Wednesday, 26 June 2024
GoodsVoice

‘ศาลปกครองสูงสุด’ ยกฟ้องคดี ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ด้าน ‘รฟม.’ ฉลุยเซ็นฯ ‘BEM’ เข้ารับงานทั้งระบบ

(12 มิ.ย. 67) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางยกฟ้องในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค. 65 และเอกสาร

สำหรับการคัดเลือกเอกชนที่มีการ เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและ หลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563

โดยศาลปกครองสูงสุดระบุเหตุผลว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.65 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ที่ออกโดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่มีลักษณะประการใดที่จะทำให้เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังจากมีการต่อสู้กันมายาวนานกว่า4ปี ซึ่งหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในวันนี้จะทำให้ รฟม.สามารถเซ็นสัญญากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐได้ภายในปีนี้

‘ไทย’ ขึ้นแท่นอันดับ 1 ‘ประเทศน่าเยี่ยมชมที่สุด ปี 2024’ จุดขาย!! ‘อาหาร-ศิลปวัฒนธรรม-สถานที่ท่องเที่ยว’

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 67 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าภาพที่ดีจนไทยได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในปี 2024 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime, 2024) รวมทั้งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงทุกปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

ขณะเดียวกัน การจัดอันดับในครั้งนี้ดำเนินการโดยนิตยสาร CEOWORLD ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจชื่อดัง ใช้วิธีจัดอันดับโดยการเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากผู้อ่านมากกว่า 295,000 ราย ที่มีต่อ 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดเป็นอันดับ 1 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime) ในปีนี้ ด้วยคะแนนร้อยละ 72.15

โดยทางนิตยสาร CEOWORLD ระบุว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยทำให้ได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น สีสันยามค่ำคืน อาหารอร่อย ศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา แหล่งช็อปปิ้งที่ขึ้นชื่อ แม่น้ำลำคลองที่คดเคี้ยวอย่างสวยงาม วัดของศาสนาพุทธ ตลาดกลางคืน ตลาดน้ำ และสวนสาธารณะสุดพิเศษ

สำหรับผลการจัดอันดับประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดประจำปี 2024 โดยนิตยสาร CEOWORLD ที่น่าสนใจ 10 อันดับแรก มีดังนี้…

- ประเทศไทย ได้คะแนนร้อยละ 72.15
- กรีซ ร้อยละ 67.22
- อินโดนีเซีย ร้อยละ 65.15
- โปรตุเกส ร้อยละ 64.32
- ศรีลังกา ร้อยละ 60.53
- แอฟริกาใต้ ร้อยละ 59.76
- เปรู ร้อยละ 59.76
- อิตาลี ร้อยละ 57.77
- อินเดีย ร้อยละ 57.65
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 57.38

ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของภูมิภาค หรือ Tourism Hub ซึ่งการเป็น Tourism Hub นั้น ถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่รัฐบาลมุ่งนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในทุกมิติ โดยในปีนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายรายได้ทางการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และจะทวีเพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญคือ

การยกระดับประสบการณ์ โปรโมตการท่องเที่ยวไทยในทุกมิติ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยก่อนการเดินทาง ให้ข้อมูลสำคัญกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่บนเครื่องบิน เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการในสนามบิน สร้างความประทับใจด้วยมัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยวที่มีมาตรฐาน สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

อีกทั้งยังมีการชูเอกลักษณ์ไทย หรือเสน่ห์ไทย นำเสนอเรื่องราว และเพิ่มมูลค่าด้วยการนำจุดแข็งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย ได้แก่ Must Beat มวยไทย, Must Eat อาหารไทย, Must Seek วัฒนธรรมไทย, Must Buy ผ้าไทย และ Must See โชว์ไทย

นอกจากนี้ เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองใกล้เคียง อาทิ เส้นทาง Lanna Culture เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง เส้นทาง UNESCO Heritage Trail มรดกไทย มรดกโลก ผ่านเส้นทางสุโขทัย-กำแพงเพชร และนครราชสีมา เส้นทาง NAGA Legacy นครพนม สกลนคร บึงกาฬ ตามรอยตำนานศรัทธาพญานาคเส้นทาง Paradise Islands ตรัง-สตูล หมู่เกาะแห่งอันดามันใต้ สวรรค์แห่งท้องทะเล เส้นทาง The Wonder of Deep South ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ใต้สุดแห่งสยาม มนต์เสน่ห์แห่งพหุวัฒน

