Monday, 13 May 2024
พิมพ์ภัทรา_วิชัยกุล

‘พิมพ์ภัทรา’ จัดให้!! ชงครม. เคาะ 8 พันล้าน ‘จ่ายอ้อยสด-ดึงเงินซื้อรถตัด’ แก้ขาดแรงงาน

(8 ก.ย.66) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 38 แห่งจากทั่วประเทศ ประมาณ 70 คน ถึงแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนความชัดเจนนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม หลังเปลี่ยนรัฐบาลเกี่ยวกับเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 120 บาทต่อตัน และแนวทางการแก้ปัญหาภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำตาล

โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีพื้นที่เกษตรกรทำไร่อ้อย อาทิ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ, นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรับฟังด้วย

ด้าน นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อย ทั้งที่จากข้อมูลระบุว่า ฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากอ้อยไฟไหม้มีอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 10% ของฝุ่นที่เกิดขึ้น โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยยืนยันจะช่วยลดปัญหา PM 2.5 ด้วยการเข้าร่วมพันธสัญญาตามนโยบายภาครัฐในการตัดอ้อยสดที่มีต้นทุนสูง และรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 120 บาทต่อตัน ซึ่งได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว กระทั่งมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลเดิมสู่รัฐบาลใหม่ เงินสนับสนุนดังกล่าวถูกชะลอออกไปจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งประเทศที่ได้ลงทุนจ้างการตัดอ้อยสดไปแล้ว

“ขณะนี้กำลังจะถึงฤดูการหีบอ้อยใหม่ ประกอบกับภัยแล้งในอนาคต อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ ต้องใช้เงินทุน เรื่องเครื่องจักร หรือแรงงาน จึงอยากขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเงินตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันของฤดูกาลที่ผ่านมาให้ถึงมือเกษตรกรภายในเดือนตุลาคม รวมทั้งขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจ่ายเงินสนับสนุนในรอบปีใหม่ด้วย” นายปารเมศกล่าว

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวภายหลังรับฟังชาวไร่ว่า ปัญหาเรื่องอ้อย เป็นปัญหาสำคัญที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดทั้งในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินล่าช้า เป็นเพราะติดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจึงทำให้เกิดล่าช้า โดยอยากชี้แจงว่าเงินสนับสนุน 120 บาทต่อตัน คือการลงทุนของรัฐ รัฐจึงอยากเห็นว่าการตัดอ้อยสดมากขึ้นจริง จนการเผาอ้อยลงได้ จึงอยากจะให้เกษตรกรสื่อสารออกมาว่าการที่รัฐสนับสนุนนั้น ทำให้ลดการเผาได้ตามเป้าหมายที่ชัดเจน หากทำได้เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการสนับสนุนต่อไป สำหรับเงินสนับสนุนของรอบปีที่ผ่านมานโยบาย จะต้องใช้งบประมาณราว 8,000 ล้านบาท ต้องขอวงเงินจากรัฐบาลใหม่ และหากได้อนุมัติจะพิจารณาการใช้เงินให้คุ้มค่า อาทิ แบ่งเงินครึ่งหนึ่งซื้อรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ชาวไร่กังวล โดยงบประมาณดังกล่าวไม่ผูกพันกับงบประมาณใหม่ ปี 2567

“เบื้องต้นได้ปรึกษากับ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แล้ว เพื่อหาแนวทางในการใช้กรอบวงเงิน ก่อนที่จะนำเข้าหารือ กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ อาจไม่ทันเดือนตุลาคม เนื่องจากมีความล่าช้าของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่จะพยายามเร่งแก้ปัญหา เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ดังนั้นอยากให้ชาวไร่อ้อยทราบว่าทุกฝ่ายไม่ได้เพิกเฉย กำลังร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ บางช่วงเวลาอาจติดกรอบระยะเวลาที่มีอุปสรรค แต่ขอให้มั่นใจในรัฐบาลและข้าราชการ กระทรวงอุตสาหกรรมที่ตั้งใจทำงานเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างจริงใจ” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังชาวไร่รับฟังคำชี้แจงของ น.ส.พิมพ์ภัทรา ต่างแสดงความพอใจพร้อมกล่าวว่า มีความชัดเจน หลังรอคอยคำตอบมานาน และมั่นใจว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ ก่อนเดินทางกลับไป

