Sunday, 19 May 2024
Region

หลวงพ่อพัฒน์ (ปุญญกาโม) บริจาคเงินจำนวน 8,000,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และ รถพยาบาลVIP จำนวน 1 คัน มอบให้โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

วันนี้ 12.30 น.  หลวงพ่อพัฒน์ (ปุญญกาโม) และดร.เสมอ งิ้วงาม (ป๋อง สุพรรณ) บริจาคเงินจำนวน 8,000,000 บาท(แปดล้านบาทถ้วน) เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และรถพยาบาลVIP จำนวน 1 คัน มอบให้โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยมีนายแพทย์โชติ ภาวศุทธิกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์รับมอบ ในพิธีมหาพุทธามังคลาภิเษกวัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ (ปุญฺญกาโม) รุ่น พยัคฆ์แสนล้านและรุ่น ราชาพยัคฆ์ ณ วัดธารทหาร (ห้วยด้วน) อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

ท่านที่ประสงค์จะทำบุญในโอกาสพิเศษต่างๆ ติดต่อได้ที่ ประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลฯ 056-001555 และ 089-8584102 หรือโอนเงินธนาคารกรุงไทย เลขที่ 633-0-41531-5 ส่งหลักฐานที่ inbox เพจ Facebook โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์


ภาพ/ข่าว  ตอริก (ปัตตานี)

จับตาการเปิด 5 จุดผ่อนปรน การค้าชายแดนไทย-เมียนมาแม่ฮ่องสอน เพื่อบรรเทาผลกระทบ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดนฯ แต่ยังไม่อนุญาตให้บุคคลข้ามแดน

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ลงนามในคำสั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเปิดการใช้ช่องทาง ณ จุดผ่อนปรนการค้า หลังปิดไปตั้งแต่ 1 พ.ย. 63 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยผู้ว่าราชการได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.แม่ฮ่องสอน และคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อหารือแนวทางในการเปิดจุดผ่อนปรนการค้า โดยในคำสั่งฉบับดังกล่าวได้อนุญาตให้มีการเปิดการใช้ช่องทาง ณ จุดผ่อนปรนการค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดนฯ โดยจะมีผลตั้งแต่วันนี้  1 เม.ย. 64 เป็นต้นไป ประกอบไปด้วย

1.) จุดผ่อนปรนการค้าช่องทางห้วยต้นนุ่นหมู่ที่ 4 ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม

2.) จุดผ่อนปรนการค้าช่องทางบ้านเสาหิน หมู่ที่ 6  ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง

3.) จุดผ่อนปรนการค้าของทางบ้านแม่สามแลบหมู่ที่ 9 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย

4.) จุดผ่อนปรนการค้าของทางบ้านห้วยผึ้ง หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

5.) จุดผ่อนปรนการค้าช่องทางบ้านน้ำเพียงดิน หมู่ที่ 3 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้  ให้ขนส่งเฉพาะการนำเข้า - ส่งออกสินค้าบริเวณจุดผ่อนปรนที่กำหนดเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้มีการเดินทางเข้า-ออก ของบุคคลทั้งชาวไทยและชาวเมียนมาผ่านช่องทางจุดผ่อนปรนการค้าทุกแห่งรวมทั้งช่องทางธรรมชาติ สินค้าทั่วไปอุปโภค บริโภค ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำร้องต่อศุลกากร โดยให้ศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสินค้าเข้าออก ส่วนสินค้าเกี่ยวกับความมั่นคง และสินค้าที่นอกเหนือจากสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปให้ผู้ประกอบการยื่นคำร้องต่อศุลกากร และให้แจ้งเรื่องมายังศูนย์สั่งการชายแดนเพื่อพิจารณาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและ  ให้ปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาโควิด-19 อย่างเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร   (อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) 

สุโขทัยเขียนลายสังคโลกบนผืนผ้า งานอาร์ตเวิร์คช้อป สร้างรายได้แก่คนรักงานศิล์ปที่“บ้านปรีดาภิรมย์”