ขณะเดียวกัน ยังมุ่งเน้น Hub of ASEAN เปิดประตูการท่องเที่ยวสู่อาเซียนให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานให้การเดินทางท่องเที่ยวไร้รอยต่อ

ตลอดจน World Class Event Hub ให้ไทยเป็นศูนย์รวม World Class Experience จากการนำ Event ระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในประเทศ ทั้งด้านดนตรี กีฬา อาหาร ไลฟ์สไตล์ ศิลปและวัฒนธรรม อาทิ จัดงานวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2567 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ Summer Sonic Bangkok 2024, KAWS Arts, Moto GP, Volleyball World Championship เป็นต้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ และชื่อเสียงให้กับประเทศ

Krungthai COMPASS วิเคราะห์เหตุ 'Subaru-Suzuki' หยุดผลิตในไทย สันดาปดรอป ทำตลาดยากขึ้น ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง 5 ปี

(13 มิ.ย.67) Krungthai COMPASS วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ค่ายรถยนต์ Subaru และ Suzuki ตัดสินใจหยุดสายการผลิตในไทยนั้น มาจาก…

1) การทำตลาดที่ยากขึ้นกว่าในอดีต สะท้อนจากยอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่ปรับตัวลงต่อเนื่องในระยะหลัง จากการที่ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ลดลงต่อเนื่อง

ซึ่งเมื่อหันกลับมามองโมเดลรถยนต์ที่ทั้ง Subaru และ Suzuki ใช้ทำตลาดในไทย พบว่าล้วนมีแต่รถยนต์ ICE แทบทั้งนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ 2) ปัญหาการขาดทุนที่สะสมอย่างต่อเนื่อง โดย 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) ค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ต้องเผชิญกับผลขาดทุนสุทธิสะสมรวมกันถึง 3,781 ล้านบาท

โดยในเบื้องต้นประเมินว่า เฉพาะเหตุการณ์ครั้งนี้อาจกระทบภาพรวมยอดผลิตรถยนต์ไทยไม่มาก เนื่องจากทั้ง 2 ค่ายรถยนต์มีสัดส่วนการผลิตไม่สูงนัก โดยคาดว่าการผลิตรถยนต์ลดลงราว 6,500 คัน ในปี 2568 จากคาดการณ์เดิมที่ 1,800,000 คัน เหลือ 1,793,500 คัน

อย่างไรก็ดี นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนแรกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่าจะมีค่ายรถยนต์รายอื่น ๆ ต้องหยุดสายการผลิตซ้ำรอยกับ Subaru และ Suzuki หรือไม่ เมื่อการแข่งขันจากยานยนต์ไฟฟ้ารุนแรงขึ้นต่อเนื่อง

ดีลเลอร์ควรพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับทั้ง 2 ค่ายรถยนต์ต่อไป หรือจะ Diversity ไปเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับค่ายอื่น ๆ

สำหรับเต็นท์รถมือ 2 มีความเสี่ยงที่อัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงในกรอบ -1.4% ถึง -0.4% ตามการปรับลดราคาขาย Subaru และ Suzuki มือ 2 ลงตามราคามือ 1 ที่ลดลง ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอัตรากำไรสุทธิโดยเฉลี่ยของธุรกิจซึ่งค่อนข้างบางที่ 1.2% เต็นท์รถรายใดไม่สามารถปรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้ลดลงได้ตามกำไรขั้นต้นที่หายไปก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขาดทุนได้

‘สุริยะ’ เร่งดัน ‘พ.ร.บ.ตั๋วร่วม’ ใช้ภายในปี 68 พร้อมสานต่อนโยบาย รฟฟ. 20 บาท ตลอดสาย

