Tuesday, 21 May 2024
Isan

สุรินทร์ - มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบสิ่งของพระราชทาน แด่ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัย

วันที่ 1 กันยายน 2564 เวลา 13:30 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ท่าน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายนราธร  ศรประสิทธิ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์/กรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ประจำจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของพระราชทานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

โดยนำสิ่งของพระราชทานมาให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอัคคีภัยตามหลักเกณฑ์การพิจารณาการจ่ายเงินสำรองจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีอยู่ทางจังหวัด ให้แก่ครอบครัว นายสวัสดิ์  สุระ อายุ 80 ปี ผู้ประสบอัคคีภัย บ้านเลขที่ 62 หมู่ที่ 4 บ้านสามแยก ตำบลตาคง อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 เวลา 11.20 น. ได้เกิดเหตุไฟไหม้บ้านพักอาศัยของ นายสวัสดิ์ สุระ ได้รับความเสียหายทั้งหลัง แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบของอัคคีภัย ในการสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้ฝ่าฟันให้พ้นวิกฤตภัยครั้งนี้ไปด้วยดี สร้างความปลาบปลื้มให้กับ ครอบครัว นายสวัสดิ์ สุระ ประชาชนผู้ประสบอัคคีภัยอย่างหาที่สุดมิได้

โดยมีหน่วยงานร่วมให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบอัคคีภัย ประกอบไปด้วย สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุรินทร์ อำเภอสังขะ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์  วิทยาลัยการอาชีพสังขะ องค์การบริหารส่วนตำบลตาคง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องประชาชนจิตอาสาตำบลตาคง สำหรับการช่วยเหลือในระยะต่อไป องค์การบริหารส่วนตำบลตาคง จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบทางราชการต่อไป โดยมี นายธาตรี  สิริรุ่งวานิช นายอำเภอสังขะ กล่าวรายงาน


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า  

กาฬสินธุ์ - 50 ปี ที่รอคอย บ้านคำคารับสัญญาเช่าที่ถูกกฎหมาย ชาวบ้านเฮ! หลังได้รับเอกสารสิทธิเช่าที่จากกรมธนารักษ์ อย่างสมบูรณ์แบบ

ชาวตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  ได้เฮหลังต้องต่อสู้เรียกร้อง ยาวนานกว่า 50 ปี  เพื่อเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย วันนี้ฝันเป็นจริงหลังได้รับเอกสารสิทธิเช่าที่จากกรมธนารักษ์ อย่างสมบูรณ์แบบ

ที่ศาลาประชาคมบ้านคำคา ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นายยุทธนา หยิบการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ โครงการธนารักษ์ประชารัฐ โดยมีนายอุดร สีลาพันธ์ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์  นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ ร่วมพิธีรับมอบ ท่ามกลางความยินดีของผู้ร่วมกิจกรรม โดยได้มอบให้กับตัวแทน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และด้วยความห่วงใยจากสถานการณ์โควิด-19 ยังได้นำเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัยมอบให้แก่ชุมชน กิจกรรมธนารักษ์ประชารัฐ จัดขึ้นภายใต้มาตรการควบคุมสูงสุดป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน จำกัดเวลาดำเนินกิจกรรมไม่เกิน 30 นาที  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และต้องผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ อสม.

นายยุทธนา หยิบการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ได้มอบเอกสารเช่าที่ราชพัสดุให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กส.584 บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ตำบลโนนศิลา  อำเภอสหัสขันธ์ จำนวน 1,163 ราย และ อำเภอสามชัย 1,475 ราย รวมทั้งหมด  2,638  ราย ตามโครงการธนารักษ์ประชารัฐ  สนองนโยบายภาครัฐที่ต้องการจะลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ดึงเข้าระบบอย่างถูกต้องตามระเบียบทางราชการ ถูกกฎหมาย แม้จะไม่สามารถทำการซื้อขายได้ แต่นำไปเป็นหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ รวมถึงการเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ

นายราชัน คุณาประถม กำนันตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า จากในอดีตได้เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก เป็นกลุ่มคนผิดกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นผู้เสียสละพื้นที่ให้มีการสร้างเขื่อนลำปาว บ้านแตกสาแหรกขาด เพราะตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนลำปาว อำเภอสหัสขันธ์ ได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปที่ตำบลโนนบุรี  เพื่อสร้างอำเภอแห่งใหม่ ขณะที่อำเภอเก่าน้ำจากเขื่อนลำปาว ได้เอ่อท่วมเป็นบริเวณกว้าง ในปี พ.ศ.2510 ถนนถูกตัดขาด ไม่มีถนนเข้าหมู่บ้านก็ต้องระดมเงินทำถนนกันเอง จากวันนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 54 ปี เป็นระยะเวลาได้ต่อสู้ เรียกร้อง จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้หลุดพ้นหมู่บ้านชายขอบ ผิดกฎหมาย ผู้บุกรุก และตัดขาดซึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐ โครงการธนารักษ์ประชารัฐ ได้เข้าถึง และทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเดือดร้อนอีกต่อไป จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐตามระบบ เป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ขอขอบคุณกรมธนารักษ์  และที่สำคัญคือท่านนายกประยุทธ์ฯ ที่ช่วยชาวบ้านให้พ้นทุกข์เสียที


(เสียง กำนันราชัน คุณาประถม)

 

สุรินทร์ - จัดกิจกรรม “หมอครอบครัว ส่งภูมิถึงบ้าน ต้านโควิด” รุกฉีดวัคซีน ผู้ป่วยติดเตียง

วันที่ 2 กันยายน 2564 เวลา 15.00 น. ณ คลินิกหมอครอบครัวสระโบราณ นายสุวพงศ์  กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “หมอครอบครัว ส่งภูมิถึงบ้าน ต้านโควิด” อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ในนามของคลินิกหมอครอบครัวโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวรายงาน จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 12,157 ราย และในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 734 ราย ซึ่งกักตัวที่ชุมชนหรือที่บ้าน 249 ราย โรงพยาบาลสนามศูนย์ปฏิบัติธรรมบ้านอาเลาะ 116 ราย โรงพยาบาลสนามอุทธยานธรรมหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สำราญนิเวศน์ จำนวน 199 ราย และโรงพยาบาลสุรินทร์ 170 ราย โดยมีผู้ป่วยอาการน้อยและปานกลาง 695 ราย อาการหนัก 39 ราย และเสียชีวิต 36 ราย

ด้วยการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและป้องกันโรคโควิด-19 โรงพยาบาลสุรินทร์ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามวัคซีน เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลดความรุนแรง และอัตราตายของโรค ให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ ณ อาคาร 44 ตึกคณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา ผลการดำเนินงานฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 73,392 โดส แบ่งเป็น Sinovac 37,853 โดส Astrazeneca 30,890 โดส Pfizer 4,649 โดส โดยจัดบริการฉีดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 15,907 โดส เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค 2,761 โดส  บุคคลที่มีโรคประจำตัว 7,662 โดส ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 35,134 โดส ประชาชนทั่วไป 11,858 โดส เพื่อให้การดำเนินงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เกิดความครอบคลุมและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ 

จึงจัดกิจกรรม “หมอครอบครัว ส่งภูมิถึงบ้าน ต้านโควิด” อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ในวันนี้ ณ คลินิกหมอครอบครัวสระโบราณ โดยมี นายแพทย์สันติชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ นายกฤษณุ เหลืองพิบูลกิจ นายอำเภอเมืองสุรินทร์  นางสาวสมธิดา จะเกรง ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์  สาธารณสุขอำเภอเมืองสุรินทร์  คณะแพทย์และคณะเจ้าหน้าที่คลินิกหมอครอบครัวโรงพยาบาลสุรินทร์ ร่วมพิธี


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

กาฬสินธุ์ – รวมพลังคนจิตอาสา เก็บขยะแหลมโนนวิเศษ ปลูกจิตสำนึกนักท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะคนจิตอาสารวมพลังรณรงค์จัดเก็บขยะบริเวณแหลมโนนวิเศษ และสะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาวแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวกินแล้วอย่าทิ้งขยะ พร้อมมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติรักษาทัศนียภาพ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้

ที่บริเวณแหลมโนนวิเศษ และบริเวณสะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว  ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์ รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์  นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี พร้อมด้วยประชาชนจิตอาสากลุ่มรสนิยม กู้ภัยกุดหว้าจิตอาสา และประชาชนร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เก็บขยะ พลาสติก เศษวัสดุ ของมีคม เพื่อให้มีความสะอาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน ในการปลูกจิตสำนึกรักษาความสะอาด สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของ จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง 2 แหล่ง โดยเฉพาะบริเวณแหลมโนนวิเศษ ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นทะเลมรกตอีสาน และสะพานเทพสุดา ซึ่งสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเชิงธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและอีกหลายด้าน ช่วงที่ผ่านมาซึ่งประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวซบเซาไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ประกาศปลดล็อกร้านค้า ร้านอาหาร ให้สามารถนั่งรับประทานได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้พบว่าผู้ประกอบการเริ่มเปิดกิจการค้าขายและต้อนรับลูกค้า โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยว เช่น แหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว

