Tuesday, 21 May 2024
Isan

ชัยภูมิ – ผู้ว่าฯสั่งจับตา เตือนประชาชนทุกพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดไปจนถึง 11 ก.ย. นี้ หลังฝนเริ่มตกหนักต่อเนื่องแล้วหลายพื้นที่ บริเวณลำชีน้ำเริ่มหนุนสูง รวมทั้งเขื่อนลำปะทาวใกล้เต็มเริ่มปล่อยระบายน้ำออกนอกเขื่อนแล้ว!

( 8 ก.ย.64 ) ขณะที่ จ.ชัยภูมิ นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ( ผวจ.ชัยภูมิ) ประกาศแจ้งเตือนประชาชน พร้อมสั่งแจ้งผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้านในพื้นที่เสี่ยงใกล้เชิงเขา อยู่ใกล้ริมตลิ่งลำน้ำชี และเขื่อนปล่อยน้ำไหลผ่าน  ให้เตรียมความพร้อมช่วยกันเฝ้าระวังในช่วงระหว่าง 7- 11 ก.ย.64 นี้ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และ จ.ชัยภูมิ จะเกิดฝนตกหนักฟ้าคะนอง เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ทุกพื้นที่

ซึ่งหลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่มาต่อเนื่องตั้งแต่วานนี้ (7 ก.ย.64)ที่ผ่านมา ซึ่ง จ.ชัยภูมิ เป็นจังหวัดเป็นแหล่งจุดต้นกำเนิดแม่น้ำชี ที่จะไหลผ่านไปเกือบทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ล่าสุดเริ่มทำให้มีน้ำป่าไหลหลากลงสู่ลำแม่น้ำชีเริ่มหนุนสูงใกล้ล้นตลิ่งอีกไม่ถึง 1 เมตร แล้วหลายพื้นที่ผ่านลงมาจาก อ.หนองบัวแดง,อ.หนองบัวระเหว,อ.บ้านเขว้า,อ.จัตุรัส และผ่านมาเชื่อมในเขต อ.เมืองชัยภูมิ บางส่วนในเขตตำบลบ้านค่ายและตำบลบุงคล้า ติดรอยต่อเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ  ก่อนที่จะไหลผ่านไปยังพื้นที่ อ.เนินสง่า,คอนสวรรค์ และเชื่อมไหลผ่านออกต่อไปยังจังหวัดขอนแก่น ต่อไป

รวมทั้งในส่วนของเขื่อนลำปะทาวตอนบน และตอนล่าง ความจุรวมกว่า 60 ล้าน ลบ.ม.ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา อยู่รอยต่อของ 2 อำเภอเขต อ.เมืองชัยภูมิ และ อ.แก้งคร้อ ที่จะมีเส้นทางน้ำไหลผ่าน ลงมาในโซนเศรษฐกิจตัวเมืองเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ด้วยทั้งหมดในขณะนี้เกิดฝนตกตกเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำใกล้เต็มเขื่อนลำปะทาวทั้ง 2 แห่งแล้ว ซึ่งทางเขื่อนลำปะทาวก็ได้เริ่มเตรียมแผนรับมือด้วยการทยอยปล่อยระบายน้ำออกมาจากเขื่อนลำปะทาวตอนล่างอย่างต่อเนื่องในขณะนี้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดน้ำป่าหลากล้นเขื่อนได้

ซึ่งนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ จึงขอแจ้งประกาศเตือนประชาชนในทุกพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว ช่วยกันเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ที่ในช่วงตั้งแต่ 7- 11 ก.ย.64 นี้ จ.ชัยภูมิ ยังจะเกิดฝนฟ้าคะนองตกหนัก  และเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าหลากได้ ควรที่การเตรียมตัวให้พร้อมในการติดตามสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ใกล้ตัวเอง เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ของมีค่าที่จำเป็นและพร้อมเตรียมอพยพออกจากพื้นที่มาอยู่ในที่ปลอดภัยที่แต่ละพื้นที่ต้องมีการจัดเตรียมรองรับไว้ได้ทันทีในช่วงนี้ด้วย

อุดรธานี - “โจ๊ก” ที่ปรึกษา สบ.9 ชมโรงพักอุดรฯ ขับเคลื่อน SMART SAFTY ZONE ตรงจุดดึงท้องถิ่นร่วมมือได้ดีทำให้อาชญากรรมลดลง

