Friday, 9 May 2025
PoliticsQUIZ

ศาลยังไม่ตัดสินคดีใบแดง ‘มุกดาวรรณ’ แต่ไต่สวนเสร็จแล้ว รอนัดอ่านคำพิพากษา

(29 ม.ค. 68) ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ ‘มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล’ สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้ใบแดง และศาลประทับรับฟ้อง พร้อมกับต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

แต่วันนี้มีข่าวอื้ออึงไปทั่วเมืองนคร ว่า ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการปล่อยข่าวออกมาจากบ้านฝ่ายผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง (ฝ่ายคัดค้าน) ก็นั่งสงบ และข้อเท็จจริง คือศาลยังไม่นัดอ่านคำพิพากษา ยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนพยานฝ่ายค้าน (ผู้ถูกร้อง)

โดยศาลฎีกาออกประกาศนัดไต่สวนพยานคดีใบแดง ‘มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล’ สส.นครศรีฯพรรคภูมิใจไทย ฝั่ง ผู้ร้อง – คัดค้าน รวม  9 ครั้ง  23 ธ.ค. 67  สุดท้าย 29 ม.ค.68

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ศาลฎีกาได้ออกประกาศ แจ้งวันนัดพิจารณา คดีเลือกตั้งหมายเลขที่ ลต สส 5/2567  ระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ผู้ร้อง  นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล  (สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย)  ผู้คัดค้าน เรื่อง ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และเรียกค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง  ศาลฎีกามีคำสั่งให้ไต่สวนพยานผู้ร้อง วันที่ 23 -25 ธ.ค.2567, 20-21 ม.ค.2567, 27 ม.ค.2567  นัดไต่สวนพยานผู้คัดค้าน วันที่ 27-29 ม.ค.2567 รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง (ดูประกาศ)

ก่อนหน้านี้ศาลฎีกามีคำสั่งนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ต่อมา วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ศาลฎีกาออกประกาศเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 17 ก.ย.2567  

สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนางมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา 138 และมาตรา 139 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567 จึงมีผลให้นางมุกดาวรรณ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา  คดีนี้ เป็นกรณีถูกร้องเรื่องการแจกเงินไปลงคะแนนให้ตัวเอง หัวละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 25,000 บาท และเรื่องการแจกเงินให้ไปฟังการปราศรัย

คดีของนางมุกดาวรรณ ถือเป็นคดีแรกที่ กกต.แจกใบแดงให้ สส.จึงเป็นคดีที่สังคมติดตามความคืบหน้ากันมาก อันจะเป็นการพิสูจน์ผลงานของ กกต.ด้วยกับคำร้องค้านผลการเลือกตั้งมากมายถึง 72 เขตเลือกตั้ง

ที่สำคัญถ้าศาลฎีกาให้ใบแดงมุกดาวรรณจริง นอกจากเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้งแล้ว ยังจะต้องชดใช้ค่าจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นเงินหลายล้านบาทแล้ว และในการเลือกตั้งซ่อม ก็จะเป็นสนามที่ต่อสู้กันดุเดือด เข้มข้นแน่นอน เพราะจะเป็นสนามพิสูจน์ฝีมือนักการเมืองระดับหัวทั้งสองสามขั้ว

‘สส. สมบัติ’ จับมือ อปท. - 3 อำเภอแม่ฮ่องสอน เดินหน้าผลักดันแก้ปัญหาขยายถนน ‘สายฮอด-แม่ฮ่องสอน’

(30 ม.ค. 68) ‘สส. สมบัติ’ จับมือ อปท. 3 อำเภอ แม่ฮ่องสอน โซนใต้ แก้ปัญหา ถนน 108 สายฮอด-แม่ฮ่องสอน เพื่อเร่งผลักดันขยายถนน หลังรอแผนพัฒนาเก้อ ย้ำ!! รัฐ อย่าทิ้งชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเมืองยวมใต้ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสมบัติ ยะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดแม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 3 อำเภอโซนใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอสบเมย เพื่อหารือและสนับสนุนโครงการพัฒนาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ช่วงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายสมบัติ กล่าวในที่ประชุมว่า “ในฐานะ สส. ตนยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนและผลักดันโครงการพัฒนาถนนสาย 108 นี้ โดยเฉพาะการขยายไหล่ทางเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรของพี่น้องประชาชนแม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนตัวผมเองใช้เส้นทางนี้เดินทางเข้า-ออกพื้นที่ เพื่อมาพบปะประชาชนทุกสัปดาห์  จึงเข้าใจปัญหาและอุปสรรคของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ตนจะนำปัญหาดังกล่าว เข้าหารือต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนจะเขียนกระทู้ สอบถามไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้า  ให้เร่งพัฒนาอย่างจริงจัง” 

