Tuesday, 7 May 2024
Region

พ่อเมืองสุโขทัย ชวนเที่ยวงาน “เมษาหรรษา @สุโขทัย”ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางเที่ยวชมงาน และสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับจังหวัดอย่างคึกคัก

จังหวัดสุโขทัย ร่วมกับ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย แถลงข่าว “เมษาหรรษา @สุโขทัย” ตามโครงการส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นแนวคิดการเดินทางท่องเที่ยวตลอดเดือนเมษายน ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมและงานประเพณีสำคัญที่จะเกิดขึ้น ตลอดเดือนเมษายน นี้ โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ที่จะมีขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัย

นายวิรุฬ  พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า จังหวัดสุโขทัย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเป็นเมืองท่องเที่ยว และต้องการให้จังหวัดสุโขทัย เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกจังหวัด อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัด เกิดการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ของฝาก การขยายตลาดของสินค้า การท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างอาชีพ และก่อให้เกิดรายได้กับประชาชน จังหวัดสุโขทัย จึงได้กำหนดให้เดือนเมษายน เป็นเดือนแห่งการท่องเที่ยวภายใต้ชื่อกิจกรรม “เมษาหรรษา @สุโขทัย” เนื่องจากในเดือนนี้ มีงานประเพณีวัฒนธรรมไทยที่สำคัญ แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย ที่จะทำให้นักท่องเที่ยว สามารถเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัย  ได้ตลอดทั้งเดือนเมษายน        

ซึ่งจังหวัดสุโขทัย มีกิจกรรมเด่นและประเพณีสำคัญๆที่จะเกิดขึ้นตลอดเดือนเมษายน มีดังนี้  ตักบาตรสะพานบุญ ณ วัดตระพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย ซึ่งจัดให้นักท่องเที่ยวได้ใส่บาตรกันทุกวัน  งาน Amazing Sukhothai Light Up Night ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม ณ.วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  งานสักการะพระแม่ย่าจังหวัดสุโขทัย ณ ศาลพระแม่ย่าสุโขทัย วันที่ 30 มีนาคม ถึง 8 เมษายน  งาน Mini Light & Sound เรื่องเมืองสุโขทัย ณ วัดสระศรี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  วันที่ 3 และ 17 เมษายนงานประเพณีแห่ช้างบวชนาค ชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว  ณ วัดหาดเสี้ยว  วันที่ 6 – 7 เมษายน  งานประเพณีสรงน้ำโอยทานสงกรานต์ศรีสัชนาลัย ณ อนุสาวรีย์พระยาลิไท วันที่ 8 -11 เมษายน  งานประเพณีสรงน้ำโอยทานสงกรานต์ศรีสัชนาลัย ณ ศาลหลักเมืองศรีสัชนาลัย วันที่ 11 เมษายน  งานกิจกรรมส่งเสริมเมืองสร้างสรรค์ Crafts and Folk Art “งานบ้านบ้านสุโขทัย” ณ สวนน้ำเปรมสุข วันที่ 10-14 เมษายน   งานย้อนมหาสงกรานต์กรุงสุโขทัย ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วันที่ 13 เมษายน งานประเพณีสงกรานต์เมืองสุโขทัย วันที่ 13 ถึง 15 เมษายน  งานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง สรงน้ำเจ้าหมื่นด้ง ณ อนุสาวรีย์เจ้าพ่อหมื่นด้ง ตำบลบ้านตึก วันที่ 18-20 เมษายน

 

นายวิรุฬ  พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และศรีสัชนาลัย ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองแห่งมรดกโลก ที่มีเป็นต้นกำเนิดด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี อีกทั้งผู้คนในท้องถิ่นยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณีดั้งเดิมอันงดงามไว้ได้อย่างเข้มแข็งตลอดทั้งปี มีการจัดงานเทศกาลเฉลิมฉลองและงานประเพณีที่สำคัญมากมาย จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมเยี่ยมชมงานประเพณีวัฒนธรรม และกิจกรรมต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ อีกทั้งจังหวัดสุโขทัยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวโบราณสถานที่งดงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่นหลากหลายไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่าน มีอาหารอร่อยมากมายให้ลิ้มลอง มีสินค้าและของที่ระลึกเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่น ของดีของเด่นทั้ง 9 อำเภอ ที่สำคัญ เราพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ที่พัก การเดินที่ทางสะดวก ปลอดภัย และสามารถเที่ยวได้ทุกวัน เที่ยวได้ตลอดเดือนเมษายนนี้ ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่นิวนอร์มอน ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางเที่ยวชมงาน และจะสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับจังหวัดอย่างคึกคัก เกิดการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจภายในจังหวัดสุโขทัย

ภาพ/ข่าว  พงศ์เทพ สาคร (สุโขทัย)

ชาวบ้านครวญเข้าไปหาของป่าไม่พอกิน วอนลุงตู่ ไม่ให้ขยายเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า

ชาวบ้านชายแดนไทยเขมร วอนลุงตู่ไม่ให้ขยายเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า สะอื้นครวญทุกวันนี้ชาวบ้านเข้าไปหาของป่าได้แทบไม่พอกินอยู่แล้ว หากขยายพื้นที่อนุรักษ์ชาวบ้านไม่สามารถที่จะเข้าไปหาของป่าเลี้ยงครอบครัวได้  ควรให้อยู่กันแบบเดิมต่อไป