ถ้าเอ่ยคำว่า ‘ลายสังโลก’ หลายคนน่าจะนึกถึงเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก เซรามิก เท่านั้น ที่สุโขทัยลายสังคโลกสวยๆ จากงานบรรจงฝีมือลงบนผืนผ้า ก็มีให้ชม ให้ใช้ ให้เลือกหา บ่งบอกถึงสุโขทัยเช่นกัน ‘ลายสังโลก’ ถือเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานจากเครื่องปั้นสังคโลก หรือจะเป็นลวดลายบนผืนผ้าที่เรานำมาใช้ประจำวัน เช่นเสื้อ หมวก ร่ม โคมไฟ  ย่าม กระเป๋า พัด กรอบภาพโชว์ และงานจากการสร้างขึ้นมาอื่น ๆ จากผ้า ที่มีความหมายสำคัญในชีวิตและวัฒนธรรมของสุโขทัย ‘ลายสังโลก’ก็ยังมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสุโขทัยและคนไทย โดยลวดลายที่ถูกเขียนลงบนผืนผ้าสามารถบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาได้ ในยุคหลายร้อยปี   

งานศิลปะไม่ใกล้ไม่ไกลจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในเขตชุมชนเมืองเก่า จ.สุโขทัย มีบ้านไม้หลังหนึ่ง รอให้ทุกคนได้มาสร้างสรรค์ลวดลายสังคโลกผ่านผืนผ้าที่ “บ้านปรีดาภิรมย์” ที่นี่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบและความหมายของลวดลายสังคโลก ซึ่งถือเป็นงานหัตถกรรมที่สำคัญของสุโขทัยมาช้านาน โดยปกติแล้วเรามักจะเห็นลวดลายสังคโลกอยู่บนเซรามิก หรือเครื่องปั้นสังคโลก ที่เมืองเก่าแห่งนี้คือต้นกำเนิดของสุโขทัยทุกวันนี้ มีหญิงสาวท่านหนึ่งที่ถูกปลูกฝังในความเป็นคนสุโขทัยที่มีเอกลักษณ์และศิลปะในตัวเธอ คุณธารารัตน์ ปรีดาภิรมย์ “หรือฝน” ตัวเธอและครอบครัว และชาวบ้านชุมชนเมืองเก่าต้องการที่จะอนุรักษ์ สืบสานลวดลายบนเครื่องสังคโลกเอาไว้ไม่ให้หายไปตามกาลเวลา จึงเกิดเป็นกิจกรรมเวิร์คช้อปดี ๆ ให้นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหัดเขียนลวดลายสังคโลก

คุณธารารัตน์ ปรีดาภิรมย์  เอ่ยไว้น่าสนใจว่า การลงมือวาดลวดลายต่างๆ ของ‘ลายสังโลก’ ลงบนผืนผ้า เสื้อยืด กระเป๋าหรือโคมไฟ ไม่ว่าจะเป็น ลวดลายสัตว์ (ลายปลา ลายนกคุ้ม) ลวดลายพืชพรรณ (ลายดอกบัว ต้นไม้) และลวดลายเรขาคณิตแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต สังคม ความเชื่อและรูปแบบศิลปะเฉพาะของสุโขทัย จะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในคุณค่าของ “จิตวิญญาณของวัฒนธรรม” เมืองสุโขทัย และเข้าใจอัตลักษณ์ของความเป็นสุโขทัยมากขึ้น และผู้ที่มาเรียนรู้เพื่อขยายคนสร้างงานศิล ใจรัก หรือ ทำเป็นอาชีพเสริม อาชีพหลัก ก็ล้วนแล้วแต่ความชอบของแต่ละคนที่สนใจ ส่วนตัวฝนและครอบครัว ก็ยังใช้งานที่รักนี้มาเป็นงานสร้างรายได้ สร้างผลงาน เพิ่มความรู้และแบ่งปันความรู้สู่ผู้อื่นมาทั้งชีวิตเช่นกัน


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา (จ.สุโขทัย)

"ราชทัณฑ์" จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดโรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศต้นแบบ "เรือนจำจังหวัดนนทบุรีโมเดล"