‘พิมพ์ภัทรา’ เผย!! เร่งผลักดันส่งเสริม ‘อุตฯ ยานยนต์ไฟฟ้า’ หลังค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเข้าพบ-หารือแนวทางสนับสนุน

(12 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานในการพิจารณากำหนดแนวทางผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือ EV 3.5 เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยด่วน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วที่สุด ก่อนที่มาตรการอีวี 3.0 จะสิ้นสุดภายในสิ้นปีนี้

“ขณะนี้มีค่ายรถยนต์อีวีบางค่ายสอบถามเรื่องมาตรการส่งเสริมรถอีวี และเข้ามาพบ เพื่อหารือถึงแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบ้างแล้ว ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทุกฝ่าย อาจจะต้องมีการปรับรายละเอียดหลักเกณฑ์เงื่อนไขบ้างบางข้อตามความเหมาะสม” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

นอกจากนี้จะพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ดูแลผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ตามนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ฝากการบ้านถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ในการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา แม้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ออกมาจะไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยตรง แต่ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องการพักหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนเอสเอ็มอีรายใหม่ รวมถึงเตรียมกำหนดแนวทางสนับสนุนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์สอดรับนโยบายรัฐบาลด้วย

‘รมว.อุตฯ’ ชงปั้น ‘อาหารฮาลาล’ เป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้า ปั้นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เป็นฐานส่งตลาดตะวันออกกลาง

(19 ก.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ชี้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor หรือ SEC) มีศักยภาพสามารถส่งเสริมสู่การเป็น ศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ทั้งยังมีอาณาเขตติดกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีตลาดรองรับทั้งกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่ และยังสามารถส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ

และสั่งการให้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีทิศทางและสอดรับกับศักยภาพในแต่พื้นที่ เร่งชี้เป้าอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งกระตุ้นการดึงการลงทุนเข้าสู่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคตามที่ได้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการลงทุนในพื้นที่ไว้แล้ว

พร้อมกันนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ สศอ. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานสะอาด การหาแนวทางเพื่อการส่งเสริม Soft Power ไทยในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการยกระดับการบริการผู้ประกอบการและประชาชนผู้อย่างเต็มที่ อำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ปรับภาพลักษณ์ใหม่ ให้มีรอยยิ้มจากการใช้บริการ

ด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า สศอ. ขานรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สร้างเศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม โดยจะเร่งชี้เป้าอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ให้เกิดการผลักดันอย่างต่อเนื่อง การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรให้มีศักยภาพ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้สำหรับการพัฒนาการดำเนินงาน สศอ. จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้การกระบวนการทำงาน โดยใช้ระบบ iSingleForm เป็นระบบการรายงานเดียว ทั้งการให้บริการ Eco Sticker สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมุ่งเน้นการสื่อสารผ่านช่องทาง Platform ต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้สามารถนำข้อมูล ข่าวสาร มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม พร้อมเตรียมยกระดับการดำเนินงานทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อนำพาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมสำคัญระดับสากล ภายใน 4 ปี

‘พิมพ์ภัทรา’ รุกสร้างต้นแบบ ‘Smart Farmer’ พื้นที่ภาคใต้ มุ่งสร้างรายได้-ลดค่าใช้จ่ายด้วย ‘เทคโนโลยี-นวัตกรรมพลังงาน’

(22 ก.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มุ่งสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงาน

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้มีผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม 2 แห่ง ในจังหวัดชุมพร ประกอบด้วย บริษัท ห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง และ บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง ผู้ประกอบการฟาร์มโคนม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนม ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากิจการให้เป็นเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer ต้นแบบ โดยการนำระบบ IoT (Internet of Things) มาใช้ติดตาม วิเคราะห์พฤติกรรมโคนมที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม และบริหารจัดการนำผลิตภัณฑ์นมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า

