Saturday, 29 June 2024
GoodsVoice

‘ค้ำคูณ-KHamKoon’ สามล้ออีวี ฝีมือคนไทย ตอบโจทย์ขับเคลื่อนศก. ควบคู่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

‘สามล้อ’ เป็นหนึ่งในยานพาหนะขนส่งซึ่งผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คือ ‘สกายแล็บ (Skylab)’ รถสามล้อเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่เมื่อโลกเผชิญกับคลื่นความร้อน การพัฒนารถอีวีเข้ามาทดแทนระบบสันดาป ประเทศไทยก็มีการพัฒนาสามล้ออีวีรูปลักษณ์ทันสมัย สวย เก๋ เท่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า ‘KHamKoon’ หรือ ค้ำคูณ

สามล้ออีวี KHamKoon พัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ (RMT) ร่วมกับ บริษัท เทคโนโลยีอีสานเหนือ จำกัด โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ จังหวัดอุดรธานี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตอบรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงที่มาของโครงการว่า สามล้อ ‘KHamKoon’ ถูกพัฒนาด้วยแนวคิดให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการขนส่งสาธารณะในจังหวัดอุดรธานี ที่กำลังเติบโตรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในอนาคต แต่การทำอะไรต้องแตกต่างจากคนอื่น ถ้าทำเหมือนคนอื่นเราก็ไม่ก้าวหน้า บุคคลหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญของโครงการนี้คือ คุณวิกรม วัชระคุปต์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ซึ่งเดินทางไปทำงานที่อุดรธานีบ่อยครั้ง และรู้จักกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ปรึกษาว่าจะทำอะไรร่วมกับอุตสาหกรรมในอุดรธานีดี ผมเสนอว่าลองทำรถสามล้อดีไหม เนื่องจากคนที่นั่นนิยมใช้รถสามล้อสกายแล็บ แต่ยังติดขัดเรื่องความปลอดภัย ความทันสมัย อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ และในมุมของวิศวกรรมก็มีจุดที่ต้องปรับปรุงหลายจุด ประกอบกับอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เป็นหัวเมืองสำคัญที่จะเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เป็นหนึ่งสถานีที่รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ก่อนเข้าหนองคาย เชื่อมต่อไป สปป.ลาว ถ้ารถไฟความเร็วสูงมา เมืองต้องปรับเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

“ในมุมของคนอุดรธานี มีกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองด้วยคีย์เวิร์ดคือ ‘เมืองเดินได้’ หมายถึงคนไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง แต่หันมาใช้รถสาธารณะแทน แล้วรถสาธารณะอะไรที่ตอบโจทย์ความเป็นเมืองที่มีขนาดกะทัดรัดเช่นอุดรธานี นั่นก็คือ micro mobility ผนวกกับเรามีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการที่ผลิตรถสกายแล็บในอุดรธานี คุยกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และ วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ และเห็นว่าการพัฒนารถสามล้ออีวี KHamKoon จะทำให้นักศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ได้เรียนรู้นวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่ เมื่อได้ภาคเอกชนมาร่วม เราก็ดีไซน์สามล้ออีวี ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนาแบบ พัฒนาเทคโนโลยี ทำโปรโตไทป์ จากนั้นจึงเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. และได้รับการอนุมัติ โดยเอกชนคือวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับให้ใช้สถานที่ของวิทยาลัยพัฒนาต้นแบบรถสามล้อ KHamKoon” ดร.เอกรัตน์ กล่าว

โครงการรถต้นแบบ ‘สามล้อ KHamKoon’ เริ่มดำเนินการช่วงเดือนกันยายน 2565 สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งสำเร็จได้ด้วยงานวิจัยยุคใหม่ ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานตั้งแต่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการขนส่งแห่งอนาคต มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาธุรกิจ  ภายใต้บริบทเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบรับกับเมืองแห่งอนาคต

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่แค่การผลิตรถยนต์สามล้ออีวีออกมาขายเท่านั้น แต่ต้องการให้รถสามล้อ KHamKoon ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมฐานราก ให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งการผลิต การท่องเที่ยว การบริการ ขับเคลื่อนจีดีพีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“ต้องขอบคุณ บพข. ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ดี สนับสนุนงานวิจัยที่สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง ซึ่งการขนส่งแห่งอนาคต เป็นหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ” ดร.เอกรัตน์ กล่าว

ดร.วัลลภ รัตนถาวร นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตและซ่อมบำรุง ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. เล่าถึงการวิจัยและพัฒนาว่า รถสามล้อทั่วไปจะมีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ใกล้กับล้อหน้า เมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วจะเกิดการสไลด์ ล้อยก หรือพลิกคว่ำได้ง่าย ทีมวิจัยจึงได้นำความเชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ออกแบบ ‘การเพิ่มเสถียรภาพในการเข้าโค้งให้แก่รถ’ โดยเทคโนโลยีเฉพาะที่พัฒนาขึ้น คือ ‘มอเตอร์ควบคุมการขับเคลื่อนที่ควบคุมล้อแต่ละล้อได้อย่างอิสระตามสถานการณ์การขับขี่แบบอัตโนมัติ’ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้งานพบว่า ผู้ขับขี่สามารถขับรถต้นแบบ KHamKoon แล้วกลับรถหรือเปลี่ยนทิศทางรถอย่างรวดเร็ว (J-turn) ที่ความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย ตรงตาม มอก. 3264-2564 ที่เป็นมาตรฐานสากล