วันพฤหัสบดีที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ฝ่ายบริหาร ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศต้นแบบ "เรือนจำจังหวัดนนทบุรีโมเดล" เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตต้นแบบ "เรือนจำจังหวัดนนทบุรี" ด้านการส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูลการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ ณ เรือนจำจังหวัดนนทบุรีโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตต้นแบบ "เรือนจำจังหวัดนนทบุรี"เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ กรมราชทัณฑ์ โดย เรือนจำจังหวัดนนทบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดย สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สถานีวิทยุ ม.ก. ด้วยการเปิดรับสมัครผู้ต้องขังสูงอายุในเรือนจำจังหวัดนนทบุรี จำนวน 30 คน เพื่อร่วมอบรมเกี่ยวกับการจัดกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังสูงอายุทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

โดยมุ่งเน้นให้ผู้ต้องขังสูงอายุมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง คลายความวิตกกังวลในขณะที่อยู่ภายในเรือนจำ มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะอาชีพ พัฒนาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมนำไปต่อยอดให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำรุ่นต่อไป ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ต้องขังสูงวัยให้ดำรงตนอย่างมีคุณค่า  ทางสถานีวิทยุ ม.ก. จะให้การสนับสนุนการพัฒนาความรู้ เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ได้เข้าถึงองค์ความรู้ในแขนงวิชาต่าง ๆ อาทิ ความรู้ด้านกฎหมาย ๒,ด้านสุขภาพ ๓.ด้านโภชนาการ๔.ด้านเศรษฐกิจและสังคม ๕.ด้านพระพุทธศาสนา ๖.ด้านการใช้ภาษาและการสื่อสาร ๗.ด้านการออม และ ๘.การจัดกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังสูงวัย ให้มีสุขภาพใจและร่างกายแข็งแรงสามารถสร้างผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ "Active Aging"

พร้อมต่อยอดถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ต้องขังสูงวัยในรุ่นต่อไป  ผ่านเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก. โดยมีเนื้อหาหลักสูตรใน ๕ มิติ ได้แก่ ด้านร่างกาย เน้นในเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง ด้านจิตใจ เน้นการรู้จักบริหารสุขภาพจิต ด้านสังคม เน้นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย การเปลี่ยนแปลงของสังคม สิทธิและสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ด้านเศรษฐกิจและกิจกรรมสันทนาการ การฝึกทักษะอาชีพ การให้ความรู้เรื่องการออมในผู้สูงวัย และด้านจิตปัญญา การส่งเสริมให้เข้าถึงธรรมชาติและสัจธรรมพร้อมกันนี้ ยังเป็นต้นแบบให้กับเรือนจำอื่น ๆ ในการต่อยอดองค์ความรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ต้องขังสูงอายุ

ตามมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ โดยมีแนวทางและรูปแบบการให้การศึกษาผ่านทางเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก. เป็นหลัก โดยออกอากาศ ทั้ง ๔ ภูมิภาค ในระบบ เอ.เอ็ม. สเตอริโอและผู้ต้องขังสูงอายุ ยังสามารถรับชม-รับฟัง ทั้งภาพและเสียงผ่านทางเครือข่ายของสถานีวิทยุ ม.ก. ณ สถานที่เรือนจำจังหวัดนนทบุรีได้กำหนดไว้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 30 คน ต้องติดตามรับฟังรายการวิทยุอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร ๑ เดือน ๒ สัปดาห์ ออกอากาศเนื้อหาหลักสูตรเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน - ๑๒ พฤษภาคม๒๕๖๔ รวม ๒๙ หลักสูตร จึงจะได้รับประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เพชรบูรณ์ เกษตรอำเภอวังโป่ง จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานที่ อาคารคัดแยกมะขามหวาน วิสาหกิจชุมชนไม้ผลตำบลซับเปิบ หมู่ที่ 2 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์  นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอวังโป่ง เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field  Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่  โดยมี นางชรินรัตน์ ตีทอง เกษตรอำเภอวังโป่ง  กล่าวรายงาน หัวหน้าส่วนราชการอำเภอวังโป่ง นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลซับเปิบ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านตำบลซับเปิบ สำนักงานตรวจบัญชีและสหกรณ์  ชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ เข้าร่วม และสาธารณสุขอำเภอวังโป่ง ได้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรทั่วประเทศ จึงได้มีนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมของเกษตรกรที่จะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ และได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นแกนหลักในการจัดงาน โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ หรือศูนย์เครือข่ายในพื้นที่เป็นสถานที่จัดงาน เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ช่วยในการลดต้นทุนการผลิต  การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เป็นการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอาชีพ ให้เกษตรกรทุกท่านที่มาร่วมงาน  ให้ความสนใจเรียนรู้จากฐานเรียนรู้และองค์ความรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการเกษตรสาขาต่าง ๆ ตลอดจนข่าวสารที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มาให้บริการข้อมูลข่าวสาร  เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรายอื่นได้ทราบ เพื่อพัฒนาการเกษตรของอำเภอวังโป่งต่อไป

