Sunday, 19 May 2024
Region

พังงา - เริ่มแล้ว...งาน “เมืองแห่งความสุขและงานกาชาดจังหวัดพังงา” ประจำปี 2564

เมื่อคืนวันที่ 1 เมษายน 2564  ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดพังงาหลังเก่า อ.เมืองพังงา นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเปิดงาน “เมืองแห่งความสุขและงานกาชาดจังหวัดพังงา” ประจำปี 2564 เพื่อหารายได้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ยากไร้ รวมทั้งกิจกรรมสาธารณกุศลอื่น ๆ โดยมี นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการต่าง ๆ และภาคเอกชน ร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้

นางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา กล่าวว่า งาน “เมืองแห่งความสุขและงานกาชาดจังหวัดพังงา” จัดในระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทางจังหวัดพังงาจึงจำเป็นต้องลดความแออัดของผู้คนที่มาเที่ยวชมงานลง ดังนั้นในปีนี้จึงมีการตรวจวัดตามมาตรการก่อนเข้างาน ไม่มีการออกร้านมัจฉากาชาดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเบียดเสียดกันขึ้น แต่ยังคงมีกิจกรรมต่าง ๆ ทุกคืนตลอดงาน เช่น การประกวดผลผลิตทางการเกษตร การแสดงของเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ การประกวดร้องเพลงของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล การเดินแฟชั่นโชว์ผ้าบาติก การจำหน่ายสลากการกุศล การเปิดรับบริจาคเงินเพื่อใช้ในกิจการของเหล่ากาชาด การแข่งขันกีฬา การประกวดผลผลิตทางการเกษต

นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน การจำหน่ายสินค้าโอทอปของดีเมืองพังงา สินค้าพื้นเมืองพื้นบ้าน สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ด ส่วนเวทีกลางจะมีการแสดงของศิลปินนักร้องชื่อดังทุกค่ำคืน ทั้งนี้ก็เพื่อนำรายได้ทั้งหมดไปใช้ในกิจการสาธารณกุศลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนจากภัยต่าง ๆ เช่นช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ มอบทุนเด็กนักเรียนยากจน เป็นต้น  สำหรับผู้ที่บริจาคเงินสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้เป็น 2 เท่าของยอดที่บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ส่วนสลากการกุศลจำหน่ายในราคาใบละ 100 บาท ลุ้นเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะ Mitsubishi รุ่น Triton สร้อยคอทองคำ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย รวม 300 รางวัล


ภาพ/ข่าว  อโนทัย  งานดี  

ยะลา - เช็งเม้งเบตงคึกคัก ประชาชนเดินทางกลับมาไหว้บรรพบุรุษเนืองแน่น มั่นใจเบตงไร้โควิด-19

ยะลา - เทศกาลเช็งเม้งสุสานบ้านจะเราะปะไต กม.4 ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นไปอย่างคึกคัก หลังประชาชนเดินทางกลับมาไหว้บรรพบุรุษเนืองแน่น มั่นใจในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลาไร้การระบาดไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังได้หนีความแออัดและหมอกควันPM 0.5 ในกรุงเทพฯ กลับมาสัมผัสธรรมชาติไร้หมอกควันพิษ PM.0.5

วันนี้ (3 เม.ย.) บรรยากาศในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ที่สุสานบ้านจะเราะปะไต บ้าน กม.4 อ.เบตง จ.ยะลา เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และที่เดินทางไปทำงานยังต่างจังหวัด ได้เดินทางกลับบ้านมาร่วมไหว้บรรพบุรุษในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง พร้อมกับครอบครัว บุตรหลาน และญาติพี่น้อง จำนวนมากเดินทางกลับมาไหว้บรรพบุรุษเนืองแน่น  มั่นใจในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลาไร้การระบาดไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังได้หนีความแออัดและหมอกควันPM 0.5 ในกรุงเทพฯ กลับมาสัมผัสธรรมชาติไร้หมอกควันพิษ

โดยแต่ละคนก็จะนำอาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ มาด้วย พร้อมกับทำความสะอาดที่บริเวณหลุมฝังศพญาติพี่น้องของตนเอง ก่อนจะตั้งเครื่องเซ่นไหว้ กราบไหว้บรรพบุรุษ และเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษ สิ่งของเครื่องใช้ ส่งไปให้เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