วันที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น.  พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ. 9) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาตรวจเยี่ยมสถานีตำรวจ ตามโครงการ SMART SAFTY ZONE  “เมืองอัจฉริยะ” อันจะนำไปสู่ความปลอดภัยจากอาชญากรรมอย่างยั่งยืน  สภ.เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นสถานีหนึ่งนำร่องใน 15 สถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี ,นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี, นายธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี ,พล.ต.ต.วรัตน์ชัย ศรีรัตนวุฑฒิ รอง ผบช.ภ.4 ,พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จ.อุดรธานี ,พ.ต.อ.อารี สินธุรา ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี, พ.ต.ท.พัฒนวงศ์ จันทร์พล รอง ผกก.ป.สภ.เมืองอุดรธานี และตัวแทนจาก มทบ.24 กอ.รมน. และนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ เข้าร่วมประชุมที่ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ฮอลล์ เทศบาลนครอุดรธานี

พ.ต.อ.อารี สินธุรา ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี กล่าวว่า สภ.เมืองอุดรธานี ได้รับคัดเลือกจากตำรวจภูธรภาค 4 ให้เป็นสถานีนำร่องตามโครงการ  SMART SAFTY ZONE  ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้เลือกพื้นที่ย่านศูนย์การค้าให้เป็นพื้นที่ “อุดรเซฟตี้โซ” มีพื้นที่ 4.3 ตร.กม. ทิศเหนือจดกับ ถนนวัฒนานุวงศ์ ทิศใต้จดกับถนนโพศรี ทิศตะวันออกจดกับ ถนนทองใหญ่ ถนนเลียบทางรถไฟ และทิศตะวันตกจดกับถนนฑีฆธนานนท์ และถนนประจักษ์ศิลปาคม  ซึ่งเป็นพื้นที่จุดเสี่ยงภัยอาชญากรรม มีตลาดยูดีทาวน์, เซ็นทรัล, ตลาดเซ็นเตอร์พ้อยท์, ตลาดนัดรถไฟ, ตลาด ปรีชา, สถานีรถไฟ, รพ.กรุงเทพ, ซอยสัมพันธมิตร และ โรงเรียน เทศบาล 7 ถนนประจักษ์ศิลปาคม

โดยสร้างเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม มีการดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง สร้างเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยอาชญากรรม การปรับปรุงสภาพแวดล้อม กำหนดแผนป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก การตรวจพื้นที่ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการ เพื่อยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ ยกระดับการทำงานของตำรวจตามกรอบความคิดเรื่องราชการ 4.0 และก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล  ซึ่งมีกล้องวงจรปิดของภาครัฐและเอกชนตามเส้นทาง และที่สาธารณะ 83 ตัว  เพื่อเชื่อมโยงสัญญาณไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ไปยังสถานีตำรวจ  ติดเสาไฟฟ้าส่องสว่างตามเส้นทางหลัก 128 ต้น และปรับภูมิทัศน์จุดเลี่ยง ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องวงจรปิดเพิ่ม และตัดกิ่งต้นไม้ให้โล่งโปร่งมองเห็นได้

โดยได้ทำการทาสีตีเส้นจราจรให้เห็นเด่นชัดบนถนน ปิดอาคารร้างไม่ให้เป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากร ซึ่งได้สร้างความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน  ด้วยการติดตั้งตู้แจ้งเหตุ ปล่อยแถวสายตรวจรถจักรยานยนต์ 191 และสายตรวจเดินเท้า บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ ตลาดรถไฟ เมื่อได้รับแจ้งเหตุต้องเข้าตรวจสอบพื้นที่ทันท่วงที ใช้เครื่องมือพร้อมตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีจากกล้องวงจรปิดควบคู่กันไป มีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน บินหาคนร้ายที่ก่อเหตุ ทำให้ประชาชนอุ่นใจ รับรู้ เข้าใจ และให้ความร่วมมือ มากยิ่งขึ้น หลังจากทำโครงการได้ 3 เดือน จากสถิติพบว่าการแจ้งเหตุอาชญากรรมลดลง อย่างเห็นได้ชัด