นายสมบัติฯกล่าวต่อว่า….สำหรับโครงการพัฒนาถนนสาย 108 หากทางหน่วยงานในพื้นที่หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อม ตนยินดีที่จะประสานงานเพื่อผลักดันติดตามโครงการอย่างเต็มที่ โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่าง อปท. และผู้แทนราษฎร เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความปลอดภัย และเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายสมบัติฯกล่าว…

ด้านนายวิชา  ประเสริฐศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เหาะ เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เหาะได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาสนับสนุนโครงการพัฒนาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ช่วงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทางรวมประมาณ 264.9 กิโลเมตร เพื่อสร้างศักยภาพมาตรฐานและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุในการคมนาคมของประชาชน เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 เป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนทั้ง 2 จังหวัดต้องใช้ร่วมกัน ทั้งในด้านการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าทางการเกษตร รวมถึงประโยชน์ทางกายภาพและความปลอดภัยในชีวิต การรักษาพยาบาลของประชาชนที่ต้องส่งไปรักษายังโรงพยาบาลที่จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติจะร้องทุกข์โครงการพัฒนาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ช่วงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งไปยังอำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอสบเมย และส่งเรื่องไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อนำเข้าแผนพัฒนาจังหวัด โดยนายสมบัติ  ยะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม่ฮ่องสอน เขต 2 จะมีการติดตามเพื่อนำเรื่องเข้าสู่สภา ให้เกิดการเดินหน้าและการพัฒนาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ต่อไป

‘ทักษิณ’ เซ็ง ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ เยอะ ทำงานได้ช้า ลั่น เลือกตั้งครั้งหน้า เอาพรรคอื่นน้อย ๆ ขอเพื่อไทยเยอะๆ มี รมต.พรรคเดียวกัน งานเร็ว พูดรู้เรื่อง ไม่มีเลศนัย ไร้เล่ห์เหลี่ยม

(30 ม.ค.) ที่จ.ลำพูน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ช่วยนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ ผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน ในนามพรรคเพื่อไทย หาเสียง โดยนายทักษิณ ปราศรัยตอนหนึ่งว่า วันนี้เห็นลำพูนเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน ดูแล้วมีคนอยู่สองกลุ่มคือกลุ่มค้าขายกับกลุ่มเกษตรกรรม แม่บ้าน เราจะต้องทำให้ลำพูนเป็นเมืองแฝดกับเชียงใหม่ เพราะหากประชาสัมพันธ์ร่วมกันในเรื่องของวัฒนธรรมด้วยกันได้เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น

นายทักษิณ กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาคือบ้านเราไม่ค่อยมีเงินใช้ แต่ปีนี้รัฐบาลจะสร้างโอกาสหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนให้มีรายได้ที่ดีขึ้นและปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มากที่สุด การบริหารประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องให้รัฐบาลกลางได้เชื่อมกับท้องถิ่นให้ได้ ไม่เช่นนั้นงบประมาณจะลงไม่ถึงประชาชน มาที่นี่ก็อยากขอให้นายอนุสรณ์เป็นนายก อบจ.ลำพูน อีกครั้ง ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ

“เลือกตั้งครั้งหน้าก็ขอให้เลือกเพื่อไทยให้หมด เพราะคราวที่แล้วได้น้อยไปหน่อย มีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ ทำงานได้ แต่ช้า คราวหน้าให้มีพรรคร่วมน้อยๆ เอาเพื่อไทยเยอะๆ รับรองว่าทำงานแล้วจะรวยเหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย พรรคมันใหญ่ ทำงานได้เร็ว เพราะรัฐมนตรีทุกคนอยู่สังกัดพรรคเดียวกันหมด พูดรู้เรื่อง ไม่มีเลศนัย ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมมาก พูดตรงไปตรงมามันง่ายดี คราวหน้ามั่นใจเพื่อไทยจะมาที่หนึ่ง 200กว่าเสียง“ นายทักษิณ กล่าว

‘ทนายเชาว์’ แฉเงินสะพัด ‘ร่อนพิบูลย์’ หัวละ 500 บาท แบ่งสายเดินแจกเงินโจ๋งครึ่ม อย่างไม่เกรงกฎหมายบ้านเมือง

'เชาว์' แฉเงินสะพัด 'ร่อนพิบูลย์' แบ่งสายเดินแจกเงินโจ๋งครึ่ม สงสัย กกต.หายไปไหน ปลุกคนคอนกำจัดวงจรอุบาทว์ รับเงินไม่กา สกัดกาฝากดูดเลือด ปชช.

