Tuesday, 10 December 2024
Region

กองทัพภาคที่ 2 มอบทุนการศึกษา ‘พี่ทหารสานฝัน’ เอนทรานซ์สู่รั้วมหาวิทยาลัย

วันที่ 24 มีนาคม 2564 พ.ท. ชิษณุชา กาญจนอัครเดช ผบ.นฝ.นศท.มทบ.26 เป็นผู้แทนพลโท ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 เดินทางมาเป็นประธาน โครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ มอบทุนการศึกษา จำนวน 40,000 บาท ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีนางสารภี เลไธสง ผู้อำนวยการโรงเรียนนางรองพิทยาคม กล่าวรายงานและให้การต้อนรับ ณ ศูนย์สื่อและเทคโนโลยี โรงเรียนนางรองพิทยาคม อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

กองทัพภาคที่ 2 ได้เล็งเห็นความสำคัญการศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จึงสานต่อโครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ โดยสนับสนุนคอร์สเรียน ‘ภาษาอังกฤษครูนะ ออนไลน์ คอร์ส Entrance’ จำนวน 5 ทุนการศึกษา จำนวน 40,000 บาท เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างมีคุณภาพ และเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองอีกทางหนึ่งด้วย

พ.ท. ชิษณุชา กาญจนอัครเดช กล่าวว่า พิธีมอบทุนโครงการ ‘พี่ทหารสานฝัน’ ในครั้งนี้ ซึ่งมีพลโท ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานโครงการ และ อาจารย์ศักดิ์ครินช์ จงหาญ หรือ ครูนะ เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะทางภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และเป็นส่วนในการสร้างขวัญกำลังใจ ให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ขอชื่นชมผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับทุน ให้รักษามาตรฐานการเรียน การสร้างความดี มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะช่วยเหลือสังคมเมื่อมีโอกาส

ภาพ/ข่าว  สมพุด เกตขจร (ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์)

องค์การจัดการน้ำเสีย เร่งจับมือท้องถิ่น แก้น้ำเสีย เพื่อรักษาสมดุลน้ำในการอุปโภคบริโภค พร้อมประสานทุกความร่วมมือ ดำเนินแนวทาง "น้ำเสีย อยู่คู่ชุมชนได้"

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานขององค์การจัดการน้ำเสีย โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน.พร้อมด้วยคณะกรรมการ นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน.ให้การต้อนรับ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "ปัญหาน้ำเสียเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและต้องดำเนินการให้เป็นกิจจะลักษณะเป็นปัญหามลพิษทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างจริงจัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียขององค์การจัดการน้ำเสียให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์การจัดการน้ำเสียและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.)เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างความตระหนัก ในการช่วยกันลดความสกปรกของน้ำเสียจากแหล่งกำเนิด การมีส่วนร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนว่าต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วยกันถึงจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย พร้อมบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น องค์การจัดการน้ำเสีย ในฐานะหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำเสีย การประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง

ในฐานะหน่วยงานที่ผลิตน้ำประปา บูรณาการความร่วมมือระหว่างกันในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการคุณภาพน้ำอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพเน้นการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการกำกับกิจการที่ดีและตามมาตรฐานสากล ดำเนินงานอย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือต้องเข้าไปประสานงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีความพร้อมดำเนินการเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่มีมากถึง 7 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำมาเป็นนำกลับมาใช้ได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย ดังนั้น จึงถือว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดความคุ้มค่าสูงสุด"

นอกจากนี้ เรื่องบุคลากรถือเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนภารกิจขององค์กร ควรมีการเพิ่มศักยภาพความรู้ความสามารถของบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ประชาชนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต้องทำให้เห็นว่าน้ำเสียสามารถอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประยุกต์ใช้พื้นที่ของระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นสถานที่ที่ประชาชน โดยใช้โรงงานน้ำเสียที่บำบัดอยู่ใต้ดิน ส่วนข้างบนเป็นสวนสาธารณะ หรือสนามฟุตบอลตามที่ท้องถิ่นต้องการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

จับ ‘โลมาปากขวด’ นน. 120 กก.ว่ายน้ำหลง ส่งคืนท้องทะเลหมู่เกาะช้าง

วันนี้ 25 มี.ค.64 ศรชล.จังหวัดตราด ได้รับการประสานจาก ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดตราดว่า ได้รับแจ้งจาก ชาวบ้าน อ.เขาสมิง ว่าพบโลมา ว่ายน้ำวนเวียนอยู่ บริเวณประตูน้ำเขาสมิง ต.ทุ่งนนทรี อ.เขาสมิง จ.ตราด คาดว่าน่าจะว่ายน้ำหลงเข้ามาจากปากแม่น้ำตราด ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ 20 กม.