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.64 ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชาช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนหลังจากที่มีข่าวว่า ขณะนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการเสนอขอให้มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยได้ดำเนินการผนวกพื้นที่ป่าไม้ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าตามมติ ครม.ป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลา ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

ซึ่งในบริเวณ ต.ไพรพัฒนา มีสถานที่สำคัญต่าง ๆ มากมายเช่น จุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูชา ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ตลาดเมืองใหม่ช่องสะงำ สถานีขนส่งผู้โดยสารเมืองใหม่ช่องสะงำ จุดชมวิวผาพญากูปรี อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ เป็นต้น และมีหมู่บ้านต่าง ๆ อีกประมาณ 8 หมู่บ้าน โดยพบว่าชาวบ้านได้มีการปลูกสวนยาง ทำไร่ปลูกพืชไร่ต่าง ๆ จำนวนมาก และมีการสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่นมาก มีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนหลายพันคนด้วยกัน เมื่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่คาดว่าจะต้องผนวกเข้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านต่างพากันตื่นตกใจเนื่องจากว่า จะทำให้ชาวบ้านที่เคยเข้าไปหาของป่าและทำมาหากินกับป่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อีกทั้งเกรงว่า บ้านเรือนที่ตนเองอาศัยอยู่อาจจะต้องถูกรื้อถอนออกไป และไม่ทราบว่าจะต้องพากันไปอาศัยทำมาหากินที่ใด

นางจิ๋ม พรหมงาม อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 227 หมู่ 8 บ้านแซรไปร ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งหาเลี้ยงชีพด้วยการเข้าไปหาแหย่ไข่มดแดงมาเป็นอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัว กล่าวว่า วันนี้ตนออกจากบ้านตั้งแต่ 8 โมงเช้าเข้าไปหาแหย่ไข่มดแดงในป่าตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา เขต ต.ไพรพัฒนา ปรากฏว่า จนกระทั่งถึงช่วงบ่ายได้ไข่มดแดงและแม่เป้งมดแดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะนำเอาไปทำเป็นอาหารเลี้ยงตนเองและครอบครัว

ซึ่งหากว่า มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจะทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า ขณะนี้ชาวบ้านอย่างพวกตนได้รับความลำบากในการทำมาหากินมากอยู่แล้ว  หากมีการขยายเขตอนุรักษ์ก็ยิ่งจะทำให้ทำมาหากินลำบากมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะว่า หากเข้าไปหาของป่าเก็บเห็ดเก็บของป่าต่าง ๆ ก็เสี่ยงต่อการที่จะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปดำเนินคดี จะทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อน

ตนจึงขอกราบวิงวอนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รมต. ขอได้โปรดอย่าให้มีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าหรือว่า ขยายพื้นที่ป่า ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ขอความเมตตาจากลุงตู่ นายก รมต.ขวัญใจชาวบ้านผู้ยากไร้ได้โปรดให้ความช่วยเหลือพวกตนด้วย

ด้าน นางสำราญ ผิวนวล  อายุ  59 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ 8 บ้านแซรไปรใต้  ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีอาชีพเก็บของป่าเลี้ยงตนเองและครอบครัว กล่าวว่า ตนกับครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแซรไปร ที่คาดว่าจะถูกผนวกเข้าไปเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ปี 2527 ขณะนั้นตนมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น จนกระทั่งขณะนี้ตนมีอายุ 59 ปีแล้ว มีญาติพี่น้องและลูกหลานจำนวนมาก พวกตนมีอาชีพเข้าไปหาเก็บผักหวาน ผักกระโดน ผักอีฮีน เก็บเห็ด แมงจีนูน เป็นต้น ตามแต่จะหาเก็บได้นำเอาของป่ามาขายเป็นรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวพอประทังชีวิตให้รอดพ้นไปได้ ตนและครอบครัวญาติพี่น้องทุกคนไม่เห็นด้วยที่จะให้ขยายพื้นที่ ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหรือเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ 

เนื่องจากว่า จะทำให้พวกตนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะว่า เมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแล้ว ชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าไปเก็บหาของป่า ที่เป็นการดำรงชีพตามปกติได้ จะทำให้พวกตนในพื้นที่ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ตนขอกราบวิงวอนลุงตู่ นายก รมต. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในหัวใจของประชาชนผู้ยากไร้ ขอได้โปรดกรุณาช่วยเหลือพวกตนด้วย พวกตนไม่ต้องการให้เขตพื้นที่ ต.ไพรพัฒนา เป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เพราะว่าหากพวกตนเข้าไปหาของป่าจะต้องถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาก

ภาพ/ข่าว  ศิริเกษ  หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

ฉก.นราธิวาส ช่วยชาวบ้านตอหลังเก็บเกี่ยวข้าว สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีประจำท้องถิ่น ส่งเสริมเพื่อพัฒนาที่ดินเปรี้ยว