(13 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาโดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่ผ่านมา และผลการศึกษาโครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) โดยผลการศึกษาด้านนโยบายและแผนได้กรอบแนวทางและข้อเสนอแนะโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม สำหรับระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โครงสร้างค่าโดยสารร่วมและส่วนลดค่าโดยสารการเดินทางข้ามระบบ และอัตราค่าธรรมเนียมทางการเงินในระบบตั๋วร่วม แผนปฏิบัติการด้านการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม แผนการลงทุนและการพัฒนาระบบตั๋วร่วม แผนพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเดินทางและค่าโดยสาร แผนและแนวทางการติดตามประเมินผล

นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า สำหรับด้านกฎหมายได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวให้ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฯ ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ในระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยให้ สนข. เร่งรัดการเสนอร่าง พ.ร.บ. ฯ เพื่อกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในปี 2568 พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน การพัฒนาและการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมถึงการส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม

ทั้งนี้ นายสุริยะ เผยว่า ได้มอบหมายให้ สนข. กรมการขนส่งทางราง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการออกประกาศที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจาก พ.ร.บ. ฯ มีผลใช้บังคับแล้ว เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม

สำหรับร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ประกอบด้วย 7 หมวด และบทเฉพาะกาล (45 มาตรา) ดังนี้
การกำหนดคำนิยาม (มาตรา 1 - 4)
-หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (มาตรา 5 - 13)
-หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 14 - 23)
-หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 24)
-หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม (มาตรา 25 - 28)
-หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (มาตรา 29 - 34)
-หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา 35 - 36)
-หมวด 7 โทษทางปกครอง (มาตรา 37 - 40)
-บทเฉพาะกาล (มาตรา 41 - 45)

“กระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าการเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็วนั้น จะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาและส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในเดือนมีนาคม 2569 ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก มีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างยั่งยืน เพื่อความอุดมสุขของประชาชนอย่างแท้จริง” นายสุริยะ กล่าว 

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ อัดเงินลงทุน 2,300 ล้านบาท ปรับปรุง 2 สนามบิน ‘สมุย-ตราด’ รับนักท่องเที่ยว

(13 มิ.ย.67) นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2567-2569 บริษัทฯ มีแผนลงทุนพัฒนาศักยภาพการให้บริการสนามบิน 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2,300 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย วงเงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา และเตรียมการขออนุญาต รวมถึงการออกแบบในรายละเอียดต่าง ๆ โดยคาดว่า จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี แล้วเสร็จภายในปี 2568

ในเบื้องต้นได้วางแผนปรับปรุงสนามบินเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่พักคอย (Boarding gate) ภายในอาคารผู้โดยสาร จากเดิม 7 อาคาร เพิ่มเป็น 11 อาคาร และเพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอิน จำนวน 10 เคาน์เตอร์ รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย โดยเมื่อโครงการปรับปรุงสนามบินสมุยฯ แล้วเสร็จ จะช่วยรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้สนามบินสมุยมีผู้โดยสารขาเข้าอยู่ที่ 2 ล้านคนต่อปี และขาออก 2 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันมีผู้โดยสารขาเข้าอยู่ที่ 1 ล้านคนต่อปี และขาออก 1 ล้านคนต่อปี

ขณะเดียวกัน การปรับปรุงสนามบินสมุยดังกล่าว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองเที่ยวบินได้ 73 เที่ยวบินต่อวัน จากในปัจจุบันมีเที่ยวบินอยู่ที่ 50 เที่ยวบินต่อวัน สำหรับในขณะนี้ สนามบินสมุยมีจำนวนสายการบินที่เปิดให้บริการรวม 2 สายการบิน คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และสายการบินสกู๊ต (วันละ 1 เที่ยวบิน และเตรียมเพิ่มเป็นวันละ 2 เที่ยวบินในเร็ว ๆ นี้) นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีสายการบินของประเทศทิเบตสนใจเปิดเที่ยวบินมายังสนามสมุยด้วย ซึ่งตอนนี้ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แล้ว

นอกจากนี้ โครงการพัฒนาสนามบินตราด วงเงินลงทุนประมาณ 700-800 ล้านบาท ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการฯ คาดว่า จะเริ่มดำเนินก่อสร้างต้นปี 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1-2 ปี แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2569 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะใช้พื้นที่ประมาณ 200-300 ไร่ จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ อยู่ห่างจากพื้นที่สนามบินเดิมเล็กน้อย สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 200 กว่าคนต่อเที่ยวบิน จากปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 100 คนต่อเที่ยวบิน ส่วนอาคารผู้โดยสารแห่งเดิม จะปรับปรุงเป็นอาคารคลังสินค้า (Cargo)