ซึ่งจะมีผู้คนไปไหว้หลุมศพบรรพบุรุษ ไปจนถึงวันศุกร์ ที่  4  เมษายน 2564 ซึ่งบรรยากาศปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลดน้อยลง และในพื้นที่ไม่มีการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนามีความมั่นใจ

ทั้งนี้ วันเช็งเม้ง ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของของชาวจีน เนื่องจากเป็นประเพณีไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่จากไป อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างตระหนักรู้แก่ ลูกหลานรุ่นหลังให้เห็นประวัติและคุณงามความดีของบรรพบุรุษที่ทำให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีเช่นทุกวันนี้

วันเช็งเม้ง ในปี 2564 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน  วันเช็งเม้ง หรือ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นการทำพิธีเซ่นไหว้และปัดกวาดหลุมศพบรรพบุรุษ โดยถือว่าเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมการฌาปนกิจ เนื่องจากตามบันทึกทางประวัติศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า "สร้างหลุมศพไม่ต้องสร้างเนินสุสาน" ดังนั้น จึงไม่เคยมีบันทึกถึงการทำความสะอาดเนินสุสานมาก่อน   แต่ในเวลาต่อมา เมื่อเริ่มมีความนิยมสร้างหลุมศพโดยสร้างเนินสุสานด้วยในภายหลัง จึงทำให้ประเพณีการเซ่นไหว้ที่สุสานเกิดขึ้น จนกลายเป็นประเพณีที่ละเว้นไม่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้ และในวันเช็งเม้ง 2564 ตรงกับวันที่ 4 เมษายน ทุกปี


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ

กระบี่ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดประติมากรรมวงเวียน (KRABI LUCKY WINDMILL) และ งาน KRABI’S TOUCHDOWN IN THE ANDAMAN

วันที่ 2 เมษายน 2564 เวลา 18.30 น. ที่ประติมากรรมวงเวียน (KRABI LUCKY WINDMILL) บริเวณทางเข้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดประติมากรรมวงเวียน (KRABI LUCKY WINDMILL) และการจัดงาน KRABI’S TOUCHDOWN IN THE ANDAMAN โดยมีนายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีฯ และนางสาวศศิธร กิตติธรกุล นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน KRABI’S TOUCHDOWN IN THE ANDAMAN มีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา อบจ.กระบี่ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดกระบี่ ตัวแทนจากองค์กรภาคเอกชน สมาคมแม่บ้านองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ สภาประชาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  

นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ได้ก่อสร้างประติมากรรมวงเวียน (KRABI LUCKY WINDMILL) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามันแห่งใหม่  ลักษณะอาคารมีความสูง 14.42 เมตร เป็นทรงแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7.00 เมตร  ตำแหน่งที่ตั้งเป็นจุดสังเกตอย่างชัดเจน และเป็นเครื่องมือของการท่องเที่ยว  ในระบบโซเชียลในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ด้านนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว นางสาวศศิธร กิตติธรกุล พูดถึงการจัดงาน KRABI’S TOUCHDOWN IN THE ANDAMAN ในนามประธานสภาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว จากสภาวะวิกฤตการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ทำให้ภาคการท่องเที่ยวประสบกับปัญหา ด้านเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการ ก่อให้เกิดการว่างงานในกลุ่มพนักงาน ลูกจ้าง ที่ปฏิบัติงานในด้านการท่องเที่ยว ดังนั้น การมีส่วนร่วมที่จัดกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดรายได้  เกิดการสร้างงานภายใต้ข้อจำกัด ที่จะทำอย่างไรให้ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่  เป็นที่ยอมรับว่ามีความพร้อม  ในระบบการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)  ประกอบกับศักยภาพของสถานที่ท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน  ยังคงโดดเด่นเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวโลกเสมอ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมจังหวัดกระบี่   ที่ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกด้าน เพื่อฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจอันเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 จะเห็นได้จากวันนี้ เรามีสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวทะเลอันดามันแห่งใหม่ “ประติมากรรมวงเวียน  KRABI LUCKY WINDMILL ที่นำศาสตร์ของความเชื่อ ความโชคดี มาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบได้อย่างลงตัวและงดงาม ต่อไปเราคงจะได้เห็น KRABI LUCKY WINDMILL เป็นจุดเช็คอินที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์  ศรีปล้อง รายงาน