นายวิรัช กล่าวอีกว่า หลังจากประกาศดังกล่าวออกมา เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก และสร้างความตระหนักในการช่วยกันรักษาความสะอาด ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงได้ร่วมกับเทศบาลตำบลโนนบุรี ประชาชน และกู้ภัยจิตอาสา ตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้า ร่วมกันจัดกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณแหลมโนนวิเศษ ใกล้สะพานเทพสุดา เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึก ร่วมกันรณรงค์รักษาความสะอาด และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ในช่วงปลดล็อกร้านอาหารนั่งทานได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง  โดยมีการจัดเก็บขยะ เศษวัสดุ ของมีคม และขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ที่นำอาหารมานั่งทาน ให้นำถุงใส่อาหาร กล่องโฟม กลับไปด้วย  ทั้งนี้เพื่อช่วยกันรักษาความสะอาดดังกล่าว

ด้านนายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า  ในพื้นที่ตำบลโนนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เช่น แหลมโนนวิเศษ สะพานเทพสุดา พิพิธภัณฑ์สิรินธร วัดสักวันภูกุ้มข้าว จุดชมวิวภูสิงห์ วัดพุทธนิมิตภูค่าว เป็นต้น ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมตลอดปี

นายบุญมีกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเตรียมการรับนักท่องเที่ยว ในช่วงนี้และต่อเนื่องถึงอนาคต หลังสถานการณ์โควิด-19 ก็จะได้ตระเตรียมความพร้อมในหลายๆด้าน เช่น การจัดการเก็บขยะที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล การจัดระเบียบร้านค้า ร้านอาหาร รวมทั้งการรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการมีวินัย ใส่ใจความสะอาด ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว และประชาชน เพื่อการเป็นเจ้าบ้านที่ดี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และกลับมาท่องเที่ยวอีก

กาฬสินธุ์ – ส่งเสบียงช่วยหมู่บ้านล็อกดาวน์ คลัสเตอร์งานวันเกิดติดเชื้อโควิด 29 ราย

“วิรัช พิมพะนิตย์” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ นำถุงยังชีพปันน้ำใจสู้ภัยโควิดมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ที่บ้านเหล่าสูง ตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ หลังพบคลัสเตอร์งานวันเกิด มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้าน 29 ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 13 ครัวเรือน และต้องสั่งล็อกดาวน์ทั้งหมู่บ้าน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 5 กันยายน 2564 ที่บริเวณจุดคัดกรองทางเข้าบ้านเหล่าสูง ม.4 ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์  รองประธานสภา อบจ.กาฬสินธุ์  นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภค บริโภค ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19 ซึ่งมีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย จำนวน 200 ชุด ไปมอบให้กับประชาชนบ้านเหล่าสูง ม. 4 ต.ห้วยโพธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 หลังพบคลัสเตอร์หญิงสาวรายหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีการจัดงานวันเกิด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านจำนวน 29 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงสูงอีก 13 ครัวเรือน ทำให้ผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปิดหมู่บ้าน ตั้งจุดคัดกรอง 250 หลังคาเรือน ห้ามเข้า-ออกโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการแพร่ระบาด โดยมีนายสุนทร เจริญพันธ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยโพธิ์ นายจันทร์ ดอนประชุม ประธาน อสม.ตำบลห้วยโพธิ์ นายอำนวย ศรีแพงมล ผู้ใหญ่บ้านเหล่าสูง พร้อมด้วย อสม.ร่วมรับมอบ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้เป็นการเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่บ้านเหล่าสูง ซึ่งมีอยู่กว่า 250 หลังคาเรือน กว่า 800 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากต้องปิดหมู่บ้าน พร้อมให้กำลังใจผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าประจำจุดคัดกรอง ทั้งนี้อยากฝากถึงทุกคนให้ช่วยกัน อย่าได้รังเกียจกันและกัน เพราะไม่มีใครอยากติดเชื้อ และอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนจะต้องร่วมแรง ร่วมใจกัน ต่อสู้โรคโควิด-19 และให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกันให้ได้