ทาง ศรชล.จังหวัดตราด ได้มอบหมายให้ ร.ท.ภวัต กิตติโสภา นกบ.ศรชล.จังหวัดตราด และ จ.อ.องอาจ สัมมา จนท.ธุรการ ศรชล.จังหวัดตราด เดินทางไปร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือโลมาฯ ร่วมกับ หน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย จนท.จาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประมงจังหวัด จนท.กู้ภัยในพื้นที่ และอาสาสมัครชาวบ้านในพื้นที่ อ.เขาสมิง พบว่าเป็นโลมา ปากขวด เพศผู้ ยาวประมาณ 2.5 เมตร หนักประมาณ 120 กก. คาดว่าว่ายน้ำหลงเข้ามาจากปากแม่น้ำตราด จึงได้ทำการล้อมจับด้วยอวนไว้

โดยทางแพทย์ ได้ประเมินแล้วว่า โลมา มีสภาพแข็งแรงดี จึงได้ลำเลียงไปที่ ฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด อ.แหลมงอบ เพื่อลงเรือของอุทยานแห่งชาติเกาะช้าง ปล่อยกลับสู่ทะเล บริเวณท้องทะเลหมู่เกาะช้าง ต่อไป

ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปิด รพ.สนามแห่งที่ 7 ชูสมุทรสาคร “นำร่องฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” หลังจากควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้ โดยพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 9 – 15 รายต่อวัน พร้อมปรับรูปแบบให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนฯ

เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกันทำพิธีปิดโรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 7 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย อ.เมือง จ. สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีขนาด 460 เตียง เปิดรับผู้ติดเชื้อตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มกราคม - 19 มีนาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อเข้าใช้บริการทั้งสิ้น 761 คน ซึ่งในพื้นที่ตำบลท่าทรายนี้ นับเป็นพื้นที่พบผู้ติดเชื้อสงสุดของจังหวัดสมุทรสาคร จำนน 9,907 คน คิดเป็นเกือบร้อย ละ 50 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยหลังจากที่ปิดโรงพยาบาลสนามแห่งนี้แล้ว ก็จะปรับให้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้แก่ประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร โดยได้เริ่มดําเนินการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว กว่า 5,000 คน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การเปิดโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร  รองรับสถานการณ์โรคโควิด 19 เป็นอีกเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชาวสมุทรสาครได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ดึงทรัพยากรที่มีอยู่เข้ามาช่วยต่อสู้กับโรคระบาดและแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลในการดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เป็นนวัตกรรมระดับโลกที่สำคัญต่อระบบสาธารณสุขของประเทศในการจัดการกับวิกฤต เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนถึงศักยภาพความเข้มแข็งและความเพียงพอของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับผู้ ติดเชื้อจำนวนมาก โดยได้ตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อถึง 10 แห่ง รวมกว่า 4 พันเตียง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ของโควิด 19 จ.สมุทรสาครมีแนวโน้มดีขึ้น จากมาตรการค้นหาและเฝ้าระวังเชิงรุก มาตรการ Bubble and Sealed ในโรงงานขนาดใหญ่ ที่นำผู้ติดเชื้อไปอยู่ในสถานที่กักกันจนปลอดเชื้อ และการตรวจหาภูมิคุ้มกัน รวมถึงมาตรการ DMHT เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ การคัดกรองอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานที่ต่าง ๆ ทำให้จำกัดการระบาดได้ ประกอบกับการได้รับวัคซีน 2 แสนโดส สำหรับ 1 แสนคน โดยได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในจังหวัดแล้ว 40,715 คน ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 9 - 15 รายต่อวัน จึงได้ทยอยปิดโรงพยาบาลสนาม จนถึงวันนี้นับเป็นแห่งที่ 7 รวม ทั้งหมด 2,227 เตียง ส่วนอีก 3 แห่ง 1,985 เตียง ได้แก่ ศูนย์ห่วงโยคนสาครแห่งที่ 8 หรือโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง (ส่วนนต่อเติมวัฒนาแฟคตอรี่),แห่งที่ 9 (บริษัทวิท วอเตอร์ซิสเต็มดีเวลลอปเม้นท์) และแห่งที่ 10 (ที่ดินของนางเง็กเน้ย ศิริชัยเอกวัฒน์) เพียงพอรองรับเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่ทั้งนี้ “การปิดโรงพยาบาลสนามไม่ได้เป็นการประกาศว่าสถานการณ์โควิด 19 จบสิ้นหรือไม่มีการระบาดแล้ว แต่เป็นการ ส่งสัญญาณว่าต่อไปนี้การระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพราะระบบโรงพยาบาลมีศักยภาพและความพร้อมรองรับผู้ป่วยได้ ซึ่งบทบาทและภารกิจในการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ยังมีอยู่จะถูกส่งต่อให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีศักยภาพในจังหวัดสมุทรสาคร 