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15  ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เป็นประธาน เปิดกิจกรรมพหุวัฒนธรรมการเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีประจำท้องถิ่น สนับสนุน ส่งเสริม เพื่อพัฒนาที่ดินเปรี้ยว ณ บ้านตอหลัง ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายสังคม เกิดก่อ นายอำเภอตากใบ ,พันโททวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 , ผู้นำท้องที่ และประชาชนชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ในพื้นที่ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

สำหรับกิจกรรมการเก็บเกี่ยวข้าวครั้งนี้จัดขึ้น โดยมีจุดประสงค์ คือ ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาในเรื่องดินเปรี้ยว ทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ ทางหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส จึงร่วมกับทุกภาคส่วน มาส่งเสริมการปลูกข้าว โดยใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง คือ พันธุ์ซีบูกันตัง และพันธุ์หอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียง มีคุณค่าทางอาหาร ประการต่อมาการใช้พื้นที่มาเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย  จะช่วยให้รอดพ้นวิกฤตอาหารในสถานการณ์ต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์โควิด-19  ด้วยการหุงข้าวกินเอง ปลูกผักรอบบ้าน ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญประชาชนในพื้นที่มีพี่น้องไทยพุทธ พี่น้องมุสลิม อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน ก็ได้มารักษาต่อยอด ได้ร่วมกันดำนาตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และสืบสานภูมิปัญญาอีกด้วย

ทั้งนี้ พลตรีไพศาล หนูสังข์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และ ประชาชนในพื้นที่ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม และส่งเสริม ฟื้นฟูวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงาม ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ขับเคลื่อนให้ชุมชน 2 วิถี เรียนรู้ และ ยอมรับการอยู่ร่วมกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการรักษาคุณภาพดินเพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ ใช้เพาะปลูกพืชได้อย่างยั่งยืน และ เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคี สร้างอาชีพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของประชาชนในพื้นที่ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

ภาพ/ข่าว  กรียา  (นราธิวาส)

ถึงกับผงะ! นักท่องเที่ยวกราบไหว้พระพุทธรูปในพระอุโบสถ จ.ชัยนาท เห็นรอยแตกร้าว หวั่นเกิดอุบัติเหตุล้มทับคนที่มากราบไหว้ ณ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยัง วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตำบลชัยนาท จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองชาวจังหวัดชัยนาทและใกล้เคียง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นประมาณพุทธศตวรรษ ที่ 19 ภายในวัดประดิษฐานเจดีย์พระบรมธาตุแบบศิลปะสมัยอู่ทอง เป็นเจดีย์ประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอาณาเขตของวัดติดต่อกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติชัยนาทมุนี หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและเข้ากราบไหว้หลวงพ่อทอง พระประธานในพระอุโบสถ​หลังดังกล่าว ก็ได้พบกับกลุ่มชาวบ้านซึ่งกำลังกราบไหว้ขอพรอยู่ในพระอุโบสถ

หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงจากกลุ่มชาวบ้านกำลังวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรูปพระประธานในพระอุโบสถซึ่งมีรอยแตกร้าวขึ้นอยู่หลายจุด หวั่นเกิดอุบัติเหตุล้มมาทับคน จึงได้พากันแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นา ๆ เนื่องจากพระ พระอุโบสถซึ่งสร้างจากดินเหนียว หนึ่งเดียวในเมืองไทยรวมทั้งงดงาม และก็แปลกกว่าที่อื่นใด จึงอยากให้ทางวัดพระบรมธาตุวรวิหารเร่งแก้ไข หรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลงมาดูแลหน่อย โดยกลุ่มชาวบ้านได้กล่าวว่า ที่วัดพระบรมธาตุวรวิหารมีงานบ่อย อาทิเช่นงานบวช งานบุญ หรือตามเทศกาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสงฆ์ หากรอยแตกร้าวที่องค์พระพุทธรูปนั้นยังไม่แก้ไข หวั่นรอยแตกร้าวนั้นอาจจะลามทั่วจนแตกหักเกิดอุบัติเหตุ ถล่มทับคนที่เข้ามากราบไหว้ หรือกำลังทำพิธีเกี่ยวกับสงฆ์ก็เป็นได้ ยังไม่พออาจจะสร้างความเสื่อมเสียมาถึงวัดได้ จึงอยากให้เบื้องบน หรือทางวัดนั้นได้แก้ไข

หลังจากนั้น จึงได้สอบถามไปยังเจ้าอาวาสวัดเพื่อขอทราบลายละเอียดเรื่องรอยแตกร้าวที่องค์พระพุทธรูปในพระอุโบสถ ท่านเจ้าคุณพระสุธีวราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดชัยนาท วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ได้กล่าวว่า หลวงพ่อทองพระประธานในพระอุโบสถนั้นสร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทองปี พ.ศ.1912 ซึ่งทางวัดได้ทำการบูรณะมาครั้งหนึ่งแล้วในปี พ.ศ 2554 ภายใต้การควบคุมของกรมศิลปากร หลังจากนั้นปี พ.ศ.2563 หลวงพ่อทอง เริ่มแตกร้าวแล้วเป็นหนักกว่าช่วงที่ผ่านมา ทางวัดจึงได้แจ้งไปยังกรมศิลปากร แล้วต่อมาก็มีทางคณะ ทางกรมศิลปากรมาตรวจ แต่เรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งมาปี พ.ศ.2564 องค์หลวงพ่อทองที่อยู่ในพระอุโบสถ แตกร้าวทั่วเกือบทั้งองค์ ซึ่งทางวัดก็หวั่นเกิดอุบัติเหตุล้มลงมาทับคนที่มากราบไหว้ ทั้งนี้ทั้งนี้ทางวัดก็อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยลงมาดูแลหน่อย  ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้ ทั้งหมดนี้ทางเจ้าอาวาสได้กล่าวไว้