นายจันทร์ ดอนประชุม ประธาน อสม.ตำบลห้วยโพธิ์ กล่าวว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บ้านเหล่าสูง ต.ห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีกลุ่มคลัสเตอร์โควิด-19 การจัดงานวันเกิด ทำให้พบผู้ป่วยยืนยันจำนวน 29 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรวมจำนวน 13 ครัวเรือน ทำให้ทางผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านประชุมร่วมกันและมีมติปิดหมู่บ้าน พร้อมทั้งตั้งด่านคัดกรองการเข้า-ออก โดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันและหยุดการแพร่เชื้อไปยังพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามสำหรับการปิดหมู่บ้านนั้น ประชาชนทั้ง 250 หลังคาเรือน กว่า 800 คน ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานเชิงรุก ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นบ้างแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้ง 13 ครัวเรือนก็ได้กักตัวสังเกตอาการ 14 วัน


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษฺ  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

สุรินทร์ - บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ร่วมทำดีกับโครงการ “แยกขวดช่วยหมอ” เพื่อผลิตชุด PPE สู้โควิด-19

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายพัฒน์  เสถียรถิระกุล และนางสาววัชรนันท์  พิริยพูล ผู้บริหารรุ่นใหม่จาก KI Sugar Group (บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์สู้วิกฤตโควิด-19 ด้วยการมอบขวด PET จำนวน 130 กิโลกรัม ให้กับ PTT GC (YOUเทิร์น) และสนับสนุนทุน 100,000 บาท ให้กับมูลนิธิทันตแพทยศาสตร์มหิดล

โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ ทพ.นิติพันธ์  จีระแพทย์ นายกสมาคมศิษย์เก่าทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเป็นผู้รับมอบ เพื่อรวบรวมขวด PET นำไปผลิตเป็นชุด PPE ใช้สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และนำไปบริจาคในพื้นที่ที่ขาดแคลนต่อไป  “โครงการแยกขวดช่วยหมอ” เป็นภารกิจระดมขวด PET เพื่อนำไปผลิตเป็นชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ดำเนินการโดย YOUเทิร์น by PTT GC นำขวด PET ไปแปรรูปเป็นเส้นใย ถักทอเป็นผืนผ้าแล้วเคลือบสะท้อนน้ำ และมูลนิธิทันตแพทยศาสตร์มหิดล จัดสรรทุนในการตัดเย็บเป็นชุด PPE สำเร็จรูป ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

ขอนแก่น - "ทม.ศิลา" มอบถุงยังชีพให้ครอบครัวผู้ติดโควิด-19 เพื่อใช้ชีวิตกลับเป็นปกติในสังคมต่อไป

รองนายกฯ พร้อมประธานสภาฯ ทม.ศิลา พร้อมด้วยผญบ.อสม.บ้านหนองกุง ร่วมมอบถุงยังชีพให้ครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้วพร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคมต่อไป

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 นายกรวิทย์ ติวเฮือง รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา ,นายสุริยนต์ ติวเฮือง ประธานสภาเทศบาลเมืองศิลา พร้อมด้วยผญบ.,อสม.บ้านหนองกุง ม.2  ม.17 ลงพื้นที่ เยี่ยมและมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้งให้ครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด -19 ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้ว พร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคมต่อไป โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิค -19 ที่ได้ทำการรักษาจนหายดี แล้วมารับมอบ

นายกรวิทย์ ติวเฮือง รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา กล่าวว่าจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย โดยต้องปรับตัวต่อมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันตนเองและการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ขณะที่ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางหลายพื้นที่ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ศิลา ซึ่งในการลงพื้นที่ในวันนี้จึงเป็นการติดตามและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และครอบครัวผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ที่ได้รับการรักษาหายป่วยแล้วให้พร้อมใช้ชีวิตปกติในสังคม ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนทุกคน ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ไม่ประมาท โดยสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือเป็นประจำ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากทุกคนร่วมมือกัน มั่นใจว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้แน่นอน

กาฬสินธุ์ – หมอใหญ่เตือน! เปิบเนื้อหมูดิบ เสี่ยงป่วยโรคหูดับเสียชีวิต แนะผู้บริโภคต้องไม่ประมาท โดยเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่เชื่อถือได้