กิจกรรมวันนี้มีบุคคลเป้าหมายเข้าร่วมงานเป็นเกษตรกรที่อยู่ ในพื้นที่อำเภอวังโป่ง จำนวน  130  ราย โดยแบ่งเกษตรกรเข้าฐานเรียนรู้ กลุ่มละ 25 ราย โดยใช้เวลาเรียนรู้ฐานละ 30 นาที หมุนเวียนการเรียนรู้ จนครบทุก 4 ฐาน แล้วจึงสรุปผลการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมี ฐานเรียนรู้ที่ 1 การผลิตและแปรรูปมะขามหวานคุณภาพ  ,ฐานที่ 2 การผลิตสารชีวภัณฑ์ สอนวิธีการขยายเชื้อราบิวเวอร์เรีย ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตรใช้ควบคุมแมลงศัตรพืชเช่นเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ มวนเขียว ด้วงแรด ด้วงหนวดยาว ฯลฯ ,ฐานที่ 3 การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ (หนูนา) ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการเลี้ยงหนูแบบแยกคลอด การเตรียมบ่อเลี้ยง และวิธีการเลี้ยงหนูขุน ,ฐานที่ 4 การผลิตข้าวคุณภาพดี ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี

ด้าน นางชรินรัตน์ ตีทอง เกษตรอำเภอวังโป่ง  กล่าวว่า ในวันนี้เราได้ให้พี่น้องเกษตรกรจำนวน 100 กว่ารายมาแลกเปลี่ยนความรู้ กับพี่น้องเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตรแล้ว  ซึ่งหวังว่างานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field  Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ในครั้งนี้น่าจะมีส่วนที่ดีที่พี่น้องเกษตรกรได้มาพบปะกัน สิ่งสำคัญที่สุดเกษตรกรอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งเขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกันได้เป็นอย่างดี


ภาพ/ข่าว  เดชา  มลามาตย์ / มนสิชา  คล้ายแก้ว

กลุ่มกะเหรี่ยงในไทย KTG เปิดรับบริจาค สิ่งของช่วยเหลือผู้หนีภัยสงครามเมียนมา

ระบุ ผู้หนีภัยสงครามส่วนใหญ่ไม่กล้ากลับเข้าบ้าน อาศัยหลบซ่อนในป่า ขาดแคลนเสบียง  ขณะที่สถานการณ์ชายแดนวันนี้ยังเงียบสงบไม่มีผู้อพยพข้ามมาแต่อย่างใด

ณ บ้านคะปวง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  น้องฟ้า ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับสิ่งของบริจาคศูนย์ KTG ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง  ตัวแทน กลุ่มกระเหรี่ยงในประเทศไทย หรือ KTG  (Karen Thai Group) กำลังทำการรวบรวมสิ่งของบริจาคที่ได้จากพี่น้องกะเหรี่ยง และ ประชาชนไทย ในประเทศไทย ซี่งส่วนใหญ่เป็นข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม เสื้อผ้า และ  ผ้าใบสีฟ้า  ของใช้ยามหน้าฝน เช่น ผ้าใบกันฝน ซึ่งถ้าสถานการณ์ยึดเยื้อ พี่น้องที่หลบหนีกลางป่าจะได้มีที่พักพิงหลบฝนได้  โดยสิ่งของบริจาคได้ทยอยส่งมาอย่างต่อเนื่อง  ในวันนี้มีสิ่งของบริจาค ส่งมาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก และ กลุ่มสตรีชาติพันธ์แม่สวด รวมกันส่งสิ่งของมากับรถโดยสาร จำนวน 5 คัน  ซึ่งเจ้าหน้าที่ KTG ระบุว่า พี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากภัยสู้รบเมียนมา ยังต้องการของบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้หนีภัยสงครามส่วนใหญ่ไม่ได้กลับไปอยู่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่ยังคงอาศัยหลับนอนตามป่า ตามเขา เนื่องจากยังหวาดกลัวภัยสงคราม

