Monday, 29 April 2024
PoliticsQUIZ

‘ดร.หิมาลัย’ วอนหยุดด้อยค่า ส.ว. โหวตนายกฯ ชี้ เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง

ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่คนจำนวนมากออกมาระบุว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า การที่ สว.มีอำนาจในการพิจารณาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นสิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชน จากการทำประชามติมากกว่า 15 ล้านเสียง 

นั่นเท่ากับว่าคนส่วนใหญ่ เห็นชอบที่จะให้ สว.มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น จึงอยากจะวอนพี่น้องประชาชน ที่ไม่พอใจคนที่ตนเองเชียร์อยู่ไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี หยุดด้อยค่า หรือ ออกมาโจมตี สว.ที่ท่านทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และอำนาจที่ประชาชนให้มาก

ขณะเดียวกัน การจะอ้างคะแนนเสียง 14 ล้านเสียงที่ชนะการเลือกตั้ง แล้วระบุว่าตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะต้องได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้เป็นรัฐบาลนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะระบอบประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และฮิลลารี คลินตัน 

ในครั้งนั้น ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ฮิลลารี คลินตัน ได้รับคะแนนเสียงมหาชน (Popular Vote) มากกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ แต่กลับไม่ได้เป็นประธานาธิบดี เพราะทรัมป์ ได้รับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote) จำนวนมากว่านั่นเอง เพราะฉะนั้น ในระบบของสหรัฐอเมริกา แม้จะได้คะแนนเสียงจากมหาชน ก็ไม่ได้การันตีว่า คนๆนั้นจะได้เป็นประธานาธิบดีเสมอไป ในขณะที่ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบฝรั่งเศสนั้น จะยึดเอาคะแนนเสียงจากประชาชนโดยตรง 

“ระบบการเลือกตั้งของทั้ง 2 ประเทศ ที่มักอ้างว่าเป็นประเทศผู้นำด้านระบอบประชาธิปไตยของโลก ยังมีความแตกต่างอย่างชัดเจน และไม่อาจตัดสินได้ว่าประเทศใดมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน เพราะถ้ายึดเอาคะแนนโหวตของประชาชนเป็นตัวตัดสิน นั่นเท่ากับว่า สหรัฐฯ เป็นเผด็จการ เพราะไม่ทำตามมติเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ฝรั่งเศส เป็นประชาธิปไตยเช่นนั้นหรือไม่”

ดร.หิมาลัย กล่าวย้ำว่า ประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการออกแบบให้เข้ากับประเทศนั้น ๆ ประเทศไทยจะใกล้เคียงกับ อังกฤษ และเยอรมัน ที่เป็นระบบรัฐสภา พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากสุด ยังไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องไปรวมเสียงให้ได้จำนวนเสียงข้างมากในสภาให้ได้ก่อน และจะเห็นว่า นายกรัฐมนตรีของประเทศเหล่านี้ หลายครั้งไม่ได้มาจากพรรคที่ได้ป๊อปปูลาร์โหวต

สำหรับประเทศไทย ในรัฐธรรมนูญได้เพิ่มอำนาจ สว. ในการพิจารณาเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั่นเพราะเจตนารมณ์ต้องการให้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อมาเป็นผู้นำประเทศ

ส่วนกรณีที่ สว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบให้ ‘นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ในการโหวตเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ดร.หิมาลัย ให้ความเห็นว่า สว.ส่วนใหญ่ ท่านมีความกังวล ในเรื่องที่พรรคก้าวไกล มีแนวคิดที่จะแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ และเมื่อพิจารณาจากร่างข้อเสนอที่พรรคก้าวไกล เคยยื่นมานั้น หากพิจารณาให้ดี จะเห็นว่า ข้อแก้ไขที่ว่านั้น เท่ากับการยกเลิกก็ว่าได้ เพราะเสนอให้ลดโทษคนที่หมิ่นสถาบัน เหลือโทษเท่ากับหมิ่นประมาทคนทั่วไปเท่านั้น อีกทั้งยังให้องค์ประมุขแห่งรัฐลงมาร้องทุกข์กล่าวโทษเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม 

“เหตุผลหลักที่สว.ท่านไม่ยกมือให้คุณพิธา เพราะมีความกังวลเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 หากพรรคก้าวไกล จะยึดร่างเดิมที่เคยยื่นมาก่อนหน้านี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ก่อนหน้านี้มีการท้วงติง แต่ทางพรรคก็ยังยืนยันที่จะแก้ไขตามร่างดังกล่าว ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ ทำให้ สว.ท่านกังวล และโหวตไม่เห็นชอบ เพราะอย่าลืมว่า สถาบันกษัตริย์นั้นอยู่คู่ประเทศไทยมาช้านานกว่า 700 ปี พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ หลายพระองค์ได้ออกรบ ใช้เลือดเนื้อและชีวิต ปกปักรักษาผืนแผ่นดินไทยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่มาถึงปัจจุบันกลับมีนักการเมืองบางกลุ่มด้อยค่าสถาบันฯ เช่นนี้แล้ว เชื่อว่า ทั้ง สว.และคนที่มีความจงรักภักดี คงจะไม่ยอมอย่างแน่นอน”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top