Tuesday, 21 May 2024
Isan

ขอนแก่น - รมช.ศธ.เปิดนิทรรศการ "KKC Smart Education 2021" ตอกย้ำมาตรฐานการศึกษาของไทย! ในยุคโควิด-19 ทั้งออนไลน์ - ออนไซค์ต้องได้มาตรฐาน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 20 ต.ค.2564 ที่ ห้องประชุมแก่นเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดนิทรรศการ "KKC Smart Education 2021: เพราะการศึกษาต้อง Move on" ซึ่งกระทวงศึกษาธิการ และสำนักงานศึกษาธิการ จ.ขอนแก่น ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมี นายสุภัทร จำปากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ,นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผจ.ขอนแก่น ,นายศุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง เข้าร่วมงานกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางมาตราการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ มีความพร้อม ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยกำหนดจุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้และใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการจัดการองค์ความรู้และยกระดับทักษะที่จำเป็นที่เน้นพัฒนาความรู้และสมรรถนะ ด้าน Digital  Literacy และเน้นหนักในเรื่องของการศึกษาแบบยกกำลัง 2 ในการพัฒนาครูให้มีความรู้ สมรรถนะและทักษะ

"ขณะเดียวกันในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา โดยพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และระบบบริหารจัดการห้องเรียน Smart School และ Smart Classroom ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีแนวโน้มการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 7 เมือง ของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี สู่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบหรือ Smart City ได้อย่างชัดเจนและลงตัวที่สุด"

 

นครราชสีมา - “นิพนธ์” กำชับ! บริหารจัดการน้ำเขื่อนลำตะคองให้เหมาะสม ลดผลกระทบพื้นที่เศรษฐกิจโคราช และเก็บกักน้ำเพื่อใช้อุปโภค-น้ำการเกษตร มั่นใจปีหน้ามีน้ำใช้เพียงพอ!!

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่เขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันยังคง มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 316 ล้าน ลบ.ม. หรือ 103 % ของพื้นที่ความจุยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 50 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดการณ์ในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค นี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคองและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่อำเภอพิมายที่เป็นจุดรับน้ำหลายสาย และไหลต่อไปยังอำเภอชุมพวง อำเภอลำทะเมนชัย

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "ได้กำชับให้กรม ปภ. จังหวัดนครราชสีมา ผอ.ชลประทานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะชุมชนเขตเศรษฐกิจตัวเมืองโคราช ร้านค้า ที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล ศาสนสถาน โบราณสถานต่างๆของอำเภอพิมาย อำเภอชุมพวง ฯลฯให้เร่งขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง เพื่อลดผลกระทบจากการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนลำตะคองในวันพรุ่งนี้ 25 ต.ค. ซึ่งได้สั่งการให้ปภ.เป็นผู้ประสานงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในพื้นที่ และเคลื่อนย้ายเครื่องสูบน้ำระยะไกล เครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงให้มีความพร้อมปฏิบัติงานตามแผนเผชิญเหตุฯ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ในการเพิ่มการระบายน้ำในวันพรุ่งนี้ พี่น้องประชาชนจะได้รับผลกระทบมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าฯ ฝ่ายปกครองได้ประสานท้องถิ่นในการแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทางให้ทุกครัวเรือนทราบถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ การเฝ้าระวังสถานการณ์พายุลูกใหม่และเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอพิมาย ที่น้ำแต่ละสาขาจะไหลไปรวมกัน กระทบต่อโรงพยาบาล โบราณสถาน เป็นต้นก็เร่งได้ให้เตรียมการป้องกันแล้ว"

 

กาฬสินธุ์ - ชาวนาสุดช้ำ!! ขายข้าวเปลือก ก.ก.ละ 5 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป

ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์สุดช้ำ ราคาตลาดรับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำ โดยข้าวเปลือกเหนียวเพียงกิโลกรัมละ  5-6 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก แถมค่าจ้างรถเกี่ยวสูงไร่ละ 600-800 บาท ไม่มีเงินชำระหนี้ค่าปุ๋ย ค่าแรง และหนี้ ธกส.อนาคตอาจเลิกปลูกข้าว ปล่อยที่นาทิ้ง พอได้เลี้ยงปลากินประทังชีวิต ด้านผู้จัดกลางตลาดกลางข้าวกาฬสินธุ์เผย ช่วงนี้เป็นราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรัง ขณะที่ข้าวนาปีจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน แต่คาดว่าราคาลดลงจากปีที่ผ่านมาอีกตันละ 1,000 บาท สาเหตุจากสถานการณ์โควิด-19

จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวและขายผลผลิตข้าว ของชาวนาที่ จ.กาฬสินธุ์ในช่วงนี้ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม โดยเฉพาะพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว เพราะได้รับน้ำอย่างทั่วถึง จึงได้ทำนาต้นปี โดยมีการเพาะปลูกข้าวอายุสั้น หรือคือข้าวเหนียว กข.22 เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง และแบ่งไปจำหน่าย ซึ่งได้อายุเก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกับข้าวเจ้าหอมมะลิพันธุ์ กข.15 ที่ชาวนาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำการเพาะปลูก ขณะที่ข้าวนาปีที่ใช้ข้าวพันธุ์ กข.6 จะเริ่มเก็บเกี่ยวกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวต่างนำผลผลิตจำหน่ายตามลานรับซื้อทั่วไป บรรยากาศเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะที่ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ แต่ก็มีเสียงโอดครวญจากชาวนาว่า ราคารับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำ ซึ่งยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลและนายทุน เพิ่มราคารับซื้อให้ชาวนาด้วย เพราะรายได้จากการขายข้าว โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียว กก.ละ 5 บาทถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซากทุกปี

นายไพบูลย์ ภูเต้าทอง อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 151 ชาวนาบ้านโนนศิลาอาสน์ หมู่ 9 ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้ตนนำข้าวมะลิ กข. 15 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวดอ ที่เกี่ยวสดมาขาย ได้ราคา ก.ก.ละ 8.10 บาท หรือตันละ 8,100 บาท ได้เงินหมื่นกว่าบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่าปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 600 บาท และค่าขนส่งแล้ว สรุปว่าขาดทุน อยากให้รัฐบาลช่วยปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงกว่านี้ด้วย เพราะหากรับซื้อราคาเท่านี้ ชาวนาไม่วันลืมตาอ้าปากได้แน่ หากรับซื้อที่ราคา ก.ก.ละ 10 บาทขึ้นไป ก็ยังจะมีทุนสู้ต่อไป

ด้านนายบัณฑิต ภูบุตรตะ อายุ อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 391 หมู่ 4 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งนำข้าวเปลือกเหนียว กข. 22 ไปขาย ได้ราคา กก.ละ 5.50 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป หักรายจ่ายแล้วช้ำใจ เพราะไม่เหลือจ่ายค่าปุ๋ยเคมีเลย ไม่มีเงินไปใช้หนี้ ธกส.ถึงแม้ผลผลิตข้าวจะได้ไร่ละ 400 ก.ก. แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีและค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 800 บาท จึงไม่เหลือติดไม้ติดมือเลย อย่างไรก็ตามก็ยังหวังว่าราคาขายข้าวนาปี หรือข้าวเหนียว กข. 6 ราคาจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า กก.ละ 7-9 บาท ซึ่งก็จะทำให้พอมีกำไรและมีเงินทุนทำนาต่อไป แต่หากราคายังอยู่ที่ ก.ก.ละ 5-6 บาท ชาวนาขาดทุนหนัก หากเป็นอย่างนั้น เห็นทีปีต่อไปตนคงเลิกทำนา จะทิ้งให้นาร้าง ปล่อยน้ำ ปล่อยปลา พอได้เป็นอาหารกินประทังชีวิตไป เพราะหากทำนา ก็คงขาดทุนอีก

 

สุรินทร์ - ผบ.มทบ.25 นำกำลังพล จัดกิจกรรมจิตอาสาปลูกปอเทือง เนื่องใน ‘วันดินโลก 5 ธันวาคม 2564’

ณ บริเวณพื้นที่แปลงนา โครงการทหารพันธุ์ดี มณฑลทหารบกที่ 25 พลตรีสาธิต เกิดโภค ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พันเอกสงคราม โชคชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน นายสุดเขต เขียวอุไร  ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม KI GROUP บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด และ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด พร้อมด้วยกำลังพล นายทหาร นายสิบ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และประชาชนจิตอาสา ในพื้นที่ชุมชนรอบค่ายวีรวัฒน์โยธิน ได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมจิตอาสาปลูกปอเทือง เนื่องในวันดินโลก 5 ธันวาคม ประจำปี 2564