“เทคนิคสำคัญการออกแบบสามล้อ KHamKoon มี 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ซึ่งเป็นตามเทรนด์ใหม่ เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นระบบไฟฟ้า 2. ด้านวิศวกรรม ต้องออกแบบตัวรถให้มีความมั่นคง แข็งแรง น้ำหนักเบา และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และ 3. ต้องวิ่งได้ดี มีความปลอดภัย เนื่องจากธรรมชาติของรถสามล้อ ต้องเลี้ยวในพื้นที่แคบ อาจเกิดการพลิกคว่ำ การสไลด์ หรือรถยกตัวได้ง่าย เราจึงใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรม มาแก้ปัญหาเชิงโครงสสร้าง จนผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากล” ดร.วัลลภ กล่าว

สำหรับโครงสร้างรถ ทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์โครงสร้าง ซึ่งอยู่ในกลุ่มวิจัยเดียวกัน ได้ดำเนินการออกแบบใหม่ โดยปรับแต่งให้เป็นรถที่คงไว้ซึ่งลักษณะเค้าโครงเดิมของสกายแล็บ แต่มีความทันสมัย แข็งแรงและปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยได้ใช้หลักการ finite element analysis หรือการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการสร้างแบบจำลองยานยนต์ด้วยเทคโนโลยี simulation จนได้เป็นผลงานการออกแบบ ‘โครงสร้างรถที่มีศักยภาพในการเป็นเกราะเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร’

ส่วนประเด็นด้านการเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จากระบบสันดาปภายใน ให้เป็นระบบไฟฟ้า (อีวี) โดย KHamKoon ผ่านการออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่ความจุ 12 kWh เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้วิ่งได้ระยะทาง 120-150 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ด้วยแท่นชาร์จ AC type 2 ที่มีให้บริการทั่วไปในปัจจุบัน และสามารถปรับการผลิตรถให้ใช้แบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้น และใช้รูปแบบการชาร์จแบบเร็ว (fast charge) ได้ หากมีความต้องการในอนาคต

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ส่งมอบรถต้นแบบ KHamKoon คันแรกให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีแล้ว ในเบื้องต้น สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้าหมายนำต้นแบบรถ KHamKoon มาใช้ในการทำแซนด์บ็อกซ์  ให้บริการรับส่งผู้โดยสารภายในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และรับส่งระหว่างโรงพยาบาลกับที่จอดรถซึ่งอยู่ห่างออกไป 1-2 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดภายในสถานพยาบาลและพื้นที่โดยรอบ  พร้อมกับพัฒนาความพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่จุดจอดให้บริการรถ สถานีชาร์จ แอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถ เพื่อให้การใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดเป็นเรื่องง่าย

ขณะเดียวกัน ก็มีการพัฒนากำลังคนร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ รวมถึงการอัปสกิล-รีสกิล บุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและซ่อมบำรุงรถอีวี ภายใต้แนวคิดคนในจังหวัดจะต้องผลิตและซ่อมบำรุงได้ด้วยตัวเอง เมื่อผ่านการพัฒนาถึงระดับพาณิชย์ สามล้อ KHamKoon จะมีราคาที่จับต้องได้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนระยะยาว ตามแผนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Next-gen Automotive) ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ในปี 2065

'SCB EIC' เผยผลสำรวจ!! Gen Y ไทย สถานะการเงินไม่สู้ดี ลูกจ้างยันฟรีแลนซ์มีรายได้ต่ำ 30,000 แถมไม่มีเงินเก็บสำรอง

(19 มิ.ย.67) BTimes รายงานว่า นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ มีดังนี้...

ในด้านภาคครัวเรือน ปรากฏว่า ผลการสำรวจ SCB EIC Consumer survey เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า ผู้บริโภคคนไทยราว 70% มีเงินสำรองฉุกเฉินไม่ถึง 3 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนที่สำคัญ เกือบทั้งหมดของคนกลุ่มนี้ ไม่มีเงินสำรอง ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 31 ถึง 40 ปี (เจนวาย) มีอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน และประกอบอาชีพอิสระ

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีมากกว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 33% ไม่มีประกันชนิดใดเลย จึงเป็นความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสะท้อนความเปราะบางสูงของผู้บริโภคกลุ่มนี้

สำหรับภาคธุรกิจนั้น โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มธุรกิจยังคงมีสถานะเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก หรือ Small Business ที่มีภาระหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย 

ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะมีผลช่วยเหลือในภาพกว้าง 

‘กระทรวงการคลัง’ เล็งพิจารณา ‘แพลตฟอร์มออนไลน์’ หลัง ‘Shopee-Lazada’ ขอร่วม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ด้วย