รวมถึงนำของเสียจากฟาร์ม อาทิ มูลวัว มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ตามแนวทาง BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 11.2 ล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อโคนม เครื่องผลิตอาหาร ปรับปรุงโรงเรือน โรงแปรรูป และเป็นเงินทุนหมุนเวียน จนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ถึง 40 % ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านบาทต่อปี

ส่วนบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัดผู้ประกอบการสวนผลไม้ผสมผสาน และโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรด้วยวิธีการแช่แข็ง และการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งหรือ Freeze Dry ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อโดรนเพื่อใช้ในการพ่นยาฆ่าแมลงภายในสวนทุเรียน รวมทั้งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน โดยสามารถลดต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และยกระดับการบริหารจัดการสวนผลไม้ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยการพัฒนาโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีแช่แข็งและฟรีซดราย และได้รับมาตรฐาน GMP พร้อมทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกทุเรียนมาทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบผลิต

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ราย มีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจการ ตามนโยบาย MIND 4 มิติ ได้แก่

-ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ

-ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุข

-ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก

-การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ด้วยการกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิกระบวนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และเป็นแหล่งสร้างงานให้กับชุมชน

4 ผลพวง 'แลนด์บริดจ์' ดันเศรษฐกิจไทย เจริญไวตามสะพาน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (จ.ชุมพร จ.ระนอง) หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการจากการริเริ่มของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจภาคใต้และเศรษฐกิจประเทศ

ทั้งนี้ จากการหารือกับภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ได้แสดงความกังวลต่อกระแสข่าวชะลอโครงการแลนด์บริดจ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับแลนด์บริดจ์และสอดรับกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเอสอีซี (SEC) 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

โดยจะเน้น 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับการขับเคลื่อยกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนา ดังนี้

-การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา 
-การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่

-การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ

-เร่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะทุกจังหวัดทั่วประเทศ

“เอกชนได้สะท้อนถึงอุปสรรคกฎหมายต่อการประกอบธุรกิจ ดังนั้นจะเร่งแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ กฎระเบียบ การเข้าถึงแหล่งทุน โดยให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการเพิ่มทักษะการประกอบการให้เป็นมืออาชีพ โดยการปั้นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ" นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว

‘รมว.อุตฯ’ ดัน 5 วาระด่วน ชวน ‘อุตฯ ไทย’ รักษ์โลก เชื่อมการค้านานาชาติ หลังทุก ปท.มุ่งสู่อุตฯ สีเขียว

‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม’ เดินหน้านโยบายเร่งด่วนยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาด ผ่านแนวคิด ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ’ ที่ ‘เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’ ปรับโหมดยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อลดโลกร้อนและสอดรับกับ BCG Model (บีซีจี โมเดล) เพื่อก้าวสู่บริบทการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ เข้มมาตรฐานการผลิต ใช้เทคโนโลยี อำนวยความสะดวกเพิ่มการติดตาม ด้านสิ่งแวดล้อม เปิดทางให้ชุมชนมีส่วนร่วม มุ่งขับเคลื่อนภาคการผลิต เติบโตแบบยั่งยืน

(2 ต.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายเร่งด่วนให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาผู้ประกอบการทุกขนาดยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนโดยนำแนวคิด ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ’ ที่ ‘เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่ไทยวางเป้าหมายสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ปีค.ศ. 2065 และสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

“กระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีบทบาทเป็นหน่วยงานส่งเสริมแทนการกำกับดูแลที่เน้นให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้โรงงานมีความคล่องตัวในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย มีต้นทุนแข่งขันได้ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดหลัก อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นไปแบบยั่งยืนที่แท้จริง” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

ทั้งนี้ ทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ประเทศพัฒนาแล้วกำหนดมาตรการต่างๆ ในการลดภาวะโลกร้อนที่ทำให้มีระเบียบ ข้อบังคับสำหรับการนำเข้าสินค้าที่เป็นลักษณะกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับผู้ประกอบการผ่านกลไกต่างๆ ที่จะทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่เป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด 