กาฬสินธุ์ - เริ่มหนาว! ฝึกเข้มกู้ชีพกู้ภัยรับมืออุบัติเหตุ ในช่วงฤดูหนาวและเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่จะถึงนี้

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน EMR 40 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลกร กู้ชีพ กู้ภัย ให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเป็นการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุในช่วงฤดูหนาวและเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่จะถึงนี้

ที่หอประชุมธรรมาภิบาล เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ดร.สม นาสอ้าน รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดอบรมพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน EMR 40 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลกร ทั้งภาครัฐ เอกชน ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือทีมกู้ชีพ กู้ภัย ประจำโรงพยาบาลอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสมาคมและมูลนิธิ โดยมีนายจารุวัฒน์  บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์ นายแพทย์จารุพล ตวงศิริทรัพย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ แพทย์หญิงฐิตาภรณ์ นาสอ้าน นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลกมลาไสย ตัวแทนบริษัท เซนต์เมด จำกัด ( มหาชน )  ทีมวิทยากร โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อสุขภาพจิตและยาเสพติดร่วมงาน ทั้งนี้มีบุคลากรกู้ชีพ กู้ภัย จากเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และเอกชน จำนวน 55 คน เข้ารับการอบรม

ดร.สม นาสอ้าน  รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่าบุคลากรในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือทีมกู้ชีพ กู้ภัย ถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบสาธารณภัย เช่น อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่าง ๆ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ที่ต้องมีความพร้อมทั้งศักยภาพทางกาย ทางจิตใจ ทักษะความรู้ และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ เพื่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำส่งสถานพยาบาลอย่างถูกวิธี ผู้ประสบเหตุได้รับความปลอดภัยสูงสุด ดังนั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรกลุ่มดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน EMR 40 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลกร ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัยอย่างถูกต้อง

ขอนแก่น - กำนัน - ผู้ใหญ่ เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่า ให้ดำเนินการกลุ่มบุคคล 'เหยียดชาวอีสาน' ให้ถึงที่สุด!!

ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้รับหนังสือจากนายฉัตรชัย โลหะมาตย์ กำนันตำบลหนองกุง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัด พร้อมด้วยตัวแทนชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกอำเภอของจังหวัดขอนแก่น เกี่ยวกับกลุ่มบุคลที่เหยียดชาวอีสานในโชเชียลกลุ่มคลับเฮ้าส์ TOXIC ตนเองในนามตัวแทนชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดขอนแก่น ได้มีการพูดคุยหารือกันเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นการปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของพี่น้องชาวภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด เราจะได้ยื่นหนังสือเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ถึงจุดประสงค์ และมีความต้องว่าอยากให้กลุ่มบุคคลที่พูดพาดพิงให้คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่าไม่สมควร ซึ่งเราจะอยู่กันแบบพี่แบบน้อง เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกันไม่อยากให้สร้างความแตกแยก ให้มีความรักสามัคคีกัน และอยากทราบข้อเท็จจริงของกลุ่มนี้ต้องการสิ่งใด

โดยหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ท่านได้กำชับให้ทำความเข้าใจและชี้แจงให้ทราบว่าเป็นเพียงกลุ่มบุคคล ที่คอยสร้างความแตกแยก ซึ่งอย่าให้พี่น้องประชาชนอย่าได้สั่นคลอนกับเรื่องดังกล่าว แต่อย่างใดก็ตามทางชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดขอนแก่น หลังจากได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่า

ในการออกมาครั้งนี้เป็นเพียงบางส่วน แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดจึงได้มีเพียงตัวแทน ซึ่งทางพวกเราเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวออกมารับผิดดชอบคำพูดของตนเองที่ทำการหมิ่น ด้อยค่าของคนอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเหยียดด่าถึงบุพการี และบรรพบุรุษ ทางเรานั้นรับไม่ได้ และอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยดำเนินการอย่างหนึ่งย่างใดให้ถึงที่สุด

 

 

กาฬสินธุ์ - กู๊ดไอเดีย!! เปิดตัว “ตู้ผู้ว่าฯ ห่วงใยอัจฉริยะ” ผ่าน APP Line เพื่อแจ้งเบาะแสยาเสพติด

จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดยุทธการฟ้าแดดสงยาง ระดมกวาดล้างยาเสพติดจังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2565 พร้อมพัฒนา “ตู้ผู้ว่าฯ ห่วงใจอัจฉริยะ” ผ่าน Line  เข้าถึงง่าย ใช้ง่าย เพื่อรับแจ้งเบาะแสยาเสพติด การเข้ารับการบำบัดยาเสพติด คาดหวังจะช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชน

เมื่อเวลา 05.30 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่บริเวณหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานปล่อยแถวชุดปฏิบัติการ ตามยุทธการฟ้าแดดสงยาง ระดมกวาดล้างยาเสพติดจังหวัดกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ 2565 เพื่อมุ่งสู่ชุมชนมั่นคง สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชน โดยมีนายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมปล่อยแถว

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การปล่อยแถวชุดปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ พร้อมกันทั้งจังหวัด รวม 86 จุดเป้าหมาย โดยกำหนดดำเนินการทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาไปพร้อมกัน นอกจากนี้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จ.กาฬสินธุ์ (ศอ.ปส.จ.กส.) ยังได้เปิดปฏิบัติการระดมกวาดล้าง ปิดล้อมตรวจค้น โดยนำเทคโนโลยีการสื่อสาร App Line มาพัฒนาเป็น “ตู้ผู้ว่าฯ ห่วงใยอัจฉริยะ” ในการรับข้อมูลข่าวสารจากประชาชนเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแสยาเสพติด ขอเข้ารับการบำบัด และการรายงานต่าง ๆ อีกด้วย

 

กาฬสินธุ์ - เตือนลมหนาวพัดแรง ไฟไหม้ทุ่งนา ค่าฝุ่นละออง 2.5 เพิ่ม!!

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์หนาวจัด ลมหนาวทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเหตุไฟไหม้ โดยเฉพาะบริเวณทุ่งนาบ่อยครั้ง ขณะที่นายอำเภอยางตลาด เตือนประชาชน เฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัย และไฟไหม้ทุ่งนา ทำค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สูงขึ้น เป็นสาเหตุเกิดมลภาวะเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แนะชาวบ้านเร่งเก็บรักษาฟางหลังเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อป้องกันเหตุและสำรองเป็นอาหารสัตว์ในฤดูแล้ง

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ พบว่าอุณหภูมิยังคงต่ำ มีลมหนาวกระโชกแรงตลอดวัน ส่งผลกระทบต่อสุขของประชาชน ในกลุ่มเด็ก คนชราและผู้ที่มีโรคประจำตัว ขณะเดียวกันยังพบว่า เกิดเหตุไฟไหม้ทุ่งนาบ่อยครั้ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสุขภาพอนามัยประชาชน รวมทั้งหมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้ ยังบดบังทัศนวิสัยในการใช้รถใช้ถนน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ด้านนายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฤดูหนาวที่สภาพอากาศแห้งแล้งและมีลมแรง เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดอัคคีภัยได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณทุ่งนา ซึ่งมีฟางแห้งเป็นเชื้อไฟอย่างดี จึงมักจะเกิดเหตุไฟไหม้ทุ่งนาเป็นประจำ ประกอบกับมีลมพัดแรง จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ลามทุ่งอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ทางอำเภอได้แจ้งเตือนไปยังกำนัน ใหญ่บ้าน ประชาชน ร่วมกันเฝ้าระมัดระวังเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชน ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สูงขึ้นอีกด้วย

นายสันติกล่าวอีกว่า ในส่วนของประชาชนที่ประกอบอาชีพทำนา หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ควรที่จะรีบจัดการจัดเก็บฟางไว้ในที่ปลอดภัยให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ และเก็บไว้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงในฤดูแล้ง นอกจากนี้ ผลดีของการเก็บฟางแห้งหรืออัดก้อน ยังได้ประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น จำหน่ายก้อนละ 25 บาท หรือนำไปประดับอาคาร สถานที่ เป็นจุดเช็คอินที่สวยงาม หรือไม่อย่างนั้นก็รีบทำการไถกลบ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายเป็นปุ๋ยชีวภาพ ที่จะช่วยบำรุงดิน ลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมี ในการทำนาครั้งต่อไปได้เป็นอย่างดี