นครพนม - ฤทธิ์พายุฤดูร้อนพัดถล่ม จ.นครพนม 5 อำเภอ เสียหายนับร้อยหลังคา

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.64 ได้เกิดพายุฤดูร้อนฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง พัดพัดเข้าสู่พื้นที่จังหวัดนครพนม หลายอำเภอประกอบด้วย อ.เมืองนครพนม ธาตุพนม เรณูนคร นาแก และ อ.ปลาปาก ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านถูกแรงลมพัดได้รับความเสียหาย จำนวนหลายหลังเสาไฟฟ้า ล้มหลายสิบต้น รวมถึงโรงเรียนทำการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

เริ่มต้นที่อำเภอนาแก โดยนายพีรพล ลือล่านายอำเภอนาแกได้รายงานความเสียหายเบื้องต้น มีบ้านพังได้รับความเสียหาย 18 หลังคา พื้นที่ บ.ต้นแหน ต.นาแก จำนวน 10 หลัง บ.สร้างติ่ว ต.นาแก จำนวน 2 หลัง บ.โคกสะอาด ต.นาแก จำนวน 6 หลัง รวม 18 หลัง

อำเภอเรณูนคร ว่าที่ร.ต.ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอเรณูนคร พื้นที่ ต.นางาม ในเบื้องต้น มีหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหาย พื้นที่หมู่ 8 บ้านโนนคำ ตำบลนางาม ลมพัดหลังคาเรือนเสียหายบางส่วนจำนวน 7 หลัง พื้นที่หมู่ 14 ตำบลนางามเสียหายบางส่วน 1 หลัง

ขณะที่อำเภอปลาปาก นายเชิดพันธ์ ผลวิเชียร ปลัดอำเภอ (จพง.ปค.ชพ) รักษาราชการแทนนายอำเภอปลาปาก รายงานความเสียหาย รวมทั้งหมด 17 หลัง พื้นที่ ม.1 ต.หนองเทาใหญ่  1 หลัง ม.2 ต.หนองเทาใหญ่  6 หลัง ม.5 ต.หนองเทาใหญ่ 3 หลัง ม.8 ต.หนองเทาใหญ่  7 หลัง รวมทั้งหมด  17  หลัง

ส่วนที่อำเภอเมืองนครพนม นำโดยนายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอ ได้ออกไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ ถูกพายุพัดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ประกอบด้วย บ้านกล้วย ม.7 ต.ขามเฒ่าต้นไม้หักทับโค ตาย1ตัว และที่ตำบลหนองญาติ เสียหายเล็กน้อยจำนวน 5 หลัง บ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อจำนวน 22 หลังคา

ด้านอำเภอธาตุพนม โดยนายวรวิทย์ พิมพนิตย์  นายอำเภอธาตุพนมได้ออกไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกพายุพัดเมื่อ 1 เม.ย.เช่นกันพื้นที่ บ้านคำผักแพว ม.8 ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม (ติดต่อเขต จ.มุกดาหาร) เป็นเหตุให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายรวม 6 หลัง (เสียหายหนัก 2 หลัง เล็กน้อย 4 หลัง) โดยนายอำเภอธาตุพนม พร้อมด้วยปลัดอำเภอ กำนัน ผญบ ช่างเทศบาลตำบลน้ำก่ำออกสำรวจความเสียหาย และให้กำลังใจผู้ประสบภัย พร้อมทั้งได้สั่งการให้เทศบาลตำบลน้ำก่ำ ดำเนินการนำวัสดุมาช่วยเหลือซ่อมแซม

โดยในเช้าวันนี้ 3 เม.ย.64 เหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม จะได้นำสิ่งของ และถุงยังชีพ ไปมอบให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยทุกอำเภอในครั้งนี้ โดยเหล่ากาชาดนครพนม ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดนครพนม จะได้ออกไปช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อย่างเร่งด่วนต่อไป  


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส (ผสข.นครพนม)