ส่วนสนามบินตราด จะดำเนินการขยายระยะทางวิ่ง (Runway) จาก 1,800 เมตร ขยายเป็น 2,000-2,100 เมตร เพื่อให้รองรับเครื่องบินไอพ่นขนาดเล็ก รวมถึงเครื่องบินโบอิ้ง 737, แอร์บัส เอ320, แอร์บัส เอ319 จากปัจจุบันรองรับได้แค่เครื่องบิน ATR72-600 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสนามบินตราดนั้น เนื่องจากบริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของสนามบินตราดให้สามารถรองรับผู้โดยสารในเที่ยวบินที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ในอนาคต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ติดต่อและสนใจที่จะเดินทางมายังสนามบินตราด พร้อมทั้งจะพัฒนาให้เป็นสนามบินนานาชาติ (International Airport) และคาดหวังจะพัฒนาให้คล้ายกับสนามบินสมุยด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และความนิยมของผู้โดยสารต่อไป

นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวถึงเผยแผนการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ว่า จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ใน มิ.ย. 2567 คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในปี 2567 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นที่ 17.2% และในปี 2567 อุตสาหกรรมการบินจะสามารถกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ได้ แสดงให้เห็นถึงความต้องการเดินทางว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ดี บริษัทฯ จึงได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานในหลายมิติ เพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางในช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้า (Advance Booking) ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในทุกเส้นทาง พบว่า ยอดจองล่วงหน้าช่วง มิ.ย. - ธ.ค. 2567 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปี 2566 ส่วนไตรมาส 2 มีการเติบโตขึ้น 3% และไตรมาส 3 ซึ่งถึงเป็นช่วงพีคซีซั่นของเส้นทางสมุย  มีอัตราเติบโตขึ้น 11% โดยเส้นทางสมุยยังเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 65% ขณะที่ไตรมาส 4/2567 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทางช่วงวันหยุดยาวสิ้นปีนั้น มียอดการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 35%

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2567 นั้น ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาภายในว่า จะมีการปรับเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ผลมาจากจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มที่ดี แต่ในเบื้องต้นยังคงเป้าหมายเดิมไว้ โดยจะมีผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน มีจำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 86% จากในช่วงไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 80 กว่า % และไตรมาส 2 อยู่ที่ 76-78% โดยมีเป้ารายได้ผู้โดยสารรวม 17,800 ล้านบาท จากราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินประมาณ 3,900 บาทต่อที่นั่ง

ปัจจุบันสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีเครื่องบินทั้งสิ้นจำนวน 24 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินแอร์บัส เอ320 จำนวน 3 ลำ, เครื่องบินแอร์บัส เอ319 จำนวน 11 ลำ และเครื่องบิน ATR72-600 จำนวน 10 ลำ โดยในปี 2567 มีแผนปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 จำนวน 1 ลำ และจะจัดหาเครื่องบินแอร์บัส เอ319 เพิ่มจำนวน 2 ลำ เพื่อเป็นการรองรับอุปสงค์การเดินทางที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น

นายพุฒิพงศ์ ระบุว่า ในปีนี้ บริษัทฯ จะจัดทำเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และออกประกาศเชิญชวนผู้ผลิตเครื่องบินเข้าร่วมเสนอราคาเครื่องบินที่จะนำเข้าเพิ่มฝูงบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในอนาคต โดยในเบื้องต้นมีความต้องการประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ลำ อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะทยอยรับมอบเครื่องบินในจำนวนดังกล่าวภายใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้ในช่วง 3-5 ปีนี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีเครื่องบินรวมประมาณ 30 ลำ

‘บีโอไอ’ ชี้ Q1/67 ต่างชาติแห่ลงทุน ‘ไทย’ เพิ่มขึ้น 94% มูลค่า 228,207 ลบ. สะท้อน!! ความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย

(13 มิ.ย.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลัง บีโอไอ และธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนของอาเซียน ว่า…

