Sunday, 19 May 2024
Region

จันทบุรี - พบเด็กป่วย ‘โรคเบอรี่ซินโดม’ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มูลนิธิพระพุทธบาทพลวงและคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรี เข้าช่วยเหลือเบื้องต้น

ที่บ้านพักของครอบครัวผู้ยากไร้ ที่อาศัยสวนผลไม้ของญาติในบ้านที่ไม่มั่นคง อาชีพรับจ้างทำสานผลไม้ และ รับจ้างทั่วไป ของครอบครัว ศรีบุรุษ ในหมู่บ้านพังตะแคง หมู่ที่ 7 ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี พระครูประดิษฐ์ ศาสนการ เจ้าอาวาสวัดทุ่งตาอินท์ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระพุทธบาทพลวง / พระครูพุทธบท บริบาล ประธานมูลนิธิพระพุทธบาทพลวง / พระครูปลัดน้ำ มันตะชาโต เลขามูลนิธิพระพุทธบาทพลวง พร้อมด้วย คณะกรรมการฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมครอบครัว ของ นายสถาพร  ศรีบุรุษ ( น้องอ๋อ ) ที่ป่วยเป็นโรคเบอรี่ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคที่รักษาหายยาก เคยเข้ารักษาแล้วแต่ไม่มียารักษาให้หายขาด ต้องใช้เวลา สภาพแวดล้อม และการเอาใจใส่ของคนในครอบครัว

ซึ่งโอกาสเกิดโรคนี้ในประเทศไทย น้อยมากถือว่าเป็น 1 ในล้าน สถิติที่ผ่านมาส่วนใหญ่ที่พบเจอ จะเป็นโรค ดาวน์ซินโดม แต่ผู้ป่วย โรคเบอรี่ซินโดม จะมีอาการหนักกว่า สาเหตุอาจเป็นไปได้หลายทาง ทั้ง พันธุ์กรรมที่มีโครโมโซนเกินจากเด็กปกติทั่วไป หรือ ช่วงตั้งครรภ์ได้รับผลกระทบ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการล่าช้า มีใบหน้าเป็นลักษณะเฉพาะที่เห็นชัดถึงความแตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป  อาการ จะลักษณะคล้ายเด็กที่ป่วยเป็นดาวซินโดม แต่ จะหนักกว่าตรงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย และ จะนิ่งเฉย ขณะเดียวกัน บิดา – มารดา เป็นครอบครัวที่ยากไร้ อาศัยญาติ พี่ น้อง ปลูกสร้างบ้านที่ไม่มั่นคง ต้องรับจ้างทั่วไปรายวันเพื่อเลี้ยงครอบครัว ที่มีน้องชายอีก 1 คน เวลาออกไปทำงาน พ่อ แม่ ต้องนำน้องอ๋อ นั่งรถซาเล้งออกไปดูแลอยู่ใกล้ ๆ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจเกิดอันตรายเพราะเด็กไม่รู้สึกตัวเองเลย และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหมือนเด็กที่ป่วยเป็นดาวน์ซินโดม

ซึ่งหากปล่อยให้เด็กเสียชีวิตไปโดยไม่เหลียวแลก็ดูเหมือนจะผิดนิสัยมนุษย์เมื่อลูกเกิดมาแล้ว สภาพร่างกายแบบไหน พ่อ แม่ ก็ต้องพร้อมเลี้ยงดูจนถึงที่สุด ถึงแม้ชีวิตจะยากลำบาก ยากจนข้นแค้นอยู่แล้ว แต่ก็ต้องทนรับสภาพ ในการที่ มูลนิธิพระพุทธบาทพลวงและคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรีเข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งการต่อเติมที่อยู่อาศัยให้มั่นคง หลบแดด ลม ฝนได้ และ อาหารเครื่องอุปโภคบริโภคที่นำมาให้สามารถแบ่งเบาภาระได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากผู้มีจิตศรัทธาประสงค์จะทำบุญช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ลำบาก สามารถร่วมบริจาคสมทบได้ที่มูลนิธิพระพุทธบาทพลวง หรือที่วัดพลวง และ วัดทุ่งอินท์ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา  (ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี)

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ (รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก)

นครพนม - ผู้ว่านครพนม ลมออกหู สั่งสอบผู้ประกอบการท่าทราย 10 ล้าน จ่อถอนใบอนุญาตขึ้นแบล็คลิส