เชียงใหม่ - ทอท. ลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ

วันที่ 2 เมษายน 2564 นายกฤษฎา พุกะทรัพย์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายสนับสนุนธุรกิจ) พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงานฝ่ายกิจการเพื่อสังคม และผู้บริหาร พนักงานท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นผู้แทน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติ (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ2 เมษายน 2558 อุปถัมภ์) ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษา จำนวน 100,000 บาท โดยมีพันตำรวจโท ผดุงเกียรติ ปัณฑรนนทกะ รองผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 และดาบตำรวจหญิง กัญญารัตน์ ขวัญทรัพย์กิจ รักษาการครูใหญ่ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ทอท.ได้ให้การสนับสนุนและดูแลโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ มาตั้งแต่ปี 2558 โดยได้สร้างอาคารเรียน และสนับสนุนงบประมาณการบริหารจัดการด้านการศึกษาของโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีศิษย์เก่าของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านใหม่พัฒนาสันติฯ ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในถิ่นทุรกันดารเกิดความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อไป


ภาพ/ข่าว  นภาพร  เชียงใหม่

แม่ฮ่องสอน - อนุทิน รองนายก และรมว.กระทรวงสาธารณสุข มอบวัคซีนโควิด-19 ลงพื้นที่ มอบนโยบายดำเนินงานรองรับสถานการณ์ในประเทศเมียนมา อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ณ โรงพยาบาลแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย  นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์โอภาส  การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  เดินทางมาที่โรงพยาบาลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,000 โด้ส  และ  พบปะผู้บริหารจังหวัด/อำเภอ และ มอบนโยบายการดำเนินงานรองรับสถานการณ์ไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจส่งผลกระทบด้านความมั่นคง ความปลอดภัยของชาวบ้านในพื้นที่  และ สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งนำวัคซีนซิโนแวค ไปฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทำงานต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่ง ความปลอดภัยของคนในประเทศจะต้องมาเป็นอันดับแรก โดยเราปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมอยู่แล้วในการช่วยเหลือผู้ที่หนีภัยสงคราประเทศเมียนมาตามสถานการณ์หากมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเราก็จะดูแลให้ความช่วยเหลือปฏิบัติตามหลักของมนุษยธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ให้เข้ามาในเขตแดนของเราหากไม่มีการสู้รบ  ส่วนผู้หนีภัยสงครามเมียนมา จำนวน 7 คนที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบที่เดินเข้ามาก่อนหน้านี้ก็ได้รับการรักษา นอนรักษาตัวที่ รพ.สบเมย 4 คน โรงพยาบาลแม่สะเรียง 1 คน และ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ 2 คน 

โดยหลังรับการรักษา หากมีอาการดีขึ้นหรือหายจากการบาดเจ็บ ทางโรงพยาบาลจะประสานกับทางอำเภอ มารับตัวไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละราย โดยต้องประเมินวันต่อวัน แต่ยืนยันว่าจะต้องรักษาจนหายดีก่อน โดยทางทีมแพทย์  จะให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม ดูแลรักษาผู้บาดเจ็บทุกคนไม่ต่างจากการรักษาคนไทยเรา แต่การรับเข้ามาอาจจะมีมาตรากาคุมเข้มเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19


ภาพ/ข่าว :  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

กรุงเทพฯ - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน รณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD)

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ณ อาคาร CP-True Autistic Thai Foundation Vocatationl Training Center มูลนิธิออทิสติกไทย กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน  กล่าวให้โอวาทเรื่องการส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานของบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในกรุงเทพฯ รวมถึงคนพิการ ครอบครัวคนพิการ กลุ่มเปราะบาง และ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส  ให้มีโอกาสในการเข้าถึงการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพื่อดูแลตนเองและครอบครัวต่อไปในวันข้างหน้า

อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายหน้าที่ให้ดิฉันมา ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และมุ่งเน้นดูแล การสนับสนุน และการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ. ศ. 2550 ในมาตรา 33 34 และ 35 ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการจ้างงานคนพิการ ซึ่งสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจะต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน หรือในอัตราส่วน 100:1 คน