โดยสิ่งของรับบริจาคส่วนใหญ่ ประกอบไปด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม ยารักษาโรค และของใช้ยามหน้าฝน เช่น ผ้าใบกันฝน ซึ่งถ้าสถานการณ์ยึดเยื้อ พี่น้องที่หลบหนีกลางป่าจะได้มีที่พักพิงหลบฝนได้

ทั้งนี้  จากเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ประชาชน  เด็ก  ผู้หญิงและคนชราต้องทิ้งบ้านเรือนหนีภัยสงคราม แม้ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่บางส่วนไม่กล้ากลับเข้าไปอยู่ตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเดิม ยังคงหลบหนีซ่อนตัวอยู่ตามป่า และ เริ่มไม่มีเสบียง ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายกะเหรี่ยงในประเทศไทยจะดำเนินการขออนุญาตทางหน่วยงานรัฐในการดำเนินการส่งของออกไปช่วยเหลือพี่น้องชาวกะเหรี่ยงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากยังไม่สามารถดำเนินการส่งของไปช่วยเหลือได้ ก็จะรวบรวมไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ หรือ จนกว่า ทางการไทยอนุญาตให้ส่งออกได้เท่านั้น


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา  / ถาวร (อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) 

ชลบุรี – สง่างาม ผบ.กร.เปิดซุ้มประตูนักรบ "ซีล" นสร.กร. อย่างเป็นทางการ

วันที่ 1 เม.ย.64 พล.ร.อ.สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) เป็นประธานในพิธีเปิดซุ้มประตู หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.) ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือฯ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สืบเนื่องจาก เส้นทางเข้า-ออกเดิมของ นสร.กร. ตัดผ่านสนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว ที่มีการฝึกอย่างต่อเนื่อง  และในบางครั้งมีการปิดเส้นทางเข้า-ออกส่งผลให้ข้าราชการของหน่วยต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางผ่านหมู่บ้านช่องแสมสารที่มีความแออัด และมีระยะทางไกลกว่าเดิม ตลอดจนหน่วยได้รับการขยายอัตราเพิ่มอีก 1 กรมรบพิเศษ ข้าราชการของหน่วยเพิ่มขึ้น การผ่านเข้า-ออกเส้นทางเดิมที่เป็นลักษณะทางลงเนินโค้ง ทำให้มีความไม่ปลอดภัย หน่วยจึงได้พิจารณาสร้างเส้นทางเข้า-ออกใหม่ ให้มีความปลอดภัย และสง่างาม

การออกแบบซุ้มประตูใหม่ที่มีความโดดเด่นเป็นลักษณะคล้ายเรือล่องหน ที่มีขีดความสามารถในการเล็ดลอดการตรวจพบ ตรวจจับจากข้าศึก และสามารถทำการแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญในการปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ โดยด้านบนของซุ้มประกอบด้วย ชื่อหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ เหนือชื่อประดับเครื่องหมายความสามารถนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ด้านซ้ายมีธงเครื่องหมายยศ พลเรือตรี ซึ่งเป็นยศของผู้บัญชาการหน่วย และได้พิจารณาสร้างซุ้มประตูอยู่ในบริเวณที่มีเส้นทางเข้า-ออกหน่วยกว้างขวางกว่าเดิม เป็นไปตามแนวความคิดในการออกแบบของ พล.ร.อ.ลือชัย  รุดดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือที่ได้กรุณามอบให้แก่หน่วย

จากลักษณะซุ้มประตูที่โดดเด่น  สง่างาม และทันสมัย สะท้อนความเป็นหน่วยปฏิบัตการพิเศษของกองเรือยุทธการได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อหน่วยอีกด้วย