ภาพ/ข่าว  ภาวิณี ศรีอนันต์  รายงาน

เสียงสัมภาษณ์ คุณทองณัฐฎ์ ศุภปัญญาพงษ์ นายกสภากาชาด อ.วัดสิงห์ และสัมภาษณ์ ท่านเจ้าคุณพระสุธีวราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดชัยนาท

MEDIVAC in Royal Thai Navy Annaul Exercise 2021 ซักซ้อมการฝึกปฏิบัติการทางการแพทย์ในการส่งกลับกรณีกำลังพลได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ในสนาม

วันที่ 28 มี.ค.64 กรมแพทย์ทหารเรือจัดกำลังเข้าร่วมการซักซ้อมการฝึกการส่งกลับสายแพทย์ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2564 โดย ร.ล.อ่างทอง เป็นโรงพยาบาลสนาม ทั้งนี้ชุดปฏิบัติการทางการแพทย์นี้มีขีดความสามารถรักษาผู้บาดเจ็บในระดับที่ต้องรักษาเร่งด่วนได้ ในกรณีที่มีการบาดเจ็บฉุกเฉิน โดยการผึกกองทัพเรือในครั้งนี้กรมแพทย์ทหารเรือทำการจัดกำลังดังนี้

             ชุดลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน 1 ชุด

             ชุดการแพทย์ฉุกเฉิน 1 ชุด

             ชุดศัลยกรรมเคลื่อนที่ 1 ชุด 

การซ้อมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการซ้อมการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2564 ซึ่งกองเรือยุทธการได้จัดกำลังเป็น หมวดเรือเฉพาะกิจสะเทินน้ำสะเทินบก โดยมี พล.ร.ต.อาภา  ชพานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการเป็นผู้บังคับหมวดเรือฯ เป็นหน่วยขึ้นการบังคับบัญชากับกองเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกล ทั้งนี้หมวดเรือเฉพาะกิจสะเทินน้ำสะเทินบกได้ทำการซ้อมการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมในการเดินทางเพื่อเคลื่อนกำลังจากเรือสู่ฝั่ง (From the sea) ในวัน D-Day

 

ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

 

เครื่องดนตรีจากผลไม้ ศิลปะสุดทึ่งของครูเกษียณ ชาวบ้านโป่ง

สุดว้าว !! "เครื่องดนตรีจากผลไม้" ศิลปะสุดทึ่ง ของอดีตข้าราชการครูเกษียณวิชาดนตรี "อาจารย์วิรัช ขำมาลัย" วัย 67 ปี นักประดิษฐ์เครื่องดนตรีพิสดาร ศิลปินดีเด่นจังหวัดราชบุรี สาขาศิลปะการแสดงประจำปี พ.ศ.2542 ที่หยิบจับผลไม้ หรือ ภาชนะเหลือใช้เป็นเครื่องดนตรี

(29 มี.ค.64) เครื่องดนตรีไทยเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเสียงที่ไพเราะและแตกต่างกับเครื่องเล่นจากประเทศอื่น ๆ เครื่องดนตรีแต่ละอย่างจะมีความไพเราะและนุ่มนวลเฉพาะตัวของมัน และแบ่งประเภทออกมาได้ทั้งหมด 4 ประเภทนั่นคือ ดีด สี ตี และเป่า แต่ละประเภทจะมีเสียงที่แตกต่างกัน แต่เมื่อไหร่ที่นำมาเข้าจังหวะด้วยกันจะเกิดทำนองเพลงที่ไพเราะ ซึ่งชาติไหนก็ไม่สามารถเทียบความไพเราะของเครื่องดนตรีไทยได้ เครื่องดีดเป็นเครื่องดนตรีจำพวก จะเข้  เครื่องสีเป็นเครื่องดนตรีจำพวก ซอ เครื่องตีเป็นเครื่องดนตรีจำพวก ระนาด ฆ้อง กลอง เครื่องเป่าเป็นเครื่องดนตรีจำพวก ขลุ่ย ปี่ เป็นต้น

วัสดุที่สร้างเครื่องดนตรีไทย ส่วนใหญ่จะใช้วัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติแล้วค่อย ๆ มาปรับปรุงพัฒนาต่อไปเรื่อย ต้นไผ่ และกระดูกสัตว์ กะลามะพร้าว แผ่นอลุมิเนียม ไฟเบอร์กลาส หนังสัตว์ และวัสดุที่ให้ความคงทนแข็งแรง ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