โดยการ สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในการเข้าถึงกฎหมายการจ้างงานคนพิการให้กับสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ให้สามารถ เข้าถึงกับคนพิการได้อย่างสะดวกโดยไม่เป็นอุปสรรค พร้อมทั้งยังมีนโยบาย ในการที่จะเชิญชวนสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่ได้จ้างงานคนพิการในการจัดเวทีเสวนาร่วมกัน และทำความเข้าใจในการให้โอกาสของคนพิการมีงานทำร่วมกันเพื่อผลักดันให้คนพิการนั้นมีอาชีพต่อไปในวันข้างหน้า การจ้างงานคนพิการนั้น นอกจากจะมอบโอกาสที่ดีแล้วยังเป็นการช่วยรัฐบาล ที่จะช่วยเหลือ กลุ่มคนได้โอกาสรวมถึงครอบครัวของคนพิการมากกว่าหนึ่งชีวิตเพราะในหนึ่งครอบครัวนั้นจะต้องมีผู้เสียสละมาดูแลคนพิการจึงทำให้ไม่มีรายได้เข้าสู่ครอบครัว สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ในการต่อไป

ในการนี้ นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลักรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านบุคคลออทิสติกไทย ในปี 2564 รวมทั้งนโยบาย ของกรุงเทพฯ ที่จะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทุกกระทรวง ทบวง กรม  และ องค์การคนพิการทุกประเภท ที่จะร่วมกัน พัฒนาและเตรียมความพร้อมในเรื่องของวุฒิการศึกษาโดยการเตรียมสถานศึกษาให้คนพิการได้เล่าเรียนและมีวุฒิบัตร เป็นที่ยอมรับและสามารถไปสมัครงานได้เทียบเท่ากับบุคคลปกติต่อไปในภายหน้าอีกทั้งยังมีนโยบายให้สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร จ้างงานคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานของกรุงเทพฯ

ในเวลาต่อมา นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวถึงบทบาทของการทำงาน ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกระทรวงการส่งเสริมและพัฒนาความมั่นคงและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ร่วมกับ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึม(ไทย) และกับ สมาคม มูลนิธิ ต่าง ๆ ภาคีเครือข่ายของคนพิการ ที่จะร่วมกันยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในการเข้าถึงการมีงานทำ อย่างเต็มที่ พร้อมให้การสนับสนุนในทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

จากนั้น อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์  นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึม (ไทย) และ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ยังได้กล่าวขอบคุณ ภาครัฐและทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมงานในโครงการรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ในวันนี้ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบว่า คนพิการออทิสติก นั้นยังมีความสามารถในด้านต่างๆ อาทิ เช่น การเป็นบาริสต้าชงกาแฟ และเป็นจิตรกรวาดภาพศิลปะต่างๆ ได้อย่างสวยงาม

สุดท้ายนี้ นายสรสิช จรูญโรจน์ เลขานุการในหม่อมราชวงศ์ปณิธาน จรูญโรจน์  พร้อมด้วยนายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย รับมอบหมายหน้าที่ในการนำสาร์น จาก หม่อมราชวงศ์ปณิธาน จรูญโรจน์ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ปกครอง และคนพิการออทิสติก ในการดูแลซึ่งกันและกัน และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องในโอกาสสำคัญนี้ จึงส่งมอบกำลังใจให้กับทุกๆภาคส่วนที่จะได้ช่วยกันส่งเสริมให้คนพิการนั้น มีโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับในสังคมสืบต่อไป

แม่ฮ่องสอน - ผู้ว่าแม่ฮ่องสอนสั่งยกเลิกด่านตรวจ จุดตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019

เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 1  เมษายน  2564  ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีคำสั่งยกเลิกด่านตรวจ จุดตรวจจุดคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้ง 3 จุด  อ้างถึง คำสั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 2565 / 2563 ลงวันที่ 30  ตุลาคม  2563 และคำสั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 14 /2564 ลงวันที่ 4 มกราคม  2564 สำเนาคำสั่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ 650 / 2564 ลงวันที่ 1 เมษายน 25649

