-19 และเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยบูรณาการความรู้ร่วมกับการให้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยผู้เข้าอบรมจะได้เรียนทั้งภาคทฤษฎี/ภาคปฏิบัติ รวมถึงฝึกปฏิบัติภาคสนาม

สำหรับการจัดโครงการพัฒนาและฝึกอบรมในครั้งนี้ มีมัคคุเทศก์เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น จำนวน 50 คน จากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลผู้สูงอายุของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผศ. สุรพงษ์ เลิศทัศนีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการเมดิโคโพลิสเชียงใหม่ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า TCELS  ได้มาเริ่มโครงการเมดิโคโพลิสที่เชียงใหม่ เมื่อปลายปี 2562“และทราบจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ว่ากลุ่มมัคคุเทศก์ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทาง TCELS ก็ได้ไปปรึกษากับทางคณะพยาบาล ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่จะอบรมมัคคุเทศก์ให้มีความรู้เบื้องต้นในการดูแลผู้สูงวัยในระดับเบื้องต้น เพื่อที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปช่วยในการดูแลผู้สูงวัย และนักท่องเที่ยว เป็นโครงการแรกที่เริ่มทำในปีนี้ และจะมีโครงการต่อๆไปที่ทำร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่” 

นายมานพ แซ่เจีย นายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากระหว่างที่โรคระบาดโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และมัคคุเทศก์ก็ยังตกงาน และเพื่อเป็นการให้มัคคุเทศก์ได้เพิ่มทักษะในการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะหลังโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย  แล้วมัคคุเทศก์กลับมาทำงาน ก็จะได้ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะในการดูแลผู้สูงอายุชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีผลในด้านความปลอดภัยในสุขภาพของนักท่องเที่ยวในระหว่างที่มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมามัคคุเทศก์ก็มีทักษะในการดูแลช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นเท่านั้น การอบรมครั้งนี้ก็จะเพิ่มความรู้ให้มัคคุเทศก์ที่สามารถสังเกตและให้ความดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุชาวต่างชาติเป็นความรู้ที่เราจะสามารถเรียนรู้แล้วไปต่อยอดใช้กับงานด้านมัคคุเทศก์ ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยแล้วมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพราะมัคคุเทศก์ได้ผ่านการอบรมโครงการผู้ดูแลผู้สูงอายุมาแล้ว


ภาพ/ข่าว  วิภาดา เชียงใหม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top