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่จังหวัดสมุทรสาคร สามารถแสดงออกถึงศักยภาพด้านการควบคุมโรคด้วยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครที่มีมากที่สุดของประเทศและดีที่สุดของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการของระบบสาธารณสุขแล้วนั้น ขั้นต่อไปก็อยากจะขอเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่ทำงานหรือพักอาศัยอยู่ในจังหวัดนี้ ได้ร่วมกันต่อยอดแสดงถึงความสามัคคีอีกระดับหนึ่ง ด้วยการพร้อมใจกัน “ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ ป้องกันโควิด 19” ที่รัฐบาลจะดำเนินการจัดสรรลงมาให้จังหวัดสมุทรสาครได้รับมากที่สุด และเป็นจังหวัดนำร่องที่มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุดอีกด้วย หากทั้งนี้ประเทศไทยสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้มากกว่าร้อยละ 60 เร็วเท่าไหร่ เราก็จะเปิดประเทศไทยเร็วมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่พี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร จะได้ร่วมกันแสดงออกการถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยการ “ร่วมกันฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มศักยภาพความปลอดภัยให้แก่บุคคลภายนอกอีกด้วย

สำหรับสถานการณ์โควิด19 จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 - วันที่ 24 มีนาคม 2554 พบผู้ติดเชื้อ 17,195 คน จังหวัดได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนจัดหาสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนามที่ไม่มีผลกระทบหรือสร้างความกังวลให้กับประชาชน โดยโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 ใช้สนามกีฬาจังหวัด มี 700 เตียง เปิดใช้งานเมื่อ วันที่ 4 มกราคม 2564 รับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการมาดูอาการ 10 วัน ซึ่งในระหว่างนั้นหากมีอาการจะส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันทีชูชาตแดพยนต์ทีมข่าวสมุทรสาคร

ผู้ว่าฯ นราธิวาส เปิดประตูระบายน้ำ สูบน้ำจากคลองน้ำดำ ป้องกันไฟไหม้ป่า บรรเทาภัยแล้ง และเพิ่มความชุ่มชื้นแก่พื้นที่พรุบาเจาะ

วันนี้ (25 มี.ค. 64) นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่เพื่อเปิดประตูระบายน้ำสูบน้ำจาก “คลองน้ำดำ” ป้องกันไฟไหม้ป่าและบรรเทาภัยแล้ง โดยผันน้ำเข้าสู่ “คลองระบายน้ำพรุบาเจาะสายที่ 4”  โครงการพรุบาเจาะ - ไม้แก่น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 นายอภิวัฒน์ ชนะสงคราม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนราธิวาส ปลัดอำเภอยี่งอ ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน ณ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคลองยะกัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคลองยะกังพร้อมอาคารประกอบ โครงการพรุบาเจาะ - ไม้แก่น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2555 อัตราค่าไฟฟ้าชั่วโมงละ 260 บาท ต่อชั่วโมงต่อเครื่อง สามารถสูบน้ำได้ 1.0 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 3 เครื่อง

สถิติการสูบน้ำปี พ.ศ. 2563 ผันน้ำเข้าพรุบาเจาะ เป็นเวลา 1,977 ชั่วโมง ปริมาณน้ำ 7,117,200 ลูกบาศก์เมตร โดยมีการบริหารจัดการช่วงภัยแล้ง คือ การเปิดเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคลองยะกัง โครงการพรุบาเจาะ - ไม้แก่น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่โครงการพรุบาเจาะ - ไม้แก่น ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตร และเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่พรุบาเจาะ ตามมาตรการป้องกันไฟไหม้ป่าพรุบาเจาะ โดยการสูบน้ำจากคลองยะกังเพิ่มไปยังคลองระบายน้ำพรุบาเจาะสายที่ 2 และคลองระบายน้ำพรุเจาะสายที่ 4 ซึ่งโครงการพรุบาเจาะ - ไม้แก่น มีเนื้อที่ 96,400 ไร่