ตามที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีคำสั่งที่ 14 / 2564 เรื่องการจัดตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัดควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 4 มกราคม 2564 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่  1.จุดตรวจแม่อุคอ ทางหลวงแผนดินหมายเลข 1263 ตำบลแม่อูคอ อำเภอุนยวม  2. จุดตรวจหน้าถ้ำ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 หมู่ที่ 8 บ้านป่ากล้วย ตำบลแม่สะเรียง  อำเภอแม่สะเรียง  3. จุดตรวจแม่ปิง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 หมู่ที่ 4 ตำบลแม่ฮี้  อำเภอปาย  จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019   (COVID – 2019) ในประเทศไทย และในสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา การแพร่ระบาดได้ลดลง  ผู้ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้งที่  10 / 2564 เมื่อวันจันทร์ที่  8 มีนาคม  2564  จึงได้มีคำสั่งยกเลิก ด่านตรวจ  จุดตรวจ  จุดสกัด การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  จำนวน 3 แห่งดังกล่าว


ภาพ/ข่าว :  เกียรติศักดิ์  รักสัตย์  (ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน)

กรุงเทพฯ - ‘มาดามแป้ง’ ลงพื้นที่เหตุเพลิงไหม้อาคารถล่ม พร้อมมอบเงินเยียวยาช่วยครอบครัวอาสาผู้เสียสละ

‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง รุดลงพื้นที่หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้จนอาคารถล่มที่หมู่บ้านกฤษดานคร 31 ในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมาเพื่อให้กำลังใจอาสาสมัครที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งเตรียมมอบเงินเยียวยาหรือทุนการศึกษาแก่ทายาทให้ความช่วยเหลือครอบครัวอาสาสมัครที่เสียชีวิตทั้ง 4 ราย นอกจากนี้ยังได้ตั้งครัวมาดามทำอาหารแจกเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ตามเจตนารมณ์สำคัญของการก่อตั้ง

‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง ได้เดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุพร้อมทีมงาน เพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่กันตลอดคืน โดยยื่นมือให้ความช่วยเหลือครอบครัวของอาสาสมัครที่เสียชีวิตทุกราย พร้อมยกย่องงานอาสาคืองานที่ช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง และจัดตั้งครัวมาดาม เพื่อสนับสนุนด้านอาหารเครื่องดื่มแก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกภาคส่วนที่เร่งปฎิบัติงานในพื้นที่จนกว่าภารกิจจะเรียบร้อยตลอดทั้งวัน

“ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต งานอาสาคืองานที่ต้องทำด้วยใจและต้องเสียสละอย่างแท้จริง ซึ่งวันนี้ทุกท่านได้ทำงานเพื่อสังคมจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ขอยกย่องทุกท่านด้วยใจ ซึ่งแม้จะเป็นมูลนิธิเล็ก ๆ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา แต่ก็มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเยียวยาในยามเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ

“วันนี้เราจึงขอมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเยียวยาทางใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียสละ ด้วยทราบว่าทั้ง 4 ท่านมีลูกที่อยู่ในวัยเรียน และมีครอบครัวที่ต้องดูแล จึงหวังจะช่วยบรรเทาความลำบากดังกล่าว และขอเป็นกำลังใจเล็กๆ ให้กับสมาชิกในครอบครัวต่อไป” นางนวลพรรณ กล่าวปิดท้าย

 

อุทัยธานี - จัดงานเกษตรอินทรีย์ฯ ปี 2 ชูไฮไลต์ “กัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่” ครั้งแรก เพื่อเกษตรกรและนักท่องเที่ยว

จังหวัดอุทัยธานี โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี เทศบาลเมืองอุทัยธานี และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันจัดงาน “เกษตรอินทรีย์ วิถีอุทัย ปี 2… เกษตรปลอดภัย คือความภูมิใจของเรา” ระหว่างวันที่ 9 -10 เมษายนนี้ ณ ตรอกโรงยา อ.เมือง จ.อุทัยธานี พร้อมกระตุ้นและขับเคลื่อน “เกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งประชาชนในจังหวัด และนักท่องเที่ยว รวมทั้งชูไฮไลต์ “กัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่” ผ่านนิทรรศการ และเสวนาเกี่ยวกับกัญชาในทุกมิติ เพื่อมุ่งให้ความรู้แก่เกษตรกร รวมทั้งผู้ที่สนใจการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนการนำเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ใบ และราก ไปใช้ เพื่อให้นโยบาย "กัญชาเสรี" ถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ที่ประเทศไทยได้เริ่มเปิดกว้างในเรื่องกัญชาโดยมีหน่วยงานของรัฐกำกับ 