แต่ที่บ้านคุ้งพยอม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กลับมีอดีตครูวัยเกษียณ ที่พร่ำสอนดนตรีไทยมายาวนานกว่า 50 ปี แม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้ว ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นครูจิตอาสาสอนวิชาดนตรีให้กับนักเรียน ด้วยแถมยังเป็นที่รู้จักกันว่า ครูนักประดิษฐ์ นักสร้างสรรค์ เครื่องดนตรีพิสดาร ศิลปินดีเด่นจังหวัดราชบุรี สาขาศิลปะการแสดงประจำปี พ.ศ.2542 ที่หยิบจับผลไม้ หรือ ภาชนะเหลือใช้เป็นเครื่องดนตรี

ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปที่บ้านของครูนักประดิษฐ์เครื่องดนตรีพิสดารคนดังกล่าว ตั้งอยู่ใน บ้านคุ้งพยอม หมู่ที่ 12 ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านของ นายวิรัช ขำมาลัย อายุ 67 ปี หรือ ที่รู้จักกันครูวิรัช เป็นอดีตข้าราชการครูวัยเกษียณ แต่ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นครูจิตอาสายังคงทำหน้าที่สอนวิชาดนตรีไทยให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ

ครูวิรัช เล่าว่า ตนเองเป็นครูตั้งแต่อายุ 18 ปี และสอนจนเกษียณ รวมแล้วเกือบ 50 ปี เป็นครูสอนดนตรี และ สอนเด็กอนุบาล ส่วนเครื่องดนตรีที่ตนเองได้คิดขึ้นมาเอง และเป็นคนสร้างขึ้นมานั้นเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องดนตรีชนิดเป่า อาทิ ทุเรียน แอปเปิล ชมพู่ หรือแม้แต่ แตงร้าน นอกจากผลไม้ก็ยังนำ สาก มาใช้ทำเครื่องดนตรีอีกด้วย งานนี้คำว่า "เงียบเป็นเป่าสาก" ทำให้รู้ว่าน่าจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป รวมไปถึงเครื่องดนตรีที่ทำจากเศษวัสดุเหลือใช้อีกมายมาย ไม่ว่าจะเป็น ทรอมโบน จากท่อ PVC และราวตากผ้า, แซกโซโฟน จากขี้เลื่อย, แซกบราโน่ จากไม้ไผ่ และกีตาร์ไฟฟ้า จากไม้ทีของนักศึกษาอาชีวะ

ซึ่งครูวิรัช ขำมาลัย ได้พาผู้สื่อข่าวไปที่ตลาดในเทศบาลเมืองบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง เพื่อเลือกซื้อผลไม้ ที่จะนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี อาทิ ชมพู่ ละมุด กล้วย มะละกอ มะระ แตงกวา มะม่วง เพื่อพิสูจน์ให้ผู้สื่อข่าวดูว่าจะสามารถทำเป็นเครื่องดนตรีได้หรือไม่ โดยหลังจากเลือกเสร็จ ครูวิรัชได้ นำกลับเตรียมให้วัสดุในการประดิษฐ์ก็จะประกอบไปด้วย มีด ดอกสว่าน ไขควง ประแจหกเหลี่ยม ช้อน และที่ขาดไม่ได้คือ กำกวด หรือ ลิ้น เป็นส่วนประกอบของปี่ซึ่งทำให้เกิดเสียงเวลาเป่า สอดติดอยู่กับเลาปี่ ที่จะทำให้กำเนิดเสียงในผลไม้ ทำจากใบตาลมาประดิษฐ์คู่กับหลอดและใช้เชือกพัน

ส่วนวิธีการทำนั้นไม่อยาก แต่ครูวิรัช บอกว่าต้องใช้ประสบการณ์ การฟังเสียง เมื่อเรานำผลไม้ที่เลือกซื้อมา ใช้มีดตัดหรือหั่นส่วนที่มีขนาดความกว้างที่มากว่า ก็จะอยู่ช่วงป้องก่อนถึงส่วยยอดของผลไม้ อาทิ ลูกชมพู่ จะใช้มีดคว้านช่วงปลายของผล ให้มีลักษณะคล้ายดอกลำโพง จากนั้นใช้ไขควงเจาะให้เป็นรูตรงกลางจนทะลุอีกฝั่ง ส่วนที่ติดกับก้าน และตัดจุกก้านทิ้ง ต่อมาใช้ไขควงเล็ก เจาะรูที่ด้านข้าวของผล โดยการเว้นช่องห่างของนิ้ว จะได้ประมาณ 3 - 4 รู เท่านี้ก็จะได้เครื่องดนตรีจากผลชมพู่ ส่วน ผลไม้อื่น ๆ ก็ทำลักษณะเหมือนกัน แต่จะให้เสียงที่แตกต่างกันไปตามชนิดของผลไม้ เช่น ชมพู่ จะให้เสียงที่ค่อนข้างกังวานและเสียงแหลม, ละมุด ก้องและออกไปแหลมทุ้ม, จะให้เสียงที่ กล้วย จะให้เสียงที่กังวานและแหลม, มะละกอ จะให้เสียงก้องและออกไปแหลมทุ้ม,  มะระ จะให้เสียงก้องและออกไปทุ้ม,  แตงกวา จะให้เสียงที่ก้องและออกไปแหลมทุ้ม มะม่วง จะให้เสียงแหลมและออกไปแหลมกังวาน