ผู้ว่านครพนม เอาจริง สั่งสอบผู้ประกอบการท่าทราย บางรายฉวยโอกาสเลี่ยงจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น ติดต่อหลายปี พบมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งคณะทำงานตรวจสอบ จับตากลุ่มเลี่ยงภาษี ทำรัฐเสียหาย ฉวยโอกาสลักลอบนำเข้าส่งออกสิ่งของผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าว ยาเสพติด พบสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทันที ขึ้นแบล็คลิส ย้ำผู้ประกอบการอย่าเห็นแก่ได้ ต้องทำตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.นครพนม เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีปัญหากิจการดูดทรายในพื้นที่ จ.นครพนม ยอมรับว่า ปัจจุบันยังคงมีปัญหา มีผู้ประกอบการบางราย ที่ฉวยโอกาสขออนุญาตดูดทราย ทั้งนำเข้า ซึ่งเป็นส่วนที่ศุลกากรดูแลรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 เกี่ยวกับการขออนุญาตนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนของจังหวัดนครพนม จะดูแลเรื่องความมั่นคง รวมถึงในมาตรา 9 ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการขออนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ.2546 โดยเป็นการดูดทรายในราชอาณาจักร แต่จะต้องไม่เป็นพื้นที่มีเขื่อนป้องกันตลิ่ง

ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาต จากทางคณะกรรมการระดับจังหวัดทำการตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาต โดยมีอายุ ครั้งละ 1 ปี แต่ปัจจุบันยอมรับว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ประกอบการบางราย ฉวยโอกาสเลี่ยงจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น คือ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ติดต่อกันมาหลายปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบแก้ไข

ทั้งนี้การที่จังหวัดนครพนม เห็นชอบกับผู้ประกอบการในการทำกิจการดูดทราย เพราะมีทั้งผลดี และผลเสีย แยกเป็นผลดี คือ ทรายสะสมมากขึ้นทุกปี ทำให้เกาะสันดอนเกิดขึ้นเป็นพื้นที่กว้าง หากมีการดูดทรายจะเกิดประโยชน์ ลดปัญหาการเกิดสันดอนทรายกีดขวางทางน้ำ และส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจการค้า เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง ส่วนผลเสีย ต้องยอมรับว่ายังมีผู้ประกอบการบางราย ฉวยโอกาสแฝงลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ในการนำเข้า ส่งออกของผิดกฎหมาย ยาเสพติด แรงต่างด้าว 

ล่าสุดได้ตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ในการลงพื้นที่ตรวจสอบดูแล ป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากพบผู้ประกอบการบางรายกระทำผิดระเบียบขั้นตอน จะต้องดำเนินคดี ตามกฎหมายทันที เพราะผู้ประกอบการได้ประโยชน์มหาศาล แต่ละปี แต่กับมีการเลี่ยงภาษี เพราะทางจังหวัดไม่ได้มีการติดตามตรวจสอบ ว่ามีการจ่ายชำระภาษีทุกปีให้ท้องถิ่น จนเกิดปัญหายืดเยื้อมานาน ทั้งที่ได้ประโยชน์มหาศาล 

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ จะต้องตรวจสอบ ทุกราย ซึ่งมีผู้ประกอบการ ยื่นขออนุญาต ประมาณกว่า 20 ราย ในพื้นที่ จ.นครพนม หากใครมีการเลี่ยงจ่ายภาษา จะมีการเพิกถอนใบอนุญาต และขึ้นบัญชีแบล็คลิส ไม่มีการต่อใบอนุญาต รวมถึงเฝ้าตรวจสอบติดตามผู้ประกอบการบางรายที่ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย จะต้องดำเนินคดี และเพิกถอนใบอนุญาตทันทีหากตรวจสอบพบกระทำผิด 

ซึ่งที่ผ่านมา ยอมรับมีการปล่อยปะละเลยมานาน แต่ทางจังหวัดยินดีอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินการตามกฎหมาย


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัส (ผสข.นครพนม)

สงขลา - นิพนธ์ เร่ง ศอ.บต. เสนอขอรับงบประมาณ แก้ปัญหาเด็กเล็กพื้นที่ชายแดนใต้มีโภชนาการต่ำ พร้อมติดตามความคืบหน้าการเสนอแนวทางแก้ไขจากทุกภาคส่วน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนมติ กพต.ประเด็นการแก้ไขปัญหาสุขภาวะ และโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ตัวแทนสำนักงบประมาณ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา หน่วยงานด้านสาธารณสุข หน่วยงานด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องที่ เข้าร่วมประชุมหารือฯ

โดยประเด็นการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการของเด็กๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักประสานงานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จากการประชุมหารือแนวทางการดำเนินการดังกล่าวที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการจัดทำข้อมูลเด็กและกลุ่มอายุ 0-5 ปีและแนวทางการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะเชื่อมโยงกับการจัดสวัสดิการภาครัฐในเด็กแรกเกิดรวมถึงการดูแลที่เกี่ยวเนื่องในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสถานศึกษาและสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน โดยให้รายงานผลการปฏิบัติและแนวทางการจัดทำข้อเสนอในการประชุมครั้งถัดไป