(19 มิ.ย.67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ อาทิ ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) แสดงความสนใจอยากเป็นร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งแพลตฟอร์มยืนยันว่าสามารถทำได้ โดยมีกลไกการันตีว่าของส่งได้ในพื้นที่ต่างๆ ตามที่กำหนดตำแหน่งได้ และการันตีได้ว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังก็จะไปดูรายละเอียดในส่วนนี้ให้ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขในปัจจุบันนี้ ดิจิทัลวอลเล็ต ยังไม่สามารถซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ เนื่องจากมีการควบคุมโลเคชั่น และยังเป็นการใช้จ่ายรูปแบบเผชิญหน้ากัน (face to face) เท่านั้น

นายจุลพันธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับสินค้าต้องห้าม โดยเป็นห่วงเรื่องการไหลสินค้านำเข้า ขณะที่โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนเป็นสินค้าที่นำเข้า มีแต่ที่ผลิตจากต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้นต้องดูมิติการผลิต และจ้างงานภายในประเทศ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปสรุปรายละเอียด เพื่อให้มีความชัดเจน และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะใช้ รวมทั้งต้องดูรายละเอียดว่าจะสามารถกำกับ ควบคุมการใช้จ่ายได้จริงหรือไม่

“เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ก็ไม่สามารถระบุได้ว่า สามารถซื้อได้เฉพาะยี่ห้อที่ผลิตในไทย แต่เรื่องสมาร์ทโฟนสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าผลิตในต่างประเทศเท่านั้น ส่วนในเรื่องกลไกการกำหนดเรื่องร้านค้าก็มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนด” นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการส่งหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องการใช้งบประมาณเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ยังมีระยะเวลาในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานของรัฐ ฉะนั้น กลไกในการขับเคลื่อนนโยบาย หากอยู่ในกรอบหน้าที่ ก็เป็นภาระหน้าที่ที่ ธ.ก.ส.ต้องดำเนินการ เราก็ดำเนินการตามกฎหมาย ธ.ก.ส.ก็ยินดีดำเนินการ ยืนยัน ว่าสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.ไม่ได้มีปัญหา

‘สุริยะ’ เดินหน้าแผน ‘ลดค่าทางด่วน’ ไม่เกิน 50 บาท นำร่อง ‘งามวงศ์วาน-พระราม 9’ มั่นใจ!! ได้ใช้ภายในปีนี้

(20 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้สั่งการให้หาแนวทาง ลดค่าทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ให้เหลือไม่เกิน 50 บาท ตลอดเส้นทาง (จากเดิมที่มีค่าทางด่วนสูงสุด 85 - 90 บาท) เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง โดยความคืบหน้าในขณะนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจน และเริ่มให้ประชาชนจ่ายค่าทางด่วนถูกลงภายในปี 2567 แต่อย่างไรก็ตามการลดค่าทางด่วนในอัตราไม่เกิน 50 บาทตลอดสายของทางด่วนช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ทาง กทพ. จะมีการประเมินทุก ๆ 10 ปี เพื่อปรับให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ตามสถานการณ์ในขณะนั้น 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การจราจรที่ติดขัดช่วงสายงามวงศ์วาน-พระราม 9 และภาพรวมในบริเวณดังกล่าว จึงจำเป็นต้องก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) โดยควรเร่งผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรที่ติดขัดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้การก่อสร้างโครงการดังกล่าว รัฐบาลไม่ต้องมีการลงทุนแต่อย่างใด โดยจะให้ทางผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด จึงต้องขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ไปอีก 22 ปี 5 เดือน โดยระยะเวลาสัญญาที่เพิ่มมานั้นมาจากการคำนวณทางการเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุน (Equity IRR) ตามหลักวิชาการ และความเป็นธรรม ซึ่งยืนยันได้ว่าจะไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ทั้งหมด ทั้งนี้หากมีการก่อสร้าง คาดใช้ระยะเวลา ประมาณ 4 ปี และจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการต่อไป

"ผมยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างแน่นอน แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายและเน้นย้ำว่า ทุกกระบวนการในการดำเนินงานนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความละเอียดรอบครอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้" สุริยะ กล่าว

‘รมว.ปุ้ย-SME D Bank' ผนึกพันธมิตร 'ภาครัฐ-มหาวิทยาลัย' ปั้นผู้ประกอบการยุคใหม่เปี่ยมศักยภาพ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 

เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 'ส่งเสริมและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs พร้อมเข้าสู่แหล่งทุนควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน' ระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank โดย นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดย ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดย ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดย ดร.สุพัตรา จันทนะศิริ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ณ อาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถปรับตัวตามเทรนด์โลกปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังเตรียมพร้อมเข้าถึงแหล่งทุนได้ด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีศักยภาพ ผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นรากฐาน จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมกันเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND  

“กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภายใต้กำกับ มุ่งเน้นสร้างประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยแนวคิด 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' หมายถึง 'รื้อ ลด ปลด' สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มากที่สุด ควบคู่กับ 'สร้างสิ่งใหม่ๆ' ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการสร้าง 'ความรู้' เพราะเมื่อมีความรู้แล้ว จะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ และใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญไม่ว่าจะมีวิกฤตใด ๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จะปรับตัว ก้าวตามทัน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างธนาคารกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะนำความเชี่ยวชาญและศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน มาเชื่อมโยงให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยครบวงจรอย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุคใหม่สู่การเป็น Smart SMEs ตั้งแต่การเติมความรู้ด้านการเงิน หรือ Financial Literacy ทักษะการบริหารธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดธุรกิจ และการเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน 

ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมแล้ว และต้องการเงินทุน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจาก SME D Bank ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อไว้รองรับ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับได้รับการพัฒนา ผ่านแพลตฟอร์ม 'DX by SME D Bank' (dx.smebank.co.th) ช่วยผู้ประกอบการต่อยอดยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการภาครัฐต่าง ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาส ขยายตลาดและผลักดันเข้าถึงนวัตกรรมสมัยใหม่ด้วย 

‘กรมประมง’ จัดอบรมผู้ควบคุมเรือไทย ในโครงการ ‘ไต๋รักษ์ชาติ’  หวังยกระดับความรู้-เพิ่มพูนทักษะ-สร้างการยอมรับในระดับสากล

(20 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมประมง ได้จัดโครงการ ‘ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง

ทั้งนี้ กรมประมงในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางด้านการประมงของประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของ ‘ผู้ควบคุมเรือ’ หรือ ‘ไต๋’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำประมง เป็นผู้หาปลา และเป็นหนึ่งในผู้สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้แก่มวลมนุษยชาติ ‘ไต๋’ เป็นอาชีพที่มีคุณค่า มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับอาชีพอื่น และในขณะเดียวกันยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้จัดการเรือประมง ที่จะพาภาคประมงไทยพัฒนาไปสู่เจ้าสมุทรอีกครั้งหนึ่ง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เจ้าของเรือประมงพาณิชย์กว่าร้อยละ 90 จ้าง ‘ไต๋’ เป็นผู้ควบคุมเรือเพื่อออกทำการประมง ในแต่ละปี ‘ไต๋’ สามารถทำการประมงมีผลจับกว่า 1.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 71,500 ล้านบาท 

ดังนั้น ‘ไต๋’ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการประมง การบริหารจัดการทรัพยากรประมง รวมถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ

เพื่อให้ภาคการประมงไทยบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นจึงเป็นการติดอาวุธความรู้ให้แก่ ‘ไต๋’ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ทั้งองค์ความรู้ด้านมาตรการการจัดการทรัพยากรประมง ด้านการจัดการประมงทะเล ด้านกฎหมายประมง ด้านกระบวนงานที่สำคัญในภาคการทำประมง รวมถึงกฎหมายประมงระหว่างประเทศ กฎหมายในระดับภูมิภาค และพันธสัญญากับองค์กรต่างๆ (RFMO) ให้แก่ ‘ไต๋’ ล้วนแล้วเเต่จะสร้างประโยชน์ให้กับไต๋เรือ เพิ่มพูนทักษะ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรองรับ ‘ไต๋’ เรือประมงพาณิชย์ นายท้ายเรือ และชาวประมง ที่ทำการประมงในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 50 คน

โครงการฯ ได้เชิญวิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และคณะทำงานร่วมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล (sea food task force) มาร่วมบรรยายในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติภาคสนามการปฐมพยาบาลและการใช้เวชภัณฑ์สำหรับใช้ในเรือ ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และยังมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Justice Foundation หรือ EJF เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการฝึกอบรมในครั้งนี้อีกด้วย

อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร ‘ไต๋รักษ์ชาติ’ แล้ว ‘ไต๋’ และผู้เข้ารับการอบรม จะมีความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการภาครัฐ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างถูกต้อง จะสามารถลดข้อผิดพลาดและป้องกันการกระทำความผิดในภาคการประมงที่ไม่ได้ตั้งใจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรของไทยให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตได้ การจัดฝึกอบรมในรูปแบบเช่นนี้ จะมีการขยายขอบเขตไปอบรมให้แก่ผู้ทำการประมงพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง ตอนล่างและฝั่งทะเลอันดามัน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามกำหนดการจัดฝึกอบรมในครั้งต่อไป จากทุกช่องทางสื่อสารของกรมประมง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ หรือกองบริหารจัดการเรือประมงและทำการประมง กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 02-562-0600

‘วิชัย ทองแตง’ แชร์ 3 เคล็ดไม่ลับปั้น Startup ไทยให้แกร่ง ‘พันธมิตร-เครือข่าย-ควบรวม’ ต้องปึ้ก!! ในยุคโลกหมุนไว

(20 มิ.ย.67) จากช่อง ‘GodfatherOfStartup’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอช่วงหนึ่งจากโครงการ ‘Chiangmai Web3 City And Metaverse เปิดสปอตไลท์ส่องหา Unicorn’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2565 ณ สถานที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลแม่เหียะ โดยคลิปดังกล่าวเป็นการบรรยายของ 'คุณวิชัย ทองแตง' Godfather of Startup ซึ่งมีเนื้อหาที่ให้มุมมองสำคัญต่อ Startup ไทยไว้อย่างน่าสนใจมากๆ โดยเนื้อหาในวันนั้นมีรายละเอียดดังนี้...