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสพร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังพื้นที่อนุรักษ์พรุบาเจาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ส่วนกลาง ร้อยละ 20 นิคมสหกรณ์บาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสพระชนมายุ 60 พรรษา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลลุโบะบือซา ตำบลตะปอเยาะ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส / ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส / ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ที่มีความยาวคันเก็บกักน้ำ 15,750 เมตร พื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่

ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดกระโทก (ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน)

เมืองพัทยา ร่วมภาคเอกชน ปลุกกระแสท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ จัดงานเทศกาลว่าวริมชายหาด ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ระหว่าง 9 - 19 เม.ย.นี้

ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยาเป็นประธานประชุมจัดงาน Pattaya Kite on the Beach 2021 พร้อมด้วย นายบุญอนันต์ พัฒนสิน นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก นายขจรเดช อภิชาติตรากู ผอ.ททท.สำนักงานพัทยา ราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการเตรียมความพร้อมและมอบหมายงานให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสถานที่ การจราจร การอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานตลอดการจัดงาน สำหรับจัดงาน Pattaya Kite on the Beach 2021 เป็นความร่วมมือระหว่างเมืองพัทยาร่วมกับสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา  โดยจะจัดขึ้นตั้งแต่บริเวณชายหาดด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัทยาบีชไปจนถึงบริเวณชายหาดแยกพัทยากลาง รวมระยะทางกว่า 300 เมตร ระหว่างวันที่ 9 - 19 เมษายน 2564

ทั้งนี้เพื่อสร้างกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวเมืองพัทยา อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับเมืองพัทยาและจังหวัดชลบุรีในภาพรวม

โดยภายในงานผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับว่าว Bowl Kite ขนาดใหญ่ที่สุดที่ได้รับการรับรองจาก World Records ว่าว รูปปลาวาฬแม่ ขนาด 35 เมตร ใหญ่ที่สุดในประเทศ มาพร้อมกับว่าว ปลาหมึก LED ครั้งแรกในประเทศกับว่าวสะท้อนแสงไฟ LED ว่าวรูปทุเรียน หมี มังกร และว่าวขนาดใหญ่อีกกว่า 30 ตัว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ การจำหน่ายว่าวที่สวยงามหลากหลายรูปแบบ พร้อมทั้งสอนเทคนิคการเล่น และประดิษฐ์ว่าวให้สวยงามตามใจชอบ ตลอด 9 วันของการจัดงาน

ภาพ/ข่าว  อนันต์ สุขวัฒนะ / เอกชัย สุขวัฒนะ (ผู้สื่อข่าวภูมิภาค พัทยา จ.ชลบุรี)

เกษตรอำเภอคลองใหญ่ จัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่” ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ตําบลคลองใหญ่ จัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในทุกอําเภอทั่วประเทศ อําเภอละ 1 จุด พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์เครือข่าย ศูนย์ละ 10 จุด ที่หมู่ที่ 9 ตำบลคลองใหญ่  อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นของ นายฐิติชัย ผลาเกษ เป็นสถานที่เรียนรู้มากมาย

นายผจงศักดิ์ วงษ์สง่า ประมงจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการจัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่” ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่ฤดูกาลผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับพื้นที่ในการวางแผนการผลิต การเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ การลดความเสี่ยงของผลผลิต การเชื่อมโยงเครือข่าย การบริหารจัดการระบบการผลิตตามแนวทางการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ โดยมีนายวีระศักดิ์ คงเปี้ยว ปลัดอําเภอคลองใหญ่ กล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วม พร้อมด้วยนายภูวพงศ์ ระวังชื่อ เกษตรอําเภอคลองใหญ่ กล่าวรายงาน

โดยมีวัตถุประสงค์

1. เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญา ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่

2. เพื่อให้เกิดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ให้เข้าถึงเกษตรกรและนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

3. เพื่อให้บริการและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการผลิตของเกษตรกร

4. เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมงานในวันนี้ ได้แก่ เกษตรกรจากอำเภอจังหวัดตราด และอําเภอคลองใหญ่จำนวน 10 กว่าราย