ในการนี้ นายนิพนธ์ รมช.มท. ได้กล่าวสรุปถึงแนวทางในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในส่วนของการขอรับการสนับสนุนงบประมาณว่า "ต้องให้ ศอ.บต. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงบประมาณในวงเงิน ประมาณ 165 ล้านบาท โดยเป็นปีงบประมาณ 2565 ซึ่งก็ขอให้ทำเรื่องนี้เข้าในที่ประชุมของคณะกรรมการ กพต.  พร้อมทั้งยื่นต่อคณะรัฐมนตรีในการยื่นขอแปรญัตติ ส่วนหากเป็นไปได้ถ้า covid-19 บรรเทาเบาบางลง ถ้าจะขอใช้งบกลางของท่านนายก ก็ต้องมาดูในเรื่องของความจำเป็น ซึ่งต้องขอให้สำนักงบประมาณดูในส่วนนี้ด้วย เพราะขณะนี้งบประมาณปี 64  ได้เริ่มปีงบประมาณไปแล้ว 6 เดือน และ 6 เดือนที่เหลือในปี 64  ถ้าจะเร่งรัดในการแก้ปัญหานี้เลย ก็ให้ใช้งบประมาณที่เหลือในปี 64 ต้องดูว่าจะใช้ได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะยังคงมีงบประมาณอยู่ 70 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องใช้งบประมาณในปี 65 เริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ คือเดือนตุลาคมปี 64 แต่ถ้าปีงบประมาณ 65 ไม่ได้ ก็ขอให้ตั้งเป็นงบประมาณของปี 66 เอาไว้ โดยให้อยู่ในแผนขอสนับสนุนงบประมาณ"


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตเรืองศักดิ์  (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

 

นราธิวาส - วัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรก 5,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และและกลุ่มเสี่ยง

วันที่ 5 เม.ย. 2564  ที่อาคารอเนกประสงค์ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรก โรงพยาบาล 13 อำเภอ ของจังหวัดนราธิวาส จำนวน 5,000 โดส หลังจากได้รับการจัดสรรวัคซีน “ซิโนแวค” ล็อตแรก จำนวน 5,000 โดส จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนจัดการวัคซีนของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยมีกลุ่มป้าหมายมาลงทะเบียน ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต คัดกรอง ซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ลงนามในใบยินยอมรับวัคซีน รอฉีดวัคซีน ฉีดวัคซีน พักสังเกตอาการ 30 นาที สแกนไลน์แอป “หมอพร้อม” และตรวจสอบ ก่อนกลับรับเอกสารการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน

โดยเข็มแรกฉีดให้แก่ นพ.สุเทพ หะยีสาและ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลนราธิวาสฯ เป็นผู้รับวัคซีนกลุ่มแรกของจังหวัดนราธิวาส  เพื่อสร้างความมั่นใจ และติดตามขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยในช่วงเช้าวันนี้การฉีดวัคซีนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายแพทย์นสุเทพ หะยีสาและ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรก ที่โรงพยาบาลนราธิวาสเปิดให้ฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” เป็นความยินดีของเจ้าหน้าที่ที่มารับวัคซีนในส่วนตัวเมื่อวานได้ทำการตรวจสอบแล้วผลเป็น Negative วันนี้เลยมารับวัคซีนที่ผ่านมาจากสถานการณ์ในจังหวัดนราธิวาสเกิดปัญหาด้วยคนไข้ติดโควิด ในเรือนจำเป็นปริมาณมาก ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการคอนแทคกับผู้ป่วยรายรายโรงพยาบาลได้เปิดการรับวัคซีนสร้างภูมิต้านทานให้เจ้าหน้าที่ก็หวังว่าบุคคลทั่วไปประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ ไม่มีสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อที่จะได้ดูแลผู้ป่วยต่อไป

วัคซีน “ซิโนแวค” ล็อตแรกนำเข้าเพื่อฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อเพื่อการควบคุมการระบาดเป็นลำดับแรก จังหวัดนราธิวาส ได้รับการจัดสรรวัคซีนระยะที่ 1 วันที่ 5-9 เมษายน 2564 จำนวน 5,000 โดส สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 2,500 ราย จำนวน 125กล่อง กล่องละ 40 โดส แบ่งเป็นอำเภอเมืองนราธิวาส 23กล่อง 920 โดส 460 ราย อำเภอสุไหงโกลก 32 กล่อง 128 โดส   สำหรับกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ผู้เสี่ยงต่อการสัมผัส ประชาชนที่มีโรคประจำตัว และประชาชนทั่วไป โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส พิจารณากระจายวัคซีนตามความเสี่ยงของพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนด


ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดกระโทก  (ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน)

เพชรบุรี – เกษตรกรขอจังหวัดผ่อนปรน ให้มีงานประกวดวัวลาน ไก่ชน ในพื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังถูกสั่งระงับเพราะพิษโควิด-19 มานานกว่า 4 เดือน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 เมษายน นายธรรมนูญ บุญส่ง กำนันตำบลบ้านกุ่ม อ.เมืองเพชรบุรี นายสาธิต บัวมณี กำนันตำบลหนองโสน อ.เมืองเพชรบุรี และนายปรัชญา สุขารมย์ กำนันตำบลบ้านแหลม อ.บ้านแหลม พร้อมชาวบ้านผู้เลี้ยงวัวลาน วัวพันธุ์ไทยพื้นบ้าน และไก่ชน กว่า 20 คน เดินทางมาที่ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี (หลังเก่า) ยื่นหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนของชาวบ้าน ถึงนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายธนภัทร ณ ระนอง นายอำเภอเมืองเพชรบุรีเป็นผู้รับหนังสือ

นายธรรมนูญ เปิดเผยว่า วัวลาน วัวเทียมเกวียนวัว ประกวดไก่ชน เป็นประเพณีพื้นบ้านเก่าแก่ของคนจังหวัดเพชรบุรีที่สืบทอดสืบสานกันมายาวนานเป็นสนามแสดง และตลาดการซื้อขายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของเกษตรกรทำให้ซาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นในการดำรงชีพเลี้ยงครอบครัวและชำระหนี้สินที่ผ่านมาในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอก 2จังหวัดเพชรบุรี ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโดยมีคำสั่งให้ งดงานประกวดวัวพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ซ้อมวัวลาน ไก่ชน และยังห้ามมิให้ทำกิจกรรมอื่นอีกหลายอย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเลี้ยงไก่ชนได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องมาโดยตลอด ตนและผู้นำชุมชนหลายพื้นที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในตำบลและพื้นที่ตำบลใกล้เคียง ว่าขณะนี้ชาวบ้านที่ เลี้ยงวัวลาน วัวพันธุ์ไทยพื้นบ้าน และไก่ชน ได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งห้ามมิให้จัดงานประกวดวัวพันธุ์ไทยพื้นบ้านซ้อมวัวลานไก่ชนเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด19เป็นเวลานานกว่า4เดือนทำให้ไม่มีพื้นที่แสดงวัวและไก่จึงทำการค้าขายวัวและไก่ยากมาก

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีช่วยดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรคนเลี้ยงวัวลาน วัวพันธุ์ไทยพื้นบ้านและไก่ชนโดยการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโดย อนุญาตให้เกษตรกรได้ซ้อมวัวลาน ไก่ชน ภายในตำบลหมู่บ้านและผ่อนปรนให้เกษตรกรได้จัดงานประกวดวัวพันธุ์ไทยพื้นบ้านได้ภายในตำบลหมู่บ้าน เพื่อเปิดโอกาสในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการซื้อขายของกลุ่มผู้เลี้ยงวัวลานวัวพันธุ์ไทยพื้นบ้านและไก่ชนทั้งนี้ชาวบ้านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขป้องกันควบคุมโรคในสถานการณ์โควิด -19 ในทุกขั้นตอน

เบื้องต้นนายธนภัทรได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไว้ และรับจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคระดับอำเภอเพื่อพิจารณาในการจัดกิจกรรมการประกวดวัวสวยงาม และเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดนำเสนอเรื่องการจัดวัวลานและไก่ชน ไปยังส่วนกลางเพื่อพิจารณาต่อไป

แม่ฮ่องสอน - ล็อตแรกเรือ 6 ลำ ส่งช่วยเหลือเยียวยาผู้หนีภัยความไม่สงบฝั่งสหภาพเมียนมา เจ้าหน้าที่บูรณาการอำนวยความสะดวกตามหลักมนุษยธรรม

ณ ท่าเรือบ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ภายหลังจากที่ทางหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่36 ได้รับการประสานจากหน่วยงานเอกชนที่ได้ทำการรวบรวมสิ่งของเพื่อขอส่งมอบของบริจาคให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบในฝั่งสหภาพเมียนมา  พันเอก สมรรถชัย แปงสาย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่36 จึงได้สั่งการให้กองร้อยทหารพรานที่3606 เข้าทำการตรวจสอบและอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง

ไวรัสโควิด-19 โดยเคร่งครัด  โดยทาง พันตรี ธเนศ กันทา ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่3606 ได้จัดกำลังพลจาก ฐานปฏิบัติการแม่สามแลบ จำนวน 1 ชุดปฏิบัติการ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และ อาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอสบเมย อำนวยความสะดวกและคัดกรองบุคคลตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งร่วมตรวจสอบสิ่งของที่รับบริจาคจากประชาชนและองค์กรเอกชนต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องอุปโภค-บริโภค โดยจะทำการขนส่งจากท่าเรือแม่สามแลบ ไปยังพื้นที่พักพิงอีทูโกรและอูเวโกร ฝั่งสหภาพเมียนมา โดยเรือยนต์ขนาดกลาง จำนวน 6 ลำ

สำหรับการช่วยเหลือดังกล่าว เป็นไปตามหลักการช่วยเหลือตามมนุษยธรรม แต่ต้องอยู่ในความดูแลของหน่วยงานความมั่นคง เนื่องด้วยสถานการณ์ตามแนวชายแดนยังไม่ปลอดภัย และเพื่อทำการคัดกรองบุคคลตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมทั้งตรวจสอบสิ่งของเพื่อป้องกันการลักลอบนำสิ่งของต้องห้าม หรือของผิดกฎหมายแอบแฝงไปด้วย


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา  / ถาวร (อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน)

กระบี่ - "มนัญญา" รมช. เกษตรและสหกรณ์ ลงมือปลูกกัญชา แห่งแรกของ จ. กระบี่ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

เวลา  9:30 น วันที่ 5 เมษายน 2564 ที่โรงเรือนวิสาหกิจชุมชนคนกระบี่เพื่อปลูกสมุนไพร  เขตเทศบาลเมืองกระบี่ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มาเป็นประธานในการปลูกกัญชาแห่งแรกของจังหวัดกระบี่ที่ได้รับอนุญาตปลูก จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพื้นที่ปลูก 48 ตารางเมตร มีเป้าหมายปลูก 2 รอบ ๆ ละ 50 ต้นภายในโรงเรือนปิด มีรั้วล้อมรอบ พร้อมมีระบบการดูแลความปลอดภัยที่จะทำให้มั่นใจว่ากัญชาที่ปลูกขึ้นได้รับการตรวจสอบ เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการสูญหาย

ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางผึ้งร่วมกับวิสาหกิจชุมชนคนกระบี่ เพื่อปลูกสมุนไพร ร่วมปลูกต้นกล้ากัญชาอายุ 1 เดือนเศษจำนวน 50 ต้นในโรงเรือน มีเป้าหมายเพื่อผลิตวัตถุดิบกัญชาส่งให้กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในการนำไปผลิตยาที่มีส่วนผสมของกัญชาแจกจ่ายให้สถานบริการภาครัฐ

นางมนัญญา ฯ  กล่าวว่าการขับเคลื่อนเรื่องกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดแต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ยกระดับให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะผลักดันการวิจัยพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมกับประเทศไทยให้เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถนำต่อยอดในการให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา

ขณะที่เกษตรกรชาวจังหวัดกระบี่ในส่วนของวิสาหกิจชุมชนมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก มี 30 แห่งที่จะแจ้งจดทะเบียนเพิ่มเติมการปลูกกัญชาต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการ


ภาพ/ข่าว  มโนธรรม ใจหาญ (จ.กระบี่ รายงาน)  

ชลบุรี - เปาอุ๋ย แห่งตลาดจีนชากแง้ว แต่งตัวจีนโบราณขายบ๊ะจ่าง นักท่องเที่ยวแห่ซื้อและถ่ายรูปเก็บความประทับใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ เมืองพัทยา ยังมีตลาดโบราณบรรยากาศน่ารัก น่าแวะเที่ยว ชื่อว่า ตลาดจีนโบราณชากแง้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยเสน่ห์ของชุมชนโบราณแห่งนี้ คือได้ชมบ้านเรือนเก่าแก่ ร้านค้าตกแต่งให้กลิ่นอายแบบจีน เรียนรู้วิถีชุมชนและวัฒนธรรมจีนโบราณ แถมมีสินค้าหลากหลายให้ชม ชิม ช้อป ทั้ง อาหารไทย อาหารจีน ของกินพื้นบ้าน ขนมหวาน ของฝากต่าง ๆ ให้เลือกซื้อเลือกหาในราคาไม่แพงอีกด้วย พ่อค้าแม่ค้าเป็นคนในชุมชมที่เปิดบ้านเรือนนำของมาขายนั่นเอง