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9)  กล่าวว่า โครงการ SMART SAFETY ZONE  มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก การสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากอาชญากรรม จัดระบบการป้องกันอาชญากรรมในรูปแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” อันจะนำไปสู่ความปลอดภัยจากอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ขอชื่นชมตำรวจ สภ.เมืองอุดรธานี  ได้ขับเคลื่อน โครงการ SMART SAFETY ZONE ได้เป็นอย่างดีในอันดับต้น ที่ได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย ทั้งองค์การส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนในการป้องกันอาชญากรรมได้เป็นอย่างดี เป็นการป้องกันมากกว่าการปราบปราม ซึ่งเป็นการตอบโจษและถูกใจประชาชนที่สุด

จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ปฎิบัติการส่วนหน้า สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี ที่ชั้นล่างศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า อุดรธานี  จากนั้นเดินทางไปประชาสัมพันธ์โครงการพร้อมกับแจกหน้ากากอนามัยผู้ประกอบการ และประชาชนที่ศูนย์อาหาร ภายในศูนย์การค้ายูดีทาวน์  เสร็จแล้วเดินทางดูศูนย์ควบคุมสั่งการอุดรเซฟซี้โซน งานสืบสวน สภ.เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นศูนย์รวมกล้องวงจรปิดภายในเขตเทศบาลนครอุดรธานี

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล  กล่าวต่อว่า โครงการ SMART SAFETY ZONE เป็นโครงการของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เป็นผู้ริเริ่ม และนำร่อง ใน 15 สถานีตำรวจ หนึ่งในนั้นคือ สภ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี วันนี้ได้รับมอบหมายให้มาตรวจเยี่ยม ติดตามผล จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ SMART SAFETY ZONE อาชญกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งลัก วิ่ง ชิง ปล้น และเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ  ตัวเลขเหล่านี้เป็นสถิติชี้วัดความเดือดร้อนของประชาชน ความต้องการของประชาชน โครงการ SMART SAFETY ZONE เป็นการป้องกันนำการปราบปราม ป้องกันไม่ให้เหตุเกิด ซึ่งตรงใจประชาชนมาก ความเสียหายไม่เกิด ประชาชนไม่ล้นคุก เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างท่องแท้

ที่ปรึกษา (สบ. 9)  กล่าวว่า ภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาทุกส่วนในจังหวัดแล้ว โดยเฉพาะในใจกลางเมือง จะเห็นภาพทุกจุด และยังเชื่อมโยงกับกล้องวงจรปิดของเอกชนด้วย มีการดึงกล้องจากบ้านเรือนประชาชนมาที่สถานีตำรวจ ตำรวจกำลังมีน้อย จึงต้องร่วมกับประชาชนทำให้ตำรวจมีกำลังมาก นายก อบจ. ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ ยังเพิ่มกล้องให้อีก นับวันยิ่งมีความปลอดภัยมากขึ้น  ผบ.ตร.จะนำการอย่างต่อเนื่อง และจะขยายโครงการออกไปอีก ผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนทั้งสิ้น

จากลงพื้นที่อุดรธานี รู้สึกพึงพอใจ ซึ่งจะได้นำเรียนท่าน ผบ.ตร. เพื่อให้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งอนาคตข้างหน้าจะเพิ่มอีก 15 จังหวัด เพราะมีงบประมาณจำกัด แต่ได้ความร่วมมือจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หากตำรวจทำจริงก็ยิ่งอยากจะให้งบประมาณ กำลังอยู่ที่ตำรวจ ให้ตำรวจไปทำงาน ท้องถิ่นจะได้ปลอดภัยดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี

อุดรธานี - กองทัพอากาศสิงคโปร์ ร่วมกับ กองบิน 23 มอบชุด PPE จำนวน 1,000 ชุด ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

วันที่ 9 กันยายน 2564 นาวาอากาศเอก กษิดิ์เดช แม้นสงวน รองผู้บังคับการกองบิน 23 นาวาอากาศโท รักพงศ์ เถื่อนนาดี หัวหน้าแผนกยุทธการ กองบิน 23 พร้อมด้วย นาวาอากาศโท เดเร็ก ชาน หัวหน้าหน่วยบินแยกกองทัพอากาศสิงคโปร์ และคณะข้าราชการกองบิน 23 ข้าราชการกองทัพอากาศสิงคโปร์ ร่วมมอบชุด PPE จำนวน 1,000 ชุด ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ด้วยความห่วงใย และสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด -19