ดังนั้นในการจัดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day)” ในปี 2564 จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้ตัดสินใจนำเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรในวันนี้ ได้กำหนดให้มีฐานเรียนรู้ไว้ จำนวนกลายฐานเรียนรู้ ได้แก่ ฐานเรียนรู้เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการให้ความรู้  โดยจัดกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วยฐานต่าง ๆ เช่น การผลิตผักปลอดภัย การใช้ธาตุอาหารเสริม เชื้อรามหัศจรรย์ป้องกันโรคพืช สนับสนุนพันธ์ปลา การเลี้ยงชันโรงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ชันโรง การผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน การเลี้ยงกบ การทําบัญชีฟาร์ม และการตรวจสารเคมีในเลือดเป็นต้น จากหน่วยงาน ส่วนราชการต่าง ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชน ที่ได้สนับสนุนในการร่วมจัดนิทรรศการ และเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ ในเขตอำเภอคลองใหญ่และจังหวัดตราดที่นำเกษตรกรเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตามเป้าหมายของวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี (ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด)

ฮือฮาชาวเน็ทแห่แชร์ภาพสาหร่ายก้อน หรือมารีโมะ นำโชคยอดฮิตในกลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่นและไทย ถูกคลื่นซัดเกยชายหาดทะเลบางแสนจำนวนมาก ด้านผู้ประกอบการห่วงยางเผยหาดูยาก 1 ปีมีครั้งเดียว

จากกรณีที่มีเฟสบุ๊คชื่อว่า ชอบจัง บางแสน ได้โพสต์ข้อความว่า “สาหร่ายก้อนกลมเต็มหาดเลย ใช่ มารีโม๊ะ ไหมนะ ใครมาวันนี้จะเจอสาหร่ายกลม ๆ นุ่มนิ่มกลิ้งไปมา

แบบนี้ทั้งหาด มา ๆ มาถ่ายรูปกันได้นะ ” พร้อมรูปภาพของสาหร่ายที่เกยหากบางแสนเต็มพื้นเขียวอร่ามเป็นแนวยาวมีลักษณะกลมสวยเป็นที่แปลกตาจนมีชาวเน็ทแห่แชร์และคอมเม้นเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อ 25 มี.ค.64 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบริเวณริมชายหาดทะเลบางแสนก็ได้พบกับสาหร่ายที่กองเกยหาดจำนวนมากมีนักท่องเที่ยวต่างมาดูและมาถ่ายรูปโพสค์ลงโชเชียลถามถึงความแปลกและมีความคล้ายคลึงกับสาหร่าย มารีโมะ หรือ “ มาริโมะ (Marimo) まりも เป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวที่มีรูปลักษณ์แตกต่างจากสาหร่ายน้ำจืดชนิดเดียวกันที่มีอยู่ในทะเลสาบแห่งอื่นของโลก ที่คนส่วนมากรุ้จักจากการเป็นของฝากขึ้นชื่อจากฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น “มาริ” นั้นมีความหมายว่า “บอล” ส่วน “โมะ”มีความหมายว่า “ พืชจำพวกสาหร่ายหรือมอสส์ ”  ส่วนชื่อในภาษอังกฤษ คือ “Moss ball ” ที่มีลักษณะกลมซึ่งทางกลุ่มคนญี่ปุ่นถือว่าเป็นสาหร่ายนำโชค ด้านความรัก และสุขภาพนำมาเลี้ยงในโหลน้ำใสเพื่อให้มีการเจริญเติบโตอีกทั้งยังเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มวัยรุ่นในประเทศไทยที่ชื่นชอบและเลี้ยงเพาะขายอีกด้วย