สุรินทร์ - สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 10 แห่ง ก่อนเปิดงาน “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์" ครั้งที่ 61 เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 07.09 น. นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาด รองผู้ว่าราชการจังหวัด คณะหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสุรินทร์ก่อนเปิดงาน "มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์"  

โดยเริ่มจากไหว้พระพุทธจอมสุรินทร์ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ จากนั้นไหว้สักการะหลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) พระคู่บ้านคู่เมือง ณ วัดบูรพาราม (พระอารามหลวง) และเดินทางสักการะศาลหลักเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จากวาง องค์อินทร์ ณ สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สนามแสดงช้าง ศาลพระภูมิ ณ สนามกีฬาศรีณรงค์ องค์อินทร์ ณ โรงเรียนสุรวิทยาคาร สุดท้ายที่พระพรหมและศาลปู่ย่า หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์หลังใหม่

เพื่อให้การจัดงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้จัดงานและผู้มาร่วมชมงานนี้ จากที่จังหวัดสุรินทร์ได้กำหนดจัดงาน “มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์” ประจำปี 2564 ปีนี้เป็นปีที่ 61 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 15 - 26 ธันวาคม 2564 ณ สนามกีฬาศรีณรงค์ และสนามแสดงช้าง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองอันดีงาม และอนุรักษ์การแสดงช้างซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติไทยให้คงอยู่สืบไป โดยช่วงเย็นวันที่ 15 ธันวาคม 2564 มีพิธีเปิดงานมหัศจรรย์ขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเวลาประมาณ 17.00 น.

กาฬสินธุ์ - สองสามีภรรยาเกษตรกร ต้นแบบเลี้ยงโคขุน - ทอผ้าขาย สร้างรายได้ตลอดปี!!

สองสามีภรรยาเกษตรกรต้นแบบชาวอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทิ้งอาชีพทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง หันมาทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ เลี้ยงง่าย รายได้ดี และสบายกว่าทำการเกษตรที่ต้นทุนสูงราคาขายผลผลิตไม่แน่นอน ทั้งยังมีเวลาว่างรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านทอผ้าไหมแท้เป็นสไบแพรลายตาคู่  ซึ่งเป็นลายประจำตำบล จำหน่ายสร้างรายได้ตลอดปี

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน ที่มีพื้นที่ทำกินนอกเขตใช้น้ำชลประทานในช่วงฤดูแล้ง หลังเก็บเกี่ยวผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลังเสร็จสิ้น ซึ่งพบว่าส่วนมากว่างงาน เนื่องจากขาดแหล่งน้ำทำการเพาะปลูกพืชประจำฤดู เป็นสาเหตุของการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่ ปล่อยผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน และทำอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ พอมีรายได้และอาหารจุนเจือครอบครัว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง มีครอบครัว 2 สามีภรรยา ชาวบ้านโพนสวาง หมู่ 4 ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้หันหลังให้กับอาชีพการเกษตร ทั้งทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง โดยได้เปลี่ยนอาชีพใหม่ คือการทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ ทั้งบรามันห์ ชาโรเลส์และแองกัส ใช้เวลาเพียง 3 ปีประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ระดับอำเภอ ทั้งยังมีเวลาว่างปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมจำหน่าย สร้างรายได้ตลอดปี โดยในแต่ละวันจะมี “นายฮ้อย” และผู้ประกอบการค้าขายโค รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานจากต่างถิ่น แวะเวียนมาติดต่อและสอบถามอย่างต่อเนื่อง

นายประเสริฐ นครชัย อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 4 บ้านโพนสวาง กล่าวว่า เดิมครอบครัวตนทำนา 9 ไร่ ปลูกอ้อย 10 ไร่ และปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ ระยะหลังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากปุ๋ยแพง ค่าแรงสูง บางปีฝนทิ้งช่วง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มทุน ทำมากี่ปี ๆ ก็ย่ำอยู่กับที่ เมื่อปี 2561 จึงคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความชอบของตนเอง คือการเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากเนื้อโคเป็นที่นิยมของผู้บริโภคตลอดปี และราคาซื้อขายเริ่มขยับสูงขึ้น เริ่มแรกตัดสินใจหาซื้อแม่โคลูกผสม สายพันธุ์บราห์มันที่กำลังตั้งท้องมา 5 ตัว เพื่อประหยัดเวลาในการเลี้ยงและเห็นผลผลิตเร็ว