“เมื่อได้ฟังข้อสรุปสุดท้ายของท่านรัฐมนตรี (คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น) ที่ว่า ‘เดินเร็วหรือเดินช้า ไม่สำคัญเท่าเดินให้ถูกทาง การจับมือเดินร่วมกัน ของพวกเราในครั้งนี้ จะเป็นการจับมือเดินเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ดีกว่าเดิม และ Startup ของไทยเหล่านี้ คือ อนาคตที่ประเทศมองข้ามไม่ได้” ถ้อยคำจากคุณวิชัยที่ต้องการส่งสารไปถึง Startup ไทย

คุณวิชัย ยังได้กล่าวต่ออีกว่า “หลายท่านคงจะเคยอ่านหนังสือ 2 เล่มของผม (‘ลงทุนสไตล์ วิชัย ทองแตง’ และ ‘ปั้นหุ้น’) ผมอยากจะแนะนำให้กลับไปอ่านดูหน่อย แล้วเราจะเข้าใจบริบทของการทำธุรกิจเพื่อนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดทุนได้อย่างถูกต้อง เพราะคำตอบทั้งหลายอยู่ในหนังสือสองเล่มนี้หมดแล้ว”

ในวันนั้น คุณวิชัย ยังได้เผยถึงเศรษฐกิจช่วงดังกล่าวด้วยว่า “ช่วงนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ Startup หลายรายเริ่มปลดพนักงานออก เพื่อเก็บเงินสดเอาไว้ในมือ ดังนั้นผมจึงอยากจะนำสูตรหนึ่งมาแชร์เป็นเคล็ดลับเพื่อความมั่นคงแก่บรรดา Startup โดยผมอยากให้จับตามอง 3 สิ่ง ได้แก่ Recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย) / Inflation (เงินเฟ้อ) และ Stagflation (ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว)...

“เราหนี 3 สิ่งนี้ไม่ได้ในช่วงเวลานี้ ยังไงเราก็ต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจกำลังถดถอย และเงินเฟ้อขึ้นสูง อย่างวันนี้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไป 7.1% เมื่อปี 2013 เงินเฟ้อ 12% ว่างงาน 9% แต่ที่น่ากลัวคือ เรากำลังเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันระหว่าง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ เงินเฟ้อ บวกกับ GDP ประเทศลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แถมคนว่างงานมีเพิ่มขึ้น ของแพงขึ้น นี่เป็นสิ่งที่พวกเราควรต้องระวัง ศึกษาให้ถ่องแท้ จะมามัวตกใจไม่ได้ ต้องมีแผนสำรองใหม่ๆ อยู่ตลอด เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง ไม่ต้องคาดหวังสูง แต่ต้องเดิน ต้องปลุกใจ ให้กล้า เผชิญหน้า ท้าทาย ไม่ว่าจะยากแค่ไหน”

เกี่ยวกับประเด็น Startup ที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความปรารถนาสูงส่งในการสร้างความฝันอันยิ่งใหญ่ของตนเองแค่ไหน? คุณวิชัย ได้กล่าวในฐานะผู้กำลังปลุกปั้น Startup / SMEs และบริษัทที่จะมีศักยภาพเติบโตด้วยว่า “ก็ต้องถามกลับว่า พวกเรายังคงรักษาความฝันนี้ไว้หรือเปล่า เคยมีคำกล่าวจากอดีตประธานาธิบดีเยอรมนี (Angela Merkel) เคยบอกไว้ว่า [กำแพงเบอร์ลิน ไม่สามารถจำกัดความคิด ความเป็นตัวตนความฝัน และจินตนาการของฉัน เธอบอกให้พังกำแพงแห่งความเขลาและจิตใจที่คับแคบ ให้กับสิ่งที่มันมิอาจเป็นอยู่เช่นนั้นได้ตลอดไป เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง]” 

ในวันนั้น คุณวิชัย ยังได้ให้หลักการสำคัญผ่านคีย์เวิร์ดที่เรียกว่า ‘2G’ ไว้ด้วยว่า “ผมขอฝาก 2G เล็ก ที่จะทำให้กลายเป็น 2G ใหญ่ ไว้ดังนี้ ได้แก่ 1.Growth และ 2.Gain คุณต้องสามารถสร้างกำไรและการเติบโตให้ได้ เพราะถ้าคุณสร้าง Growth ได้แปลว่าคุณเข้าใจตลาด เข้าใจเส้นทางของธุรกิจ และถ้าคุณเข้าใจ Gain ได้ แสดงว่าคุณมีความสามารถในการบริหาร หรือก็คือถ้าคุณมี 2 องค์ประกอบนี้เมื่อไร โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนให้ไปต่อได้อย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้น บาง Startup สตาร์ทเท่าไหร่ก็ไม่อัป ส่วนบาง Startup พออัปแล้ว แต่ก็ไม่ต่อไม่ถูก ฉะนั้นต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า ‘What’s Next’ คำถามนี้ใช้ได้กับทุกๆ ธุรกิจ แล้วเราจะทำยังไงกันต่อไป”