ล่าสุดวันนี้ 26 มีนาคม เวลา 08.30 น.ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังหาดทะเลบางแสนก็พบว่ามีน้ำทะเลขึ้นสูงริมทรายหาดทำให้ไม่พบกับสาหร่ายเพราะน้ำได้พัดลงทะเลไปแล้ว จากการสอบถามนายปราโมทย์ ผิวขำ อายุ 38 ปีเจ้าของกิจการเรือกล้วยเล่าว่า จากปรากฎการดังกล่าวสำหรับตนถือว่าปกติที่สาหร่ายมาเกยที่หาดเพราะ 1 ปีจะมี1ครั้งและจะมีเดือน มีนาคม และเมษายน แค่นี้ หลังจากนี้จะไม่มีแล้วเพราะสาหร่ายจะมากับลมคลื่นที่พัดแรงพอน้ำลดจะเห็นสาหร่ายตามภาพแต่วันนี้น้ำขึ้นสูงทำให้พัดสาหร่ายลงทะเลถ้าจะเห็นอีกทีต้องหลังน้ำลด ส่วนสาหร่ายนี้ตนเห็นวันนี้เป็นวันที่ 3 แล้วเพราะถ้าหากฝนตกหนักทำให้น้ำจืดหนุนสูงแล้วไหลลงทะเลสาหร่ายก้อนจะเป็นสาหร่ายน้ำจืดแต่ก็หาได้ดูยากมากบางปีก็ไม่เป็นก้อนกลมสวยแบบนี้บ่อย ตนเห็นก็ดูว่าแปลกดีพอหยิบมากดูพบว่าเป็นใย ๆ เหมือนกำมะหยี่พอแกะดูบางก้อนจะมีปูเฉฉวนน่ารักมากที่อยู่ข้างในส่วนความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ว่าหากนำไปเลี้ยงจะทำให้ ความรักยั่งยืนและมีสุขภาพอแข็งเเรงหลังจากนี้ตนก็คงจะเก็บเอาไปเลี้ยงบ้าง

ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

หมู่เรือฝึกนักเรียนนายเรือ ดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลหาดทรายขาว หลังผ่านฝึกอบรมหลักสูตรการดำน้ำ

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 พลเรือตรี ประวุฒิ รอดมณี เสนาธิการโรงเรียนนายเรือ ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับหมู่เรือฝึกนักเรียนนายเรือ (มฝ.นนร.) ได้นำข้าราชการ และนักเรียนนายเรือ ซึ่งได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร การดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ภายใต้มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทำกิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะใต้ทะเล และชายฝั่ง บริเวณหาดทรายขาว เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ในโอกาสที่หมู่เรือฝึกนักเรียนนายเรือ แวะจอดเรือบริเวณเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด 

ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

จับกุมบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และขยายผลจับกุมเครือข่าย สืบตม.6 และ ตม.จว.นราธิวาส บูรณาการร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เรื่อง การควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ สตม.ดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีหมายจับตำรวจสากล หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือเป็นลักษณะการกระทำผิดเข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม., พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง   รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.สุเมธ เมฆขจร ผบก.ตม.6, พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.ศุภชัชจ์ เปี่ยมมนัส รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.ตม.6 ได้สั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามนโยบาย ผบ.ตร. โดยเคร่งครัด นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการป้องกันปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และร่วมแถลงข่าวจับกุมคดีที่น่าสนใจ ดังนี้

จนท.ชุดสืบสวน กก.สส.บก.ตม.6 และ จนท. ชุดสืบสวน ตม.จว.นราธิวาส ได้บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่ ตั้งจุดตรวจจุดสกัด บริเวณด่านตรวจถาวรโคกมะเฟือง  ม.1 ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จว.นราธิวาส เพื่อสกัดกั้นการก่อเหตุลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา

ได้มีรถยนต์เก๋งยี่ห้อ ฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด สีน้ำตาล หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร ขับมายังบริเวณที่ด่านตรวจฝั่งขาออกจาก อ.ตากใบ ไป อ.เมืองนราธิวาส เจ้าหน้าที่ได้สังเกตเห็นบริเวณที่นั่งตอนหลังของรถยนต์คันดังกล่าว  มีชายผิวดำลักษณะรูปพรรณคล้ายคนอินเดียนั่งอยู่ จึงได้เรียกให้หยุดรถเพื่อขอตรวจสอบ จากการตรวจสอบภายในรถ พบนายอัมรี อายุ 27 ปี  สัญชาติไทย เป็นผู้ขับขี่ นายอาบีดี อายุ 34 ปี สัญชาติไทย นั่งข้างคนขับด้านหน้า และพบบุคคลต่างด้าว จำนวน 4 คน นั่งอยู่ที่นั่งตอนหลังของรถ ทั้งหมดเป็นบุคคลสัญชาติมาเลเซีย ถือหนังสือเดินทางประเทศมาเลเซีย เมื่อตรวจสอบหนังสือเดินทางไม่พบข้อมูลการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแต่อย่างใด ทั้งหมดให้การรับสารภาพว่าได้ลักลอบเข้ามาประเทศไทยทางช่องทางธรรมชาติ ข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก (ไม่ทราบสถานที่แน่ชัด) และได้มาพักรอที่บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ อ.ตากใบ จว.นราธิวาส สอบถามนายอัมรี และนายอาบีดี ให้การว่า  ได้รับการว่าจ้างจากนายวงค์สถิต หรือนายโจ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ จว.ประจวบคีรีขันธ์ ทางโทรศัพท์ ให้ไปรับคนต่างด้าวจากนางซีตีมารือแย หรือ ก๊ะยัง ที่ อ.ตากใบ แล้วให้ไปส่งต่อพื้นที่ อ.หาดใหญ่  จว.สงขลา โดยตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 6,000 บาท จึงได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมด้วยรถยนต์ของกลางนำส่ง พงส.สภ.ตากใบ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย จากการสืบสวน ขยายผลทราบว่าบ้านพักที่คนต่างด้าวสัญชาติมาเลเซีย ได้มาพักรอระหว่างเดินทาง ที่ อ.ตากใบ คือบ้านพักต้องสงสัย  ใน ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จว.นราธิวาส ซึ่งเป็นบ้านของนางซีตีมารือแย