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพและความพร้อมหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและทักษะขั้นสูง รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนเชิงรุกจากภาครัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

โดยที่ผ่านมารัฐบาลและบีโอไอได้เดินหน้าออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมชักจูงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงการสำคัญของบริษัทรายใหญ่จากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขการลงทุนทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ด้วยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 8.48 แสนล้านบาท เติบโต 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น FDI กว่า 6.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 72%

ทั้งนี้ บีโอไอเชื่อว่ากระแสการลงทุนจากต่างประเทศจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 67 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย

2 ภารกิจสุดหิน ‘ลดค่าไฟฟ้า-สร้าง SPR’ ใต้บังเหียน ‘พีระพันธุ์’ โจทย์ยากที่ต้องทำให้เกิด แม้เลยเถิดไปขัดขาประโยชน์บางกลุ่ม

เมื่อผลการสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนคนไทยต่อการบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ในการบริหารงานครบ 6 เดือน) โดย ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรากฏออกมา พบว่า ภาพรวมประชาชนมีความพอใจมากถึงมากที่สุดต่อการบริหารงานของรัฐบาล 44.3% โดยนโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาลที่ประชาชนมีความพึงพอใจมาก-มากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ 68.4%, มาตรการพักหนี้เกษตรกร 38.9%, มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 33.1%, มาตรการลดค่าไฟ 32.8% และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 29.3%

สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค 75.3%, ลดค่าไฟฟ้า 46.6%, แก้ปัญหาน้ำมันราคาแพง 29.5%, แก้ปัญหายาเสพติด 26.3% และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ 16.9%

จะเห็นได้ว่าเรื่องที่พี่น้องประชาชนคนไทยต้องการให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด 2 ใน 5 เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานที่ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลอยู่

ความแตกต่างในเรื่องราวเกี่ยวกับความพอใจของพี่น้องประชาชนคนไทยนั้น มีองค์ประกอบเงื่อนไข ปัจจัยที่อธิบายได้ดังนี้ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ เป็นนโยบายที่ต่อยอดมาจากนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคนแรก และเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานงานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย เป็นผู้ที่ได้วางรากฐานเอาไว้ และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี 

ในขณะที่มาตรการพักหนี้เกษตรกร รัฐบาลสามารถให้นโยบายแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ไปดำเนินการได้เลย 

สำหรับมาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นภารกิจของกระทรวงท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งอยู่แล้ว และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบรัฐบาลสามารถใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่โดยกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการได้เลย

งานยากที่สุดใน 5 อันดับที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความพอใจก็คือ ‘มาตรการลดค่าไฟ’ เพราะทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การกำกับดแลของคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าการออกใบอนุญาตผลิตกระแสไฟฟ้า การกำหนดราคาค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะค่า Ft (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวณเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ เป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน

สิ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ทำได้ก็คือ ใช้มาตรการต่าง ๆ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานเพื่อให้ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่า Ft ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่พยายามแสวงหาวิธีการและมาตรการใหม่ ๆ เพื่อทำให้ค่า Ft ต่ำที่สุด เรื่องที่กำลังทำอยู่คือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR: Strategic Petroleum Reserve) โดยนอกจากจะได้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG อันเป็นก๊าซหุงต้มที่พี่น้องประชาชนคนไทยใช้กันมากที่สุดแล้ว การสำรองก๊าซ LNG อันเป็นก๊าซเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของบ้านเราในปัจจุบันก็จะมีการสำรองเก็บไว้ด้วย 

ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่มีเครื่องมือ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะช่วยในการดำเนินงานเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทั้ง LPG และ LNG ถูกลง และการสำรองเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นเรื่องของเอกชนผู้ค้าน้ำมัน ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจึงไม่มีเชื้อเพลิงสำรองในมือเลย จึงทำให้ภาครัฐไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรองใด ๆ กับภาคเอกชน เพราะหากมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะถือครองเชื้อเพลิงเองเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ 50-90 วัน ซึ่งปริมาณน้ำมันสำรองดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการต่อรองและเป็นการถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองใน SPR จะมีการจำหน่ายหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ภาครัฐสามารถรู้ต้นทุนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้โดยตลอด