เกี่ยวกับประเด็น ‘What’s Next’ ของ Startup คุณวิชัยก็ได้ให้หลักการสำคัญเพื่อสร้าง 2G ให้ใหญ่ขึ้นได้ด้วยว่า “เราต้อง ‘Collaboration’ หรือ ทำงานร่วมกัน หาพันธมิตร เพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน จับมือกันเติบโต ต่อมาคือ ‘Connection’ ทุกคนล้วนมีคอนเน็กชัน จะมากน้อยแค่ไหนเพียงใดไม่สำคัญ อยู่ที่คุณจะขยายเครือข่ายของตัวเองได้หรือไม่ เพราะนี่คือการลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจที่สำคัญอย่างมาก และสุดท้าย ‘Mergers & Acquisition’ หรือ การควบรวม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสูตรที่สามารถทำให้เราไปสู่เป้าหมายของความสำเร็จได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างที่ผมเองได้ตัดสินใจควบรวมกับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นการ M&A ที่ใหญ่มาก นั่นก็เพราะหากเราต้องการอะไรบางอย่าง (Wealth) เราก็ต้องยอมสูญเสียอะไรบางอย่าง ถ้าต้องการที่กระโดดให้ไกลกว่าเดิม ก็ต้องพร้อมที่จะย่อเข่า”

ท้ายสุด คุณวิชัย ยังได้ฝากถึง Startup รุ่นใหม่ด้วยว่า “แม้ความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ขอให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ทำลายคุณธรรม 3 ข้อ ได้แก่...

1. เราจะไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น
2. เราจะเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีคุณธรรม
3. เราจะแบ่งปันความรู้และโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยกว่า

พวกเราจงกระตุ้นตัวเองอยู่เสมอ เพื่อการก้าวไปข้างหน้า”

‘พ่อค้าแม่ค้าบุรีรัมย์’ เริ่มบ่น!! ลูกค้าซื้อน้อยลง หลังช่วงนี้ข้าวของต่างๆ ยังคงขึ้นราคาไม่หยุด

(20 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ลงพื้นที่สำรวจราคาไข่ไก่ และผักสดชนิดต่าง ๆ ในตลาดค้าปลีกเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พบว่า ตอนนี้มีพืชผักหลายชนิด ยังคงมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยในตลาด ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวของทุกอย่างแพงขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งคนขายและคนซื้อ รวมถึงคนซื้อก็เริ่มลดน้อยลงด้วย และเลือกซื้อเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจแผงผัก พบว่า ยังคงมีการจำหน่ายในราคาคงเดิม และไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด โดยบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อผักนำมาขายต่อ ต้องปรับกลยุทธ์การขาย เพื่อไม่ให้เสียลูกค้า โดยจะขายในราคาเดิม แต่จำนวนปริมาณจะลดน้อยลง อาทิ ถั่วฝักยาว จากแต่ก่อนเพียงไม่กี่สิบบาท ปัจจุบันราคาซื้อต้นทุนสูงถึงกิโลกรัมละ 90 บาท จากที่ก่อนหน้านี้แบ่งขายเฉลี่ยประมาณ 10-15 ฝัก 10 บาท ต้องนำแบ่งเหลือ 4-5 ฝัก 10 บาท ส่วนพืชผักชนิดอื่นๆ ก็ยังคงมีการปรับราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน และคาดว่าน่าจะมีการปรับราคาสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ต่างจากเนื้อไก่และไข่ไก่

โดยไข่ไก่ตอนนี้ก็มีการปรับขึ้นราคาหน้าฟาร์มด้วย ปรับขึ้นราคาแผงละ 6 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สูง ซึ่งปัจจุบันมีราคาขายหน้าแผงอยู่ที่ ไข่ไก่เบอร์ 0 ราคาแผงละ 160 บาท ,ไข่ไก่เบอร์ 1 ราคาแผงละ 150 บาท ,ไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาแผงละ 140 บาท ,ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาแผงละ 130 บาท และไข่ไก่เบอร์ 4 ราคาแผงละ 120 บาท ส่วนไข่เป็ดมี 2 ราคา คือแผงละ 150 กับ 160 บาทต่อแผง

ด้าน นางทองลอ กะเชื่อมรัมย์ เจ้าของร้านทองณภัสไข่ไก่สด อยู่ในตลาดค้าปลีกเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ บอกว่า ยึดอาชีพขายไข่มานานร่วม 30 ปี ตั้งแต่ปี 2540 ช่วงยุคไข้หวัดนกระบาด ก็ยังไม่เคยพบเคยเห็นว่าไข่ไก่จะมีราคาแพงมากถึงขนาดนี้ โดยทางผู้ค้าส่งแจ้งมาว่า ไข่ไก่ก็มีการปรับขึ้นราคาหน้าฟาร์มด้วย โดยจะมีราคาสูงขึ้นอีกเฉลี่ยแผงละ 6 บาท ซึ่งตั้งแต่ขายไข่มาร่วมจะ 30 ปี ก็ไม่เคบพบเคยเห็นว่า ไข่จะมีการปรับราคาสูงขึ้นถึง 6 บาทต่อแผง เคยเห็นอย่างมากก็แค่ 3 บาทต่อแผงเท่านั้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีการปรับราคาขึ้นในวันไหน แต่ทางผู้ค้าส่งได้แจ้งราคาขาย มายังพวกตนซึ่งเป็นผู้ค้าปลีก ว่าจะมีการปรับราคาไข่ไก่ขึ้นอีก

