Saturday, 29 June 2024
GoodsVoice

‘หอการค้าฯ’ ชี้!! บอลยูโรดันเงินสะพัด 8.7 หมื่นล้าน แต่ 6.7 หมื่นล้าน จะมาจากการเดิมพันพนันบอล

(11 มิ.ย.67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงฟุตบอลยูโร 2024 จะมีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 20,575 ล้านบาท และมีการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ หรือจากการเดิมพันพนันบอล 67,044 ล้านบาท ส่งผลให้ช่วงยูโร 2024 จะสร้างเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจไทย 87,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับการแข่งขันฟุตบอลยูโรครั้งก่อน และมากกว่าฟุตบอลโลกในปี 2022 ที่มีเงินสะพัด 75,000 ล้านบาท

ขณะที่ ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงฟุตบอลยูโร จากกลุ่มตัวอย่างกว่าพันคนทั่วประเทศพบว่าส่วนใหญ่จะใช้จ่ายมากกว่ายูโรครั้งก่อน โดยกิจกรรมที่มีการใช้จ่ายมากที่สุดคือ การซื้ออาหารและเครื่องดื่ม เฉลี่ยประมาณ 3,700 บาทต่อคน การทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านอาหารประมาณ 4,497 บาทต่อคน และการซื้อสินค้าของที่ระลึกทีมบอล 2,475 บาทต่อคน

นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมการเล่นพนันบอลเพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่าง 35.6% บอกว่าตัวเองจะเล่นพนันบอล ส่วนใหญ่พนันเป็นเงินสด โดยเฉลี่ยใช้เงินประมาณ 2,000 บาทต่อนัด หรือเฉลี่ยคนละ 23,574 บาทตลอดฤดูกาล ทีมที่คนไทยส่วนใหญ่เชียร์ 3 อันดับแรกคือ อังกฤษ, เยอรมนี และฝรั่งเศส ขณะที่ทีมที่คาดการณ์ว่าจะได้แชมป์ 3 อันดับแรกประกอบด้วยอังกฤษ, ฝรั่งเศส และสเปน ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อเจาะลึกไปถึงกลุ่มผู้บริโภคพบว่า สื่อที่ใช้ในการรับชม ฟุตบอลยูโร 2024 ในปีนี้ TV เป็นสื่อที่กลุ่ม Baby Boom ใช้รับชมมากที่สุด โดยกลุ่มดังกล่าวจะใช้ในการรับชมกับครอบครัว ขณะที่การรับชมผ่าน Website และ ผ่าน APP สตรีมมิ่งจะเป็นที่นิยมของกลุ่ม Gen X และ Gen Z

สิ่งที่น่าสนใจของพฤติกรรมผู้บริโภคในการรับชมฟุตบอลยูโร 2024 ในปีนี้ คือ คนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้สถานที่รับชมฟุตบอลนอกบ้านลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงฟุตบอลโลกปี 2022 ‘บ้าน’ เป็นสัดส่วนที่คนไทยมีการรับชมมากที่สุด อยู่ที่ 65.9% เพิ่มขึ้นจาก ฟุตบอลโลก2022 ที่มีสัดส่วน 34.6%

ขณะที่ร้านอาหารมีสัดส่วนการรับชมอยู่เพียง 5.7% ลดลงจาก ฟุตบอลโลก 2022 ที่มีสัดส่วน 20.7 ด้าน ลานกิจกรรม มีสัดส่วนการรับชมอยู่ 5.9% ลดลงจากฟุตบอลโลก 2022 ที่มีสัดส่วน 22.4 และ สถานบันเทิง มีสัดส่วนการรับชมอยู่ที่ 2.9% ลดลงจากฟุตบอลโลก 2022 ที่มีสัดส่วน 22.1% สิ่งที่น่าสนใจคือ บ้านเพื่อน เป็นสถานที่มีการรับชมฟุตบอลยูโร 2024 ที่มีการเติบโตสูงสุด หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 19.6% มากกว่าช่วง ฟุตบอลโลก 2022 ที่มีสัดส่วน เพียง 0.1%

'รมว.ปุ้ย' ยกทีม 'ก.อุตฯ' เชื่อมความสัมพันธ์ 'ไทย-จีน' ปูพรมทางด่วนการค้า 'นครศรีธรรมราช-หนานหนิง'

(11 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เผยถึงการยกคณะทำงานของกระทรวงอุตฯ และ 'ดีพร้อม' ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช เพื่อไปปฏิบัติภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับพี่น้องชาวท้องที่-ท้องถิ่น ในการสร้างงานสร้างอาชีพพัฒนาวิสาหกิจในพื้นที่ ท่าศาลา สิชล ว่า...

