‘รมว.ปุ้ย’ หารือ ‘เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น’ ย้ำความร่วมมืออุตฯ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ยืนยัน!! พร้อมหนุนรถยนต์สันดาปภายใน ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV

(12 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับนายโอตากะ มาซาโตะ (H.E. Mr. OTAKA Masato) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นภาพรวมและโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในอนาคต

รวมถึงนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย และนโยบายด้านการจัดการซากรถยนต์ในอนาคต (Future End of Life Vehicle Policy) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567

โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และนางสาวนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมด้วย ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคาร สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่มาลงทุนและสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) เข้าพบเพื่อรายงานสรุปผลแนวโน้มทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย

“สำหรับความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างประเทศไทยให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์อีวี เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ก็มีนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมสนับสนุนยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กำลังรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ เพื่อประเมินทิศทางของอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแผนการตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ เพื่อรองรับการจัดการกากของเสียต่าง ๆ ในอนาคตด้วย”

ด้านนายโอตากะกล่าวว่า วันนี้ยินดีที่ได้มีโอกาสได้พูดคุยหารือถึงการขยายการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย รู้สึกยินดีที่ทราบว่ารัฐบาลไทยจะยังคงให้การสนับสนุนยานยนต์ ICE และไฮบริด และทางญี่ปุ่นเองก็พร้อมสนับสนุน และที่สำคัญยังมีความยินดีที่จะให้คำปรึกษาเรื่องนิคมอุตสาหกรรม Circular การจัดการพลังงาน รวมถึงเรื่องกากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้


ที่มา: Prachachat