นอกจากนี้ ครูวิรัช ยังได้สาธิตการเป่าสาก ที่ได้ประดิษฐ์เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะต้องใช้เครื่องมือไฟฟ้า อย่างเช่นสว่านเพื่อเจาะไม้ของตัวสากให้เป็นรู ซึ่งงานนี้คำว่า "เงียบเป็นเป่าสาก" จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะครูวิรัชสามารถเป่าสากให้มีเสียงได้ พร้อมทั้งยังได้สาธิตการเป่าเครื่องดนตรีที่ทำจากเศษวัสดุเหลือใช้อีกหลายชิ้น อาทิ ทรอมโบน จากท่อ PVC และราวตากผ้า, แซกโซโฟน จากขี้เลื่อย, แซกบราโน่จากไม้ไผ่

จากการนำผลไม้ชนิดต่าง ๆ และ เศษวัสดุเหลือใช้ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี ครูวิรัช กล่าวว่า เกิดจากการที่เมื่อสมัยเด็กอยากเป็นนักดนตรี แต่ไม่มีทุนในการซื้อจึงได้รองคิดค้นนำเศษวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี ส่วนผลไม้ ตนได้รองนำผลไม้มาประดิษฐ์ดูจึงพบว่าสามารถนำมาเป็นเครื่องดนตรีชนิดเป่าได้ ประกอบกับการใช้ทักษะในการฟังเสียงและการเข้าใจเสียงที่ได้จากผลไม้ บางชนิดได้เสียงแหลม บางชนิด เสียงทุ้ม ซึ่งตนจะนำมาสอนเด็ก ๆ เวลาสอนจะทำให้เด็กรักสนุกและเข้าใจง่าย แต่ที่สำคัญ ตนมองว่าทำไมเครื่องดนตรีถึงราคาแพง เด็กจะเข้าถึงเครื่องดนตรีได้อย่างไร ตนจึงนำสิ่งของเหล่านี้มาทำเป็นเครื่องดนตรีและสอนเด็ก ๆ ปัจจุบัน ครูวิรัชได้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีมาแล้วกว่า 30 ชนิด

สำหรับใครที่อยากจะเรียนรู้เรื่องการประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากผลไม้ และ วัสดุเหลือใช่สามารถโทรสอบถามได้ที่หมายเลข 086-766-6985

ภาพ/ข่าว  ตาเป้ (จ.ราชบุรี)

นักท่องเที่ยว แห่เลือกซื้อผ้าทอโบราณ 200 ปีศรีพิงพวย ย้อมด้วยดินภูเขาไฟ เตรียมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมสุรินทร์ - ศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่หมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย บ้านพิงพวย หมู่ 12 ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ  น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ และ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าโบราณศรีพิงพวย ซึ่งเป็นหมู่บ้านกลุ่มทอผ้าคุณภาพ แหล่งกำเนิดผ้าทอศรีลาวา ดินภูเขาไฟ เป็นผ้าทออัตลักษณ์ของศรีสะเกษ เพื่อเป็นการต่อยอดการเรียนรู้แพรพรรณที่งดงาม มีการเก็บรักษาผ้าโบราณกว่า 200 ปี การทอผ้าไม่ได้ใช้กระสวย แต่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง ต่างกับการใช้กระสวย ความพิเศษของมันคือบรรจุเส้นไหมใส่หลอดได้เยอะกว่ากระสวยและชมการย้อมผ้าดินภูเขาไฟด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาในครั้งนี้เป็นนักธุรกิจและข้าราชการบำนาญ ต่างพากันเลือกซื้อผ้าทอไปไว้ใช้และฝากเป็นที่ระลึกแก่ญาติพี่น้องและผู้ที่รักเคารพนับถือคนละหลายชิ้น สร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าโบราณเป็นอย่างดียิ่ง โดยมี นายพนมกร สังข์แก้ว และเพื่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมหมู่บ้านทอผ้าแห่งนี้

ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ที่ได้มาที่นี่อีกครั้งเพื่อต่อยอดวาระจังหวัดศรีสะเกษ เรื่องการขับเคลื่อนผ้าทอมือ "ธานี ผ้าศรี...แส่ว" ที่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้นำร่องไว้ กลุ่มทอผ้าบ้านพิงพวย ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ  เป็นสถานที่ธรรมชาติที่ร่มเย็น มีเสน่ห์ ที่ทุกคนสามารถมาศึกษาเรียนรู้การทอผ้าโบราณที่ใช้เชอร์ตรอลพุ่งเส้นไหมขอบเส้นพุ่ง นักท่องเที่ยวได้ชมพิพิธภัณฑ์ผ้า 200 ปีที่หายากที่จัดไว้ในห้องแอร์ ได้พบกับหนุ่มเยาวชนกลุ่มทอผ้าที่มีอนาคตในมิติของผ้าทออัตลักษณ์ที่จะส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรม DIY ร่วมกับนักท่องเที่ยวได้   กลุ่มนี้เป็นกลุ่มศิลปินสมัยใหม่ที่ผลิตผ้าแบบมีคุณภาพเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีสโลแกนว่าหากจะอยากได้ผ้าทอสวยต้องรอหน่อยอย่าเร่ง  เพราะมีงานจากกรุงเทพสั่งทอตลอดมา 6 ปีแล้ว เป็นลูกค้ากลุ่ม High end ที่ต้องการให้ผลิตผ้าทอให้ดีเยี่ยมไม่เหมือนใคร  ตนได้เสนอให้เพิ่มหมู่บ้านทอผ้านี้ให้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของ อพท.ด้วยจะได้เชื่อมโยงให้เป็นเส้นทางสายไหม  ใครมาที่หมู่บ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์ก็เชื่อมต่อมาดูผ้าโบราณที่ศรีพิงพวย ศรีสะเกษ  