สำหรับไฮไลต์ในครั้งนี้ คือนิทรรศการ “เกษตรอินทรีย์ วิถีอุทัย” และ “กัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เกษตรกรไทยต้องรู้” ครั้งแรกของจังหวัดอุทัยธานี โดยจะขนต้นกัญชาที่ปลูกได้จริงในจังหวัดอุทัยธานีมาจัดแสดง พร้อมฟังเสวนา “กัญชาทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยจริงหรือ” โดยเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา หน่วยงานภาครัฐ และกูรูด้านกัญชาที่จะมาร่วมพูดคุย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในทุกมิติเกี่ยวกับการปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า แม้จังหวัดอุทัยธานีจะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์และมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ถือว่ามีความสำคัญกับจังหวัดอุทัยธานีเป็นอย่างมาก เห็นได้จากทิศทางหรือนโยบายการพัฒนา รวมถึงการขับเคลื่อนด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้ “เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์” ควบคู่กับพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและสิ่งเหลือใช้จากภาคเกษตรให้มีความหลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

“ปีที่แล้วเราจัดงานเกษตรอินทรีย์วิถีอุทัยขึ้นเป็นครั้งแรก นับว่าได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้รณรงค์ ส่งเสริมเกษตรกร ให้หันมาผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้องค์ความรู้ใหม่ ๆ จากธรรมชาติ และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เรายังพยายามผลักดันให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตไปสู่ “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสูงสุด ตามนโยบายภาครัฐ ตลอดจนพยายามเชื่อมโยงเรื่องเกษตรกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ที่สำคัญในขณะนี้มีกระแสพืชเศรษฐกิจใหม่อย่าง “กัญชา” เข้ามา ซึ่งกัญชาทางการแพทย์จะต้องปลูกแบบอินทรีย์เท่านั้น ทำให้เกษตรกรในจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว สามารถต่อยอดไปปลูกพืชกัญชาซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้ง่ายขึ้น และคาดว่ากัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้แก่ประชาชนในจังหวัดในอนาคต”

สำหรับงาน “เกษตรอินทรีย์ วิถีอุทัยปี 2” นอกจากความรู้ด้านการเกษตรแล้ว ผู้เข้าชมงานยังสามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีอุทัย ที่จะนำสินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขึ้นชื่อของจังหวัด ผลผลิตสด ๆ จากไร่มาให้นักท่องเที่ยวเลือกช้อป เลือกชิมอย่างจุใจในที่เดียว อาทิเช่น พืชผักสวนครัวพื้นบ้าน และผักสลัด, ข้าวอินทรีย์ และเห็ดอินทรีย์, ผลไม้ ได้แก่ ส้มโอ มะม่วง, ผลิตภัณฑ์จากปลาแรด GI จากแม่น้ำสะแกกรัง เช่น ปลาแรดทอดกระเทียม ปลาแรดแดดเดียว แหนมปลาแรด ไส้กรอกปลาแรด ปลาแรดหยอง ซาลาเปาไส้ปลาแรด, ข้าวเกรียบปลาแรด น้ำพริกปลาแรด ทอดมันปลาแรด ห่อหมกปลาแรด, ไข่ไก่ นมพาสเจอร์ไรซ์ 

พลาดไม่ได้กับเมนูสุดฮอตจากวิสาหกิจชุมชนสุขฤทัยเกษตรปลอดภัย และเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มต่างๆ เช่น ยำผักกูดกัญชา ข้าวไข่เจียวกัญชา ขนมจีนกัญชา ก๋วยเตี๋ยวกัญชา ผัดกะเพราหมูป่า ชวนชิมน้ำชากัญ ขนมปังเฮฮา สังขยาหัวเราะ จมูกข้าวยิ้ม ขนมกงกัญ และคุ้กกี้สมายด์ ฯลฯ พร้อมไฮไลต์เด็ด การสาธิตเมนูสร้างสรรค์จากกัญชา มาให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองชิม อาทิ เมนูแรดอารมณ์ดี และเตี๋ยวรักกัญ (ชา) กิจกรรมแข่งขันกินข้าวเหนียวมะม่วง รวมทั้งกิจกรรมการแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม ภายใต้มาตรการวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) รองรับสถานการณ์โควิด – 19 อย่างเคร่งครัด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top