ซึ่งท่ามบรรดาพ่อค้า แม่ค้า มากมายนั้น ยังมี 1 ร้าน ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างถูกใจร้านนี้มากเป็น ร้านขายบ๊ะจ่าง เสียงคุณพี่เจ้าของร้านเรียกมาแต่ไกล “ อาตี๋ อาหมวย ล้ายเหลี่ยว ล้ายเหลี่ยว ฮ่อเจี๊ยะ ฮ่อเจี๊ยะ แวะชิมบ๊ะจ่างก่อนมั้ยครับ กินแล้วรวย กินแล้วรวย ” แถมเชื้อเชิญให้เข้ามายืนถ่ายภาพพร้อมคิดท่าให้เสร็จสรรพ บรรยากาศสุดเป็นกันเอง

จากการสอบถามพ่อค้าบ๊ะจ่างแต่งตัวจีนโบราณคนนี้คือ " เปาอุ๋ย แห่งตลาดจีนชากแง้ว " หรือ นายภูษิต เกตุมณี อายุ 60 ปี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองเปิดร้านขายสินค้าที่ตลาดจีนแห่งมากว่า 6 ปีแล้ว โดยสินค้ามีหลายอย่าง บ้ะจ่าง หมั่นโถว หมี่กรอบ แต่ที่ขึ้นชื่อและที่นักท่องเที่ยวกลับมาซื้อบ่อยครั้ง คือ บ๊ะจ่าง สูตรโบราณ อร่อยราคาถูก ซึ่งตนเองไม่ได้เน้นขายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเน้นการตกแต่งร้านด้วยของเก่าต่าง ๆ มากมาย สไตล์วินเทจโบราณ การแต่งตัวแบบคนจีนโบราณ เพื่อให้ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยว ได้ถ่ายรูปเก็บความประทับใจอีกด้วย โดยคำพูดติดปากของตนเองที่ไม่เหมือนใคร คือ " ล้ายเหลี่ยว " แปลว่า " มานี่ " และ "ฮ่อเจี๊ยะ " แปลว่า " อร่อย " ซึ่งลูกค้าที่ได้ยินคำนี้จะรู้ได้ทันทีว่าเป็น " เปาอุ๋ย "

โดยในวันนี้ ได้มีการเชิญชวนลูกค้าที่ผ่านไปมาแข่งขันกินบ๊ะจ่าง ซึ่งผู้สื่อข่าวได้เก็บบรรยากาศการกินอย่างเอร็ดอร่อยและสนุกสนานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ตลาดจีนบ้านชากแง้ว แห่งนี้ เปิดบริการทุกวันเสาร์วันเดียวเท่านั้น


ภาพ/ข่าว อนันต์ สุขวัฒนะ / เอกชัย สุขวัฒนะ (ผู้สื่อข่าวภูมิภาค พัทยา จ.ชลบุรี)

สงขลา - รอง เลขาธิการ ศอ.บต. เผยถึงความคืบหน้าของ”เมืองต้นแบบที่ 4” ความเหมือนและความต่างจาก “eeC” และ “sec “อย่างไร

นายบดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ “เมืองต้นแบบที่ 4 “ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่า เมืองต้นแบบที่ 4 เป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต ว่าในแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ในโครงการ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐ คือการสร้างโอกาสในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือเรื่องการสร้างงาน เพื่อให้เยาวชน และคนรุ่นที่จะเรียนจบการศึกษา และผู้ที่จบมาแล้วแต่ยังว่างงาน สามารถมีงานทำ มีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะส่งผลให้คนในท้องถิ่น ไม่ละทิ้งบ้านเกิด และเป็นกำลังหลักในการเป็นเสาหลักของครอบครัว และการพัฒนาท้องถิ่น และชุมชน

สำหรับโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4 “ที่ อ.จะนะ มีเอกชนให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนเพราะมีการถือครองที่ดินก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเอกชนก็ยื่นโครงการเข้ามาให้รัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะเห็นชอบ แต่ก็ยังต้องมีขั้นตอนมากมาย กว่าที่จะสำเร็จลุล่วง  เช่นการขออนุญาตเรื่องเปลี่ยนผังเมือง เพื่อประกอบกิจกรรมอุตสาหกรรม   หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการเองไม่ได้ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และรอบด้าน แม้แต่ในเรื่องการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ถึงโครงการดังกล่าว ก็ต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป

แต่...อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการ”เมืองต้นแบบ ที่ 4 “ ที่ อ.จะนะ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะนะ  เป็นกรอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล และจากเอกชนว่า จะไม่มีอุตสาหกรรมหนัก เช่น  ปิโตรเคมี และ อุตสาหกรรมเหล็ก แต่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ ที่เป็นเมืองแห่งอนาคต เป็นเมืองน่าอยู่ มีความทันสมัย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา อีเลคโทรนิกส์ที่ทันสมัย ซึ่ง ศอ.บต. ได้มีการ ประสานงานกับ เอกชนผู้มาลงทุน รวมถึงสถาบันการศึกษา ในการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับฝีมือ แรงงาน  และ ทักษะ ของคนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับ อุตสาหกรรม จะเกิดขึ้นในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีการพัฒนาที่ชื่อว่า” eec”ส่วนภาคใต้แบ่งเป็น 2 ส่วน เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “sec”  แต่ “sec” เป็นโครงการของการพัฒนาภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัด ที่ไม่เกี่ยวกับ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือ “sbec”  ซึ่งในพื้นที่นี้ จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้แก่ อ.สุไหงโก-ลก อ.หนองจิก อ.เบตง และ อ.จะนะ