(31 ม.ค.68) นายเชาว์ มีขวด ทนายความ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง โค้งสุดท้าย 'ร่อนพิบูลย์' เมืองคอน เงินสะพัดแจกหัวละ 500! มีเนื้อหาระบุว่า 

ขณะนี้ผมทราบว่ามีขบวนการทุจริตการเลือกตั้ง สจ. เขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอร่อนพิบูลย์ มีการล่ารายชื่อประชาชนมาหลายวันแล้ว ทำกันโจ่งแจ้ง ใช้หัวคะแนนซึ่งเป็นผู้นำท้องที่ผู้นำชุมชน วันนี้เริ่มแบ่งสายเดินแจกเงินชาวบ้านคนละ 500 บาท โดยไม่เกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง

ผมไม่ทราบว่า กกต. ซึ่งมีหน้าที่จับทุจริตเลือกตั้ง หายหัวไปไหนกันหมด เพราะมีการกระทำกันอย่างโจ่งแจ้ง แต่พวกท่านใส่เกียร์ว่าง หรือ พวกท่านรู้เห็นเป็นใจ เพราะผมทราบมาว่ามีนักการเมืองระดับชาติเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการซื้อเสียง

เป็นเรื่องที่เลวร้ายมากที่เกิดขึ้นกับอำเภอร่อนพิบูลย์ เห็นประชาชนเป็นผักเป็นปลาตีค่าแค่คนละ 500 บาท เพื่อเป็นบันไดเข้าสู่อำนาจ แล้วถอนทุนโกงกินงบประมาณภาษีของพี่น้องประชาชน คือวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ทำให้ภาพพจน์ของอำเภอร่อนพิบูลย์เสียหาย ถ้าทำสำเร็จ ต่อไปอำเภอร่อนพิบูลย์อาจจะถูกเรียกอำเภอร่อนพิบูลย์ 500 

“เรื่องนี้ผมจึงรับไม่ได้และขอเรียกร้องไปที่พี่น้องประชาชนที่รับเงินจากนักการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียง อย่าไปกาคะแนนให้ เพราะถ้าการคะแนนให้ เท่ากับ สนับสนุนให้เขาเข้าไปโกง เป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไม่รู้จักจบสิ้น อยากได้ตัวแทนประชาชน สุดท้ายอาจได้แค่กาฝากเข้าไปดูดเลือดชาวบ้านกลายเป็นห่วงโซ่แห่งความชั่วร้าย ฉุดรั้งไม่ให้บ้านเกิดของเราพัฒนา ทุกท่านสามารถกำจัดวงจรอุบาทว์ได้ด้วยการไม่เลือกคนที่ทุจริตเลือกตั้ง”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิฯ UN เรียกร้องไทยยกเลิกมาตรา 112 อ้างทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวในการแสดงออกทางการเมือง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิฯ จาก UN เรียกร้องไทย ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิฯ สากล ลั่น‘กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ต้องไม่มีที่ยืนในประเทศประชาธิปไตย’

เมื่อวันที่ (29 ม.ค. 68) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่ข่าวกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติ ประกอบด้วย ผู้รายงานพิเศษด้านต่าง ๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตั้งขึ้น แสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ยังคงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง จนไปสู่การคุมขังนักกิจกรรม และผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิก หรือทบทวนประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน

“ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ บุคคลต้องมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ รวมถึงพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันสาธารณะ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์”

“กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยมีทั้งโทษที่รุนแรง และกำกวม ส่งผลให้ศาลและเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจตีความผิดได้อย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การคุมขัง ดำเนินคดี และลงโทษ จำนวนกว่า 270 คนตั้งแต่ปี 2563 หลายรายได้รับโทษคุมขังติดต่อกันหลายคดี” ผู้เชี่ยวชาญระบุ

สำหรับมาตรา 112 ระบุว่าผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถูกวิจารณ์จากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายครั้ง เนื่องจากขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล 

“เราพบบ่อยครั้งว่า การคุมขังภายใต้กฎหมาย 112 ต่อบุคคลใดก็ตามที่ออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออก ถือเป็นการกระทำโดยพลการ” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวย้ำ

ย้อนไปเมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญา ตัดสินให้อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกมีความผิดในมาตรา 112 และมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) จากการปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมประท้วงเมื่อ ส.ค. 2563 ศาลพิเคราะห์ว่า อานนท์ กล่าวหาพระมหากษัตริย์ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม และให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี

นี่เป็นคดี 112 ของอานนท์ คดีที่ 6 ที่ศาลมีคำตัดสินลงโทษจำคุก ปัจจุบัน อานนท์ มีโทษจำคุกสูงสุดกว่า 18 ปี และยังมีคดี 112 ที่รอมีคำตัดสินอีก 8 คดี

คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UNWGAD) เคยให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า การคุมขังอานนท์ นำภา ถือเป็นการคุมขังโดยพลการ และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายคน ยังคงแสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีอาญากับอานนท์ นำภา และคนอื่นๆ ในประเทศไทย 

“กฎหมายหมิ่นประมาทต้องไม่มีพื้นที่ในประเทศประชาธิปไตย” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว

“การบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง เพื่อลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมาชิกของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรมทางสังคม นักข่าว และบุคคลทั่วไปที่ออกมาแสดงออกอย่างสันติ ทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัวในการแสดงออกทางการเมือง”

"รัฐบาลไทยต้องทำให้ประมวลกฎหมายอาญาสอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติ และเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน" ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและการคุมขังภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยทันที

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกไว้ว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (30 ม.ค.) มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 277 คน จากจำนวน 309 คดี

ขณะที่แกนนำนักกิจกรรมการเมืองถูกดำเนินคดี เป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้ 

‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมการเมือง 25 คดี
อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 14 คดี
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมการเมือง 10 คดี
ภาณุพงศ์ จาดนอก นักกิจกรรมการเมือง 9 คดี
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมการเมือง 9 คดี
เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมการเมือง 8 คดี
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมการเมือง 6 คดี
พรหมศร วีระธรรมจารี นักกิจกรรมการเมือง 6 คดี
ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, มงคล ถิระโคตร 4 คดี

ขณะที่ข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า ปัจจุบัน (30 ม.ค.) มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งคดีเด็ดขาด และที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี จำนวนอย่างน้อย 42 คน เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 28 คน 

‘สุพิศ’ ปราศรัยทิ้งทวนชิงเก้าอี้ นายกอบจ. สงขลา ลั่น ดันหาดใหญ่ศูนย์กลาง ศก.ภาคใต้ - เร่งสร้างรายได้ให้ชาวสงขลา

สงขลา – ‘สุพิศ’ ปราศรัยเวทีสุดท้ายทิ้งทวนประกาศกร้าวดันหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ดึงนักท่องเที่ยวมาเลเซียเพิ่มเม็ดเงินสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวสงขลาจัดเทศกาลท่องเที่ยวทุกอำเภอ หากชาวสงขลาเชื่อมั่นจะทำให้เห็นภายใน 4 ปีแน่นอน

เมื่อวันที่ (30 ม.ค.68) ที่สี่แยกสะพานดำ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ทีมสงขลาพลังใหม่ พร้อม นายสมพร ใช้บางยาง ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ นายอับดลรอหมาน กาเหย็มและทีมบริหาร ผู้สมัครสมาชิก อบจ.ทีมสงขลาพลังใหม่  ขณะที่มวลชนนับหมื่นหลั่งไหลมาให้กำลังใจเวทีสุดท้ายของการเลือกตั้งในครั้งนี้ 

โดยนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม กล่าวบางช่วงบนเวทีว่า วันนี้ตนมีความตั้งใจมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมาสร้างเมืองสงขลาอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเฉพาะพื้นที่หาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของภาคใต้ก็ว่าได้ วันนี้เราอยากดึงนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสงขลาโดยเฉพาะพื้นที่อำเภอหาดใหญ่เพื่อกระจายเม็ดเงินให้ทั่วทุกพื้นที่สร้างรายได้ให้ภาคธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ขับเคลื่อนเรื่องการจัดงานเทศกาลเฟสติวัลตลอดทั้งปี ดึงนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดเข้าสงขลาให้มากที่สุด และการส่งเสริมการลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชน นอกจากนี้เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการขยะ ลดมลพิษอากาศ นำสายไฟฟ้าลงดิน

นอกจากนี้นายสุพิศ  พิทักษ์ธรรม ยังกล่าวเปิดใจบนเวทีอีกว่า วันนี้ตนเองลาออกจากอธิบดีกรมฝนหลวงการบินเกษตรเพื่อมาลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ก็เพื่ออยากใช้ความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาตลอดช่วงที่ผ่านมาเพื่อทำประโยชน์ให้กับสงขลาบ้านเกิดจริง ๆ ไม่เคยมีอะไรแอบแฝงขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นในตัวผม 

ขณะที่ในวันที่ 31 ม.ค. จะเป็นวันหาเสียงวันสุดท้ายเหล่าบรรดาผู้สมัครจากทั้ง 9 ทีมก็จะมีกำหนดการขึ้นรถแห่เพื่อเชิญชวนประชาชนชาวสงขลาออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้ได้มากที่สุด….

‘เจือ ราชสีห์’ เผย ปี 69 ‘กรมทางหลวงชนบท’ เตรียมตั้งงบฯ ศึกษาความเป็นไปได้สร้างสะพานเชื่อมเมืองสขลา - สงหนคร

(3 ก.พ. 68) คืบหน้า…ปีหน้าทางหลวงชนบทตั้งงบศึกษาความเป็นไปได้สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค) อดีต สส.สงขลา ผู้ผลักดันเต็มที่ และต่อเนื่องให้มีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา บริเวณหัวเขาแดง เพื่อเชื่อม อ.สิงหนครกับ อ.เมือง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบทว่า ได้ข้อสรุป กรมทางหลวงชนบท จะตั้งงบประมาณ ปี 69 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อเชื่อม อ.เมืองสงขลา กับ อ.สิงหนคร จ.สงขลา และมีความน่าจะเป็นการสร้างในรูปแบบ ‘สะพานเปิดปิด’ ซึ่งจะรองรับการข้ามผ่านของเรือและยังสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่ได้สะดวก 