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปุ้ยได้เข้าพบกับ ท่าน อู๋ ตงเหมย กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสงขลาลา และ ท่าน จาง จื้อเหวิน กงสุลพาณิชย์ และคณะผู้ก่อการดีงามเพื่อชาวนครศรีธรรมราช สมชาย ลีหล้าน้อย, รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ยุทธกิจ มานะจิตต์, ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช  'น้ายูร' ประยูร เงินพรหม, ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช 'โกหนุ่ม' กรกช เตติรานนท์, กรรมการหอการค้าไทย พี่นนท์ นนทิวรรธ์ นนทภักดิ์, สภาอุตสาหกรรม และ สมาคมพาณิชย์จีน มาร่วมหารือกันในตัวเมืองนครศรีธรรมราช

นครหนานหนิง มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมายาวนานมาก โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช ชาวจีนไหหลำได้อพยพมาตั้งรกรากมานับร้อยปีแล้ว ความสัมพันธ์ทั้งทางประวัติศาสตร์ การเชื่อมโยงผู้คนบรรพบุรุษวัฒนธรรม มีกันมาอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น

ประเด็นสำคัญ...ปุ้ยได้ถือโอกาสเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการเกษตรบ้านเรา เช่น ทุเรียน, มังคุด, ส้มโอ โดยได้ริเริ่มในการเฟ้นหาผู้ซื้อรายใหม่ ๆ จากนครหนานหนิง มาซื้อตรงจากนครศรีธรรมราช เป็นการทำตลาดผู้ซื้อรายใหม่ และมีหอการค้านครศรีธรรมราช รับอาสาในการเชื่อมโยง เป็นทางด่วนของการค้าระหว่างนครศรีธรรมราช และหนานหนิงเส้นทางใหม่ก็ว่าได้ อันนี้ข่าวดี

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า ตนยังได้ยืนยันไปในเรื่องความพร้อมของท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานนายกรัฐมนตรีได้มาปฏิบัติราชการที่นครศรีธรรมราช ได้มีการเร่งรัดเรื่องท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ให้เต็มรูปแบบโดยเร็วเรามีความพร้อมสามารถเชื่อมโยงตรงได้ หลังจากนี้จะมีการติดตามขยายผลให้เร็วที่สุดอย่างต่อเนื่อง แล้วปุ้ยจะมาอัปเดตเรื่องนี้เป็นระยะ ๆ ต่อไป 

'แม่ค้าไก่สด อ.เบตง' โอด หลังราคาไก่สดปรับขึ้นกิโลฯ ละ 10 บ. ส่งผลกระทบหนัก ‘ทุนหาย กำไรหด’ วอนรัฐฯ เข้าคุมราคา

(11 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ภายหลังจากมีการปรับราคาไก่สดขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท จากการตรวจสอบราคาไก่สดเป็นตัว ในตลาดสดเทศบาลเมืองเบตงพบมีการปรับราคาขึ้น จาก กก.ละ 45-50 บาท เป็น กก.ละ 80 บาท

แม่ค้าขายไก่สด ในตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง กล่าวว่า มีการปรับราคาไก่กลมเป็นตัวจากเดิม กก.ละ 45-50 บาท ขึ้นเป็น 80 บาท เนื้อไก่ จาก กก.ละ 80 บาท ขึ้นเป็น กก.ละ 100 บาท ขาติดสะโพก จาก กก.ละ 80 บาท ขึ้นเป็น 100 บาท

โดยปกติแผงขายไก่สด จะขายไก่ วันละ 100 -150 ตัว ภายหลังมีการปรับราคาไก่สดขึ้นตนก็ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกัน ทำให้ปริมาณการขายไก่สดลดลง โดยเฉพาะในช่วงนี้ราคาสินค้าต่างๆ มีการปรับราคาสูงขึ้นเกือบทุกชนิด ส่งผลทำให้เนื้อไก่ปรับราคาตามราคาสินค้าอื่นๆ ไล่หลังกันมา ตอนนี้ตนได้ลดจำนวนการสั่งไก่เข้ามาขาย จากวันละ 100-200 ตัว เหลือเพียงวันละ 50-60 ตัว บางทียังขายไม่หมด

