‘มาริษ’ เผย!! ภารกิจสำคัญต่อ 3 เพื่อนบ้าน 'เมียนมา-สปป.ลาว-กัมพูชา' หนุนความมั่นคงชายแดน เสริมการค้า-ท่องเที่ยว แก้ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน 

(20 มิ.ย.67) มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงภารกิจด้านการต่างประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มอบหมาย ภายใต้หัวข้อ 'IGNITE Thailand, Re-ignite Thai Diplomacy ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ด้วยการทูตมืออาชีพ' ในงาน Meet the Press#1 สื่อมวลชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมรับฟังอย่างล้นหลาม

แนวทางการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ยุค รมว.มาริษ ที่ถือเป็นลูกหม้อของกระทรวงฯ แบ่งออกเป็น 3 มิติ เริ่มตั้งแต่ มิติฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทย มิติต่อไป คือ ความเชื่อมั่นจากประชาคมโลกกลับคืนมา เมื่อโลกเชื่อมั่นแล้วไทยจึงกลับไปมีบทบาทนำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอีกครั้ง ส่วนมิติที่ 3 คือความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ รมว.บอกว่าแม้อยู่ข้อสุดท้าย แต่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และ World Pulse สนใจมิตินี้เป็นพิเศษ เพราะเพื่อนบ้านมีส่วนอย่างยิ่งกับความมั่นคง การท่องเที่ยว และซอฟต์พาวเวอร์ 

รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวอีกว่า นโยบายต่างประเทศของไทยเน้นส่งเสริมความมั่นคงแนวชายแดน ส่งเสริมการค้า ผลักดันการท่องเที่ยว และแก้ปัญหามลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดน 

"เรื่องความมั่นคง ทุกสายตามองไปที่เมียนมา สถานการณ์ในเมียนมามีผลอย่างมากต่อความมั่นคงตามแนวชายแดน และไม่ได้แค่ส่งผลกระทบต่อไทยแต่ยังสะเทือนไปทั้งภูมิภาค สิ่งที่ไทยทำไปแล้วคือช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจสีเทา เราอยากเป็น Key player สร้าง Peace dialogue มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป แต่สิ่งเหล่านี้เปราะบางต้องค่อย ๆ ทำ" 

รมว.มาริษ กล่าวอีกว่า ในด้านการท่องเที่ยว นโยบายสำคัญจากไอเดียนายกฯ เศรษฐา คือ 6 Countries 1 Destination โดยมีรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวเชื่อม ซึ่งจะทำให้ไทยมีบทบาทโดดเด่นมากในด้านนี้ และการท่องเที่ยวระหว่างเพื่อนบ้านสามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาเป็นตัวทำตลาดได้ด้วย เพราะเพื่อนบ้านมีค่านิยมร่วมกัน ถ้าบูรณาการกันได้จะก่อให้เกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้น 

เมื่อพูดถึงเรื่องเพื่อนบ้านกับซอฟต์พาวเวอร์ World Pulse รมว.มาริษ กล่าวว่า นึกถึงตอนที่ไปคุยกับดาตุ๊ก โจจี ซามูเอล (H.E. Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ในงานเทศกาลอาหารปีนังครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พ.ค. ท่านทูตชื่นชมกับแนวคิดของนายกฯ เศรษฐา เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน และยอมรับว่าไทยมีทรัพยากรมากกว่า ซึ่งมาเลเซียจะใช้ความเชี่ยวชาญจากไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวมาเลเซีย ส่วนนโยบาย 6 Countries 1 Destination มาเลเซียได้ประโยชน์ด้วยแน่นอน 

“แนวคิดริเริ่มของนายกฯ เศรษฐาดีมาก นายกฯ ของผมยินดีซัพพอร์ตเต็มที่” ท่านทูตย้ำในวันนั้น สอดรับกับแนวทางที่ รมว.ต่างประเทศไทยพูดบนเวทีพอดี พูดเหมือนกันแบบต่างกรรมต่างวาระ แสดงว่านโยบายสอดคล้องตรงกัน

สำหรับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ รมว.ต่างประเทศไปเยือนอย่างเป็นทางการประเทศแรกเมื่อวันที่ 30 พ.ค. เป็นหนึ่งในนโยบาย 6 Countries 1 Destination โดยไทยจะเพิ่มการเชื่อมต่อทางรถไฟกับ สปป.ลาวและจีน นอกจากนี้การที่ สปป.ลาวได้ชื่อว่าเป็นแบตเตอรีแห่งเอเชีย ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดจึงเป็นสาขาสำคัญอีกสาขาหนึ่ง

ส่วนกัมพูชา นายกรัฐมนตรีไปเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2566 นโยบายของไทยคือ ส่งเสริมการค้าชายแดน กลับมาเจรจากันเรื่องพื้นที่ทับซ้อน จะมีการเปิดสถานกงสุลในเสียมเรียบและเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม ร่วมมือกันกำจัดมลพิษ PM2.5 และเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์

นี่เป็นแค่ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ยังมีมิตรประเทศอีกกว่า 100 ประเทศที่ไทยมีสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความร่วมมือด้านธุรกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ทั้งหมดนี้ถ้าเป็นไปด้วยดีย่อม IGNITE Thailand ได้ ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนระดับรากหญ้าของทั้งสองประเทศ 


ที่มา: Bangkokbiznews