น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท สำนักงานสุรินทร์  กล่าวว่า ตนได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยนำนักท่องเที่ยวกลุ่มรักผ้าไหมจากกรุงเทพฯมาเที่ยวสุรินทร์และศรีสะเกษ โดยในวันนี้ได้นำมาเยี่ยมชมหมู่บ้านผ้าทอโบราณ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชอบผ้าไหมและได้อุดหนุนผ้าทอโบราณของศรีรัตนะจำนวนมาก ซึ่ง ททท.สำนักงานสุรินทร์ มีแผนปฏิบัติการส่งเสริมการตลาด ปีงบประมาณ 2564 โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงวันธรรมดา เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกระแสหลักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในวันธรรมดา ซึ่งได้รับการประสานจากชมรมรักไหมสุรินทร์ (Facebook Group : รักไหมสุรินทร์)กำหนดเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2564 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยววันธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ภาพรวม : กระตุ้นการเติบโตของนักท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างสมดุล แผนงาน : ส่งเสริมการท่องเที่ยวสัมผัสคุณค่า วันธรรมดา

ผอ.ททท.สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สุรินทร์และศรีสะเกษ ตนจึงได้นำเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวระดับบน เป็นกลุ่มศักยภาพ และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจากกรุงเทพ เดินทางสำรวจศักยภาพ และท่องเที่ยวช้อป ชุมชนทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติเชื่อมโยงบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เพื่อนำข้อมูลไปเสนอขายให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มสนใจเฉพาะงานทอผ้าไหมพรีเมี่ยม และงานอาร์ต งานคราฟท์ ซึ่ง จ.ศรีสะเกษมีความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเขียวสุรินทร์ ถนนวิถีวัฒนธรรมมารีหนองแคน ชุมชนทอผ้าไหมบ้านแขม อ.อุทุมพรพิสัย ชุมชนพิงพวย อ.ศรีรัตนะ และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว สิมวัดไพรบึง อ.ไพรบึง ศิลปญวน พระพุทธเจดีย์ใหญ่ไพรบึง ศิลปะลาว เหมือนปลี พระโบราณ ศิลปญวน วัดบ้านทุ่งเลน ต.พราน อ.ขุนหาญ  เส้นทางสวนทุเรียนภูเขาไฟ อ.กันทรลักษ์ รับตะวัน 3 แผ่นดินที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กราบไหว้ขอพรสรีระสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่สรวงที่วัดไพรพัฒนา จุดชมวิวผาพญากูปรี อ.ภูสิงห์ ตนจึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศเที่ยวอีสานวันธรรมดาที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ  และคิดถึงท่องเที่ยวเมืองรองต้องสุรินทร์ศรีสะเกษ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข (ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ)

จ.อุบลฯ และ กฟผ. ร่วมฟื้นฟูท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจ ดันโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัด

จังหวัดอุบลราชธานี และ กฟผ. ร่วมฟื้นฟูท่องเที่ยว ดันโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และจุดเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัด สร้างรายได้และอาชีพให้ชุมชน หนุนเศรษฐกิจจังหวัดในภาพรวม

วันที่ 29 มีนาคม 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร  ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี โดยมีส่วนราชการท้องถิ่น สื่อมวลชน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เข้าร่วมงาน ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์ของการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี คือ ส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เพราะจังหวัดอุบลฯ มีแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. นอกจากจะอำนวยประโยชน์ด้านชลประทาน การประปา การคมนาคมทางน้ำและการผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนอุบลฯและประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย

โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสิรินธร จึงเป็นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาชมความสวยงามของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ลอยน้ำไฮบริดแห่งแรกในไทย สอดรับกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพและรายได้ มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าเนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรกที่สามารถผลิตไฟฟ้าผสมผสาน (Hybrid) ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเข้าด้วยกัน โดยนำนวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงาน หรือ Energy Management System (EMS) มาช่วยประเมินผลและสั่งการให้โรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทผลิตไฟฟ้าสอดคล้องกับช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน และช่วยเสริมระบบผลิตไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้น ถือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำแรกของไทยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนมิถุนายน 2564

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เตรียมพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป พร้อมสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) เพื่อเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แห่งใหม่ เตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ประมาณปลายปี 2564 นี้ โดย กฟผ. จัดเตรียมจุดจำหน่ายสินค้าชุมชน ร้านขายของที่ระลึก ร้านเช่าจักรยาน จุดบริการรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว บริเวณจอดแพท่องเที่ยว เป็นต้น คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