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ที่สัญจรไปมาระหว่าง อ.สิงหนคร และอำเภออื่นๆ เพื่อเข้าไปยังตัวเมืองสงขลา มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ข้ามด้วยแพขนานยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งมีแพอยู่ 4 ลำ มีท่าเทียบแพฝั่งละสองท่า ในช่วงเช้าๆ การจราจรจะหนาแน่น บางครั้งรถติดยาวเป็นกิโล เพราะมีทั้งคนเดินทางไปทำงาน และนักเรียนเข้ามาเรียนหนังสือ นายเจือจึงเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบ หรือจะสร้างเป็นอุโมงค์ก็ได้

อีกทางเลือกหนึ่งคือ อ้อมไปขึ้นสะพานติณสูลานนท์ ผ่านเกาะยอ แล้วอ้อมสี่แยกเกาะยอมาเข้าเมือง เส้นทางสายนี้ก็สะดวก แต่อ้อมไกลไปประมาณ 20 กิโลเมตร

สมัยนายไพเจน มากสุวรรณ์ เป็นนายกฯอบจ.สงขลา ก็พยายามแก้ปัญหาความคับคั่งของรถข้ามแพ ด้วยการเพิ่มจำนวนแพขนานยนต์ และเพิ่มท่าเทียบแพ ก็พอจะบรรเทาการจราจรไปได้บ้าง

นายไพเจนเคยให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีถ้าจะมีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพราะการให้บริการแพขนานยนต์ ก็เป็นการให้บริการที่ขาดทุนอยู่แล้ว แต่ถือว่าเป็นภารกิจในการให้บริการสาธารณะ จึงต้องตั้งงบสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงการให้บริการมาโดยตลอด เช่นล่าสุดการติดตั้งระบบแพขนานยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น

ประเทศไทย...ยังคงห่างไกลจากความเป็น ‘รัฐล้มเหลว’ ชี้ การเมือง – เศรษฐกิจ – สังคม ยังมั่นคงแข็งแรง

(3 ก.พ. 68) เร็ว ๆ นี้มีบทความเศรษฐกิจของสื่อแห่งหนึ่งได้ตั้งประเด็นว่า “ประเทศไทยใกล้จะเป็น Failed State ?” โดยมีการหยิบยกเอาเกณฑ์หรือตัววัดความเป็นรัฐล้มเหลว 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) การเมือง (2) เศรษฐกิจ และ (3) สังคม แล้ว ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์เช่นที่ว่า “จริงหรือไม่”

นิยามความหมายของ ‘รัฐล้มเหลว’ คือ ประเทศที่สูญเสียการควบคุมตนเอง อันเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความไม่สงบทางการเมือง และไม่มีการปกครอง ทั้งนี้ “รัฐล้มเหลว” ไม่ใช่คำศัพท์อย่างเป็นทางการที่ใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ได้หมายความว่า “รัฐบาลที่มีสภาพดังกล่าวได้ล่มสลายโดยสมบูรณ์”

อย่างไรก็ตาม คำว่า "รัฐล้มเหลว" บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า “รัฐนั้นกำลังเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นคงอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงที่จะปกครองไม่ได้เลย” ซึ่งในบางกรณีมีการใช้คำว่า “รัฐเปราะบาง” โดยทั่วไป คำว่า “รัฐล้มเหลว” หมายความถึง “รัฐชาติที่มีอำนาจอธิปไตย แต่สูญเสียความสามารถหลักสองประการ ได้แก่ ความสามารถในการรักษาอำนาจเหนือประชาชนและดินแดนของตนเอง และความสามารถในการปกป้องพรมแดนของประเทศตนเอง”

ในหลาย ๆ กรณีที่รัฐบาลของ “รัฐล้มเหลว” สูญเสียความสามารถในการให้บริการสาธารณะพื้นฐาน บังคับใช้กฎหมาย หรือปกป้องพลเมืองจากความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก กรณีร้ายแรงของ “รัฐล้มเหลว” อาจประสบกับสงครามกลางเมือง ความอดอยาก หรือการอพยพประชาชนจำนวนมาก โดย “รัฐที่ล้มเหลว” มักตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเครือข่ายอาชญากร องค์กรก่อการร้าย และมหาอำนาจระหว่างประเทศ ซึ่งใช้ประโยชน์จากความไม่มั่นคงของรัฐเหล่านี้

มีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายประการของรัฐที่ล้มเหลว ตั้งแต่ความไม่มั่นคงทางการเมือง ไปจนถึงการละเลยทางเศรษฐกิจและการขาดการปกครอง สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดบางประการของรัฐที่ล้มเหลว ได้แก่ :