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์เตือนบริโภคเนื้อหมูดิบเสี่ยงได้รับเชื้อและป่วยโรคหูดับเสียชีวิต หลังพบโรคหูดับในภาคเหนือ แต่ยังไม่พบในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แนะผู้บริโภคต้องไม่ประมาท โดยเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และในกลุ่มผู้นิยมบริโภคเนื้อสุกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยผู้บริโภคเนื้อสุกรหลายรายมีความกังวล ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดเหมือนโรคลัมปี สกิน ในโค หรือโรคเพิร์ส ในสุกรในพื้นที่หรือไม่ หลังพบมีการแพร่ระบาดของโรคหูดับ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และพบว่ามีผู้ป่วยหลายรายได้รับเชื้อ มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งทางด้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ยืนยันยังไม่พบในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมเตือนบริโภคเนื้อหมูดิบเสี่ยงได้รับเชื้อและป่วยโรคหูดับเสียชีวิต และควรนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัย

นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากกรณีการเกิดโรคหูดับในบางจังหวัดเขตภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ซึ่งมีทั้งผู้ได้รับเชื้อและเสียชีวิต สาเหตุเกิดจากการบริโภคเนื้อสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ทั้งนี้ อาจจะมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมการบริโภคเนื้อสุกรดิบ จึงเป็นความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อดังกล่าว ทั้งนี้ โรคหูดับหรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนได้ 2 ทาง คือการบริโภคเนื้อสุกร เครื่องในสุกร หรือเลือด ที่ไม่ผ่านการทำให้สุก เช่น ลาบ ลู่ ปิ้งย่างที่ไม่สุก นอกจากนี้ยังเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสโรค หรือสุกรที่เป็นโรค

นายแพทย์อภิชัย กล่าวอีกว่า เชื้อดังกล่าว ที่ปกติจะอยู่ในสุกรเกือบทุกตัว โดยฝังอยู่ในต่อมทอนซิลของสุกร แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือป่วย โรคจะไปกดภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียตัวนี้จะเพิ่มจำนวน และทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้สุกรป่วยและตายได้ เมื่อนำเนื้อสุกรที่ตายด้วยโรคดังกล่าวมาบริโภคโดยไม่ผ่านการปรุงสุก จึงทำให้เชื่อเข้าสู่ร่างกายและเจ็บป่วย ในรายที่อาการรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้

“อาการของผู้ป่วยโรคหูดับ หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายภายใน 3 วันจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม จึงทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่งหูหนวก ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยจะเสียการได้ยิน และอาจชีวิตในเวลาต่อมา” นายแพทย์อภิชัยกล่าว

นายแพทย์อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้ไม่มีประวัติพบผู้ป่วยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ อาจจะมีผลมีจากชาว จ.กาฬสินธุ์ ไม่นิยมบริโภคเนื้อสุกรดิบ อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทและไม่เกิดความกังวลในการบริโภคเนื้อสุกร จึงขอประชาสัมพันธ์ไปถึงผู้บริโภค เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และนำมาปรุงสุกก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัยก็จะไม่เสี่ยงกับการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อพยาธิ โรคท้องร่วง และป่วยโรคหูดับเสียชีวิตดังกล่าว

หนองบัวลำภู - สนง.เกษตรหนองบัวลำภู ทำโครงการสมุนไพรต้านภัยโควิด-19 ผลิตฟ้าทะลายโจรแจกเกษตรกรกว่า 2 หมื่นต้น พร้อมสนับสนุนผลิตเชิงการค้า

นายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า จากการที่ได้เกิดวิกฤตการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อกว่า 220 ล้านคน คร่าชีวิตผู้คนกว่า 4.5 ล้านคน สำหรับในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อกว่า 1.2 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 12,000 คน และยังส่งผลทางเศรษฐกิจมหาศาลยากที่จะประเมิน ในประเทศไทยได้มีการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาโรคดังกล่าวปรากฏว่าหายขาดไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู จึงได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอจัดทำโครงการสมุนไพรต้านภัยโควิด-19 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1 ผลิตฟ้าทะลายโจรแจกเกษตรกรและประชาชนทั่วไป

2 ส่งเสริมเกษตรกรผลิตฟ้าทะลายโจรเชิงการค้าเชิงการค้า

โดยมีเป้าหมายผลิตฟ้าทะลายโจรภายในปี 2565 ไม่น้อยกว่า 20,000 ต้นโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้