แม่ค้าขายไก่สด กล่าวอีกว่าไก่ขึ้นราคาเยอะมาก ล่าสุดเมื่อ 3 เดือนก่อน ก็ปรับขึ้นมาแล้วโดยปรับครั้งละ 5 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาไก่สดในปัจจุบัน ขาย กก.ละ 80 บาท เนื้อหน้าอก กก.ละ 100 บาท เนื้อน่องติดสะโพก กก.ละ 100 บาท ปีกไก่ กก.ละ 100 บาท ไก่กลมเป็นตัวปกติราคา กก.ละ 45-50 บาท ขึ้นมาเป็น 80 บาทแล้ว และยังไม่ทราบว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ แต่ถ้าขึ้นอีกฝากรัฐบาลช่วยควบคุมราคาอย่าให้แพงมากไปกว่านี้ เพราะราคานี้ที่ขายอยู่ก็แพงแล้วไหนจะต้องมีภาระในการจ่ายขนส่ง ไหนจะค่าลูกน้อง เอากำไรมาจากไหน

‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ ขึ้นแท่นสินค้า GI ลำดับที่ 5 จ.เชียงใหม่ สีสวย-กลิ่นหอม-หวานอมเปรี้ยว สร้างรายได้สู่ชุมชน 270 ลบ./ปี

(11 มิ.ย. 67) นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ สินค้า GI ลำดับที่ 5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อจากผ้าตีนจกแม่แจ่ม, ร่มบ่อสร้าง, ศิลาดลเชียงใหม่ และกาแฟเทพเสด็จ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้ 

‘ส้มสายน้ำผึ้งฝาง’ มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ที่จังหวัดยะลา เรียกว่า ‘ส้มพันธุ์โชกุน’ ได้ถูกนำมาเพาะปลูกในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำฝาง ลำห้วยแม่ใจ ลำน้ำแม่มาว ลำน้ำแม่เผอะ เขื่อนแม่มาว เขื่อนบ้านห้วยบอน ห้วยแม่งอน เป็นต้น

รวมไปถึงยังมีน้ำพุร้อน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำอุณหภูมิสูงไหลพุ่งจากใต้ดินขึ้นสู่อากาศ ทำให้สภาพดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุเหมาะสมต่อการเพาะปลูกส้มสายน้ำผึ้ง ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ ทำให้ส้มสายน้ำผึ้งฝางสามารถเติบโตได้ดี มีผิวสีเขียวอมเหลือง เขียวอมส้ม มันวาว เนื้อกุ้งฉ่ำแน่น ชานและใยนุ่ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม มีอัตลักษณ์ชัดเจนแตกต่างจากส้มสายน้ำผึ้งจากแหล่งปลูกอื่น

หากเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาว ส้มสายน้ำผึ้งฝางจะมีผิวสีเหลืองอมส้ม มีความโดดเด่น จึงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน อีกทั้งหน่วยงานในพื้นที่ยังให้การสนับสนุน ยกให้ส้มสายน้ำผึ้งฝางเป็นของดีจังหวัดเชียงใหม่ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชุมชนให้พื้นที่กว่า 270 ล้านบาทต่อปี 

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่าง ๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368

‘ครม.’ ไฟเขียว!! จัดสินเชื่อ 5 พันล้าน ช่วย ‘เอสเอ็มอี’ เข้าถึงแหล่งทุน โฟกัสกลุ่ม 'ท่องเที่ยว-สุขภาพ-อาหาร' ตามแนวทาง IGNITE THAILAND

(11 มิ.ย.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 2 โครงการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ 1. โครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และ 2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 11 (PGS 11) วงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะจัดสรร วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 8,275 ล้านบาท

ทั้งนี้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครั้งนี้ รัฐบาลเชื่อว่า จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐได้สะดวกมากขึ้น และในการปล่อยกู้ครั้งนี้จะขยายไปถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสถาบันการเกษตรที่เป็นนิติบุคคลด้วย

โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ‘IGNITE THAILAND’ เพื่อสนับสนุนเงินทุนใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่...

1.ศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) 

2. ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub) 

และ 3.ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub)

ทั้งนี้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ‘IGNITE THAILAND’ ธนาคารออมสิน จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุด 10 ล้านบาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.5% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ปลอดชำระเงินต้น 6 เดือน โดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยดอกเบี้ย 1,150 ล้านบาท

‘โครงการสินเชื่อ IGNITE THAILAND จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามที่รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ไว้’

ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 11 (PGS 11) กำหนดวงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท โดยใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับสินเชื่อตามโครงการได้เพียงพอกับความต้องการดำเนินธุรกิจ โดยฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันใน 2 ปีแรก และค่าธรรมเนียมเพียง 0.75% ต่อปี ในปีที่ 3 - 4 โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย 7,125 ล้านบาท

เคาะแล้ว!! รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปรับขึ้นราคาอีก 2 บาท เริ่ม 17 บาท สูงสุด 45 บาท จาก 43 ดีเดย์ 3 ก.ค. 67