ในการนี้ นายแพทย์ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เป็นผู้รับมอบ โดยมี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมรับมอบ และได้กล่าวขอบคุณทางกองทัพอากาศสิงคโปร์และกองบิน 23 ที่นำชุด PPE มามอบให้ในครั้งนี้ ซึ่งหมอ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก ก็เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานี ถึงแม้ว่าทุกภาคส่วนจะให้การสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมีสำรองไว้ถือว่าเป็นการดีที่สุด เป็นการสร้างความอุ่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์

กาฬสินธุ์ – มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งมอบหน้ากากอนามัย 144,000 ชิ้น ให้กับประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 13 กันยายน 2564  ที่ห้องเจ้าเมือง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 2 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัยให้กับนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อนำไปส่งมอบต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดส่งสิ่งของพระราชทานหน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์  จำนวน 2,880 กล่อง  กล่องละ 50 ชิ้น รวมเป็นจำนวน 144,000 ชิ้น โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายธนทร ศรีนาค หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมพิธี     

ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ  หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบรมราชูปถัมภก" แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงห่วงใยทุกข์ยากของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ และเป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชน สามารถผ่านความทุกข์ยากเดือดร้อนในเบื้องต้นไปได้

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ล่าสุดวันนี้ 13 กันยายน 2564 พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 41 ราย เป็นผู้ติดเชื้อขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 5 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 22 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัด 14 ราย และหายป่วย 21 ราย โดยมียอดผู้ป่วยสะสมรวม 7,278 ราย รักษาหายแล้ว 6,516 ราย กำลังรักษาอยู่ 715 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

อุดรธานี - ทหารอุดร บูรณาการ 14 หน่วยงาน ฝึกซ้อมบรรเทาสาธารณภัย เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ณ  บริเวณลานหน้าพระอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ค่ายประจักษ์ศิลปาคม ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี พลตรี พิทักษ์ จันทร์เขียว ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 /ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 24 เป็นประธานเปิดการฝึกการซักซ้อมบรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือประชาชน โดยมี พันเอก ปฏิวัติ ชื่นศรี เสนาธิการ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กรมทหารราบที่ 13 และหน่วยงาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน เข้าร่วมพิธีฯดังกล่าว 

โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อบรมให้ความรู้ ซักซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้เข้าใจในเรื่องการบรรเทาสาธารณภัย ให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วย ระหว่างวันที่ 13 – 14 กันยายน  2564

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยได้ฝึกเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์ให้เกิดความชำนาญในการใช้ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อย่างปลอดภัย ทั้งผู้ให้การช่วยเหลือ และผู้ได้รับการช่วยเหลือ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ ที่จะเข้าให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รวมทั้งบูรณาการวางแผน ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  


ภาพ/ข่าว  จ.ส.อ.กฤษฎา มณีใส กรมทหารราบที่ 13

ขอนแก่น - พร้อมจัดการเลือกตั้ง อบต.140 แห่ง “อภินันท์” ย้ำชัด! ว่าที่ผู้สมัครต้องเตรียมตัวให้พร้อมตามระเบียบที่กำหนด เตือนผู้ใจบุญฉวยโอกาสโควิดมอบสิ่งของแฝงหาเสียง หากมีการร้องเรียนต้องเข้ารับการสอบสวนทันที

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 15 ก.ย. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ จ.ขอนแก่น หรือ กกต. นายอภินันท์  จันทร์อุปละ ผอ.กกต.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้การเตรียมการเลือกตั้ง อบต.ภาพรวมของ จ.ขอนแก่น ภายหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบให้มีการจัดการเลือกตั้ง และ กกต.กลางได้กำหนดแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯและ นายก อบต. โดยมีการส่งเรื่องให้กับ กกต.จังหวัดได้รับทราบแล้วนั้น ซึ่งขณะนี้ กกต.ขอนแก่น ได้มีการประสานงานไปยัง อบต. 140 แห่งที่ต้องจัดการเลือกตั้งในแผนการจัดการเลือกตั้งตามที่ กกต.กำหนด เพื่อให้ ปลัด อบต.ฯทุกแห่ง ในฐานะ ผอ.กกต.ประจำ อบต.ได้ดำเนินการตามแผนการจัดการเลือกตั้งโดยเฉพาะการเสนอรายชื่อ กกต.อบต.แห่งละ 3 คนให้กับ กกต.พิจารณาแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.เนื่องจากการประกาศให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาฯและ นายก.อบต.ในวันที่ 1 ต.ค.ดังนั้นนอกจากการที่ สมาชิกสภาฯและ นายก อบต.ทั้งประเทศจะต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ในวันที่ 30 ก.ย.แล้ว ขั้นตอนการดำเนินงานของ ผอ.กกต.อบต.จะต้องดำเนินการในด้านต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามแนวทางที่ กกต.ได้กำหนดไว้ในภาพรวมเช่นกัน