นางทองลอ บอกด้วยว่า ส่วนลูกค้าก็ยังคงนิยมซื้อไข่ไก่ ติดครัวไว้ประกอบอาหารรับประทานเช่นเดิม แต่เริ่มจะมีแนวโน้มการซื้อจะลดลงด้วย เนื่องจากรายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย จึงทำให้ไม่มีเงินที่จะจับจ่ายได้มากเหมือนก่อนหน้านี้ เพราะในช่วงนี้ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่าง มีราคาสูงขึ้นเรียกว่าแพงทุกอย่าง แม้กระทั่งไข่ไก่และไข่เป็ด ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักใช้ประกอบอาหารของทุกบ้านยังมีราคาแพง นอกจากส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคแล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็เดือดร้อนเช่นเดียวกัน เพราะจากที่เคยลงทุนซื้อไข่ไก่และไข่เป็ดมาขาย ต่อวัน 100 แผง เฉลี่ยราคาไม่ถึง 10,000 บาท แต่ทุกวันนี้หากซื้อไข่มาขาย 100 แผง จะต้องลงทุนถึง 15,000 บาท ทำให้ต้องหาเงินทุนมาเพิ่ม และหากเป็นไปได้ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา เพราะไข่ถือเป็นเมนูหลักที่แทบทุกบ้านต้องมีติดไว้ในครัวเรือน

ขณะที่ นางเย็น นะรารัมย์ เจ้าของแผงเย็นของชำ ซึ่งเปิดแผงขายทั้งผักสดและอาหารแห้ง ในตลาดค้าปลีกเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ บอกว่าตอนนี้มีพืชผักหลายชนิด ยังคงมีการปรับราคาต้นทุนสูงขึ้นกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง อาทิ ถั่วฝักยาว กิโลกรัมละ 90 บาท ,มะเขือเทศสีดาลูกเล็ก กิโลกรัมละ 100 บาท ,ลูกท้อกิโลกรัมละ 100 บาท โดยมีการปรับราคาสูงขึ้นมาหลายเดือนแล้ว และคาดว่าน่าจะยังมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากภาคขนส่ง ที่น้ำมันได้มีการปรับราคาขึ้นอย่างเรื่อย ๆ จึงทำให้สินค้าอุปโภค-บริโภค และที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

‘มาริษ’ เผย!! ภารกิจสำคัญต่อ 3 เพื่อนบ้าน 'เมียนมา-สปป.ลาว-กัมพูชา' หนุนความมั่นคงชายแดน เสริมการค้า-ท่องเที่ยว แก้ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน 

(20 มิ.ย.67) มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงภารกิจด้านการต่างประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มอบหมาย ภายใต้หัวข้อ 'IGNITE Thailand, Re-ignite Thai Diplomacy ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้วยการทูตมืออาชีพ' ในงาน Meet the Press#1 สื่อมวลชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมรับฟังอย่างล้นหลาม

แนวทางการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ยุค รมว.มาริษ ที่ถือเป็นลูกหม้อของกระทรวงฯ แบ่งออกเป็น 3 มิติ เริ่มตั้งแต่ มิติฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทย มิติต่อไป คือ ความเชื่อมั่นจากประชาคมโลกกลับคืนมา เมื่อโลกเชื่อมั่นแล้วไทยจึงกลับไปมีบทบาทนำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกครั้ง ส่วนมิติที่ 3 คือความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ รมว.บอกว่าแม้อยู่ข้อสุดท้าย แต่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และ World Pulse สนใจมิตินี้เป็นพิเศษ เพราะเพื่อนบ้านมีส่วนอย่างยิ่งกับความมั่นคง การท่องเที่ยว และซอฟต์พาวเวอร์ 

รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวอีกว่า นโยบายต่างประเทศของไทยเน้นส่งเสริมความมั่นคงแนวชายแดน ส่งเสริมการค้า ผลักดันการท่องเที่ยว และแก้ปัญหามลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน 

"เรื่องความมั่นคง ทุกสายตามองไปที่เมียนมา สถานการณ์ในเมียนมามีผลอย่างมากต่อความมั่นคงตามแนวชายแดน และไม่ได้แค่ส่งผลกระทบต่อไทยแต่ยังสะเทือนไปทั้งภูมิภาค สิ่งที่ไทยทำไปแล้วคือช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจสีเทา เราอยากเป็น Key player สร้าง Peace dialogue มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้เปราะบางต้องค่อย ๆ ทำ" 