(11 มิ.ย. 67) นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกำหนดให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารทุก ๆ ระยะเวลา 24 เดือน หรือ ทุก ๆ 2 ปี โดยอัตราค่าโดยสารปัจจุบันจะครบกำหนด 24 เดือน ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ ทำให้การคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) จะมีอัตราเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน​แห่งประเทศไทย​ เปิดเผยว่า รฟม.ได้เสนอการขึ้นราคาค่าโดยสารให้ ครม.พิจารณา การขึ้นค่าโดยสารเป็นไปตามดัชนีผู้บริโภค ทำให้การขึ้นค่าโดยสารจะมีผลทันทีในวันที่ 3 กรกฎาคม​นี้ โดยอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 17 - 45 บาท จากปัจจุบัน​อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 17 - 43 บาท

‘พีระพันธุ์’ ร่าง กม. แยกค่าใช้จ่ายอื่นออกจาก ‘ต้นทุนน้ำมัน’  ปิดช่องผู้ค้าน้ำมัน ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 15/2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาร่างแนวทางการจัดตั้งสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาเชื้อเพลิงของประเทศไทย 

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่านายหน้าจากการซื้อขายน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นในประเทศไทย โดยนายพีระพันธุ์กำลังยกร่างกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงนำ ‘ค่านายหน้า’ และค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ ‘ค่าใช้จ่ายโดยตรง’ ในการได้มาซึ่งน้ำมันมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ต้นทุนน้ำมัน’ ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายนี้แทนในท้ายที่สุด 

“เรื่องหนึ่งที่เป็นกังวลเกี่ยวกับต้นทุนน้ำมันในวันนี้ ก็คือ เรื่องค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายโดยตรงในการซื้อน้ำมัน ถ้าคุณสามารถเอาค่านายหน้ากับค่าใช้จ่ายพวกนี้มาบวกกับค่าน้ำมันแท้ ๆ คุณก็สามารถเอาค่าโน่น ค่านี่มาบวก ทำให้ต้นทุนสูง เลยต้องขายราคาเท่านั้นเท่านี้ พอเป็นอย่างนี้ เราไม่รู้ว่าต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงคือเท่าไหร่ เพราะเขาเอารายจ่ายอย่างอื่นที่ไม่มีเหตุจําเป็นมารวมตรงนี้ด้วย ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้ เพราะมันไม่มีกฎหมาย มันก็เลยกลายมาเป็นภาระของประชาชน เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะไปตรวจละเอียดได้หมดทุกรายการ แต่ถ้าเรามีกฎหมายแยกไว้เฉพาะ โดยกําหนดไว้ว่า สิ่งที่คุณจะมาบวกเป็นต้นทุนน้ำมัน คือ 1. ค่าน้ำมันจริง ๆ 2. ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่วนเขาจะมีค่านายหน้าหรืออ้างค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเนื้อน้ำมันแท้ ๆ ก็มีไป แต่เอามารวมไม่ได้ คุณอยากให้บริษัทคุณมีภาระเยอะ ๆ เพื่อจะไปลดกําไร เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเยอะ หรืออะไร ก็เลือกทำได้ตามสบาย แต่คุณจะเอาค่าใช้จ่ายพวกนั้นมาโยนให้ประชาชนผ่านต้นทุนน้ำมันไม่ได้ สิ่งที่เราไม่มีวันนี้คือ เรายังไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจทำแบบนี้ แต่นี่คือสิ่งที่ผมกำลังทำเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย และ สปป.ลาว รวมถึง กฎหมายพลังงานของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างราคาน้ำมัน และกฎหมายพลังงานของหลายประเทศทั่วโลก เพื่อศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ ทั้งด้านรูปแบบการจัดเก็บ ที่มาของเนื้อน้ำมัน โครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บ แหล่งเงิน การบริหารจัดการ และองค์กรที่กำกับดูแล เพื่อร่างแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในภาพรวมไม่น้อยกว่า 90 วัน (ปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายโดยภาคเอกชนอยู่ที่ 25 วัน) โดยกลไกการบริหารจัดการในส่วนนี้จะดำเนินการผ่าน สำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ทำหน้าที่กำกับและออกคำสั่งไปยังภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการสำรองน้ำมันของภาครัฐ  

สำหรับแนวทางการดำเนินการในระยะเริ่มต้นนั้น จะมีการร่างกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงและบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินรวม 6 ฉบับ และจะมีการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปยัง สำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้ง การเตรียมการจัดหาพื้นที่สำหรับการเก็บสำรองน้ำมัน