“การเลือกตั้ง อบต.ที่จะเกิดขึ้น ตามการประกาศของ กกต.ให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาฯและ นายก อบต.ทั้งประเทศในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งในแผนงานดังกล่าวการรับสมัครรับการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 11-15 ต.ค.และกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 28 พ.ย. ดังนั้นว่าที่ผู้สมัคร สมาชิกสภาฯและนายกฯ จะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานและดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ รวมทั้งระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ กกต.กำหนดไว้ 26 ข้อ ที่ถือเป็นกฎเหล็กของการสมัครรับการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างไรก็ดี การเลือกตั้ง อบต.ทั้ง 140 แห่งของ จ.ขอนแก่น ในครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 1,546 หน่วยเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.กำหนดเขตเลือกตั้ง คือ 1 หมู่บ้าน 1 เขต มีสมาชิก อบต.ได้ 1 คน ขณะที่ นายก อบต. คือ 1 ตำบลคือ 1 เขตเลือกตั้ง ยังคงมั่นใจว่าชาวขอนแก่นจะให้ความสนใจในการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งแบวิถีใหม่นิวนอมอลกันอย่างพร้อมเพรียง”

นายอภินันท์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดการเลือกตั้งโดยเฉพาะสถานที่สำหรับการจัดการเลือกตั้งนั้น กกต.ประจำ อบต.ทุกตำบล จะต้องปฎิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขขอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะคูหาเลือกตั้งที่จะต้องมีการแยกคูหาเฉพาะสำหรับผู้ที่ไข้สูงหรือกลุ่มเสี่ยง ขณะที่ อบต.บางแห่ง อาจจะมีการทำฉากกั้นในช่อลงคะแนนเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งในการเลือกตั้งเทศบาลฯที่ผ่านมา อบต.หลายแห่งได้มาดูงานและร่วมเป็นคณะทำงานในการจัดการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นมั่นใจว่า ทุก อบต.จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ถึงอย่างไรยังคงแจ้งเตือนว่าที่ผู้สมัครทุกคนว่าอย่าฉวยโอกาสในสถานการณ์โควิดที่กำลังเกิดขึ้นในการมอบสิ่งของ หรือกระทำการที่หมื่นเหมาต่อกฎหมาย ซึ่งแม้ว่า ตามกฎหมายคือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไปจะเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งแต่การกระทำการใดที่หมิ่นเหม่และขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งซึ่งว่าที่ผู้สมัครทุกคนนั้นรู้ถึงข้อกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการร้องเรียน กกต.จะต้องมีการสอบสวนทันทีโดยไม่ละเว้น และในการเลือกตั้ง ผู้ที่ปฎิบัติหน้าที่ อสม. สามารถลงสมัครรับการเลือกตั้งได้โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีเอกสารชี้แจงในประเด็นดังกล่าวนี้มาแล้ว

มุกดาหาร - กอ.รมน.จว. ม.ห. ลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ช่วยเหลือประชาชน และรักษาสถานะภาคีเครือข่ายรู้เท่าทันปัญหาการค้ามนุษย์

กอ.รมน.มุกดาหาร ในฐานะหน่วยงานความมั่นคง มีบทบาทหน้าที่บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มวลชน และประชาชน เพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ให้เกิดความสงบสุขแก่ประชาชน กอ.รมน.มุกดาหาร จึงลงพื้นที่ผนึกกำลังใจคนไทยไม่ทิ้งกัน มอบถุงยังชีพจำนวน 200 ถุงให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส covid-19