ดังนั้นวาระเร่งด่วนจึงให้ความสำคัญดังนี้…

1. มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมที่รองรับบริบทการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การใช้พลังงานสะอาดและการลดการใช้ฟอสซิล อุตสาหกรรม Soft power ฯลฯ

2. การผลักดันให้หน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัล (Digital Government) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นกลไกในการให้บริการ การขออนุมัติ/อนุญาต และบูรณาการการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลโรงงาน เหมืองแร่ และมาตรฐานอย่างจริงจัง

3. เร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และกากของเสีย โดยกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่นให้เข้มงวดขึ้น การรวมพลังของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในการกำกับดูแลแม่น้ำลำคลอง การทิ้งกากอุตสาหกรรม และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบการต่างๆ

4. กำหนดมาตรการแก้ไขฝุ่นมลพิษ PM 2.5 โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การยกระดับการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษไปสู่มาตรฐาน EURO 6 ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป การกำกับการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอย่างเข้มงวด การส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่มีการลักลอบเผา ตลอดทั้งการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยลักลอบเผา

5. ขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมโดยใช้แนวทางของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ EEC ในภูมิภาคต่างๆ โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาด และมาตรการลดราคาที่ดินและบริการเพื่อเป็นกลไกดึงดูดการลงทุนรายใหม่ 

'พิมพ์ภัทรา' ลั่น!! สินค้าด้อยคุณภาพต้องหมด ภายใน 6 เดือน สั่ง!! สมอ. จัดการกวาดล้างให้สิ้นซากจากท้องตลาด

(10 ต.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สินค้าด้อยคุณภาพที่มีราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงความปลอดภัยของประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้เข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้านำเข้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าดังกล่าวเข้าประเทศ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายภายใน 6 เดือน จะต้องกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. จะเข้มงวดในทุกช่องทางเพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 143 รายการ ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หากมีสินค้านำเข้าที่ใช้พิกัดและรหัสสถิติที่เชื่อมโยงไว้ ผู้นำเข้าจะต้องยื่นข้อมูลการนำเข้าผ่านระบบ NSW และได้รับใบอนุญาตก่อนรับมอบสินค้าจากกรมศุลกากร เพื่อป้องกันการนำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ นอกจากนี้ ยังตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรผ่านระบบ e-Tracking เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของการนำเข้า และตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงมีการตรวจติดตามผู้รับใบอนุญาตผ่านระบบ e-Surveillance ซึ่งเป็นการนำระบบมาช่วยอำนวยความสะดวกในการแจ้งข้อมูลของผู้ได้รับอนุญาต 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โดยนำระบบ e-Market surveillance มาใช้ในการตรวจติดตามสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ พร้อมทั้งกำชับทีมนักรบไซเบอร์ ทำหน้าที่ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าทางโทรทัศน์ และ Platform Online ต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย

“สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของประชาชน สมอ. จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมและกำกับติดตามสินค้าไม่ได้มาตรฐานในทุกช่องทาง หากผู้ผลิตและผู้นำเข้าฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้จำหน่ายหากขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย สมอ. จะดำเนินการกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย” นายวันชัยฯ กล่าว

‘พิมพ์ภัทรา’ ขานรับนโยบายรัฐบาล ยกระดับภาคอุตฯ เสริมแกร่งศักยภาพและมาตรฐาน ‘อุตฯ EV - AI’

เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะมาตรฐานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เน้นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ AI ฮาลาล และ Soft power ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถนำเม็ดเงินมาสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้เป็นอย่างดี โดยตั้งเป้าหมายไว้ 600 มาตรฐาน 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. เตรียมขออนุมัติแผนการกำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 รวม 600 มาตรฐาน ในการประชุมบอร์ด สมอ. ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่สามารถจัดทำมาตรฐานได้ 478 มาตรฐาน ทั้งนี้ ให้เร่งผลักดันมาตรฐานที่เป็นเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน เช่น มาตรฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้า สาธารณะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานอาหารฮาลาล AI เครื่องมือแพทย์ BCG และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