เสียชีวิตเพิ่ม โลมาอิรวดีเกยชายหาดบ้านเจ๊กลัก คลองใหญ่ จ.ตราด ยาวกว่า 2 เมตร

เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 29 มี.ค. 64 นายเสาร์ พรมรอด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านเจ๊กลัก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ได้รับแจ้งจาก นายสําลอง สุขเจริญ ลงวัย 72 ปีว่าพบซากโลมาตายเกยตื้นที่ชายหาดบ้านเจ๊กลัก หมู่ 1 ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ขอให้มาตรวจสอบด้วย หลังรับแจ้งจึงแจ้งสมาคมสว่างบุญช่วยเหลือธรรมสถานตราดเขตอำเภอคลองใหญ่ รุดตรวจสอบ

ไปถึงที่เกิดเหตุชายหาดบ้านเจ๊กลักพบซากโลมาอิรวดีความยาว 2 เมตรเกยชายหาด อยู่ในสภาพเน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็น จากการตรวจสอบพบว่าตายมาแล้วไม่ตํ่า 7 วัน เป็นโลมาเพศผู้ เจ้าหน้าที่จึงทําการผ่าพิสูจน์ไม่พบอาหารในกระเพาะและลําใส้ หลังจากนั้นจึงทำการตัดเก็บเนื้อเยื่อส่งพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยจังหวัดระยองเพื่อหาสาเหตุการตายต่อไป

นายสําลอง สุขเจริญ ลงวัย 72 ปี บอกว่ามาเดินเล่นชายหาดช่วงบ่ายที่ผ่านมา พบซากโลมาตัวดังกล่าวถูกคลื่นซัดมาเกยชยหาด จึงโทรศัพท์แจ้งนายเสาร์ พรหมรอด ผู้ใหญ่บ้านให้มาตรวจสอบดังกล่าว ซึ่งโลมาอยทะเลมาเกยชายหาดที่อำเภอคลองใหญ่หลายครั้งแล้ว บางครั้งไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ต้องปล่อยให้เน่าคาชายหาดก็มี เนื่องจากหน่วยงานที่จะช่วยเก็บซากโลมามีเพียงอาสาสมัครสมาคมสว่างบุญช่วยเหลือธรรมสถานตราดหน่วยงานเดียวเท่านั้น ที่ต้องทำหน้าที่เก็บเนื้อเยื่อ ส่งทางราชการ และทำการกลบฝังซากโลมาดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  วิเชียร ม่วงสี  (ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด)

ราษฎรเมียนมาอพยพหลบหนีเข้าเขตไทยด้านอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

โดยเมื่อ 28 มี.ค.2564  ได้ มีราษฎรเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงจากฝั่ง สหภาพเมียนมา ได้หลบหนีการสู้รบข้ามมายังฝั่งไทย ด้านอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน  3 จุด รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,900 คน ได้แก่

       1. จากพื้นที่ บ.เอเค อ.บือโส๊ะ จ.มือตรอ (จังหวัดจัดตั้ง KNU) รัฐกะเหรี่ยง ด้านตรงข้ามฝั่งไทย บริเวณ ฐานฯออเลาะ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเข้าพักอาศัยบริเวณ ฝั่งไทย  ประมาณ 300 คน

       2.  จากพื้นที่ควบคุมผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา ห้วยอูแวโกร ด้านตรงข้ามฝั่งไทยบริเวณ บ.แม่ดึ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียงฯ โดยเข้าพักอาศัยบริเวณ พิกัด  ประมาณ 300 คน

       3. จากพื้นที่ควบคุมผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมา ห้วยอีทูโกร ด้านตรงข้ามฝั่งไทยบริเวณ ฐานฯ แม่สะเกิบ บ.ห้วยกองแป ต.แม่คง อ.แม่สะเรียงฯ   โดยเข้าพักอาศัยบริเวณ   ห้วยอุมปะ ประมาณ 1,300 คน

       ทั้งนี้ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า ทมม. จะปฏิบัติการตอบโต้ โจมตีทางอากาศพื้นที่ควบคุม กองกำลังKNLA พล.น้อย  5 ของกลุ่ม KNU อีกทำให้ราษฎรหวาดกลัวและวิตกกังวลต่อความปลอดภัย จึงได้พากันอพยพหลบหนีเข้ามายังฝั่งไทย

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงสถานการณ์เกี่ยวกับผู้อพยพ ฯ ว่า สถานการณ์ในประเทศพม่า ได้เริ่มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้อพยพ หลบหนีเข้ามาอาศัยในไทย ล่าสุด จำนวน 2,194 คน และคาดว่าน่าจะมีการหลบหนีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามในตอนนี้ ทางจังหวัดจะต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลในเรื่องการเข้าไปดูแลผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว ซึ่งได้มีการวางแผนเตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้ว ที่อำเภอขุนยวม แต่เป็นพื้นที่คนละจุดกัน ซึ่งตอนนี้ผู้อพยพดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารพราน จากกรมทหารพรานที่ 36 แม่สะเรียง จัดกำลังเข้าไปควบคุมดูแลในเบื้องต้นแล้ว

ภาพ/ข่าว เกียรติศักดิ์  รักสัตย์ (ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top