1.ผลิตแปลงแม่พันธุ์โดยรวบรวมต้นพันธุ์จากพื้นที่ต่างๆไม่น้อยกว่า 3,000ต้น

2.ขยายพันธุ์แก่เกษตรกรในจังหวัดหนองบัวลำภู

3 ส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจจะปลูกเป็นการค้าโดยเน้นเป็นกลุ่ม เช่นวิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่  โดยจะสนับสนุนความรู้วิชาการ กระบวนการผลิต และส่งเสริมด้านการตลาดด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากฟ้าทะลายโจรจากอดีตราคาซื้อขายตันละประมาณ 20,000 บาทเศษ ขณะนี้ได้ขยับตัวสูงขึ้นอีกกว่าเท่าตัวและยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีของเกษตรกรที่จะปลูกฟ้าทะลายโจรสร้างรายได้โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ในแต่ละสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ทุกระดับ จะช่วยกันนำดินกรอกถุงดำและทยอยตัดชำต้นฟ้าทะลายโจรเป็นระยะ ๆ แล้วจะทยอยทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์คาดว่าจะเริ่มแจกเกษตรกรได้ราวเดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

ดังนั้น เกษตรกรกลุ่มพืชสมุนไพร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือแปลงใหญ่ กลุ่มใด สนใจจะปลูกฟ้าทะลายโจรเชิงการค้าขอให้สมัครได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดหนองบัวลำภูหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู โทรศัพท์ 042-313301 , 042-316788


ภาพ / นายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่าย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เจ้าพนักงานธุรการ คนงาน พนักงานขับรถยนต์ ร่วมกันผลิตขยายพันธุ์ฟ้าทะลายโจร

ร้อยเอ็ด - สั่งทิ้งทวน...แลนด์มาร์คแห่งใหญ่! พ่อเมืองร้อยเอ็ดมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อประโยชน์สาธารณะ

เมื่อเวลา 09.00 น. นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระพรหมวชิรโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 (ธ) เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย , พระราชพรหมจริยคุณ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ดจะเอาวาดวัดบ้านเปลือยใหญ่ , พระราชปริยัติวิมล เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ) , พระญาณวิลาศ รองเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธ) , นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด , นายสมชัย คล้ายทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สืบเนื่องจากการประชุมฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 เรื่องการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำจังหวัด มีมติที่ประชุมเห็นชอบการก่อสร้างพระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด และผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด คำสั่งจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ 2703/2564 ประกอบกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 ควรมีการจัดตั้งพุทธศาสนสถาน ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับพุทธมณฑลในส่วนภูมิภาคให้แพร่หลายเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นส่วนสาธารณะ ที่สงบ ร่มรื่น ราษฎรสามารถใช้ออกกำลังกายได้ ประกอบพิธีทางศาสนา ประชุมปรึกษาเรื่องทางศาสนา และใช้เป็นสถานที่แสดงธรรมได้

จังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้กำหนดให้มีการประชุมขึ้นในครั้งนี้โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาในวาระสำคัญ ดังนี้

1. หารือถึงปัญหาการขับเคลื่อนการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ดในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางการแก้ไข

2. การมอบหมายภารกิจที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับการขับเคลื่อนการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด ด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนแม่บท ด้านการจัดทำแบบแปลนและรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การขอใช้พื้นที่อ่างธวัชชัยเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด การนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดท่านใหม่ที่มารับหน้าที่ให้รับทราบเรื่องการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย

3. การจัดหางบประมาณในการก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด

4. การเตรียมจัดทำแผนเพื่อบูรณาการกับแผนพัฒนาจังหวัด 

ทั้งนี้ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อ่างเก็บน้ำธวัชชัย เช่น กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม พร้อมให้จัดทำผังการพัฒนาเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง พร้อมย้ำว่าการพัฒนาของจังหวัดร้อยเอ็ดควรเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยควรทำเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะการดูแลผู้สูงวัย เนื่องจากจังหวัดร้อยเอ็ดมีศักยภาพด้านการสาธารณสุข พร้อมทั้งต้องพัฒนาพื้นที่โดยรอบควบคู่ไปกับการสร้างพุทธมณฑลจังหวัดร้อยเอ็ด


ภาพ/ข่าว  โกสิทธิ์ / ร้อยเอ็ด(ห)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top