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น ภายใต้การอำนวยการของ พันเอก วิระ  สอนถม รอง ผอ.รมน.จังหวัด มุกดาหาร (ท) มอบหมายให้ พ.อ.สุรัช  จันทร์พวง หน.กนผ./ขว.กอ.รมน. ,พ.ท.ตระกูล  ตระกูลสม  หน.ขุดชุมชนสัมพันธ์ กอ.รมน. , จนท.กอ.รมน.มุกดาหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มวลชน ลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ช่วยเหลือประชาชน และรักษาสถานะภาคีเครือข่ายรู้เท่าทันปัญหาการค้ามนุษย์ โดย ศปป.2 กอ.รมน. เป้าหมายคือประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 (COVID-19) ในพื้นที่ชุมชนตำบลมุกดาหาร จำนวน 3 เขต (16 ชุมชน) โดยมอบถุงยังชีพ จำนวน 200 ถุง ได้แก่ เขต 1 ณ วัดแจ้งนาโป ต.มุกดาหาร อ.เมืองมุกดาหาร จำนวน 74 คน ,เขต 2 ณ วัดศรีมงคลเหนือ ต.มุกดาหาร อ.เมืองมุกดาหาร จำนวน 61 และ เขต 3 ณ วัดคำสายทอง ต.มุกดาหาร อ.เมืองมุกดาหาร จำนวน 75 คน รวมทั้งสิ้น 200 คน ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

กาฬสินธุ์ – เทศบาลร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน อสม. ลงขันสร้างบ้าน มอบบ้านผู้หายป่วยโควิด-19

เทศบาลตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน อสม. ร่วมบริจาคเงินสด สิ่งของ วัสดุอุปกรณ์ สำหรับสร้างบ้านให้ครอบครัวผู้หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 และฐานะยากจน ซึ่งรักษาหายดีแล้ว ไม่มีที่อยู่อาศัย ก่อนนำเครื่องอุปโภค บริโภค มอบให้เป็นทุนเริ่มต้นชีวิตใหม่ บรรยากาศเป็นไปด้วยความปลาบปลื้มปิติ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 8 บ้านนากุงใต้ ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด เป็นประธานพิธีมอบบ้านให้กับผู้ยากไร้ โดยมีนายดนุพงษ์  ภูตรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระนอน นายวัฒนา  แสนตรี กำนันตำบลเขาพระนอน พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน อสม. ร่วมพิธี  ทุกคนที่ร่วมพิธีต่างปฏิบัติป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งคัด ทั้งจำกัดจำนวนคน ตรวจวัดอุณหภูมิ รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย 100% 

นายสันติ จัตุพันธ์ นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่เทศบาลตำบลเขาพระนอน ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน อสม.ได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างที่พักอาศัยให้กับครัวเรือนผู้ยากไร้ โดยเฉพาะครอบครัวผู้หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น เป็นการช่วยเหลือแบ่งปัน เอื้ออาทรให้แก่กันและกัน ตามแนวทางโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล คนกาฬสินธุ์ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ของผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน โดยสร้างบ้านได้อยู่อาศัย และสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ยากไร้ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ด้านนายวัฒนา แสนตรี กำนันตำบลเขาพระนอน กล่าวว่า บ้านที่ทำพิธีมอบในวันนี้เป็นครอบครัวของนายถวัลย์ สมคะเน อายุ 60 ปี และสมาชิกในครอบครัวรวม 6 คน เดิมไปทำงานในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงและติดเชื้อโควิด-19 จึงขอเดินทางกลับรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามสวนธรรมโชติปัญญาราม เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 จนกระทั่งหายดี แต่ครอบครัวนายถวัลย์ ไม่มีที่อยู่อาศัย จึงได้ประสานกับเทศบาลตำบลเขาพระนอน และผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านใน ต.เขาพระนอน หาแนวทางช่วยเหลือครอบครัวนี้

ขณะที่นายนายดนุพงษ์  ภูตรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระนอนกล่าวว่า ทั้งนี้ ได้ร่วมกับพระครูปริยัติธรรมนุโยค เจ้าอาวาสวัดวารีราษฎร์หนองกุง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพุทธรักษา พร้อมชาวบ้าน อสม.มีมติร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคเงินก่อสร้างบ้านให้ครอบครัวนายถวัลย์ ซึ่งใช้พื้นที่ของญาตินายถวัลย์ โดยเป็นบ้านชั้นเดียว พร้อมติดตั้งระบบสาธารณูปโภคทั้งระปา ไฟฟ้า รวมยอดบริจาค 35,000 บาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 กำหนดทำพิธีมอบบ้านในวันนี้

 