1. ความไม่มั่นคงทางการเมือง : การขาดรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจปกครองที่มีประสิทธิภาพอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมืองและความวุ่นวาย ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นได้จากการทุจริต การบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม หรือความขัดแย้งภายใน

2. การบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด : รัฐที่ล้มเหลวมักมีประวัติการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและการละเลย ส่งผลให้เกิดความยากจน การว่างงาน และปัญหาอื่น ๆ

3. ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม : การเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา และสุขภาพที่ไม่เท่าเทียมกันกระทั่งสร้างความแตกแยกอย่างมากมายขึ้นภายในประเทศ และนำไปสู่ความขัดแย้งจนเกิดความไม่สงบขึ้น

4. ความขัดแย้งในภูมิภาค : สงคราม การก่อความไม่สงบ และความขัดแย้งอื่น ๆ ระหว่างรัฐหรือกลุ่มต่างๆ สามารถทำให้ภูมิภาคไม่มั่นคงและนำไปสู่รัฐที่ล้มเหลว เกิดสงครามกลางเมืองที่ร้ายแรงมาก จนกระทั่งสามารถทำลายรัฐบาลและโครงสร้างทางสังคมของประเทศได้

5. การแทรกแซงจากต่างประเทศ : บางครั้งรัฐที่ล้มเหลวอาจเป็นผลจากการแทรกแซงจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งอาจรวมถึงการแทรกแซงทางทหาร การคว่ำบาตร และการแทรกแซงทางการเมืองภายในประเทศในรูปแบบอื่น ๆ

6. แรงกดดันจากต่างประเทศ : การแทรกแซงจากต่างประเทศในวงกว้าง เช่น การคว่ำบาตรทางการค้าหรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ อาจทำให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจและนำไปสู่ความไม่มั่นคงในประเทศ

7. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ประเทศที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากในการดำรงชีพอาจมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง

ทั้งนี้ ด้วยเกณฑ์หรือตัววัดที่บทความ “ประเทศไทยใกล้จะเป็น Failed State ?” ได้หยิบยกมานั้น แม้จะเป็นไปตามสาเหตุข้อ 1 -3 ของการนำไปสู่ความเป็น “รัฐล้มเหลว” ก็ตาม แต่ก็สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยนั้น ยังคงห่างไกลจากความเป็น “รัฐล้มเหลว” อย่างมากมาย สิ่งที่เห็นเป็นเรื่องแรกคือ “การพ้นจากตำแหน่งของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30” ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 จากกรณีทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่นายพิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 

สำหรับการตรวจสอบและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนั้น ยังคงมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ แต่คดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าในอดีตมาก ทั้งหลายคดียังเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กรนอกประเทศอีกด้วย การดำเนินการจึงเป็นไปด้วยความล่าช้า แต่ไม่ใช่ว่า ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย สำหรับ สาเหตุจากการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดนั้น ที่สุดแล้วหลังจากความจริงปรากฎจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ดังเช่น “กรณีการรับจำนำข้าว ซึ่งแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี และอดีตข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องต้องถูกตัดสินจำคุก” สำหรับสาเหตุจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมนั้น เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับบริบททางสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ไทยเราเป็นประเทศแรก ๆ ของทวีปเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีระบบดูแลสุขภาพที่ดีติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แต่การกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างชัดเจน แล้วอ้างความชอบธรรมว่าเป็นสิทธิเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง และตลอด 93 ปีในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้น รัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ไม่ครบเทอม และด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ที่ประพฤติหรือมีพฤติการณ์ทุจริตและประพฤติมิชอบนั้นจะอยู่ในตำแหน่งได้ยาก เพราะในที่สุดแล้วจะต้องถูกตรวจสอบและดำเนินคดีตามโทษานุโทษที่ได้ก่อกรรมทำขี้น

ส่องปรากฎการณ์ ‘โนโหวต – บัตรเสีย’ พุ่ง สะท้อนอารมณ์ประชาชนสั่งสอนนักการเมือง

(4 ก.พ. 68) น่าสนใจศึกษา และถอดรหัสยิ่ง สำหรับปรากฏการณ์ทางการเมืองในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กับปรากฏการณ์บัตรเสีย และบัตรโนโหวต-โหวตโนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

อ.เมืองตรังเขต 2 ถึงขั้นต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ส.อบจ.16 มีนาคมนี้ หลังเกิดปรากฏการณ์ประชาชนสอนนักการเมืองจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ชนะอันดับ 1 ได้ 2,000 กว่าคะแนน แต่แพ้คะแนนโหวตโนที่พุ่งไปเกือบ 3,000 กว่าคะแนน จน กกต.จังหวัดต้องเรียกประชุมด่วน เพื่อเปิดรับสมัคร และจัดการเลือกตั้งใหม่