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เมื่อแม่โคทั้ง 5 ตัวออกลูกมา ก็ได้จำนวนโคในคอกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตัว ก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ มีโอกาสก็หาซื้อแม่โคที่กำลังตั้งท้องเพิ่มเข้ามา จำนวนโคก็ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็กลายเป็นฟาร์มโคย่อมๆขึ้นมาเพียงเวลาไม่นาน ทั้งนี้เมื่อลูกโคโตขึ้นได้ขนาดและน้ำหนักพอขาย ก็จะขายเพศผู้ออกไป เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อโคเพศเมียเข้ามา เพิ่ม โดยจะเลี้ยงและรักษาโคตัวเมียเพื่อขยายพันธุ์ในฟาร์ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากจะเลี้ยงหรือขุนโคสายพันธุ์บรามันห์แล้ว ยังนำสายพันธุ์ชาโรเลส์ และแองกัส ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไปมาเลี้ยงด้วย

“การเลี้ยงโคขุนของตนทำง่าย ๆ โดยขังอยู่ในคอกและอยู่ในบริเวณจำกัด ไม่ได้ปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง อาหารมีทั้งหญ้าสด ฟาง และอาหารเสริม ซึ่งมีกินพอเพียงตลอดปี เนื่องจากเปลี่ยนพื้นที่ทำนา 9 ไร่ เป็นนาหญ้า 8 ไร่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ 1 ไร่ เพื่อหล่อเลี้ยงนาหญ้า ขณะที่พื้นที่ที่เคยปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง รวม 20 ไร่ ให้เพื่อนบ้านเช่าทำกิน จึงมีเวลาดูแลโคขุนในฟาร์มอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบการรับซื้อโคขุน โดยขายทั้งตัวราคาซื้อขายทุกสายพันธุ์ราคาเดียวกัน คือกิโลกรัมละ 100 บาท โดยโคอายุ 2 ปี น้ำหนักตัวละประมาณ 400-500 กิโลกรัมเริ่มจำหน่าย ซึ่งจะได้ราคาตัวละ 40,000-50,000 บาท” นายประเสริฐกล่าว

ด้านนางเกสร ฆารไสย อายุ 52 ปี ภรรยานายประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนอาชีพจากการทำเกษตรมาเลี้ยงโคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมองเห็นอนาคตการเลี้ยงโคขุนจะมีอนาคตดีกว่าทำนา ปลุกอ้อยและมันสำปะหลัง จึงได้ร่วมกับเพื่อนบ้านที่ต้องการเลี้ยงโค ไปขอคำปรึกษากับทางปศุสัตว์ อ.สหัสขันธ์ และ ธ.ก.ส.สาขาสหัสขันธ์ จากนั้นเข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพ เพื่อขอสินเชื่อเป็นทุนจัดซื้อแม่โคมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุน จำหน่ายหมุนเวียนเรื่อยมา ทำให้มีรายได้ใช้หนี้และจัดซื้อแม่โคเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันมีโคในฟาร์ม 40 ตัว

นางเกสรกล่าวต่อว่า การเลี้ยงโคขุนเลี้ยงง่าย ไม่ต้องปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง ไม่ยากลำบาก ไม่เหนื่อย เหมือนทำการเกษตร เพียงแต่ไปตัดหญ้าที่นาหญ้า และซื้อฟางข้าวอัดก้อนมาตุนไว้ให้โคกิน ถึงเวลาก็ให้อาหารเสริมเท่านั้น จึงมีเวลาว่างเยอะ ทำให้มีโอกาสที่จะทำอาชีพอื่นเสริมมากขึ้น ซึ่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเราทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายอยู่แล้ว เพียงแต่หาเวลาทำไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น หลังจากเลิกทำนา เลิกปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง จึงมีเวลาที่จะสานต่ออาชีพทอผ้าอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนของทางอำเภอสหัสขันธ์ และพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้รวมกลุ่มแม่บ้านตั้งกลุ่มปลูกหม่อนไหมเหลืองบ้านโพนสวาง มีสมาชิกกลุ่ม 16 คน กิจกรรมกลุ่มมีปลูกหม่อน เลี้ยงไหม รวมทั้งทุกกระบวนการทั้งสาวไหม เข็นไหม ทอผ้า ตัดเย็บและแปรรูป

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top