“ภายหลังที่บอร์ดให้ความเห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. เสนอแล้ว จะเร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการจัดทำมาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่ความเป็นอุตสาหกรรม 4.0 และคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน” นายวันชัยฯ กล่าว

‘ก.อุตฯ’ กาง 8 มาตรการ ดันอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก พร้อมตั้งเป้ายก ‘ไทย’ เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค

(16 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงให้ความสำคัญ โดยตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ ในขณะที่กลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์-อาหารทะเล อาหารแปรรูป ฯลฯ มีอัตราการเติบโตลดลง 7.5% และ 10.3% ตามลำดับ

โดยไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ดังนั้น หากจะผลักดันให้อาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ เป็นต้น

โดยมีมาตรการที่สำคัญ 8 มาตรการ ได้แก่

1. ขับเคลื่อน Soft Power สู่การยกระดับอาหารฮาลาล ท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เช่น แกงปูใบชะพลู ข้าวยำปักษ์ใต้ แกงเหลือง สะตอผัดกุ้ง และอาหารฮาลาลไทยต้นตำรับ เช่น ต้มยำกุ้ง มัสมั่นเนื้อ ข้าวซอยไก่ โดยสนับสนุนให้เป็นอาหารแนะนำที่เสิร์ฟบนเครื่องบินเพื่อเป็นการโปรโมต

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาลที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิมกับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม การขนส่ง ฯลฯ โดยประสานกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแนะนำและขึ้นทะเบียนเมนูอาหารตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ เพื่อโปรโมตและสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก

3. ลดข้อจำกัดและปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง

4. เจรจา MOU เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ในต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และสาธารณรัฐทูร์เคีย เช่น มาตรการทางด้านภาษี มาตรการการตรวจปล่อยสินค้าให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

5. พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทยตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ เช่น ขนมขบเคี้ยว และอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีการสนับสนุนพื้นที่ในห้างโมเดิร์นเทรด

6. สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทย กับประเทศเป้าหมาย โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ roadshow ในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้

7. พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของ กนอ. ร่วมกับ ศอ.บต. ในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารใน จ.สงขลา ให้ครอบคลุมการพัฒนาสินค้าอาหารฮาลาลต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์

8. พัฒนาและจัดทำ role model ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เช่น โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ฯลฯ ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

ทั้งนี้ ในการดำเนินการจะร่วมเป็นเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาค โดยทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุน ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางฮาลาลภูมิภาคอย่างยั่งยืน

'พิมพ์ภัทรา' สั่งเคลียร์ของเสีย 1.3 หมื่นตัน โรงงาน 'แวกซ์ กาเบ็จ' หลังพบปัญหายืดเยื้อ 20 ปี ลั่น!! ต้องจบภายใน มี.ค.67

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.66 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่โรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ว่า ได้เร่งรัดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการประกอบกิจการโรงงานที่เป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานมากกว่า 20 ปี

แม้ว่าจะสั่งการตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังคงมีกากอุตสาหกรรมและของเสียเคมีวัตถุตกค้างในพื้นที่ของบริษัทฯ ซึ่งกระทบกับประชาชนและชุมชนรอบโรงงานในภาคเกษตรกรรมและน้ำอุปโภค บริโภค

"การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้เห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจริงจังและตระหนักถึงปัญหาของประชาชนโดยรอบโรงงาน โดยกรณีนี้ได้รับงบกลางปี 2566 วงเงิน 59.8 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากากของเสียทั้งระบบ 13,439 ตัน ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

ด้านนายศุภเวศ ทองประยูร ผู้อำนวยการสำนักน้ำบาดาล เขต 8 (ราชบุรี) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้เร่งเตรียมแผนโครงการศึกษาฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่าย บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงาน คาดว่าจะดำเนินการครอบคลุมได้ในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ของตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top