กกต.ตรังกำหนดแล้ว เปิดรับสมัครใหม่ และเลือกตั้งใหม่ 16 มีนาคมนี้ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นปรากฏการณ์อารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง ที่น่าจะเกิดจากความไม่พอใจต่อตัวผู้สมัคร ทั้งในส่วนของฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภาประชาชนจึงต้องสั่งสอนนักการเมือง ผ่านการโหวตโน โนโหวต หรือบัตรเสีย เราจึงพบว่า การเลือกตั้งนายกฯอบจ.คราวนี้มีบัตรเสียจำนวนมากผิดปกติ

ขอยกเป็นตัวอย่างจังหวัดที่บัตรเสียจำนวนมาก

ในส่วนของการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัดมียอดของจำนวนบัตรเสีย กับบัตรไม่เลือกผู้สมัครคนใด หรือ บัตรโหวตโน สูงหลักหมื่นถึงหลักแสนจำนวนมาก อาทิ

จ.นครราชสีมาผู้มาใช้สิทธิ 1,155,142 คน บัตรดี 972,902 ใบ บัตรเสีย 71,306 ใบ (6.17%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 110,934 ใบ (9.60%)

จ.มหาสารคาม ผู้มาใช้สิทธิ 453,567 คน บัตรดี 408,108 ใบ บัตรเสีย 29,007 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 16,452 ใบ

จ.เชียงใหม่ ผู้มาใช้สิทธิ 877,640 คน บัตรดี 778,227 ใบ บัตรเสีย 41,798 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 57,625ใบ

จ.เชียงราย ผู้มาใช้สิทธิ 605,780 คน บัตรดี 525,928 ใบ บัตรเสีย 36,446 ใบ (6.02%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 43,406 ใบ (7.17%)

จ.ยะลา ผู้มาใช้สิทธิ 224,707 คน บัตรดี 176,840 ใบ บัตรเสีย 18,533 ใบ (8.25%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 29,334 ใบ (13.05%)

จ.สงขลาผู้มาใช้สิทธิ 687,944 คน บัตรดี 572,496 ใบบัตรเสีย 28,593 ใบ (4.16%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 86,855 ใบ (12.63%)

จ.สมุทรปราการ ผู้มาใช้สิทธิ 569,659 คน บัตรดี 547,604 ใบ บัตรเสีย 22,055 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 42,142 ใบ

จ.นนทบุรี ผู้มาใช้สิทธิ์ 432,613 คน บัตรดี 382 ,782 ใบ บัตรเสีย 12,268 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 37,562 ใบ (8.68%)

จ.สุพรรณบุรี ผู้มาใช้สิทธิ 393,849 ใบ บัตรดี 353,460 ใบ บัตรเสีย 16,274 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 24,113 ใบ

จ.กำแพงเพชร ผู้มาใช้สิทธิ 272,278 คน บัตรดี 236,084 ใบ บัตรเสีย 14,712 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 21,482 ใบ

จ.ลำพูน ผู้มาใช้สิทธิ 242,381 คน บัตรดี 212,777 ใบ บัตรเสียจำนวน 15,131 ใบ (6.2 4%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 14,473 ใบ (5.97%)

บัตรเสียน่าจะเกิดขึ้นทั้งจากความผิดพลาดในการกาช่องลงคะแนน และเจตนาให้เป็นบัตรเสีย ส่วนการโนโหวต หรือโหวตโนก็ตามเป็นเจตนาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ต้องการสะท้อนความรู้สึกของประชาชน อันเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งว่าอารมณ์ของคนที่สะท้อนออกมาเช่นนี้เกิดจากอะไร

จากการประมวลความคิดเห็นของนักวิชาการ และวงกาแฟพอจะสรุปได้ใน 4-5 ประเด็น

ประการแรก ประชาชนไม่พอใจต่อการที่ “บ้านใหญ่” เข้าไปจัดการในการคัดสรรบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนายกฯอบจ.และ ส.อบจ.ที่ประชาชนรับรู้ได้จากสื่อที่หลากหลาย และความรวดเร็วของสื่อโซเชียล ซึ่งบางคนไม่ได้มีคุณสมบัติอะไร แต่บ้านใหญ่ชี้ตัวลงมาก็ต้องเอาตามนั้น บางคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์เพียบ แต่ถูกบีบให้หลุดวงโคจรก็มีไม่น้อย

ประการที่สอง คือประชาชนไม่พอใจต่อพรรคการเมือง และนักการเมืองระดับชาติที่เข้าไปจุ้นจ้านชี้นำประชาชน ทำให้ประชาชนขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเองตามหลักการกระจายอำนาจ องค์กรท้องถิ่นต้องมีอิสระปลอดจากการครอบงำ หรือชี้นำของการเมืองสนามใหม่