แนวคิดของ “sbec” นั้น  มีความเหมือนและต่างกับ “eec”  เพราะ “eec” มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แต่ “ sbec “ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทันสมัย  ที่ต้องมีการสร้างที่ อ.จะนะ เพราะจะต้องมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นท่าเรือฝั่งอ่าวไทย ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการส่งออกของประเทศ ซึ่งขณะนี้ “พณ”ท่าน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โครงการนี้ ขับเคลื่อนโครงการต่อไป ในกรอบของ กฎหมาย โดย ศอ.บต. จะเป็น ส่วนในการ สนับสนุนทุกภาคส่วนที่เข้ามา ขับเคลื่อน โครงการนี้ ให้สามารถ เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รอง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวท้ายสุด


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

 

ขอนแก่น - ญาติผู้ต้องขังยังคงเดินทางมาเยี่ยมภายในเรือนจำกลางขอนแก่นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่ทราบประกาศของทางกรมราชทัณฑ์ ที่มีการประกาศงดเยี่ยมทุกเรือนจำทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 6 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวไปสังเกตการณ์บริเวณหน้าอาคารเยี่ยมญาติภายในเรือนจำกลางขอนแก่น เขตเทศบาลนครขอนแก่น หลังจากกรมราชทัณฑ์ ประกาศงดเยี่ยมญาติทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่ายังคงมีญาติผู้ต้องขังทยอยมาเยี่ยมญาติที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว บางครอบครัวมาจากต่างจังหวัด แต่ต้องผิดหวัง เนื่องจากเรือนจำติดประกาศงดเยี่ยมไว้ที่กระจกหน้าอาคาร ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่มาอธิบาย และทำความเข้าใจการงดเยี่ยม รวมถึงแนะนำการเยี่ยมผ่านกลุ่มไลน์ ซึ่งญาติพี่น้องต่างก็เข้าใจ แต่ยังคงมีผู้สูงอายุที่ต้องการฝากเงินให้ลูก แต่ใช้แอบพลิเคชันไม่เป็น เจ้าหน้าที่จึงแนะนำวิธีใช้และเชิญเข้าร่วมกลุ่มไลน์ญาติผู้ต้องขังเรือนจำกลางขอนแก่น ซึ่งญาติพอใจอย่างมาก และเชื่อว่า เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ทุกคน

นายกฤติพงษ์ แสนสุข  ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขัง เรือนจำกลางขอนแก่น เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ถึงมาตรการรับตัวผู้ต้องหาจากตำรวจ เข้าเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางขอนแก่น ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด19 และกรมราชทัณฑ์ กำหนดมาตรการเข้ม ประกาศงดเยี่ยมญาติทั่วประเทศว่า การงดเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำกลางขอนแก่นนั้น ปฏิบัติตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ หลังพบเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ที่จังหวัดนราธิวาส ติเชื้อโควิด19 ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวกรมราชทัณฑ์ จึงประกาศงดเยี่ยมญาติทางห้องเยี่ยมญาติในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

"การรับต้องผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนจะเข้ามาเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางขอนแก่นอีกว่า เรือนจำกลางขอนแก่นจะต้องทำการตรวจวัดอุณหภูมิในร่างกายให้เรียบร้อย หากอุณหภูมิเกินก็ไม่รับและต้องส่งตัวไปรักษาต่อ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยพบผู้ต้องหาที่รับเข้ามาในเรือนจำกลางขอนแก่นมีอุณหภูมิเกิน โดยเมื่อรับเข้ามาเป็นผู้ต้องขังแล้ว ทุก ๆ คนจะต้องเข้าในพื้นที่กักตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข โดยต้องกักตัว14 วัน ในทุก ๆ วัน จะมีเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาล เข้าตรวจร่างการ วัดอุณหภูมิในร่างกายว่าปกติหรือไม่ และทุกคนจะต้องกินนอนในพื้นที่กักตัวจนครบ เมื่อครบแล้วจึงจะออกจากที่กักตัวได้ และเมื่อออกจากสถานที่กักตัวมาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังในแดนหญิงหรือแดนชาย ผู้ต้องขังทุกคนจะต้องใส่หน้ากากอนามัยและมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวทุกคน เพื่อให้ทุกคนรวมถึงเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลในเรือนจำกลางมีความปลอดภัยจากโควิด -19 กันทุกคน"

นายกฤติพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า  สำหรับอาคารสถานที่ภายในเรือนจำกลางขอนแก่น จะมีการล้างทำความสะอาดอยู่บ่อย ๆ รวมถึงยานพาหนะที่จะเข้ามาส่งสิ่งของในเรือนจำกลางขอนแก่น หรือยานพาหนะจากสถานที่อื่นที่จะเขในเรือนจำกลางขอนแก่นนั้น มาได้แค่ด้านหน้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำกลางขอนแก่น จะทำการขับรถเข้าไปภายใน รวมถึงการฉีดล้างยางรถยนต์ให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด- 19 อย่างเข้มงวดด้วย

ขณะที่ นางสุเพ็ญ ทองนาคะ ผู้อำนวยการส่วนสวัสดิการผู้ต้องขัง เรือนจำกลางขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับการงดเยี่ยม ตามที่กรมราชทัณฑ์ประกาศงดเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น เรือนจำกลางขอนแก่นก็ถือปฏิบัติเป็นนโยบายสำคัญ โดยเรือนจำกลางขอนแก่นได้มีการประกาศในเพจเฟซบุ๊กของเรือนจำกลางขอนแก่นและกลุ่มไลน์สื่อสารญาติของเรือนจำกลางขอนแก่น ให้ทุกคนได้ทราบ และเพื่อให้ญาติและผู้ต้องขังเข้าใจ เรือนจำกลางขอนแก่น ได้มีการประกาศให้ผู้ต้องขังทั้งแดนชายและแดนหญิง ได้ทราบว่า มีการระบาดของโควิด- 19ทุกคนต้องมีความปลอดภัย

"ในส่วนของกลุ่มไลน์นั้นหากญาติเข้ามาในกลุ่มไลน์ ทุกข้อความที่เคลื่อนไหว ทั้งการเยี่ยมผู้ต้องขัง และการสั่งซื้อสินค้าทางไลน์ รวมถึงการฝากเงิน และการจัดคิวเยี่ยมทางไลน์ ทุก ๆ ความเคลื่อนไหว ผบ.เรือนจำจะเห็นทุกข้อความ ส่วนการฝากเงินนั้น เรือนจำกลางขอนแก่น มีบริการฝากเงินด้วยระบบธนาคารพาณิชย์ ทำการโอนผ่านธนาคาร ซึ่งจะถึงผู้ต้องขังเช่นเดิม รวมถึงการเงินส่งทางธนาณัติก็มีบริการเช่นกัน  แต่หากพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ที่ไม่เชี่ยวชาญหรือเล่นโซเชียลไม่เป็น ก็ขอให้ลูกหลานญาติพี่น้องคอยกำกับดูแล หรือถ้ามีโอกาสมาที่เรือนจำกลางขอนแก่น  จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำการเข้าถึงกลุ่มไลน์ญาติผู้ต้องขัง"

นางสุเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเยี่ยมญาติทางไลน์ เรือนจำกลางก็มีเครื่องมือและจอคอมพิวเตอร์ให้บริการไว้อย่างพร้อมเพรียง แต่ญาติต้องจองคิวในช่วงวันปกติ เพราะการเยี่ยมไม่มีวันหยุด ญาติสามารถพูดคุยกับผู้ต้องขังได้ในครั้’ละ 15  นาที โดยทางเรือนจำกลางขอนแก่น จะมีการจัดกลุ่มมาพูดคุยกับญาติครั้งละ 10 คน จึงยืนยันว่าการงดเยี่ยมคือไม่ได้เห็นตัวเป็นๆของญาติมายืนตรงหน้า แต่ทุกคนยังสามารถเจอกัน คุยกันได้ในไลน์ได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด อย่างไรก็ตามเรือนจำกลางขอนแก่น ได้ปิดประกาศและการปฏิบัติตัวของญาติไว้ที่กระจกหน้าห้องเยี่ยมญาติ ว่าญาติสามารถเยี่ยมผู้ต้องขังได้ผ่านช่องทาง Application Line,ฝากเงินให้ผู้ต้องขังผ่านทางธนาณัติ สั่งจ่าย ปณ.ศรีจันทร์ หรือ ปณ.ขอนแก่น,ฝากเงินผ่านทางธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai Next,ให้ญาติสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Application Line ตามปกติ, ให้ญาติส่งจดหมายผ่านทาง Application Lineและจดหมายปกติ หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลง เรือนจำกลางขอนแก่น จะแจ้งให้ทราบต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top