ทั้งนี้เมื่อประกอบกับมาตรการที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ประกาศออกมา อาทิ ประกาศกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 เพื่อ ‘รื้อ’ ระบบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลทุกวันที่ 15 ของเดือนซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี และที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการคือ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าต้องแจ้งให้กระทรวงพลังงานทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับราคากันทุกวันเช่นปัจจุบันนี้ โดยให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงตามที่ราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยของผู้ค้าน้ำมันในงวดเดือนนั้น ๆ ณ วันที่มีการปรับราคานั้น

การลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แม้จะเป็นภารกิจที่สุดหิน แต่ ‘พีระพันธุ์’ ก็เต็มใจทำด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ แม้เรื่องเหล่านี้จะไม่ง่าย ทั้งอาจขัดผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางพวกบางกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกแบบ จัดทำกฎหมายให้มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขสูงสุดและสนองตอบความต้องการอันเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน

'รัฐบาล' ไฟเขียว!! ช่วยเหลือค่าปุ๋ยชาวนา 3 หมื่นล้านบาท อุ้มเกษตรกร 4.48 ล้านครัวเรือน รอชง ‘ครม.’ ภายใน มิ.ย.นี้

(14 มิ.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เสนอ

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือเกษตรกรในการซื้อปุ๋ยครึ่งหนึ่ง และเกษตรกรออกเองอีกครึ่งหนึ่ง รวมวงเงินที่จะใช้ดำเนินการทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท มีปุ๋ยรวมทั้งหมด 14 สูตร ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อให้โครงการสามารถเริ่มได้ทันฤดูการผลิตปี 67/68

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการปลูกข้าวให้เกษตรกร โดยรัฐบาลจะสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกร ในปีการผลิต 67/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกรปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 0.20 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 120 ล้านไร่

'บอร์ด ตลท.' เคาะ!! 'อัสสเดช คงสิริ' นั่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14

(14 มิ.ย. 67) แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีมติเลือก นายอัสสเดช คงสิริ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 14 แทนนายภากร ปีตธวัชชัย ที่จะครบวาระในกลางเดือนมิถุนายน 2567 นี้

นายอัสสเดช คงสิริ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาทางการเงิน ‘ดีลอยท์ ประเทศไทย’ (Deloitte Thailand)

ส่วนประวัติ ‘นายอัสสเดช คงสิริ’ มีประสบการณ์ตลาดเงินตลาดทุนมาเกือบ 30 ปี ในการทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีประสบการณ์ด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) กว่า 20 ปี โดยได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (M&A)

โดยจบการศึกษาจากโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ (Charterhouse School) ปี 2532 ประเทศอังกฤษ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) พร้อมทั้งจบ MIT Sloan School of Management MBA, Financial Management

เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งวิศวกรโครงการ (Project Engineer) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มานาน 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2536-2546 และย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ J.P. Morgan ระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2546-2548

ถัดมาได้เข้าร่วมงานกับธนาคารแห่งอเมริกา (Bank of America) เป็นระยะเวลาเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2548-2555 และเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในช่วงปี 2556-2565 หรือทำงานอยู่เกือบ 10 ปี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ในช่วงที่การบินไทยประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

และนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2565 จนถึงปัจจุบัน ได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าทีมที่ปรึกษาทางการเงิน ‘ดีลอยท์ ประเทศไทย’ (Deloitte Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชี 1 ใน 4 แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก

‘พีระพันธุ์’ ชี้ช่อง ‘ก.เกษตรฯ-ก.พาณิชย์’ แก้ปัญหา ‘ราคาปาล์มตกต่ำ’ ต้องขึ้นทะเบียนลานเท-คุมราคาหน้าลาน-คุยผู้ค้าฯ รับซื้อ B100 ราคาสูงขึ้น

(14 มิ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการรับซื้อปาล์มจากเกษตรกรที่มีราคาตกต่ำ ก่อนการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาว่า…

การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุม ครม. เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอให้ทางกระทรวงพลังงานช่วยดำเนินการให้ผู้ค้าน้ำมัน เช่น บมจ. ปตท. และ บมจ. บางจาก รับซื้อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ B100 ที่นำมาใช้ผสมน้ำมันดีเซล ในราคาประมาณ 33-35 ต่อกิโลกรัม ตามที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประกาศไว้ โดยทางกระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นว่า หากผู้ประกอบการผลิตน้ำมันปาล์ม B100 สามารถขายได้ในราคาสูงขึ้น ก็จะสามารถไปรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบหรือ CPO จากโรงหีบหรือโรงสกัดในราคาสูงขึ้นได้ แล้วโรงหีบหรือโรงสกัดก็จะไปซื้อผลปาล์มจากลานเทในราคาสูงขึ้น ทำให้ลานเทสามารถขยับราคารับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรสูงขึ้นได้ตามลำดับ

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้รับเรื่องที่จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริง  และจากการตรวจสอบพบว่ากระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะบังคับให้ผู้ค้าน้ำมันรับซื้อน้ำมันปาล์ม B100 ในราคาที่ สนพ. ประกาศ และประกาศของ สนพ. มีเพื่อใช้ประโยชน์ภายในของ สนพ. เท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาใช้เป็นราคาซื้อขายแบบประกาศของกระทรวงพาณิชย์

นายพีระพันธุ์เสนอแนะว่า หากต้องการจะช่วยเหลือเกษตรกรจริง ๆ แล้ว ควรให้กระทรวงพาณิชย์กำกับให้ลานเทรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตามกฎหมายมากกว่า เพราะปัญหาในปัจจุบันก็คือ ลานเทส่วนมากไม่รับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ในขณะที่โรงหีบหรือโรงสกัดส่วนใหญ่กลับเป็นผู้รับซื้อผลปาล์มจากลานเทตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ

นายพีระพันธุ์ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาการรับซื้อผลปาล์มที่ลานเทว่า ปัจจุบันยังไม่มีการขึ้นทะเบียนลานเทว่า มีจำนวนเท่าใด ขนาดใด ในขณะที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำราคามาตรฐานของราคาปาล์มในแต่ละขั้นตอนไว้ว่า หากราคาขาย CPO อยู่ที่ 32-33 บาท ราคารับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรที่ลานเทจะต้องอยู่ที่ประมาณ 5.50 - 5.75 บาท ซึ่งปัจจุบันราคา CPO อยู่ที่ 32-33 บาท 

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ควรต้องประกาศราคารับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรที่ลานเทในราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาท จึงจะเป็นการช่วยเกษตรกรได้อย่างแท้จริงมากกว่าการขึ้นราคาซื้อ B100 แต่ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ประกาศราคารับซื้อผลปาล์มที่ลานเทที่ประมาณ 4.10 - 4.50 บาทเท่านั้น ขณะที่ลานเทรับซื้อจริงที่ประมาณ 3.90 บาทเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เกิดปัญหา

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ได้นำเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวในการหารือระหว่างรัฐมนตรีทั้ง 3 กระทรวง ก่อนการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมหารือด้วย ซึ่งรัฐมนตรีทุกท่านเห็นด้วยกับแนวทางที่นายพีระพันธุ์เสนอ โดยตกลงกันว่าจะให้เจ้าหน้าที่พลังงานจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด รวมทั้งเกษตรจังหวัด ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบการรับซื้อผลปาล์มที่ลานเทในทุกจังหวัด และกระทรวงพาณิชย์จะไปพิจารณาปรับปรุงประกาศกำหนดราคารับซื้อผลปาล์มตามตารางของกรมการค้าภายในต่อไป

ด้านนายพีระพันธุ์จะมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานหารือขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันให้รับซื้อ B100 ในราคาที่สูงขึ้น โดยจะกำหนดให้ผู้ประกอบการผลิต B100 ต้องจัดการให้โรงหีบหรือโรงสกัดและลานเทที่เป็นคู่ค้าในแต่ละช่วงมาทำข้อตกลงว่าจะปรับราคารับซื้อผลปาล์มในแต่ละช่วงขึ้นเป็นสัดส่วนเดียวกัน เพื่อให้ประโยชน์ตกแก่เกษตรกรอย่างแท้จริง โดยที่ประชุมตกลงกันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ไปกำกับดูแลในพื้นที่และทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนลานเทให้ถูกต้องต่อไป 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top