ประการที่สาม ประชาชนไม่พอใจต่อตัวผู้สมัครเอง ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวเองไปสังกัดซุ้มการเมืองต่างๆ การมีประวัติที่ไม่ใสสะอาด บางคนมีเรื่องร้องเรียนเรื่องทุจริตคอร์รัปชน มั่วสุมในวงการพนัน ได้รับโอกาสจากประชาชนแล้ว แต่กลับไม่มีผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ประการที่สี่ ประชาชนเรียนรู้มากขึ้นผ่านสื่อต่างๆมากมาย สืบค้นได้ด้วยตัวเอง เมื่อประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้แล้ว วิธีการที่ประชาชนทำได้คือการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งนั้นเอง

ประการที่ห้า ปรากฏการณ์การใช้เงินจำนวนมากของผู้สมัครนายกฯอบจ.บางคน ที่มีข่าวสะพัดกับการจัดการหัวละ 500 หัวละ 1000 เมื่ออเทียบกับเงินเดือน ค่าตอบแทนของผู้บริหารแค่หลักแสน ปีละล้านกว่าบาท สี่ปีก็แค่ไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่กลับทุ่ม 200-300 ล้านเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่การถอนทุนในอนาคตบนตำแหน่งบริหาร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะได้นั่งลงถอดรหัส และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถี หมายรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติด้วยในการคิดแก้กฎหมาย เช่น การแก้ปิดทางนักการเมืองใหญ่เข้าไปบงการ สั่งการ จัดการกับการเมืองท้องถิ่น รวมถึงจะแก้เรื่องฝ่ายบริหารลาออกก่อนหมดวาระอย่างไม่จำเป็น ทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และต้องใช้งบประมาณซ้ำสองครั้ง

ปรากฏการณ์บัตรเสีย โนโหวต เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนว่า ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์สั่งสอนนักเมืองแล้ว เหลือแค่นักการเมืองจะสำนึกหรือไม่

‘โด่ง อรรถชัย’ เข้าใจเสื้อแดงศรีสะเกษ ร่ำไห้ถูกคนเพื่อไทย ด้อยค่า รับเจอกับตัวแล้วอึ้งเลย โดยเฉพาะเอานกหวีด - สลิ่ม มามีตำแหน่ง

(4 ก.พ. 68) นายอรรถชัย อนันตเมฆ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง ได้โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นกรณี แกนนำคนเสื้อแดงศรีสะเกษแถลงข่าวถูกคนในเพื่อไทยด้อยค่า ไม่ให้เกียรติ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอพูดตรงๆ ในฐานะคนเสื้อแดง
ผมเองก็พบเจอ.. เรื่องแบบที่แกนนำศรีสะเกษพูด..ว่า ไม่ให้เกียรติคนเสื้อแดง..??
กลับจากต่างประเทศ เข้าพรรควันแรกได้ยินคนในพรรคสอนว่า “อย่าแดงมาก”
ไม่เชื่อหู นึกว่าเข้าพรรคผิด..??
ผมไม่สนใจ.. เดินหน้าแดงต่อไป..

ในการเลือกตั้ง ปี’66 จน จบภาระกิจ
จนถึงเลือกตั้งซ่อม พิษณุโลก..
จนเลือก นายก อบจ.ครั้งนี้ ..??
จะไปช่วยหาเสียง เดินทางไปเอง แท้ๆ ยังไม่มี ที่ยืนแม้แต่ “ถ่ายรูป ” …..??

“ไม่เกี่ยวกับ คุณทักษิณนะครับ”
คุณทักษิณ ไปไหนยังถามหาพี่น้องเราเสมอ..ไม่เคยลืม..ยังจำพี่น้องเราได้แม้ แต่แกนนำ เล็กๆ
แต่คือ “คนในพรรค” วันนี้
คนของพรรคชุดนี้ทำอะไร ไม่เคยคิดถึงใจคนเสื้อแดง เป็นมุ้งเป็นเหล่า เอาแต่พวกอุดมการณ์คืออะไร ไม่ชัดเจน
เสื้อแดงไม่ต้องการอะไร แค่ให้เกียรติกันบ้าง เท่านั้นยังไม่มี
.
ที่บอกไม่มีอุดมการณ์ไม่ใช่ใส่ความ แต่ได้ยินกับหู ช่วงส้มกำลังตึง คนในพรรคบอก
“ไม่เอาแดง” อย่าแดงมาก...??
ตรงข้ามมักได้ยินคำนิยมส้ม จากคนในพรรค อยู่เนืองๆ
ทั้งที่ คือ คนของพรรคเพื่อไทย

รวมทั้งการเอาฝ่ายตรงข้ามมา มีบทบาทในพรรค นอกพรรค…ทั้งที่คนเหล่านั้น คือ นกหวีด สลิ่ม
ไม่ต้องมาให้ตำแหน่ง อะไรกับคนเสื้อแดง แต่เอาฝ่ายตรงข้าม มามีตำแหน่ง นี่

ผมยังอึ้ง…
คนในพรรคเปลี่ยนไปได้ขนาดนั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top