ภาพ/ข่าว นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

อยุธยา – นาย ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดการใช้ความเร็วรถยนต์สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน - ต่างระดับอ่างทอง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน - ทางต่างระดับอ่างทอง โดยมี นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงฯ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงฯ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารกระทรวงฯ องค์กรปกครองท้องถิ่น และสื่อมวลชนร่วมในพิธี ในวันที่ 1 เมษายน 2564

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้เตรียมการนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นผลสำเร็จเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสูง และได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 สำหรับเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน - ทางต่างระดับอ่างทอง โดยกระทรวงฯ ได้สั่งการและเน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน หรือ Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว

โดยเส้นทางนี้ถือเป็นต้นแบบของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท นอกจากนี้ กรมทางหลวงมีแผนจะประกาศใช้สายทางในระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2564 ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระยะทางประมาณ  260 กิโลเมตร เช่น ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง - สิงห์บุรี ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม - นครสวรรค์ ทางหลวงหมายเลข 2 ตอนบ่อทาง - มอจะบก และทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง - สระพระ เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติมบนทางหลวงสายหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว - อุบลราชธานี ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง - สุพรรณบุรี และทางหลวงหมายเลข 44 กระบี่ - ขนอม อีกประมาณ 1,760 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

 


ภาพ/ข่าว  เดชา  อุ่นขาว

บึงกาฬ - ยกระดับอาหารพื้นถิ่นเสริมทัพรับท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 1 เม.ย.ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย  จังหวัดบึงกาฬ นายวิสูตร ดวงสิมา วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ ได้เปิดโครงการยกระดับอาหารพื้นถิ่นเสริมทัพรับท่องเที่ยวภายใต้ โครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว  กิจกรรมส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ  มีผู้เข้าร่วมการอบรม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 42 คน วิทยากรอบรมให้ความรู้โดยนายสุทธิพงษ์  สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ชั้นนำในวงการศิลปะและอาหารระดับโลก

นายวิสูตร ดวงสิมา วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่าการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้โครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว กิจกรรม ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ ในการจัดอบรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาหารพื้นบ้าน การจัดประดับตกแต่งสำรับอาหารพื้นบ้าน ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบึงกาฬ สามารถเสริมสร้างมูลค่าจากทุนทางวัฒนธรรมด้านอาหาร ยกระดับอาหารพื้นถิ่นเพื่อการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนในโอกาสเทศกาลวันสงกรานต์ใกล้จะมาถึงนี้ และในโอกาสต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนในพื้นจะได้ลิ้มรสความอร่อย ถูกปาก สวยงาม เกิดความประทับใจและกลับมาเที่ยวอีกครั้ง สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ

ด้านนายธนวณิช ชัยชนะ นายกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬมีนโยบายที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดบึงกาฬ ถ้าหากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น แพ็คเกจจิ้งก็ดี การผลิตก็ดี หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาคุณภาพ ทัดเทียมต่างชาติ หรือการถนอมอาหารให้สามรถเก็บไว้ได้นาน เพื่อเป็นของฝากให้นักท่องเที่ยวนำกลับไปได้อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  เกรียงไกร  พรมจันทร์

อุทัยธานี - แก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมการเกษตร อำเภอทัพทัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อลงกต วรกี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  จังหวัดอุทัยธานี พร้อมหน่วยข้าราชการและผู้อำนวยการ  ศูนย์อำนวยการ จิตอาสาพระราชทาน จังหวัดอุทัยธานี ดำเนินการร่วมตรวจประเมินผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2564 ร่วมกับ พันโท ผดุงศักดิ์ ปิ่นเกตุ หัวหน้าชุดประเมินผลภัยแล้งที่ 9​ และคณะ สถานที่ ณ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร  บ้านสวนขวัญ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ บ้านสวนขวัญ หมู่ที่ 13 ตำบลตลุกดู่  อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี 

ทั้งนี้นาง ปรียารัตน์ ลานพลอย ท้องถิ่นอำเภอทัพทัน  นาย สุรศักดิ์ ภักดี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระทุ่ม  และจิตอาสาพระราชทานจังหวัดอุทัยธานี​ รวมทั้งสิ้น 78 คน ดำเนินการร่วมตรวจประเมินผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ พร้อมการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ตำบลตลุกดู่  อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี 


ภาพ/ข่าว  ภาวิณี  ศรีอนันต์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top