สุรินทร์ - ผบ.กกล.สุรนารี ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน หลังรับพ่อแม่พันธุ์ปลานิลจิตรลดา และเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน จากโครงการทหารพันธุ์ดี สู่ประชาชน ในพื้นที่ชายแดน อำเภอกาบเชิง

วันที่ 20 กันยายน 2564 พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พร้อมด้วย พันโทพงษ์พัฒน์  เตือนขุนทด  ผบ.ร.23 พัน.3 และเข้าตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านของ นางกุหลาบ พรมเดื่อ สมาชิกโครงการทหารพันธุ์ดี ศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืด “พระราชทาน” เพื่อนช่วยเพื่อน พื้นที่อีสานใต้ ที่ได้รับพ่อแม่พันธุ์ปลานิลจิตรลดา และเมล็ดพันธุ์พืช พระราชทาน นำมาเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการพื้นบ้านจนประสบผลสำเร็จ จนสามารถส่งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ปลา ต่อให้กับชาวบ้าน ในหมู่บ้านที่มีความสนใจ นำไปขยายผลต่อไปได้อีก เป็นจำนวนมาก

จากนั้นพลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารีได้มอบ พ่อแม่พันธุ์ปลานิลจิตรลดาให้แก่นายทองม้วน ลาขุมเหล็ก และ นายวสันต์ แก้วมณี ชาวบ้านเขื่อนแก้ว ตำบลกาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด และกลับมาอยู่ที่บ้าน และต้องการเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาชีพเสริมอีกด้วย พลตรีอดุลย์ บุญธรรมเจริญ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี กล่าว่า นี้เป็นครั้งแรก ที่ชาวบ้านสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาเองได้ และแบ่งปันพ่อแม่พันธุ์ปลาให้กับผู้ที่มีความสนใจได้ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่ต้องการให้เกิดการแบ่งปัน และกระจายพันธุ์ปลานิลจิตรลดา เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านอาหารลด รายจ่าย ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง 

 

ขอนแก่น – ชวนเที่ยวงานแสดงผ้าไหม OTOP มัดหมี่ - เบียนนาเล่ - ถักทอเส้นใยอีสานสู่สายใยโลก! Craft the world ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่น โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ  กำหนดจัดงานแสดงและจำหน่ายผ้าไหม OTOP  : มัดหมี่ เบียนนาเล่ 2021 Mudmee Biennale 2021 ถักทอเส้นใยอีสาน สู่สายใยโลก Craft the world  ในระหว่างวันที่ 23– 25 กันยายน 2564 ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้น 2 เวลา 10.00 น.-20.00 น. ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การจัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหม ระดับพรีเมี่ยม ของจังหวัดขอนแก่น กว่า 30  คูหา, การแสดงแฟชั่นโชว์ การแสดงศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมส่งเสริมการขาย, การจัดแสดงโชว์ผลงาน การประกวดผ้าไหม และผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดขอนแก่น,  กิจกรรมเสวนาวิชาการ :การพัฒนาส่งเสริมผ้าไหม เพื่อการส่งออก สู่ตลาดโลก เป็นต้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า เมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้จัดให้มีการประกวดผ้าไหมในงานจัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหม ผลิตภัณฑ์จากไหมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การขับเคลื่อนเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่สู่สากล เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และเป็นการสืบสาน อนุรักษ์ ปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไหมให้ทันสมัย พร้อมดึงรายได้เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไหม โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดขอนแก่น ส่งผ้าไหมมัดหมี่ เข้าประกวดทั้งหมด จำนวน 135 ผืน แยกตามประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผ้าไหมมัดหมี่แบบ 2 ตะกอหรือ 3 ตะกอ จำนวน 74 ผืน ประเภทที่ 2 ผ้าไหมมัดหมี่ลายประจำจังหวัด “แคนแก่นคูน” จำนวน 29 ผืน และประเภทที่ 3 ผ้าไหมมัดหมี่ลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จำนวน 32 ผืน

"จากการประกวดฯ ส่งผลทำให้ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมจังหวัดขอนแก่น มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตผ้าไหม ให้มีขนาด สัดส่วน สีสัน ลวดลาย ที่เหมาะสมสวยงาม และตอบสนองประโยชน์การใช้สอยให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลอดจนมีการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การขับเคลื่อนเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่สู่สากล ตามเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป"

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top