รมว.มาริษ กล่าวอีกว่า ในด้านการท่องเที่ยว นโยบายสำคัญจากไอเดียนายกฯ เศรษฐา คือ 6 Countries 1 Destination โดยมีรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวเชื่อม ซึ่งจะทำให้ไทยมีบทบาทโดดเด่นมากในด้านนี้ และการท่องเที่ยวระหว่างเพื่อนบ้านสามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาเป็นตัวทำตลาดได้ด้วย เพราะเพื่อนบ้านมีค่านิยมร่วมกัน ถ้าบูรณาการกันได้จะก่อให้เกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้น 

เมื่อพูดถึงเรื่องเพื่อนบ้านกับซอฟต์พาวเวอร์ World Pulse รมว.มาริษ กล่าวว่า นึกถึงตอนที่ไปคุยกับดาตุ๊ก โจจี ซามูเอล (H.E. Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ในงานเทศกาลอาหารปีนังครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พ.ค. ท่านทูตชื่นชมกับแนวคิดของนายกฯ เศรษฐา เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน และยอมรับว่าไทยมีทรัพยากรมากกว่า ซึ่งมาเลเซียจะใช้ความเชี่ยวชาญจากไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเลเซีย ส่วนนโยบาย 6 Countries 1 Destination มาเลเซียได้ประโยชน์ด้วยแน่นอน 

“แนวคิดริเริ่มของนายกฯ เศรษฐาดีมาก นายกฯ ของผมยินดีซัพพอร์ตเต็มที่” ท่านทูตย้ำในวันนั้น สอดรับกับแนวทางที่ รมว.ต่างประเทศไทยพูดบนเวทีพอดี พูดเหมือนกันแบบต่างกรรมต่างวาระ แสดงว่านโยบายสอดคล้องตรงกัน

สำหรับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ รมว.ต่างประเทศไปเยือนอย่างเป็นทางการประเทศแรกเมื่อวันที่ 30 พ.ค. เป็นหนึ่งในนโยบาย 6 Countries 1 Destination โดยไทยจะเพิ่มการเชื่อมต่อทางรถไฟกับ สปป.ลาวและจีน นอกจากนี้การที่ สปป.ลาวได้ชื่อว่าเป็นแบตเตอรีแห่งเอเชีย ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดจึงเป็นสาขาสำคัญอีกสาขาหนึ่ง

ส่วนกัมพูชา นายกรัฐมนตรีไปเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2566 นโยบายของไทยคือ ส่งเสริมการค้าชายแดน กลับมาเจรจากันเรื่องพื้นที่ทับซ้อน จะมีการเปิดสถานกงสุลในเสียมเรียบและเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม ร่วมมือกันกำจัดมลพิษ PM2.5 และเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์

นี่เป็นแค่ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยังมีมิตรประเทศอีกกว่า 100 ประเทศที่ไทยมีสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความร่วมมือด้านธุรกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ทั้งหมดนี้ถ้าเป็นไปด้วยดีย่อม IGNITE Thailand ได้ ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนระดับรากหญ้าของทั้งสองประเทศ 

'รมว.ปุ้ย' หารือ 'ผบ.ทบ.' ดัน 'ฮาลาล' สร้างอาชีพ-ศก. 3 จว.ชายแดนใต้ เชื่อ!! หากผู้คนมีความเป็นอยู่ดี เศรษฐกิจดี ความขัดแย้งก็จะลดลง

(21 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าพบ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก เพื่อหารือถึงแนวทางการดําเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล การพัฒนาแนวทางการฝึกอาชีพให้แก่ทหารกองประจําการและการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า มาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็น Halal Valley โดยกลไกหนึ่ง คือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยจะสนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการบริการในพื้นที่ภาคใต้ และผลักดันให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาล โดยมีแผนปฏิบัติการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาฝึกอาชีพให้กับทหารกองประจําการ ก่อนที่จะปลดประจําการออกไป โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการฝึกอาชีพโดยการพัฒนาทักษะฝีมือตามความถนัด และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงการจัดหางานให้แก่ทหารกองประจําการ ภายหลังจากปลดประจําการไปแล้วให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสําคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกด้วยว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จำเป็นต้องปรับปรุงกรอบระยะเวลาการส่งออกให้มีความกระชับมากขึ้น โดยในปัจจุบันการขออนุญาตส่งออกยุทธภัณฑ์ ใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นจึงต้องหารือถึงแนวทางแก้ไขเพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตและการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย

ด้าน พล.อ.เจริญชัย กล่าวว่า พร้อมให้การสนับสนุนในทุกเรื่องที่ได้มีการหารือมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่ง รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้เร่งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินหน้าให้เป็นรูปธรรม 

อย่างไรก็ตาม รมว.อุตฯ เชื่อว่าอุตสาหกรรมฮาลาลจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย เพราะทหารทำงานเพียงลำพังไม่ได้ เพราะความมั่นคงไม่ได้เกิดจากทหารแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย ถ้าประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี เศรษฐกิจที่ดี ความขัดแย้งก็จะลดลง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top