ทั้งนี้ ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR มีประโยชน์ในภาพรวม โดยสามารถช่วยป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยลดต้นทุนการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศในช่วงตลาดโลกราคาสูง และยังสามารถเพิ่มบทบาททางการค้าของไทยในฐานะศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคได้ด้วย

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต่อสัญญา 10 ปี ขยายฐานการผลิตรถ EV ในไทย

(12 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวไทยและสานต่อแผนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ประกาศลงนามต่อสัญญาว่าจ้างกับ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เป็นระยะเวลา 10 ปี ในฐานะพันธมิตรระยะยาวที่มีบทบาทในการประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 

รวมถึงขานรับนโยบายผลักดันแนวคิด Circular Economy ประเดิมด้วยการส่งมอบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Cellblocks) ขนาด 2 MWh ซึ่งรวบรวมมาจากแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ใช้ทดสอบในกระบวนการผลิต ให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ สนับสนุนการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคมไทย รวมถึงการยกระดับบุคลากรไทย และสนับสนุนการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้มีมาตรฐานระดับโลก

‘บีวายดี’ หั่นราคาแบตรถอีวี สูงสุดแตะ 3 แสน คาดสงครามราคารอบนี้ ทำ ‘ค่ายญี่ปุ่น’ หวั่นหนัก

(12 มิ.ย.67) ประกาศล่าสุดของ กลุ่มบริษัท เรเว่ ผู้ทำตลาดให้กับรถยนต์ไฟฟ้า บีวายดี (BYD) จากประเทศจีน สร้างความฮือฮาแก่ผู้ใช้อีวีอย่างมาก เนื่องจากมีการปรับราคาจำหน่าย Blade Battery ในรถ BYD ทุกรุ่น (ไม่รวม VAT)

ประกอบด้วย...

>> BYD ATTO 3
รุ่น Standard Range แบตเตอรี่ราคา 320,121.50 บาท
รุ่น Extended Range แบตเตอรี่ราคา 378,102.80 บาท

>> New BYD ATTO 3
รุ่น Dynamic และ Premium แบตเตอรี่ราคา 344,691.59 บาท
รุ่น Extended แบตเตอรี่ราคา 378,102.80 บาท

>> BYD DOLPHIN
รุ่น Standard Range แบตเตอรี่ราคา 309,364.49 บาท
รุ่น Extended Range แบตเตอรี่ราคา 378,102.80 บาท

>> BYD SEAL
รุ่น Dynamic แบตเตอรี่ราคา 451,289.72 บาท
รุ่น Premium แบตเตอรี่ราคา 534,728.97 บาท
รุ่น AWD Performance แบตเตอรี่ราคา 536,411.21 บาท

ทั้งนี้ ราคาที่ระบุทั้งหมดยังไม่รวม VAT

ก็น่าจับตาว่า การลดราคาแบตครั้งนี้จะกระทบกับราคาขายปลีกของบีวายดีอีกหรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้บีวายดีลดราคาทุกรุ่นไป สูงสุดเกือบ 2 แสนบาท ทำให้เกิดสงครามตัดราคาอย่างหนักในตลาดรถยนต์อีวี และกระทบส่วนแบ่งการตลาดจากค่ายรถญี่ปุ่น ที่เคยเป็นเจ้าตลาดก่อนหน้านี้ไปด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ หารือ ‘เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น’ ย้ำความร่วมมืออุตฯ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ยืนยัน!! พร้อมหนุนรถยนต์สันดาปภายใน ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV

(12 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับนายโอตากะ มาซาโตะ (H.E. Mr. OTAKA Masato) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นภาพรวมและโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในอนาคต

รวมถึงนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย และนโยบายด้านการจัดการซากรถยนต์ในอนาคต (Future End of Life Vehicle Policy) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567

โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และนางสาวนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคาร สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่มาลงทุนและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เข้าพบเพื่อรายงานสรุปผลแนวโน้มทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย

“สำหรับความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเทศไทยให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ก็มีนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมสนับสนุนยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กำลังรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ เพื่อประเมินทิศทางของอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแผนการตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ เพื่อรองรับการจัดการกากของเสียต่าง ๆ ในอนาคตด้วย”

ด้านนายโอตากะกล่าวว่า วันนี้ยินดีที่ได้มีโอกาสได้พูดคุยหารือถึงการขยายการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย รู้สึกยินดีที่ทราบว่ารัฐบาลไทยจะยังคงให้การสนับสนุนยานยนต์ ICE และไฮบริด และทางญี่ปุ่นเองก็พร้อมสนับสนุน และที่สำคัญยังมีความยินดีที่จะให้คำปรึกษาเรื่องนิคมอุตสาหกรรม Circular การจัดการพลังงาน รวมถึงเรื่องกากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top