ต่อมา จนท.ชุดสืบสวน กก.สส.บก.ตม.6 และ จนท.ชุดสืบสวน ตม.จว.นราธิวาส ได้บูรณาการกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ. 2547 เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นบ้านพักต้องสงสัยดังกล่าว พบ นายมะยารี  อายุ 46 ปี แสดงตัวเป็นเจ้าบ้านหลังดังกล่าวและเป็นผู้นำตรวจค้น ส่วนนางซีตีมารือแย ได้ออกไปทำธุระนอกบ้านก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเดินทางมาถึง จากการตรวจค้นภายในบ้านพบบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 2 คน ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางแต่อย่างใด รับสารภาพว่าได้ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยทางช่องทางธรรมชาติ ข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก (ไม่ทราบสถานที่แน่ชัด) สอบถามนายมะยารี ให้การว่าภรรยาของตน คือ นางซีตีมารือแย  เป็นผู้พาคนต่างด้าวชาวเมียนมาทั้งสองคนเข้ามาพักที่บ้านเพื่อรอเดินทางกลับประเทศเมียนมา จึงได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คน นำส่ง พงส.สภ.ตากใบ ดำเนินคดีตามกฎหมาย ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.นราธิวาส 30 ได้เชิญตัวนางซีตีมารือแย ไปที่ศูนย์ซักถามกรมทหารพรานที่ 46  ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จว.นราธิวาส และ จนท.ชุดจับกุมได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย

ต่อมา จนท.กก.สส.บก.ตม.6, จนท.ตม.จว.นราธิวาส ร่วมกับ จนท.ตร.สภ.ตากใบ ทำการจับกุมนางซีตีมารือแย หรือก๊ะยัง อายุ 42 ปี สัญชาติไทย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาส ที่ จ 104/2564 ลง 17 มี.ค.64 ในฐานความผิด “ร่วมกันซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นการจับกุม” ได้ที่บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 48 ม.7 ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จว.นราธิวาส ส่ง พงส.สภ.ตากใบ ดำเนินคดีตามกฎหมาย

จนท.ตร.สภ.บางสะพานน้อย จว.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เข้าทำการจับกุมนายวงค์สถิต หรือนายโจ อายุ 36 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาสที่ จ 105/2564 ลง 17 มี.ค.64 ในฐานความผิด “ร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่บุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นการจับกุม” จับกุมได้ที่บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 168/1 ม.1 ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย จว.ประจวบคีรีขันธ์ ควบคุมตัว ส่ง พงส.สภ.ตากใบ ดำเนินคดีตามกฎหมาย

สรุป การดำเนินการเกี่ยวกับเครือข่ายนี้

    1. จับกุมผู้ต้องหาที่เป็นบุคคลต่างด้าว ในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง จำนวน 6 ราย

แยกเป็น สัญชาติมาเลเซีย 4 ราย สัญชาติเมียนมา จำนวน 2 ราย

   2. จับกุมผู้ต้องหาคนไทย จำนวน 5 ราย ในข้อหาช่วยเหลือฯ

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีนโยบายในการป้องกันปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ในทุกรูปแบบ เพื่อสนองนโยบายของของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนคนไทย ห้ามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเหล่านี้ เพราะอาจถูกจับกุมดำเนินคดี และรับโทษตามกฎหมาย หากพบหรือทราบข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โทร.1178 หรือที่ www.immigration.go.th


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top